หน้าแรก>สารอโศก

- ฝั่งฟ้าฝัน -

จักเรียนรู้....และอดทน


การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด เรียนตั้งแต่แรกเกิดจวบจนกระทั่งสิ้นชีวิต แต่การเรียนรู้สภาพจิตเพื่อพัฒนา ให้เป็นจิตบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไร้กิเลสตัณหา เป็นการเรียนที่ยากยิ่ง และเรียนรู้ไปทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะหมดสิ้นเกลี้ยงกิเลสมารในตน !

ข้าพเจ้าก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่เสาะแสวงหาโมกขธรรม แสวงหาธรรมะเพื่อที่จะเรียนรู้ความพ้นทุกข์ เพราะว่าชีวิตหาความสุขใส่ตัวเอง แต่อาจจะอยู่บนความทุกข์ของบุคคลอื่น

สมัยนั้นข้าพเจ้าเป็นพระในสังกัดเถระสมาคม สนใจธรรมะเพื่อการพ้นทุกข์ จึงไปศึกษาหาความรู้ที่อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ และได้ฟังเท็ปเสียงปลุก เสียงปลง เสียงธรรม โอ้หนอ! ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังแบบนี้มาก่อนเลย

ข้าพเจ้าจึงเสาะแสวงหา ว่าต้นสังกัดหรือที่มาที่ไปของเท็ปเสียงปลุก-เสียงปลง-เสียงธรรม คือหน่วยงานใด? อยู่ที่แห่งหนไหน? ด้วยความมุ่งมั่นพยายาม จนในที่สุดข้าพเจ้าก็มาถึงสันติอโศก....จำได้ว่าเป็นปี พ.ศ.๒๕๒๗

ด้วยจิตใจที่ใฝ่อยากรู้ศึกษา ข้าพเจ้าก็เริ่มปฏิบัติตามแนวทางของชาวอโศก โดยเริ่มต้นด้วย การรับประทานอาหารมังสวิรัติอย่างเอาจริงเอาจัง (วัดที่เชียงใหม่ที่ข้าพเจ้าไปศึกษา ก็รับประทาน มังสวิรัติเหมือนกัน) และคิดว่าจะต้องรับประทานไปตลอด จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ?!

ด้วยความที่เป็นมือใหม่หัดขับ เวลาโยมที่สันติอโศกมาถวายอาหาร จะต้องถามว่า "มังสวิรัติรึเปล่าโยม อาตมาฉันมังสวิรัติ" โยมเขาตอบว่า ที่นี่เป็นอาหารมังสวิรัติทั้งนั้นค่ะ เพล้ง! ผู้ไม่รู้ย่อมไม่ผิด แต่อาจจะผิด ในสายตาของคนที่เขาเรียนรู้มาก่อน ข้าพเจ้าจึงเอาจริง กับการรับประทาน อาหารมังสวิรัติมื้อเดียว ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ เป็นต้นมา

สมัยที่ข้าพเจ้ามาเรียนรู้ชาวอโศก กฎกติกาในการเปลี่ยนสถานภาพหรือการเลื่อนฐานะ ยังไม่มีกติกา มากเหมือนทุกวันนี้ ถ้าต้องการบวชเป็นสมณะชาวอโศก ก็สามารถเป็นปะ(ผู้ปฏิบัติศีล ๕)ได้ทันที (ลาสิกขาแล้วมาเป็นปะได้เลย)

สมัยนั้นก็เป็นปะเพียง ๓ เดือน เลื่อนขึ้นเป็นนาค(ปฏิบัติศีล ๘) ๓ เดือน เลื่อนเป็นสามเณร ๓ เดือน แล้วก็เป็น สมณะชาวอโศก

แต่ว่า....ข้าพเจ้าเป็นปะอยู่ ๗ เดือน ด้วยเหตุผลว่าอยากจะอยู่ในฐานะนี้เพื่อทดสอบความอดทน ทดสอบ ความอ่อนน้อม เพราะการที่ข้าพเจ้าเป็นนักบวชมาก่อน เมื่อมาอยู่ในฐานะปะ จะมีสภาพจิตอย่างไร ทนได้หรือไม่กับการที่ถูกชี้ใช้

และที่สำคัญฝึกลดละล้างตัวไม่ยอม(มานะอัตตา)ในตัวเอง ด้วยการกราบคนโน้นคนนี้ และทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่กวาดพื้น ถูพื้น และขัดห้องน้ำ....

