เรียงวลีกวีธรรม

อีแร้ง

"แร้ง" เป็นนกขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง หลายคนคงคุ้นกับชื่อนกชนิดนี้ดี แต่เด็กรุ่นปัจจุบัน ไม่แน่นัก ว่าจะรู้จัก เมื่อราว ๓๐ ปีที่แล้ว เราจะพบเห็นมันได้ง่ายและมากมาย ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย

แต่ปัจจุบันนี้หาดูได้ยากแล้ว ทราบว่ากำลังจะสูญพันธุ์ไป โดยเฉพาะในประเทศไทย มันเป็นสัตว์ ที่ดูไม่ค่อยน่ารักนัก ค่อนข้างจะอัปลักษณ์ซะมากกว่า คนไทยมักจะชอบเรียก มันว่า "อีแร้ง" ยิ่งเป็นสัตว์ที่ชอบกินซากสัตว์ ที่ตายแล้วด้วย ทำให้ภาพลักษณ์ของอีแร้ง ยิ่งดูน่ารังเกียจ น่าขยะแขยง มากยิ่งขึ้น

แต่หากเรามองทะลุเปลือกนอกของมันเข้าไปให้ลึกซึ้ง เราจะเห็นว่า "อีแร้ง" เป็นสัตว์ที่ ไม่เบียดเบียน หรือรุกรานใคร

แม้มันจะกินเนื้อสัตว์ แต่ก็เป็นสัตว์ที่ตายแล้วเท่านั้น จะว่าไปก็คือ เนื้อบังสุกุล (เนื้อคลุกฝุ่น ที่เขาทิ้งแล้ว) นั่นเอง มีซากสัตว์ที่ไหน มันจัดการให้เรียบร้อย ดูเหมือนธรรมชาติ ส่งให้มาเป็น หน่วยเทศบาล กำจัดซากศพสัตว์ต่างๆโดยเฉพาะ อีแร้งจึงเป็นสัตว์ที่ต้องมองให้ลึกซึ้ง จึงจะเห็นความดีงาม และมีประโยชน์ของมัน

พวกเรามักจะได้ยินพ่อท่านพูดเปรียบเทียบชาวอโศกหรือตัวท่านเองว่า เหมือนพวกอีแร้ง หรือพญาแร้ง ด้วยเหตุว่า ภาพลักษณ์ภายนอกของชาวอโศก อาจจะดูไม่ค่อยน่ารัก น่าชมเท่าไหร่นัก ยิ่งมีค่านิยมที่ทวนกระแสสังคม ยิ่งดูน่ารังเกียจ ในสายตาของสังคม (หรือยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมเท่าไหร่นัก) เฉกเช่นกับอีแร้ง แต่ถ้าหากใครสามารถ มองทะลุเปลือกนอก จนเห็นเนื้อในได้ จึงจะมองเห็นความดีงามของอโศก

"อีแร้ง" จึงเป็นภาพลักษณ์สะท้อนชาวอโศกออกมาอย่างกลมกลืนลงตัวชัดเจน ในสภาวการณ์ ปัจจุบัน พ่อท่านในฐานะผู้นำชาวอโศก จึงเป็นเหมือนกัน "พญาแร้ง" ที่สังคมกำลังจับตามอง แม้จะมองเห็น ความดีอยู่บ้าง แต่ยังไม่กล้ายอมรับ

ด้วยเหตุนี้ จึงได้กำเนิดรูปปั้นพญาแร้งตัวมหึมาขึ้น โดยความคิดของท่านคมคิด ทันตภาโว ที่รับหน้าที่ ปั้นต้นไม้ใหญ่มหึมา ๒ ต้น หน้าเฮือนศูนย์สูญที่บ้านราชฯ พอทำเสร็จแล้ว มันดูโล่งๆ ท่านก็เลยคิดว่า น่าจะมีอีแร้งเกาะต้นไม้ใหญ่ เลยปรึกษาพ่อท่าน พ่อท่านเห็นด้วย ให้ทีมงานพุทธศิลป์ สันติอโศก ช่วยจัดทำ ประกอบด้วย สมณะตถภาโว คุณแสงศิลป์ พระเข็มเหล็ก และคุณตำนานศิลป์ ร่วมกันปั้นขึ้น เพื่อมอบเป็นของขวัญให้พ่อท่าน ให้ทันงาน ปีใหม่ '๔๗ โดยจะหล่อด้วยทองเหลือง ติดไว้บนต้นไม้ใหญ่ หน้าเฮือนศูนย์สูญ ๑ ตัว และ จะติดไว้ที่ สันติอโศกอีก ๑ ตัว ส่วนที่พุทธสถานหรือชุมชนอื่นๆ จะติดตั้งหรือไม่ อยู่ที่ดุลพินิจ ของพญาแร้งแล้วละ

ก็หวังว่ารูปปั้นพญาแร้งจะได้เป็นเครื่องหมายเตือนสติ ลูกแร้งทั้งหลาย จะได้เจียมเนื้อ เจียมตัว ไม่หลงลืมตัว ว่าเราเป็นเพียงอีแร้งของสังคม ก้มหน้าก้มตา ทำดีต่อไปอย่าได้ท้อ จนกว่าสังคม เขาจะมองเห็นความสง่างาม ของพญาแร้งกับฝูงอีแร้งนั่นแหละ

- ลูกแร้ง -
๑๒ ธ.ค. ๔๖



สวนสันดาน
ฝึกอ่อนน้อมยอมทนให้คนข่ม
แก้เงื่อนปมบ่มบาปเคยหาบหาม
เปลี่ยนลีลาสาไถย์นิสัยทราม
มางดงามท่าทีคนมีคุณ
ย้ำจุดยืนพื้นฐานการนบไหว้
เป็นบันไดกิริยามาเกื้อหนุน
สมทบถ้อยพาทีมีการุณ
เพื่อเป็นทุนแท้แท้ที่แน่นอน
กายวาจาค่าล้ำในกรรมก่อ
และสืบต่อถึงใจไม่ย่อหย่อน
เพียรฝึกฝืนยืนยันเป็นขั้นตอน
คงถอดถอนสันดานได้คลานคลาย
ยอมง่ายง่ายหลายเรื่องให้เนืองนิจ
และน้อมจิตให้เย็นเป็นจุดหมาย
ยอมให้ยิ่งจริงให้จบพบสบาย
จะเวียนว่ายกี่ชาติองอาจจริง
- อ่อนฌาน ญาณเยาว์ -


 

"อาริยะ" คือ "ยอม"
มีผู้บอก ตอกย้ำ พึงจำไว้
ถ้า"ยอม"ได้ ด้วยจิต ไร้อิสสา
"อาริยะ" เด่นชัด เต็มอัตรา
เพียรนำพา จิตน้อม ให้"ยอม"เป็น
ยอมหยุดอยู่ ดูเขา ว่าเราได้
ยอมปวดใจ เจ็บกาย คลายทุกข์เข็ญ
ยอมลำบาก ตรากตรำ แสนลำเค็ญ
ยอมจนเห็น หนทาง เพื่อสร้างดี
ยอมยุ่งยาก บากหน้า เพื่อมาสร้าง
ยอมปล่อยวาง ตัวตน ให้พ้นผี
ยอมทุกสิ่ง ของข้าฯ ประดามี
ยอมแม้พลี ชีพให้ ด้วยใจคลาย
ขอผลบุญ หนุนนำ ให้สำเร็จ
ได้พบ"เพชร" สดใส ดั่งใจหมาย
ขอบคุณคำ เตือนติง ญาติหญิงชาย
ช่วยคลี่คลาย ละชั่ว ยึดตัวตน
- นายหลับ -

สารอโศก อันดับที่ ๒๖๗ ธันวาคม ๒๕๔๖