บันทึกจากปัจฉาสมณะตอน... งานก้าวหน้า คนก็พัฒนา ย่อมสมบูรณ์ด้วยความสุขมกราคม ๒๕๔๗ หลักการที่น่าสนใจรวมถึงการสรุปงานปีใหม่ งานปีใหม่นี้มีหลายอย่างที่น่าสนใจ สิ่งที่พ่อท่าน นำมากล่าวอย่างเป็นหลักการ ที่น่าติดตามก็คือ ลักษณะของ ชุมชน เข้มแข็ง ๑๔ ข้อ ต่อด้วย เหตุผล ที่สมัยพระพุทธเจ้าไม่สามารถทำระบบ สาธารณโภคี ไปถึงระดับ ฆราวาสมี ๘ ประการ แถมต่อ ด้วยบางส่วนจากการประชุม สรุปงานปีใหม่ ส่วนรายการ ที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น รายการของ คุณโสภณ สุภาพงศ์ ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ คุณมาร์ติน ผู้ที่สนใจรายละเอียด ติดตามได้จากฝ่าย เผยแพร่ ทั้งเท็ปและ หนังสือต่างๆ ทั้งข่าวอโศก สารอโศกเล่มก่อนๆ เตือนการขยายตลาดเกินแรง จะทำให้พึ่งตนเองไม่รอด ๗ ม.ค. ๔๗ พ่อท่านทำวัตรเย็น ที่สันติอโศก โดยนำบทความจากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ ๖ ม.ค. ซึ่งมี ดร.ปรีชา เปี่ยมพงษ์ศานต์ ดร.วิษณุ บุญมานัตถ์ คุณสุวิดา แสงสีหนาท ได้ร่วมกัน เขียน เนื้อหา เป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ การเมืองวิพากษ์ ในหัวข้อหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ มาอ่าน แล้วอธิบายให้พวกเราฟัง มีสิ่งใด น่าสนใจ เชิญพลิกไปอ่านได้ วันเด็กที่ปฐมอโศก เป็นที่น่าเสียดายว่าเสียงที่ได้บันทึกไว้หาย ในช่วงที่อุปกรณ์ ต่อพ่วงมีปัญหา ผู้สนใจรายละเอียดติดตามจากฝ่ายเผยแพร่เท็ปได้ พ่อท่านให้ คำขวัญวันเด็กปีนี้ว่า ทั้งเด็ก ทั้งคนแก่ ถ้ามีแต่ความรักความเกื้อกูล ย่อมสมบูรณ์ ด้วยความสุข คำขวัญนี้ได้ประโยชน์ ทั้งเด็กและคนแก่ คณาจารย์ราชภัฏเชียงรายสนใจ การปลูกฝังคุณธรรมให้นักศึกษา ๒๐ ม.ค. ๔๗ คณะอาจารย์ จากสถาบันราชภัฏเชียงรายได้มาดูงานการศึกษาของสัมมาสิกขา สันติอโศก เพื่อศึกษา รูปแบบการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้กับนักศึกษา การปลูกฝัง จิตวิญญาณ ของความเป็นครูนั้น จะต้องทำอะไรบ้าง? ปัจจุบัน โลกทุกวันนี้ เดือดร้อน วุ่นวาย เต็มไปด้วย วัตถุนิยมมากมาย สภาพสังคมภายนอก เปรียบเหมือนอสรพิษ ที่เราต้องเผชิญ พ่อท่าน จะให้ข้อคิดเป็นคติอย่างไร ที่จะทำให้ เราดำเนินชีวิต ในโลก ปัจจุบันครับ? การที่จะแสวงหา ความจริง ที่จะทำให้คนรู้ ความจริงนั้น ไม่แน่ใจว่าความจริง ที่ว่านั้นมันจะหาได้ยากหรือเปล่า? เป็นตัวอย่าง คำถาม ซึ่งพ่อท่านจะตอบอย่างไรเชิญพลิกไปหาคำตอบได้ ให้โอวาทสมณะมหาเถระ ๒๒ ม.ค. ๔๗ สมณะมหาเถระประชุมที่ภูผาฟ้าน้ำ พ่อท่าน ได้ให้ โอวาทมีประเด็นเล็กๆที่เตือนสมณะมหาเถระว่าอย่างไร นอกไปจาก การย้ำเตือน เรื่อง ๓ ส. (สตรี,สตังค์, สังฆเภท) ขึ้นเหนือ ฉลองหนาว การเดินทางขึ้นเหนือเพื่อร่วมงานฉลองหนาว มีเหตุการณ์ใด ที่น่าสนใจ ทั้งก่อนการเดินทาง และเมื่อไปถึงเชียงใหม่แล้วเป็นอย่างไร? พ่อท่านทำ อะไรบ้าง ในงานฉลอง หนาว การประชุมพรรคเพื่อฟ้าดินมีประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เช่น สมควรยุบพรรคหรือไม่ ศาสนากับการเมืองคือจุดเดียวกัน? ทำไมต้องรีดเลือด จากปู? เหตุผลใด ในการอนุโลมรับเงิน ช่วยเหลือจากรัฐ? ข้าวเปลือกราคาสูง โรงสีของเราสมควรซื้อ นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ที่ถูกหยิบขึ้นมาพูด ในการประชุมพรรค