การที่ข้าพเจ้าตั้งใจฝึกฝนตรงนี้ เพราะตัวข้าพเจ้าเป็นคนที่ค่อนข้างแข็งกระด้าง(ภายนอก) บุคลิกเป็นคน ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน จึงต้องฝึกเป็นพิเศษให้กับตัวเอง... ข้าพเจ้าก็อดทนและสามารถฝึกได้จริงๆ แม้มันจะยาก และลำบาก... แต่ผลของการฝึกก็คุ้มค่าทีเดียว คนที่ไม่เคยขัดห้องน้ำอย่างข้าพเจ้า พอได้ทำ...ลงมือทำ... ก็ทำได้อย่างสบายใจ

เมื่อคิดว่าการเรียนรู้ฝึกฝนในฐานะปะ เป็นไปได้ดีแล้ว ข้าพเจ้าก็ขอหมู่สงฆ์เพื่อเลื่อนเป็นนาค ฐานะนี้ จะต่างจาก การเป็นปะ เพราะผู้เป็นนาคจะต้องถือศีล ๘ ให้เป็นอธิศีลให้มากขึ้น ผมก็โกน เสื้อผ้าก็ต่างจากปะ และต้องสังวรระวังในทุกๆเรื่องมากขึ้น จะเดินทางไปไหนโดยถือความสะดวก ของตัวเองไม่ได้แล้ว ต้องขออนุญาต เสียก่อน

ข้าพเจ้าฝึกสำรวมสังวรในฐานะนาคเป็นเวลา ๓ เดือนกว่า ก็ได้เลื่อนฐานะเป็นสามเณร... การเป็นสามเณร จะต้องถือศีล ๑๐ บิณฑบาตเลี้ยงตัวเอง แต่ก่อนที่จะออกบิณฑบาต จะมีสมณะพี่เลี้ยงคอยแนะนำการเดิน การรับบาตร การมีสติอยู่กับเท้าของตัวเอง ฝึกสำรวมให้มากขึ้นในทุกอิริยาบถ

สมัยนั้นชาวอโศกยังไม่มีงานมากเหมือนปัจจุบัน การฝึกฝนเรียนรู้อารมณ์ของกิเลส ก็ฝึกจากการตั้งตบะ (ตั้งข้อปฏิบัติเผาผลาญกิเลส) ตบะการนอนก็ฝึกนอนบนไม้กระดานแผ่นเดียว ความสูงจากพื้นประมาณ ๑ ฟุต ฝึกการอดอาหารว่า เราจะอดอาหารได้กี่วัน เมื่อเกิดอาการหิว แล้วสภาพจิตใจของเราจะทุกข์ทรมาน หรือหงุดหงิด โมโหมากน้อยเท่าใด จะดับทุกข์อย่างไร?

การตั้งตบะ เพื่อขัดใจตัวเองในสิ่งที่ชอบมากๆและติดมากๆ เช่น ขนมที่เราติดมากๆ ตั้งตบะ แล้วเรียนรู้อาการ ที่มันไม่สมใจในความอยาก มันทุกข์ทรมาน แล้วสามารถทนได้หรือไม่? (ฝืนไว้ได้กำไร ตามใจขาดทุน) ฝึกทนฝืน จะทนได้ฝืนได้อย่างสบาย จากการตั้งตบะนั่นเอง

นอกจากชาวอโศกจะเข้มในเรื่องการตั้งตบะเพื่อขัดเกลาตัวเองแล้ว สมัยนั้นชาวอโศกทำหนังสือ กันเป็นส่วนใหญ่ โดยมีเป้าหมายไว้ว่า เราจะพิมพ์หนังสือธรรมะให้ท่วมโลก โดยแต่ละวัน พอทานข้าว เสร็จสรรพ ก็จะมาช่วยกันทำหนังสือ พับหนังสือ เข้าเล่ม ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันนี้ ที่มีโรงพิมพ์ และเป็นระบบ สมัยโน้นกว่าจะทำหนังสือออกมาได้แต่ละเล่ม ทุกคนต้องร่วมมือร่วมแรงกายแรงใจกัน หนังสือจึงจะสำเร็จลุล่วง

