หน้าแรก>สารอโศก

ประตูสู่สุขภาพบุญนิยม

ตรวจศีล ตรวจพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง

คณะทำงานสุขภาพบุญนิยมได้ยกร่างแบบประเมินพฤติกรรมสุขภาพ ๗ อ. ด้วยตนเองขึ้น โดยคัดเลือก และประยุกต์ ตัวชี้วัดด้านพฤติกรรมสุขภาพของศาสตร์ในระบบการแพทย์ต่างๆ ให้เหมาะกับวิถีชีวิต ชาวอโศก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

๑. ทำให้ท่านได้รู้ว่าตนเองมีพฤติกรรมสุขภาพแต่ละ อ. ที่เหมาะสมหรือไม่ ในวิถีชีวิตประจำวัน

๒. ใช้แบบประเมินนี้เป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดความตระหนักในเรื่องสุขภาพ และใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดูแลสุขภาพของตนเอง คนในครอบครัว และญาติธรรม รวมถึงการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันเองหรือกับแกนนำสุขภาพในชุมชน เพื่อพัฒนาหรือแก้ปัญหาสุขภาพที่เป็นอยู่

วิธีการประเมิน
ท่านสามารถทดลองใช้แบบประเมินนี้สำรวจพฤติกรรมสุขภาพของตนเองในทั้ง ๗ อ.
โดยใส่เครื่องหมายถูก ในช่องที่ตรงหรือใกล้เคียงกับตัวท่านมากที่สุด ดังนี้
ช่อง ๓ = มีมาก หรือ ทำบ่อยๆ สม่ำเสมอ
ช่อง ๒ = มีปานกลาง หรือ ทำบ้าง ไม่ได้ทำบ้าง
ช่อง ๑ = มีน้อย หรือ ทำน้อยมาก ไม่ได้ทำเลย
ช่อง ๐ = ไม่ทราบ ไม่เข้าใจ ตอบไม่ได้


การประมวลและวิเคราะห์ผล
๑. ท่านสามารถวิเคราะห์ผลพฤติกรรมสุขภาพของตนเองในแต่ละข้อของแต่ละ อ. ที่ท่านขีดเครื่องหมายถูก โดย

ช่อง ๓ หมายถึง พฤติกรรมสุขภาพในอุดมคติที่พึงประสงค์ สมควรต้องปฏิบัติต่อเนื่องต่อไป

ช่อง ๒ หมายถึง มีความพยายามปรับไปสู่พฤติกรรมสุขภาพที่ดี สมควรต้องปฏิบัติให้ละเอียดยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่พฤติกรรมสุขภาพในอุดมคติที่พึงประสงค์

ช่อง ๑ หมายถึง ผู้ปฏิบัติต้องปรับปรุงพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพในข้อนั้นๆ ด้วยความเพียรยิ่งขึ้น

ช่อง ๐ หมายถึง ผู้ปฏิบัติต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ หรือแสวงหาความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพในข้อนั้นๆ จากผู้รู้หรือตำรับตำรา

๒. ท่านสามารถประมวลผลภาพรวมในแต่ละ อ. ได้ โดยให้ท่านรวมจำนวนข้อที่ท่านขีดเครื่องหมาย ในแต่ละช่อง เพื่อประเมินว่าท่านมีจุดดี และจุดอ่อนในพฤติกรรมสุขภาพใน อ. ด้านใดบ้าง ซึ่งต้องแก้ไข ปรับปรุง โดยให้ค่าผลรวม ดังนี้

ถ้าช่องที่ ๓ ได้ค่ามากกว่าช่องอื่น หมายถึง ท่านมีแนวโน้มของพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์

ถ้าช่องที่ ๒ ได้ค่ามากกว่าช่องอื่น หมายถึง ท่านมีพฤติกรรมสุขภาพดีปานกลาง ควรพัฒนา พฤติกรรมสุขภาพให้ประณีตขึ้น

ถ้าช่องที่ ๑ ได้ค่ามากกว่าช่องอื่น หมายถึง ท่านต้องเร่งปรับปรุงพฤติกรรมสุขภาพตนเองให้มากยิ่งขึ้น

ถ้าช่องที่ ๐ ได้ค่ามากกว่าช่องอื่น หมายถึง ท่านต้องเร่งแสวงหาความรู้และปรึกษาแกนนำสุขภาพ ในชุมชนของท่าน

ฉันมีพฤติกรรมสุขภาพอย่างไรในแต่ละวัน

๑. อ.อิทธิบาท        
การรู้จักตนเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัว        
๑. ฉันรู้ว่าฉันเป็นคนมีธาตุเจ้าเรือนหลักอะไร หรือมีธรรมชาติอย่างไร        
๒. ฉันรู้ว่าธาตุในร่างกายของฉันสมดุลหรือไม่ มีจุดอ่อนหรือปัญหาอย่างไร        
๓. ฉันรู้ว่าโครงสร้างกระดูกกล้ามเนื้อของร่างกายฉันสมดุลหรือไม่ มีจุดอ่อนหรือปัญหาอย่างไร        
๔. ฉันรู้ว่าจิตวิญญาณของฉันสมดุลหรือไม่ มีจุดอ่อนหรือปัญหาอย่างไร        
๕. ฉันรู้ว่าสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่อยู่รอบตัวฉันแต่ละอย่าง (เช่น อาหาร ภูมิ-อากาศ ภูมิประเทศ ญาติธรรม ฯลฯ) ว่ามีธาตุอะไร หรือมีธรรมชาติอย่างไร ทำให้ฉันรู้จักเลือกรับ ปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ จนเกิดภาวะสมดุลของร่างกาย จิตใจ สังคมได้เป็นอย่างดี        
อิทธิบาทในพฤติกรรมสุขภาพที่ดี (ควรตอบข้อ ๒-๗ ก่อนกลับมาตอบข้อนี้)        
๖. ฉันเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ของการมีสุขภาพดี        
๗. ฉันมีความใฝ่รู้ ชอบแสวงหาความรู้เพิ่มเติม หรือหาคำตอบต่อข้อสงสัยเรื่องสุขภาพให้กับตนเองเสมอ        
๘. ฉันอธิษฐานให้มีความเพียรในการสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เพื่อสร้าง
สุขภาพกาย จิต สังคมให้สมดุล
       
๙. ฉันมีความเพียรในการสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี และงดเว้น หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่ดี หรือก่อให้เกิดการเสียสมดุลต่อสุขภาพกาย จิต สังคม        
๑๐. ฉันมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมทันทีในพฤติกรรมสุขภาพที่เกิดขึ้น ทั้งพฤติกรรมสุขภาพที่ดี และที่ไม่เหมาะสม        
๑๑. ฉันได้ทบทวนประเมินพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง และพร้อมที่จะปรับแก้ไข ต่อสู้กับกิเลสในพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมเสมอๆ        
รวมจำนวนข้อ
       
๒. อ.อารมณ์        
๑. ฉันมีความสุขกับงานและชีวิตของตนเอง และพอใจในสถานที่อยู่ปัจจุบัน        
๒. ฉันชอบแสดงความชื่นชม เอาใจใส่ และให้ความสำคัญแก่ผู้อื่นเสมอ        
๓. ฉันไม่แสดงอารมณ์โกรธ กลัว เสียใจ หรือสนุกเกิน สามารถเผชิญและหาทางออกกับอารมณ์ดังกล่าวอย่างเหมาะสม        
๔. ฉันจะฟังคนอื่นและคิดตามอย่างใช้สติปัญญามากกว่าจะปฏิเสธหรือใช้คำพูดปกป้องตนเอง        
๕. ฉันเป็นคนอารมณ์ดีและมองโลกตามความเป็นจริง        
๖. ฉันมีฉันทะในการงานที่รับผิดชอบ        
๗. ฉันมีโอกาสได้ทำงานสร้างสรรที่ชอบ        
๘. ฉันมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมสังสรรค์นันทนาการ หรือได้หัวเราะอย่างน้อยวันละครั้ง        
๙. ฉันมีวิธีลดความเครียดในตนเอง เช่น ลดความถือสา ใช้วิธีสร้างจินตภาพที่ดีหรือความคิดในเชิงบวก        
๑๐. ฉันสามารถแก้ปัญหาทางด้านจิตใจได้ด้วยตนเอง หรือได้รับคำปรึกษาที่ดีจากสมณะ หรือสิกขมาตุ หรือญาติธรรม หรือการอ่านหนังสือ ฟังเท็ปธรรมะจนปัญหาสามารถคลี่คลายไปได้        
รวมจำนวนข้อ
       
๓. อ.อาหาร        
๑. ฉันกินข้าวกล้อง ถั่วหลากสีต่างๆ งา และธัญพืชต่างๆ ที่ไม่ขัดสี หรือแปรรูป ได้ครบถ้วน        
๒. ฉันกินผักสด พืชงอกจากเมล็ดถั่วและธัญพืชต่างๆ ที่เก็บกินทันที (ไม่เกิน ๑ วัน) เพื่อให้ได้รับพลังชีวิตในปริมาณที่เพียงพอ        
๓. ฉันกินผักพื้นบ้าน ผลไม้พื้นบ้านที่หลากหลาย และหลากสี ได้แก่ เขียว เหลือง แดง เพื่อได้รับวิตามินเกลือแร่นานาชนิดซึ่งมีคุณค่าสูงและในปริมาณที่พอเพียง        
๔. ฉันดื่มน้ำคั้น หรือน้ำปั่นผัก หรือผลไม้ หรือน้ำนมถั่วเหลือง หรือเครื่องดื่มข้าวกล้อง ธัญพืช หรือโยเกิร์ต อย่างน้อยอย่างใดอย่างหนึ่งในแต่ละวัน โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้หลากหลาย เพื่อรับเอนไซม์ วิตามินเกลือแร่ ที่ดูดซึมง่ายก่อนมื้ออาหาร        
๕. ฉันเลือกกินอาหารในแต่ละมื้อตามลำดับเพื่อให้ง่ายต่อการดูดซึมซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้ ผลไม้, ผัก, ข้าวหรืออาหารประเภทแป้ง, โปรตีนและไขมัน        
๖. ฉันกินผักพื้นบ้าน ผลไม้พื้นบ้าน หรือที่ปลูกเอง หรือซื้อจากแหล่งที่มั่นใจว่าไร้สารเคมีเป็นพิษ        
๗. ฉันงดผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืชจากต่างประเทศ หรือที่เป็นผลผลิตนอกฤดูกาล เพราะมีความเสี่ยงต่อสารเคมีเพื่อถนอมอาหาร และสารเคมีเพื่อเร่งผลผลิต        
๘. ฉันกินอาหารที่มีธาตุที่เหมาะสมกับธาตุเจ้าเรือน
หลักของฉัน หรือกินอาหารที่เสริมธาตุที่เป็นจุดอ่อนในช่วงเวลานั้น
       
๙. ฉันหลีกเลี่ยงอาหารที่แสลงต่อธาตุของตนเอง        
๑๐.ฉันกินอาหารรสธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่งรสด้วยสารเคมีสังเคราะห์และสารกันเสีย        
๑๑.ฉันลดการกินอาหารหวานจัด มันจัด และเค็มจัด        
๑๒. ฉันลดการกินอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป เช่น ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ขนมปัง        
๑๓. ฉันงดเว้นอาหารขยะ และอาหารที่ปรุงแต่งมาก เช่น อาหารทอดน้ำมันซ้ำหลายครั้ง (บะหมี่ซอง มันฝรั่งทอด ขนมกรุบกรอบต่างๆ หรืออาหารทอดอื่นๆ) อาหารที่แต่งกลิ่น แต่งสี        
๑๔. ฉันงดเครื่องดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลมต่างๆ        
๑๕. ฉันกินอาหารไม่เกิน ๓ มื้อ ไม่กินจุบจิบระหว่างมื้อ ซึ่งในแต่ละมื้อห่างกัน ๕ ชั่วโมง และไม่เกินหกโมงเย็น        
๑๖. ฉันเคี้ยวอาหารช้าๆ และละเอียดอย่างน้อย ๑๕ ครั้งต่อคำ เพื่อช่วยให้การดูดซึมมีประสิทธิภาพ เพราะความเร็วทำให้กินอาหารตามความอยากของกิเลสในปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกาย        
๑๗. ฉันหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ใกล้บูด เน่า เสีย หรืออาหารสกปรก ที่ผู้ปรุงไม่ได้ดูแลด้านสุขลักษณะของการปรุง สถานที่ หรือควบคุมสัตว์นำโรคที่ดีพอ        
รวมจำนวนข้อ
       
๔. อ.ออกกำลังกาย และอิริยาบถ        
๑. ฉันออกกำลังกายโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง(รวมถึงการเดิน และเดินบิณฑบาต) ที่เหนื่อยพอสมควรจนเหงื่อซึมๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน อย่างน้อย ๑๕ นาที วันเว้นวัน        
๒. ฉันออกกำลังกายโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น โยคะ ไทเก็ก ฤาษีดัดตน ฯลฯ เพื่อให้เกิดการยืดคลายกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ทุกส่วนของร่างกาย        
๓. ฉันมีโอกาสบริหารกล้ามเนื้อมัดเล็กของมือและเท้า เช่น ซักผ้าด้วยมือ ขัดห้องน้ำ หม้อ กะละมัง ฯลฯ        
๔. ฉันได้บริหารกล้ามเนื้อและประสาทของอวัยวะรับสัมผัสส่วนต่างๆ เพื่อไม่ให้อ่อนล้า และเพิ่มพลังสม่ำเสมอ ได้แก่ กรอกตา นวดหู ถูผิวหนังแรงๆเพื่อกระตุ้นต่อมน้ำเหลือง ฯลฯ        
๕. ฉันจะออกกำลังกายด้วยวิธีการและปริมาณที่พอเหมาะกับ(ธาตุ)ตนเอง คือ มีความรู้สึกสดชื่นหลังจากออกกำลังกายเสร็จแล้ว และรู้จักหยุดเมื่อมีอาการเหนื่อยหอบในระดับที่ยังพูดได้ และยิ้มได้        
๖. ฉันมีอิริยาบท การเดิน ยืน นั่ง นอน ในชีวิตประจำวันอยู่ในท่าที่สมดุล โดยแกนกระดูกสันหลังไม่ ค่อม แอ่น เอียงเอนซ้าย-ขวา บิด เบี้ยว นานเกินไป        
๗. ในระหว่างทำงานฉันไม่อยู่ในท่าเดิมๆซ้ำๆ โดยฉันจะเปลี่ยนอิริยาบทและยืดคลายกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เพื่อปรับสมดุลโครงสร้างของร่างกาย        
๘. ฉันเลือกใช้อุปกรณ์ โต๊ะ เก้าอี้ หรืออื่นๆ ในการทำงานที่ช่วยให้เกิดการสมดุลของกระดูก และกล้ามเนื้อ ไม่ปวดเมื่อยหลังเลิกงาน        

รวมจำนวนข้อ

       
๕. อ.อากาศ (พลังจากธรรมชาติ และคลื่นต่างๆ)        
๑. ฉันตั้งใจสูดอากาศบริสุทธิ์เต็มที่ โดยหายใจเข้า-ออกแบบช้า ลึก ยาว ยามเช้าทุกวันอย่างน้อย ๕ นาที        
๒. ฉันมีโอกาสฝึกการหายใจโดยเพ่งความรู้สึกไปที่จักระต่างๆของร่างกาย เพื่อกระตุ้นต่อมไร้ท่อบริเวณจักระนั้นๆ ให้ทำงานและสร้างสมดุลแก่ร่างกาย        
๓. ฉันพยายามหายใจเข้า-ออกแบบ ช้า ลึก ยาว ในช่วงปกติตลอดวัน และโดยเฉพาะช่วงงานเร่งรีบ
       
๔. ฉันหลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ เช่น ฝุ่น ควัน ไอเสียจากรถยนต์เครื่องจักร การเผาขยะ ฯลฯ        
๕.. ฉันรับแสงแดดยามเช้า หรือยามบ่ายทุกวัน (ยกเว้นแสงแดดเวลา ๑๑.๐๐ -๑๕.๐๐ น.) เพื่อกระดูกจะได้แข็งแรงขึ้น        
๖. ฉันถอดรองเท้าเดินกับพื้นดิน เพื่อนวดจุดประสาท และรับพลังจากแผ่นดิน        
๗. ฉันอ่านหนังสือ หรือใช้สายตาในที่มีแสงพอเพียง        
๘. ฉันหลีกเลี่ยงการดูทีวี หรือดูวันละไม่เกิน ๒ ชั่วโมง        
รวมจำนวนข้อ
       
๖. อ.เอนกาย        
๑. ฉันนอนหัวค่ำ และตื่นแต่เช้าด้วยความสดชื่นทุกวัน แสดงถึงการพักผ่อนที่พอเพียง        
๒. ฉันนอนตะแคงขวาเป็นส่วนใหญ่ เพื่อการไหลเวียนของเลือดดี หัวใจไม่ถูกเอียงทับทำให้ทำงานหนัก        
๓. ฉันนอนในที่ที่มีอากาศถ่ายเทดี ไม่มีแสง เสียงรบกวนจนทำให้นอนหลับไม่สนิท        
๔. ฉันมีโอกาสพักผ่อนหย่อนคลาย หลังจากทำงานหนักในแต่ละวัน
       
รวมจำนวนข้อ
       
๗. อ.เอาพิษภัยออก        
การล้างพิษออกจากร่างกาย        
๑. ฉันถ่ายอุจจาระทุกวัน ลักษณะก้อนอุจจาระ สี กลิ่นปกติ        
๒. ฉันล้างพิษในร่างกายและลำไส้ โดยการอดอาหาร หรือสวนล้างลำไส้อย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง        
๓. ในช่วงระหว่างการล้างพิษ ฉันงดอาหารหวาน เพื่อให้ตับอ่อนได้พัก งดอาหารเค็มเพื่อให้ไตได้พัก และงดอาหารโปรตีน/ไขมัน เพื่อให้กระเพาะอาหารได้พัก        
๔. ฉันไม่ลืมดื่มน้ำสะอาดในช่วงระหว่างวัน และดื่มได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ๖ แก้ว หรือดื่มอย่างพอเพียงจนไม่รู้สึกว่าคอแห้ง        
๕. ฉันไม่กลั้นปัสสาวะนานเกินไป
       
๖. ฉันใช้แรงงานหรืออื่นๆ เพื่อให้มีเหงื่อออกทุกวัน โดยเหงื่อจะต้องไม่เหนียว ไม่เหม็น และมีขี้ไคลที่ถูออกง่าย        
๗. ฉันมีโอกาสได้อาบน้ำอุ่น หรืออบไอน้ำ หรือย่างสมุนไพร อย่างน้อยเดือนละครั้งเพื่อให้ร่างกายได้ระบายความร้อนและสารพิษออกจากร่างกาย        
รวมจำนวนข้อ
       
อนามัยสิ่งแวดล้อม และอุบัติเหตุ        
๑. ฉันมีส่วนร่วมในการสร้างบริเวณที่อยู่อาศัยและชุมชนให้มีสิ่งแวดล้อมที่สดชื่น        
๒. ฉันไม่ใช้สารเคมีทุกชนิดภายในหรือรอบที่อยู่อาศัย และในชุมชน เพื่อป้องกันแมลง หรือสัตว์นำโรค หรือเพิ่มประสิทธิภาพการเติบโตของพืชผักผลไม้        
๓. ฉันลดการใช้สารเคมีกับร่างกายของตนเอง เช่น สบู่(ใช้ผ้าถูตัว) แชมพูสระผม น้ำยาซักผ้า (ใช้น้ำหมักชีวภาพทดแทน)        
๔. ฉันทำ ๕ ส. (สะสาง สะอาด สะดวก สุขนิสัย สุขลักษณะ) ในที่อยู่อาศัย และชุมชน        
๕. ฉันทำ ๕ ส. (สะสาง สะอาด สะดวก สุขนิสัย และสุขลักษณะ) เพื่อลดอุบัติเหตุในระหว่างการทำงานที่อาจเกิดขึ้นได้        
๖. ฉันไม่ทำงานกับเครื่องจักร หรือใช้พาหนะยานยนต์ ด้วยความประมาท        
รวมจำนวนข้อ
       
รวมจำนวนข้อทั้งหมดทั้ง ๗ อ.
       

ท่านสามารถให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อตัวชี้วัดพฤติกรรมสุขภาพในแบบประเมินฯนี้ ในด้านต่อไปนี้
๑. ถูกหลัก ถูกทฤษฎี
๒. ความยากง่ายในการปฏิบัติ
๓. เพิ่มเติม ตัดทอน ตัวชี้วัด
๔. ภาษาที่ใช้
โดยส่งไปที่ กลุ่มทำงานสุขภาพบุญนิยมในชุมชนของท่าน หรือที่ นพ.วีรพงศ์ ชัยภัค คณะทำงานสุขภาพบุญนิยม พุทธสถานสันติอโศก กทม. โทร. ๐-๒๓๗๔-๙๕๗๐

- สารอโศก อันดับที่ ๒๖๔ กันยายน ๒๕๔๖ -