งานปีใหม่ตลาดอาริยะ '๔๗ ครั้งที่ ๒๕
บุญญาวุธหมายเลข ๒ ระหว่างวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๔๖ - ๒ ม.ค. ๔๗

ประกาศทฤษฎีบุญนิยมอันดับที่ ๓ ขายต่ำกว่าทุน
ณ ชุมชนราชธานีอโศก
จัดติดต่อกันมาที่ชุมชนแห่งนี้นับเป็นปีที่ ๗


๑๙-๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๖
นิสิตสัมมาสิกขาลัยวังชีวิตทุกวิชชาเขตเดินทางมาเข้าห้องเรียนพิเศษเตรียมบริหารจัดการงาน แผนกต่างๆไว้ สำหรับลูกๆ หลานสัมมาสิกขาทุกแห่งตั้งแต่ชั้น ม.๑-ม.๖ ที่จะมาเข้าค่าย ยุวชนอโศกสัมพันธ์ (ยอส.) ซึ่งมาช่วยเตรียมงานนี้ เช่นกัน ซึ่งมีมากถึง ๔๗ แผนก ขณะเดียวกัน ทีมกสิกรรมบ้านราชฯ ร่วมกันจัดนิทรรศการมีชีวิต ทุ่มเทแรงใจปลูกพืชผัก ชนิดหามรุ่งหามค่ำ อย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย เพื่อให้ทันต้อนรับพี่น้องที่จะเดินทางมาร่วมงาน ซึ่งก็นับว่าไม่ผิดหวัง เมื่อย่างก้าวเข้าสู่ ชุมชนราชธานีอโศก ไม่ว่ามองไปทางไหน จะเห็นแปลงพืชผักสีเขียว ที่กำลังเจริญเติบโต ลำต้นอวบอิ่ม น่ารับประทาน ปรากฏให้เห็นเต็มไปหมด เสมือนจะกล่าว แทนคำว่า ยินดีต้อนรับพี่น้องทุกท่าน สู่งานบุญอันยิ่งใหญ่ ของชาวอโศก พร้อมๆกับภูมิทัศน์ ของบ้านราชฯ ก็สวยงามขึ้น นอกจากจะมีแปลงผักสีเขียวแล้ว บริเวณด้านข้างเฮือนศูนย์ฯ ยังมีลานหินหงส์ สระเอิ้นขาน ที่ข้างสระ มีเรือลำใหญ่ วางอยู่บนหิน สำหรับเป็นที่นั่ง พักผ่อนหย่อนใจ หลังเฮือนศูนย์ฯเป็นท่าสำหรับลงไปอาบน้ำ หรือจะพายเรือ ชมวิวทิวทัศน์ก็ได้ มีหินก้อนเล็กใหญ่ ปูเรียงรายลดหลั่นกันไป บนเนินดินหน้าเฮือนศูนย์ฯ ก็มีเรือใหญ่ โคกใต้ดิน และสินในสูญ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ ทั่วบริเวณมีก้อนหิน ประดับตกแต่งไม่ว่าจะเป็นเวทีปีใหม่ ลานเวที หรือเขตด้านในบริเวณบุ่ง ภูมิทัศน์ที่กล่าวมานี้ พ่อท่านได้พานำจัดตกแต่งก้อนหิน กับลูกๆ เกือบตลอดทั้งเดือน จนผิวคล้ำไปเลย บริเวณบุ่งด้านใน มีร้านขายอาหาร ชื่อเรือมังสวิรัติ บริการสำหรับ ผู้อยากเปลี่ยนบรรยากาศ นั่งกินอาหารพร้อมกับชมวิว บนเรือท้าวแถนพญามูล หรือ อยากจะซื้อหา สินค้าชุมชน ก็หาซื้อได้บนแพร้านปันบุญ สมกับเป็นบ้านราชเมืองเรือจริงๆ บ่อยครั้งที่รถบรรทุกหกล้อ สิบล้อ นำสินค้ามาลง พร้อมกับเสียงประกาศ เรียกโฮมแฮง จะปรากฏ ภาพของพ่อท่าน ผู้นำจิตวิญญาณ ของพวกเรา ซึ่งขณะนี้ก้าวสู่วัย ๗๐ ปีแล้ว มาช่วยขนสินค้า ลงจากรถร่วมกับลูกๆ อย่างเบิกบานร่าเริง แม้จะมีงานเขียน-งานบริหารที่ล้นมือ พ่อท่าน ก็ยังปลีกเวลา อันมีค่า มาร่วมเสียสละ กับลูกๆ อย่างกระฉับกระเฉง อันเป็นแบบอย่าง ของผู้นำคือผู้รับใช้

ปีนี้มีการวางผังตลาดได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นตลาดสินค้าและตลาดอาหาร เวทีชาวบ้าน ในส่วนของตลาดสินค้า มีการขยายถนนเส้นกลาง ของตลาดให้กว้างขึ้น เพื่อความสะดวกสบาย ของผู้มาจับจ่ายซื้อสินค้า มีการบริหารจัดการ แบบสาธารณโภคีคือ ผู้ที่ตั้งใจมาเสียสละ ในงานนี้ เอาเงินมารวมกัน แล้วทางส่วนกลาง ที่มีความเชี่ยวชาญไปจัดซื้อ ทำให้สามารถ ได้ของที่ดี มีคุณภาพและมีปริมาณมากเพียงพอ ที่จะบริการพี่น้องประชาชนได้ทั่วถึง เปิดจำหน่าย ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น. ในวันสุดท้าย สินค้าที่กองแน่นทั่วทุกร้าน หายวับไปกับตาอย่างน่าอัศจรรย์ มียอดกำไรอาริยะ (ขายต่ำกว่าทุน) ๖๐๔,๘๑๐ บาท

ตลาดอาหารนอกจากจะขยายตลาดให้กว้างขวางแล้ว ก็บริหารจัดการแบบสาธารณโภคี เช่นเดียวกัน ผู้ที่ตั้งใจมาเสียสละ ขายอาหารจานละ ๑ บาท ก็นำเงินมาลงขันกับกองกลาง แล้วกองกลางเป็นผู้จัดซื้อวัตถุดิบ ทุกชนิดมารวมไว้ที่ สโตร์กลาง แต่ละร้าน สามารถมาเบิก วัตถุดิบได้ ไม่ต้องวิ่งรถไปหาซื้อเอง ทำให้ประหยัดเวลา-แรงงาน อย่างประโยชน์สูง ประหยัดสุด เพียงแต่ขอความร่วมมือ ให้แต่ละร้านนำอุปกรณ์ภาชนะ ปรุงอาหารมาเอง สำหรับผู้ที่ไม่มีเงิน ก็นำแรงมาร่วมบุญได้ งานบริการ ที่ประทับใจ และได้รับคำชื่นชม คือแผนกล้างผัก ที่บริการ ได้รวดเร็วทันใจ ทำให้แต่ละร้าน สามารถปรุงอาหาร บริการพี่น้องประชาชน ได้เต็มที่ เปิดบริการ ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. ตลาดอาหารกำไรอาริยะ ๒๙๐,๐๒๑ บาท

เวทีชาวบ้าน อยู่ในตลาดอาหาร ย้ายไปอยู่ด้านในสุดติดกับภูเขาที่มีเรือทั้ง ๗ ลำตั้งอยู่ คือ เรือเขา เรือเฮา เรือเพิ่น เรือโต เรือสู เรือหมู่ เรือฝูง เปิดเวทีตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น. มีการแสดง ดนตรี ของวงดนตรีต่างๆ สลับกันไป เช่น วงฆราวาส วงของสัมมาสิกขา สันติฯ, ปฐมฯ, สีมาฯ, ราชธานี, ศิษย์เก่าปฐมฯ, วงสมัชชาและเติบแบนด์ สลับกับหมอลำ ซึ้งบุญ-ตะวันเดือน และเครือข่ายฯ สำหรับศิลปินเดี่ยวมีน้อยกว่าปีที่ผ่านมา

เวทีการแสดงภาคค่ำบนเวทีปีใหม่ เริ่มเวลา ๑๘.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. แสดงตั้งแต่คืนวันที่ ๓๐ ธ.ค. ๔๖ - ๒ ม.ค. ๔๗ สุดยอดของรายการเห็นจะเป็นวิดีโอที่เพิ่งตัดต่อเสร็จสดๆร้อนๆ เรื่อง "ผนึกวิญญาณ สืบสานนาวาบุญนิยม" ภาพเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ลากเรือยักษ์ น้ำหนัก ๘๐ ตัน มาไว้บนเนินดินหน้าเฮือนศูนย์ เมื่อวันที่ ๒๔ ธ.ค. ๔๖ และบนเวทีมีรูปปั้นโลหะ พญาแร้ง ยืนเป็นพระเอก อยู่ตลอดงาน เป็นลักษณะของชาวอโศก คืออยู่อย่างเจียมตัว อยู่อย่างถ่อมตน อยู่อย่างสงบ อยู่อย่างสร้างสรรงาน ที่ตนเองรับผิดชอบ เป็นผู้รับใช้โลกทั้งโลก

สำหรับรายการที่เฮือนศูนย์สูญ มีดังนี้ ๐๓.๓๐-๐๕.๓๐ น. ธรรมะรับอรุณ เพื่อชาวบุญนิยม ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๓๑ ธ.ค. ๔๖ - ๒ ม.ค. ๔๗ ชาวอโศกพันธุ์แท้ ไม่ควรพลาด ต้องหาเท็ปมาฟังให้ได้ นอกจากนี้เป็นนิมิตใหม่ ของชาวอโศก ที่พ่อท่าน เริ่มนำสวด ยถาสัพพี หลังสวดมนต์ เพราะว่าสมณะที่จะไปสัมพันธ์กับข้างนอก จะได้เชื่อมโยงกับเขา ได้ดีขึ้น ไม่ใช่เป็นความเสียหายอะไร

๐๙.๐๐-๑๐.๓๐ น. รายการพิเศษที่เฮือนศูนย์สูญ

๓๑ ธ.ค.
รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายพิจิตร สีแสง
ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน ท่านได้กล่าวว่า "...การจัดตลาดอาริยะ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ ที่ผู้ขาย ขายขาดทุน แต่ขายขาดทุน ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส อย่างความพอใจ ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลก ที่ขายอย่างขาดทุน แล้วยังยิ้มแย้ม แจ่มใส แสดงถึงเจ้าของผู้ขายสินค้า ผู้ผลิตสินค้า มีจิตใจที่เป็นบุญกุศล อยากจะช่วยสงเคราะห์ ผู้ที่มีความต้องการ ท่านทั้งหลายครับ ตลาดอย่างนี้มีแห่งเดียวที่นี่ในโลกนี้ ไม่มีที่ไหน ในประเทศไทยอีกแล้ว กระผมชื่นชมยินดี ที่ชาวชุมชนอโศก อีกหลายแห่ง ได้ปฏิบัติตัว ได้ทำเป็นแบบอย่าง ของชาวพุทธที่ดีที่สุด ในการบริหารช่วยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด กระผม ได้นำกิจกรรม ได้นำผลงาน ได้นำสิ่งที่ท่านทำไปเผยแพร่ ได้ไปบอกกล่าวทั้งหมู่บ้านต่างๆ สองพันห้าร้อยกว่าเจ็ดสิบหมู่บ้าน ของจังหวัดอุบลราชธานี สองร้อยสิบห้าตำบล ได้ประพฤติตน ได้ทำเยี่ยงอย่าง ที่ชาวชุมชนอโศก หรือชุมชนราชธานีอโศก ของเราได้ทำนั้น จะเกิดเป็น ผลประโยชน์ ต่อบ้านเมือง ต่อตัวของเราเอง พี่น้องทั้งหลายครับเนื่องจากว่า ประชาชนทั้งหลาย ของเรานั้น ยังมีอีกมาก ที่ยังมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป แต่พยายามที่จะเข้ามาสู่ชาวพุทธที่แท้จริง อย่างที่ชุมชนอโศก หรือราชธานีอโศกได้ประพฤติปฏิบัติ เป็นแบบอย่างที่ดีที่สุด ในประเทศไทย ไม่มีชุมชนไหน ที่จะเป็นอย่างนี้ กระผมเอง ได้ใกล้ชิดหลายชุมชน โดยเฉพาะศีรษะอโศก ก็เคยไปอยู่ที่นั่น และเห็นความสามัคคีพร้อมเพรียง และมีตลาดอย่างนี้ เช่นเดียวกัน ท่านทั้งหลายครับ การที่ท่านได้ขายสินค้าต่ำกว่าทุนนั้น เป็นการสร้างบุญกุศล และขณะเดียวกัน นอกจากนั้นแล้ว อาหารของท่าน กินอิ่มเดียว อิ่มหนึ่งจ่ายบาทเดียว ซึ่งไม่มีที่ไหน อีกเช่นเดียวกันครับ กินอิ่ม อิ่มละหนึ่งบาท มีแต่อิ่มละ ๓๙ อิ่มละร้อยกว่าบาท ตามโรงแรมต่างๆ หรือตามร้านอาหารต่างๆ นี่อิ่มหนึ่งเพียงบาทเดียว ไม่มีที่ไหน ในจังหวัดอุบลราชธานี นอกจาก ราชธานีอโศก ท่านทั้งหลายครับ การกระทำอย่างนี้ เป็นตัวอย่างจะให้มีเกิดขึ้น กระผมเดินผ่านมายัง ชุมชนของท่านนั้น เห็นแล้วว่า ผักสีเขียวเต็มทุกแห่ง สีเขียวไม่พอ งาม ปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหลายที่ท่านทำ ปุ๋ยชีวภาพที่ท่านทำ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ชาวจังหวัด อุบลราชธานี จะนำแบบอย่างของท่านไปประพฤติปฏิบัติ ไปขยายให้มากขึ้น บ้านเมืองของเรา จะเจริญรุ่งเรือง บ้านเมืองของเรา จะปราศจากคนยากจน ดังที่ท่านนายกรัฐมนตรี จะพยายาม ให้คนยากจน หมดไปในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ผมเชื่อว่า ท่านที่มาประพฤติ หรือมาเอาเยี่ยงอย่าง มาปฏิบัติตาม ราชธานีอโศกแล้ว จะพ้นจากความยากจน กระผมเอง ขอกราบขอบพระคุณ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กราบขอบพระคุณผู้บริหารงาน โดยเฉพาะทางชุมชนราชธานีอโศก ขอบคุณ สมาชิกทุกท่าน ที่ได้เข้ามาร่วมงานกันในวันนี้... ปีใหม่'๔๗ นี้ ขอให้ชุมชนของเรา เจริญรุ่งเรือง ตลอดไป..."

หลังจากนั้นฟังบรรยายพิเศษจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่ย้ำเน้นให้ทำแต่กรรมดี ละเว้นกรรมชั่ว เพราะชาติหน้านั้น มีจริงแน่นอน มีตัวบุคคลที่ระลึกชาติได้ยืนยัน

๑ ม.ค.๔๗
"ชาวอโศกเท่าที่เห็นและปรารถนาให้เป็น..."
โดย คุณโสภณ สุภาพงษ์

ในช่วงบ่าย ๑๕.๐๐ - ๑๗.๓๐ น. "จะบอกให้ โลกใบนี้ร้ายกว่าที่เราคิด!" โดย ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ นำเรื่องราวของโลกภายนอก ที่ผ่านพบมา บอกเล่าให้ฟังว่าน่ากลัวและเลวร้ายเพียงใด

๒. ม.ค.
ฝรั่งที่มีความมักน้อย สันโดษ มิสเตอร์มาร์ติน วีลเลอร์ พูดเรื่อง "ชีวิตใหม่ที่หันหลังให้กับทุนนิยม" สิ่งที่อโศกพาทำ หลายคนยังไม่มั่นใจ ต้องให้ฝรั่งมายืนยันว่า สิ่งที่คนไทยเห่อ หลงตามทุนนิยมนั้น ผิดทางชีวิต

๓ ม.ค.๔๗
วันสุดท้ายของงานสำหรับชาวอโศก เวลา ๐๖.๐๐-๐๙.๐๐ น. ยุทธการเก็บบุญ ๓ ชั่วโมง คนละไม้คนละมือ ช่วยกันทำ ๕ ส. ให้ทุกอย่างกลับคืนสู่สภาพเดิม งานที่แต่ละคน มาเสียสละร่วมกัน ตลอดทั้งเดือนนั้น หายไปภายใน ๓ ชั่วโมง เหมือนไม่เคยมีงานใหญ่ เกิดขึ้นเลย นี่คือวัฒนธรรมที่ดีของชาวอโศก ที่ทุกคนช่วยกัน ไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นภาระของใคร ถือว่าทุกคน เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ภาพการเก็บบุญ ๑๘๐ นาที บรรลุตามเป้า และแต่ละร้านเก็บงานของตัวเอง เรียบร้อยแล้ว เหลือซาแลนด์ไว้บางส่วน เพื่อใช้เตรียมงาน พ.ฟ.ด.ที่จะมาถึงในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗ นี้

พ่อท่านกล่าวว่า "...เป็นวัฒนธรรมของชาวอโศกที่ดีมาก ทำงานอะไรเสร็จแล้วต้องเก็บกวาด ๕ ส. หรือเราต้องจัดการ อย่าให้หลงเหลือ ความสกปรกเลอะเทอะ หรือว่าความเป็นภาระที่ทำให้หนัก ไม่ให้มีอะไรเหลือ ให้จบอย่างสะอาดสะอ้าน บริสุทธิ์ เรียบร้อย....."

๑๓.๐๐ น.เศษ ร่วมกันสรุปงาน ภาพรวมของงานตลาดอาริยะที่แต่ละแผนกรับผิดชอบ โดยมีพ่อท่าน เป็นประธาน เป็นการรวบรวมข้อมูล ให้มากที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมในปีต่อไป มีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

๑. ประชาสัมพันธ์กลางส่วนตลาดสินค้า ต้องแข่งกับประชาสัมพันธ์ของแต่ละร้าน ใช้ได้ดี ตอนช่วง ยังไม่เปิดตลาดเท่านั้น

๒. ตรวจสอบสินค้า ยังมีบางร้านซื้อสินค้ามาเองทำให้สินค้าราคาแพง บางร้านมาฉุกละหุก ไม่บอกล่วงหน้า ส่วนตุ๊กตาไม่ให้ขาย

สินค้าที่ห้ามขายในปีนี้คือ สมุนไพร และเสื้อผ้าแฟชั่น

๓. เวทีภาคค่ำ ขยายเป็น ๔ วัน เริ่มจาก ๓๐ ธ.ค.๔๖-๒ ม.ค.๔๗ มี ๓๑ รายการ มีการแต่งหน้า-ทาปาก และใส่เสื้อรัดรูป ในเรื่องการแต่งหน้า พ่อท่านอธิบายไว้ชัดเจนว่า "การแต่งหน้า ถ้าแต่ง เพื่อความจำเป็น เพื่อให้เหมาะสมกับตัวละคร แต่งหน้ายักษ์ ลิง ตัวตลก แต่งหน้าอะไร ที่จะให้เหมาะสมกับตัวละคร อันนั้นจำเป็นแน่นอน แต่ถ้าแต่งหน้าเพื่อประเทืองความงาม อย่างนี้ห้าม ไม่อนุญาต ไม่พยายามให้ทำเป็นนโยบาย เป็นวิธีการ อาตมาคิดว่าคุมไว้ดีที่สุดแล้ว ส่วนจะปรุงแต่ง ในเรื่องของเครื่องแต่งตัวบ้าง แต่ก็ไม่ให้เป็นเสื้อรัดรูป รัดทรงอะไรออกมา อันนั้น ก็ไม่ควร เครื่องแต่งตัว จะมีลวดลาย จะมีรูปแบบ สีสรร ให้เข้ากับเรื่อง เราก็อนุโลมอยู่แล้ว แต่ในเรื่อง แต่งหน้า ขอให้ยืนหยัดยืนยัน ถ้าไม่เชื่อฟัง ปีต่อไปให้งดแสดง ๑ ปี ให้เป็นทัณฑ์ไปเลย มันอยาก มันเป็นกิเลส เป็นกามด้วย กลัวจะไม่สวย ไม่งาม

ในเรื่องของการเลยเวลา ก็ขอให้เคร่งครัดกันหน่อย ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเรื่องไม่จริง ถ้าจะมีอะไรพิเศษเอาไว้ ไม่ได้แสดง ก็ขอให้บอก แต่เวลาออกเวทีจริง ก็ไปแสดงพลิกแพลง เพิ่มเติมเอง พวกนี้ละเมิดเจตนา ทำผิดศีลด้วย โกหกโดยตรง หลอกลวง เป็นคนเลว เพราะฉะนั้น จะต้องลงทัณฑ์อีกเหมือนกัน แต่ถ้าเผื่อจะเกินเวลาโดยสุดวิสัย ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่หากเจตนาเลย ก็ปรับเป็นผิดเหมือนกัน เอาให้ชัดเจนอย่างนั้น ไม่เช่นนั้นไม่อยู่ จะเลอะเทอะ บานปลายไปอีก ขนาดนี้ก็ดีแล้ว

ในกรณีที่ติดต่อทีมงานแสดงมาจากข้างนอก เราไม่เอา ไม่เป็นประโยชน์ เราเอาคนข้างใน ของเรามีสารัตถะ เป็นเนื้อหา ที่มาเสริมสร้าง ปลุกเร้า ประทับใจ เข้าใจนโยบาย อย่าเอาคน ข้างนอก มาแสดง ขอเสริมเวที เรื่องไฟหน้าเวที แสงไม่สว่างพอ ถ้าให้คะแนน แสงสีให้แค่ ๒๐ จาก ๑๐๐ เพราะเวลาควรจะเปิดก็ไม่เปิด เรื่องแสง ภาพเราก็ไม่ดี คนดูก็ไม่ดี ไม่สบายตา ไม่ชัดเจน ช่างแสงควรจะไปเรียน....."

๔. เวทีชาวบ้าน ค่อนข้างเงียบเหงา คนไม่ค่อยไปร้องเพลง มีปัญหาเรื่องเสียงรบกวนกัน ระหว่าง เวทีชาวบ้าน - ประชาสัมพันธ์ ตลาดอาหาร และทางด้านล้างจาน เป็นมลภาวะทางเสียง คนไปยืนเข้าแถวซื้ออาหาร ต้องได้ฟังเสียงจาก ๓ ทางพร้อมๆกัน ปีหน้า ควรจัดประชาสัมพันธ์ จุดเดียว บนเวทีชาวบ้าน

๕. ตลาดอาหาร เต็นท์คูปองควรย้ายไปข้างหลังติดเวทีชาวบ้าน และเพิ่มเป็นสองจุด นำร้านเล็กๆ มาอยู่ด้านหน้า ให้ร้านใหญ่ๆ ที่มีความดึงดูดคนกินได้ดี ไปอยู่ข้างหลัง ไม่ใช่แย่งมาอยู่ข้างหน้า ต้องยอมรับความจริงว่า เรามีเสน่ห์ต้องไปอยู่หลังร้าน นี่คือบุญนิยม ทำให้เกิดความสมดุล ให้เกิดบริบูรณ์

๖. สโตร์ ยังใช้ผักจากตลาด ขาดอาสาสมัครประจำสโตร์และคนหนุ่มมาช่วยยกของหนัก และเข็นของ ถ้ามีตัวแทนกลาง มาเบิกของ ให้แต่ละร้านๆ จะทำให้ประหยัดเวลาและแรงงาน

บุญญาวุธหมายเลข ๒ ยืนหยัดมาถึง ๒๕ ปี และจะก้าวต่อไปอย่างมั่นคง เป็นทุนทางสังคม ที่ชาวอโศกร่วมกันสร้าง เพื่อประกาศ ให้โลกรู้ว่า บุคคลที่นำคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ไปประพฤติปฏิบัตินั้น สามารถเปลี่ยนแปลงตนเอง จนถึงจิตวิญญาณ สามารถเสียสละทั้งแรงกาย และทรัพย์สิน โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆกลับคืนมาได้อย่างแท้จริง เพราะเหล่านี้คือ ทรัพย์แท้ ที่จะติดตัวข้ามชาติ... ตลอดไป ที่จะต้องกล่าวถึง คือทีมงานอาสาสมัครแขนเขียว หรืออสบ. (อาสาสมัครบุญนิยม) ที่คอยช่วยดูแล ประสานกับ หน่วยงานต่างๆ ทำให้งานครั้งนี้ ดำเนินไป ด้วยความราบรื่น และในงานนี้ เป็นวันครบรอบ ๑ ปี ของทีมงานอสบ. ที่คอยช่วยเหลือ กิจการงานต่างๆ มาโดยตลอด

ขอส่งความสุขในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ด้วยคำเตือนจากพ่อท่านว่า

"......ในปีนี้ ถ้าผู้ที่ได้มางานนี้ได้ฟังธรรมะนี้ แม้ใครไม่ได้มางานนี้ด้วยวิบากใดก็ตาม ได้เอาเท็ป ม้วนนี้ไปฟัง ก็สำนึกให้ดี สังวรให้ดี ตั้งใจให้ดี ว่าเราเองเราควรจะเป็นคนที่เป็น ลูกพระพุทธเจ้า เป็นคนที่จะเดินไป ในทางที่ พระพุทธเจ้าพาเดิน สงสัยอะไรอีก คุณเป็นพุทธแท้หรือเปล่า มีปัญญาเท่าไหร่ พยายามตรวจสอบ ปัญญาที่ว่านี้ปัญญาไปหาเงิน ปัญญาไปแข่งขัน โลกเขานั้นน่ะ อาตมาว่า พักได้แล้ว หยุดได้แล้วสำหรับคนที่ควรหยุด แต่คนที่ยังขาดแคลน คนที่ยังมีวิบากมากอยู่ ก็แล้วไป อาตมาคงช่วยได้ยาก วิบากใครวิบากมัน วันนี้อาตมา ช่วยคนที่จะพัฒนาให้เป็นผู้ที่หลุดพ้นได้ ไม่ใช่ไปช่วยคนที่ยังมีวิบากหนัก อาตมาช่วยคน ที่มีวิบาก หนักไม่ไหว ช่วยคนที่มีวิบากไม่หนัก สามารถที่จะทำตนให้หลุดพ้นมาช่วยคนอื่น

เพราะฉะนั้นคนที่ช่วยตนเองก็ไม่รอดก็รับบาปไปก่อน รับวิบากไปก่อน คนที่ช่วยตัวเองรอด สามารถที่จะทำให้ตนเอง พ้นไปได้ จงทำ เมื่อเราช่วยตนเองได้แล้ว พ้นภาระ พ้นวิบาก เราก็จะมาช่วยคนอื่นได้ คนเราต้องเกิดมาช่วยคนอื่น ช่วยตนเองได้รอด แล้วมาช่วยคนอื่น

ช่วยตัวเองก็ไม่รอด นอกจากช่วยตัวเองไม่รอดแล้วยังเอาเปรียบคนอื่น อยู่บนหลังคนอื่น เป็นคนที่เอาเปรียบคนอื่น นี่แหละ ลัทธิทุนนิยม เอาเปรียบคนอื่นทั้งสิ้น ก่อบาปทั้งสิ้น ยังแย่งชิง อยู่ทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้เป็นความลึกซึ้ง ไปไตร่ตรองตรวจสอบเอาเอง ก็แล้วกัน

เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อว่าเราไม่ศึกษาสัจธรรมพวกนี้ เราจะไม่รู้เลยว่าเราก่อบาปอยู่ เพราะฉะนั้น อย่าไปสะสมบาปอีก บาปที่ยังมีอยู่ ยังเป็นอดีตที่เรามีวิบากบาปอดีตที่ไม่ได้มาในชาตินี้ ยังไม่ได้ส่งผล ยังเป็นหมาไล่เนื้อ ตามอยู่ตอนนี้ มันยังวิ่งกวดไล่ๆๆอยู่ วิบากบาป ยังไล่เป็น หมาไล่เนื้อ มันยังไม่ถึง บางทีวันนี้คุณยังไม่ถึง หมาไล่เนื้อไล่มาถึงพรุ่งนี้ ระวัง หมาไล่เนื้อ มันวิ่งไล่ตามคุณอยู่ทุกคน

เพราะฉะนั้นวิบากบาปมันวิ่งไล่มาถึงวันนี้ ออกผล ถึงพรุ่งนี้ก็ออกผล ถึงมะรืนนี้ก็ออกผล นี้มันวิ่ง ยังไม่ทันคุณ เท่านั้นเอง โบราณาจารย์ ท่านว่าไว้ดี ท่านเปรียบเหมือนหมาไล่เนื้อ วิบากบาป มันเหมือนหมาไล่เนื้อ มันวิ่งกวดเหยื่อ กัดไม่ปล่อยนะ พวกวิบากบาปนี้

วิบากดีนั้นอาศัย ไม่ค่อยจะเหมือนหมาไล่เนื้อ มันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคนที่โกรธอาฆาต กับคนที่ดีนั้น คนดีอยากจะทำความดี มันไม่แรงเหมือนคนโกรธอาฆาต ที่จะทำร้ายหรอก คนโกรธอาฆาตทำร้ายนี้มันแรง แล้วมันต้องเอา มันมุ่งทำทันที ส่วนคนทำดี คนที่จะไปช่วยคนดี คนที่จะไปช่วยคนทำดี ไม่มุ่งแรงเท่า คุณคิดออก คุณจะต้องรู้อยู่ทุกคน เพราะมันไม่ทุกข์ร้อน คนจะไปช่วยคนดี เขาไม่ทุกข์ร้อน แล้วมันไม่แรงร้าย มันมีแต่แรงดี เพราะฉะนั้น ดีไม่เป็นไร ดีอยู่กับเรา ไม่ใช่ชั่ว วินาทีหนึ่ง มันก็ไม่เสีย มันไม่เจ็บปวด มันไม่โหดอะไร แต่ร้ายมันไม่ได้ มันใจร้อน หรือว่ามันแรง มันจะต้องเข่นฆ่า มันจะต้องโหดให้มันหมดไป จะต้องให้ทันตาแล้วแต่ นี่คือ ลักษณะของมัน เพราะฉะนั้นนี่เป็นธรรมชาติ หรือธรรมะมันจะเป็นอย่างนี้ เราอย่าประมาท พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้า สรุปรวมลงแล้วอย่าประมาท ประมาทไม่ได้ เมื่อรู้แล้วว่านี่ดี พยายามทำให้ได้ทันที นี่ไม่ดีพยายามเลิกให้ได้ทันที อย่าประมาท อย่าผัดวัน ประกันพรุ่ง อย่าช้า ได้ดีเร็วๆ หรือได้อรหันต์เร็วๆ มันไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ ไอ้ที่เลวรอเอาไว้ ไม่เป็นไร เราชั่วไปอีกวินาทีหนึ่งก็ได้ ชั่วไปอีกสักเดือนหนึ่งก็ได้ โฮ้! น่ารังเกียจจัง มันน่ารังเกียจใช่ไหม เป็นความคิด ที่น่ารังเกียจ เป็นความคิดที่น่าขยะแขยง ความคิดที่ไม่พัฒนาเลย ไม่เป็นไรหรอก มันจะชั่วไปอย่างนี้อีกสักเดือน อีกสักชาตินึง โถโถโถ ไม่รู้จะพูดยังไงแล้ว ไม่เป็นไรหรอก ชาตินี้ชั่วไปอีกสักชาตินึง เรามันไม่ดี เรามันเลวแล้ว เรามันมีวิบากเลวมาแล้ว จำนนแล้ว คนนั้นคือ คนที่เน่าลูกเดียว ไม่มีทางที่จะพัฒนาอะไรได้เลย ถ้าคนทำความรู้สึก ทำความเข้าใจให้แก่ตนเอง สรุปตนเองแบบนั้น เราต้องพากเพียร เราต้องก้าวหน้า เราต้องเจริญ เราต้องเลิกสิ่งที่ไม่ดีให้ได้ จะเป็นตายร้ายดี คนนี่แหละทำดี เราเป็นคนคนหนึ่ง เราต้องทำให้ได้ ต้องพากเพียรเลิก ในสิ่งที่ควรเลิกให้ได้ ทำดีนี้ให้มันดีให้สำเร็จให้แข็งแรง....ก็ขอให้ทุกคนตั้งใจ เกิดมาเป็นคน อย่าให้โมฆะ ...."

- ลูกอโศก -

สารอโศก อันดับที่ ๒๖๗ ธันวาคม ๒๕๔๖