ห้องเรียนในทุ่งกว้าง


สัมมาสิกขาสันติอโศก เปิดห้องเรียนกลางทุ่งข้าว บูรณาการเรียนสู่วิถีชีวิตชาวนา และเชื่อมสัมพันธไมตรีกับกลุ่มสุรินทร์ ที่ปลูกข้าวให้ชาวชุมชนสันติอโศกรับประทานร่วม ๖ ปี

จากความตั้งใจจะให้นักเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก (สส.สอ.)ได้เรียนรู้การเกี่ยวข้าว

อาจารย์วิเชียร ผู้ปกครองของนักเรียนเยาวทัศน์ บุญกล้า และ กล้า วศิน ลงทุนปลูกข้าวให้โรงเรียนฟรีถึง ๑๕ ไร่ โดยมีนโยบายให้นักเรียนไปเก็บเกี่ยวเอง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของโรงเรียน กำหนดการเดินทางออกเกี่ยวข้าวจึงเกิดขึ้น โดยให้นักเรียนชั้น ม.๑, ๕, ๖ ร่วมกับคณะอาและศิษย์เก่า ๘ ท่าน ออกปฏิบัติงานเรียนรู้ศึกษาร่วมกันในงานนี้ รวมแล้วทั้งหมด ๕๓ ชีวิต

เย็นของวันที่ ๒๗ พ.ย.๔๖ ออกเดินทางสู่บ้านอาจารย์วิเชียร กำหนดไปเกี่ยวข้าว วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน - ๒ ธันวาคม ๒๕๔๖ ณ หมู่บ้านเกาะแจนแวน ต.แจนแวน อ.ศรีนรงค์ จ.สุรินทร์

มีคำถามเกี่ยวกับการไปเกี่ยวข้าวครั้งนี้ว่า ทำไมถึงเลือกน้องใหม่ ม.๑ไปเกี่ยวข้าว ก็เนื่องมาจาก ม.๒ ต้องไปแจกโรงบุญฯ ม.๓ ต้องเรียนอย่างเข้มข้นก่อนจะสอบประเมินผลการเรียนรู้ระดับประเทศ ส่วน ม.๔ ก็ต้องเข้าฝึกหลักสูตรเข้มข้นเพื่อเตรียมตัวร่วมกิจกรรมเข้าห้องเรียน ในช่วงก่อนงานปีใหม่ ฝึกฝนทั้งวิชาความรู้และความแข็งแกร่ง เพื่อเตรียมพร้อมสู่งานภายภาคหน้าที่ท้าทาย

เริ่มออกเดินทางจากสันติอโศกเย็นวันที่ ๒๗ พ.ย. ๔๖ ด้วยบรรยากาศอันอบอุ่นและยินดี ก่อนออกไปฝึกวิชาเกี่ยวข้าว ท่านสมณะกล้าตาย ปพโลและอาจารย์ใหญ่ (อาตั๋ง) ได้ให้ โอวาทไว้ก่อนไปว่า ให้เข้มแข็งดุจนักรบ ให้อ่อนโยนและดูแล ซึ่งกันและกัน คณะนักเรียน ม.๒, ๓, ๔ ก็ร่วมกันร้องเพลงให้กำลังใจนักรบก่อนออกเดินทาง เริ่มออกเดินทางโดยรถปุ๊ปุ๊ประมาณ ๒ ทุ่ม การเดินทางไปถึงจุดหมายอย่างราบรื่นและหนาวกายมาก เพราะไม่ได้เตรียมเครื่องกันหนาวไป แต่นักเรียนก็ยังมีใจฮึกเหิมดี ไม่ย่อท้อต่ออากาศอันหนาวเหน็บ ทุกคนเข้าพักผ่อนที่บ้านของอาจารย์ที่ได้กรุณาเสียสละที่นาและที่พักอาศัยให้พวกเราได้เรียนรู้กันทุกปี

เช้าวันที่ ๒๘ พ.ย. ๔๖ ทีมเกี่ยวข้าวเริ่มลงมือปฏิบัติการ คณะอาๆและพี่ๆ ม.๕, ๖ ลงมือสอนน้อง ม.๑ เกี่ยวข้าวและ มัดข้าว มีจุดหมายจะเกี่ยวข้าวจำนวน ๑๕ ไร่ให้เสร็จภายใน ๓ วัน เด็ก ม.๑ หลายๆคนไม่เคยเกี่ยวข้าวมาก่อน แต่พอได้ลงมือเกี่ยวข้าวจริงๆ ก็สามารถเกี่ยวข้าวเป็น ภายในระยะเวลาอันสั้น ทำให้อาๆและพี่ๆ ม.๕, ๖ พลอยยินดีภูมิใจไปด้วยกับความสามารถ ของน้องๆ ม.๑ มีเด็กๆหลายคนที่ผ่านบททดสอบที่มีทั้งความขยันอดทน ความตั้งใจทำงาน แม้จะมีเด็กบางส่วนที่บกพร่องในการทำหน้าที่ หลบไม่ทำหน้าที่บ้าง แต่ก็ได้เรียนรู้ว่า เป็นความบกพร่องที่ตนจะต้องพัฒนาต่อไปในอนาคต

รุ่นพี่บางส่วนถูกแบ่งกำลังไปขนข้าวซึ่งเป็นงานที่หนักและต้องแข่งกับเวลา ค่ำวันที่ ๓๐ พ.ย. ๔๖ นวดข้าว
ตั้งแต่ ๓ ทุ่มถึงเที่ยงคืน กว่าจะได้นอนพักก็ตี ๓
เช้าของวันใหม่ต้องขนข้าวอีก ที่น้องๆได้เกี่ยวไว้ เพื่อเตรียมนวด แต่ด้วยความเพียรของรุ่นพี่ งานจึงสำเร็จด้วยดี

"นักรบต้องมีบาดแผล" งานนี้แทบทุกคนได้บาดแผลกลับมา ทั้งจากเมล็ดข้าว, ต้นข้าวบาดมือ จากการที่เคียวเกี่ยวนิ้ว(ก้อย)ของตัวเอง แต่เหล่านักรบรุ่นเยาว์ก็มิได้ย่อท้อ มุ่งมั่นเกี่ยวข้าว-นวดข้าวจนสำเร็จ เป็นการฝึกฝนตนดังที่ว่า
"ตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมเจริญยิ่ง" น้องๆ ม.๑ หลายคนก็ได้เห็นถึงน้ำใจของเพื่อนๆ ก่อเกิดกระบวนการกลุ่มเล็กๆขึ้น ซึ่งจุดเริ่มเหล่านี้ก่อให้เกิดทั้งมิตรภาพ น้ำใจ และกระบวนการกลุ่ม ต่อไปจะพัฒนาไปสู่ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของนักเรียน สส.สอ.

ในคืนสุดท้าย ๑ ธ.ค. ๔๖ พวกเราเหล่านักรบนั่งรอบกองไฟ ร่วมกับชาวชุมชน และคุณพ่อ-คุณแม่ เจ้าของสถานที่ โดยมีบรรยากาศเป็นกันเอง ร้องเพลง เฮฮา และลงท้ายด้วยการเปิดใจของ อาจารย์วิเชียร คณะอา และเหล่านักรบ จากนั้นกราบขอบพระคุณ ที่ท่านกรุณาให้ห้องเรียน อันกว้างขวางแก่เราทุกปี ซึ้งตรึงใจจนบางคนร้องไห้เลยทีเดียว

ตื่นเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งก็คือ วันที่ ๒ ธ.ค. ๔๖ พวกเราเก็บของใช้กตัญญูต่อสถานที่ (ทำความสะอาด) รับประทานอาหารเช้า แล้วก็ออกเดินทางกลับ ถึงสันติอโศกราว ๕ โมงเย็น ด้วยการต้อนรับ อย่างเป็นกันเอง จากพี่ๆ สส.สอ. ม.๓,๔

งานนี้เด็กๆเกี่ยวข้าว นวดข้าวได้ทั้งหมด ๓๗ กระสอบครึ่ง คุณพ่อวิเชียร ช่วยกรุณาสีข้าวหอม มะลิแดง ที่พวกเด็กนักเรียนเกี่ยว ฝากมาให้ชาวชุมชนสันติอโศก รับประทานกันก่อน ๕ กระสอบ (จะจัดส่งที่เหลือมาให้ภายหลัง) แถมบักเขียบ (น้อยหน่า) และขนุน ที่ทางคุณพ่อของจิ๊บออกเงินซื้อ ระหว่างทาง ขออนุโมทนา

การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและความเคยชิน เช่นการออกไปเกี่ยวข้าวเช่นนี้ หลายๆคนที่มีแกนหลัก ในตนเองแข็งแกร่ง(ศีลเด่น) ย่อมปรับตัวปรับใจทำงานได้อย่างไม่มีทุกข์ ขณะที่บางคน ศีลหย่อน ย่อมก่อทุกข์ให้ตนเองขึ้นมา และปล่อยตนไปตามกระแสกิเลส การประเมินศีลเด่น โดยรวมจะตกเรื่อง กินจุบจิบกัน(อาจเป็นเพราะใช้พลังงานมากและอากาศหนาว) มีทิ่มแทงกันด้วยหอกปากบ้าง พอหอมปาก หอมคอ แต่ท้ายสุดก็เข้าใจกัน และก็เชื่อว่างานนี้เด็กๆหลายคน ก็ได้รู้ซึ้งถึงจิตใจ ของชาวนาว่า กว่าที่เราจะได้ข้าวมากินแต่ละเมล็ดลำบากแค่ไหน หลายเสียงประกาศ จะรับประทานข้าวไม่ให้เหลือไม่ให้หกแม้แต่เมล็ดเดียว (สาธุ)

- เพชรดินฟ้า รายงาน -

- สารอโศก อันดับที่ ๒๖๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ -