หน้าแรก>สารอโศก

กว่าจะถึงอรหันต์ - โดย...ณวมพุทธ -

พระยสเถระ


อิ่มเอิบพรั่งพร้อมกามคุณ
บำรุงบำเรอหลงใหล
ครั้นได้เห็นซึ่งโทษภัย
หมายใจหลุดพ้นบ่วงกาม.

พระยสเถระก็เป็นผู้ที่เคยสั่งสมบุญกุศลเอาไว้แล้ว ตั้งแต่ชาติปางก่อน แม้ในสมัยของ พระพุทธเจ้า องค์สุเมธะ เมื่อเขาได้พบเห็นพระองค์แล้ว ก็บังเกิดจิตเลื่อมใสยิ่งนัก จึงทูลอาราธนา (นิมนต์) ถวายภัตตาหาร บูชาแด่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นพร้อมทั้งภิกษุอรหันต์ทั้งหลาย และได้ถวายผ้าจีวรแก่หมู่สงฆ์ทั้งหมดด้วย

พระพุทธเจ้าองค์สุเมธะก็ทรงพยากรณ์ ตรัสให้เขารู้ความจริงในอนาคตว่า

"อุบาสกผู้กระทำบุญแก่เราและหมู่สงฆ์นี้ จะได้รื่นรมย์อยู่ในเทวโลก(โลกของผู้มีจิตใจสูง) ตลอด ๑,๘๐๐ กัป(ชาติที่เกิด) และจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ๑,๐๐๐ ครั้ง แม้ไปเกิดเป็นเทวดา (ผู้มีจิตใจสูง) หรือมนุษย์ (ผู้มีจิตใจประเสริฐ) ก็จะมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ สุดท้ายในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ จะได้เป็นทายาทในธรรมของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม จะเป็นผู้สิ้นอาสวะ (กิเลสที่หมักหมม ในสันดาน) หมดความเร่าร้อนทั้งปวงเข้าถึงนิพพาน(ดับกิเลสทุกข์สนิท)ได้"

ด้วยผลแห่งบุญที่เขาได้กระทำไว้นั้น จึงได้ไปเกิดแต่ในสุคติภพ(ที่อยู่ที่ดี)อย่างเดียว จนกระทั่งถึงสมัยขอ งพระพุทธ เจ้าองค์สมณโคดม

เขาได้เกิดเป็นบุตรเศรษฐีที่มั่งคั่งร่ำรวยแห่งกรุงพาราณสี ในแคว้นกาสี ชื่อว่า ยสะ เป็นสุขุมาลชาติ (ชาติผู้ดีมีตระกูล) ใช้ชีวิตเป็นอยู่อย่างสุขสมบูรณ์ มีปราสาท ๓ หลังคือ ปราสาทในฤดูหนาว ปราสาทในฤดูร้อน และปราสาทในฤดูฝน

มีอยู่คราวหนึ่งในฤดูฝน ยสกุลบุตรได้รับการบำรุงบำเรอ ด้วยการขับร้องฟ้อนรำและดนตรี จากเหล่าบริวาร สาวสวย โดยไม่มีบุรุษอื่นเจือปนเลย อยู่บนปราสาทฤดูฝนตลอด ๔ เดือน ไม่ได้ลงมาจากปราสาท แม้สักวันเดียว

กระทั่ง.....ค่ำคืนหนึ่ง หลังจากที่ได้นอนหลับไปด้วยความอิ่มเอิบพรั่งพร้อมในกามคุณ ๕ (ความพอใจในรูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัส)แล้ว เขาตื่นขึ้นมาแต่ผู้เดียว ได้เห็นหญิงสาวทั้งหลายกำลังหลับสนิทอยู่ บางนางก็มีพิณคาอยู่ที่รักแร้ บางนางก็มีตะโพน(กลองสองหน้า)วางอยู่ข้างคอ บางนางก็มีเปิงวางตกอยู่ที่อก บางนางบ่นละเมออยู่ บางนางน้ำลายไหลยืด บางนางผมเผ้ายุ่งสยายคล้ายปีศาจ ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้า ราวกับยืนอยู่ท่ามกลางซากศพในป่าช้า ฉะนั้น

ครั้นยสกุลบุตรได้พิจารณาเห็นโทษตามความจริงนั้นแล้ว จิตก็ตั้งอยู่ในความเบื่อหน่ายจากกามคุณ ๕ ถึงกับอุทานออกมาว่า

ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ

แล้วจึงสวมรองเท้าทอง เดินลงจากปราสาท ตรงไปยังประตูพระนคร ออกไปสู่ป่าอิสิปตน-มฤคทายวัน

ขณะเวลานั้นเอง.....พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตื่นบรรทมแล้ว กำลังเสด็จจงกรม(เดินไปมาอย่างมีสติ)ในที่แจ้ง ได้ทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรเดินมาแต่ไกล จึงเสด็จลงจากที่จงกรม ประทับนั่งบนอาสนะ(ที่นั่ง)ที่ปูลาดไว้ พอดีกับยสกุลบุตรเข้ามาใกล้ เขายังคงอุทานอยู่อย่างเดิมว่า

"ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ"

พระศาสดาทรงสดับเช่นนั้น จึงตรัสว่า

"ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มาเถิดจงนั่งลง เราจะแสดงธรรมแก่เธอ"

ยสกุลบุตรได้ยินอย่างนั้น ก็ยินดีร่าเริงยิ่งนัก รีบถอดรองเท้าทอง เข้าไปถวายบังคมพระศาสดา พอนั่ง ณ ที่ควรเรียบร้อยแล้ว พระศาสดาทรงแสดงอนุปุพพิกถา(กล่าวธรรมไปตามลำดับ) คือ ๑. ทานกถา = เรื่องของการสละให้ ๒. สีลกถา = เรื่องของการประพฤติศีล ๓. สัคคกถา = เรื่องสภาวะสุขสบายของ ผู้มีจิตใจสูง ๔. กามาทีนวกถา = เรื่องโทษที่ต่ำทรามและเศร้าหมองของกาม ๕. เนกขัมมา-นิสังสกถา = เรื่องผลบุญผลประโยชน์ในการออกจากกาม

เขาฟังแล้วพิจารณาตามกระทั่งจิตสงบ มีจิตละเอียดอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์(กิเลสกั้นจิตไม่ให้ได้ดี) มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว พระศาสดาทรงทราบวาระจิตของยสกุลบุตรเป็นอย่างนั้น จึงทรงแสดงอริยสัจ (ความจริงอันประเสริฐสุดของชีวิต) คือ ๑. ทุกข์ = ชีวิตมีทุกข์ ๒. สมุทัย = มีเหตุให้เกิดทุกข์ ๓. นิโรธ = มีความดับทุกข์ ๔. มรรค = มีข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้

จบการแสดงธรรมนั้นเอง ยสกุลบุตรก็ได้ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน รู้แจ้งว่าสิ่งใด สิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา จิตของเขาบริสุทธิ์ ดุจผ้าสะอาด ที่ปราศจากความมัวหมอง ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น

ครั้นฟ้าสว่างแล้ว เมื่อยสกุลบุตรหายไปจากปราสาท เศรษฐีบิดาของเขา จึงส่งข้าทาสบริวาร ออกตามหาทั้ง ๔ ทิศ แล้วตัวเศรษฐีเองก็เที่ยวค้นหา ไปทางป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน ได้พบรองเท้าทองวางทิ้งอยู่ พอเห็นพระศาสดา ก็รีบเข้าเฝ้าทันที

พระศาสดาทรงแสดงธรรมอนุปุพพิกถา กระทั่งเห็นจิตของเศรษฐีสงบ ละเอียดอ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใสแล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจ ๔ ทำให้เศรษฐีบังเกิดดวงตาเห็นธรรม ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้ง มีธรรมหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา เศรษฐีจึงได้ ประกาศตนว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คำกล่าวสอนของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ไพเราะนัก ทรงประกาศธรรม โดยประการต่างๆ เปรียบเหมือน บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องไฟในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีดวงตา จะมองเห็นได้ ดังนี้ข้าพระองค์จึงขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ (ยึดถือเป็นที่พึ่ง) ขอพระองค์ทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ นับตั้งแต่ วันนี้เป็นต้นไป"

