ปลุกเสกพระแท้ๆของพุทธ '๔๗ "สิ่งใดที่เข้าไปยึดถือแล้ว ไม่ทุกข์ไม่มี" คือบทสรุปสุดท้ายเพื่อฝึกหัดปล่อยวางจิต ให้พ้นจาก ความทุกข์ เพื่อพบกับความสุขจากจิตเบาว่างสงบ จากบทสัมภาษณ์พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ นอกจากรับรู้บรรยากาศงานปลุกเสกฯ ครั้งที่ ๒๘ แล้ว มุมมองสำคัญต่อ "สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีที่สุด" EVERYTHING HAPPENS FOR THE BEST อันคือตัวอย่างวิธีคิดของพ่อท่านที่นำเสนอ เพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง
งานปลุกเสกฯ ครั้งที่ ๒๘ มีอะไรแตกต่างจากครั้งที่ผ่านมาคะ ? เนื้อหาแตกต่างกันแน่ แต่โครงสร้างและรูปแบบอาจจะลงตัวไม่ผิดแผกนัก แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีการปรับปรุงบางอย่าง โดยเฉพาะปีนี้จะเห็นได้ว่า ธรรมะภาคบ่ายหรือภาคเช้า มีความแตกต่าง จากเดิมในวิธีเสนอ หรือภาคบ่ายชัดเจนเลยว่า แทนที่เราจะมานั่งฟังรวมกัน ที่ศาลา เราก็เปลี่ยนแปลงโดยให้แยกย้ายจัดกลุ่ม ให้มีความหลากหลาย ตามความสนใจ ของแต่ละคน รายการตอบคำถามของพ่อท่านเหลือ ๑ วัน หลายคนเห็นด้วยให้พ่อท่านได้พัก บางคนก็เสียดาย อยากได้ ๒ วันเหมือนเดิม ก็ค่อยๆลองดู เพราะทั้งงานพุทธาฯที่ผ่านมาและงานนี้อีก มันตรงกับวันที่ซ้อนรายการมาก จนกระทั่งอาตมามี ๓ รายการ รวมทั้งตอบปัญหาด้วย เช้าอาตมาก็ต้องเทศน์แน่นอน ถ้ามีรายการเย็นอีก ตอบปัญหาอีกก็จะซ้ำซ้อนมาก หมู่สงฆ์ก็อยากให้พัก แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้พัก เพราะไหนจะมีการประชุมอีก การงานที่ขยายมากขึ้น จะทำให้การเคี่ยวในของพวกเราลดความสำคัญลงหรือไม่คะ? การที่เราเคี่ยวในนั้น เป็นเจตนารมณ์หลักแน่ๆเลย อาตมาทำงานเพื่อที่จะสร้างแกน สร้างแก่น ไปเรื่อยๆในด้านของคุณภาพ ส่วนในด้านของปริมาณหรือการขยายผล ไปสู่ข้างนอกนั้น เป็นเรื่องรอง ซึ่งก็รู้ดีกันอยู่ เพราะฉะนั้นการเคี่ยวในจึงเป็นหลักการใหญ่เลย จนอาตมาสรุป หรือสลักคำขวัญ คำมุ่งหมายเอาไว้ชัดเจน ลงในแผ่นหินและเขียนไว้ในที่ไหนๆ อาตมาร้อยเรียง เป็นโศลกว่า... เน้นเนื้อให้เหนือกว่ามาก ซึ่งเป็นคำที่บางคน แม้ในสังคมข้างนอกระดับนักเขียนแท้ๆ ฟังแล้วยังบอกว่า เป็นภาษาคน หรือเปล่า เพราะเขาฟังไม่รู้เรื่อง เขาเข้าใจไม่ได้ อาตมาก็เห็นใจที่เขาเข้าใจไม่ได้จริงๆ เน้นเนื้อ ให้เหนือกว่ามาก คงเข้าใจไม่ยากอะไรนัก คือเราต้องการเนื้อแท้ ให้มากกว่าปริมาณ เน้นเอา เนื้อๆ เอาสาระให้มากกว่าปริมาณ เน้นลากแม้ยากกว่าแล่น แม้มันจะยาก แม้ต้องลากกันไป มันจะต้องช้า มันจะลากกันไปแบบถูลู่ถูกังอย่างไร เราก็จำนน เพราะเราต้องการคุณภาพเช่นนั้น ถึงจะช้าอย่างไร เราก็จำเป็นต้องลากไป ดีกว่าเราจะทำอย่างรีบร้อน ต้องการเร็วๆ ให้แล่นเร็วๆ แต่ไม่ได้คุณภาพตามต้องการอะไรอย่างนี้ เป็นต้น เน้นจริงให้ยิ่งกว่าแค่น หมายถึง เรามาที่นี่ ต้องเข้าใจให้ชัดเจน ทุกคนต้องเข้าถึงจิตถึงใจว่า ต้องทำจริง ดีกว่ามาแค่นๆทำ ดีกว่ามาทำ อย่างเสียมิได้ หรือทำอย่างไม่ชัดเจน ทำอย่างไม่ศรัทธาเต็มที่ เน้นแก่นให้แน่นกว่ากว้าง เพราะฉะนั้นตีเข้าหาหลักใน ตีเข้าหาแก่นแกนมากกว่า ที่จะไปหาส่วนกว้าง ส่วนนอก เราจะเน้น เข้าหาส่วนในมากกว่าส่วนนอกอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักการที่อาตมาวางแนวทางไว้ชัดเจน นั่นคือเราจะเน้นเคี่ยวใน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อโศกขยายงานมาก เขากลัวกันว่าจะมากเกินไป คำว่า"ขยายงาน" จะต้องเข้าใจอย่างละเอียดลึกซึ้งว่า เรา"ขยายงาน" หรือว่า"งานมันขยาย" ฟังความนี้ให้ชัด เราขยายงาน หางานใหม่ มาเติมมาเพิ่มขึ้นเป็นงานอื่นงานใหม่อีก หรือว่า งานหลักของเรานั่นเอง มันขยายตัวของมันออกไป เราขยายงานหรืองานมันขยายต้องให้ชัด ถ้าเราเองไม่ได้ขยายงานใหม่อะไรมากมาย แต่ว่างานหลักของเราขยายเพิ่ม แสดงว่าตัวงานเจริญขึ้น มีแขนงเพิ่มขึ้น มีอะไรต่อเนื่องขึ้น งอกงามแตกขยายออกไป โดยเราไม่ได้ไปหางานใหม่ เราไม่ได้ไปกวาดเอางานใหม่ๆ อะไร มาเร่งรีบ งานโน่นก็เอา งานนี้ก็เอา อันนั้นก็ดูดี อันนี้ก็ดูดี แล้วเราก็หางานใหม่มาเพิ่มมากขึ้น ไปตั้งหน่วยใหม่ เรื่องใหม่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับงานเก่าของเราที่งอกงาม แตกขยายตัวออกไป ตามธรรม ต้องเห็นความจริงให้ชัด แต่ถ้าเป็นงานของเราขยายตัว งานขยายสาขาขึ้นบ้าง และไปเชื่อมกับคนข้างนอกบ้าง โดยมีแกนในอยู่เป็นหลัก การเชื่อมกับคนข้างนอก ก็คือ การขยายเสริมไป เลือกรับข้างนอกมาต่อๆไปอย่างนี้ ไม่ถือว่าเราขยายงาน ถ้าเข้าใจเนื้อหา อย่างนี้ชัดเจน ว่างานทุกวันนี้เราก็ทำแก่นแกนจากฐานราก ที่เป็นปัจจัย ๔ ซึ่งอาตมาพาทำ เป็นหลักไปแต่ต้น เช่น งานกสิกรรมที่อาตมาเกริ่นไว้ตั้งนานมาแล้วเป็น ๑๐, ๒๐ ปี ว่าเรา จะสร้าง ๓ อาชีพกู้ชาติ เป็นต้น ตอนนั้นยังไม่ได้ใช้คำว่า"ไร้สารพิษ" เราเรียก กสิกรรมธรรมชาติ ปุ๋ยสะอาด และขยะวิทยา ซึ่งพวกเราหรือใครก็แล้วแต่ ฟังแล้ว ขยะนี่จะช่วยกู้ชาติยังไง? อาตมา ก็เกรงใจความรู้สึกของคนฟัง เอาเถอะเมื่อเขายังไม่รู้จัก เราก็ใช้คำว่า"ขยะเอ๋ย"ไปก่อน อาตมา ใช้คำนี้ผสมผสานกันระหว่างคำ "ขยะเอ๋ย" กับ "ขยะวิทยา" ใช้ควบคู่กันไป เพื่อที่จะศึกษา ให้เข้าใจกันจริงๆ ซึ่งแต่ก่อนก็ยังไม่รู้เรื่องกัน แต่ทุกวันนี้เขาเข้าใจกันมากขึ้นแล้ว อย่างนี้เป็นต้น เดี๋ยวนี้นอกจากเราจะทำเรื่องแกนหลักปัจจัย ๔ เพื่อที่จะกินใช้ เลี้ยงตน เลี้ยงคณะ หมู่กลุ่ม ชุมชนของเรา "พึ่งตนเอง"ให้อยู่รอดได้ เราทำได้แล้ว จากปัจจัย ๔ ก็มีเครื่องเคียงมีบริขาร สิ่งที่เป็น อุปกรณ์ร่วม ที่จะเป็นการเสริมต่อ อาศัยกินอาศัยใช้ เช่น มีเครื่องทุ่นแรงอะไรต่างๆ แม้ที่สุดเราทำงานโดยมีอุดมคติ อุดมการณ์ มุ่งไปในทิศทางที่พระพุทธเจ้าท่านพาเป็น เป็นโลกุตระ หรือเป็นบุคคลประเสริฐ เป็นอาริยบุคคล ซึ่งอาตมาทำให้เกิดผลสำเร็จได้แล้ว ประมาณหนึ่ง ฉะนั้น งานที่เราทำจึงเกิดจากหลักการที่พระพุทธเจ้าท่านสอน หลักในการวัดความเป็นบุคคลประเสริฐ บุคคลประเสริฐ หรืออาริยบุคคลชนิดที่มีคุณธรรมเป็นหลัก ไม่ขี้โลภโกรธหลง เป็นบุคคล ที่มีวรรณะ เป็นบุคคลชั้นสูง เข้าเขตเข้าขีดวรรณะ ๙ คนที่มีวรรณะ ๙ ก็คือ คนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย เป็นคนมักน้อยสันโดษ เป็นคนขัดเกลา เป็นคนที่มีศีลเคร่งขึ้นได้ เป็นคนที่มีอาการ น่าเลื่อมใส แม้ที่สุดไม่สะสมไม่กอบโกย เป็นคนยอดขยันหมั่นเพียรจริงๆ อย่างนี้เป็นต้น คือ อาริยบุคคลที่แท้จริง อาตมาก็เอามาทำจนถึงทุกวันนี้ นอกจากงานหลักที่อาศัยใช้กิน พึ่งตัวเองรอด และมีเครื่องเคียงเครื่องทุ่นแรงเครื่องใช้ ประกอบแล้ว เรายังต้องให้การศึกษาเผยแพร่ สื่อสารไปสู่กลุ่มต่างๆ ก็เป็นงานหลัก ที่เราจะต้อง ทำอีกประการหนึ่ง การสื่อสารเผยแพร่เราก็ต้องทำ แต่การเผยแพร่ไม่ใช่การโฆษณา เราทำเพื่อ ที่จะรายงานความจริงให้สังคมรับรู้ ซึ่งการรายงานความจริงหรือเผยแพร่ความจริงให้สังคม กับการโฆษณาตัวเองมันต่างกัน อันนี้จะไม่ขยายความ ไปตามศึกษาเอาเองว่า มีความหลากหลาย แตกต่างที่ไม่เหมือนกันอย่างไร สรุปที่เราทำงานอยู่ทุกวันนี้ อาตมาไม่ได้ทำงานโดยการให้ขยายงานใหม่ออกไป ทำงานออกไป มากๆๆ ที่ทำอยู่มีแต่งานหลักที่เราทำอยู่แล้ว แล้วมันขยายกิ่งก้านสาขา หรือเชื่อมโยงออกไป เท่านั้น ซึ่งเราก็ระมัดระวัง เพราะการสร้างคนให้เป็นอาริยบุคคลนี้มันยาก คนจะมาฝั่งโลกุตระ ได้น้อย ได้ช้า การก้าวหน้าในมวลในปริมาณที่เป็นอาริยบุคคล การเพิ่มมวลก็ได้น้อย ก้าวได้ช้า เช่นกัน ฉะนั้นการที่เราจะขยายงานเพิ่มเติมเป็นไปไม่ได้ จุดนี้ เราต้องระมัดระวังมาก โดยเฉพาะ เมื่อเราทำแล้ว เป็นผลดีต่อสังคม สังคมก็จะเรียกร้อง ถ้าความเรียกร้องสูง แล้วเราหลงงาน ขยายงานเร็วๆไปมากๆ เราก็จะเหนื่อยหนัก และเกิดปัญหาต่างๆตามมา อาตมาขอย้ำอีกครั้ง เราจะต้องระมัดระวังอย่างสำคัญ ตราบใดที่เราสามารถตัดกิเลส ไม่เห็นแก่ลาภ ไม่เห็นแก่ สิ่งที่จะได้มากๆๆๆ เอามาร่ำมารวย เอามาเป็นการมักมาก ถ้าเราไม่มีกิเลสตัวนี้ เราจะอยู่ ในฐานะ รู้จักความพอดี พอเพียง พึ่งตนเองได้ไปตามขั้นตามตอนจริงๆ การที่งานขยายตัวขึ้น มีผลกระทบต่อการเคี่ยวในอย่างไรคะ ? เมื่องานขยายขึ้น คนก็ต้องรับผิดชอบมากขึ้น หรือต้องมีคนมาช่วยมากขึ้น แต่โดยสัตย์จริงแล้ว ขณะนี้ เมื่อประเมินดูตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ผลงานของเราตอนนี้ มีอัตราการก้าวหน้า ของกระแสสังคมที่ยอมรับเรามากขึ้นๆ สมมุติ ๑๐๐ หน่วย แต่สมรรถภาพ ความสามารถของ พวกเราและทั้งด้านคุณธรรมที่เจริญขึ้น ก้าวหน้าขึ้น ยังไม่ถึง ๑๐๐ หน่วยก็มีเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ถึง ๕๐ หน่วยด้วยซ้ำ ยิ่งเปรียบเทียบกับอัตราความก้าวหน้าของปริมาณคนที่จะมามีอุดมคติอย่างนี้ มามีวิถีการดำเนินชีวิตอย่างนี้ ยิ่งมีอัตราส่วนความก้าวหน้าเพิ่มน้อยมาก อาจจะแค่ ๑๐% - ๒๐% ยังไม่ต้องกล่าวไปถึงคุณธรรมความสามารถของเรา ที่มีอัตราการก้าวหน้าไม่ถึง ๕๐% หรือ ๔๐% ก็ยังไม่ถึงดีด้วยซ้ำ แต่ทางด้านโน้นกระแสความต้องการ ความยอมรับของสังคมมีอุปสงค์ หรือ DEMAND สูงเป็นร้อย ส่วนปริมาณอัตราการเพิ่มคนของเรา ที่จะมาทำงานให้กับสังคม ตลอดจน อัตราการก้าวหน้าในคุณภาพ คุณธรรมของคนรวมกันแล้ว ยังสู้อัตราการก้าวหน้า ของกระแสความต้องการความยอมรับของสังคมไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเราต้องประมาณให้ดี ทำให้ได้ตามแรงของเรา รู้จักพอเพียง เราจะทำจนกระทั่งร่างกายทรุดโทรม ทำจนหนักหนา สาหัสเกินการ เกินจริง ก็ไม่ได้ งานที่เราทำจึงไม่สามารถรองรับกับกระแสต้องการ หรืออุปสงค์ของสังคม การที่เราสร้าง อุปทาน หรือ SUPPLY ให้เขาไม่ทัน เนื่องจากเราไม่เหมือนระบบทุนนิยม ซึ่งถ้ามีคนต้องการ ผลผลิตมากเท่าไร ก็เอาเงินไปจ้างคนมาเพิ่ม แล้วก็ผลิตให้มากขึ้น โดยไปเอากับสังคม เพิ่มอีกต่อหนึ่ง เมื่อได้รับความนิยมเขาก็ขึ้นราคา แล้วก็ร่ำรวยกัน แต่ของเราไม่มีนโยบาย แบบทุนนิยม ไม่มีนโยบายทำอย่างนั้น ทุนนิยมเขาจะประมูลคน ด้วยลาภยศสรรเสริญโลกียสุข ส่วนของเราคนต้องมาด้วยความสมัครใจ ทำจริง เราไม่ได้เอาเงินไปประมูลใคร ไม่ได้เอาลาภ ยศ สรรเสริญโลกียสุขไปประมูลใคร เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน มีแต่จะมาลดสิ่งแลกเปลี่ยน ไม่เอาอะไร ในโลกนี้ ทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข หรือโลกธรรมมาเป็นตัวล่อ ไม่มีอามิส มีแต่ให้มาลดกิเลสจริง เพราะฉะนั้น คนที่จะมาลดกิเลสจริงๆ ที่จะได้มาร่วมทำงานจึงมีน้อย ถ้าคนไม่มีคุณภาพพอ ยังขี้โลภโกรธหลงมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขเป็นเลือดทุนนิยม เป็นเลือดโลกีย์ ระบบวิธีของเรากับระบบวิธีการทุนนิยมจึงไม่เหมือนกัน งานของเราจึงเป็นไป อย่างนี้ จุดต่างที่สำคัญอยู่ตรงไหนคะ ? งานมากขึ้น หนักขึ้น เมื่อเราให้แก่สังคมแล้วคนต้องการ เราก็ต้องพยายามทำของดี เช่น กสิกรรมไร้สารพิษจริงๆ ผลผลิตกสิกรรมจะเป็นผลผลิตที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยอย่างแท้จริง และเราก็พยายามที่จะไม่ให้ราคาแพง ให้ราคาถูก จริงๆแล้วผักไร้สารพิษราคาจะแพง เพราะ ปริมาณผลผลิตได้น้อย มันควรจะแพง เพราะเป็นของดี คนเขาก็เต็มใจซื้อ แต่เราก็ไม่ฉวย โอกาสขึ้นราคา เราพยายามทำให้มีอุดมคติชัดเจน ฉะนั้นการมีอุดมการณ์ได้ ก็ต้องประพฤติ ให้ถูกต้อง ต้องขายให้ถูกตามหลักการตลาดบุญนิยม ของดี ราคาถูก ซื่อสัตย์ มีน้ำใจ โดยเฉพาะ ขายสด งดเชื่อ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเราก็พยายามทำอย่างแท้จริง โดยไม่ใช่เราไปขยาย งานใหม่ แต่งานหลักนั้นเองขยายออกไปเรื่อยๆ ขยายกิ่งก้านเพิ่มขึ้น จึงเป็นตัวกำหนดบังคับ ให้เราต้องเคี่ยวสมรรถนะของพวกเรา ต้องทำงานให้ทัน ทำงานให้มากขึ้น ให้มันดีขึ้นด้วย ไม่ใช่ทำแบบสุกเอาเผากิน การที่สมรรถนะของเราดีขึ้น กำลังงานส่วนหนึ่ง ก็ต้องเอาไปพัฒนาตัวเองด้วย ฉะนั้นเราจะต้อง ใช้การระมัดระวังตัวเอง จะต้องมีความแววไว ในการรู้จักประมาณ ในการดำริ นึกคิดรู้จักวาจา รู้จักอิริยาบถ พฤติกรรมต่างๆ แม้แต่อาชีพตามหลักมรรคองค์ ๘ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ เราจะต้องพิจารณา โดยโดนบังคับให้ปฏิบัติไปในตัว เพราะฉะนั้นจึงมีสิ่งเหล่านี้ เป็นเหตุปัจจัย จริงๆแล้วเมื่อเรามีโจทย์เพิ่มขึ้น เราต้องขยัน โจทย์พวกนี้ทำให้เรา มีแบบฝึกหัด เพิ่มขึ้น มากขึ้น ทำให้เราเจริญขึ้น แต่กระนั้นก็ดี ถ้ามันมากเกินไป ประมาณไม่ดี จัดสัดส่วนของการรับงานไม่ดี เราก็จะ ปฏิบัติธรรม ได้ช้าลง เพราะไปกังวลกับงานมากกว่า จิตของเราแทนที่จะแววไว มีการรับรู้เร็ว ปรับจิต ปรับใจได้เร็ว ที่เรียกว่า มุทุภูตธาตุ หรือมุทุภูตะของจิตก็จะไม่ค่อยดี เพราะฉะนั้นกรรม การงานหรือกัมมนิยะ การจัดสรรให้เหมาะให้สมในการงานต่างๆ ก็จะไม่ดีไปด้วย สิ่งเหล่านี้ ต้องพยายามจัดสรรให้พอเหมาะพอดีจริงๆ ดุลยพินิจของพ่อท่านต่อการขยายงานของลูกๆ ถ้าเป็นงานที่อยู่นอกนโยบาย หรือสิ่งที่ได้กำหนดพูดไปแล้ว อาตมาก็ไม่ได้ให้ทำ ไม่ปล่อยให้ทำ นอกจากไปทำกันเอง อาตมาก็ปรามๆอยู่ แต่งานใดที่เป็นงานซึ่งมันขยายตัวออกไป โดยเกี่ยวเนื่อง กับงานโน้นงานนี้ แม้ไม่ปรึกษาอาตมา ก็ทำไปก่อนได้ เพราะมีคณะกรรมการ มีที่ปรึกษา ช่วยกันดูแล การขยายร้านหนึ่งน้ำใจที่ศีรษะอโศก หลายคนห่วงว่าสร้างใหญ่โต จะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาหรือไม่ ? ถ้าเกิดปัญหาเขาก็ต้องรับผิดชอบ ต้องเรียนถูกเรียนผิดกัน คนที่มีจิตใจมีไฟแรง อย่างใหญ่ อย่างมาก พวกนี้ก็มีเป็นธรรมดา พวกมักน้อยอยู่ก็มีถ่วงดุลกันพอสมควร แต่เมื่อทำแล้ว ก็บอกกัน ทำแล้วก็ต้องทำให้รอด ต้องให้กำลังใจกัน จะติงกันบ้างก็ติงไม่เป็นไร แต่อย่าถล่ม กันมากเกินไป เพราะนิสัยเดิมของคน อยากจะทำใหญ่ทำมาก ก็โดนห้ามกันอยู่ เป็นธรรมชาติ ธรรมดาของคน เป็นการปฏิบัติธรรมเรียนรู้กันไป ของใครของมัน กรรมใครกรรมมัน ใครทำผิด ทำไม่ดี ก็เป็นวิบากไม่ดี ใครทำดีทำถูก มันก็เป็นวิบากดีของแต่ละคน เพราะฉะนั้น จะเอาตาม อำนาจกิเลสของเรา ทำผิดพลาดแล้ว เราไม่แก้ไข มันก็ผิดเรื่อย ก็เป็นวิบากไม่ดีไปเรื่อยๆ ก็เป็นของคนนั้นแหละที่ทำการใหญ่ มักใหญ่ มักมาก มันเป็นหลักการของพระพุทธเจ้ามาแล้ว ใครไม่รู้จักก็ทำใหญ่เกินตัว มันใหญ่มากไป ก็ผิดไม่ได้สัดส่วน ถ้าเราทำแล้วมีความพอดีใน DEMAND SUPPLY อะไรต่างๆนานาของมันอย่างชัดเจน มันก็โตไปได้ตามลำดับ ถึงจะบอกว่า มักน้อยสันโดษ ก็ไม่ใช่ต้องเล็กอยู่อย่างเก่า เรียกว่า จิ๋วอยู่ตลอดกาลอะไรก็โตไม่ขึ้น อย่างนั้น มันโง่ตาย เป็นพวกซื่อบื้อแล้ว อย่างนั้นมันไม่ใช่แนวทางของพระพุทธเจ้า ถ้ามันจะเจริญขึ้น มีประสิทธิภาพสูง มีความกว้างขวาง มีความใหญ่โตขึ้นไปตามสัดส่วนที่เป็นจริง และเป็น ประโยชน์อะไรๆได้ มันก็ควรต้องเจริญขึ้นไปอย่างนั้นแน่นอน อันนี้เราอย่าไปเข้าใจผิดๆ ไม่ถูกเรื่อง เราต้องรู้องค์ประกอบ รู้องค์รวมของมันว่าสัดส่วนนี้ มันสมเหมาะสมควรจริงไหม ขณะนี้ มันใหญ่ขึ้น มีที่ทำงานมากขึ้น มีที่ดินกว้างขึ้น มีอาณาเขตเพิ่มขึ้น มีความงอกงามที่มากเพิ่มขึ้น ขณะนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า เรามักมาก เราทำงานมากขึ้น เจริญมากขึ้น โรงงานมากขึ้น ผลผลิตมากขึ้น ใหญ่ขึ้น คุณภาพดีขึ้น เราเสียสละมากขึ้น แต่เอาน้อยลง อย่างนี้เป็นนัยะ ที่ลึกซึ้ง ที่ต้องมีปัญญาเข้าใจและทำให้สอดคล้องถูกต้องจริง เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่า มันใหญ่ เพราะอะไร ๑. ใหญ่เพราะรู้ว่าต้องทำงานที่เหมาะสม ที่เป็นประโยชน์สร้างสรรที่ดี ๒. ใหญ่แล้ว เราเอามากขึ้นหรือน้อยลง หรือได้ผลประโยชน์มากขึ้นแบบทุนนิยมซึ่งมันไม่ใช่ อาตมา เห็นอยู่ ขณะนี้ ถึงแม้เขาจะขยายร้านใหญ่เกิน เขาก็เหนื่อยของเขา ซึ่งเขาได้เสียสละ เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งไปจาบจ้วงอะไรกันมาก ถ้าฟังในแง่มุมนี้บ้าง จะได้เข้าใจและวางใจ อย่าไปพาซื่อว่า อะไรๆก็ต้องเล็กๆ เรื่องอย่างนี้ มีคนมาตู่อาตมามากมาย ทำไมสันติอโศกต้องขยาย ทุกวันนี้พวกเราก็เข้าใจ มองว่าขยาย ซึ่งที่จริง แม้แต่ที่พักอาศัย ที่ทำงานก็ยังไม่พอเลย เราทำงานอยู่ข้างในเรารู้อยู่ มันมีแต่ที่ทำงาน ที่ต้องใช้ทำประโยชน์เท่านั้น ส่วนที่พักจริงๆ เราขยายที่ไหนล่ะ กุฏิของสมณะ สิกขมาตุ ก็เล็ก อยู่เท่าเก่า หรือคนทั้งข้างในเราก็เบียดกันอยู่ ไม่ได้มีสัดส่วนเป็นของตัวเอง หรูหราฟู่ฟ่าอะไร ตัวบุคคลแต่ละบุคคลที่ทำงาน ก็ไม่ได้กอบโกย ไม่ได้สะสม ไม่ได้มักมากอะไรเพิ่มเติมขึ้นเลย มีแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น เราจะมองเอาประโยชน์จากกระแสที่เกิดขึ้นอย่างไร ? คนที่ถูกมองต้องวางใจ ว่าคนที่มองไม่ถูก ๑. เพราะเขายังไม่เข้าใจ ยังไม่ชัดเจน จึงมองอย่างนี้ ๒. คนที่เห็นใหญ่ขึ้นแล้ว ตัวเองขี้เกียจ มันมีโรคขี้เกียจของตัวเอง งานใหญ่ขึ้น ก็หนักขึ้นซิวะ ทำไปทำไมวะ แค่นี้ก็พออยู่แล้ว มันก็ต่อว่าอีกเชิงหนึ่ง สิ่งที่พ่อท่านหนักใจในหมู่พวกเรา จะว่าหนักใจก็ไม่หนักใจ อาตมาก็เห็นความเจริญของพวกเราอยู่ พวกที่ยังมีส่วนไม่ค่อยดี ที่แก้ไขไม่ได้ก็มี ยังปรับปรุงไม่ได้ ก็ต้องว่ากันไป มันก็ไม่ถึงขั้นขนาดเสื่อมเสียเลวร้ายอะไร มากมาย เราก็แก้ไขกันไป แต่ดูแล้วมีอัตราการเจริญของพวกเราอยู่
มีแต่ความเพียรพยายาม ตั้งใจ ลดละกิเลสตน - สารอโศก
อันดับที่ ๒๖๙ กุมภาพันธ์ - มีนาคม ๒๕๔๗ -
|