เดินหน้าย้ำรอย ถอยกลับสู่อดีต

"เดินหน้าย้ำรอย ถอยกลับสู่อดีต" ชื่อนี้เกิดขึ้นในขณะเดินบิณฑบาต วันอังคารที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ไปสายปางมะไฟ หมู่บ้านปางมะไฟ อยู่เส้นทางไปโป่งเดือด โดยเดินจาก พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ ไปถึงปากทางเข้าโป่งเดือด ระยะทางประมาณห้ากิโลเมตรครึ่ง จากปากทาง โป่งเดือดเดินเข้าไปอีก ประมาณ ๒๐๐ เมตร ระยะทางจากภูผาฟ้าน้ำ ถึงหมู่บ้าน ที่จะบิณฑบาต รวมเป็น ๕.๗ กิโลเมตร เดินไปเดินไปกลับก็ ๑๑.๔ กิโลเมตร

ขณะบิณฑบาตก็สำรวมกายสำรวมใจไปด้วย พร้อมทั้งมีการพิจารณาธรรม มีปุพเพนิวาสานุสสติญาณ มีธัมมวิจัย ทบทวนเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น จิตสงบดีมากๆ มีสติ ที่จะตามรู้อิริยาบถ ความเคลื่อนไหวทางกาย และรู้อาการความเคลื่อนไหวภายในจิตใจ โดยเฉพาะ ความรู้สึกนึกคิดที่ปรุงแต่งไปต่างๆนานา ต้องคอยปรับ ให้คิดเป็นเรื่องๆ แม้จะมี เรื่องแทรกแซง เป็นช่วงๆก็ตาม

เกิดความคิดขึ้นมาว่า น่าจะถ่ายทอดเรื่องราวที่คิดในขณะนั้นออกมาเป็นตัวหนังสือ เผื่อคนอื่น จะได้ประโยชน์บ้าง จึงเกิดความคิดขึ้นมาอีก น่าจะตั้งชื่อเรื่องที่จะเขียนว่าอะไรดี ชื่อแรก ที่เกิดขึ้น คือ "ย่ำรอย ถอยกลับอดีต" พอใจระดับหนึ่ง พิจารณาไปพิจารณามา ก็น่าจะเติมคำว่า "เดินหน้า" เข้าไปอีก เป็น "เดินหน้าย่ำรอย ถอยกลับอดีต" เพื่อให้เห็นภาพชัด ขึ้นว่า ไม่ได้ถอยหลังย่ำรอย แต่เป็นการเดินหน้าย่ำรอย ตามแนวทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงค้นพบ แนะนำสั่งสอนไว้ และนำมาถ่ายทอดโดยครูบาอาจารย์ "พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์" ผู้ชี้นำ และพาทำเป็นตัวอย่าง ชื่อเรื่องนี้จึงมีที่มาอย่างนี้

ภูผาฟ้าน้ำดินแดนแห่งความฝัน ฝันอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จริงๆหลายสิ่งไม่เป็นดั่งฝัน ย้อนอดีตไป เมื่อปี ๒๕๓๘ ข้าพเจ้าได้มีโอกาส กลับมาแดนดินถิ่นล้านนา ได้มาพำนักเป็นระยะยาว ในถิ่นอรัญวาสี จวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ มีชื่อที่แสนไพเราะว่า "ดอยแพงค่า หรือ ดอยศิวิไลซ์" ชื่อเป็นทางการว่า "ภูผาฟ้าน้ำ" เป็นสังฆสถานของชาวอโศกแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเป็นพุทธสถานแล้ว

แรกเริ่มเดิมทีในสมัยนั้น ยังไม่มีโซล่าเซลล์ใช้ วัสดุที่ใช้แทนแสงสว่างในครานั้น ก็มีตะเกียง น้ำมันก๊าด ทั้งแบบเป็นกระป๋องหรือแบบมีหลอดแก้วครอบ ซึ่งควันโขมงทุกครั้งเมื่อถูกจุด ถ้าหมุนไส้ตะเกียง ขึ้นมาสูงมากเท่าใด ควันจะมากเท่านั้น หมุนไส้ตะเกียงให้สว่างขึ้น สว่างขึ้นก็จริง พร้อมกันนั้นคราบควันจะเกาะที่หลอดแก้วเรื่อยๆ จนความสว่างพร่ามัว ลักษณะคล้าย อภิชัปปาคือ ความต้องการล้ำหน้า หรือมากเกินไป บางทีอาจจะใช้เทียนไข เพื่อละลายความมืด หรือใช้อ่านหนังสือ บางครั้งได้ฝากหยดน้ำตาเทียนไว้บนหน้ากระดาษ เมื่อเผลอไผล ต่อความสว่าง ให้กับสายตา

แสงสว่างขนาดนี้ ทำให้เกิดความกลมกลืน สอดร้อยกับพนาวัลย์อันเงียบสงบ แต่ไม่สงัด จากเสียงสัตว์ป่า และแมลงต่างๆ ที่ทำหน้าที่ ในยามค่ำคืน สมณะบุกเบิกกรุยทางรุ่นแรกของ "โรงเรียนสมณะนวกะ" มีด้วยกัน ๙ รูป อาจารย์ ๓ รูป มีสมณะกระบี่บุญ มนาโป สมณะกล้าดี เตชพหุชโน และสมณะกำแพงพุทธ สุพโล ลูกศิษย์ ๖ รูป มีสมณะก้อนหิน โชติปาสาโณ สมณะลานบุญ วชิโร สมณะแก่นเกล้า สารกโร สมณะถนอมคูณ คุณกิตตโณ สมณะฝนธรรม พุทธกุโร และสมณะดินทอง นครวโร เป็นโอกาสดี ที่ข้าพเจ้าได้ร่วมชีวิตกับบรรดาศิษย์รุ่นแรก ได้บำเพ็ญเผชิญชะตากรรมต่างๆนานา ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ลูกศิษย์ทั้งหกจากที่สมัครมาทั้งหมด ๑๔ หรือ ๑๕ รูปนี่แหละ พ่อท่านได้คัดเลือกมาเพียง ๖ รูป ให้มาดำเนินชีวิต เยี่ยงสมัยแดนอโศก ดำรงชีวิตความเป็นนักบวชเยี่ยงเถรวาทมากหน่อย สมณะนวกะ จะได้มาศึกษา ทำความกระจ่าง ในพระวินัย และดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย สมถะ

ที่นี่เมื่อก่อนไม่มีอะไรมากนัก ความเป็นอยู่เรียบง่าย อาหารการกินก็เรียบง่าย บรรยากาศทั่วไป ก็เงียบสงบ มีคนอยู่ไม่มาก ที่พักก็อาศัยสิ่งปลูกสร้างที่ผู้มาอยู่ก่อนสร้างไว้ (ฆราวาสรุ่นบุกเบิก ภูผาฟ้าน้ำ นำโดยคุณภูฟ้า แพงค่าอโศก ซึ่งเสียชีวิตแล้วเมื่อประมาณปีกว่า ด้วยโรค เล็ปโตสไปโรซีสคือ โรคฉี่หนู) แต่ละหลัง มีรูปทรงแตกต่างกันไป มีทั้งสองชั้น ประดับด้วย ไม้เถาวัลย์ขนาดย่อม ปัจจุบันได้รื้อไปแล้ว เพราะเก่าคร่ำคร่า และปลวกเจาะกินไม้หลายแห่ง "กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง" สิ่งปลูกสร้างชั้นเดียว ยกพื้นสูง เท่าที่จำได้ จะมีอยู่ทั้งหมด ๓ แห่งได้แก่หลังที่อยู่บนเนินตรงข้ามสวนฝรั่งในเขตสงฆ์ (ปัจจุบัน รื้อแล้วเช่นกัน) อีกหลังพ่อท่านเคยพัก หลังคามุงด้วยหญ้าคา ยาวเกือบจรดพื้นดิน เป็นสิ่งปลูกสร้าง ที่มิดชิด กันลมหนาว ได้บูรณะ มาเป็นลำดับ สมัยที่ข้าพเจ้าอยู่ปีแรก ได้บูรณะครั้งหนึ่ง เพราะว่ามีสมณะที่เคยเป็นช่างไม้มาก่อน คือสมณะถนอมคูณ คุณกิตตโณ เป็นหัวหน้างาน

ต่อมาได้รื้อชานที่อยู่ข้างหลังออกเพราะไม้ผุเช่นกัน ได้แต่งเติมเสริมต่อบันได ที่ขึ้นลงลำบาก ให้ง่ายขึ้น มีการบูรณะ ครั้งใหญ่อีกครั้ง จะเรียกว่าบูรณะคงไม่ถูกต้อง น่าจะเรียกว่า การปรับปรุง ครั้งใหญ่ เป็นกุฏิชั้นเดียว ยกพื้นสูง พื้นและฝา เป็นไม้จริง มีฝาเลื่อน ไหลได้เป็นบางด้าน นอกนั้นเป็นหน้าต่าง หลังคามุงกระเบื้อง ปัจจุบันเป็นที่พำนัก ของอาจารย์สอง สมณะเก้าก้าว สรณีโย กุฏินี้อยู่บริเวณหน้าสระน้ำในเขตสมณะ

อีกหลังหนึ่งเป็นหอสวดมนต์เก่า เดิมใช้กันมาตั้งแต่สมัยฆราวาสรุ่นบุกเบิก หลังนี้อยู่ตรงข้าม ศาลาบรรพชน เป็นสิ่งปลูกสร้าง ชั้นเดียว พื้นไม่ยกสูงมาก ขึ้นลงโดยไม่ต้องใช้บันได มีฝาด้านข้าง มิดชิดปิดโดยรอบ มีหน้าต่างบาน หรือสองบานนี่แหละ หลังคามุงด้วย กระเบื้องขอ เป็นที่พักของอาจารย์หนึ่งในสมัยสมณะนวกะรุ่นแรก คือ สมณะกระบี่บุญ มนาโป ปัจจุบันท่านได้มรณภาพไปแล้ว ด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จำไม่ได้ว่า ก่อนหรือหลัง ภูฟ้าเสียชีวิต ซึ่งห่างกันไม่นานเท่าไหร่

และต่อมาได้มีการบูรณะอีก เพราะไม้บางส่วนปลวกได้แทะกินเสียแล้ว จึงรื้อฝาบางด้านออก ทำให้โล่ง มากขึ้นกว่าเดิม พื้นบางส่วนที่ปูด้วยไม้เป็นชานอยู่ด้านข้างก็ได้รื้อไปใช้ประโยชน์ ปัจจุบัน จึงเหลือเพียง คล้ายศาลา หลังเล็กๆหลังหนึ่ง

นอกจากนี้มีศาลาหลังใหญ่อยู่สองสามหลัง ศาลาหลังหนึ่งมีชื่อว่า ศาลาบรรพชน มาแต่เดิม ได้ใช้เป็นที่เรียน ของสมณะนวกะ และใช้เป็นโบสถ์เพื่อทำกิจสงฆ์ และใช้เป็นที่พักด้วย อีกสองหลัง เป็นโรงเห็ดเก่า ก็ได้ปรับปรุงต่อเติม เสริมขยายเป็นพื้นปูนซีเมนต์ ยกสูง เป็นอาสน์สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่ทำวัตรเช้า ฟังธรรมก่อนฉัน และทำวัตรเย็น ร่วมกับฆราวาส อีกหลังก็ได้ปรับปรุงเป็นที่พักคนวัดฝ่ายหญิง ส่วนที่พักคนวัดฝ่ายชาย ได้สร้างเพิ่มเติม อยู่ฝั่งตรงข้าม ที่พักคนวัดฝ่ายหญิง อยู่บนเนินที่สูงกว่า เป็นที่พักสร้างเป็นโครงไม้ไผ่ หลังคา มุงด้วยหญ้าคา

ข้าพเจ้าได้พักที่สิ่งปลูกสร้างสองชั้นหลังเก่านั้นแหละ ที่ประดับตกแต่งด้วยเถาวัลย์ขนาดย่อม อย่างมีศิลปะ บางครั้ง จะเดินเข้าไปพักยังต้องตกใจ นึกว่าเจองู

บางช่วงอยู่ด้วยกันสองรูปก็อุ่นใจหน่อย บางช่วงอยู่รูปเดียวเพื่อการบำเพ็ญ ได้เรียนรู้ความรู้สึก ที่ต่างไปจากปกติ เมื่อก่อนหลายอย่าง ข้าพเจ้าเคยดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางแสง-สี-เสียง ในเมืองกรุง ที่สันติอโศก อยู่หลายปี ได้มาพำนักที่แห่งนี้ ที่ไม่มีแสง-สี-เสียงจากเทคโนโลยี มีแต่แสง-สี-เสียงตามธรรมชาติ

ยามค่ำคืนบรรยากาศเงียบสงบและมืดสนิท แต่ใจไม่ได้สงบไปตามบรรยากาศ ฟุ้งซ่าน ไปหลายๆเรื่อง เพราะนอนไม่ค่อยหลับ ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมไม่ค่อยได้ หวาดระแวง ไปกับเสียงรอบข้างที่เกิด และเสียงกระทบ บนหลังคาสังกะสี ทั้งจากเสียงขยับปีก โบยบินของ สัตว์ปีกไปๆมาๆ ยามค่ำคืน เสียงร้องตะเบ็งเซ็งแซ่ของสัตว์ป่า และเสียงสัตว์เลื้อยคลาน บนดินนานา บางครั้งได้ยินแล้วขนลุกชัน นี่แหละกระมัง ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "ไม่จมก็ลอย" จิตลักษณะนี้เป็นอาการลอย คือฟุ้งซ่านนั่นเอง ตรงกันข้ามกับ บรรยากาศรอบตัว ที่เงียบสงบ แต่จิตกลับไม่สงบ

ส่วนตอนกลางวัน อาทิตย์อุทัยบรรยากาศสดใส ด้วยพรรณไม้สี เขียวสดใส นานาชนิด แต่จิตไม่ค่อยจะสดใสเบิกบานไปตามสภาพแวดล้อม มีอาการจิต จมเซื่องซึม ง่วงเหงา หาวนอน เพราะไม่ค่อยจะมีอะไรทำ เดินๆนั่งๆ การระวังประคับประคอง รักษาจิต ก็ยังไม่ค่อยจะเป็น พญานาคตัวใหญ่ (ความง่วง) จึงแวะมาเยี่ยมเยียนบ่อยครั้ง

ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้ามากขึ้นในอุปาลิสูตร ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ "ป่าและราวป่า อันสงัดอยู่ลำบาก ทำความวิเวกได้ยาก ยากที่จะอภิรมย์ในการอยู่ผู้เดียว ป่าทั้งหลาย เห็นจะนำใจของภิกษุ ผู้ไม่ได้สมาธิไปเสีย ผู้นั้นจำต้องหวังข้อนี้คือ จักจมลง หรือจักฟุ้งซ่าน เปรียบเหมือนกระต่าย หรือเสือปลา ลงสู่ห้วงน้ำใหญ่ หวังจะเอาอย่างช้างใหญ่ สูง ๗ ศอกหรือ ๗ ศอกกึ่ง กระต่ายหรือเสือปลานั้น จำต้องหวังข้อนี้คือ จักจมลง หรือจักลอยขึ้น" (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๙๙)

ต่อมาได้มีการวางท่อน้ำประปาภูเขา ทั้งสมณะและฆราวาสได้ช่วยกันแบกท่อพีวีซี ขนาดสี่นิ้ว ไปยังต้นน้ำ ระยะทาง ขึ้นลงเขา ประมาณสองกิโลเมตร เพื่อนำน้ำมาใช้ในเขตวัดและชุมชน ก็ต้องมี การทำแท็งก์เก็บน้ำ มีการตกลงกัน ในหมู่สมณะ จะสร้างแท็งก์น้ำบนเนินใกล้ลานฮอ เป็นจุดแรก และกะไว้ว่า ส่วนบนของพื้นแท็งก์ จะปรับต่อ เป็นหอระฆังด้วย (ปัจจุบัน ไม่ได้สร้างอะไรเพิ่มเติมบนพื้นแท็งก์นั้น) เพื่อจะได้ออกกำลังไปในตัว เวลาเดินขึ้นเดินลง เมื่อไปตีระฆัง

การสร้างแท็งก์น้ำสมณะรับทำ มีการขนหิน ขนปูนที่สั่งซื้อจากภายนอกเข้ามา ขนจากสะพาน ข้ามห้วย ฝั่งบ้านทุ่งจ๊อ (ตอนนั้นยังเป็นสะพานไม้ไผ่ ปัจจุบันกลายเป็นสะพานแขวน มีชื่อว่า "สะพานเชื่อมใจ") ไปยังบริเวณ หน้าศาลาบรรพชน กองไว้ตรงบริเวณทางจะขึ้นไปลานฮอ ใกล้กับกอไผ่สีทอง

ทั้งอาจารย์และลูกศิษย์ต่างร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้คนละมือ แบกกระสอบใส่หิน แบกปูน ส่งต่อกัน เป็นช่วงๆ ไปตามทางขึ้นลานฮอ ระยะทางประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ เมตร จนตอนหลัง อาจารย์หนึ่ง (สมณะกระบี่บุญ) ต้องหยุดพัก เพราะไอออกมา เป็นเลือด อาจเนื่องมาจาก การออกแรงมาก จึงไปกระทบกระเทือนก้อนเนื้อ ที่ฝังอยู่ในบริเวณ หน้าอก สุดท้าย แท็งก์รองรับน้ำ ชุดแรก ๖ แท็งก์ก็สำเร็จลุล่วง

นอกจากนี้ยังได้มีการบำเพ็ญตบะกัน เป็นกีฬาบริหารจิตใจของพระโยคาวจร ช่วยฉุดรั้ง จิตใจ ให้หนักแน่น มั่นคงขึ้น การตั้งตบะจะเน้นที่เรื่องอาหาร พยายามฉันอาหารไม่ปรุงแต่ง ฉันใกล้เคียง ธรรมชาติที่สุด บางครั้ง ฉันข้าวเปล่า ติดต่อกันหลายวัน บางทีฉันแยกเป็นอย่างๆ เพื่อพิจารณารสชาติที่สัมผัสลิ้น บางช่วงฉันแบบผสมรวม มีอะไรๆก็ตัก และ เทลงในบาตร แล้วคนผสมปนเปกันเป็นการได้ฝึกไม่ติดในรูป ช่วงหน้าหนาว บำเพ็ญตบะ ลงสรงน้ำในห้วย หลังกลับจากบิณฑบาต เพื่อสร้างความกระชุ่มกระชวยให้แก่ชีวิต ทำติดต่อกันไปเรื่อยๆ จนถึง อุณหภูมิ ต่ำกว่าสิบองศา จึงเลิกทำ เพราะขาชาและคันเกิดเป็นตุ่มขึ้น เนื่องจากแพ้ความเย็น นั่นเอง ฝึกอดอาหารอยู่บ่อยๆ ฝึกเนสัชชิ คืออดนอนบ้างเป็นบางครั้ง

ในวันพุธจะพุทธัง (งดใช้เสียง)อย่างเคร่งครัด ไม่มีการพูดคุยกับใครใดๆทั้งนั้น นอกจาก มีเหตุจำเป็น ก็จะเขียนข้อความ สื่อสารกัน วันพุธไหนถ้าเผลอพูดไปด้วยขาดสติ จะรู้สึกเสียดาย เพราะเสียคะแนน เพราะไม่รู้เท่าทัน จิตตนเอง อีกอย่างหนึ่งที่เคร่งครัด คือจะไม่ฟังวิทยุ (นอกจากเท็ปธรรมะ) และไม่อ่านหนังสือพิมพ์

ฝึกการนอนเตียงน้อย นอนบนเตียงไม้กระดานแผ่นเดียว กว้างแค่พอจะนอนตะแคงได้ ความสูง ของเตียง ประมาณหนึ่งคืบ การนอนเตียงน้อยทำให้มีสติเวลานอน จะพลิกตัวก็มีสติ เพราะระวัง จะตกเตียง บางครั้งตื่นขึ้นมา ปรากฏว่า นอนอยู่ข้างๆเตียงเสียแล้ว ไม่รู้ว่า ลงมานอนที่พื้นตั้งแต่เมื่อไหร่

การบิณฑบาตได้ไปโปรดสัตว์ แสดงกายธรรมได้บำเพ็ญบุญ บำเพ็ญธรรม เป็นตบะอย่างดี ระยะทาง การบิณฑบาต ไกลพอสมควร มีสองสาย สายหนึ่งไปทางถนนดำบ้านแม่เลา อีกสาย เป็นทางขึ้นลงเขา ไปบ้านหัวเลา (เป็นชุมชนคนดอยเผ่าปกากะญอ) ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา มีธัมมวิจัย อย่างต่อเนื่อง เพราะระหว่างบิณฑบาต จะไม่มีการพูดคุยกันเลย ตลอดทาง

ปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งในขณะบิณฑบาต ที่ต้องเก็บใส่แฟ้มชีวิตไว้ ในคราวไปสาย บ้านแม่เลา กำลังรับบิณฑบาต จากโยมอยู่ เสียงหนึ่งดังสอดแทรกขึ้น ในขณะเปิดฝาบาตร รับอาหารจากโยม เสียงโครกครากๆๆๆ ดังอย่างต่อเนื่อง ตอนนั้น ถ้าเห็นหน้าตนเองได้ ก็คงจะออกเป็นสีแดง ด้วยความขายหน้า ที่ท้องเจ้ากรรม ไม่รู้จักเวล่ำเวลาว่า เวลาไหน ควรส่งเสียง ไม่รู้ว่าโยมจะคิดอย่างไรกันหนอ ขนาดสมณะ รูปที่ตามหลัง ยังได้ยินเสียงเลย คงเป็นไปไม่ได้ ที่โยมจะไม่ได้ยิน

ขายหน้า เสียหน้า ก็ดีเหมือนกัน จะได้หมดหน้าหมดตา ศักดิ์ศรีลดลงบ้าง เพราะนี่เป็นการขาย และเสีย อย่างบุญนิยม จึงจะได้กำไรอย่างแท้จริง มองในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ แสดงว่าท้อง (กระเพาะ) มีชีวิตชีวา อารมณ์ดี จึงส่งเสียงร้องเพลงธรรมชาติอย่างมีความสุข เรียกว่า กระเพาะมีชีวิต

อยู่บนดอยแพงค่าแห่งนี้ ได้รับบทเรียนที่ค่าแพงสำหรับชีวิต อยู่ในกรุงไม่เคยเจอเลย กับสภาพเหล่านี้ เมื่อก่อน สถานที่แห่งนี้ มีคนอยู่ไม่มากเท่าปัจจุบัน รอบข้าง จึงเป็นป่ารกชัฏ เป็นส่วนใหญ่ อุดมไปด้วย ริ้นที่ชอบลอบกัด บริเวณขอบใบหู คันจนกระทั่ง ต้องเกา เป็นแผลถลอกปอกเปิก เป็นแผลเป็นตุ่มรอบขอบใบหู ทั้งแผลสดน้ำเหลืองเยิ้ม และแผล กำลังตกสะเก็ด ดูๆไปก็ไม่ต่างจากคนมีหูเป็นขี้ทูดเท่าไหร่

อีกแห่งหนึ่งที่ริ้นชอบจู่โจมคือบริเวณขา ตั้งแต่ข้อเท้าไปจนถึงต้นขา ถ้ายืนนิ่งเมื่อไร ขาจะเต็ม ไปด้วยตุ่ม เมื่อนั้น มาอยู่ใหม่ๆ ข้าพเจ้าแพ้แมลงที่กินเลือดมาก ริ้นกัดเมื่อไรจะเป็นตุ่มคันมาก จนอดที่จะเกาไม่ได้ เกาไปเกามา ก็กลายเป็น แผลเรื้อรัง ขาลายเป็นจุดดำๆ ถ้าไม่รู้จักมักจี่ อาจจะเดาเอาว่าคงจะเป็นโรคเอดส์แน่ๆ ตัวรักนี่ก็เหมือนกัน ตัวรักเป็นแมลงอีกชนิดหนึ่ง ที่กินเลือดเป็นอาหารเช่นเดียวกับยุง กัดข้าพเจ้าทีไรจะเป็นตุ่มแดงพองขึ้นมา และคันลึกๆ เกาเท่าไหร่ ก็ไม่หายคัน เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน แก้ไม่ถูกเหตุนั่นแหละ ต้องอดใจข่มจิตไม่ให้เกา ไม่นานตุ่มก็จะยุบไปเอง

เหลือบนี่ก็ไม่เบา กัดเจ็บ มีสองชนิด ชนิดแรกที่นี่เขาเรียกว่า "เหลือบแมว" ตัวยาวสีเทา ขนาด ใหญ่กว่าตัวแตน ขาลาย สลับดำขาว อย่างยุงลาย อีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า "เหลือบควาย" ชนิดนี้ คล้ายแมลงวัน ตัวโต แต่ตัวใหญ่กว่าเท่าตัว กัดแต่ละที ต้องสะดุ้ง โหยงเลยทีเดียว

มดตะนอยนี่ ครั้งแรกถูกกัดก็แพ้มากเหมือนกัน ถูกกัดที่นิ้วแต่กลับมือบวม และหนักกว่าอีกข้าง เท่าตัว

และที่ต้องจดจำไปอีกนาน ก็คือการถูก ต้นรัก หรือทางภาคอีสานดูเหมือนจะเรียก ต้นน้ำเกลี้ยง คนที่แพ้นี่ จะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าก็ได้รับรู้ตรงนั้นมาแล้ว ทั้งแสบทั้งคัน แล้วค่อยๆ เห่อขึ้นๆ จากตุ่มเล็กๆ เหมือนแพ้ขนบุ้ง จะค่อยๆ โตขึ้นๆจากตุ่มเล็กหลอมรวมเป็นผืนเดียวเป็นปื้น จากนั้นค่อยๆ พองขึ้นๆทั้งแสบ ทั้งคันมากเลยทีเดียว เหมือนเป็นแผล ถูกน้ำร้อนลวก อย่างไร อย่างนั้น บวมแดงจนกระทั่งไม่เชื่อสายตาตนเองว่า จะเป็นได้ถึงขนาดนี้ ดำริในใจว่า น่าจะได้ถ่ายภาพเก็บไว้เป็นอสุภสัญญา เสียดายที่ตอนนั้นไม่มีกล้องถ่ายรูป จึงเก็บได้เพียง ความทรงจำ เท่านั้น "ทิ้งรอยเท้าแห่งการก้าวเดิน และเก็บไว้เพียงความทรงจำ" เป็นอยู่อย่างนี้ ๓-๔ วัน สารพัดยา หลากหลายขนาน ถูกโปะเข้าไป ต้องใช้คำว่าโปะ เพราะว่าโปะจริงๆ เป็นยาสมุนไพร ตำมาใส่สดๆ ขนานไหนดี ถูกนำมาใช้เกือบหมด

ครั้งนี้ดูแล้วสมเพชตนเอง ถึงขนาดต้องนั่งปลงอนิจจัง วะตะ สังขารา แผลบวมไปทั้งตัวทั่วร่าง ยกเว้นเพียง ใบหน้าเท่านั้น ที่ยังเหลือเค้าเดิม นอกนั้นไม่ว่าจะเป็นลำตัว ด้านหน้าด้านหลัง แขนและขา ทั้งสองข้าง ร่วมรับ ชะตากรรมเดียวกันหมด

อีกครั้งหนึ่งเกือบเอาชีวิตไม่รอด ขณะที่ข้าพเจ้าอยู่ศาลาบรรพชนตอนเย็น กำลังห้อยกลด จัดกลด ตรวจดู ความเรียบร้อย เกิดความรู้สึกแปล๊บที่หน้าอก คิดว่าส่วนปลายร่มกลด คงทิ่มถูก

ถึงเวลาทำวัตรเย็นไปได้สักพัก เกิดอาการร้อนวูบวาบไปทั้งตัว โดยเฉพาะใบหน้า จนกระทั่ง เพื่อนสมณะ ทักว่า เป็นอะไร ถึงหน้าแดง ข้าพเจ้าก็บอกไปว่ารู้สึกเหมือนจะเป็นไข้ นั่งไปสักพัก คราวนี้หายใจไม่ค่อยสะดวก จึงขออนุญาต ไปนอนฟังอยู่ใกล้ๆ ตอนนี้เริ่มหายใจไม่ออก หายใจได้สั้นลงๆ จำได้ว่า สมณะมั่นแจ้ง พุทธชาโต เอายาให้ฉัน อย่างหนึ่ง คือยาแก้แพ้ และคงจะเป็น ยาหอมด้วยกระมัง สุดท้ายความรู้สึก สติสัมปชัญญะต่างๆ เลือนหายไปๆๆๆ ลืมตาตื่นอีกครั้ง ความเป็นปรกติกลับคืนมา ครั้งนี้ทำให้นึกถึงมรณานุสสติ อย่าประมาทในชีวิต เพราะมีสิทธิ ทิ้งร่างวางชีวิตได้ทุกเมื่อ

มาบัดนี้ก็ยังไม่รู้ว่าถูกอะไรต่อยแน่ ถึงได้เกิดอาการเพียงนี้ วิบากกรรมจริงๆ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ และจัดสรร ให้ลงตัว ในแต่ละช่วงของชีวิตแต่ละคน ตามกรรมที่สั่งสมมา อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เมื่อถึงคราว ฉะนั้น "อย่าประมาทในโทษภัยอันมีประมาณน้อย"

ข้าพเจ้าได้เขียนมาจนถึงบัดนี้ มีความคิดปรุงแต่งแทรกเสริมเข้ามาอีก เกี่ยวกับชื่อเรื่องที่ตั้งไว้ว่า "เดินหน้าย่ำรอย ถอยกลับสู่อดีต" น่าจะดีกว่า ปรับเปลี่ยนคำว่า "ย่ำ" เป็น "ย้ำ" เพราะอ่านคำว่า "ย่ำ" แล้ว เกิดความรู้สึกที่ไม่ค่อยดี เหมือนลบหลู่ เทียบชั้นครูบาอาจารย์ คล้ายๆวัดรอยเท้า นั่นแหละ จึงเปลี่ยนมาเป็นคำว่า "ย้ำ" เป็นผู้เดินตาม รอยพระบาท พระศาสดาและของพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ เดินก้าว ตามไปข้างหน้าแล้ว ก็ต้องมีการย้อนกลับมา ทบทวนดูอดีต ที่ผ่านไป เพื่อเป็นข้อคิดไว้สำหรับตน ในการดำเนินบทบาทชีวิตบนเส้นทางธรรม ข้อบกพร่องใด ที่ควรปรับปรุง แก้ไขก็จะละเว้น ไม่เดินย้ำรอยเดิมอีก ข้อควรจำอันใดดีก็นำมาประพฤติปฏิบัติ เดินหน้าย้ำรอยต่อไป

และสุดท้าย ขอรำลึกถึงบรรพชนทุกคน ที่ได้สร้างสรรเสียสละ จนเกิดชุมชนคนสร้างอาริยะ ทั้งหลาย

จากข้าพเจ้าผู้มีนามในเพศนักบวช
- สมณะลานบุญ วชิโร -

- สารอโศก อันดับที่ ๒๖๘ มกราคม ๒๕๔๗ -