เศรษฐีบิดาของยสกุลบุตร จึงได้เป็นอุบาสกคนแรกในพระพุทธศาสนา ที่กล่าวอ้างพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

ส่วนยสกุลบุตรนั้น เมื่อได้ฟังธรรมซ้ำอีกครั้ง ตามที่พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่บิดาของตน จิตพิจารณา ภูมิธรรม (ระดับจิตใจที่มีคุณธรรม) ตามที่ตนได้เห็นแล้ว ได้รู้แจ้งแล้ว ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะความไม่ถือมั่น บรรลุเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในโลกแล้ว ทั้งที่ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่

แต่เศรษฐีผู้เป็นบิดายังไม่รู้ จึงบอกให้บุตรสุดที่รักของตน กลับไปหามารดาที่เศร้าโศกคร่ำครวญคิดถึงอยู่ พระศาสดา จึงช่วยตรัสให้รู้

"ดูก่อนเศรษฐี บัดนี้ยสกุลบุตรได้บรรลุธรรม หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว ควรหรือที่จะกลับไปบริโภคกาม เหมือนเป็นคฤหัสถ์ดังแต่ก่อน"

"ข้อนั้นไม่ควรเลยพระพุทธเจ้าข้า การที่จิตหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงได้ เป็นลาภของเขา เขาได้ดีแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า มียสกุลบุตรเป็นปัจฉาสมณะ(ภิกษุผู้ติดตาม) แล้วในวันพรุ่งนี้ ทรงโปรดรับภัตตาหาร ของข้าพระพุทธเจ้าที่บ้านด้วยเถิด"

ครั้นเศรษฐีได้กลับไปแล้ว ยสกุลบุตรจึงขอบวชกับพระศาสดา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า

"เธอจงเป็นภิกษุเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์"

พระวาจานี้ได้อุปสมบทยสกุลบุตรเป็นภิกษุแล้ว ในกาลนั้นจึงมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลกได้ ๗ องค์

เมื่อบวชเป็นภิกษุสาวกองค์ที่ ๖ แล้ว พระยสเถระก็ได้ประกาศธรรมว่า

"เราเคยเป็นผู้ลูบไล้ดีแล้ว มีเครื่องนุ่งห่มอันงดงาม มีเครื่องประดับนานาชนิด แต่บัดนี้เราได้บรรลุวิชชา ๓ (ความรู้ที่พาให้พ้นทุกข์ได้ คือ ๑. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ = รู้ระลึกชาติของกิเลสได้ ๒. จุตูปปาตญาณ = รู้การเกิดและดับของกิเลสได้ ๓. อาสวักขยญาณ = รู้ความหมดสิ้นไปของกิเลสได้) เราได้กระทำกิจในพระพุทธศาสนาเสร็จแล้ว"

เช้าวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระยสเถระเป็นปัจฉาสมณะ เสด็จไปสู่บ้านของเศรษฐีนั้น ทั้งมารดาและภรรยาของยสกุลบุตร พากันมาเข้าเฝ้าพระศาสดา พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงแสดงธรรม ให้แก่นางทั้งสอง จนกระทั่งได้ดวงตาเห็นธรรม รู้ธรรมแจ้งชัด ทั้งสองจึงประกาศตนต่อพระ-ศาสดาว่า

"หม่อมฉันทั้งสองนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะขอพระองค์ ทรงจำ หม่อมฉัน ทั้งสองว่า เป็นอุบาสิกาผู้มอบชีวิตถึงสรณะ นับแต่วันนี้เป็นต้นไป"

ก็เพราะมารดาและอดีตภรรยาของพระยสเถระ ได้ประกาศตนเช่นนี้ จึงได้เป็นอุบาสิกา ชุดแรกใน พระพุทธศาสนา ที่กล่าวอ้างพระรัตนตรัยเป็นสรณะแล้ว

ณวมพุทธ
เสาร์ ๒๗ ก.ย. ๒๕๔๖
(พระไตรปิฎกเล่ม ๔ ข้อ ๒๕, เล่ม ๒๖ ข้อ ๒๕๔
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๐ หน้า ๕๒๖)

 

- สารอโศก อันดับที่ ๒๖๔ กันยายน ๒๕๔๖ -