เหตุการณ์ กรณีสันติอโศก ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจนิดๆ และอารมณ์ไม่ชอบหน่อยๆ เพราะคิดว่าเขา แกล้งเรา จนต้องห่มผ้าสีขาว โอ้ย! อะไรกัน! เป็นอารมณ์ที่ไม่รู้เท่าทันกิเลสเท่าไหร่ แต่ข้าพเจ้า เชื่อมั่น ในครูบาอาจารย์ สมณะโพธิรักษ์ ว่าท่านคิดไกลกว่าพวกเรา จากเหตุการณ์ ท่านฝึกให้พวกเรา ลดความหยิ่ง ยอมให้ต่ำ ยอมให้เหยียบย่ำ ยอมให้เข้าใจผิด ยอมให้เขาด่าทอให้ร้ายป้ายสี ยอมเพื่อความสงบสุขของทั้งสองฝ่าย จะได้ไม่ต้องสูญเสีย แม้แต่ความรู้สึก....

ยิ่งปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพ่อท่าน ที่ท่านชี้แจงและพาทำ ยิ่งทำให้ข้าพเจ้ามองเห็นทิศทาง และเป้าหมาย ที่จะพ้นทุกข์ ห่างไกลจากทุกข์ที่มีในตัวเราเอง ธรรมะไม่ได้อยู่ที่การห่มผ้าสีโน้นสีนี้ แต่ธรรมะอยู่ในชุดไหนก็ได้ ถ้าปฏิบัติตรง ตามแนวทางของพระพุทธองค์

จากปี พ.ศ.๒๕๒๗ ผ่านมาจนปัจจุบันปี พ.ศ.๒๕๔๖ ข้าพเจ้ายิ่งมั่นใจในแนวทางของพ่อท่านมากกว่า ๑๐๐ % ว่าท่านพา มวลมนุษย์เดินทางที่แสนยากแสนลำบาก ในการทวนกระแสสังคม ทวนกระแสกิเลสที่เคยติดยึด เคยเห็นแก่ตัว เคยโลภโมโทสัน

ความโง่ย่อมมาก่อนความฉลาดเสมอ เมื่อหายโง่แล้วควรเร่งรีบปฏิบัติตัวเราให้เข้มมากขึ้น (เคร่งที่ตน ผ่อนปรน ผู้อื่น) แล้วความเมตตาก็จะเกิดขึ้น ความกรุณา มุทิตา จนเกิดอุเบกขา สามารถวางใจได้ ตามความเป็นจริง ที่เกิดขึ้น

ผู้ที่ยังหงุดหงิดกับคนโน้น เรื่องโน้นเรื่องนี้ หรือหงุดหงิดกับทุกๆคน จนกระทั่งหงุดหงิดแม้กระทั่ง ตัวเราเอง คนนั้น โง่สุดแสนจะโง่ ...โง่ที่ให้กิเลสครอบงำตัวเอง ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าปฏิบัติธรรม แต่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติธรรมจริง ผู้มีธรรมะจะเป็นผู้เบิกบาน แจ่มใส ยิ้มง่ายเมื่อเจอผัสสะมากระทบ

อยากเป็นผู้เบิกบาน แจ่มใส จงฝึกมีเมตตา เมตตาต่อทุกคน ทุกเรื่อง แล้วเราก็จะเป็นคนที่ใบหน้าผ่องใส ยิ้มง่าย และห่างไกลจากภยันอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ข้าพเจ้าเองก็ฝึกเช่นนี้ เพราะข้าพเจ้าไม่อยากโง่อีกต่อไป...
โลกนี้ฤากว้างใหญ่ ใคร่รู้
จักรวาลคือครู สอนให้ ศึกษา
สรรพสิ่งพรั่งพรู ก่อเกิด ร่วมกัน
กายจิตพินิจไว้ ถ่องแท้ ลึกเอย....

- สมณะแก่นเมือง เกตุมาลโก -

- สารอโศก อันดับที่ ๒๖๔ กันยายน ๒๕๔๖ -