- ฝั่งฟ้าฝัน -


สู้จนสิ้นแรง

ชีวิตของคนมันต้องดิ้นรนและต่อสู้ ต่อสู้เพื่อความอยู่รอด แต่การต่อสู้นั้น เอาเปรียบหรือเสียสละ กอบโกยมาให้แก่ตัวเราหรือสละคืนให้กับสังคม!

ดิฉันถึงแม้อายุจะมาก สังขารจะร่วงโรย แต่ก็ตั้งจิตเสียสละในบั้นปลายของชีวิต ดิฉันได้รู้จักชาวอโศก จากหนังสือสารอโศก เพื่อนข้างบ้านนำมาให้อ่าน อ่านแล้วทำให้อยากรู้จักสมณะที่นี่ และแล้วดิฉันก็ได้มีบุญได้พบเห็นสมณะที่นี่จริงๆ เมื่อเพื่อนบ้านเขาทำบุญที่บ้าน โดยนิมนต์สมณะชาวอโศก

ฉันได้เห็นสมณะท่านบิณฑบาต เป็นภาพที่ประทับใจดิฉันมาก สำรวม สงบ ผ่องใส ดิฉันไม่เคยเห็น แบบนี้มาก่อนเลยในชีวิต ดิฉันจึงสนใจ (ติดใจ) จึงไปร่วมทำบุญ ช่วยงานที่บ้าน ของเพื่อนบ้าน ได้ฟังธรรม ซึ่งตอนนั้นจำได้ว่าเป็นปี พ.ศ.๒๕๓๑ สมณะที่ท่านเทศน์ ท่านเทศน์เก่งจังเลย ชัดเจนมากๆ ตอบปัญหาก็เก่ง

จากการได้ฟังธรรม ได้ใส่บาตร ดิฉันจึงตั้งใจว่า จะติดตามทำบุญกับสมณะชาวอโศก และเพื่อนบ้าน(แม่เพ็ญ)ก็มาชวนว่า ครูไพฑูรย์ซึ่งเขาปฏิบัติตามแนวทางชาวอโศก จนเลิกการพนันและปลดหนี้สินได้หมด เขาจะทำบุญที่สวนสมเด็จย่า(สวนลำดวน)

ดิฉันก็มาร่วมงานและได้เห็นคนเฒ่าคนแก่มาร่วมงานไม่กินหมาก(ดิฉันยังติดหมากอยู่) ร่วมไม้ร่วมมือช่วยงานกันอย่างสนุกสนาน และอาหารก็อร่อย ซึ่งดิฉันไม่เคยกินอร่อยเท่านี้เลย(อาหารมังสวิรัติ)

ดิฉันก็อยู่ช่วยงาน ยิ่งประทับใจมากยิ่งขึ้นว่า หมู่กลุ่มนี้เขาช่วยกันอย่างจริงใจและไม่หวังค่าตอบแทนใดๆ ช่วยด้วยใจจริงๆ และดิฉันก็ตั้งใจ เลิกกินหมากโดยเด็ดขาด

เสร็จจากช่วยงานดิฉันก็ได้มาที่ศีรษะอโศก แม่ไพเขาชวนมานอนพักที่ศีรษะฯ ก่อนกลับบ้านได้แวะที่ร้านน้ำใจ(สมัยนั้นยังไม่ถูกเผา) ดิฉันซื้อเสื้อม่อฮ่อมใส่ ในใจก็ฉุกคิดว่า ต่อไปฉันต้องเข้าวัดของชาวอโศกแน่ๆ

กลับบ้านดิฉันก็เลิกกินหมาก แต่ก็ยังทำไร่ทำนาตามประสาคนที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ วันหนึ่งแม่ไพคนเดิมก็มาชวนให้ไปเยี่ยมยายอัปสร แต่ก็ไม่ได้ไปเยี่ยม เพราะยายอัปสรได้เสียชีวิตก่อน

จึงไปงานศพกันที่ศรีสะเกษ ดิฉันก็ได้ช่วยงานและแวะพักอยู่ที่ศีรษะอโศก จนเสร็จงานศพ แต่ไม่กลับบ้าน แม่ไพเขาบอกว่ายายอยู่ที่นี่แหละ ดิฉันก็อยู่ช่วยงานต่างๆตามแรงกายที่มีที่ศีรษะฯ และก็กลับไปบ้านบ้าง เป็นเวลาปีกว่าๆก็กลับไปเยี่ยมลูกๆ ลูกๆทำลาบปลาดุกให้กิน ดิฉันก็อาเจียนจนเหนื่อย เพราะร่างกายมันไม่รับ จึงบอกลูกๆว่า ขอให้แม่กินมังสวิรัติตลอดไปเถิด

ดิฉันก็กลับมาอยู่ที่ศีรษะอโศกและเริ่มกินมื้อเดียว ร่างกายก็อยู่ได้ ช่วยงานต่างๆได้ ผ่านไป ๓ ปี จนอยากจะมารู้จักสันติอโศก จึงไปขอลาท่านอนุตตโร เพื่อจะมาอยู่ที่สันติอโศก

จำได้ว่า ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ช่วงพฤษภาทมิฬ ที่เข้ามาอยู่สันติอโศก มาขออนุญาตกับท่านสุขฌาโน สมัยนั้นท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่สันติอโศก ท่านก็บอกว่า "ทำใจให้ได้นะ เพราะที่นี่อยู่กันหลายคน" ยิ่งทำให้ดิฉันประทับใจมากขึ้น ในการที่จะต้องอยู่ช่วยงานศาสนา แม้จะเป็นคนแก่คนสูงอายุก็ตาม

ดิฉันก็อยู่ได้ เพราะตั้งใจมาช่วยงานพระโพธิสัตว์ เอาแรงกายช่วย เพราะดิฉันไม่มีเงินมีทอง ตั้งแต่มาอยู่วัด ดิฉันก็ช่วยงานที่ชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย(ชมร.) สาขาจตุจักร ดิฉันจะนอนแต่หัวค่ำแล้วตื่น ๖ ทุ่ม ไปกับลูกๆหลานๆที่เขาไปจ่ายตลาดที่สี่มุมเมือง ไปช่วยเขาเฝ้ารถ เฝ้าผัก ระหว่างรอเขาจ่ายตลาด ก็นั่งเด็ดผักปอกเห็ดไปด้วย จากตลาดก็ไปที่ร้าน ชมร. ก็ช่วยงานที่ร้านต่อจนบ่ายจนเย็นถึงค่อยกลับวัดกัน ทำอย่างนี้มาตลอด จนชมร.มาเปิดสาขาที่หน้าสันติอโศก อาสาสมัครและคนวัดที่ช่วยงานชมร.จึงย้ายมาช่วยงานกันที่นี่ ดิฉันก็เลยไม่ต้องเดินทาง แต่ก็ยังคงตื่น ๖ ทุ่ม ช่วยเด็ดผักเตรียมผักไว้ให้แม่ครัวเหมือนเดิม

การทำงาน การช่วยงาน ไม่มีใครบังคับ ดิฉันมาเอง ตื่นขึ้นมาแต่เช้า ทุกอย่างทำด้วยใจยินดี ดิฉันภูมิใจมากที่ได้ช่วยงานศาสนา แม้ว่าจะเป็นงานที่ดูเหมือนเล็กน้อย ก็ยังภูมิใจ ยิ่งทำยิ่งมีความสุข ไม่เหนื่อย แม้งานจะมาก ไม่เคยตกงานเลย อาหารก็กินง่ายๆ กินอาหารก็แค่มื้อเดียว ตอนกลางวัน แต่ตอนเช้าก็กินซุบงาหรืออาหารเสริมบ้าง

ดิฉันมาอยู่ทำงานฟรีที่สันติอโศก จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ ๑๑ ปีมาแล้ว ยังสนุกในการทำงาน ปีนี้ดิฉันก็อายุ ๗๓ ปีแล้ว ดิฉันก็จะทำไปจนกว่าสังขารจะไม่อำนวย แม้ลูกๆขอร้องให้กลับไปอยู่บ้าน ดิฉันก็ขอลูกๆกลับมาอยู่ เพราะคิดถึงที่นี่ คิดถึงสมณะ คิดถึงงานที่ ชมร.

การมาอยู่ที่นี่ก็ต้องทำใจตัดจากสิ่งที่เราติดเรายึด ปล่อยวางในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง รับผิดชอบงาน ให้เต็มที่ ดิฉันอาจจะเป็นคนพูดตรง ขวานผ่าซาก ก็จะปรับปรุง เพราะบางคนเขาก็รับไม่ได้ นี่ดิฉัน ก็ทำใจเช่นกัน เพราะการทำใจก็สำคัญในการทำงานมาก ยิ่งคนมากหากไม่เข้าใจในจริตของดิฉัน เขาก็ถือสา

ดิฉันก็ฝากนะคะว่า หากอยากจะแข็งแรงเหมือนดิฉัน ก็กินอาหารมังสวิรัติ และก็เลิกเรื่องอบายมุข เลิกหมาก เลิกเหล้า เท่านี้ก็จะทำให้ร่างกายของเราดีขึ้น สุขภาพแข็งแรง จิตใจก็จะดีขึ้น ลองดูเถอะ ถ้าอยากแข็งแรงเหมือนดิฉัน

- เรี่ยม อิ้มคำ -


เสียสละคือการให้ แรงกาย
ทุ่มเทเหน็ดเหนื่อยหน่าย พักผ่อน
แม้ดึกขยับกาย ลุกขึ้น สู้เฮย
สู้ถวายชีวิตได้ ตราบสิ้น ลมปราณ

- สารอโศก อันดับที่ ๒๖๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ -