กว่าจะถึงอรหันต์
พระวังคีสเถระ

เคาะกระโหลกของคนตาย
รู้ไปนรกสวรรค์
แต่กระโหลกอรหันต์
เคาะพลันไม่รู้ที่ไป.

อดีตชาติของพระวังคีสเถระนั้น เคยเกิดในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตระ เติบโตอยู่ใน ตระกูลผู้มั่งคั่งแห่งนครหังสวดี

วันหนึ่ง ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ได้ฟังธรรมเทศนาแล้ว เกิดปีติ อันประเสริฐยิ่ง ยินดีในคุณของพระสาวกที่พระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้ง ให้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุ ที่มีปฏิภาณ (ไหวพริบใน การกล่าวโต้ตอบได้ฉับพลันทันทีและแยบคาย) จึงนิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยหมู่สงฆ์ ให้เสวย และ ฉันภัต (อาหาร) ตลอด ๗ วัน

ในวันสุดท้ายนั้น ได้ถวายผ้าครอง แล้วหมอบกราบลงที่พระบาททั้งสองของพระองค์ จากนั้นจึง ลุกขึ้น ยืนประนมมือในที่อันควร ด้วยความศรัทธาเบิกบานใจ แล้วกล่าวสรรเสริญคุณของ พระองค์ อย่างมากมาย ปรารถนาจะเป็นภิกษุผู้เลิศด้วยปฏิภาณอย่างนั้นบ้าง

พระพุทธองค์ก็ได้ทรงพยากรณ์เขาว่า ในอนาคตกาลเขาจะได้เช่นนั้นสมดังปรารถนา เขายินดียิ่งนัก มีจิตประกอบด้วยเมตตา กระทำกุศลผลบุญจนตลอดสิ้นอายุขัย

ก็เพราะกรรมดีที่ได้สะสมไว้นั่นเอง ในการเกิดชาติสุดท้ายนั้น จึงได้เกิดที่นครสาวัตถีของ แคว้นโกศล ในสกุลปริพาชก (นักบวชพวกหนึ่งในชมพูทวีป ชอบสัญจรไปที่ต่างๆ เพื่อแสดง ทรรศนะปรัชญา ทางศาสนาของตน) ในวังคชนบท จึงได้ชื่อว่า วังคีสะ

เพียงแค่อายุได้ ๗ ขวบ ก็เป็นผู้รู้พระเวท (ความรู้ทางศาสนา) ทุกคัมภีร์ แกล้วกล้าในวาทศาสตร์ (วิชาว่าด้วยศิลปะการใช้ถ้อยคำให้ประทับใจ) มีเสียงไพเราะ มีถ้อยคำอันวิจิตร สามารถย่ำยีวาทะ ของผู้อื่นได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมัวเมาในวาทะเป็นเลิศของตน ท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ จากบ้านสู่บ้าน จากเมือง สู่เมือง โต้ตอบวาทะกับใครๆจนเป็นที่เลื่อมใสของมหาชนเป็นอันมาก

ครั้นผ่านกาลไป จนกระทั่งเป็นผู้รู้เดียงสาดีแล้ว แต่ยังอยู่ในช่วงปฐมวัย (อายุ ๑-๓๓ ปี) วันหนึ่ง ณ นครราชคฤห์ของแคว้นมคธ อันมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่ง เต็มไปด้วยคณาจารย์เจ้าลัทธิต่างๆ วันนั้น วังคีสะได้พบเข้ากับพระสารีบุตรเถระ ท่านถือบาตรเดินอย่างสำรวมดี ตาไม่ลอกแลก แลดูเพียงระยะ ชั่วแอก พูดแต่พอประมาณ เที่ยวบิณฑบาตอยู่ด้วยอาการอันน่าเลื่อมใส

วังคีสะเห็นแล้วเป็นที่อัศจรรย์ใจตนยิ่งนัก ถึงกับกล่าวชมเชยพระสารีบุตรเถระ ด้วยถ้อยคำ อันวิจิตร เป็นอันมาก แต่พระเถระได้บอกแก่เขาว่า

"พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของเราต่างหาก ที่ควรได้รับการชมเชยนั้น"

