มหาปวารณา๔๖


วงการแพทย์ยอมรับ เมื่อไรที่เรากระทำต่อร่างกายจนถึงจุดเสียสมดุล เมื่อนั้นร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาเป็นโรคร้ายแรงต่างๆได้สารพัด จนอาจถึงแก่ชีวิต

ความสมดุล คือ ความลงตัวที่งดงาม คือ มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

วันนี้โลกกำลังเสียสมดุล เพราะเน้นส่งเสริมสร้างคนเก่งให้เก่งยิ่งขึ้น ยิ่งกว่าส่งเสริมสร้างคนดีให้มีศีลธรรมจริยธรรม โลกจึงพัฒนาในด้านวิทยาการต่างๆก้าวหน้าก้าวไกลอย่างรวดเร็ว สูงสุด ตามศักยภาพของมนุษย์จะมีจะเป็นได้

เมื่อโลกเสียสมดุล อะไรจะเกิดขึ้น?

บทสัมภาษณ์พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ตอบคำถามทำไมอโศกพัฒนาช้า เหตุเพราะเรามุ่งเน้นสร้างคนดีให้ดียิ่งขึ้น และนี่คือความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างทางโลกและทางธรรม


๑. ทางโลกต้องการและคัดเลือกคนเก่งมาทำงานเพื่อพัฒนาหน่วยงานของเขา แต่ทำไมคนเก่งมักอยู่กับชาวอโศกไม่ได้ แม้บางคนตั้งใจดี เจตนาดี อยากอยู่กับเรา มาช่วยงานเราก็ตาม มีคนมองว่าคนเก่งอยู่กับเรายาก อโศกจึงพัฒนาช้า?

ก็เป็นไปได้ เพราะคนเก่งมีอัตตามานะ มานะคือการถือดี อัตตาคือการถือตัว เมื่อเรามีดีจริงๆ แต่เราลดการถือดีไม่ได้ก็เป็นมานะ จะเอาดังใจเรา จะทำงานแบบที่ตามใจตัวเองทุกอย่าง ไม่ได้ดังใจก็จะไม่ทำหรือรวน และทางอโศกเราทำงานโดยไม่ได้ใช้เงินทองล่อ ไม่ให้ใช้โลกธรรมหรือลาภยศสรรเสริญอะไรเป็นเครื่องแลกเปลี่ยน และก็ให้อิสระเสรี ใครจะทำก็สมัครใจมาทำ เพราะฉะนั้นเมื่อมาทำงานที่นี่แล้ว ถ้าผู้ใดไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม เรียนรู้อาการอัตตามานะของตัวเอง ลดอัตตามานะของตัวเองลงให้ได้ ยิ่งผู้นั้นมีความรู้ความเก่ง เมื่อไม่ลดกิเลส อัตตามานะก็จะเกิด คือ ไม่ได้สมใจตัวเอง ไม่ได้ดังอำนาจ ไม่ได้ดังความคิด ไม่ได้ดังความเห็น ไม่ได้ดังความรู้ของฉัน หรือมีการกระทบไม่ได้ดังที่เราคิดนั่นแหละ ความไม่พอใจก็จะเกิด เพราะเราเห็นว่าเราถูกเราเก่ง เราดี หากคนอื่นค้านแย้งบ้าง อาจจะไม่เอาตามเราบ้าง ไม่ได้สมใจบ้าง อัตตาก็จะยิ่งโตขึ้นๆ อัตตาที่โตนี้จะถือตัวยิ่งขึ้น จะข่มเบ่งเก่งขึ้น จะจิตใจคับแคบยิ่งขึ้น เป็นต้น เพราะฉะนั้นเมื่อมันโตขึ้นๆๆมันก็อยู่ไม่ได้ เพราะที่นี่ไม่มีลาภยศ สรรเสริญ โลกียสุขผูกไว้เลย มีแต่อิสระเสรีจะไปเมื่อไรก็ได้ แต่ถ้าลดกิเลสได้ก็จะอยู่ได้ เพราะไม่ถือตัวถือตน เพราะยอมได้ลดได้ตามควร เพราะฉะนั้นอาการกดดันเก็บกด หรือความคับแค้นใจก็น้อย มีบ้างก็พอทนได้ หรือยิ่งลดได้ดีจริงๆ ไม่มีความคับแค้นใจใดๆเลย รู้จักรับรู้จักผ่อนปรน ทำงานร่วมกันไปได้ และเรียนรู้ไปด้วยว่า เราทำอยู่นี้ดีแล้ว กาละนี้ได้เท่านี้ คนผู้นี้ได้แค่นี้ ก็รู้จักอนุโลม ก็อยู่ได้สบาย

เพราะฉะนั้นคนที่มาทำงานกับอโศก จึงเป็นคนเจริญในธรรม คนที่ไม่เจริญในธรรมต่อให้เก่งให้ตายอย่างไร ก็มีแต่จะเพิ่มกิเลส ก็อยู่กับเราไม่ได้แน่นอน เพราะรายได้ของคนที่มาทำงานกับคนอโศก คือ การปฏิบัติธรรม ลดละกิเลสของตัวเอง นั่นคือรายได้ทางธรรม เมื่อไม่มีรายได้นี้หล่อเลี้ยงเลย ก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นรายได้ที่แท้จริงของชาวอโศก จึงคือ ต้องลดละกิเลสให้ได้ จึงจะอยู่รอด ซึ่งนัยะนี้อาจมองว่าอโศกจะพัฒนาช้า แต่จะพัฒนาช้าก็ไม่เป็นไร เพราะว่าเป็นเรื่องความประเสริฐ เป็นความยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อสังคมมนุษยชาติที่แท้จริง เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านที่แท้จริง จะช้าอย่างไรก็ไม่มีปัญหา เราไม่ได้ไปเร่งร้อน รีบร้อนอะไร แต่เราก็ไม่เฉื่อยชา ชักช้า เราขมีขมันเต็มที่ก็แล้วกัน เราต้องการความจริง ความจริงจะมีความยั่งยืนและเป็นความดีที่จริงเอง
ไม่ใช่เป็นผักชีโรยหน้า
เป็นการปัดสวะให้พ้นหน้าบ้านครู่เดียว เสร็จแล้วก็เหมือนเดิม มันไม่ใช่
แต่นี่เป็นการสร้างฐานะให้ถาวรแน่นอนทั้งวัตถุและจิตวิญญาณ และเป็นความจริงทั้งหมด เพราะฉะนั้นจะช้าก็ไม่เป็นไร ถึงช้าเท่าไรมันก็แน่นอนมั่นคงไปอีกยาวนาน ไม่ต้องกังวล เราทำได้เท่าไรก็เท่านั้น เพียงอย่าเป็นของปลอม เป็นเรื่องของการทำเพื่อฉาบฉวยรีบร้อนเท่านั้น


๒. ทำไมคนเก่งมักยึดดี?
เพราะเขาไม่เรียนธรรมะ พระพุทธเจ้าสอนชัดเจนว่า มาเรียนธรรมะและจะรู้สัจจะว่า จริงๆแล้วแม้ดีก็จะไม่ยึดดี จะมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ทำดีก็ทำไปเถอะ แต่ถ้าทำดีแล้วยึดดีก็เกิดมานะอัตตา เป็นทุกข์ เกิดการทะเลาะขัดแย้ง เกิดการไม่ประสาน เกิดการไม่ได้ดีไปอีกหลายนัย เพราะฉะนั้นในการถือดี ในการมีมานะจึงเป็นภัยทั้งต่อตนเองn และผู้อื่นชัดเจน ต้องมาเรียนรู้กิเลสตัวนี้กันจริงๆ ถ้าไม่ปฏิบัติธรรมจะรู้ยากมากเลย แม้มาปฏิบัติธรรมยังไม่รู้ได้ง่ายๆ ถึงรู้แล้วก็ยังวางได้ยากอีก ต้องฝึกฝนเอาจริงเอาจังถึงจะได้ ได้แล้วก็จะดีจริงๆ


๓. ช่วงนี้เรามีงานอบรมมากในหลายๆที่ การทำงานคือการปฏิบัติธรรมอย่างไร?

การทำงานนั้น ไม่ว่าทำงานมากหรือทำงานน้อยก็แล้วแต่ ก็ปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น เช่น เราทำงานอยู่กับงานในชุมชน ทำงานอบรมก็อบรมในชุมชน ตกลงกันแล้วว่า เราจะทำงานอบรม เราก็ทำ ถ้าเราไม่ทำงานอบรม เราก็ทำงานอื่นไป ที่มีอยู่ในชุมชน จะทำงานชุมชน หรือในส่วนของชุมชน งานผลิต งานกสิกรรม งานสอนหนังสือก็ตาม งานครัว เป็นต้น เราก็ปฏิบัติธรรม อ่านจิตอ่านใจให้ทัน อ่านการกระทบสัมผัส เมื่อมีการกระทบสัมผัส เราก็ต้องรู้เท่าทันการกระทบสัมผัส อ่านให้ทัน อ่านใจเกิดอารมณ์อาการอย่างไร เกิดกิเลสอย่างไร แล้วปฏิบัติธรรมทันทีด้วยมรรคองค์ ๘ ปฏิบัติโพธิปักขิยธรรมทันที เราก็จะเรียนวิจัยออก ละลดกิเลสออกไปทันที ทุกทีๆ ก็เป็นแบบฝึกหัดที่มีโจทย์ ที่แท้จริงทุกที


๔. บางคนชอบแต่งานอบรม อบรมคนอื่นจนละเลยกิจวัตร กิจกรรมอื่น ทำอย่างไรจะให้เกิดประโยชน์ทั้ง ๒ ส่วน ?

นี่เป็นประเด็นที่สำคัญ ที่เราจะต้องรู้จักตัวเอง ต้องมีการศึกษาทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ถ้าเผื่อเราเองจะเรียนรู้ปฏิบัติจริงละก็ ต้องใส่ใจ ต้องเรียนปริยัติฟังธรรม หาหนังสืออ่านหรือหาความรู้ทฤษฎีต่างๆ เรื่องของภาษาเรื่องของความเข้าใจ ความหมายอะไรพวกนี้เป็นปริยัติ เป็นบัญญัติ เมื่อรู้แล้วก็เสริมหนุนการปฏิบัติ ส่วนเราจะไปทำการอบรม จะไปช่วยทำงานโน้นๆนี่ๆอะไรก็ตามแต่ ถ้าเราขาดปริยัติ มันก็ไม่ครบ จึงจำเป็นต้องสังวรระวังว่า ถึงเราทำงานอะไรก็แล้วแต่ อาจจะเป็นงานประจำหรือไม่ก็ตาม เราก็มุ่นอยู่กับงานนั้น โดยไม่มีการฟังธรรม ไม่มีการเสริมเพิ่มเติมความรู้ทางปริยัติ ไม่อ่านไม่ฟัง ไม่ศึกษาเพิ่มเติม มันก็ต้องบกพร่องแน่นอน เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นส่วนที่ต้องทำให้ครบปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปฏิเวธธรรมจึงจะเกิด

การปฏิบัติธรรมจึงไม่ใช่จะเอาแต่ปฏิบัติ มีผัสสะอย่างเดียว โดยไม่เพิ่มปริยัติ ก็จะขาดการเสริมหนุนในเรื่องความรู้ที่ลึกซึ้งละเอียดขึ้น ยิ่งมีผู้อธิบายเทศน์แสดงบรรยาย ก็เท่ากับเราได้มีโอกาสตรวจสอบเอาบ้าง หรือเพิ่มเติมความรู้ขึ้นอีกบ้างในการฟังธรรม หรือไม่ก็ต้องอ่านเอง ค้นคว้าเองถ้าไม่เพิ่มอันนี้ต้องขาดแน่ ดังนั้น ถ้าผู้ใดมัวแต่ทำงานๆ ไม่ว่าทำงานในส่วนของชุมชน หรือทำงานอบรม โดยการทำงานก็มีภาคปฏิบัติอยู่ในตัวทุกงานแน่นอน แต่ว่าจะไม่มีปริยัติเพิ่มเติม


๕. การมีสัญชาติแห่งคนตรง สำคัญต่อการปฏิบัติธรรมอย่างไร?

ทางที่สั้นที่สุด ลัดที่สุด คือทางตรงที่สุด เส้นตรง คือ เส้นที่สั้นที่สุด ถ้าคนเหลาะแหละเลี้ยวๆลดๆ จะไปไม่ได้ไกล ไม่เร็ว ไม่มีสัญชาติแห่งคนตรง ยิ่งไม่มีความซื่อสัตย์ด้วย ก็ปฏิบัติไปได้
ช้า เสียเวลา ดีไม่ดีโค้งออกนอกทาง ไปไม่รอด ดังนั้นการมีสัญชาติแห่งคนตรง คือเป็นคนที่ซื่อสัตย์สุจริต ย่อมเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน


๖. เราจะรู้ตัวได้อย่างไร?

เราต้องรู้ด้วยตัวเอง คนที่ไม่ตรงนี่ จะรู้ นอกจากว่าเราไม่เจตนา เราเข้าใจว่าอันนี้ตรงและถูกต้องแล้ว อันนั้นก็คือ เรายังโง่อยู่ ยังไม่ฉลาด มันก็ต้องจำนน เพราะเราบังคับคนให้ฉลาดไม่ได้ แต่ถ้าเป็นคนฉลาด คนที่เข้าใจแล้ว จะรู้ตัวจริงๆว่า ตัวเองไม่ตรง เลี้ยวๆ ลดๆ คดเคี้ยว เลี่ยงอย่างไร คนนั้นจะรู้ นอกจากคนนั้นจะแกล้งทำเป็นกลบเกลื่อนตัวเอง ไม่เพ่งพินิจ ไม่ตรวจสอบตัวเองอย่างแท้จริงๆ คนจะโง่เท่าที่ตัวเองโง่ และฉลาดเท่าที่ตัวเองฉลาด


๗. โศลกงานมหาปวารณาปีนี้ พ่อท่านให้ว่าอย่างไรคะ?

"ไม่รอ ไม่หวัง แต่เราทำ" ที่ใช้ประโยคนี้เพราะว่า เราชัดเจนแล้วในสิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ของสังคมของมนุษยชาติ ชัดเจนว่าอะไรบกพร่อง อะไรขาด สรุปง่ายๆ สิ่งที่ขาดคือคุณธรรมของคน เพราะฉะนั้นเราจะเร่งรัดทำจริงๆ พัฒนาคนให้ได้ ให้มีคุณธรรมเท่าที่เราจะมีภูมิปัญญาและสามารถที่จะเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาใช้กับมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์เจริญพัฒนา มีคุณธรรมขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราจะทำ ไม่รอและไม่ต้องหวัง ได้เท่าไรก็เท่านั้น ขอให้ทำและมั่นใจในทฤษฎีของพระพุทธเจ้าและตรวจสอบเสมอๆ มันอาจจะบกพร่องบ้าง แน่นอนก็ต้องมี แต่ต้องคอยตรวจสอบให้ตรงและทำให้ดีที่สุด ทำเลยไม่ต้องรอ ไม่ต้องหวัง เมื่อเราชัดเจนแล้วว่า โลกนี้จะดีได้เพราะคนมีคุณธรรม
ขึ้นมา ขอบอกไว้อย่างนี้


"ไม่รอ" ให้คนอื่นเปลี่ยนแปลง เราแก้ไขเราเองให้สำคัญ
"ไม่หวัง" ให้ทุกอย่างสมใจเรา ช่วยคนอื่นเท่าที่สุดกำลังสามารถ
"แต่เราทำ" หัวใจของเราให้หนักแน่นอดทนมีศรัทธาชัดเจนในพ่อท่านและหมู่กลุ่ม
เพราะเราจะมาเป็นคนดีที่ดียิ่งขึ้นๆๆๆ

- สารอโศก อันดับที่ ๒๖๕ ตุลาคม ๒๕๔๖ -