เป็นการทำงานการเมืองกับประชาชนที่แท้ ซึ่งพ่อท่าน มุ่งหมายให้ต่างไปจาก การเมือง อย่างที่เป็นอยู่ทั่วไป ผู้สนใจรายละเอียดติดตามได้จากเอกสารของพรรค เอื้อไออุ่นที่ดอยรายปลายฟ้า เสร็จจากฉลองหนาวที่เชียงใหม่ พ่อท่านเดินทางต่อ ไปเชียงราย การพูดคุย กับญาติธรรมเชียงราย มีประเด็นที่น่าสนใจ การทำบุญ สร้างพลาภิบาล จะได้อานิสงส์ อย่างไร? บังคับให้ผู้อื่นทำดีจะมีวิบากไหม? ทำอย่างไร จึงจะไม่มีความกำหนัด? ชายแก่ ที่ยังมี ความกำหนัด พ่อท่านเห็นอย่างไร? ส่วนที่เป็นบุญ และบาปของคนเหนือ และคนอีสาน เป็นอย่างไร? ปิดท้ายบันทึกฉบับนี้จากบางส่วนของโอวาทปิดประชุมชุมชนปฐมอโศก (๑๒ ม.ค. ๔๗) โดยสรุป ปัญหาเมื่องานก้าวหน้า แต่คนก้าวหน้าไม่ทัน พ่อท่านเห็นอย่างไร? |
หลักการที่น่าสนใจรวมถึงการสรุปงานปีใหม่ ๒ ม.ค. ๔๗ ที่ราชธานีอโศก พ่อท่านแสดงธรรมทำวัตรเช้า จากบางส่วน ที่กล่าวถึง เหตุผล ที่การทำ สาธารณโภคีกับสังคมฆราวาสในยุคสมัยของพระพุทธเจ้า ยังไม่สามารถทำได้ เช่น สมัยนี้เพราะ ๑) ยุคสมัยนั้นเป็นสมบูรณาญาสิทธิราช ๒) ยุคสมัยนั้นยังเป็นยุคของสังคมทาส ๓) คนยุคสมัยนั้นยังไม่รู้เรื่องสิทธิมนุษยชนที่มีตามธรรมชาติ มีตามกฎหมาย มีตาม วัฒนธรรม และ มีตามสัจธรรม ๔) สังคมยังไม่เลวร้ายหนักหนาสาหัสเท่ากับสังคมยุคนี้ จึงไม่จำเป็นต้องมีกลุ่ม สังคม ที่ไม่เลวร้าย หรือ เป็นสังคมคนดี มีวัฒนธรรมคนดีที่ดีอย่างเข้มข้น ที่ดีอย่างเป็น ตัวอย่าง ได้จริง ชัดเจนยืนยัน ความเป็นคน เป็นสังคมที่ดีที่สุด ถึงขั้นฆราวาส ที่ต้อง มีประสิทธิภาพ ถึงขั้นระบบสาธารณโภคี เพื่อถ่วงดุลหรือจูงนำสังคมที่ยังไม่ดี ๕) ทรัพยากรของโลกยุคนั้นยังไม่อัตคัดขาดแคลนเท่ายุคสมัยนี้ ๖) สิทธิในทรัพยากรยุคสมัยนั้นยังไม่เคร่งเครียดแย่งชิงเท่าสมัยนี้ ๗) ทรัพยากรสาธารณะในยุคนั้นยังมีมากมายเหลือเฟือ กว่ายุคสมัยนี้มาก ๘) ความมีอิสรเสรีภาพของคนยุคโน้น ยังไม่รุ่งเรืองเท่าสมัยนี้ ๙) และในยุคโน้นยังไม่ถึงขั้นเปิดโลก หรือยังไม่ถึงขั้นโลกาภิวัตน์ [Globalization] ๓ ม.ค. ๔๗ ที่ราชธานีอโศก จากบางส่วนที่พ่อท่านแสดงธรรมทำวัตรเช้า พ่อท่าน ได้นำเอา ลักษณะชุมชนเข้มแข็ง ๑๔ ประการมาอธิบายย้ำให้ความรู้กับชาวอโศก ขณะเดียวกัน ก็เป็นการบอกถึงนโยบายที่ชุมชนต่างๆควรทำให้ไปสู่จุดนั้น ๑) เป็นสังคมที่เห็นได้ชัดถึงลักษณะของคนมีศีล มีคุณธรรม มีอาริยธรรม ๒) เป็นสังคมที่สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่เป็นภาระผู้อื่น ๓) มีงานที่เป็นสัมมาอาชีพ มีกิจการเป็นสาระที่มั่นคง ๔) ขยัน สร้างสรร ขวนขวาย กระตือรือร้น ๕) อยู่กันอย่างผาสุก สุขภาพแข็งแรง จิตใจเบิกบานร่าเริง ๖) ไม่ฟุ้งเฟ้อ แต่รุ่งเรืองฟุ้งเฟื่อง ไม่ผลาญพร่าสุรุ่ยสุร่าย ๗) มีความประณีตประหยัด แต่เอื้อเฟื้อสะพัดแจกจ่าย ๘) ไม่มีอาชญากรรม ไม่มีอบายมุข ไม่มีทุจริตกรรม ๙) มีความพร้อมเพรียง สามัคคี อบอุ่น เป็นเอกภาพ ๑๐) สัมผัสได้ในความเป็นปึกแผ่น แน่นหนา ของความเป็นกลุ่มก้อนภราดรภาพ ๑๑) มีความแข็งแรง มั่นคง ยืนหยัด ยั่งยืน ๑๒) เป็นสังคมที่สร้าง"ทุนทางสังคม" มีประโยชน์คุณค่าต่อผู้อื่น และสังคมทั่วไป รอบกว้าง ๑๓) อุดมสมบูรณ์ แต่ไม่สะสม ไม่กักตุน และไม่กอบโกย ๑๔) มีน้ำใจ ไม่เอาเปรียบ เสียสละอย่างเป็นสุข และเห็นเป็นคุณค่าของคนตาม สัจธรรม ซึ่งต่อมามีผู้เสนอให้ทำป้ายลักษณะชุมชนเข้มแข็ง ๑๔ ประการนี้ ติดไว้เป็นนโยบาย กับทุกชุมชน ของชาวอโศก พ่อท่านเองก็เห็นดี และในช่วงเย็น (๓ ม.ค.) มีการประชุมสรุปงานปีใหม่ ฝ่ายบัญชีแจ้งว่างานนี้รวม กำไรอาริยะ ๔,๑๗๐,๑๖๙ บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมงาน ๙๙๗,๙๘๖ บาท เป็นค่าใช้จ่าย ในการซื้อ และขายสินค้า ๒๖๔,๐๒๐ บาท สินค้าทั้งหมดซื้อมาเป็นเงิน ๑๕,๙๑๕,๖๖๕ บาท ขายไป เป็นเงิน ๑๓,๐๐๗,๕๐๒ บาท เพราะฉะนั้น ถ้าคิดอย่าง ทุนนิยม ขายขาดทุนเป็นเงิน ๒,๙๐๘,๑๖๓ บาท สินค้าที่มียอดเงินขายได้เป็นอันดับหนึ่งคือของใช้ครัวเรือน เป็นเงิน ๖,๙๖๐,๘๓๙ บาท อันดับสอง ได้แก่เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ๓,๓๒๔,๑๒๕ บาท อันดับสาม ประเภท เครื่องจักสาน ๘๙๖,๔๘๗ บาท อันดับสี่ คือผักผลไม้และพืชไร่ ๗๑๗,๔๒๗ บาท อันดับห้า อาหารแห้ง ๔๔๖,๒๑๐ บาท อันดับหก เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนอโศก และ สมุนไพร ๒๙๐,๒๗๐ บาท อันดับเจ็ด คืออาหารสด ๒๓๙,๖๑๕ บาท อันดับแปด หนังสือ และสื่อธรรมะ ๑๐๙,๑๕๔ บาท สุดท้าย เป็นประเภท ของเบ็ดเตล็ด ๒๓,๓๗๕ บาท เมื่อพูดถึงเรื่องการแสดง มีประเด็นเรื่องการแต่งหน้าแต่งตัว และการติดต่อ นักแสดง จากข้างนอกมา พ่อท่านยืนยันที่จะคงกติกาเดิมไว้ คือห้ามแต่งหน้าเพราะเป็นภัยมาถึงร่างกายด้วย และ ไม่ควรติดต่อ นักแสดงจากข้างนอกมาแสดง เพราะคนนอกมาแสดง ก็แสดง กิเลสของเขา ของเรา มันมีสารัตถะ เป็นเนื้อหาที่เสริมสร้าง มันไม่เหมือนอย่างของเขา ของเราจะปลุกเร้า ประทับใจ อย่างของเรา ของเขามันมี Concept อย่างของเขา เพราะฉะนั้น ไม่ควรเชิญคนนอกมาแสดง ฝ่ายจัดรายการการแสดงต่างๆบอกเล่าว่า ลำบากใจมากที่คนนอกมาแล้ว เขาแต่งตัว ชุดโชว์อกบ้าง และแต่งหน้ามากด้วย เวลาเราไปบอกเขาให้ลบออก เขาจะไม่พอใจ เรามาก สุดท้ายพ่อท่านให้โอวาทปิดการประชุมสรุปงาน งานที่เราทำอยู่ มันเป็นความอุดม สมบูรณ์ เป็นความพรักพร้อม เป็นความอบอุ่น จัดงานแต่ละปีๆ เราไม่ได้อะไรมา มีแต่จ่ายออกไปทั้งนั้น จ่ายออกไป มากขึ้น แต่เราก็ไม่ถึงกับเป็นหนี้เป็นสิน อย่างดี ก็เกื้อกันไปเกื้อกันมา มันเป็นธรรมชาติ ของสังคมที่ต้องมีความเอื้ออาทร เด็กๆนี่ เล่นกันครึ่งหนึ่ง ทำจริงๆกันส่วนหนึ่ง มันก็ยังน่าเอ็นดู งานมีร้อยหนึ่ง แต่เราเอาคน มาอยู่ตั้งสองพัน งานมันก็เลยดูนิดเดียว คนสองพัน ทำจริง แค่พันเดียว เลี่ยงเสีย ห้าร้อย มันก็เป็นธรรมชาติของมัน เราไม่ได้เอาเงินไปจ้าง เอาลาภไปล่อ เราไม่ได้บังคับ ให้เขาทำ มีแต่ให้เกิดสำนึกที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง ถ้าจะคิดอย่างทุนนิยม คนสองพัน แค่กวาดเช็ดถู ถ้าจ่ายค่าจ้าง มันไม่เกิดผลมาก เขาก็จะมองว่าอย่างนี้สูญเสีย แต่บุญนิยม ว่าอย่างนี้ไม่ใช่น๊า มัน Abstract มันซับซ้อนหลายชั้น อย่างเทศกาลเจ ชาวบ้านราชฯ ไปช่วยกันที่ร้านทำอาหาร คนตั้ง ๒๐๐-๓๐๐ คน เราไม่ได้จ้าง เขาไปทำ ด้วยสำนึก เพราะฉะนั้น มันจะสูญเปล่าไปบ้าง ก็ยังได้ผลทางนามธรรมที่คุ้ม มันเป็นการศึกษา มันเป็นแบบฝึกหัด มันเป็นเรื่องของสังคม คนจะเลี่ยงบ้าง ก็เป็นสิ่งที่ เขาจะต้องเกิดการเรียนรู้ มันเกิดมานุษยวิทยา มันจะเกิดสังคมศาสตร์ เกิดการเอื้อเฟื้อ เกื้อกูลที่ตีราคาเป็นเงินไม่ได้ เกิดสาธารณโภคีที่ทุกคนทำแล้ว ไม่ใช่เพื่อรายได้ของตน เตือนการขยายตลาด ขยายงานเกินแรง จะทำให้พึ่งตนเองไม่รอด ๗ ม.ค. ๔๗ ที่สันติอโศก วันนี้เป็นวันพุธมีการทำวัตรเย็น พ่อท่านนำเอาบทความ จากหนังสือ พิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๖ ม.ค. ซึ่งมี ดร.ปรีชา เปี่ยมพงษ์ศานต์ ดร.วิษณุ บุญมานัตถ์ คุณสุวิดา แสงสีหนาท ได้ร่วมกันเขียนบทความ เป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ การเมืองวิพากษ์ ในหัวข้อ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ มาอ่านแล้วอธิบาย ให้พวกเรา ฟังว่า "....ดร.ปรีชา เป็นนักมองสังคม ในเรื่องของ เศรษฐกิจ ก็สอดคล้องกับเรา สมัยแรกๆเราเคยเชิญมาร่วมอภิปราย เท่าที่ได้อ่านบทความนี้แล้วเห็นว่า เราอยู่ในสังคม ร่วมกับเขา แล้วเราก็ทำอะไรเท่าที่สังคมคิดว่าควรจะเป็น ซึ่งอาตมาเอง ก็ติงพวกเรามาตลอดว่า ระวัง อย่าไปทำอะไร ที่มันมากเกิน ขยายงานขยายตลาด แรงงาน ไม่พอแล้วก็ต้องไปจ้างคนนอก แล้วสุดท้าย เราก็พึ่งตนเองไม่รอด อย่างที่ เขามองรัฐ กำลังทำอยู่ เจตนาที่จะพึ่งตนเองก็ล้มเหลว กลายเป็น ทาสของทุนนิยม อย่างเก่า ประเด็นที่เขาเขียนในนี้ แล้วอาตมาอยากจะเอามาเน้นก็คือ การพึ่งตนเองได้ หมายถึง การทำ กิจกรรมใดๆ รวมทั้งการผลิตสินค้าจะต้องพึ่งตนเองให้ได้ในชุมชน คือใช้ วัตถุดิบ ที่ผลิตได้ ในท้องที่ของชุมชน ทั้งใช้กำลังสมอง กำลังแรงงานของชุมชน และผลิต เพื่อใช้ หรือแลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ภายในชุมชน อันนี้ของเขาไม่ถึงขั้น สาธารณโภคี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือไม่ต้อง พึ่งวัตถุ หรือแรงงานจากภายนอก เพื่อความไม่ประมาท จากความไม่แน่นอน ของสังคมภายนอก เมื่อพึ่งตนเองได้แล้ว ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจึงค่อยขาย หรือแลกเปลี่ยน ให้กับตลาดภายนอกชุมชน อันนี้ เราก็ได้เน้นและทำมาตลอด ดังนั้นการที่ชุมชนผู้ผลิตสินค้า OTOP จะต้องถูกกระตุ้น ให้ขยาย การผลิตขยายตลาดออกไปเรื่อยๆนั้น จึงไม่ถูกต้อง นี่เขาปราม รัฐบาล เพราะว่า กลุ่มผู้ผลิตสินค้า OTOP ต่างๆนั้น กำลังได้รับการโด้ปอย่างเต็มที่ ผลิตเพื่อ ที่จะได้ขายตลาด เอาตลาดมาล่อ เอาเงิน มาล่อ โอ้โฮจัดงานครั้งล่าสุดนี่ ได้รับ ความสำเร็จ กระดี๊ กระด๊ากันน่าดูเลย คนไปกันเป็นล้าน ขายได้เป็นพันล้าน ชาวต่างประเทศตื่นตัว ดังไปทั่วโลกเลย มันก็เป็นการโฆษณา ตามระบบ ทุนนิยม ทั้งสิ้น ทุกคนก็พุ่งไปสู่การค้าขายให้ได้เงินตรา คำว่าพึ่งตนเองอยู่ตรงไหนยังไม่รู้เลย มีแต่จะเพริดไป อันนี้คือ ความคิดของมนุษย์วิทยา เป็นความคิดของสังคมศาสตร์ด้วย ถ้ามนุษย์ไม่มี ความรู้ของ ตนเอง ไม่รู้จักพอ กลไกของระบบเขาก็จะมอมเมากัน สังคม ก็ไม่รู้ ความเป็นมนุษย์ ของตนเอง ก็ไม่รู้ จะเอาแค่ไหน จะพอแค่ไหน จะสันโดษแค่ไหน ก็ไม่รู้ ผู้บริหารก็ดี ผู้ให้การศึกษา ก็ดี มันยังไม่ชัดเจน อาตมาก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า พวกเราจะมีความเข้าใจในเรื่องของ มานุษยวิทยา ในเรื่องของสังคมศาสตร์แค่ไหน ความเป็นมนุษย์ของเราต้องเข้าใจว่าเกิดมาเพื่ออะไร ต้องการอะไร มีจุดสำคัญ ของความเป็นมนุษย์ คืออย่างไร คุณค่าของความเป็นมนุษย์คืออะไร มนุษย์มีประโยชน์ คืออะไร มนุษย์มีโทษคืออะไร เท่าที่อาตมานำพามานี่ อาตมาได้ให้ความรู้เหล่านี้ด้วย แล้วก็พาปฏิบัติจริงๆ จนเกิด กลุ่ม สังคมขึ้นมาในโลก เราได้พิสูจน์แล้วเราก็ได้ตามผลพิสูจน์ เอาตัวเองไปพิสูจน์ แล้วก็เป็น ชีวิตจริงของเราทีเดียว มาถึงวันนี้แล้วพวกเราจะชัดเจนขึ้น อาตมาเองก็ขอยืนยันว่า การปฏิบัติธรรมของ พระพุทธเจ้านั้น ก็เป็นอย่างนี้แหละ ปฏิบัติแล้วพวกเรามาลดกิเลส มามักน้อยสันโดษ พวกเราจึงทำ สาธารณโภคี ได้ ทำงานฟรี ไม่อยากได้เงินได้ทอง เป็นคนสันโดษ เป็นคน มักน้อยแล้ว ไม่ต้องสะสม วัตถุ ข้าวของแล้ว เป็นคนอัปปัจจยไม่สะสม แต่ก็ขยัน มีวิริยารัมภะ เป็นคนเลี้ยงง่าย พวกเราจึงเป็น คนราคาถูก แต่ทุนนิยมเขาสอน ให้เป็นคน ราคาแพง ขณะที่พระพุทธเจ้า สอนให้เป็นคน ราคาถูกแต่คุณค่าสูง โลกีย์สอน ให้เป็นคนราคาแพงแต่คุณค่าต่ำ....." (ผู้สนใจรายละเอียด ติดต่อได้ที่ ฝ่ายเผยแพร่เท็ป) คณาจารย์ราชภัฏเชียงรายสนใจ การปลูกฝังคุณธรรมให้นักศึกษา ๒๐ ม.ค. ๔๗ ที่สันติอโศก คณะอาจารย์จากสถาบันราชภัฏเชียงราย ได้มาดูงาน การศึกษา ของสัมมาสิกขาสันติอโศก หลังจากที่ฝ่ายการศึกษาได้ต้อนรับ พาดูกิจกรรม ต่างๆของนักเรียน รวมถึงการเรียน การสอนของโรงเรียน จุดสำคัญ ก็เพื่อศึกษา รูปแบบ การปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรมให้กับนักศึกษา คุรุฟังฝนในฐานะครูใหญ่ที่ให้การต้อนรับกล่าวแนะนำ "พ่อท่านคะ อาจารย์ที่มานี่ มาจาก คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏเชียงรายค่ะ มาดูรูปแบบการปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรม ให้กับนักศึกษาค่ะ เราก็เลยพาให้ดูชุมชนว่า ที่นี่เป็นครูทั้งหมดเลยค่ะ แล้วก็ดูว่าแต่ละที่เป็นยังไง อะไร จนกระทั่งถึงสุดท้าย ที่ไปดูก็คือโรงเรียน แล้วก็ได้ ดูถึงการปลูกฝัง ศีลเด่นเป็นอย่างไร เรื่องของเป็นงาน เป็นอย่างไร ชาญวิชา เป็นอย่างไร ก็รู้สึกว่าอาจารย์ท่านสนใจมากค่ะ ก็เลยนิมนต์ พ่อท่านให้มาพูดคุยต่อค่ะ ถ้ามีท่าน อาจารย์ท่านใด อยากจะถามอะไรพ่อท่าน ก็เชิญเลยนะคะ" อาจารย์ท่านหนึ่งกล่าว "ผมได้มาที่นี่ครั้งนี้ ครั้งที่สองนะครับ ครั้งแรกมาเมื่อสามปี ที่แล้ว ก็ได้แง่คิด หลายอย่างจากการปลูกฝังจริยธรรม ตอนนี้สถาบันราชภัฏ ต้องการ ที่จะเน้น ในเรื่องของ จิตวิญญาณ ของความเป็นครู อยากจะให้นักศึกษา สถาบัน ราชภัฏเชียงราย มีจิตวิญญาณ ของความเป็นครู ก็เลยพูดกันว่าน่าจะได้มาดูที่นี่ เพราะที่นี่ผมเคยมาดูแล้ว เห็นว่ามีรูปแบบ ที่เป็นจริง ก็เลยอยากให้พ่อท่าน ให้ข้อคิดว่า ในการปลูกฝัง จิตวิญญาณ ของความเป็นครูนั้น จะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดผล จริงๆขึ้นมาครับ ก็ขอนมัสการครับ" พ่อท่านตอบ "จะให้เกิดผลจริงๆขึ้นมา มันก็ต้องทำจริงๆ ที่อาตมาต้องเน้น ทำจริงๆ ขึ้นมาก็เพราะ คนทุกวันนี้มันไม่ทำจริงๆ คนทุกวันนี้ทำแลกเงิน แลกลาภ แลกยศ แลกสรรเสริญ ไม่ได้ทำงาน เพื่องาน แต่ทำเพื่อลาภยศสรรเสริญ นี่เป็นประเด็นหลัก เลย ไปถามใจตนเอง ไปถาม พฤติกรรมตนเองเถอะ ทุกคนมีความรัก ในสิ่งที่เราทำ จริงๆ จังๆ ทำโดยไม่หวังผลตอบแทน ทำเพื่อถ่ายทอด ทำเพื่อที่จะให้มันก่อเกิด ที่แท้จริง จริงหรือไม่ ถ้ามีทาสแท้ในจิตใจมนุษย์ว่า ทำเพื่อให้มันดี ให้มันดีจริงๆแล้ว อาตมาว่า มันสำเร็จ จะเป็นครูก็มีความสำเร็จ จะถ่ายทอดอะไร ได้แค่ไหนก็สำเร็จ ซึ่งจะต่าง จากคนที่ทำงานเพื่อลาภยศสรรเสริญ อย่างนั้นมันไม่ได้เรื่อง ไม่ได้ราวอะไร อันนี้เป็น ประเด็นหลักเลย จะทำอย่างไรที่จะทำให้เขาเกิดความรู้ เกิดความเข้าใจ เกิดสำนึก ที่จะมามีจิตวิญญาณอย่างนี้ อย่างอาตมามาทำงานศาสนานี่ อาตมามาทำ ด้วยความ จริงใจ ว่ามันจะต้องให้คนมาเป็นอย่างนี้ ทำเพื่อให้คนได้เจริญ ได้บรรลุธรรม อาตมาไม่ได้ทำ เพื่อตนเอง จะได้ลาภยศสรรเสริญ อาตมามาทำจริงๆ อาตมาทำเพื่อ ให้คนเจริญ เท่าที่อาตมา มีความรู้มีความเข้าใจ ถ้าจะต้องใช้เทคโนโลยี่ก็ใช้" อาจารย์อีกท่านหนึ่งถาม "ปัจจุบันโลกทุกวันนี้เดือดร้อนวุ่นวาย เต็มไปด้วยวัตถุนิยม มากมาย สภาพสังคมภายนอก เปรียบเหมือนอสรพิษที่เราต้องเผชิญ พ่อท่านจะให้ ข้อคิด เป็นคติอย่างไร ที่จะทำให้เรา ดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบันครับ" พ่อท่านตอบ "ก็ทำอย่างที่อาตมาทำ มันได้เท่านี้ อาตมาก็อยากให้ได้มากกว่านี้ นี่ขอตอบ กว้างๆ ก่อน ส่วนจะทำอย่างไรนั้นก็ค่อยว่ากัน ที่อาตมาต้องพูดอย่างนั้น อาจมีคนมองว่า อาตมาหลง ตัวเอง ก็ได้ อาตมาเข้าใจว่าคนจะต้องมาเป็นอย่างนี้ มันถึงจะพ้นโลกีย์ หรือพ้นกระแส ของโลก ที่มันย่ำยีตีแหลกมนุษย์อยู่ในทุกวันนี้ และอาตมาคิดว่า อาตมาเข้าใจหลักธรรม ของพระพุทธเจ้า เพราะอาตมาเองอาตมาว่า อาตมาหลุดพ้นออกมาจากบ่วง อาตมาอยู่ในโลกมายา เมื่อปฏิบัติธรรม ของ พระพุทธเจ้า ก็เห็นความจริงว่าสิ่งนั้น มันทำให้คนทุกข์เดือดร้อน และก็จะหนักหนา สาหัส ขึ้นไปทุกวันๆ ก็เลยเลิก ทั้งๆที่ได้เงินดีนะ อาตมาปฏิบัติธรรมแล้วก็เห็นว่า มันจริง อย่างนี้ อาตมาว่า อาตมาบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้านะ เมื่อทำแล้ว อาตมาก็เห็นว่า มันได้ แล้วอาตมา ก็เรียก ภาษาใหม่ ตั้งเป็นระบบบุญนิยม เพื่อล้อเลียนทุนนิยม ซึ่งมันก็ใช้ได้อย่างดี บุญนิยมนี่ เป็นโลกุตรธรรม ของพระพุทธเจ้า ศาสนาทางตะวันตก เขาไม่มีภาษาเรียกอย่างนี้หรอก ของเขา มันเทวนิยม ของพระพุทธเจ้า เป็นอเทวนิยม แม้แต่โป๊ปองค์นี้ ก็ยังพูดเลยว่า นิพพานนี่คงไม่มีละมั้ง ทำไมพุทธเอามาพูดอยู่ได้ ซึ่งอาตมาขอยืนยันว่ามันจริง นิพพานก็คือ การดับเชื้อโรค ที่มันมอมเมาเรา ไม่ใช่เชื้อโรคไก่ ไม่ใช่เชื้อโรคซาร์ ซึ่งมันเป็นเชื้อโรคจริงๆ ที่มีในสังคม แต่เราไม่ติด เรามีภูมิคุ้มกัน จริงๆ อาตมาก็เห็นว่า เมื่อมาได้ใช้ทฤษฎีของ พระพุทธเจ้า แล้ว จะเกิดระบบ เกิดเป็นชุมชน เกิดเป็นวัฒนธรรม อย่างชุมชนชาวอโศก ของเราที่มี ในหลายๆที่ แล้วเราก็ไม่ได้ ทำเป็นสังคมปิด กระแสข่าวคราวของโลกเขาจะมีอะไร เราก็เห็นก็รู้อยู่ อันไหนที่มัน มอมเมา ก็บอกก็เตือนสติเด็กๆ อันไหนที่มันไร้ค่าจริงๆ ก็ไม่เอาเข้ามา ให้เสียเวลา คือเป็นสังคมเปิด ให้รู้โลก รู้ความมอมเมาของสังคมว่า มันไปถึงไหนแล้ว แล้วก็ให้เขาใช้ วิจารณญาณกันเอง จะเอาแบบไหน ถ้าจะว่าเรื่องการศึกษาแล้ว เราศึกษาตลอดเวลา จะบอกว่าเป็นโรงเรียน หรือ จะบอกว่า เป็นมหาวิทยาลัยชีวิตของมนุษย์ อย่างที่อาตมาเคยสรุปแล้วว่า คนเรา เกิดมาเพื่อเรียน ถ้าไม่ศึกษา ก็โง่ เป็นเศษขยะ เป็นเบี้ยของโลก เพราะฉะนั้น จึงต้องศึกษา เพื่อที่จะได้ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วก็วินิจฉัย จะเอาอะไรก็เอาตาม ที่เรามีภูมิ หรือมีฤทธิ์แรง ที่จะปฏิเสธ สิ่งที่โลกมันมอมเมา ที่มันจะมาครอบงำ กระทุ้งกระแทกเรา เหมือนที่ท่าน พุทธทาสว่า เป็นน้ำแข็ง ท่ามกลาง เตาหลอมเหล็ก ต่อให้มันร้อนแรงอย่างไร เราก็อยู่ได้ เหมือนก้อนน้ำแข็ง มันต้องมี ภูมิคุ้มกันแรง ถึงขนาดนั้น เราถึงจะอยู่ได้ และอาตมาว่า อาตมาได้พิสูจน์ทฤษฎีของ พระพุทธเจ้า ว่าเป็นได้จริง เด็กก็ตาม ผู้ใหญ่ก็ตาม ไม่ได้ไปเละเทะอะไรกับโลก" อาจารย์อีกท่านหนึ่งถาม "อยากเรียนถามพระคุณเจ้าว่าการปลูกจิตวิญญาณคน นั้นน่ะ เราควร เริ่มต้นอย่างไรครับ" พ่อท่านตอบ "ก่อนที่จะไปให้คนอื่นเป็นอย่างไรนั้น เราต้องเป็นก่อน เพื่อยืนยันความจริง อันนั้นก่อน ต้องยืนยันว่าอันนี้ดีจริง ดีจริงเราก็ต้องเป็นแล้ว แล้วยืนหยัด ยืนยัน อย่างเต็ม ภาคภูมิว่าอันนี้ดีจริง เช่น ยกตัวอย่างว่า เรามาจน ศาสนานี่สอน ให้เรามาจน ไม่ใช่สอน ให้เรามาร่ำรวย อาตมาดำเนิน นโยบาย ในการพัฒนาสังคม ทุกวันนี้ ทวนกระแสกับทักษิณ ทักษิณ จะทำให้คนรวยทั่วประเทศ แต่อาตมา ไม่อาจหาญ ที่จะทำให้คนจนทั่วประเทศได้ อาตมาไม่พูด ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะคนที่ ไม่ยอมจน ยังมีอีกเยอะ ให้คนมายอมจนนี่ ยากกว่า ให้คนไปรวย แล้วเป็น คนจน ที่ไม่ได้งอมืองอเท้า ซึ่งอาตมาต้องทำตนเองให้จนก่อน จนอย่างมีความสุข จนอย่าง มีคุณค่า จนอย่างมีสมรรถนะ จนอย่างขยันหมั่นเพียร จนอย่างอุดมสมบูรณ์ จนอย่างมีอยู่มีกิน พึ่งตนเองรอด จนเพราะเราไม่เอาเปรียบ เราไม่สะสม เราไม่กอบโกย สร้างสรร แล้วเราก็แจกให้ สร้างแล้วสะพัดออกๆๆ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชั้นสูง เราไม่สะสม เพราะเรามั่นใจว่า ทรัพย์อยู่ที่ สมรรถนะของเรา เราทำงานทุกวัน มันก็เกิดผลผลิต เกิดมูลค่า ออกมาทุกวัน แต่เรากินเราใช้ น้อยกว่าที่สมรรถนะที่เรามี เราให้คนอื่นได้ทุกวัน จึงไม่ต้องสะสมหรอก เพราะมันอยู่ที่ตัวเรา ใครมาแย่งเอาไป ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องไปสะสมวัตถุ แค่เราคนเดียว มันก็ทำได้แล้วขนาดนี้ สองคนก็เพิ่มสมรรถนะขึ้นอีก ทั้งคุณภาพ และปริมาณ มากขึ้นเรื่อยๆ ๕ คน ๘ คน มากขึ้นเป็นสังคมก็ยิ่งมากขึ้น ไม่ต้องกลัวเลยเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างปี'๔๐ ฟองสบู่ แตกเดือดร้อนไปทั่ว แต่พวกเราไม่เดือดร้อน เพราะเราไม่ได้สะสม เงินดอลลาร์ หรือ แม้แต่หุ้นขึ้นลง เราก็ไม่เดือดร้อน การไม่สะสมนี่แหละที่ทำให้เราไม่ต้องไปหัวทิ่มหัวตำ กับเขา แล้วเรามาจน ก็มาจนแบบเต็มใจ จนอย่างเป็นปกติสามัญชีวิตของเรา และ ก็ภาคภูมิด้วย เพราะเป็นคนจน ที่สร้างสรรสิ่งที่เหลือเฟือให้สังคม เป็นคนจน ที่ช่วยเหลือ สังคมอยู่ตลอดเวลา แต่คนรวย แล้วเป็นคนรวยไม่เสร็จ ยังกอบโกยอยู่ คือคนที่ยังทำร้ายสังคม อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น การสอนให้คนไปรวย จึงเท่ากับ สอนให้คนไปทำร้ายสังคมอยู่ตลอดเวลา ที่อาจารย์ถามว่าจะทำอย่างไรจึงจะปลูกฝังคุณธรรมให้กับนักศึกษา คำตอบคือ เปิดเผย ความจริง ให้กระจ่างมากที่สุด จนเขายอมรับว่านี่ความจริง นั่นแหละ จึงจะเป็น ผลสำเร็จ เมื่อถึงความจริง จริงๆแล้วคนที่มีปฏิภาณปัญญาเขาจำนน เมื่อเขาจำนน กับความจริง แล้วทุกอย่างก็ง่าย" ถาม "การที่จะแสวงหาความจริง ที่จะทำให้คนรู้ความจริงนั้นน่ะ ไม่แน่ใจว่า ความจริง ที่ว่านั้น มันจะหาได้ยากหรือเปล่า" พ่อท่านตอบ "มันก็คงหาได้ยากบ้าง แต่มันก็หาได้ง่ายกว่าไปหาของปลอมนะ จะว่ายาก ก็ซับซ้อน แต่ของจริง มันก็ง่ายกว่าของปลอมนี่มันยากตรงที่ ต้องรักษา