อำลาคุณลุงไพบูลย์
ภาคภูมิ นักรบทวนกระแส แห่งกองทัพพุทธธรรม คุณลุงไพบูลย์ ภาคภูมิของหลานๆในชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย สันติอโศก เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๐ กันยายน ปีชวด พ.ศ.๒๔๖๗ ปลายรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่จังหวัดมุกดาหาร ภาคอีสาน ในวัยเด็ก ได้รับการศึกษาในโรงเรียนทั่วไปเพียงแค่ชั้นประถมศึกษาตอนต้น ต่อมาได้บรรพชา เป็นสามเณร และอุปสมบทเป็นพระภิกษุตามลำดับ ได้ศึกษาทางธรรม ด้านพระปริยัติธรรม จนจบเปรียญธรรม ๘ ประโยค ต่อมาภายหลังได้ลาสิกขาบทมาสู่เพศฆราวาส แล้วสมรสกับ คุณป้าเปล่งศรี ภาคภูมิ มีบุตร-ธิดารวมทั้งสิ้น ๕ คน บุตรบุญธรรม ๑ คน หลาน ๑๐ คน เหลน ๓ คน และโหลน ๑ คน ทำงาน เป็นพนักงานขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุ (ที่เรียกกันว่า ร.ส.พ.) ตั้งแต่วัยหนุ่ม จนเกษียณอายุ ในปีพ.ศ.๒๕๒๗ ตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ทางโลก คุณลุงได้ให้ความอุปการะ เลี้ยงดูบุตร-ธิดา และหลานๆ คอยดูแลห่วงใยครอบครัว ได้ทำหน้าที่สามีและพ่อ โดยสร้างปึกแผ่น ในครอบครัว ให้มีความมั่นคงพอสมควร รู้จักหมู่กลุ่มชาวอโศก เมื่ออายุประมาณ ๕๘ ปี มีความศรัทธาเลื่อมใส ในแนวทาง การปฏิบัติธรรม ของพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ และหมู่กลุ่มชาวอโศกมาก ได้ฟังเทศน์ และอ่านหนังสือธรรมะ จนเริ่มฝึกตน ในแนวทางการปฏิบัติธรรม ของชาวอโศก เกิดความเข้าใจการปฏิบัติธรรมในแนวมรรคองค์ ๘ แม้ขณะที่ ยังทำงานอยู่ที่ร.ส.พ. คุณลุงไพบูลย์ก็จะหาโอกาสมาเป็นอาสาสมัคร ที่ชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย ที่ตลาด อตก.อยู่เป็นประจำ งานที่ทำ เช่น เก็บถ้วยจานชามตามโต๊ะ เช็ดโต๊ะ ให้สะอาด เราจะได้เห็น บุรุษสูงอายุ แต่งกายเรียบร้อย สะอาดประณีต ให้บริการลูกค้า ด้วยความอ่อนน้อม และยิ้มแย้มแจ่มใส อยู่เสมอ เมื่อเกษียณอายุในปี ๒๕๒๗ คุณลุงไพบูลย์ได้ขอลาครอบครัว เพื่อมาอยู่ปฏิบัติธรรม กับหมู่กลุ่ม ชาวอโศก อย่างเต็มตัว ได้สมัครเป็น อารามิกหรือคนวัด มาเป็น คุณลุงไพบูลย์ ของหลานๆ พี่ๆ น้องๆ ที่มาปฏิบัติธรรมด้วยกัน สู่ครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น แต่ก็ไม่ละทิ้งสารทุกข์สุกดิบ ของลูกหลานทางบ้าน คอยหมั่น ไปเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ อยู่เสมอๆ คุณลุงทำหน้าที่คอยรับสมัครสมาชิกชมรมมังสวิรัติฯ ประจำอยู่ที่ชมร. อตก. และย้ายมาอยู่ฝั่งตรงข้าม อตก. ในปี ๒๕๒๙ ตลอดจนแนะนำธรรมะขั้นพื้นฐาน ให้ผู้ที่มาเป็นสมาชิก รวมทั้งแจกหนังสือ ดอกหญ้า ให้เป็นประจำ ตลอดระยะเวลา ๙ ปี ที่รับสมัครสมาชิก คุณลุงได้รับสมาชิกเป็นจำนวนกว่าแสนคน สมาชิกชมรม หลายท่าน จะรักและเคารพคุณลุงเหมือนกับเป็นญาติแท้ๆของตน และคุณลุงก็ยังรับ เป็นที่ปรึกษา ให้แก่ลูกหลานยามมีความทุกข์ใจด้วยความเป็นพี่เป็นน้องอย่างจริงใจ ไม่หวังสิ่งตอบแทน เมื่อชมรมมังสวิรัติฯย้ายสถานที่มาอยู่ที่ด้านหน้าชุมชนสันติอโศกในปี ๒๕๓๖ การรับสมัครสมาชิก ชมรมฯ ได้ยุติไป เนื่องจากสถานที่ไม่อำนวย คุณลุงได้ช่วยงาน ในด้านปอกเห็ด เด็ดผัก ปอกกระเทียม ช่วยเตรียมวัตถุดิบให้แก่แม่ครัวที่จะปรุงอาหาร อีกทั้งยังได้เคยช่วยงาน ท่านสมณะชนะผี ชิตมาโร ที่ฝ่ายธรรมปฏิกรรม ทำงาน ด้านการจัดส่ง หนังสือธรรมะ สู่ผู้อ่านด้วย คุณลุงได้ร่วมทำงานในเส้นทางบุญนิยมนี้ เป็นเวลาร่วม ๒๐ ปี ด้วยความต่อเนื่อง มั่นคง ทำงานทุกงาน ด้วยความมี อิทธิบาท ๔ เป็นอย่างยิ่ง มีความขวนขวายสูง มีความเต็มใจและรับผิดชอบหน้าที่ เป็นอย่างดี ทำงานเสียสละ ไม่รับเงินใดๆ เป็นค่าตอบแทน นับเป็นแบบอย่างอันดียิ่ง ของลูกหลาน นอกจากนี้ ยังเป็นตัวอย่าง ของผู้ที่มีสาราณียธรรม ๖ เพื่อพระพุทธพจน์ ๗ มีเมตตา กรุณาต่อผู้ร่วม ปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ทุกเพศทุกวัย คุณลุงจะมีรอยยิ้ม มีน้ำใจ มีความอ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่ถือตัว มีจิตปรารถนาดีต่อผู้อื่น มีจิตอนุโมทนาเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี และ มีความเป็นมิตรแท้ มอบให้แก่ผู้อื่นอยู่เสมอ คุณลุงป่วยเป็นโรคหัวใจเมื่อประมาณปี๒๕๓๘ ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาตัว แต่คุณลุง ก็ไม่ยอมละทิ้งหน้าที่การงาน พยายามทำอย่างดีที่สุด คอยดูแลช่วยเหลือตนเองทุกด้าน มีความเกรงใจ ลูกหลาน ไม่อยากเป็นภาระของผู้อื่น แม้จะเป็นผู้ป่วย แต่คุณลุงก็ยังมีอารมณ์ดี และยังคงมีน้ำใจ ช่วยเหลือผู้อื่น ตลอดมา ไม่หยุดที่จะทำความดี อายุไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำความดีสำหรับผู้มีจิตใจมั่นคง คุณลุงไพบูลย์ นักรบทวนกระแสแห่งกองทัพพุทธธรรม ได้จากไปอย่างสงบ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ มกราคม .ศ.๒๕๔๗ ด้วย อาการติดเชื้อในกระแสเลือด และภาวะหัวใจล้มเหลว สิริรวมอายุได้ ๗๙ ปี ๓ เดือน ๒๘ วัน ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้สั่งสมคุณความดีไว้มิใช่น้อย คุณลุงจะเคยพูด ให้ลูกหลานที่ใกล้ชิด ฟังอยู่เสมอว่า ลุงเสียดายที่มารู้จักวัดเมื่ออายุมากแล้ว เนื่องจากคุณลุง มีความศรัทธา ในเส้นทางธรรมนี้มาก คุณลุงเคยพูดว่า หากชาติหน้า ได้เกิดมาอีก ก็อยากจะขอ มาอยู่กับหมู่กลุ่ม ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ได้มาฝึกปฏิบัติธรรมอีก ทุกชาติไป ชีวีนี้นิดน้อยหนอพ่อแม่เอ๋ย กาลเวลาล่วงเลยรุดดุจปีกฝัน - ก้อย ชะรอยบุญ - สารอโศก
อันดับที่ ๒๖๗ ธันวาคม ๒๕๔๖
|