แล้วพระเถระผู้เป็นนักปราชญ์ยอดฉลาด ก็ได้สนทนาเป็นอย่างดียิ่งแก่วังคีสะ ให้ยินดีด้วย ปฏิภาณ อันวิจิตร ถ้อยคำอันประกอบด้วยวิราคธรรม (ธรรมอันเป็นไปเพื่อความสิ้นราคะ) ที่หาฟังได้ยาก ทำให้วังคีสะ เบิกบานในธรรม บังเกิดความศรัทธาแรงกล้า ถึงกับซบศีรษะ ลงแทบเท้าของท่าน แล้วขอว่า

"ได้โปรดบรรพชาให้กระผมด้วยเถิด"

เมื่อเป็นดังนี้ พระสารีบุตรเถระจึงพาวังคีสะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดมในวันนั้น ได้เข้าเฝ้า แล้ววังคีสะ ซบศีรษะลงที่พระบาทของพระศาสดา แล้วนั่งลงในที่ใกล้ๆนั้น

พระพุทธองค์เห็นวังคีสะแล้ว ทรงสนทนาด้วย และตรัสถามว่า

"ดูก่อนวังคีสะ ได้ฟังมาว่าท่านสามารถเก่งกล้ารู้วิชามากมาย แม้เพียงได้เคาะศีรษะของ คนที่ตาย ไปแล้ว ก็รู้ว่าตายแล้วจะไปสู่สุคติ (ทางไปดี) หรือทุคติ (ทางไปชั่ว) จริงหรือไม่?"

วังคีสะก็ทูลรับรองความจริงข้อนี้ของตน

"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้มนต์ชื่อฉวสีสะ เพียงใช้เล็บมือเคาะศีรษะ แม้ของคน ที่ตาย ไปถึง ๓ ปีแล้ว ก็จะรู้ได้ถึงที่ที่เขาไปเกิด นั่นเป็นวิชาพิเศษที่ข้าพระองค์มีจริง"

พระศาสดาทรงฟังคำตอบแล้ว จึงให้นำกระโหลกศีรษะมา ๓ อัน ให้วังคีสะบอกที่ไปของ เจ้าของ ศีรษะเหล่านั้น วังคีสะเคาะศีรษะแรกแล้ว กราบทูลอย่างภาคภูมิใจว่า

"เป็นศีรษะของคนที่ไปเกิดในนรก (ทุคติ) พระเจ้าข้า"

พอเคาะศีรษะที่สอง ก็ทูลอย่างเชื่อมั่นว่า

"เป็นศีรษะของคนที่ไปเกิดเป็นเทวดา (สุคติ) พระเจ้าข้า"

เมื่อเคาะศีรษะสุดท้าย เขาไม่อาจรู้ถึงที่ไปเกิดของเจ้าของศีรษะนั้นได้ แม้จะร่ายมนต์ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก เคาะกระโหลกศีรษะ อยู่เนิ่นนานก็ตาม จนเหงื่อไหลหยดจากหน้าผาก หมดมานะถือดี ในวิชาของตน ได้แต่นิ่งอยู่

พระศาสดาทรงเห็นเช่นนั้น จึงตรัสถามว่า

"ลำบากไหม วังคีสะ"

"ข้าพระองค์ไม่สามารถรู้ที่ไปเกิดของท่านผู้นี้ได้ ถ้าพระองค์ทรงทราบ โปรดตรัสบอกเถิด"

"เรารู้ดี ทั้งรู้ยิ่งกว่านี้อีกด้วย นี้เป็นศีรษะของพระอรหันต์ ผู้หมดกิเลสสิ้นเกลี้ยงแล้ว ไปสู่ปรินิพพาน (ไม่เกิดอีกแล้วในที่ไหนๆ)"

วังคีสะฟังคำตรัสจบ ก็หมอบกราบลงจรดพระบาทของพระศาสดา อ้อนวอนขอบรรพชาทันที พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงรับสั่งกับพระนิโครธกัปปเถระที่อยู่ใกล้ๆ

"เธอจงเป็นอุปัชฌาย์ (ผู้นำเข้าบวชในหมู่สงฆ์และเป็นผู้ปกครองดูแลรับผิดชอบฝึกสอน ให้การศึกษา) ให้วังคีสะบวชเถิด"

เมื่อบวชแล้วได้ไม่นาน วังคีสภิกขุอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ เขตเมืองอาฬวี กับพระนิโครธกัปปะ ผู้เป็น อุปัชฌาย์ เพราะยังเป็นภิกษุใหม่เพิ่งบวช จึงให้คอยดูแลเฝ้าวิหารไว้

มีอยู่วันหนึ่ง สตรีสาวหลายคนล้วนแต่งกายประดับประดาเสียงดงาม ได้พากันเข้าไปในวิหาร ภิกษุวังคีสะ เห็นสตรีเหล่านั้นแล้ว ก็เกิดความกระสันขึ้น มีความกำหนัดยินดีรบกวนจิตใจ จึงบังเกิด ความสลดใจด้วยคิดว่า

"ไม่ใช่ลาภของเราหนอ เราได้ชั่วเสียแล้วหนอ ที่เกิดความกำหนัดรบกวนจิต ก็แล้วเราจะมัว รอใคร มาช่วยบรรเทากิเลสให้เล่า อย่ากระนั้นเลย เราควรบรรเทาความกำหนัดเสีย ทำให้จิต ยินดีในกุศล เกิดขึ้นแก่ตน ด้วยตนเองเถิด"

ภิกษุวังคีสะจึงตั้งจิตเจริญวิปัสสนา (การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง) สอนตนเองว่า

"ยอดนักแม่นธนูฝีมือเลิศ มีใจแกล้วกล้ามั่นคง สามารถยิงลูกศรออกไป ทำให้ศัตรูตั้งพันหนี กระจัด กระจายไปได้ ฉันใด

แม้สตรีมากยิ่งกว่าพันจะมา ก็ไม่อาจจะเบียดเบียนเราได้ฉันนั้น เพราะเราเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ในธรรม เป็นผู้ออกบวชแล้ว เป็นผู้ไม่มีเหย้าเรือนแล้ว มีใจยินดีไปในทางสู่พระนิพพาน

ภิกษุควรละการครุ่นคิดไปในกาม ละความยินดีในภรรยาและบุตร ละการครองเรือน โดยประการ ทั้งปวง ไม่สร้างตัณหา (กิเลสทะยานอยาก) ดังป่าชัฏในที่ไหนๆอีก เพราะทุกสิ่ง ในโลกเป็นของไม่เที่ยง ล้วนต้องทรุดโทรมแตกทำลายไปทั้งสิ้น ผู้ที่รู้แจ้งแทงตลอดอย่างนี้ได้ ย่อมเป็นผู้หลุดพ้น

ปุถุชน(คนกิเลสหนา)ย่อมติดหลง หมกมุ่นพัวพันอยู่กับรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง กลิ่นที่ได้ดม รสที่ได้ลิ้ม และสัมผัสที่ได้แตะต้อง แต่ภิกษุควรเป็นผู้ไม่หวั่นไหว กำจัดความพอใจในกามคุณ ๕ นั้นเสีย เพราะผู้ไม่ติดอยู่ในกามคุณ ๕ บัณฑิตเรียกว่า มุนี (ผู้มีปัญญารู้แจ้ง)

ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต มีใจมั่นคงได้แล้ว เป็นผู้ไม่ลวงโลก มีปัญญาแก่กล้า ไม่ทะเยอทะยาน ดับกิเลส ได้สิ้นเกลี้ยง ย่อมรอคอยเวลาเฉพาะปรินิพพานเท่านั้น"

ภิกษุวังคีสะจึงบรรเทาความกำหนัดได้ด้วยตนเองเช่นนี้ กระทั่งมีอยู่วันหนึ่ง มีโอกาสเป็น ปัจฉาสมณะ (พระผู้ติดตามหลัง) ของพระอานนท์เถระ จึงถามถึงวิธีดับราคะ พระเถระ ได้สอนว่า

"จิตเร่าร้อนถึงกามราคะ ก็เพราะความสำคัญผิด สัญญาวิปลาส (จิตกำหนดรู้คลาดเคลื่อน จากความจริง) ฉะนั้นท่านจงละเว้นนิมิต (ต้นเหตุ) ที่สวยงามเสีย เพราะนิมิตนั้นเป็นที่ตั้ง แห่งราคะ จงเห็นสังขารทั้งหลายเป็นของแปรปรวน-เป็นทุกข์-ไม่ใช่ของตน จงดับราคะ อันแรงกล้า อย่าให้ถูก ราคะเผาผลาญบ่อย จงเจริญจิตในอสุภกัมมัฏฐาน (พิจารณา เห็นสังขาร เป็นของสกปรกน่ารังเกียจ) อบรมจิตให้ตั้งมั่นเด็ดเดี่ยวด้วยดี จงมีกายคตาสติ (สติในการ พิจารณากายเพื่อลดละกิเลส) เป็นผู้มากด้วยความเบื่อหน่ายในกาม แล้วที่สุดจงถอนอนุสัย (กิเลสอย่างละเอียดที่แฝงตัว นอนเนื่อง อยู่ในสันดาน) คือ มานะ (ความถือตัว) เสียให้สิ้น เพราะการรู้เท่าทันมานะ จะทำให้ท่าน เป็นผู้สงบ ระงับกิเลสได้"

เมื่อได้วิธีปฏิบัติแล้ว ภิกษุวังคีสะก็ได้ลดละกามราคะจนเหลือเบาบางลงอย่างรวดเร็ว จึงเกิดปีติ ในมรรคผลของตนยิ่งนัก เพราะเป็นผู้มีไหวพริบปฏิภาณดีนั่นเอง แล้วก็เพราะเหตุดังนี้ จึงทำให้ บางครั้ง ก็บังเกิดจิตดูหมิ่นภิกษุทั้งหลายขึ้นมา แต่ก็ด้วยการฝึกฝนและปฏิภาณของตน นั่นแหละ ทำให้ได้สำนึกละอายแก่ใจ มีความคิดอบรมตนว่า

"ไม่เป็นลาภของเราหนอ เราได้ชั่วเสียแล้วหนอ ที่ได้ดูหมิ่นเพื่อนภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก ด้วยไหวพริบ ปฏิภาณของเรา

ฉะนั้นจงละทิ้งมานะ (ความถือตัว) เสีย ละทิ้งทางแห่งความเย่อหยิ่งให้หมดสิ้น เพราะผู้ลบหลู่ ใครๆ ให้มัวหมอง จะต้องได้รับความเดือดร้อนตลอดกาลนาน จะไปตกนรก (เร่าร้อนใจ) ของคน กิเลสหนา ต้องเศร้าโศก อยู่เพราะความทะนงตนแต่ถ้าหากปฏิบัติธรรมถูกตรง ชนะกิเลส ด้วยมรรค (ข้อปฏิบัติ ให้ถึงความดับทุกข์ได้คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมไม่เศร้าโศก จะได้รับ เกียรติคุณ และความสุข บัณฑิตทั้งหลาย จึงเรียกผู้กระทำได้เช่นนี้ว่า ผู้เห็นธรรม

เราไม่ควรมีกิเลสตรึงใจในโลกนี้ ควรมีแต่ความเพียรให้ถูกตรง ละนิวรณ์(กิเลสกั้นจิตไม่ให้ได้ดี แล้วเป็นผู้บริสุทธิ์ ละมานะไม่ให้มีเหลือ เป็นผู้สงบระงับกิเลสด้วยวิชชา (ความรู้แจ้ง)"

ก็เพราะความละอายใจในการดูหมิ่นภิกษุทั้งหลาย ภิกษุวังคีสะจึงพากเพียรบำเพ็ญตน ด้วยตนเอง จนหลุดพ้นมานะทั้งปวงได้ สามารถบรรลุธรรมสำเร็จ เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งแล้ว

แต่เพราะภิกษุทั้งหลายไม่รู้ว่า พระวังคีสเถระได้อรหัตตผลแล้ว และยังเห็นมีนิสัยมักกล่าวชม สรรเสริญ พระศาสดามากมายหลายที่หลายแห่งเสมอๆ ทั้งยังพูดจาไพเราะเหมือนประจบ เที่ยวยกย่อง สรรเสริญไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นพระสารีบุตรเถระ พระมหาโมคคัลลานเถระ พระอัญญาโกณฑัญญเถระก็ตาม โดยดูเหมือนว่าไม่ใส่ใจในการปฏิบัติธรรมเลย เหล่าภิกษุ จึงพากันสนทนากันว่า

"ท่านวังคีสะนี้อาศัยปฏิภาณเอาแต่พูดจาไพเราะ ไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนธรรมอย่างแท้จริงเลย"

ครั้นพระศาสดาทรงรู้เรื่องแล้ว จึงได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

"ท่านวังคีสะบรรลุธรรมแล้ว ครอบงำทางผิดแห่งกิเลสมารได้แล้ว ทำลายกิเลสเครื่องตรึงใจ ได้หมดสิ้นแล้ว ปลดเปลื้องเครื่องผูกทั้งปวงแล้ว ตัณหามานะทิฐิไม่อาจอิงแอบได้เลย

เธอทั้งหลายจงรู้เถิดว่า วังคีสะสามารถจำแนกธรรม กล่าวธรรมได้ทันทีโดยไม่ต้องตรึกตรอง ไว้ก่อน ไม่มีใครอื่น จะเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่มีปฏิภาณ เหมือนดังวังคีสะนี้เลย

วังคีสะได้บอกทางไว้หลายประการ เพื่อให้ข้ามห้วงน้ำคือกามเป็นต้น ก็ในเมื่อวังคีสะ ได้บอกทาง อันไม่ตายไว้ให้แล้ว ภิกษุทั้งหลายที่ได้ฟังแล้ว ก็ควรเป็นผู้ตั้งอยู่ในความเป็น ผู้เห็นธรรม ไม่ง่อนแง่น คลอนแคลนในธรรม

วังคีสะเป็นผู้ทำแสงสว่างให้เกิดขึ้น แทงตลอดแล้วซึ่งธรรมฐิติ (ความมั่นคงในธรรม) ทั้งปวง แสดงธรรม อันเลิศตามกาลได้อย่างฉับพลัน เพราะรู้เองและทำให้แจ้งได้เอง

เมื่อวังคีสะแสดงธรรมด้วยดีแล้วอย่างนี้ พวกเธอจะประมาทไปไย ต่อธรรมของท่านผู้รู้แจ้ง แล้วเล่า จงอย่าประมาทเลย"

พระศาสดาทรงแต่งตั้งพระวังคีสเถระ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมพิเศษในทางใด ทางหนึ่ง) ผู้เลิศด้วยปฏิภาณกว่าภิกษุทั้งปวงแล้ว พระเถระมีวิชชา ๓ (ความรู้แจ้ง ๑. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ = รู้ระลึกชาติของกิเลสตนได้ ๒. จุตูปปาตญาณ = รู้การเกิดและ ดับของกิเลสสัตว์โลกได้ ๓. อาสวักขยญาณ = รู้ความหมดสิ้นไปของกิเลสตนได้) ได้บรรลุแล้ว มีอภิญญา (ความรู้ยิ่ง) ได้แล้วคือ อิทธิวิธี (มีฤทธิ์ทางใจสู้กิเลสได้) ทิพพโสต (หูทิพย์แยกแยะ กิเลสได้) เจโตปริยญาณ (รู้วาระจิต มีกิเลสหรือไม่ของตนและของผู้อื่น) และทิพพจักขุ (ตาทิพย์ มองทะลุกิเลสได้)

พระวังคีสเถระเผากิเลสทั้งปวงแล้ว หลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลายในโลกได้แล้ว เหมือนลูกศร หลุดออก จากแล่งไปแล้ว

ณวมพุทธ
พุธ ๑๔ เม.ย.๒๕๔๗
(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๗๒๗-๗๖๐
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๔๐๑
พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๑๓๔
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๓ หน้า ๔๘๔)

- สารอโศก อันดับที่ ๒๖๙ กุมภาพันธ์ - มีนาคม ๒๕๔๗ -