สิบห้านาทีกับพ่อท่าน - ทีม สมอ. -๕ ธันวาโรงบุญมังสวิรัติ ธรรมชาตินั้น คนเรารักตัวเองที่สุด ส่งผลให้ผู้นั้นดูแลเอาใจใส่ตัวเองอย่างดี ดีเท่าไรก็ตามภูมิตามกิเลสผู้นั้น การเสพย์อร่อยในรสชาติ จึงเป็นการบำรุงบำเรอความสุขอย่างสำคัญให้แก่ร่างกาย ส่งผลให้จิตวิญญาณเคยชินกับการทำตามใจตัวเองอย่างยิ่ง เมื่อเราต้องกินอาหารทุกวัน เราจึงได้ฝึกฝืนใจตัวเองทุกวัน นั่นคือเราก็ได้สร้างความอดทนให้ตัวเองเพิ่มขึ้นๆๆ ทุกวัน "ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา ความอดทนอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง" และเป็นอาวุธวิเศษในชีวิตการปฏิบัติธรรมทีเดียว จากบทสัมภาษณ์พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ แจกแจงให้ลูกๆเกิดปัญญา ทั้งในเรื่องอาหาร ทำไมจึงมีความสำคัญเป็นหนึ่งในโลก และอารมณ์เกี่ยวพันกับจิตวิญญาณอย่างไร เพื่อนำไปปฏิบัติไม่ผิด เพราะ"ความโง่" ทำให้รับวิบาก "เสียเวลา" ถาม ทำไมพ่อท่านจึงกำหนดให้อาหารมังสวิรัติ เป็นบุญญาวุธหมายเลข ๑ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอาหารเป็นหนึ่งในโลกอย่างไร ? ตอบ ถ้าบอกว่าอาหารเป็นหนึ่งในโลกก็ถูกต้อง
เพราะว่าแม้แต่พระอรหันต์ก็ยังต้องฉันอาหาร เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ยังต้องฉันอาหาร
และในอาหารมีกิเลสแฝงอยู่มากมาย ทั้งรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส เพราะฉะนั้นในเรื่องของอาหารมันอยู่กับมนุษย์ทุกคน
เรื่องของอบายมุขหรือเรื่องของลาภยศสรรเสริญ เรายังตัดขาดไปได้ไม่แตะไม่ต้องเลยก็ได้
แต่สำหรับอาหารเลิกกินไม่ได้เลย มันต้องสัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ของเราอยู่ประจำ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่เป็นตัวจะนำไปสู่การปฏิบัติธรรม
พระพุทธเจ้าถึงได้กำหนดไว้ ในหลักการปฏิบัติธรรมที่ไม่ผิด โภชเนมัตตัญญุตา ก็คือ เรื่องอาหาร เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมที่ไม่ผิด จึงต้องเรียนรู้ในเรื่องอาหาร ในเรื่องการบริโภคนี่แหละให้สำคัญเลย และเราก็ต้องเรียนรู้ว่า เราจะปฏิบัติธรรม โดยการละลดกิเลสจากการบริโภค เป็นตัวหลักที่มันคลุมกว้างถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันรับเข้ามาแล้ว จะเป็นกิเลสชนิดไหน กาม พยาบาท ชอบ-ไม่ชอบ เป็นอะไรก็ตาม มีครบหมด ถ้าใครยังปฏิบัติธรรมมีการระมัดระวังในเรื่องบริโภค จะเป็นการบริโภคสภาพกินเข้าทางปาก