ประตูสู่สุขภาพบุญนิยม
โยคะ ศาสตร์แห่งความสมดุล พฤหัสบดีที่ ๒๗ และศุกร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ที่ปฐมอโศก ทีมสุขภาพบุญนิยม เชิญครูแก้ว และครูกวี จากโครงการเผยแพร่โยคะเพื่อสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน มาให้ความรู้ ทำความเข้าใจ สาธิตและพาฝึกปฏิบัติจริง ตลอดช่วงเวลา ๒ วัน กับ ๑ คืน โดยมีผู้อบรมกว่า ๔๐ ชีวิต บรรยากาศเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นมิตรและได้ประโยชน์ ด้วยว่าโยคะเป็นศาสตร์ที่เหมาะกับคนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกอาชีพ จากการเรียนรู้ครั้งนี้ทำให้ได้รู้ว่า โยคะไม่ใช่ศาสตร์แห่งการบำบัด และไม่ใช่การบังคับกายให้ต้องทำในท่าที่ยากๆหรือต้องทำให้ได้เหมือนเกณฑ์ที่ตั้งไว้ แต่โยคะคือการรวมกายกับใจของผู้ฝึกเข้าไว้ด้วยกัน หรือคือการมีสติอยู่กับกาย โยคะให้ความสำคัญยิ่งกับหลักแห่งความสมดุล การฝึกโยคะจึงเป็นการเหยียดแล้วคลายสลับกันไปจนจบการฝึก ศาสตร์ของโยคะมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาผู้ฝึกไปสู่ศักยภาพสูงสุดทั้งทางกายและทางใจ พูดให้เข้าใจง่ายๆ โยคะคือการฝึกให้กายแข็งแรง พร้อมๆกับการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ดังนั้นหลักในการทำโยคะแต่ละท่าจะเป็นการทำให้กายและจิตนิ่ง สบาย ใช้แรงแต่น้อย มีสติ ผ่อนคลายและสงบ อาจกล่าวได้ว่าในขณะฝึกอาสนะ (ท่าโยคะ) เรากำลังคืนสมดุลแห่งชีวิตให้กับตัวเราเอง อันคือการสร้างสิ่งแวดล้อมให้หมอในร่างกายดูแลตัวเอง โดยเมื่อจิตสมดุล ร่างกายก็จะปรับตัวของมันได้เอง คุณครูบอกว่า จากการศึกษาผลทางกายพบว่า โยคะมีผลดีต่อการทำงานของต่อมไร้ท่ออย่างน้อย ๗ ต่อม คือ ต่อมพิทูอิตารี ต่อมไพเนียล ต่อมไธมัส ไทรอยด์ ตับอ่อน ต่อมหมวกไต และต่อมเพศ ให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งต่อมเหล่านี้จะมีผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญๆ เช่น กระดูกสันหลัง ระบบไหลเวียนเลือด และต่อมน้ำเหลือง(ภูมิคุ้มกันโรค) ตลอดจนถึงระบบประสาทกล้ามเนื้อสัมพันธ์(Neuromuscular Coordination) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้ฝึกโยคะต่อเนื่องยืนยันว่า ฝึกโยคะแล้วได้ประโยชน์ ทำให้นิสัยที่เคยขี้หงุดหงิด โกรธง่าย หรือเป็นหวัดบ่อยๆ หรือร้อนในมีแผลในปากเป็นประจำ อาการเหล่านี้หายไปจากชีวิตตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ และรู้สึกว่าทุกวันนี้มีความสุข วิธีคิดเปลี่ยนแปลงไป เปิดรับความคิดที่แตกต่างจากของตนได้ คนรอบข้างทักว่า ดูเป็นคนใหม่ที่ไม่เจ้าอารมณ์อย่างแต่ก่อน แสดงถึงความมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ดีขึ้น เมื่อพูดถึงโยคะเรามักคิดถึงท่าแปลกๆ ที่มีชื่อเรียกจำยาก ทำแล้วบาดเจ็บง่าย แต่จากการเรียนรู้ครั้งนี้พบว่า โยคะมีเทคนิคที่น่าสนใจ เป็นเรื่องง่ายสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เพราะเป็นการจัดอิริยาบถหรือออกกำลังทางกาย เพื่อเรียนรู้ตนเอง ยอมรับข้อจำกัดและความสามารถของตัวเรา ไม่ได้เน้นท่าสวยงาม แต่เน้นความรู้ตัวของแต่ละคนว่ากำลังทำอะไร อิริยาบถนี้มีผลต่ออวัยวะใด กล้ามเนื้อส่วนไหน การเคลื่อนไหวจะช้า สงบ นิ่งสบาย ใช้แรงแต่น้อย และที่สำคัญมีสติ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถ ขณะเอนกาย(ท่าศพ)หรืออิริยาบถอื่นๆขณะทำโยคะอาสนะ นอกจากนี้ยังมีเรื่อง อ.อากาศ มีการฝึกการหายใจโดยหน้าท้องและโดยทรวงอก โดยธรรมชาติการหายใจเป็นการทำงานทางกายที่ถูกควบคุมโดยระบบประสาทกึ่งอัตโนมัติ จากการฝึกปราณยามะ (การหายใจแบบโยคะ) ทำให้ได้รู้ว่าเราสามารถควบคุมลมหายใจ เพื่อกำหนดความสมดุลของการผ่อนคลายและการตื่นตัวของอารมณ์และจิตใจได้ด้วย ทั้งนี้เป้าหมายสูงสุดของการฝึก ก็เพื่อนำสู่สภาวะความสงบของจิตนั่นเอง คุณครูบอกอีกว่า โยคะเป็นการออกกำลังกายที่ลงทุนน้อย แต่ได้ผลมาก เพราะเป็นการออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงโดยไม่ต้องใช้แรงมาก แต่กักเก็บพลังงานได้มากเข้ากับหลักเศรษฐศาสตร์กำไรขาดทุน(หรือประโยชน์สูงประหยัดสุดของเรา) และโดยเฉพาะน่าจะเหมาะกับพวกเราชาวอโศกที่ทำงานกันคร่ำเคร่ง หนักเหนื่อย เพราะโยคะจะทำแก่น(แกนกลาง)ของร่างกายสมดุลแข็งแรง เหมาะที่จะไปทำงานหรือรับสถานการณ์ต่างๆในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี คุณพรเพ็ญ รัศมีวิเชียรทอง นักกายภาพบำบัด ผู้ร่วมฝึกในโครงการนี้ตั้งแต่ต้นจนจบได้แสดงทัศนะว่า "จากการที่ได้ไปฟังการบรรยายและได้ฝึกโยคะจากครูกวีและครูแก้ว ได้เข้าใจปรัชญาของโยคะคืออะไร เป็นการใช้ท่าอาสนะและลมหายใจ(ปราณยามะ) เพื่อฝึกให้จิตสงบ หลังจากกลับมาบ้านแล้วดิฉันได้มาหัดฝึกตามที่ครูทั้งสองสอน มีความรู้สึกว่าถ้าเรามีสติรู้ตัวตามอิริยาบถที่เรากำลังทำโดยยึดหลัก นิ่ง สบาย ออกแรงไม่มาก เมื่อเราใช้สติตามการเคลื่อนไหว และพยายามตรวจดูว่าสบายหรือเกร็งกล้ามเนื้อมากไป เราก็ลดเลื่อนอิริยาบถนั้นให้ได้จุดที่นิ่งสบายออกแรงไม่มาก ซึ่งดิฉันค้นพบว่า เมื่อจิตเราตามรู้ดู ตามรู้จนได้จุดที่เข้าหลัก เบา สบายนิ่งแล้ว จะรู้สึกว่า กล้ามเนื้อที่ทำงานตรงอิริยาบถนั้น ได้พลังมาก และจะรู้สึกว่าการทำท่านั้นง่ายมาก รู้สึกเลือดไหลเวียนได้ดี เพราะรู้สึกอุ่นๆไปทั่วตัว หลังจากทำท่าอาสนะไป ๔-๕ ท่า แล้วพักในท่าศพและกำหนดจิตผ่อนคลายไปทั้งตัว สัก ๑๐ นาที จะมีความรู้สึก เบา สบายตัวอุ่นๆ โดยเฉพาะใบหน้าจะรู้สึกร้อนน้อยๆ มีความโปร่งใจคล้ายๆกับมีปิติเหมือนในช่วงที่เรามีสภาวะเข้าใจธรรมะและลดกิเลสบางเรื่องได้ และในแง่กายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว ได้กล่าวถึง การยืดคลายกล้ามเนื้อว่า กล้ามเนื้อที่มีการหดตัวแบบข้อเกร็งอยู่กับที่จะมีกำลัง(พลังของตัวกล้ามเนื้อ) มากกว่าการหดตัวแบบข้อเคลื่อนที่ ซึ่งในช่วงที่เราทำอาสนะนั้นทุกท่าจะมีจุดที่นิ่ง เบา สบาย อยู่นานเหมือนกันตามสภาพของแต่ละบุคคล จึงเป็นคำอธิบายที่ดีว่า ทำไมการฝึกที่นิ่ง ไม่ต้องใช้แรงมากจึงได้พลังมาก แต่ทั้งนี้ดิฉันเพิ่งจะฝึกได้ไม่นานนัก คิดว่าจะลองศึกษาไปเรื่อยๆ และคงจะพบข้อดีอื่นๆอีกมากกว่านี้" คุณครูทั้งสองท่านแนะนำให้เราฝึกโยคะอาสนะทุกวัน ฝึกปราณยามะระหว่างวัน หมั่นเฝ้าดูลมหายใจของตนเอง และฝึกปรับลมหายใจของตนเองให้สมดุลตามบรรยากาศที่แวดล้อมอยู่ขณะนั้นๆ เช่นในภาวะเริ่มเครียดให้ทำลมหายใจแบบอุจจัย คือหายใจโดยให้ลมหายใจผ่านการเกร็งกล้ามเนื้อที่คอ ทำให้เกิดเสียงเล็กน้อย จะทำให้จิตจดจ่ออยู่กับกายและจิตดีขึ้น สำหรับเรื่องอาหารและการเอาพิษภัยออกนั้น
อาหารมังสวิรัติที่ชาวอโศกถือปฏิบัติมาโดยตลอด ก็เป็นผลดีต่อสุขภาพระดับหนึ่งแล้ว
อีกทั้งมีการรณรงค์ใช้ผักพื้นบ้านและผลไม้ไร้สารพิษ ก็นับเป็นผลดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้นไปอีก
การเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยจึงนับเป็นการไม่เอาพิษภัยเข้าร่างกายด้วย
และในเรื่องนี้โยคะได้นำแนวคิดของอายุรเวทมาใช้ โดยแบ่งอาหารเป็น ๒ ประเภท คือถ้าเรากินอะไรเข้าไปแล้วมันย่อยได้ดี ก็ถือว่าเป็นอาหารดี แต่ถ้ากินอะไรหรือกินต่อไป(มากไป) มันย่อยไม่ได้แล้ว ก็ถือว่าสิ่งนั้นเป็นพิษ ไม่ใช่อาหารแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ใช่อยู่ที่สิ่งที่จะนำเข้าไปอย่างเดียว มันอยู่ที่ตัวเราอีกส่วนหนึ่งด้วย ทุกอย่างจึงต้องเลือกให้พอเหมาะกับตัวเราเอง แม้แต่ท่าโยคะ ซึ่งก็ต้องเลือกทำให้เหมาะสมกับตนเองด้วย ในศาสตร์แห่งโยคะ การเอาพิษภัยออกก็สามารถทำได้ในหลายๆวิธี ทั้งทางหายใจ ทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย ซึ่งจะอิงธรรมชาติและพึ่งตนเองเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่จำเป็นต้องเอาพิษภัยออกในผู้ที่เป็นผู้ป่วยแล้ว ต้องอาศัยความรู้ทางอายุรเวท การเรียนรู้เรื่องโยคะจากคุณครูทั้งสองท่าน ทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะดูแลตนเองด้วย ๗ อ. ตามวิธีการของศาสตร์แห่งโยคะ ด้วยเห็นว่าโยคะเป็นประโยชน์เป็นอุปการะต่อการปฏิบัติธรรม ต่อการฝึกเจโตสมถะ ซึ่งเป็นการเติมเต็มในวิถีชีวิตของชาวอโศกในยุคปัจจุบัน ที่ต้องเคลื่อนตัวไปในกระแสแห่งการงานที่อยู่ท่ามกลางคนและความต้องการที่หลากหลาย คุณครูทั้งสองท่านตั้งสมมติฐานว่า วิถีชีวิตของชาวอโศก เป็นผู้มีศีลเป็นวัตรปฏิบัติ มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย มีศรัทธาในพลังรวมของพุทธศาสนา มีวินัยของชีวิตอยู่แล้ว การฝึกโยคะอาสนะและปราณยามะจะทำให้มีสมดุลชีวิตที่ดีได้ง่าย ซึ่งผู้ที่ต้องการมีสุขภาพที่ดีในนัยนี้ นับเป็นการพึ่งตนเองที่ต้องสร้าง และทำเอง เพื่อติดตามผล ท่านทั้งสองได้ให้สัญญาว่าอีก ๓ เดือนข้างหน้า เราจะมีการมาคุยกันอีกครั้งถึงประสบการณ์ของแต่ละคน ที่ได้ศึกษาเรียนรู้กับตนเองมา งานนี้ต้องสร้างอิทธิบาท.... - ไม้กฤษณา - - สารอโศก
อันดับที่ ๒๖๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ - |