สร้างผู้นำ หนีไม่พ้นที่สักเวลาใดเวลาหนึ่ง เราทุกคนต้องก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำ ตั้งแต่ผู้นำในระดับครอบครัว และผู้นำในด้านอื่นๆด้านใดด้านหนึ่ง ผู้นำจึงเป็นบทบาทแห่งศักดิ์ศรี และความรับผิดชอบอย่างสูงโดยแท้ และจากบทสัมภาษณ์พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ขยายความลักษณะของผู้นำทางโลกและผู้นำทางธรรม ซึ่งมีนัยะต่างที่น่าสนใจชวนติดตาม ถาม ผู้นำทางโลกและทางธรรมต่างกันอย่างไร
? ผู้นำทางโลกคือผู้บงการ ตั้งแต่เป็นผู้นำลักษณะเผด็จการ ผู้เดียวคิด ผู้เดียวสั่ง ผู้เดียวมีอำนาจเต็ม นั่นคือผู้นำทางโลก อย่างประเภทที่คนไม่ชอบ เป็นลักษณะที่ไม่ดี คงไม่ต้องอธิบายว่าไม่ดีอย่างไร แต่ผู้นำที่ดีกว่าแบบนี้ขอพูดแบบทางโลกก่อน คือ ผู้นำที่ใช้คุณธรรมเพิ่มเติม เป็นคนที่ไม่เอาแต่ใจตัว จะให้คนอื่นมีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำงาน หรือแม้ที่สุดแบ่งอำนาจไป เพราะฉะนั้นประสิทธิภาพของผู้นำก็ต้องเป็นคนเก่ง ในทางโลกก็ต้องเก่ง ทางธรรมก็ต้องเก่งเหมือนกัน แต่ผู้นำทางธรรมนั้นจะต้องเก่งทั้งทางโลกและทางธรรมสองส่วน ในขณะที่ผู้นำทางโลกจะเก่งแต่ทางโลกอย่างเดียว ทางธรรมจะไม่เก่ง แต่ถ้าผู้นำทางโลกมีธรรมะเพิ่มขึ้นๆ ก็จะเป็นผู้นำที่ดีขึ้นๆ โดยจะไม่เป็นคนที่เห็นแก่ตัว เป็นคนที่ใจกว้างเป็นคนที่กระจายความสามารถ กระจายความรู้ กระจายอำนาจ กระจายอะไรๆออกไปให้คนอื่นรับช่วง นั่นคือลักษณะของผู้นำทางโลกที่ควรจะเป็น พูดถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า คุณลักษณะที่ดีขึ้นของผู้นำทางโลกก็คือ ลักษณะของธรรมะนั่นเอง เพราะฉะนั้นในโลกทุกวันนี้ก็ต้องการผู้นำที่จะมีคุณลักษณะของทางธรรมะมากขึ้นๆ ตั้งแต่เป็นผู้ที่มีใจกว้าง มีความเมตตาเกื้อกูล หนักเข้าเขาจะเป็นผู้นำที่ไม่ขี้โลภ มักน้อย เป็นคนรับน้อย แต่จะให้ลูกน้องได้มากเป็นกอบเป็นกำ โดยตัวเองได้น้อยกว่า ซึ่งเขาก็พยายามทำอยู่ แต่ที่นี้ในความจริงแล้ว จิตลึกๆของคน มีกิเลสเป็นเจ้าเรือน เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะทำก็ทำได้ไม่เต็มที่ ถ้าไม่ล้างกิเลสจริง เพราะฉะนั้น ผู้นำที่มีคุณธรรมมากขึ้น ล้างกิเลสได้มากขึ้นก็จะเกื้อกูลแบ่งแจก ไม่เบ่งอำนาจ ถ้าทำได้มากขึ้นๆก็เป็นผู้นำที่ดี ทีนี้มาถึงผู้นำในลักษณะของธรรมะที่เป็นของพระพุทธเจ้า คือเป็นธรรมะที่เป็นโลกุตรธรรม อันนี้แหละที่มันจะลึกซึ้งขึ้น นอกจากผู้นำคนนั้นจะไม่ขี้โลภ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เบ่งอำนาจ รวมทั้งพยายามที่จะกระจายอำนาจให้คนอื่นไป แบ่งแจกไป สามารถที่จะให้แก่คนอื่นได้ ทั้งวัตถุ ทั้งอำนาจ และความรอบรู้ ความสามารถ ถ่ายทอดให้ผู้อื่นโดยไม่หวงแหน ไม่ปิดบัง ไม่กลัวว่าคนอื่นจะเก่งกว่า คนอื่นจะดีกว่า คนอื่นจะยึดอำนาจ หรือยึดตำแหน่งหัวหน้าไป นี่เป็นลักษณะของโลกุตระ ที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ โดยต้องมาศึกษาปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าจึงจะละกิเลสได้จริง กระทั่งถึงขั้นโสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ ขึ้นมาเรื่อยๆ ผู้นำทางธรรมของพระพุทธเจ้าจึงเป็นคนที่ไม่ค่อยมีตัวอย่างในโลก แต่ต่อไปในอนาคตเมื่อระบบบุญนิยมเกิดขึ้น จะมีคนชนิดนี้ที่พัฒนาขึ้นไป เป็นคนไม่สะสมกอบโกย เป็นอนาคาริกชนได้ เป็นคนที่ไม่มีทรัพย์ศฤงคาร บ้านช่องเรือนชาน ไม่มีสมบัติเป็นของส่วนตัว แต่เป็นคนที่ทำงานให้แก่สังคม ให้แก่มนุษยชาติเต็มที่ และมนุษยชาติก็จะอุปถัมภ์ค้ำชู เลี้ยงดูเอาไว้ บ้านช่องเรือนชานก็เป็นของส่วนกลาง หรือเป็นของรัฐ หรือเป็นของประชากรที่เขาศรัทธา เลื่อมใส เคารพนับถือแล้วให้อยู่ให้กิน ให้ใช้ ผู้นำแบบโลกุตระเช่นนี้จะเป็นผู้มักน้อย สันโดษ เลี้ยงง่าย บำรุงง่ายตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นคนขัดเกลากิเลสจริงๆ เป็นคนมีศีลสูง มีศีลเคร่ง มีอาการที่น่าเลื่อมใส ไม่สะสม เป็นคนขยัน มีวรรณะ ๙ ของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นคนที่มีคุณธรรมแท้ๆ ของศาสนา จะเป็นผู้นำชนิดที่คนยกให้เลยว่า ไม่มีเงินนี่แหละ ขอให้บอก เขาจะสนับสนุนทันที เพราะคนคนนี้จะไม่ทำอะไรเพื่อตนเอง เงินก็เอาไปทำงาน โดยงานนั้นเป็นผลประโยชน์ต่อประชาชน เขาจะเป็น นาบุญ ที่แท้จริง แม้แต่จะกินอาหาร หรือทำอะไรให้กับตัวเองก็เป็นเพียงทำให้แก่สังขารร่างกาย เพื่อจะได้มีเรี่ยวแรงทำงานช่วยสังคมต่อไป ผู้นำในทางโลกุตรธรรม หรือ ผู้นำของพุทธที่แท้จริง จึงจะเป็นคนประหลาด ที่หาได้ยาก เพราะเป็นอาริยบุคคลแท้ๆ และจะเป็นคน ที่ในโลกไม่เชื่อว่ามีได้จริง ที่พูดนี่ ไม่ใช่หมายถึงนักบวชนะ หมายถึง ฆราวาส เช่น ๑. จะเป็นคนที่จน ถาม ผู้นำทางธรรมที่จะได้รับการยอมรับในปัจจุบันควรมีลักษณะอย่างไร ? ตอบ ก็แล้วแต่จะตัดเกรดคุณธรรมของคนว่าระดับไหนที่คนจะยอมรับได้ คนเรามีปัญญาเข้าใจว่าคุณธรรมที่ยอดเยี่ยมคืออะไร ส่วนมากเข้าใจแล้วคิดว่าคุณธรรมยอดๆอย่างนี้แหละเราจึงจะยอมรับเมื่อตั้งเป้าคุณภาพของคุณธรรมสูงๆ ก็จะหาคนที่จะได้รับการยอมรับยาก เพราะฉะนั้นคนจึงไม่ยอมรับใครง่ายๆ นอกจากตัวเองจะรับก็รับแต่ตัวเองดีคนอื่นไม่ดีกว่าเรา ถึงเป็นคนที่ดีเขาก็จะยังไม่ไว้ใจ เพราะคนเรานี่เสแสร้งทำดีแล้ว แล้วกดข่มไว้ชั่วคราวมีแยะ เขาก็จะไม่เชื่อว่าคนนั้นจะดีอย่างยั่งยืนหรือเปล่า จะทำได้ตลอดไปหรือเปล่าอย่างนี้เป็นต้น เขาจะไม่เชื่อง่ายๆ อีกข้อคือ นอกจากไม่เชื่อง่ายว่าดีจริงหรือเปล่าแล้ว คนเรายังมีกิเลสเห็นแก่ตัวอย่างที่ว่า มันก็เลยไม่ยอมยกให้คนอื่นเป็นผู้นำง่ายๆ แต่ถ้าเผื่อเราเข้าใจแล้วว่า คุณภาพของคน สมรรถนะ หรือแม้แต่คุณธรรมของคน ใครเขามีได้เท่าไหร่เราก็สนับสนุนในส่วนที่ดีนั้น แต่ส่วนที่ยังไม่ดี เราก็ต้องดูว่าถ้ายังไม่ทำให้สังคมเสียหาย ยังสามารถคุมได้ ป้องกันได้ โดยส่วนที่ดีก็นำมาใช้ ส่วนที่ไม่ดีก็ให้เขาปรับปรุงก็จะเกิดการพัฒนาเป็นประโยชน์ สร้างสรรสังคมไปเรื่อยๆ - สารอโศก อันดับที่ ๒๖๔ กันยายน ๒๕๔๖ -
|