แม้มีผู้กล่าวสัจจะว่า "การทำสิ่งใดแปลกแตกต่างไปจากคนอื่น ย่อมถูกมองไปในแง่ร้ายบ้าง ส่วนหนึ่งเป็นธรรมดา"ก็ตาม แต่ในฐานะคนๆหนึ่ง หลายครั้งหลายครา เราให้เกียรติให้โอกาส ให้กำลังใจคนที่ คิดดี ทำดี กล้าคิด กล้าทำ เพราะถ้าเราไม่กล้าให้ แล้วใครจะให้

จากบทสัมภาษณ์พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ถึงบทบาทนักการศาสนา ต่อสังคมและมวล มนุษยชาติ ซึ่งมิใช่เพียงแค่มิติเพื่อประโยชน์ตนแคบๆเท่านั้น

ถาม ตะลอนทัวร์ของท่านนายกที่ผ่านมา มีเสียงคัดค้าน พ่อท่านมีความเห็นว่า มีผลต่อสังคม ประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างไร ?

ตอบ การตะลอนทัวร์ที่ท่านนายกทักษิณทำ เป็นมิติใหม่ของการบริหารประเทศไทยเลย เป็นวิธีการ ที่คิดใหม่ทำใหม่ของเขาจริงๆ รู้สึกว่ามีความเสี่ยงในหลายๆอย่าง ทั้งกล้าทำ กล้าเสี่ยง ทั้งๆที่มีเหตุการณ์อะไรต่างๆนานา ที่เกิดอยู่ในสังคมประเทศมากมาย ถ้าจะพูดในแง่ ของสังคม หรือแง่ของการบริหาร มันดีแน่ แต่นั่นแหละ ในแง่ของด้านการเมือง มองในเชิง การเมือง ก็มองได้ว่าเป็นการหาเสียง เป็นการสร้างภาพ แต่คนเราเวลามีมารยาทในสังคม เราก็พยายามทำมารยาทให้ดีๆเสมอ ถ้าใครพยายามทำอย่างนั้น จะบอกว่าเป็นการสร้างภาพ ไหมล่ะ การที่พยายามจะมีมารยาทดีๆในสังคมเสมอๆ มันก็เป็นการสร้างภาพเช่นกัน แต่ก็เป็น ความจริง และเป็นความจำเป็น ที่ควรทำด้วย ถ้าจะคิดในแง่สามัญอย่างง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องลึกซึ้ง อะไร เป็นเรื่องที่ควรพูดและเข้าใจได้ นายกก็ควรทำ และก็เป็นสิ่งดี นายกคนอื่นสิไม่ทำ แล้วไป มองว่าเขาสร้างภาพ หรือจะมองในแง่เชิงการเมือง เขาก็ว่าได้ว่าเป็นการหาเสียงอย่างโง้นอย่างงี้ แต่ก็จะเป็นไรไป หาเสียงก็ไม่เป็นไรนี่ ถ้ามันเป็นมารยาทที่ดี เป็นสิ่งที่ควรกระทำดังที่กล่าว เพราะฉะนั้น เอาเถอะ....ถ้าจะเป็นการต่อสู้ทางการเมืองของเขา ก็ว่าของเขาไป แต่ในแง่ที่ดี มันก็ดีแล้ว เพราะสังคมจะได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์ เท่าที่ควรได้รับ หรือจะมองในแง่อื่นๆ ในเชิง ของแนวลึกนิดๆหน่อยๆ ที่ว่านายกทำอย่างนี้ มีการอนุมัติเงินทอง ซึ่งโดยกฎหมาย นายกก็มี สิทธิอยู่ตามฐานะพอสมควร ถ้าว่าไปจริงๆแล้วก็เป็นเรื่องดี เพราะประชาชนได้ประโยชน์ เนื่องจาก นายกได้เห็นความบกพร่องส่วนนั้นส่วนนี้ ที่จริงเวลาอนุมัติก็ไม่ได้หมายความว่า นายกจะอนุมัติในรายละเอียดทั้งหมด หรือพูดว่าจะพิจารณาให้ ทางโน้นก็ตีขลุมว่านายก อนุมัติ ให้ทุกอย่าง โดยไม่ไปเข้าคณะกรรมการ หรือให้ผู้ที่จะร่วมรู้ร่วมคิดอะไร ช่วยพิจารณา ในรายละเอียดเพิ่มเติมอีก มันคงจะเป็นการอนุมัติในหลักการแล้ว ต้องนำไปพิจารณาใน รายละเอียด ตามระเบียบขั้นตอนเพิ่มเติมขึ้นไปอีก ไม่ได้หมายความว่า นายกจะเป็นเจ้าของเงิน เลยทีเดียว อาตมาว่าอย่างนั้นนะ ไม่ใช่อยู่ดีๆ นายกจะมานั่งหว่านเงินเล่น อย่างน้อยท่านก็มี สามัญสำนึกว่าจะทำง่ายๆอย่างนั้นไม่ได้ ท่านเป็นผู้ใหญ่ คงไม่ทำเล่นๆหัวๆโดยไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น การวิจารณ์ก็วิจารณ์กันได้ พูดในแง่ที่ได้อธิบายไปนี้ ทุกคนก็คงเข้าใจ คราวนี้เป็น เรื่องอะไรที่ประหลาดๆ เป็นเรื่องอะไรที่พิเศษๆในสังคม ในเรื่องอื่นก็ว่ากันไป แต่ในประเด็นนี้ อาตมาว่าการตะลอนทัวร์นี้เป็นเรื่องดี ควรจะทำแม้จะเหนื่อยเอาการ เพราะเดินทางนั่งรถกัน ตลอดเวลา ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่ใช่ธรรมดา มันเหนื่อยยังกับอะไร ก็น่าอนุโมทนา สาธุ

ถาม การที่ท่านนายกแวะค้างแรมตามวัดต่างๆ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อศาสนาอย่างไร?

ตอบ ก็ดีน่ะซิ มันเป็นแนวโน้มที่ชี้นำไปสู่จุดที่สำคัญของเนื้อหา เป็นการนำพามนุษย์ไปสู่จุดดี โดยท่านนายกทำตัวเป็นตัวอย่าง เมื่อผู้นำของประเทศ พาทำอะไรเหมือนแฟชั่น ก็นำแฟชั่นได้ ซึ่งก็เป็นความประเสริฐนะ ดีกว่าพาออกไปในทางอื่น อาตมาว่านะ พูดก็พูดเถอะ ให้เขาไปลง ข่าวคราวว่านายกไปสนับสนุนคอนเสิร์ตโน่นคอนเสิร์ตนี่ อาตมาว่ายังด้อยค่ากว่าที่นายก ทำเช่นนี้ คุณว่าไหมล่ะ

การพักตามวัดดีกว่าพักโรงแรมหรูๆ หรือพักบ้านรับรองที่สะดวกสบาย ซึ่งท่านทำได้แน่นอน มีคนเต็มใจจะให้พักด้วย บ้านใครก็ได้ บ้านคหบดีแต่ละจังหวัดมีทั้งนั้น ซึ่งเขาเต็มใจแน่ๆ ขอให้นายกเอ่ยปากเถอะ แต่ทีนี้ท่านเองบอกอยากไปค้างวัด และก็ทำตัวอย่างคนอยู่วัด ไม่กินข้าว มื้อเย็น มันยอดเลย และเป็นจุดนำพาไปหาเป้าหมาย ที่เป็นแนวโน้มนำที่วิเศษ


ถาม นโยบายของท่านนายก ที่ทำให้คนจนหมดไปจากประเทศไทย แต่นโยบายของพ่อท่าน พาคนมาจน จะเป็นการสวนทางกันหรือไม่คะ ?

ตอบ อาตมาพูดแล้ว ก็ยังพูดกับท่านนายกอยู่บ้าง แต่มีเวลาน้อย ก็พูดสั้นๆให้เห็นว่า การพาคน มาจนไม่ใช่จนอย่างสิ้นไร้ไม้ตอก แต่พามาจนโดยให้มาเห็นความจริง มันเป็นสัจธรรม ด้านโลกุตระ ซึ่งไม่ง่ายที่คนจะมาถึงจุดๆนี้ แต่โดยหน้าที่ของนายก ซึ่งต้องทำอย่างนั้นกับสังคม รอบกว้าง สังคมพื้นฐาน ก็ไม่แปลกไม่ขัดแย้งอะไรกัน และอาตมาก็อธิบายจุดสำคัญให้ฟังว่า อาตมาพาคนมาจน ไม่ได้หมายความว่า มารีดนาทาเร้นสังคม มาเป็นภาระสังคม มาเกาะกิน สังคม แต่ให้มาพึ่งตัวเอง และก็เป็นผู้ที่สร้างสรร เสียสละ สะพัดออก ไม่ต้องสะสมกอบโกย เป็นคนมักน้อยสันโดษได้แล้วจริง เพราะฉะนั้นคนมาจนอย่างนี้ มันก็ช่วยท่านนายกนั่นเอง เพราะว่าคนที่ต้องการมีอยู่เยอะ โดยหลักเศรษฐศาสตร์ เราเป็นผู้ให้ผู้สร้างสรร เป็นผู้สะพัดออก เกื้อกูลแจกจ่ายเจือจาน ก็เป็นการเสริมกัน ซึ่งอาตมาก็สรุปง่ายๆว่า คนหนึ่งเอา คนหนึ่งให้ มันไม่ได้ค้านแย้งอะไรกันและอยู่กันอย่างสงบ คนที่ยังอยากได้อยู่ก็อยากได้ไป แต่เราก็สอน ให้คนเป็นผู้เกื้อกูล แจกจ่าย มันก็อยู่ด้วยกันได้แล้ว อาตมายังย้ำว่าผู้ที่ต่างคนต่างจะเอา มันจะตีกัน แย่งกัน ท่านนายกก็ยังหัวเราะ ก็ยังย้ำเรื่องนี้เหมือนกัน พวกที่จะเอามันทะเลาะกัน ท่านเข้าใจ ก็ไม่มีปัญหาอะไร


ถาม พ่อท่านพูดถึงคนจนมหัศจรรย์ อยากทราบว่ามีลักษณะอย่างไร ?

ตอบ คนจนมหัศจรรย์เป็นคนอย่างที่พระพุทธเจ้าพาปฏิบัติ พาทำ เป็นคนมีคุณภาพ เป็นคนมี วรรณะสูง ซึ่งถ้าเอาหลักวรรณะ ๙ ของพระพุทธเจ้ามาจับ เป็นคนเลี้ยงง่าย สุภระ คือเป็นคน ที่ละลดกิเลส บำรุงง่าย สุโปสะ มักน้อย อัปปิจฉะ สันโดษ มีใจพอ สันตุฏฐิ เป็นผู้ขัดเกลา กาย วาจา ใจ สัลเลขะ เป็นผู้มีศีลเคร่ง ธูตะ มีหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตนเองให้สูงขึ้น เป็นอธิศีล ไปเรื่อยๆ และมีอาการน่าเลื่อมใส ปาสาทิกะ มีพฤิตกรรมที่ดี เป็นคนไม่สะสม อัปปัจจยะ เป็นคน ยอดขยัน วิริยารัมภะ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนมีวรรณะเป็นคนชั้นสูง เพราะฉะนั้น คนที่มาปฏิบัติอย่างนี้แล้ว เป็นคนจน ที่มีสมรรถนะ เป็นคนรู้จักสาระของชีวิต จะเป็นคนสร้างได้มาก ให้คนอื่นได้มาก แต่เอาไว้ใช้น้อย จ่ายน้อย และก็ไม่สะสม จึงเป็นคนจนที่มั่นใจในสมรรถนะของตน มั่นใจใน ความสันโดษของตน มั่นใจว่าทั้งหมด เป็นทรัพย์ในตัวเรา และทรัพย์นี้ไม่มีใครแย่งไปได้ จึงเป็น คนจนได้อย่างยั่งยืนถาวร ยิ่งเป็นคนจนในสังคมเดียวกัน รวมกันอยู่เป็นระบบสังคม มีวัฒนธรรม แบบสาธารณโภคี กินใช้เป็นส่วนกลาง ไม่มีเป็นของส่วนตัว สร้างสรรได้แล้ว ก็มารวมกัน เพราะฉะนั้น แม้อยู่ในระบบสังคม ที่เราไม่ได้สะสมอะไรเลย ก็ไม่ต้องกลัว เวลาเจ็บป่วย หรือแม้มีความจำเป็นเดือดร้อนส่วนนั้นส่วนนี้ก็ตาม คนจนชนิดนี้แหละ เป็นคนจน มหัศจรรย์ ที่รู้ว่าเราจนอย่างเข้าใจด้วยปัญญา และเราก็เต็มใจที่จะไม่สะสม แต่กลับเสียสละ สะพัดออกสู่สังคม ไม่เป็นปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นปลาใหญ่ที่กลับช่วยปลาเล็ก การสร้าง ความจนหรือสร้างคนให้มาเห็นจริง ยอมจนอย่างที่ว่ามานี้ จึงเป็นความจนที่ยอดเยี่ยม เป็นสังคม ดีที่สุด เป็นสังคมที่อยู่สุขที่สุด และผู้ที่เกิดปัญญาญาณเข้าใจความจนอย่างที่กล่าว ในเชิงธรรมะก็เป็นกุศลวิบากด้วย แม้เป็นกุศลโลกีย์ก็ตาม ยิ่งใจเราให้จริงๆแบบลดกิเลสจริงๆ ก็เป็นกุศลโลกุตระด้วย เป็นทั้งมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นผู้ศึกษาธรรมะดีๆแล้ว จะเข้าใจ แนวทางในการสร้างอาริยสมบัติแบบนี้ จนถึงขั้นเป็นศูนย์ การเป็นคนจนมหัศจรรย์ จึงเป็นเรื่อง ที่ได้ทั้งประโยชน์ตน ตนได้สร้างกุศลอย่างดี และประโยชน์ท่าน เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อผู้อื่น ไปอย่างพร้อมพรั่ง


ถาม กรณีการจัดงานคอนเสิร์ตการกุศล เพื่อหาเงินช่วยท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ อยู่ในนัยะนี้ หรือไม่ และเป็นกิจกรรมที่วัดสมควรทำไหมคะ ?

ตอบ ท่านอังคารเป็นคนที่มีประโยชน์ต่อสังคม และเราก็เห็นดีว่า น่าจะช่วยก็ช่วยกันไป ไม่มีใคร เป็นเจ้าภาพ จัดในนามของสังคม นี่แหละอยู่ในระบบของคนจนมหัศจรรย์เขาทำกัน และเป็น กิจกรรมของวัด ที่วัดแต่ละวัดควรจะทำ แต่ไม่ใช่วัดจัดแล้ววัดก็กอบโกยเอาจากของประชาชน ก็เท่ากับรีดนาทาเร้นประชาชน ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้น แต่ควรเฉลี่ยสะพัดไปถึง คนที่ควรเป็น ควรได้ วัดควรเป็นตัวกลาง ให้คนมาเผื่อแผ่ มาช่วยกัน เพื่อให้รู้ว่าคนนั้นกำลังรับทุกข์เดือดร้อน เราควรมาช่วยเหลือเฟือฟายกันนะ งานนี้เราจัดเป็นกิจจะลักษณะ เป็นเรื่องเป็นราว ก็เลยดูใหญ่ ก็พยายามกัน เข้าใจให้ได้ เข้าใจและนำไปทำ ใครจะทำเล็กทำน้อยซ้อนๆกันไปในแต่ละคน แต่ละครอบครัวก็ได้ ถ้าทุกคนเข้าใจ ก็เฉลี่ยทำไป กระจายกันทำทั่วๆไป ก็จะเกิดการสะพัด เกิดสภาพ เกื้อกูลกัน การเอื้ออาทรต่อกันอย่างกว้างขวาง ดีไหมล่ะ


ถาม เราจะมีมาตรฐานอย่างไร สำหรับในภายภาคหน้า ถ้ามีใครมาขอให้เราจัดอีกคะ ?

ตอบ พิจารณาเป็นคราวๆเป็นคนๆ คนที่เหมาะสม คนที่สมควรไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นคนที่ไม่ เหมาะสม ทีเดียว หรือทำไปก็ไม่มีใครเขาจะมาช่วย ทำไปก็เสียแรงเปล่า เสียเวลาเปล่า ซึ่งมันก็เป็นไปตามวิบากของผู้นั้นๆ สิ่งเหล่านี้มีองค์ประกอบของมัน ไม่ใช่ว่าทำได้ทุกคน ทุกครั้ง เสมอไป แต่ในส่วนย่อยทำได้ คนนั้นคนนี้มีญาติ มีเพื่อนฝูงมิตรสหาย มีกลุ่มหมู่ ก็ควรทำ ลักษณะนี้แหละ กิจกรรมอย่างนี้ไปทำย่อย เล็กๆน้อยๆ บริจาคช่วยกัน ๑๐๐, ๑,๐๐๐ ก็ทำ กันไปเถอะ จะเกิดความอบอุ่นมากทีเดียวในสังคม


ถาม มีผู้วิจารณ์ทุกงานของเรา จะเน้นหนักในเรื่องทำอาหารมากมาย พ่อท่านคิดว่า มากไปหรือยังคะ ?

ตอบ เออ!....มากไปก็ไม่เป็นไรหรอก มันไม่ได้กินกันทุกวัน นานๆที เป็นการแสดงออก ที่ไหน จัดงานก็เป็นอย่างนี้แหละ ที่ไหนจัดงานอาหารไม่มากพอ อาหารขาดแคลน งานนั้นเจ๊ง อาหาร ควรเหลือเฟือกินกันจนอิ่ม มันจึงจะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเต็มใจที่จะเสียสละ เอื้อเฟื้อ จนเหลือจนเกิน ไม่ใช่กินกันแล้วก็ขาด ก็ไม่พอ เอ!....นี่มันฝืนใจจัดเลี้ยงหรือเปล่า เบียดเบียนกัน หรือเปล่า ถ้าแสดงออกถึงลักษณะนี้ ก็ไม่ถูก แต่เราก็ควรมีประมาณกะกันว่ามีคนมาเท่าไร อาหารควรเท่าไร ไม่ใช่ระดมกันออกมามากๆ จนล้นจนเหลือทิ้งมากเกินไป ความจริงเวลาเราทำ ก็ไม่ใช่ว่า เราปรุงเสร็จมาทั้งหมด จริงๆพอเสร็จงาน เราก็เหลือวัตถุดิบ นำไปเก็บไว้ทำกินต่อได้ ไม่เหมือนกับการไปจ้างโต๊ะจีน เหมาแล้วกินไม่หมด ก็ยังต้องทิ้ง ก็ยังต้องจ่ายทั้งหมด


ถาม มีนัยะอื่นแฝง เพื่อฝึกอะไรลูกๆหรือไม่คะ ?

ตอบ ให้ฝึกเสียสละ นี่แน่นอน แต่จริงๆเป็นแนวลึกอีกมิติหนึ่งนะ เราบริจาคอาหารให้คนกิน อาหารเป็นปัจจัยหลักของชีวิต มันเหมือนกับการให้ชีวิตกัน มันเหมือนกับการช่วยชีวิตกัน ไม่เหมือนบริจาคเสื้อผ้า บริจาคที่พักอาศัย ซึ่งไม่ลึกเหมือนบริจาคอาหาร ถ้าลองไปให้สัตว์ เดรัจฉาน คุณไปให้อะไรอื่น มันไม่เอาหรอก มันเอาอาหารอย่างเดียว ฟังข้อเปรียบเทียบนี้ จะชัดขึ้น มนุษย์ก็นัยเดียวกัน พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "อาหารเป็นหนึ่งในโลก" ขอให้ทำไปเถอะ ถึงงานเราจะเป็นชาวบ้านๆพื้นๆ ขมุกขมัว แต่งตัวไม่สะไม่สวยอะไร แต่เรามีอาหารเลี้ยงกัน อิ่มหนำ สำราญทุกคน เราอาจเล็กๆไม่หรูหรา ไม่โก้ไม่สวยเหมือนเขา เรามีอาหารที่เป็นบุญ และ ไม่เป็นพิษด้วย เราไม่จัดแบบสังคมชั้นสูงที่ฟุ้งเฟ้อ สุรุ่ยสุร่าย แต่เราทำเนื้อหาแท้ๆ แบ่งกันกิน กันใช้ มาสร้างวัฒนธรรมอย่างนี้กันดีกว่า


ทำไมพุทธศาสนาจึงสืบทอด
ยาวนานมาได้กว่า ๒ พันปี
เพราะสิ่งใดไม่มีวันตาย
สิ่งนั้นจึงมีชีวิตอยู่นิรันดร์
ชีวิตของศาสนา คือ การศึกษาเรียนรู้
โลกของศาสนา จึงน่ารื่นรมย์
เราตื่นเต้นกับการแสวงหา และการค้นพบ
จากบทเรียนนี้ สู่บทเรียนโน้น
จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง

-สารอโศก อันดับที่ ๒๗๐ เมษายน ๒๕๔๗ -