หรือสัมผัสสัมพันธ์เกี่ยวกับเครื่องใช้ก็ตาม ก็เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งสิ้น ที่เราต้องไปเกี่ยวข้อง และเราก็สามารถที่จะเรียนรู้การปฏิบัติธรรมได้จากสิ่งเหล่านี้ ส่วนชาคริยานุโยคะ เป็นเรื่องของความตื่นจากโลกีย์ หลุดพ้นจากโลกีย์ รู้เท่าทันโลกีย์ ที่เราหลงใหลเราเป็นทาส ถ้าผู้ใดสามารถรับรู้ ว่าเรายังตกเป็นทาสอยู่ ตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียด เราก็ตื่นขึ้นมา หลุดพ้นออกมาเป็นพุทธะ เป็นต้น ซึ่งก็เป็นตัวอธิบายผล โดยภาคปฏิบัติแท้ จะอยู่ที่ตัวโภชเนมัตตัญญุตา เพราะฉะนั้นจะบอกว่าอาหารเป็นหนึ่งในโลก ก็ใช่ หรือแม้จะเข้าใจอาหาร ๔ กวฬิงการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหาร รวมหมดเลย ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ที่บรรลุสูงสุด กวฬิงการาหาร คือ คำข้าว ซึ่งได้แก่การบริโภคอาหารต่างๆ ผัสสาหาร คือ สัมผัสทางตาหู จมูกลิ้นกายใจ มโนสัญเจตนาหาร คือ การที่จิตของเรามีเจตนามุ่งมั่น คิดนึกไปทางกุศลหรืออกุศล หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งต้องตั้งจิตของเราให้ดี และก็ทำวิญญาณให้สะอาด เป็นวิญญาณาหาร เพราะฉะนั้นการให้ปฏิบัติธรรม โดยกินอาหารมังสวิรัติ เป็นเครื่องประกอบอย่างหนึ่ง คำว่า "มังสวิรัติ" นั้นคือ กินอาหารให้ละเว้นเนื้อสัตว์ มันเป็นตัวที่จะเกี่ยวข้องไปถึงกิเลส และเกี่ยวข้องไปถึง บาป บุญ คุณ โทษ รวมทั้งเกี่ยวอ้อมไปถึงตัวคุณธรรมต่างๆนานารอบกว้างไปเลย เพราะฉะนั้น อันนี้จึงเป็นบุญญาวุธหมายเลข ๑ ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ โดยที่อาตมาไม่ได้เจตนาแต่แรก พอปฏิบัติธรรมแล้ว อาตมาก็รู้ขึ้นมาเอง เกิดเอง อาตมากินอาหารมังสวิรัติตั้งแต่เป็นฆราวาส เห็นผลว่ามันดี และก็เป็นตัวง่ายๆหลักๆ เกี่ยวข้องกับศีลข้อ ๑ ตอนนั้นยังไม่คิดจะมานั่งสอนอธิบายอะไรนัก แต่เมื่อแนะนำมากเข้าๆ ก็เกิดปฏิภาณเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเห็นว่า นี่เป็นตัวสำคัญที่จะนำให้เกิดการปฏิบัติธรรม สู่การลดละหน่ายคลาย ละกิเลสได้ถูกตัวถูกตน เป็นผลชัดเจน อาตมาจึงกำหนดเป็นบุญญาวุธหมายเลข ๑ เป็นตัวนำร่องในการปฏิบัติธรรม และเป็นกรรมฐานของชาวอโศกคือ กินอยู่หลับนอน เป็นต้น ถาม มีผู้มองว่า อาหารมังสวิรัติของชาวอโศก ยังไม่ถูกสุขลักษณะเท่าที่ควร เพราะยังมีรสจัด เช่น เค็มจัด มันจัด และเผ็ดจัด อาหารรสจัดบ่งบอกถึงการไม่คิดตัดกามคุณ ๕ หรือไม่คะ ? ตอบ เป็นเรื่องธรรมดา คนที่ยังติดยังยึดยังมีเยอะ เพราะฉะนั้น จะเอาเปอร์เซ็นต์ของคนที่ยังติดรสติดชาติ ยังปรุงแต่งรสชาติ ยังเป็นอาหารไม่มีคุณภาพ มาเป็นตัวชี้วัดไม่ได้ ถ้าจะให้เป็นอาหารดีๆ ก็ต้องเป็นธรรมชาติมากที่สุด ลดรสชาติลงมาให้มากๆ ก็เป็นที่รู้กันอยู่ แต่ทีนี้ คนมาปฏิบัติธรรม ใช่ว่าจะทำได้หมดทุกคนซะเมื่อไร เปอร์เซ็นต์ของคนที่สามารถลดรสชาติได้จริงๆ ก็ยังมีน้อย บางคนลดได้บ้าง บางคนลดไม่ค่อยได้ ยังติดรสติดชาติอะไรอยู่ มันก็ต้องมีเป็นสามัญ เพราะคนติดรสยังมีมาก การปฏิบัติธรรมเรื่องอาหาร ก็เพื่อที่จะให้ลดละรสชาติให้จืดลงๆ ไม่เป็นพิษเป็นภัย จนทำให้เสียสุขภาพ และก็เรียนรู้การลดละกิเลสจริงๆ เพราะแม้ยังจะมีอะไรไม่ดี ไม่ได้คุณภาพทางโภชนาการ มีอะไรปรุงแต่งอยู่มากก็คงจะจริง แต่คงไม่มากเท่ากับที่เขาไม่สังวรเลย แม้เป็นอาหารมังสวิรัติก็ตาม เขาไม่ได้มาเรียนรู้การละลดตรงนี้ เขาล่อเละเลยนะ เขาปรุงแต่งกันอย่างเอร็ดอร่อย ชนิดที่ให้ใครได้กลิ่นก็กินกันท้องกาง เป็นต้น พวกเราก็ดีประมาณหนึ่งแล้ว แต่จะให้ดีถึง ๗๐-๘๐% มังสวิรัติของชาวอโศก เป็นอาหารถูกสุขลักษณะ ไม่ปรุงแต่ง ไม่มีน้ำมันมาก ไม่มีน้ำตาลที่เป็นพิษ ไม่เค็มจัด ถ้าทำได้มันก็ดี และเราก็ได้ตัดรสกามคุณด้วย แต่มันได้เท่าที่มันเป็นนี่แหละ จะบอกว่า ยังไม่ดีอาตมาก็ไม่ปฏิเสธ แต่พวกเราก็ได้สังวรระวัง ไม่ปรุงแต่งจัดจ้านอยู่ ส่งเสริมการรับประทานอาหารธรรมชาติอยู่ ซึ่งพวกเราก็ศึกษาพิษภัย ไม่ได้ปล่อยปละละเลย แต่คนยังติดรสชาติจะทำอย่างไรล่ะ ถาม ในแนวแพทย์ทางเลือก บางท่านเน้นเรื่องอาหาร บางท่านเน้นที่จะออกกำลังกาย บางท่านเน้นเอาพิษออก ทัศนะของพ่อท่านให้ความสำคัญกับเรื่องใดก่อน ? ตอบ ความสำคัญเป็นไปตามที่ได้เรียบเรียงไว้แล้ว ตามหลัก ๗ อ. คือ ๑. อิทธิบาท ๔ ต้องเรียนรู้ต้องมีความเข้าใจในเรื่องต่างๆ เราจะทำอย่างไรให้มีสุขภาพดี มีฉันทะ ความยินดี พอใจ สนใจเห็นความสำคัญ หมายมุ่งเป็นความต้องการที่เป็นกุศล วิริยะ มีความเพียร เข็นตัวเองได้ จิตตะ เอาใจใส่ มีจิตถาโถมสู่เป้าหมาย วิมังสา พิจารณา ตรวจสอบ ไตร่ตรองหาเหตุผล เลือกเฟ้นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนแก่ท่าน ๒. อารมณ์ คือเรื่องของจิตวิญญาณตรงๆต้องสังวรระวังใจให้ดี อย่าให้ขุ่นมัว อย่าให้เกิด"สารทุกข์" พยายามให้อารมณ์มี"สารสุข"ให้ได้ตลอด ๓. อาหาร ควรมีความรู้เรื่องอาหาร เพราะปัจจุบันอาหารถูกดัดแปลง ปรุงแต่งมากมาย ทั้งแต่งรูป แต่งสี แต่งรส แต่งกลิ่นสารพัด ยั่วยวนชวนลิ้มรส เรื่องกินจึงเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้สุขภาพดีก็ได้ หรือทำให้ร่างกายทรุดโทรมก็ได้ ซึ่งเราก็ได้นำพากันอย่างสำคัญอยู่แล้ว ๔. อากาศ นอกจากอากาศที่ดี ไม่มีพิษแล้ว ก็ควรรู้จักการหายใจให้ลึกและยาวอยู่เสมอ จะทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า หน้าตาสดชื่น ชีวิตก็ยืนยาว ๕. ออกกำลังกายหรืออิริยาบถ คือ การขยับตัว เคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่างๆให้สมดุล และทำสม่ำเสมอ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ๖. เอนกาย คือ การรู้จักพักรู้จักเพียร ไม่ได้หมายถึงเอาแต่นอน ให้รู้จักพักจักผ่อนอย่างถูกสัดส่วน ๗. เอาพิษออก หมายถึง เอาสิ่งที่เป็นพิษภัยออกจากร่างกาย จากชีวิต จากครอบครัว จากสังคม จากสิ่งแวดล้อมนั่นเอง ถาม พ่อท่านคะ รู้สึกว่า สำหรับชาวอโศก เรื่องอารมณ์ทำยากที่สุด ตอบ อย่าว่าแต่ชาวอโศก ยิ่งข้างนอกยิ่งทำยาก มันเป็นการปฏิบัติกันทีเดียว ถ้าผู้ใดสามารถทำได้ ก็จะได้ธรรมะจริงๆ ชีวิตก็เจริญ สุขภาพก็จะดี เบิกบานแจ่มใส ถาม พวกเราทำงานมาก ทำอะไรจริงจัง และก็ยึด ก็เครียด ตอบ คุณโง่เอง แล้วคุณก็เครียด ถึงจริงจังอย่างไร ก็ไม่จำเป็นต้องเครียด อาตมานี่แหละเป็นคนจริงนะ ใครจะมาว่าอาตมาเป็นคนไม่จริงไม่จังไม่ได้นะ อาตมานี่ยอดจริงจังเลย แต่คุณอย่าเอาคำว่าจริงจัง ไปผสมปนเปว่ามันต้องเครียด ส่วนจะยึดก็ยึดได้ แต่ไม่ต้องเครียด ยึด หมายความว่ามุ่งมั่น เราจะมุ่งมั่นกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ ก็กระทำได้โดยไม่เครียด ไม่ต้องไปกดดันตัวเอง ไม่ต้องไปทำให้จิตยึดมั่นถือมั่น ต้องปะทะ ต้องแก่งแย่ง ต้องเป็นดั่งเราหมาย ต้องไปทะเลาะ เสร็จแล้ว พอเราไม่สมใจ ก็มากดดันจิตใจตัวเอง กลายเป็นอารมณ์เครียด มันไม่จำเป็น คือ คนนั้นไม่เข้าใจเรื่องจิตวิญญาณ ถาม เราเครียด เพราะเราคิดหาคำตอบไม่ได้ว่า คิดอย่างนี้จะถูกไหม ทำอย่างนี้ จะไปเสียความรู้สึกคนอื่นไหม และถ้าไม่ทำจะเสียส่วนรวมไหม จะระวังอย่างไร คือ คิดหาจุดลงตัวไม่ได้ ตอบ
เครียดทำไมล่ะ คิดก็คิดสิ แต่ถ้าเป็นคนที่มีอัตตา มีตัวกำหนดตัวเอง แต่เมื่อมันไม่ได้ดังใจ
จุดสำคัญคือไม่ได้ดังใจ! คิดไม่ออกก็เครียดมุ่น
กดดัน หรือ คิดออกแล้วทำ เกิดทำแล้วไม่ได้ดังใจอีก ก็กดดัน การกดดันเข้าไว้ๆๆ
เก็บกดเข้าไว้ๆๆมากๆ ก็กลายเป็นอารมณ์เครียด เราเองไม่รู้จัก ประเด็นสำคัญอันนี้
แล้วเราก็ไปสะสม มันก็ต้องเครียดทุกที คุณจะอ้างเหตุนี้ เหตุไหน ก็ต้องเครียดทั้งนั้นแหละ
