หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
เพื่อชุมชนที่ยั่งยืน หรือ วัฏสงสารทุนนิยมโลก ? ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์
โครงการปริญญาเอกไทศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่คุ้นหูคุ้นตากันดีจากสื่อด้านต่างๆ ที่รัฐบาล ภายใต้การนำ ของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เร่งประชาสัมพันธ์ เพื่อขยายตลาด ให้แก่สินค้าของชุมชน โดยเฉพาะสื่อวิทยุ บางรายการมีการสัมภาษณ์ตัวแทนชาวบ้านที่ผลิตสินค้า OTOP (เฉพาะ) ที่ได้รับความนิยม และแน่นอนว่าเมื่อได้รับความนิยม สิ่งที่ตามมาคือผลิตไม่ทัน หรือวัตถุดิบไม่เพียงพอ ผู้เขียนรู้สึกสะดุดทุกครั้งที่ผู้จัดรายการวิทยุจะต้องถามว่า จะขยาย การผลิตอีกไหม จะขยายตลาดอีกไหม ซึ่งตัวแทนชาวบ้านบางคนตอบทันทีว่า จะขยายตลาด และการผลิต แต่บางคนก็อ้ำอึ้งเพราะไม่ได้คิดมาก่อน ในที่สุดก็ตอบว่า อยากจะขยายเช่นกัน จนผู้เขียนเกิดความสงสัยว่า ผู้ผลิต "จำเป็นต้อง" ขยายการผลิต เพื่อให้เพียงพอ กับความต้องการ ของตลาดเสมอไป "จริงหรือ?" ในที่นี้ เราจะไม่ถกเถียงกันว่าโครงการนี้ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด ผลประโยชน์ตกอยู่ กับใคร เพราะมีผู้วิพากษ์ (Critical) กันมากแล้ว แต่เราจะมาค้นหารากเหง้าความคิดของโครงการนี้ ผลได้ผลเสีย จากการขยายการผลิตอย่างไม่มีขีดจำกัด เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการ ของตลาด ให้เพียงพอ และบทบาทของภาคต่างๆ ที่จะมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศ อย่างแท้จริง ผ่านโครงการ OTOP รากเหง้าความคิดของโครงการ OTOP มี ๒ ประเด็น คือ วิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ.๒๕๔๐ และ ความตื่นตัว ในเรื่อง "ทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง" ดังนี้โครงการ OTOP เกิดขึ้นใน พ.ศ.๒๕๔๔ ในห้วงเวลา ที่ประเทศชาติ กำลังเผชิญปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ ต่อเนื่องมาจากวิกฤติ พ.ศ.๒๕๔๐ ที่คนไทยยังติดตาตรึงใจ กับสภาพการตกเป็น ทาสกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ; IMF สาเหตุสำคัญ ของวิกฤติ สรุปได้ว่าเพราะเศรษฐกิจของประเทศ ผูกโยงเข้ากับเศรษฐกิจ ทุนนิยมโลก จนกระทั่ง "ตลาด" ครอบงำความคิด วิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ประชาชนทุกระดับประสบปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะประชาชน ระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ ของประเทศ ถูกรุมเร้าด้วยปัญหา ความยากจน ที่สั่งสมมา นับแต่เริ่มการพัฒนาประเทศ เพื่อตอบสนองตลาด ทุนนิยมโลก และถูกซ้ำเติม ด้วยวิกฤติ เศรษฐกิจ ที่เกิดจากน้ำมือ ของกลุ่มชน ชั้นนำ อย่างไรก็ตาม ประชาชนระดับรากหญ้า ที่ยังคงอาศัยอยู่ ในชุมชนชนบท กลับเป็นกลุ่มคน ที่สามารถปรับตัว และรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจได้ ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่นำมาใช้กับ ทรัพยากรธรรมชาติ เท่าที่ยังพอมีในชุมชน ความช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งกันและกัน หรือเรียกว่า อยู่ได้ด้วย "ทุนทางสังคม" มิใช่ทุนที่เป็นเงินตรา อีกประเด็นหนึ่ง คือ ในแวดวงวิชาการและชาวบ้านเริ่มตื่นตัวกับ "ทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นแนวการดำเนินชีวิตที่เน้นทางสายกลาง การกระจาย ความเสี่ยง ความไม่ประมาท และไม่โลภ มีขั้นตอน ๓ ขั้น คือ ขั้นแรก พึ่งตนเองให้ได้ทั้งด้าน เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ โดยการทำการเกษตรแบบผสมผสาน แล้วจึงไปสู่ ขั้นที่สอง คือ การแลกเปลี่ยนสินค้า ที่ผลิตได้ กับท้องถิ่นใกล้เคียง หากยังมีผลผลิตเหลือจึงไปสู่ ขั้นที่สาม คือการส่งสินค้าไปสู่ตลาดภายนอก และต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ให้ยึดมั่นที่การพี่งตนเอง โดยตลอด หลายๆพื้นที่ได้ทดลองนำ "ทฤษฎีใหม่" ไปปฏิบัติจริง และประสบความสำเร็จ สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลน ความต้องการขั้นพื้นฐาน ได้อย่างยั่งยืน มีความพอดี ทั้งแก่ตนเอง และชุมชน ได้รับผลกระทบน้อยมาก จากวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะพึ่งตนเองได้ อย่างพอเพียง ไม่ต้องพึ่งตลาดภายนอก จากสถานการณ์ที่คนส่วนใหญ่เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ ในขณะที่ชุมชนบางแห่งพึ่งตนเองได้ จากทุนทางสังคม และเศรษฐกิจพอเพียง "รัฐบาลจึงได้ประกาศสงคราม กับความยากจน โดยได้แถลงนโยบาย ต่อรัฐสภาว่า จะจัดให้มีโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ แต่ละชุมชน ได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาใช้ในการพัฒนาสินค้า... สนับสนุนกระบวนการ พัฒนาท้องถิ่น สร้างชุมชน ให้เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างรายได้ ด้วยการนำ ทรัพยากร ภูมิปัญญาในท้องถิ่น มาพัฒนา เป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ มีจุดเด่นและมูลค่าเพิ่ม เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศ (ข้อมูลจาก ThaiTambon.com)" อนึ่ง การที่ชุมชนจะเข้มแข็งพึ่งตนเองได้นั้น ต้องอาศัย "ทุนทางสังคม" ซึ่งประกอบด้วย ภูมิปัญญา ท้องถิ่น ทรัพยากรหลากหลาย ที่เหมาะสมในแต่ละท้องที่ ความสามัคคีมีน้ำใจ ช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน ของคนในชุมชน มิใช่ "ทุนที่เป็นเงินตรา" เพียงอย่างเดียว และหลักการสำคัญ ที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง คือ "การพึ่งตนเองได้" นั่นหมายถึง การทำกิจกรรมใดๆ รวมทั้งการผลิตสินค้า จะต้องพึ่งตนเองให้ได้ ในชุมชน คือ ใช้วัตถุดิบ ในท้องที่ของชุมชน ใช้ทั้งพลังสมอง พลังแรงงาน ของชุมชน และผลิตเพื่อใช้หรือแลกเปลี่ยน หรือ จำหน่ายภายในชุมชน กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ไม่ต้องพึ่งวัตถุดิบ แรงงาน และตลาดภายนอก เพื่อความไม่ประมาท จากความไม่แน่นอน ของสังคมภายนอก เมื่อพึ่งตนเองได้แล้ว ชุมชนยังมีกำลัง ผลิตเหลือ จึงค่อยขาย หรือแลกเปลี่ยน ให้กับตลาดภายนอกชุมชน ดังนั้น การที่ชุมชนผู้ผลิตสินค้า OTOP จะต้องถูกกระตุ้นให้ขยายการผลิต ขยายตลาด ออกไปเรื่อยๆ นั้น จึงไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อขยายตลาดมาก จนเกินความสามารถการผลิตได้ของชุมชน ก็ต้องใช้ วัตถุดิบ จากภายนอก หรือว่าจ้างแรงงานภายนอก อีกทั้งยังอาจต้องจ้างผู้จัดการ ที่จะสามารถ ควบคุม การผลิต ขนาดใหญ่ได้ ต้นทุนก็สูงขึ้น จึงต้องขยายตลาดภายนอกมากขึ้น การขยายตลาด ไปไกลๆ หมายความถึง อายุผลิตภัณฑ์ จะต้องยาวนานมากขึ้น หนีไม่พ้นต้องใช้สารเคมีเข้าช่วย ไม่ว่าจะเป็นสารกันบูด สารให้ดูขาวสวย น้ำตาลอาจจะใช้ไม่ได้เพราะเป็นอาหารที่ดี ของเชื้อ จุลินทรีย์ ต้องเปลี่ยนเป็นสารเคมี ชนิดอื่น บรรจุภัณฑ์ก็ต้องป้องกันอากาศได้นานมากขึ้น บรรจุภัณฑ์ หรือกรรมวิธีการผลิตบางชนิด ต้องนำเข้า จากต่างประเทศ ซึ่งตามมาด้วย เครื่องจักร และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ต้นทุนก็สูงขึ้นอีก จึงต้องผลิตมากขึ้นอีก เพื่อให้ได้ปริมาณ ที่ประหยัด ที่สุด (economic size) เข้าสู่วงเวียนของ ระบบทุนนิยม จำเป็นต้องขยายตลาดมากขึ้น เพื่อกระจายสินค้าที่ผลิตออกมามาก กลายเป็นวัฏสงสารไปเรื่อยๆ ไม่สามารถ "พึ่งตนเอง" ได้อีกต่อไป แต่เป็นการ "พึ่งตลาด" เริ่มจากพึ่งเพียงเล็กน้อย ไปสู่การพึ่งภายนอก ทั้งระบบ ในที่สุดก็ถูกดึงให้ต้องพึ่งระบบทุนนิยมโลก เมื่อเศรษฐกิจโลกผันผวน เศรษฐกิจประเทศไทย ก็พังครืน ตามไปด้วย เช่นเดียวกับวิกฤติเศรษฐกิจของไทยที่เราประสบมาแล้ว หากทุกชุมชนยึดหลัก "พึ่งตนเอง" ให้มั่นคงไว้ ไม่โลภ แม้ตลาดจะต้องการสินค้าของเรา มากกว่า กำลังการผลิต ที่มีในชุมชน เราก็ผลิตให้เต็มที่ เท่าที่มีกำลังผลิตในชุมชน การดำเนินกิจกรรม ทางเศรษฐกิจ ก็จะเป็นไปด้วยจิตใจ ที่ปลอดโปร่ง ไม่เครียด ไม่ต้องเป็นโรคหัวใจ เป็นโรคมะเร็ง เป็นโรคเส้นสมองแตก และอีกสารพัดโรค ที่เศรษฐีร้อยพันล้านเขาเป็นทุกข์อยู่ในขณะนี้ นอกจากนั้น ยังเป็นการส่งเสริม คุณค่าของมนุษย์ให้สูงกว่าคุณค่าของเงินตรา เพราะเมื่อเราผลิตสินค้าเท่าที่เรามีกำลังผลิต จึงเป็นการเปิดโอกาส ให้ชุมชนอื่นใช้พลังสมอง พลังปัญญาของท้องถิ่น คิดค้นพัฒนาผลิตสินค้า ของตนได้ มิใช่ว่าทุกชุมชนจะต้องหันมาผลิต วัตถุดิบ หรือเป็นเพียงแรงงานรับจ้างเพียงเพื่อ ให้ได้เงินเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ชุมชนนั้นๆ ไม่ได้พึ่งตนเอง แต่ต้องไปพึ่งชุมชนที่เป็นผู้จ้าง สำหรับบางชุมชนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรกับสินค้าของตนเอง อาจจะเนื่องด้วย รูปลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ หรือคุณภาพ นี่เป็นโอกาสที่ภาคต่างๆของสังคม จะมีส่วนร่วม พัฒนาประเทศ อย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น สถาบันการศึกษาทั้งระดับโรงเรียนประถม มัธยม สายอาชีพ และสถาบันอุดมศึกษา จำเป็นต้องเป็น หน่วยที่ทำการค้นคว้าวิจัยร่วมกับชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม และวัตถุดิบ ที่มีในท้องถิ่น เป็นฐานเริ่มต้น บูรณาการกับความรู้ สมัยใหม่ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น ทั้งด้านเทคนิคการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา ให้ชุมชนมีส่วนร่วม ในกระบวนการ พัฒนาความรู้ทุกขั้นตอน รู้ปัญหาและวิธี การแก้ปัญหา ต่างๆ จนกระทั่ง เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นต่อไป ชุมชนอาจใช้เครื่องมืออื่นๆ ที่จะเสริมพลัง ความเข้มแข็ง ของชุมชน เช่น ระบบแลกเปลี่ยนชุมชน อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ละเลยการทำเกษตร แบบผสมผสาน เพื่อพึ่งตนเองได้ หน่วยงานภาครัฐจะต้องเป็นผู้สนับสนุนเกื้อกูล ต่อพลังความเข้มแข็งของชุมชน มิใช่เป็นผู้ขัดขวาง โดยยึดแต่เพียงตัวบทกฎหมาย การที่ประเทศจะพัฒนาไปสู่การเป็น "ครัวโลก" ได้นั้น มิใช่การส่งเสริมเกษตรกรรม เพื่อขยายตลาด ส่งออก เพียงเพื่อ หวังเงินตราจากต่างประเทศ แต่ "จำเป็นต้อง" สนับสนุนให้ชุมชนทุกชุมชน พึ่งตนเองได้ "จริงๆ" เพื่อการพัฒนา อย่างยั่งยืน. สารอโศก
อันดับที่ ๒๖๗ ธันวาคม ๒๕๔๖
|