ชื่อเดิม พรพิมล ชัยรัตน์
ชื่อใหม่ ปานรุ้ง สุขเกษม
พี่น้อง ๖ คน เป็นคนที่ ๓
เกิด ๘ มีนาคม ๒๕๐๕
ภูมิลำเนา อ.เมือง จ.หนองคาย
การศึกษา ปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์
ม.รามคำแหง
สถานภาพ แต่งงานแล้ว มีบุตร ๑ คน
(ด.ช.ปานนี้ สุขเกษม)

อาชีพเดิม ขายอาหารมังสวิรัติ
ข้างศาลาว่าการ กทม.

ฐานะทางบ้านค่อนข้างลำบาก แต่ส่งเสริมให้เรียนจนจบปริญญา เป็นคนค่อนข้างจริงจังกับชีวิต ไม่ค่อยได้ใช้ชีวิตสนุกสนานสดใสแบบวัยรุ่นทั่วไป ตอนเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๓ รู้สึกทุกข์มาก เริ่มแสวงหาสิ่งที่จะทำให้จิตใจสงบขึ้น นึกถึงศาสนา จึงไปเข้าชมรมพุทธศาสตร์ เขาพาไป วัดธรรมกาย ไปนั่งสมาธิ ไม่ได้ผล ใจยังไม่สงบ

จนกระทั่งพบหมู่กลุ่มชาวอโศกในงานรามบูชาอาสาฬหะ ปี ๒๕๒๗ ได้ร่วมงานฟังรายการต่างๆ ได้สัมผัสกับญาติธรรม สมณะ และสิกขมาตุ เกิดความศรัทธา เพิ่งรู้ว่า การกินเนื้อสัตว์ ผิดศีล ข้อ ๑ เพราะเป็นต้นเหตุของการฆ่าสัตว์ ทั้งคำสอนหลายอย่าง เป็นคำสอนที่พิสูจน์ได้ เป็นวิทยาศาสตร์ สามารถแก้ปัญหาชีวิตได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเอง กินมังสวิรัติ ลดละ เรื่องเสื้อผ้าการแต่งตัว และไปฟังธรรมทุกวันอาทิตย์ที่พุทธสถานสันติอโศก จนเรียนจบ ในปี ๒๕๒๘

เมื่อเรียนจบ ไปทำงานที่ร้านอาหารมังสวิรัติ ข้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และส่งเงิน ให้น้องเรียนด้วย เป็นเวลา ๗ ปี

ปลายปี ๒๕๓๕ แต่งงานกับ ทนายรินไท สุขเกษม ใช้ชีวิตครอบครัวประมาณ ๖ ปีกว่า จึงตัดสินใจ พาครอบครัวไปอยู่ที่ชุมชนราชธานีอโศก เมื่อ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๒ เพราะ ๑. อยากให้ ลูกอยู่ในสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี และมีสุขภาพดี (ปกติลูกเป็นโรคภูมิแพ้ ต้องกินยาประจำ ปัจจุบัน ดีขึ้นมาก) ๒. ต้องการพัฒนาตนเองทำงานที่มีคุณค่าประโยชน์มากขึ้น

เมื่อมาอยู่ชุมชนฯ ช่วยงานที่โรงครัวกลาง เป็นแม่ครัวและผู้ประสานงานทำอาหาร งานอบรม เยาวชนคนสร้างชาติ และงานอบรมลูกค้าพักชำระหนี้ ธ.ก.ส. ทำอยู่ประมาณ ๒ ปี จึงไปทำงาน ที่ร้านปันบุญ ร้านค้าของชุมชน การทำงานด้านพาณิชย์นับเป็นงานที่ยาก ไม่เคยทำ ได้เรียนรู้ และต้องต่อสู้กับกิเลสตนเองพอสมควร ปัจจุบันได้รับหน้าที่เป็นผู้รับใช้ ที่ร้านอุทยานบุญนิยม

ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน
ช่วงแรกๆที่ชุมชนฯยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับงานด้านพาณิชย์นัก จะเน้นทำกสิกรรม และ งานอบรมเป็นส่วนมาก ส่วนของร้านอาหารมีชาวชุมชนและนิสิตหมุนเวียนมาช่วยกัน ปัญหาคือ ขาดการร่วมประชุมเก็บข้อมูลวิเคราะห์ปัญหาและพัฒนางาน คือต่างคนต่างทำงาน ไม่ได้หันหน้า มาคุยกัน

แนวทางแก้ไข ปฏิบัติธรรมเป็นผู้แววไว ออกจากภพ พยายามเปลี่ยนแปลงจากตัวเราเองก่อน และเริ่มให้มีการประชุมสรุปงานทุกสัปดาห์ พยายามหาเวลาให้ทุกคนได้แสดงความรู้สึก มีส่วนร่วมในการทำงาน และประชุมร่วมกับสมณะและสิกขมาตุ เพื่อจะได้ฟังธรรม และ ปรับทิฏฐิ ให้มีความเข้าใจกันดียิ่งขึ้น

ข้อปฏิบัติที่คิดว่ายากที่สุด การกินมื้อเดียว

คติประจำใจ อดทนให้ถึงที่สุด (เพราะมั่นใจและศรัทธาในหมู่กลุ่มชาวอโศก)

เป้าหมายชีวิต ปฏิบัติธรรม เป็นผู้เข้ากระแสพุทธแท้ๆ

ข้อคิดข้อฝากให้หมู่กลุ่ม หมู่กลุ่มชาวอโศกนับวันงานจะมากขึ้น จึงขอฝากเรื่องการจัดสมดุล การปฏิบัติธรรม การทำงาน และการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง มีอายุยืนยาว เพื่อสืบสานงาน ศาสนา ต่อไปนานๆ

- สารอโศก อันดับที่ ๒๖๙ กุมภาพันธ์ - มีนาคม ๒๕๔๗ -