ถ้าเข้าใจแล้ว ไม่ต้องไปกดดันมัน อะไรคืออะไร ก็คืออันนั้น ถาม คุณธรรมข้อหิริ-โอตตัปปะ เป็นทรัพย์อย่างไรคะ? ตอบ หิริ-โอตตัปปะ เป็นทรัพย์ของเทวดา เป็นคุณธรรมเป็นทรัพย์ที่ดี เป็นกุศล แต่คุณไปทำชั่ว ไปฆ่าคนก็เป็นทรัพย์ คิดไม่ดีไม่งามก็เป็นทรัพย์ กรรมทุกกรรมเป็นทรัพย์หมด ทรัพย์ชั่วก็ให้ผลชั่วต่างๆนานา เป็นวิบากที่คุณต้องรับไป เป็นทรัพย์ดีก็ได้รับวิบากดี เมื่อเกิดหิริ-โอตตัปปะ คนที่ละอายต่อบาปนั่นคือ คนนั้นยังมีภาวะอาการบาปอยู่ในตัว จะเกิดทางใจนี่แหละ ทางกายกรรม วจีกรรม ยังไม่ออกมาทีเดียวหรอก ใจเราคิดไม่ดี เรารู้สึกไม่ดี เราละอายในความไม่ดีของตน นี่คือ ความสำนึกที่ดีของคนเรียกว่า จิตดี - จิตเทวดา แต่ถ้ากลัวบาปก็คือ โอตตัปปะ ซึ่งจะแรงกว่าหิริ เพราะว่าคุณธรรมสูงขึ้น เกินละอายถึงขั้นเรากลัวความไม่ดีนั้น จะไม่กล้าทำทีเดียว และเราต้องระวังจะจัดการกิเลสตัวนั้นของเราด้วย ดังนั้นในขณะปฏิบัติลดกิเลสก็ต้องเป็นทุกข์ซิ เพราะตั้งตนอยู่บนความลำบาก ต้องรู้จักทุกข์ และทำลายเหตุแห่งทุกข์ การมีทุกข์อยู่ในปัจจุบันนี่แหละ กำลังเป็นตัวปฏิบัติที่แท้จริง เห็นทุกข์อริยสัจแท้ แล้วก็หาทางวิจัยหาเหตุสมุทัยของทุกข์นี้ การปฏิบัติธรรม คือกำลังลดเหตุแห่งทุกข์ จะไม่ทุกข์ได้ยังไง เพราะเหตุแห่งทุกข์มันยังอยู่ ก็ต้องต่อสู้ทำลายเหตุแห่งทุกข์นั้น มันยอมคุณง่ายๆหรือการปฏิบัติธรรมจึงไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ ไม่ได้หมายความว่าทำอะไรตามอำเภอใจ เป็นสุขสมอารมณ์หมาย ไม่ใช่ ทำอย่างนี้กิเลสกินตัว การปฏิบัติธรรมต้องถูกบังคับ ต้องฝืนใจ ต้องอดกลั้น ต้องสู้ ต้องตั้งตนอยู่บนความลำบาก ต้องทุกขายะ อัตตานัง ปทหติ มันทวนกระแส คุณอย่าไปเข้าใจผิด ถ้าไม่มีกิเลสตัวนั้น คุณก็ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องละอาย ไม่ต้องกลัวบาป เพราะว่าคุณไม่ทำบาปนั่นแล้ว สบายๆ เพราะคุณอินทรีย์พละแข็งแรงแล้ว ความไม่ดีอันนั้นคุณเฉยๆเลย คุณไม่ต้องละอาย คุณอาจหาญแกล้วกล้า คุณสดชื่น ไม่ทุกข์ไม่ลำบากอะไร ดังนั้นการมีหิริ-โอตตัปปะ จึงเป็นฐานะของเทวดา คือ ในฐานะของผู้ที่จะปราบมาร เริ่มรู้ก็ถือว่าเป็นคุณธรรมของเทวดาแล้ว และเราก็พยายามปฏิบัติลดกิเลสให้ได้ เราก็ชนะเป็นเทวดาอุบัติ หรือเป็นอุบัติเทพ ยิ่งได้ถึงขั้นวิสุทธิบริสุทธิ์บริบูรณ์เลย ก็ยิ่งเป็นเทวดาถึงขั้นอรหัตผลเลย
- สารอโศก
อันดับที่ ๒๖๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ - |