ตอน... พรรษาที่
๓๓ กับก้าวย่างที่เหนื่อย....หนัก.... แต่ก็เบิกบานและอบอุ่น
พรรษานี้พ่อท่านยังคงจำพรรษาที่ราชธานีอโศก
ก่อนเข้าพรรษา สมณะเดินดิน ติกขวีโร ฝากเรียนถาม พ่อท่านว่าจะจำพรรษาที่ไหน?
เหมือนกับเปิดทางให้พ่อท่านเลือกจำพรรษาที่อื่นได้ ด้วยเห็นว่า งานต่างๆที่บ้านราชฯลงตัวมากแล้ว
แม้พ่อท่านไม่อยู่ สมณะและสิกขมาตุที่อยู่ พอจะดูและช่วยงาน แทนพ่อท่านได้
แต่พ่อท่านยืนยันว่าหลายอย่างยังต้องดูอยู่ จึงเลือกที่จะจำพรรษาที่ราชธานีอโศกต่อ
เข้าพรรษาที่ผ่านๆมา
พ่อท่านต้องเดินทางไปมาระหว่างราชธานีอโศก สันติอโศก และปฐมอโศก อย่างน้อย
เดือนละครั้ง มีบางเดือนก็สองครั้ง สามครั้ง พรรษานี้ก็คงเป็นเช่นนั้น
ที่แถมเพิ่มก็มีไปร่วมงาน ภราดรภาพซาบซึ้งใจ ครั้งที่ ๓ ที่ทักษิณอโศก
(๒๕-๒๗ ก.ค. ๔๖)
กิจกรรมอื่นที่ไม่ขอลงรายละเอียดในบันทึกนี้
ก็มีเรื่องเกี่ยวกับการรณรงค์โครงการ "งดเหล้าเข้าพรรษา"
พวกเราที่เกี่ยวข้องทั้งริเริ่มความคิดนี้ และร่วมประสานทำงานกับกลุ่มคณะอื่นๆในสังคม
ได้มาปรึกษา และร่วมประชุมกับพ่อท่านหลายครั้ง นอกจากนี้ก็มีการปรามเตือนพวกเราให้เจียมเนื้อเจียมตัว
อย่าได้หลงลอยกับการที่มีผู้รู้ของเมืองไทยพูดพาดพิงยกย่องชาวอโศก
ในงานทศวรรษแห่งการจากไป ของพุทธทาส ๘ ก.ค. ที่หอสมุดแห่งชาติ....
ขออย่าได้นำไปกล่าวอ้างในที่สาธารณะอื่นใด
สำหรับการอบรมเกษตรกรที่พักชำระหนี้กับ
ธ.ก.ส. ที่ชุมชนต่างๆของชาวอโศกทำมาได้ ๒ ปีแล้ว ก็ยังคงเดินหน้า ทำต่อไป
ขณะที่หลายชุมชนถูกขอให้เพิ่มปริมาณ ทั้งจำนวนครั้งและจำนวนคนที่เข้าอบรม
ซึ่งบางแห่งก็สามารถเพิ่มให้ได้ บางแห่งก็ไม่สามารถทำได้ และหลายแห่งมีกลุ่มคณะต่างๆ
แวะเวียนมาขอดูงาน ดูวิถีชีวิตของชุมชน เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกันงานส่วนอื่นๆ
เช่น วิทยุชุมชน....การศึกษา....การค้าพาณิชย์....ร้านอาหาร ฯลฯ ได้รับการตอบรับ
ด้วยดีจากสังคม กล่าวโดยสรุปทุกกิจกรรมกำลังก้าวหน้ามีพัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่การตอบรับจากทุกกลุ่มคนทุกอาชีพกำลังดีวันดีคืนมากขึ้นเช่นกัน
ต่างจาก ๑๐-๒๐ ปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด
หลวงพ่อปัญญาฯเอื้ออาทร
"เอาไว้ว่างๆจะไปเยี่ยม"
๒
ก.ค. ๔๖ พ่อท่านได้มีโอกาสสนทนากับหลวงพ่อ ปัญญานันทะ ผู้นำแห่งวัดชลประทานรังสฤษฏ์
เบื้องหลังการสนทนามีสิ่งใดที่น่าสนใจศึกษา
อีกหนึ่งก้าวย่างของนิสิต
ม.วช. ที่มีฐานะและคุณค่ากว่าคนวัด
ความใหม่ของการศึกษา ม.วช. ยังคงเป็นปัญหา แต่ก็น่าสนใจติดตาม ก้าวย่างที่ต่างไปจากมหาวิทยาลัยทั่วไป....หนึ่งเดียวในหล้านี้
พลิกไปอ่าน....นิสิต ม.วช.มีความสำคัญอย่างไร? นิสิตใหม่สูงวัยทำไมจึงต้องกราบนิสิตหนุ่มสาว?
การแบ่งซอยฐานะ การคารวะกัน ในกิจพิธีต่างๆ ถ้ามากเกินไปพ่อท่านเห็นอย่างไร?
นิสิตที่เพิ่งสมัครแล้ว ขอหยุดพักการเรียน (drop) พ่อท่านเห็นอย่างไร?
คนวัดควรเป็นคนประเภทไหน?
นิตยสาร "ฝูเป้า"
สัมภาษณ์พ่อท่าน
คุณเฉินเห่อจิ่นหัวหน้าบรรณาธิการได้อ่าน "บุญนิยมทางเลือกที่สาม"
แล้วสนใจมาขอสัมภาษณ์....ทำไมท่านจึงประกาศเรื่องพระโพธิสัตว์?....พุทธศาสนาเมืองไทย
ท่านเห็นเป็นอย่างไร?... .ตอนที่ถูกกดดัน ให้แต่งชุดขาว และวันที่กลับมาแต่งจีวร
ท่านมีความรู้สึก อย่างไร?.... ที่ท่านว่าสักวันหนึ่งจะรู้ว่า อาตมาคือใคร
จะหมายความว่า ท่านเป็นพระสารีบุตร กลับชาติมาเกิดได้ไหม?.... รู้สึกอย่างไร
ที่ถูกขนานนามว่า เป็นเทวทัต?... .ท่านจะยกระดับ สิกขมาตุ ขึ้นเป็นภิกษุณีไหม?....
ทำไมไม่เน้นเรื่องสวดมนต์?.... ถ้าท่านไม่อยู่ ชาวอโศกจะทำอย่างไร?....
ท่านคิดจะเผยแพร่ แนวคิดระบบนี้ออกไปสู่สากลไหมครับ?.... ทำไมท่าน
จึงส่งเสริม ให้ฆราวาส ผู้ปฏิบัติธรรม ตั้งพรรคการเมือง?... .แล้วพระจะควบคุม
ประเทศไทยหรือเปล่า?.... พรรคการเมืองอย่างที่ว่านี้ ท่านได้รับทัศนะความคิดมาจากใคร?
งานภราดรภาพซาบซึ้งใจ
ทำไมจึงต้องไปจัดงานที่ภาคใต้
ทักษิณอโศก กรรมฐานของญาติธรรม กลุ่มทักษิณอโศก คืออะไร? ถ้าต้องการให้ความสมบูรณ์ของระบบบุญนิยม
เกิดเร็วขึ้น ไม่ต้องรออีก ๕๐๐ ปี ชาวอโศกจะต้องทำอย่างไร?
ปิดท้ายบันทึกด้วยบางส่วนของโอวาทปิดประชุมชุมชนปฐมอโศก
๒๑ ก.ค. ๔๖ พ่อท่าน มองชาวอโศก ในขณะนี้เป็นอย่างไร? และแนะให้ทำใจอย่างไรกับทุกสถานการณ์
ที่เข้ามากระทบ?
หลวงพ่อปัญญาฯ
เอื้ออาทร "เอาไว้ว่างๆจะไปเยี่ยม"
๒ ก.ค.๔๖ ร่วมงานเผาศพโยมพ่อของสมณะเด็ดขาด จิตตสันโต ที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์
พระธรรมโกษาจารย์ (หลวงพ่อปัญญาฯ) ให้เกียรติมาเป็นประธานประชุมเพลิง
ก่อนพิธีวางดอกไม้จันทน์ คารวะศพ หลวงพ่อปัญญาฯพูดผ่านไมค์แนะนำการขึ้นมาวางดอกไม้จันทน์.....ให้พระขึ้นก่อนแล้วญาติโยม
ที่เต็นท์ด้านหน้าขึ้นตามมา แล้วก็เป็นเต็นท์ด้านข้าง การขึ้นมาก็ให้มาเป็นแถวสองแถว
อย่าขึ้นมาเป็นฝูง แบบฝูงควาย.... มีเสียงขำหัวเราะ แทนที่จะถือสา
ที่ถูกเปรียบเป็นฝูงควาย อาจเป็นเพราะน้ำเสียง ที่ฟังแล้ว ไม่รู้สึกว่า
ถูกดุ
พ่อท่านได้ไปนมัสการและสนทนาด้วยหลังการวางดอกไม้จันทน์แล้ว
ข้าพเจ้าขยับตัวไปอยู่หลังพ่อท่าน พยายามที่จะฟังว่า หลวงพ่อปัญญาฯท่านพูดอะไร?
แต่แทบไม่ได้ยินเลยทั้งๆที่อยู่ห่างกันไม่ถึงเมตร ได้ยินแต่เสียงพ่อท่านถามและตอบ
จึงพอจับความได้บ้าง ประเด็นแรกของการสนทนา เข้าใจว่าหลวงพ่อปัญญาฯ
ถามถึงปฐมอโศก ที่เคยไปเมื่อ ๑๕-๑๖ ปีที่แล้ว ต่อมาพ่อท่านได้ถาม ถึงอาคาร
ที่กำลังก่อสร้างอยู่ด้านหน้า.... หลวงพ่อปัญญาฯบอกเล่าว่า จะสร้างศาลาโล่งๆ
แล้วจะทำหลังคา มารับกับเมรุหลังใหม่นี่ ที่ตรงนั้นเป็นเมรุเก่า เมื่อมาซื้อที่ใหม่ตรงนี้(เมรุใหม่)
๒ ไร่ ๑๐ ล้าน (ไม่แน่ใจว่า ได้ยินราคา ถูกต้องหรือไม่) เมรุใหม่นี่ราคา
๑๔ ล้าน เฉพาะเตาเผา ๒ เตา ๘ ล้าน...
ระหว่างการสนทนามีญาติธรรมที่เสร็จจากวางดอกไม้จันทน์แล้วก้มลงกราบหลวงพ่อปัญญาฯ
และพ่อท่าน ทำให้แถวที่ตามมาชะงักติด พ่อท่านต้องคอยบอก....ไม่ต้องกราบแค่ประณมมือไหว้ก็พอ
เมื่อหลวงพ่อปัญญาฯมองไปที่คุณไฟงาน
และคุณแดนดิน ซึ่งกำลังถือกล้องจับภาพ แล้วส่งเสียงบอก.... พอแล้ว
ถ่ายอะไรกันนักหนา
พ่อท่านหัวเราะแล้วช่วยอธิบายว่า
เดี๋ยวนี้กล้องเป็นระบบดิจิตอล ถ่ายแล้วเลือกได้ เหมือนกับจะบอกว่า
คนถ่ายเขาไม่กลัวเปลืองฟิล์ม จึงถ่ายกันมาก
เสร็จจากวางดอกไม้จันทน์เพื่อเผาจริงแล้ว
หลวงพ่อปัญญาฯไปนั่งที่เดิม พ่อท่านขยับเข้าไปนมัสการลา ซึ่งหลวงพ่อปัญญาฯ
ก็ประณมมือรับนมัสการ แล้วบอก...เอาไว้ว่างๆจะไปเยี่ยม
พ่อท่าน....แหม
ยินดีเลยครับ นับเป็นความกรุณา จะไปที่ไหน? ปฐมอโศกหรือสันติอโศก จะไปเมื่อไหร่
จะได้มารับครับ
ขณะพ่อท่านขยับตัวจะกลับ
หลวงพ่อปัญญาฯกล่าวอนุโมทนาสุดท้ายก่อนจาก....ได้อ่านหนังสือที่ส่งมา
อนุโมทนาด้วย ในกิจกรรมต่างๆที่ได้ทำ
คำว่า
เอาไว้ว่างๆจะไปเยี่ยม ที่หลวงพ่อปัญญาฯพูดนั้น ฟังแล้วดูดี
ดูเป็นการพูดอย่างมีไมตรี ญาติดี มีความรู้สึก ที่ดีต่อกัน ให้ความรู้สึกอบอุ่นสนิทสนม
ตอนแรกข้าพเจ้าเข้าใจว่า เป็นการพูดที่บอกถึงใจ ที่ดีต่อกันเท่านั้น
จริงๆแล้วหลวงพ่อปัญญาฯคงไปไหนไม่ไหวหรอก ก็ขนาดจากกุฏิมาเมรุยังต้องนั่งรถ
ให้พระที่ดูแล ช่วยเข็นมาให้เลย จะเดินก็ต้องคอยประคอง จะวางดอกไม้จันทน์มือก็สั่นๆ
แต่ตาหูยังดี ไม่ต้องใส่แว่น ทั้งๆที่อายุ ๙๒ ปีแล้ว
มาทราบจากท่านจันทร์ว่า
หลวงพ่อปัญญาฯและท่านจันทร์จะไปเทศน์ ที่วัดป่าธรรมดานครราชสีมา ๘
ก.ค.นี้ เนื่องในวันพุทธทาสรำลึก อย่างนี้ก็แสดงว่าหลวงพ่อปัญญาฯยังคงไปไหนๆได้
ไม่ถึงกับลำบาก อย่างที่ผู้เขียนคาด ถ้าอย่างนั้นคำกล่าวที่ว่า
เอาไว้ว่างๆจะไปเยี่ยม มีโอกาสเป็นจริงได้สักวัน
อีกก้าวย่างหนึ่ง
ของนิสิต ม.วช.ที่มีฐานะและคุณค่ากว่าคนวัด
๑๕
ก.ค.๔๖ ที่ศีรษะอโศก พ่อท่านเดินทางมาร่วมรับฟังการพิจารณาร่างธรรมนูญ
ของนิสิต ม.วช. ศีรษะอโศก ซึ่งเคยร่างกันมาแล้ว แต่ต้องการปรับปรุงใหม่
ด้วยเหตุผลว่าของเดิมร่างเอาไว้ แต่นำมาปฏิบัติ กันไม่ได้ อีกทั้งนิสิตหลายคนก็ออกไปแล้ว
เพื่อให้เกิดความเป็นอยู่ได้ ก่อนการพิจารณาร่างธรรมนูญฯ ในช่วงบ่าย
ทางศีรษะอโศก ได้นิมนต์ให้พ่อท่านเทศน์ก่อนฉัน และตอบข้อสงสัย ในภาวะของการเคารพกัน
ระหว่างนิสิต และคนวัด รวมถึงฐานะอื่นๆ จากบางส่วนที่พ่อท่านแสดงธรรมและตอบข้อซักถามดังนี้.....
"....เด็กก็เรียน
ผู้ใหญ่ก็เรียน ตายแล้วเรียนไม่ได้ เพราะฉะนั้นชีวิตต้องเรียน
เรียนเพื่อที่จะรู้และเป็น รู้ว่าอะไรดี รู้ว่าคนเรานี่ ควรจะเป็นอย่างไร
แล้วก็ปฏิบัติจนเป็นอย่างที่เรารู้ พอเป็นได้แล้วเราจะรู้ว่า มันประเสริฐอย่างไร
ซึ่งความรู้ที่ว่านี้ลึกซึ้งเป็นสัจธรรม ความรู้ทางโลกที่เป็นประโยชน์
ถ้าเอาไปมุ่งหมาย เอาชนะคะคานกัน ไปเอาเปรียบเอารัดกัน มันก็ร้าย ส่วนความรู้
ที่ไม่เป็นประโยชน์ ทำให้หลงๆเลอะๆ นั้นมีอยู่มาก แต่สัจธรรมนี่ ไม่ใช่ความหลง
เป็นความจริงที่ลึกซึ้งและยาก เช่น เป็นคนไม่โกรธไม่โลภ อย่างนี้ยาก
กว่าจะเลิกโกรธได้จริงๆ มันก็ยาก แต่ดีแน่ เป็นสัจธรรมใช่ไหม
กลับมาเข้าเรื่องที่ขัดแย้ง
เข้าใจกันไม่ลงตัวในเรื่องของการเป็นอยู่ เรามีหลายวัย เด็ก วัยรุ่น
กลางคน และคนแก่ ผู้ที่ตัดสินใจมาเป็นนิสิต ม.วช.ทีหลัง แต่ก็เป็นคนแก่วัดบ้าง
แก่ด้วยอายุบ้าง แล้วจะรับนับถือ กันอย่างไร เพราะมาเป็นนิสิตรุ่นน้อง
อันนี้เราก็ต้องรู้จักสมมุติและหัดปรับตัว จะถือว่าเราแก่แล้ว จะแก่ด้วยอะไรก็ตาม
ถ้ามาเข้าระบบเป็นนิสิตภายหลัง เราก็ต้องเป็นน้อง อายุจะแก่กว่าเขาก็ช่าง
อย่างพระพุทธเจ้าท่านจัดลำดับไว้
ผู้มาบวชก่อนก็คือพี่ ผู้มาบวชทีหลังจะอายุมากเท่าไหร่ก็ช่าง ต่อให้เป็นพระอรหันต์ด้วย
ก็ต้องกราบ พระที่บวชก่อน ฟังให้ดีนะจะได้ไม่สับสน เพราะฉะนั้น คนแก่ที่มาสมัคร
เป็นนิสิตทีหลัง ถ้าจะให้นิสิตปี ๕ มากราบปี ๑ มันจะวุ่นวายสลับไปสลับมา
สับสนไปหมด เชื่อพระพุทธเจ้าเถอะ ระดับชั้นนั้นมันตายตัว แต่ระดับอายุคนไม่แน่นอน
บางคนอยู่วัดนานแล้ว
ไม่ตัดสินใจสักที ก็สมน้ำหน้า มาสมัครทีหลังก็ต้องกราบเด็ก หัดลดเถอะ
ลดอัตตา ตัวตน ถ้าเราได้ฝึกปรือ อย่างนั้น เราก็ไม่ได้เสียหายอะไร
ถ้าเผื่อว่าเราเป็นคนดี เป็นคนอายุมากด้วย มีคุณธรรม เขาก็จะเคารพกราบไหว้เองแหละ
เช่นพระอรหันต์มีคุณธรรมสูง จิตใจไม่โลภโกรธหลง ไม่มีอคติ ต้องไปกราบ
พระปุถุชนที่บวชก่อน พระปุถุชนที่มีปัญญาก็จะต้องนับถือพระอรหันต์ส่วนที่เป็นสัจจะ
จะเคารพนับถือ อ่อนน้อมถ่อมตนกับพระอรหันต์ก็เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ระเบียบวิธี
กฎหลักวินัย ก็ต้องปฏิบัติ ตามธรรมเนียม ส่วนตัวเราจะเคารพใครก็ตาม
จะเป็นคนแก่ หรือไม่แก่ เราก็ทำได้ ไม่ได้ขัดแย้งอะไร แต่ถ้าแก่แล้วเลวทั้งไม่ดีด้วย
แล้วก็มาสมัครรุ่นหลังด้วย ก็อยู่เป็นพื้นๆ เป็นผ้าเช็ดเท้าไปเถอะ
เพราะไม่มีอะไร ดีซักอย่าง จะให้เขาเคารพนับถืออะไรก็ไม่ได้ แก่แต่อายุ
ม.วช.อย่าให้แปลว่า
"มากวุ่นชมัด" นะ ทำไมอาตมาจึงมาเน้นให้มาเป็นนิสิต ม.วช.
เรื่องก็คือ เมื่อเรามา เป็นคน ในชุมชน ในกลุ่มนี้แล้วเนี่ย
อาตมาพูดย้ำซ้ำซากว่าคนเราเกิดมาต้องเป็นนักศึกษา นี่คือประเด็นหลัก
เมื่อมาอยู่ในวัด มาอยู่ในกลุ่ม ใครยังตกๆหล่นๆอยู่ อาตมาไม่ได้เป็นคนชอบบังคับ
แทนที่อาตมาจะบอกว่า ทุกคนอยู่ในวัดต้องมาเป็น ม.วช. ต้องสมัครทุกคนอะไรอย่างนี้
มันก็ไม่ดี ให้เป็นไปตามธรรมชาติ ในอนาคต มันก็จะเป็นทั้งหมดนั่นแหละ
จะมีขาดหกตกหล่นบ้างที่ไม่ได้เป็นนิสิตก็เพราะมันบกพร่อง คุณสมบัติ
ไม่ได้ตามกฎระเบียบของผู้เป็นนิสิต จะเป็นอย่างไรก็ค่อยๆดูไป เพราะว่ามีกฎระเบียบอะไรต่ออะไร
ประกอบมา อยู่เรื่อยๆ ซึ่งก็แก้ไขปรับปรุงอยู่ไม่ใช่ตายตัว
ส่วนผู้ใดที่อยู่ในมาตรฐานที่พอเป็นไปได้
ตามที่มีกฎมีหลักเกณฑ์อะไรแล้ว คนนั้นก็จะต้องมาเป็นนิสิต ที่อยู่ในกรอบ
แล้วมันก็จะไปด้วยกันเป็นเอกภาพ เป็นหนึ่งเดียว เป็นเอกีภาวะ จะแตกกระเซ็นกระสาย
ออกไปน้อย เมื่อสิ่งใดรวมเป็นพลังเอกภาพ อันนั้นก็จะเป็นความสงบสามัคคี
อาตมาถึงเปิดกว้าง
พวกที่ไม่รู้ตัวหนังสือนี่สมัครเป็นนิสิต ม.วช.ได้ ให้คนโน้นคนนี้ช่วยเขียน
มันก็จะเกิด มนุษยสัมพันธ์ อีกชนิดหนึ่ง เกิดเกื้อกูลเอื้ออาทรกันและกัน
ใครจะมีจิตใจช่วยกันทำ ก็ทำ......"
ถาม : คนกราบอาจจะไม่รู้สึกมีมานะที่จะกราบ
แต่คนถูกกราบรู้สึกไม่สบายใจเมื่อคนแก่มากราบ
พ่อท่าน
: ต้องทำใจ
หัดวางอัตตามานะ และอ่อนน้อมถ่อมตนให้ได้ซับซ้อนขึ้นไปอีก อย่าหลงหยิ่ง
ติดสมมุติอยู่ ก็หัดวางใจ ถ้าวางสมมุติผิวๆแค่อายุแค่วัยไม่ได้ แล้วจะไปวางอะไรได้
ถาม : เขาคิดว่า
คนแก่มากราบเดี๋ยวจะอายุสั้น
พ่อท่าน
: ใครอยากจะโง่ไม่เสร็จ
ก็จงโง่ต่อไป แต่ถ้าใครเลิกโง่ได้แล้ว เปลี่ยนแปลงได้ จบได้ คนนั้นก็จบ
มันก็จะเป็น ระเบียบวินัย เป็นระบบไปตามลำดับ ถ้าไม่มีระบบ ไม่มีทฤษฎี
ไม่มีกรอบก็สับสนกันใหญ่ สังคมต้องมีนิติศาสตร์ ต้องมีหลักเกณฑ์ที่เป็นตัวกำหนด
ส่วนจะมียืดหยุ่นโดยส่วนตัว หรือบางกรณีที่จำเป็น สำคัญสุดวิสัย มันต้องอนุโลม
อันนั้นเป็นเรื่องยกเว้น กรณีพิเศษมีได้เป็นได้แต่น้อยไม่ใช่เรื่องสามัญ
ต้องมีเหตุปัจจัย ที่สมบูรณ์จริงๆว่าต้องยกเว้น
ถาม : เมื่ออยู่ในศาลาพิธีกรรมควรเอาแค่ไหน
ทุกวันนี้นกกระจาบ(ชื่อกลุ่มเด็กเล็ก ระดับอนุบาล และ ประถมศึกษา)
กราบสัมมาสิกขา (ระดับมัธยมศึกษา) สัมมาสิกขากราบ ม.วช. ซึ่งดูมันเยอะเกินไป
พ่อท่าน
: ตัดซะบ้าง
มากไปก็ไม่เข้าท่า เด็กจะกราบผู้ใหญ่ก็เป็นระดับหนึ่ง สัมมาสิกขาจะไปกราบ
ม.วช. ด้วยนี้ไม่ต้องหรอก
ถาม : แล้วนกกระจาบไม่ต้องกราบเด็กสัมมาสิกขาหรือ
พ่อท่าน
: ไม่ต้องหรอก
เป็นแต่เพียงเล็กๆน้อยๆในชั้นขนาดหนึ่งสวยแล้ว มากเกินไปนี่มันเฟ้อ
แล้ว มันก็เสียเวลา และสับสน เอาแต่พอสมเหมาะสมควร ขนาดนี้ก็เป็นวัฒนธรรมล้ำหน้าทางโลกเขามากแล้ว
เคารพกัน ในลำดับอันควรที่จะเคารพ แต่มีพอสมควรไม่ใช่มีจนเฟ้อ
ถาม : ม.วช.ใหม่เป็นแม่ชีโกนผมใส่ชุดขาวจะกราบทำความเคารพรุ่นพี่เหมาะสมหรือไม่
พ่อท่าน
: แม่ชีไม่ได้เป็นนักบวช
เป็นรูปแบบที่เขาถือกันข้างนอก แต่อยู่ในนี้เป็นอุบาสิกาถือศีล ๘ เหมือนกัน
โกนหัว ไม่ได้หมายความว่า เป็นผู้ที่มีศักดิ์ศรีมากกว่าคนที่เขามีผมดำ
เป็นแต่เพียงคุณต้องการเครื่องแบบ ที่จะช่วยตัวคุณได้ว่า มีเครื่องแบบโกนหัวนะนี่เหมือนกับนักบวช
แต่ความจริงมันไม่ใช่ เพราะแม่ชี ของพวกเรา ไม่ได้บวช เพียงมาบอก ฉันจะโกนหัวจะนุ่งเครื่องแบบ
ก็เคยย้ำหลายครั้ง แม่ชีในวัด ของพวกเรานี้ ไม่ได้มีฐานะเกินกว่าคนวัด
ม.วช.มีศีล ๘ ทุกคน แม่ชีเพิ่งมาสมัคร ม.วช. ก็ต้องกราบ ม.วช.รุ่นพี่
ถาม : ที่ร้อยเอ็ดอโศก
มีสมาชิกชุมชนที่อยู่ประจำ หลังประชุมจะกราบผู้มีอายุมากที่สุด ทั้งๆที่เป็นคนมา
ปฏิบัติธรรมใหม่ แต่มาช่วยงานอบรม
พ่อท่าน
: คนมาใหม่อายุมากกว่าก็จะไปกราบ
นี่ก็ใหม่อีกระบบหนึ่ง ทำไมมันจะมากเรื่องนักล่ะ ถ้ามากเรื่อง มันจะวุ่นวาย
สับสน แทนที่จะฉลาดก็กลายเป็นโง่ ทำให้เราเองลำบาก แล้วก็จัดสรรอะไรลงตัวไม่ได้
ซับซ้อนวุ่นวายเรากำลังเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ม.วช. ก็ยังไม่ลงตัว
กำลังพัฒนาตัว กำลังสร้าง รูปแบบ คนรุ่นแรกนี่ ยังจะต้องปรับไป ปรับมาก่อน
เพราะมันยังไม่สมบูรณ์ อย่างมหาวิทยาลัยต่างๆ เขาก็มีกันมาเป็น ๑๐๐
ปี จึงมีระบบที่ลงตัวแล้ว ของเราคงไม่ถึง ๑๐๐ ปีหรอก อาตมาว่าก็คงจะลงตัวได้
อย่างเก่งก็ ๕๐ ปีอาตมา ยังไม่อยาก จะเอาหลักเกณฑ์ของ การศึกษาข้างนอก
ลอกเลียนมาใช้ อยากจะให้เป็นหลักเกณฑ์ของเราที่เกิดไปตามธรรมชาติ ซึ่งมันจะมีทั้งนามธรรม
มีทั้งระบบรูปแบบ ของเรานี่แหละ
ถาม : นิสิตมีความสำคัญอย่างไรครับ
พ่อท่าน
: นิสิตคือการเข้ากรอบการศึกษา
ถ้าเข้าใจว่าชีวิตคือการศึกษา อาตมาเห็นคนวัดนี่มันร่องๆแร่งๆ ตามใจตัวเอง
ซุกไปซุกมา จึงจับเข้ากรอบ เข้าหมู่ แล้วจึงมีระบบ จะได้รับฟัง ได้ร่วมรับรู้
ได้ร่วมทำมากขึ้น ไม่เช่นนั้นก็ตกๆหล่นๆ เพราะฉะนั้นผู้ใดจะเข้ากรอบเป็นนักศึกษาก็มาเป็นนิสิต
ใครยังตามไม่ทันอยู่ เอ๊....สมัครดี....ไม่สมัครดี ความขี้เกียจ ความเห็นแก่ตัว
บำเรอใจตัวเอง ไม่อยากแล้ว มันจะยาก การศึกษาของเรา คือ พัฒนาชีวิต
นิสิตสัมมาสิกขาลัยมีคณะเดียวคือ พุทธชีวศิลป์ พุทธชีวศิลป์ แปลว่า
มีศิลปะในการดำเนินชีวิต ไปตามแนวทางของพุทธ
ถาม : คนวัดเคร่งครัดถือศีล
กินมื้อเดียวศีล ๘ เคร่ง กับนิสิตอาจจะยังกิน ๒ มื้อ ใครควรกราบใคร
พ่อท่าน
: ไม่เป็นนิสิต
ก็กราบตามฐานะ เคารพกันไปส่วนบุคคลไง เพราะมันไม่ได้อยู่ในกรอบ คุณจะดี
เขาก็ไปเคารพ ถ้าคนดีพูดอย่างนี้แล้วมันค้านแย้งกัน ถ้าคนที่ดีจริงนี่นะ
แหม....ศีล ๘ สมมุติว่า เป็นอาริยะเลยนะ คนนั้นก็จะรู้จักเอกีภาวะ
แล้วก็จะมาเป็นนิสิตทุกคน
ถาม : เรื่องการเป็นปะ(ย่อมาจากคำว่าปฏิบัติ
ซึ่งเป็นฐานะต้นของผู้สมัครบวช)ของนิสิต การเป็นนาค (ผู้เตรียมตัวบวช
เป็นสามเณร ก่อนบวชเป็นสมณะ) นิสิตมีสิทธิ์ไหม
พ่อท่าน
: ผู้เป็นนิสิตนี่
ถ้ายิ่งจบมีปัญญาบัตรแล้วนี่ เป็นปะก็ไม่ต้องมาอยู่ ๖ เดือน ไม่ต้องมาอยู่
๑ ปี จะเป็น ผู้ที่ได้รับ คัดเลือกเลย มีคุณภาพ ถ้าเป็นผู้หญิงมันต้องมีลำดับใช่ไหม
ก็จะได้เข้ากลุ่มที่จะได้เลือกทันที เพราะเรียน ม.วช. มาจบ อนุปัญญาบัตรหรือจบปัญญาบัตรแล้ว
ถาม : ฟังแล้วสงสัยว่า
ฐานะคนวัดนี่ พ่อท่านจะให้มีอยู่ต่อไปหรือเปล่า
พ่อท่าน
: เป็นธรรมชาติที่มันต้องมี
ซึ่งบางคนที่เป็นนิสิตไม่ได้ คือพวกที่อยู่ข้างนอกเขตเทศบาล อยู่ในวัดนี่แหละ
เป็นคนวัดที่กระต่องกระแต่ง เพราะคุณภาพไม่ถึงที่จะเป็นนิสิต
ถาม : แล้วในฐานะคนวัดที่ตั้งไว้นี่มีไว้สำหรับบุคคลประเภทไหนครับ
พ่อท่าน
: ประเภทไม่ต่ำกว่าศีล
๕ คือคนอีกระดับหนึ่งที่เป็นมวลของสังคม คนที่ไม่มีบารมี เข็นยังไงก็ไม่ขึ้น
ได้เท่านี้ แต่เขาก็พยายามอยู่มันก็ไม่ขึ้น และเขาก็ไม่ได้ตกต่ำกว่ามาตรฐาน
นิสิตก็มีสถานภาพ ที่ได้รับรอง มากกว่าคนวัด เพราะคนวัดคือใครก็ได้สมมุติง่ายๆ
เขายังไม่ได้อะไร เขาก็มาศึกษาเรียกว่าคนวัด แต่เขายังไม่ได้เป็นนิสิต
แน่นอน จะเป็นนิสิตก็ต้องมีเงื่อนไข กฎระเบียบอะไรจนกระทั่งเข้าได้
ดังนั้น คนวัดต้องมี เพื่อคนที่เลื่อนไหลเข้ามาเชื่อมตรงนี้ คนที่เข้าวัดจริงก็จะไปเป็นนิสิต
ผู้ที่จะเลื่อนไหลจากนิสิต เป็นอารามิก อารามิกา แล้วขึ้นเป็นปะ เป็นนาค
เป็นกรัก(ผู้ปฏิบัติธรรมหญิงที่เตรียมตัวขึ้นเป็นสิกขมาตุ) เป็นเณรอะไรขึ้นไปเลย
ถาม : อย่างแม่มาอยู่วัดนาน
บังเอิญลูกก็มาอยู่วัดด้วยกัน พอดีลูกไปสมัครเป็นนิสิต ม.วช.ก่อน แล้วแม่
มาสมัครเรียน ม.วช.ทีหลัง
พ่อท่าน :
แม่ต้องกราบลูกในฐานะนักศึกษา เช่นเดียวกันกับพระพ่อมาบวชทีหลังพระลูก
พระพ่อ ก็ต้องกราบ พระลูก เป็นธรรมดา
ถาม : อย่างนิสิตที่ยังสนุกกับการทานข้าวเย็น
ยังขี้เกียจทำวัตรและอีกหลายๆอย่าง พ่อท่านจะว่าอย่างไร
พ่อท่าน
: ก็เป็นพวกตกหล่นอยู่
ยังไม่แข็งแรง แม้จะบกพร่องบ้างก็ปลงอาบัติเอา แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ต้องคัดออกไว้
ไม่ใช่มาตรฐานนิสิตแล้ว
ถาม : ช่วยให้ความกระจ่างเรื่องการ
drop ของนิสิตครับ
พ่อท่าน
: ทำไมเลวได้เร็วนัก คือเข้ามาเป็นนิสิตยังไม่ทันไรเลย เข้ามาจะเป็นคนดีใช่ไหม
ยังไม่ทันดีเลย ทำไมเลวได้เร็วนัก มีปัญหาอะไรมากมาย
ถ้ามีเหตุผลที่สมควรจริงๆก็ว่าไป สำคัญจริงๆก็ drop
แต่นี่ ฉันไม่ชอบใจ ฉันเลย drop นั่นแหละเลวได้ระดับ
คนจะมาศึกษาสัมมาสิกขาลัยเนี่ยเป็นคนพิเศษนะ เป็นคนมีภูมิปัญญาที่รู้แล้วว่า
เราจะไปสู่ความประเสริฐของความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น คนที่มาสมัคร
เป็นนิสิต คือคนมีปัญญาและมามุ่งดี พอเข้ามาไม่ทันใด drop ทำไมเลวได้เร็วนัก
นี่เป็นภาษา ของโพธิสัตว์ คือคุณต้องฟังให้เข้าใจและฟังให้ทัน ไม่ใช่ตื้นๆนะ
ภาษาพวกนี้ มันมีสภาวะ มันมีความจริง อยู่ในความลึก เพราะฉะนั้นผู้ใด
drop โดยเอาเรื่องกิเลสส่วนตัว ไม่ชอบใจมาใช้ ก็เป็นคนชนิดนี้แหละ
ถาม : ที่ผ่านมา
น่าเสียดายที่เด็กๆหลายคนต้องออกไปจากชุมชน เพราะไม่สามารถ ปฏิบัติเป็นนิสิตได้
ทีนี้เราน่าจะมีฐานอะไรมารองรับคนเหล่านี้ไหมครับ
พ่อท่าน
: อย่าพึ่งไปกังวล
มันจะงานหนักเกินไป ปล่อยเขาไปเถอะ ให้เขาไปให้เข็ด ไม่ต้องห่วง ไม่ตายเสีย
โรคไม่กินมากเกินไป แล้วก็จะกลับมา ขอให้เราดี
ขอให้เราชัดเจน ขอให้เราเจริญจริงๆเถอะ ต้องมา เพราะโลกข้างนอกคือทุกข์
เพราะฉะนั้นจะถูกโลกข้างนอกเตะมาเอง ไม่ต้องห่วง
นิตยสาร "ฝูเป้า"
สนใจ
๒๔ ก.ค. ๔๖ ที่สันติอโศก คุณเฉินเหอจิ่น หัวหน้าบรรณาธิการนิตยสาร
"ฝูเป้า" ในมาเลเซีย ได้อ่านงานเขียน "บุญนิยมทางเลือกที่สาม"
ซึ่งพระสมลักษณ์ได้เรียบเรียงเขียนขึ้น จึงสนใจมาดูชุมชน และขอสัมภาษณ์
พ่อท่าน คุณเฉินเหอจิ่น บอกเล่าว่า นิตยสาร "ฝูเป้า" เป็นนิตยสารพุทธราย
๒ เดือน พิมพ์ครั้งละ ๑๐,๐๐๐ เล่ม ราคาเล่มละประมาณ ๘๐ บาท พิมพ์ในประเทศมาเลเซีย
จำหน่ายในมาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นหนังสือพิมพ์ที่รวบรวมบทบาท องค์กรพุทธศาสนา
ลัทธินิกายต่างๆ จากบางส่วนที่น่าสนใจดังนี้.....
เฉินฯ :
สมัยท่านเป็นฆราวาส ทำงานบันเทิงแล้วมีชื่อเสียง สาเหตุอะไรที่ทำให้ท่านวางสิ่งเหล่านั้น
แล้วก็ออกมาบวชครับ
พ่อท่าน
: ปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วก็เห็นความจริง
ก็เข้าใจ เป็นไปได้จริง ก็เลยเห็นว่า มันไม่น่า จะเสียเวลา อยู่ทางนั้น
เฉินฯ :
เมืองไทยไม่มีแนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ แล้วทำไมท่านถึงมาปูแนวทางประกาศเรื่อง
พระโพธิสัตว์ได้
พ่อท่าน
: มันเป็นตัวของอาตมาเอง
อาตมาเห็นแจ้งธรรม แล้วก็รู้ว่าอาตมาเป็นโพธิสัตว์ จะต้องมาทำงาน ศาสนา
แล้วมันก็เป็นของมันเอง
เฉินฯ :
ท่านเห็นอย่างไรเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในเมืองไทยครับ
พ่อท่าน
: เกือบๆจะไม่เหลือศาสนาพุทธแล้วละ
เหลือแต่พิธีกรรมกับสิ่งที่มันแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธน่ะ
เฉินฯ :
ตอนที่ถูกทางการกดดันให้แต่งชุดขาว ตอนนั้นท่านมีความรู้สึกอย่างไรครับ
พ่อท่าน
: ก็ไม่รู้สึกอะไร
เขาให้แต่งชุดขาว เราก็พยายามต่อรอง เขาก็ไม่ยอม เราก็ต้องยอมเขาน่ะซี
เฉินฯ :
ตอนนั้นท่านได้ตั้งจิตอธิษฐานอะไรบ้างไหมครับ
พ่อท่าน
: ไม่ได้ตั้งอะไร
เป็นอย่างนั้นก็เป็นไป เราก็ทำของเรา เราเจอมันเป็นอย่างนี้ ก็แก้ไขอย่างนี้
แล้วเรา ทำงาน ของเราไป เท่าที่เราทำได้ เปลี่ยนแต่ชุดขาวก็เปลี่ยนไปสิ
คนเขาจะยึดถือว่า ใส่ชุดขาวแล้ว ไม่ใช่พระ ก็เรื่องของเขา คนที่บอกว่าเรายังเป็นพระอยู่
ก็ว่าไป เราก็ทำเท่าที่ทำได้
เฉินฯ :
วันที่ได้ใส่จีวรกลับคืน ท่านมีความรู้สึกอย่างไรบ้างครับ
พ่อท่าน
: ไม่มีอะไร
เหมือนกับเปลี่ยนผ้าเท่านั้นเอง ถึงเวลาเปลี่ยนก็เปลี่ยนมา
เฉินฯ : ที่ท่านบอกว่า....สักวันหนึ่งจะรู้ว่าอาตมาคือใคร....จุดประสงค์ของประโยคนี้
จะหมายความว่า ท่านเป็นพระสารีบุตร กลับชาติมาเกิดได้ไหม
พ่อท่าน
: ไม่ได้
พูดอย่างนั้นไม่ดีหรอก ไม่มีประโยชน์ อาตมารู้ว่าอาตมาคือใคร แต่อยู่ในฐานะที่บอกว่า
อาตมาคือใครไม่ได้ ส่วนใครจะเห็นว่าอาตมาเป็นใคร อาตมาก็เป็นอันนั้นแหละ
คนที่บอกว่า อาตมาเป็น เทวทัต จะเป็นเทวทัตก็เป็น ใครมีดวงตาที่จะดูหรือจับความจริงได้เท่าไร
แล้วอาตมา มีความจริงเท่าไร คนก็จะรู้จะเห็นอาตมาได้ ตามที่เขาจะมีดวงตาที่จะดูอาตมา
เฉินฯ :
เมืองไทย การที่ท่านสนับสนุนให้คนกินมังสวิรัติ แล้วเขาก็ขนานนามให้ท่านว่า
เป็นเทวทัต กลับชาติมาเกิด อะไรอย่างนี้ ท่านมีความรู้สึกอย่างไร แล้วแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร
และหลังจากนั้น มีคนทานมังสวิรัติเพิ่มขึ้นหรือลดลง
พ่อท่าน
: เขาจะว่าก็ว่าไป ไม่ได้มีปัญหาอะไรนี่
เราก็พูดแต่เรื่องดี เรื่องจริงไปเรื่อยๆ ประเทศไทย ทุกวันนี้ มีคนกินมังสวิรัติเพิ่มขึ้นตั้งเยอะ
เฉินฯ :
นักบวชชาวอโศกนี่ไม่ใส่รองเท้า ไม่ใช้เงิน ถือว่าเป็นการเคร่งครัดเกินไปหรือเปล่า
พ่อท่าน
: เป็นสามัญพื้นฐานของศาสนาพุทธเลย
เณรนี่ศีล ๑๐ ไม่ใช้เงินแล้ว แล้วทำไมพระ ยังจะไปใช้เงิน อยู่อีก มันไม่ถูกแล้ว
เฉินฯ :
ถ้าไม่ใช้แล้วไปข้างนอกทำอย่างไร
พ่อท่าน
: ไม่มีปัญหาหรอก
เมื่อมันเป็นหมู่คณะ มีสมาชิกอุบาสกอุบาสิกาเขารู้ เขาก็ช่วยเหลือ
ขึ้นรถยนตร์ก็ได้ ขึ้นรถไฟก็ได้ จำเป็นต้องนั่งเครื่องบินก็นั่ง เขาก็ช่วยไป
เฉินฯ :
หมู่บ้านของชาวอโศกนี่ พ่อท่านทำอย่างไรจึงประสบผลสำเร็จ ได้รับว่าเป็นหมู่บ้านตัวอย่าง
พ่อท่าน
: ไม่ได้มีแนวความคิดอะไร
ปฏิบัติธรรมแล้วมันก็เป็นของมันเอง เกิดวัฒนธรรม เกิดพฤติกรรม เกิดสังคม
ก็มาอยู่รวมกัน ไม่ได้มีแผน อาตมาพยายามพาคนมาปฏิบัติของพระพุทธเจ้า
ให้บรรลุธรรม ให้ได้ธรรม เท่านั้นเป็นหลัก นอกนั้นมันเกิดเอง
เฉินฯ : สังคมของชาวอโศกนี่ไม่เหมือนกับสังคมข้างนอก
จะเป็นไปได้ไหมว่า คนชุมชนจะล้าหลัง หรือว่า ไม่ทันสังคม
พ่อท่าน
: อย่ากลัวอโศกจะไม่ทันสมัย
สังคมอโศกนี่จะไม่วิ่งไปตามสมัย แต่จะรู้จักสมัยหรือว่ารู้จักความพอดี
หรือ สิ่งที่ดี สิ่งที่เกินที่โลกมันบ้าๆบอๆ สังคมอโศกรู้ดี แล้วก็จะไม่รับ
ไม่เอาเอง
เฉินฯ :
สิกขมาตุนี่ถือศีล ๑๐ ซึ่งมากกว่าแม่ชีโดยทั่วไปที่ถือศีล ๘ แต่ตอนนี้มีข่าวเขารับศีลเป็นภิกษุณี
ในเมืองไทยแล้ว พ่อท่านจะยกระดับฐานะของสิกขมาตุนี่ขึ้นเป็นภิกษุณีไหมครับ
พ่อท่าน
: ไม่
ไม่ติดใจ เพราะว่าเขาเป็นสิกขมาตุนี่เขาก็ปฏิบัติธรรมได้ ขอให้ปฏิบัติจริงๆเถอะ
เป็นอรหันต์ ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องเสียเวลาต่อสู้ ไม่มีประโยชน์ สร้างศัตรูเปล่าๆ
รูปแบบได้แค่นี้ใช้ได้แล้ว อยู่ที่การปฏิบัติ ผู้ใดจะปฏิบัติฝึกฝน
รับรองไม่มีปัญหา ไม่มีอะไรติดขัด
เฉินฯ :
การปฏิบัติมรรค ๘ ของชาวอโศก มีอะไรที่ไม่เหมือนกับมรรค ๘ ของข้างนอกครับ
พ่อท่าน
: ข้างนอกเขาก็บอกมรรค
๘ คือการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่เขาก็แบ่งศีลไปอย่างหนึ่ง สมาธิ
ก็อย่างหนึ่ง ปัญญาก็อีกอย่างหนึ่ง นี่อธิบายง่ายๆ ที่จริงหลักการศึกษาของพระพุทธเจ้าก็คือ
ไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา นี่แหละก็คือมรรค ๘ แต่เขาก็อธิบายแบบของเขา
แล้วเขาแยกส่วน นี้แหละคือความแตกต่าง ศีล สมาธิ ปัญญา แยกกันไม่ได้
มรรคองค์ ๘ ก็แยกกันไม่ได้ เป็นปฏิสัมพันธ์กันทั้งหมด เป็นหลักสูตร
เป็น pattern ที่ให้ปฏิบัติเท่านั้น ถ้าจะปฏิบัติให้ครบจริงๆ ก็ต้องโพธิปักขิยธรรม
๓๗ มีโพชฌงค์ ๗ กับมรรค ๘ เป็นคู่กัน จะต้องประกอบกัน ถ้าขยายโพชฌงค์ขึ้นไปก็จะเป็นโพธิปักขิยธรรม
๓๗ นั่นแหละคือ ทางปฏิบัติ ที่วิเศษ ครบสมบูรณ์
เฉินฯ :
ทั่วไปบอกว่า มีศีลก่อน ถึงจะมีสมาธิ แล้วถึงจะเกิดปัญญา
พ่อท่าน
: ก็ปฏิบัติศีลนั่นแหละ
มันจะเกิดสมาธิ แล้วปัญญานี่มันก็อยู่มาตั้งแต่เรียนรู้ว่า ศีลคืออะไร
ปฏิบัติ อย่างไร ก็ปัญญาทั้งนั้นแหละ แล้วปัญญามันเกิดผล ปฏิบัติถูกหรือเปล่า
ปัญญามันก็ต้องเรียนรู้ไปตาม ปัญญา มันอยู่ตลอดสายหมดเลย
เฉินฯ :
ทำไมไม่เน้นเรื่องสวดมนต์เหมือนที่อื่น
พ่อท่าน
:
เราต้องเข้าใจนะว่าสวดมนต์คืออะไร สมัยโบราณการสวดมนต์มี ๒ ลักษณะใหญ่ๆ
๑) สังคีติ ๒) สังคายนา สังคีติ ก็คือ เอาบทมนต์ บทคำสอน มาท่องทวน
ให้จำได้ จำเอาไว้ เพราะแต่ก่อนไม่มีหนังสือ ไม่มีการบันทึก เพราะฉะนั้นจะต้องบันทึกใส่หัวสมองคน
ก็มาสวด แล้วก็ถ่ายทอดกันเอาไว้ ท่องกันให้ได้ เป็นหมู่ๆ หมวดวินัยก็พระอุบาลีรับไป
หมวดสุตันตปิฎกพระอานนท์ก็รับมา ก็สวดท่องกันเอาไว้ เรียกว่า สังคีติ
ไม่ใช่ไปสวดหากิน อย่างที่ทำกันนั่นอาบัติด้วยซ้ำ เอาบทมนต์พระพุทธเจ้าไปสวดหลายองค์
พร้อมๆกัน นี่อาบัติ ปาจิตตีย์นะ สอง-เมื่อจำได้แล้วก็เอามาสวดทบทวน
ตรวจสอบเรียกว่า สังคายนา องค์นี้สวดขึ้นทุกคนนั่งฟัง เอ้า....ผิด
อันนี้มันไม่ตรงกับของฉัน ก็มาตรวจสอบกัน แล้วถูกมันคืออะไร แล้วแก้ให้ถูกเสมอๆ
บทมนต์นี้ก็จะไม่สูญหายหรือผิดเพี้ยน แต่สวดมนต์ของ เทวนิยมนั้น สวดอ้อนวอน
สวดถวายพระเจ้า สวดเพื่อที่จะสร้างจิตวิญญาณต่างๆนานา พวกนั้นไม่ใช่ของพุทธ
เลอะเทอะไป กันใหญ่เลย สวดร้องขอ สวดให้มันมีอิทธิฤทธิ์ อิทธิเดช สวดให้มีพลังอย่างโน้นอย่างนี้
นั่นน่ะของศาสนา เทวนิยม ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า
ปัจจุบันนี้ มีพิมพ์เป็นหนังสือเป็นเล่มๆแล้ว
ไม่ต้องไปสังคีติ รักษาต้นฉบับให้ดีๆ อย่าให้มันผิดเพี้ยน จะสังคายนา
ก็มาตรวจสอบว่า ของใครไปพิมพ์ผิดเพี้ยนไป ของใครไปแปลง ไปสอดไส้อะไรก็ว่ากันไป
ก็เป็น วิธีการใหม่ วิธีการสวดตรวจสอบกันก็ไม่ต้องแล้ว
เฉินฯ :
ที่แต่งเพลงสมัยก่อนกับที่แต่งเดี๋ยวนี้มีอะไรแตกต่างกันไหมครับ
พ่อท่าน
: อ๋อ....ต่างกันมาก
เมื่อไม่นานนี่แต่งให้เขาไปเพลงหนึ่ง เขาอยากได้ก็เลยแต่งให้เขาไป
เพลงอีแร้ง สมัยก่อนแต่งแบบโลกๆ ตามค่านิยมประโลมโลกไป รักเธอจี๋รักเธอจ๋าบ้าง
ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่เดี๋ยวนี้ เรารู้แล้วว่า ศิลปะเป็นมงคลอันอุดม
ถ้าเราจะแต่งเพลงก็ให้เป็นศิลปะ แล้วก็สื่อเป็นศิลปะที่จะไปเป็น ประโยชน์
ต่อชีวิตมนุษย์ชาติ ทางจิตวิญญาณ เพราะศิลปะนี่จะเข้าถึงจิตวิญญาณได้ดี
เฉินฯ :
พุทธศาสนามี ๓ นิกาย วัชรยาน มหายาน และเถรวาท ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร
กับวัชรยาน และมหายานครับ
พ่อท่าน
: ไม่ได้ศึกษาเลยวัชรยาน
อาตมาไม่มีความรู้ แม้มหายานนี่อาตมาก็รู้โครงสร้างใหญ่ๆเท่านั้นเอง
แต่อาตมารู้ว่า มหายานก็ตาม เถรวาทก็ตาม เป็นเรื่องออกนอกรีตไปทั้งคู่
ความถูกต้องก็คือ สิ่งที่ดีของ ทั้งสองนั้น เอามารวมกันให้ได้ แล้วก็จบ
ที่แยกกันก็เพราะว่ามันผิดออกไปด้วยกันทั้งคู่ เช่นยกตัวอย่างง่ายๆ
เถรวาทไปยึดอรหันต์ มหายานไปยึดโพธิสัตว์ ความจริงแล้วอรหันต์กับโพธิสัตว์แยกกันไม่ได้
ถ้าเข้าใจ จริงๆแล้ว ผู้ที่จะเป็น โพธิสัตว์ ก็ต้องเป็นอรหันต์ อรหันต์ตั้งแต่โสดาก็ตาม
ก็เริ่มเป็นโพธิสัตว์ได้ ถ้าไม่เป็นอาริยะ ก็เป็นโพธิสัตว์ไม่ได้ เถรวาทนี่ดูถูกโพธิสัตว์
โพธิสัตว์คือปุถุชน เป็นอาริยะไม่ได้ ส่วนมหายานก็บอกว่าอรหันต์นั้นชั้นต่ำ
ไม่มีประโยชน์ต่อสังคม ไม่เอา อย่างนี้ก็เลยโยนทิ้งอรหันต์ เถรวาทก็โยนทิ้งโพธิสัตว์
ก็สูญสิ ทั้งคู่โยนยอดของศาสนา อรหันต์กับโพธิสัตว์ต้องได้ทั้งคู่
โยนทิ้งทั้งคู่ ก็สูญทั้งคู่ไง
เฉินฯ :
ในฐานของมรรคแต่ละมรรค ตั้งแต่มรรคโสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ ถ้าเป็นโพธิสัตว์ด้วยนี่
มีการแยกไหมครับ
พ่อท่าน
: แยกก็ได้
โพธิสัตว์นี่คือเป็นผู้ที่รื้อขนสัตว์ เป็นผู้ที่ช่วยโลกเป็นผลของการเผยแพร่
โพธิสัตว์คือ ผู้ที่จะช่วยมนุษยโลก อรหันต์คือประโยชน์ตน โพธิสัตว์คือประโยชน์ท่าน
ง่ายๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะไปช่วยประโยชน์ท่าน ก็ต้องเอาอรหันต์ให้ได้ก่อน
อย่างน้อยก็อรหันต์ในโสดา เมื่อได้อรหันต์แล้ว ก็ไปเป็นโพธิสัตว์ ก็สอนตามที่เราได้เราเป็น
อย่าอวดตัวหรือแสดงเกินตัว เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเป็นโพธิสัตว์ ก็ต้องได้อรหันต์
ผู้ที่จะเป็นอรหันต์ ก็ต้องไปเป็นโพธิสัตว์ บอกว่าประโยชน์ตนแล้วไม่ช่วยใครไม่มีหรอก
เพราะว่า การมาละตัวตน ก็คือผู้ที่หมดตัวตน ไปช่วยคนอื่น คือโพธิสัตว์กับอรหันต์ต้องอยู่ด้วยกัน
ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อรหันต์คือประโยชน์ตน โพธิสัตว์คือประโยชน์ท่าน
ประโยชน์ท่าน กับประโยชน์ตนนี่ ของศาสนาพุทธเป็นอันเดียวกัน ผู้ละตัวตนได้
ผู้นั้นเป็นประโยชน์ท่านทันที ผู้ที่จะเป็น ประโยชน์ท่านได้ ตัวเองต้องละตัวเองได้ก่อน
ถ้าไม่ละตัวตนได้ก่อน ไปเป็นอะไรล่ะ โกหกเขาหรือ เอาอะไรไปให้เขา เราไม่มีสิ่งนั้น
แต่จะให้สิ่งนั้นแก่เขา เราเอาสิ่งไหนล่ะ ไปให้เขา การไม่มีของจริง
จึงปลอมเสียมาก ไม่จริงเสียมาก
เฉินฯ :
ตอนนี้ชาวอโศกต่างก็เคารพท่านทั้งหมด ถ้าท่านไม่อยู่แล้วจะทำอย่างไร
พ่อท่าน
: ก็ไม่ได้สอนให้มาติดบุคคลนี่
ให้พึ่งตนให้ได้ แล้วก็อยู่กับหมู่กลุ่มรวมกันให้ได้ พึ่งธรรมวินัย
เหมือนกับ พระพุทธเจ้าพาทำนั่นแหละ พระพุทธเจ้าสอนให้คนที่มีคุณธรรมช่วยกันรังสรรค์ธรรมนี่
ไปเรื่อยๆๆ ทุกวันนี้ ชุมชนแต่ละชุมชนนี่ บางชุมชนอาตมาไม่เคยไปเลยนะ
หลายชุมชน หลายหมู่กลุ่ม อาตมาไม่เคย ไปโผล่ที่นั่นเลย บางทีก็ ๒ ปีไปที
บางชุมชนก็ปีหนึ่งไปทีอะไรอย่างนี้ เขาก็อยู่ได้
เฉินฯ :
ท่านคิดจะเผยแพร่แนวคิดระบบนี้ออกไปสู่สากลไหมครับ
พ่อท่าน
: มันจะไปเอง
ไม่ต้องเจตนา ไม่ต้องมุ่งหมายเลย ถ้าสิ่งนี้มันดีสำหรับมนุษย์ ใครเป็นมนุษย์
มีตาเห็นว่า ของดี เขาก็มาเอาเองแหละ เขาไม่เอาก็ไม่เป็นไร
เฉินฯ :
ปกติทางศาสนานี่เขาพยายามจะหลีกเลี่ยงเกี่ยวกับการเมือง แต่ทำไมท่านจึงส่งเสริมให้ฆราวาส
ผู้มาปฏิบัติธรรม ตั้งพรรคการเมือง ไม่กลัวผลกระทบจากข้างนอกหรือ
พ่อท่าน
: อาตมารู้อยู่ว่าการเมืองคืออะไร
การเมืองก็คืองานของคนที่จะทำงานให้แก่สังคม
งานศาสนาก็คือ งานที่จะทำงานกับสังคม เพราะฉะนั้น งานการเมืองหรืองานศาสนาก็คืออันเดียวกัน
แต่คนไม่จริง ก็เลยทำงานการเมืองไม่ใช่เพื่อสังคม ไม่ใช่เพื่อเสียสละ
ศาสนาไม่จริงก็เลย ไม่ใช่ทำงานเพื่อสังคม เพื่อเสียสละ เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อมันไม่จริง
และถึงเวลาที่ควรจะมีความจริงกันแล้ว มันจึงเกิด
ที่จริงอาตมายังไม่คิดจะให้พวกเราตั้งพรรคการเมืองอะไร
พอดีมีคนตั้งพรรคการเมืองแล้ว เอามาให้ช่วย ทำต่อ แต่ก็รู้กฎหมายเขาไม่ให้ไปยุ่งไปเกี่ยว
เราก็ไม่ไปยุ่งไปเกี่ยว แต่ฆราวาสนี่ จะต้องทำงานการเมือง โดยอาตมาให้คำแนะนำ
เป็นที่ปรึกษา เป็นปุโรหิต มีนโยบายที่จะทำให้เกิดเป็นพรรคการเมือง
ที่ทำงาน เพื่อสังคมโดยแท้จริง ไม่ใช่เข้าไปใช้เป็นอาชีพ อย่างที่เขาทำนั่น
อาตมาก็เลยเห็นว่าจะต้องทำ
การเมืองของพรรคนี้นี่
จะไม่เหมือนพรรคการเมืองไหนในโลกเลย คนทำงานการเมืองนี่
จะเป็นคนทำงาน เพื่อสังคมจริงๆ ถ้าจิตวิญญาณไม่แข็ง ไม่สูงจริง จนสามารถจะไปเป็น
ส.ส. จะไปรับหน้าที่เป็นอะไร ต่ออะไรได้จริง ไม่ต้องไปเป็น
เพราะเราสามารถทำงานการเมืองกับประชาชนได้เสมอ เพียงแต่ว่าอันหนี่ง
มันด้านสายจิตวิญญาณ ก็คือศาสนา อีกอันหนึ่งก็คือด้านวัตถุ ก็ทำเท่านั้นเอง
มันก็จบ แล้วก็ทำกับ ประชาชน ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะประชาธิปไตย
ประชาชนยินดีที่จะทำด้วย ประชาชนก็ต้องการเราจริงๆด้วย เราก็ไป ไม่ต้องไปหาเสียง
ถ้าสมัคร ส.ส. ก็ไม่หาเสียง ถ้าหาเสียงยังไม่ใช่ประชาธิปไตย ต้องให้ประชาชน
ดันขึ้นไปเป็น ส.ส. เองจริงๆ ไม่ใช่ต้องเดินไปไหว้ประชาชนให้เขามาลงคะแนน
อย่างนั้นเรายังไม่ใช่ ส.ส. ไม่ต้องพูดเลยว่า ต้องซื้อเสียง
เฉินฯ :
จะมีสักวันที่เป็นจริงไหมครับ
พ่อท่าน
: ไม่เป็นก็ช่างมัน
ถ้ามันเป็นก็เป็น แต่มีความจริงชุมชนของเราเป็นแล้ว
เฉินฯ :
จะกลายเป็นว่าพระควบคุมระบบประเทศไทยทั้งประเทศหรือเปล่าครับ
พ่อท่าน
: ถ้ามันเป็นได้ถึงขั้นนั้น
ก็แน่นอน ประชาชนต้องการให้ขึ้นไปจริงๆ ใครจะมาแข่ง นายกฯ
ต้องไม่มี เงินเดือน ส.ส. ต้องไม่มีเงินเดือน คนที่สมัครอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ชั้นสูงขึ้นไปแล้ว
ต้องไม่รับรายได้ เพราะที่นี่เราทำได้แล้ว ทำให้ประชาชน ให้ประชาชนเลี้ยงไว้
ไม่ต้องไปมีทรัพย์ศฤงคาร ไม่ต้องมีบ้านเรือน นายกฯต้องไม่มีบ้าน ของตัวเองเลย
ไปไหนก็อยู่กับประชาชนและรัฐ ประชาชนและรัฐอุปถัมภ์ ผู้มักน้อย สันโดษ
ที่รับใช้ประชาชนและรัฐอย่างแท้จริงนี้ได้แน่นอน นี่คือ การเมืองนวัตกรรม
ที่คนฟังแล้วเชื่อว่า คงเห็นเป็นเรื่อง เป็นไปไม่ได้
เด็ดขาด
ไม่เป็นไร...
เราไม่รอ ไม่หวัง แต่เราทำ เอาจริง อย่างมั่นใจ
ก็คือจบ
เฉินฯ :
พรรคการเมืองอย่างนี้ นอกจากพระพุทธเจ้าแล้ว ได้รับทัศนะความคิดมาจากใครบ้าง
พ่อท่าน
: ไม่มี
มาจากพระพุทธเจ้าโดดๆ อันนี้เป็นนวัตกรรมของยุค เป็นของใหม่แท้ๆ พูดได้ว่าย้อนกาลไป
ในช่วงแสนปี ยังไม่เคยมีพรรคการเมืองอย่างนี้ แต่ย้อนเกินแสนปีไปอีก
อาตมาไม่พูด
งานภราดรภาพ
ซาบซึ้งใจ ครั้งที่ ๓ ที่ทักษิณอโศก
๒๕ ก.ค. ๔๖ ที่สนามบินจังหวัดตรัง มีญาติธรรมกลุ่มทักษิณอโศกและจากที่อื่นๆ
มารอรับพ่อท่าน กันคึกคักกว่า ๖๐ คน แถมธรรมเนียมปฏิบัติที่ชาวอโศกทำกันมานาน
ในการคารวะสมณะ ด้วยการก้ม ลงกราบที่พื้นพร้อมๆกัน เป็นสิ่งที่สังคมเช่นนั้นไม่ได้เห็นง่ายๆ
ภาพเช่นนี้ ที่สนามบินเชียงใหม่.... เชียงราย.... อุดรธานี และบางแห่ง
ที่พ่อท่านนานๆไปที ก็มีให้เห็น บางที่ก็ปีละครั้ง บางแห่งก็หลายปีไปครั้ง
การต้อนรับ จึงดูคึกคัก ตามแต่กำลังของกลุ่มญาติธรรม และรวมถึงความสำคัญของงาน
ที่พ่อท่านไปด้วย
"งานภราดรภาพซาบซึ้งใจ"
เป็นความคิดของญาติธรรมชาวใต้ ที่เห็นปัญหาของกลุ่ม นอกจากมวล ญาติธรรม
จะน้อยกว่า ภาคอื่นแล้ว การผนึกรวมกันก็ยากกส์...ยิ่งกว่าภาคอื่นด้วย
ทำให้การพัฒนา ตัวของกลุ่ม ทักษิณอโศกเป็นไปอย่างเชื่องช้าตาม ยิ่งอยู่ไกลห่าง
กิจกรรมก็น้อย โอกาส ที่พ่อท่านจะไป จึงน้อยด้วย ความคิดในการจัดงานนี้
ด้วยหวังให้พ่อท่านเป็นแม่เหล็กใหญ่ในการเหนี่ยวนำศรัทธาของญาติธรรมชาวใต้
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
ชื่องานภราดรภาพซาบซึ้งใจ
จึงเป็นเหมือนกรรมฐานของกลุ่มทักษิณอโศก
ถ้าต้องการให้กลุ่ม ก้าวหน้า พัฒนา.... ก็ต้องผนึกรวมกันให้ได้ ลดละอัตตามานะของแต่ละคนลง
ยอมๆกันบ้างเถอะ อ่อนน้อมถ่อมตน เจียมเนื้อเจียมตัว หลีกเลี่ยงการปะทะคารม
การเอาแต่ใจตนไม่เคยทำให้คนข้างเคียงอบอุ่น เมื่อมีเรื่อง ที่จะต้องขัดแย้ง
ต่างฝ่ายต่าง ก็มีเหตุผลด้วยกันทั้งนั้น จริงอยู่.... เหตุผลเป็นสิ่งสำคัญ
ในการตัดสินใจ จะทำหรือไม่ทำอะไร แต่ในบางกาละการถือเอาแต่เหตุผลของตน
(แม้จะถูกต้องเต็มร้อยก็ตาม) มันกลายเป็น อุปสรรคสำคัญ ในการผนึกรวม...
การประสานสัมพันธ์....ความสมานสามัคคี.... ความอบอุ่น
ของหมู่คณะ
ถ้าจะแก้ปัญหา ดังกล่าวข้างต้น เหตุผลหรือความถูกต้องนั้นๆอาจต้อง
ละๆวางๆ ไม่ใช้ดูบ้าง ยอมถอย....
ยอมถอนให้กันและกันบ้าง แม้จะมองทีใดก็ยังบกพร่องผิดพลาดก็ช่างมันเถอะ
ไม่ต้องสมบูรณ์ ก็ได้นี่ สิ่งอื่นๆที่เขาทำได้ดีกว่าเราก็มี หากมองไม่เห็นสิ่งดีที่เขาทำ
อย่างน้อยๆ เขาก็อยู่เป็นมวลคนหนึ่ง ในหมู่ชาวอโศก ที่ยังมีความเป็นอโศกไม่ต่ำกว่ามาตราฐาน
การอบรมเกษตรกรที่พักชำระหนี้กับ
ธ.ก.ส. ในหลักสูตรสัจธรรมชีวิต ๒ ปีที่ผ่านมา ช่วยทำให้เกิดการผนึก
รวมของญาติธรรม ชาวใต้ได้เป็นอย่างดี แม้กระนั้นก็ยังมีข่าวกระเซ็นกระสายอยู่บ้าง
เมื่อมีพรรคเพื่อฟ้าดิน งานภราดรภาพฯ
จึงเป็นการประชุมบอกเล่างานที่แต่ละสาขา ไปทำกับประชาชน.... มีอะไรคืบหน้า....
อะไรที่เป็นปัญหา.... กำลังจะทำอะไรต่อ.... หรือมีข่าวอะไร ในสังคม
ที่ควรจะบอก แก่กันและกัน โดยสรุปการจัดงานภราดรภาพฯอย่างสำคัญมากๆ
ก็เพื่อให้พ่อท่าน ได้มาเยือนทักษิณอโศก ปีละครั้ง ส่วนผลพลอยได้ ก็คือกรรมการสาขาจากภาคอื่นๆที่มาร่วมประชุม
ค่ำ....ที่ทักษิณอโศกเสร็จจากสรงน้ำแล้วมีรายการเอื้อไออุ่น
ขึ้นป้ายเขียนว่า "พบกันวันชื่นจิต" เริ่มรายการ ด้วยคำถาม
เกี่ยวกับเพลงใหม่ ที่เพิ่งแต่ง ต่อด้วยคำถามเรื่องสุขภาพ และคุยกันไปเรื่อยๆ
ไม่ได้เน้นเรื่องใด เป็นรายการตามสบายๆ เข้าใจว่าญาติธรรม อยากพบอยากฟังพ่อท่านมากกว่า
พูดอะไรก็ได้....จะฟัง มีประเด็นเกี่ยวกับ พรรคเพื่อฟ้าดิน ที่หลายคนฟังแล้ว
อาจจะรู้สึกว่า ถามอะไร เพ้อเจ้อ แต่พ่อท่านก็ตอบ ได้อย่างมีสาระ
ถาม : พ่อท่านมีญาณบอกได้ไหมว่าพรรคเพื่อฟ้าดินในอีก
๑๐ ปี จะมี ส.ส.หรือปาตี้ลิสต์ไหม
พ่อท่าน
: ญาณโตงเตงอย่างนี้ไม่มี ไม่รู้ อาตมาไม่พยายามหาวิชาสถิติเหล่านี้มาใช้
มีแต่รู้ว่าเราทำไป เรื่อยๆ ให้มันเป็นสัจจะ มันครบ มันก็จะเป็นไปเอง
พวกเราเป็นพวกแสวงหาเนื้อแท้ สาระสัจจะ
เมื่อมีความเข้าใจในโครงสร้างอะไรก็แล้วแต่ ก็จะทำเนื้อให้ได้ ในบริบทนี้
นั้นเป็นหลักวิชาของพระพุทธเจ้า ซึ่งสอนคนให้เป็นสัตบุรุษที่มีสัปปุริสธรรม
ถาม : ถ้าจะขอต่อรอง
ทำอย่างไรบุญนิยมจะสมบูรณ์เร็ว ไม่ต้องถึง ๕๐๐ ปี
ทำอย่างที่ควรทำ
ให้ได้ดีที่สุด ได้มากๆเยอะๆ สร้างเหตุปัจจัยให้จริงจัง
ข้าพเจ้าขอข้ามผ่านรายการอื่นๆ ทั้งการแสดงธรรมทำวัตรเช้าและก่อนฉัน
รวมไปถึงรายการบันเทิง ผ่อนคลาย ซึ่งเป็นการแสดง ประจำถิ่นของชาวใต้คือรำมโนรา
ขอตัดมาที่การประชุมพรรคเพื่อฟ้าดิน จากบางส่วนที่พ่อท่านให้โอวาทเปิดการประชุมดังนี้....
"....การที่ผู้ปฏิบัติธรรมรวมตัวกันทำงานการเมือง
มีพรรคการเมือง โดยที่เรามีภาพของศาสนา ผลปรากฏว่า คนในสังคม ไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านอะไรเลย
เป็นเพราะความจริง ที่พวกเราเป็น และนโยบาย ที่เราประกาศ ออกไปว่า
พวกเราจะทำอะไร เราไม่ได้มาแย่งลาภยศอะไร เราจะมาทำงานกับประชาชน อันนี้ถือเป็นเกียรติ
ที่น่าภาคภูมิใจ เรามีสิ่งที่ดี มีสิ่งที่ถูกต้องแล้ว งานการเมืองอย่างนี้
ถือเป็นอนวัชชะด้วย คือการงานที่ ไม่มีโทษ คำว่าพรรคเพื่อฟ้าดิน มีความหมายว่าเราทำงานเพื่อโลก
เพื่อมวลมนุษยชาติในโลก เพื่อความดีงาม ของโลก รวมไปหมดทั้งฟ้าทั้งดิน...."
ต่อมาคุณธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ ได้บอกเล่าการไปร่วมประชุมกับ
TDRI [Thailand Development Reserch Institute] สถาบันวิจัย
เพื่อการพัฒนาประเทศไทย เรื่องที่ประชุมคือการแก้ไขปัญหาความยากจน
แต่ละองค์กร ได้บอกถึงความเป็นมา ขององค์กรต่างๆ เราก็เล่าของเราว่า
เกิดจากการปฏิบัติธรรมมาก่อน แล้วเล่าถึง การเกิดกิจกรรมต่างๆ ตามมา....มีชุมชนพึ่งตนเอง....มีโรงเรียน
ฯลฯ จนมามีพรรคการเมือง นักวิชาการของ TDRI
ก็ถามเราว่า กำลังจะสร้างนักการเมืองคุณภาพใช่ไหม? ซึ่งคุณธำรงค์ได้ตอบไปว่า
"เราไม่ได้คิดถึง ขั้นนั้น เราเพียงทำไปตามเหตุปัจจัยที่มี"
ปิดท้ายบันทึกฉบับนี้ จากบางส่วนของโอวาทปิดการประชุม
ชุมชนปฐมอโศก (๒๑ ก.ค.)
"พวกเราขณะนี้ ดูรื่นรมย์ สดใสเบิกบาน
คึกคักกันดี จะจน รวย แต่งตัวสวย แต่งตัวไม่สวย ทำงานหนัก ขยันหมั่นเพียรอยู่
ก็สดชื่นได้
ความเบิกบานร่าเริงของจิตใจ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่นๆ
ขึ้นอยู่ที่ใจ การทำใจในใจ
ตอนนี้สังคมข้างนอกบางแห่งเขาก็ยกให้
การสัมพันธ์สังคมในระดับรัฐ ก็ดูดี อะไรๆก็กรูเกรียวเข้ามา พวกเราดูคึกคัก
มีฉันทะกันดี อาตมาก็อุ่นใจ
จริงๆแล้วอโศกเราเพิ่งเกิดมาได้
๓๐ ปี แต่ทำไมอะไรๆของเราดูก้าวหน้ากว่า ทำไมข้างนอก ต้องมาตามเรา
ทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพ เศรษฐกิจ การบูรณาการของสังคม การแต่งกาย
การกิน การอยู่ และด้านอื่นๆ นี่แสดงว่าทฤษฎีของพระพุทธเจ้าทันสมัย
ใหม่เสมอ เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้จริงๆ
ใจของเรานี้ให้เบิกบานร่าเริงได้ยิ่งขึ้น
ทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะร้อนจัด หนาวจัด หนักจัด เหนื่อยจัด จะอยู่ในภาวะ
อย่างไร ก็แล้วแต่ ทำใจของเราให้ดีๆ เบิกบานร่าเริง อุตสาหะ วิริยะพากเพียรไป
ให้เกิดกรรมที่ดี เกิดกุศลที่ดี เป็นทรัพย์แท้ของแต่ละคน"
- อนุจร -
๑๒ ก.ย. ๔๖
-สารอโศก
อันดับที่ ๒๖๔ กันยายน ๒๕๔๖ -
|