สภาพให้คงทน ยากทั้ง ในการที่ จะทำให้คนอื่นเขายอมรับ เชื่อถือว่าเป็นของดี แต่ของจริง มันง่าย เพราะมันไม่มีอะไร ที่จะต้องมา อำพราง ไม่มีอะไรที่จะต้องปกปิด กั้นขวางอะไรเลย มันง่าย มันสะดวก ที่ถามว่าความจริงคืออะไร เช่นความจนกับความรวย ฝ่ายหนึ่งว่าความจนดี อีกฝ่ายหนึ่งว่า ความรวยดี อันไหนจริงกว่ากันคุณว่า ถ้าไปถามคนทั้งโลก เขาก็ต้อง ตอบว่า ความรวยดี แต่ถ้า มาถามอาตมาก็ว่าความรวยไม่จริงหรอก ความจนต่างหาก เป็นความดี จริงกว่า อย่างนี้เป็นต้น ถ้าถามว่าความจริงคืออะไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้แล้วว่าความจริงคืออาริยะสัจ อาริยะ คือสัจจะ เพราะฉะนั้น ผู้ใดมีความจริงอันประเสริฐ มีความจริง อันเฉลียว ฉลาดแล้ว สุดยอดของ ความจริงแล้ว อาตมาว่าไม่มีอะไรเกินอาริยะสัจ เพราะคนเรา มีจิตวิญญาณ เป็นประธาน ของสิ่งทั้งปวง ใครจะเสียสละ ใครจะขี้โลภ มันก็อยู่ที่ จิตวิญญาณเป็นตัวหลัก เพราะฉะนั้น จิตวิญญาณจะโง่หรือฉลาด ก็เพราะมีกิเลส เป็นตัวทำให้คนโง่เรียกว่าอวิชชา เพราะฉะนั้น จะรู้จักความจริงหรือไม่ ก็อย่าไปโง่ ต่อเลย ทำจิตของเราให้สะอาด ทำจิตของเราให้พ้นอวิชชา แล้วเราจะรู้ว่า อะไรจริง ไม่จริงได้อย่างฉลาดสุดยอด ทางอื่นไม่มีทาง ที่จะทำให้ไปรู้ความจริง ได้ฉลาดเท่า" อาจารย์อีกท่านหนึ่งถาม "อยากให้ท่านช่วยขยายความคำว่าจิตวิญญาณครับ" พ่อท่านตอบ "จิตวิญญาณเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ตั้งแต่โบราณมาทั้งโลกเข้าใจว่า พระเจ้า คือ พระจิตวิญญาณ เขาถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุด สร้างแม้กระทั่งโลกทั้งโลก แต่พระพุทธเจ้า ตรัสรู้แล้ว ไม่ยอมรับว่ามีพระเจ้าสร้างโลก ไม่ยอมรับอย่างเทวนิยม สิ่งที่มีอิทธิพล ต่อมนุษย์ไม่ใช่พระเจ้า แต่คือกรรม คือการกระทำของคน ทีนี้คนจะทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมอย่างไร ก็มาจาก จิตวิญญาณเป็นหลัก และพระพุทธเจ้า เป็นนัก วิทยาศาสตร์ทางจิต ที่สามารถรู้จักจิตวิญญาณ พระเจ้าก็จิตวิญญาณ แล้วเขาบอกว่า พระเจ้าเป็นจิตวิญญาณที่ฉลาดที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด ดีที่สุด แต่เขาพิสูจน์ พระเจ้าไม่ได้ พระพุทธเจ้าบอกว่า คนมีจิตวิญญาณอยู่ในตัวแล้ว ในร่างกาย มนุษย์เนี่ย มันคือ Test-tube (หลอดทดลอง) มี subject ให้คุณเป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่พิสูจน์ได้เลย คุณพิสูจน์ พระเจ้าไม่ได้ ความจริงจิตวิญญาณในตัวคน ยังไม่ใช่ จิตวิญญาณพระเจ้า ยังไม่ใช่ จิตวิญญาณที่สะอาด จิตวิญญาณพระเจ้าคือ จิตวิญญาณสะอาด แล้วจิตวิญญาณแท้ๆคืออะไร อะไรล่ะที่ทำให้จิตวิญญาณไม่เป็นจิตวิญญาณ กิเลสคือ สิ่งที่หุ้มพอกทั้งหมดให้เลอะเทอะ ศาสนาพุทธนี่สอนให้ล้างกิเลสจริงๆ ล้างกิเลส ให้หมดจาก จิตวิญญาณ ก็เหลือจิตวิญญาณแท้ๆ จึงเห็นหน้าพระเจ้า เห็นหน้า จิตวิญญาณ ถามว่า คืออะไร ปัจจัตตัง เวทิตัปโพวิญญูหิ ตอบไม่ได้ ใครที่ทำ จิตวิญญาณให้สะอาด แล้วจะรู้จัก จิตวิญญาณ ตัวนั้นเอง พระพุทธเจ้าท่านบอก วิญญาณัง อนิทัสนัง อนันตัง สัพพโตปพัง คือ ไม่สามารถ ทำให้รู้เห็นกันได้ ไม่มีขอบเขตจำกัด มันเหมือนแสงสว่างไปทั่วโลก สว่างไปทั่วหล้า บอกไม่ถูกหรอก คุณต้องปฏิบัติเอง รู้จักจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ในตัวเอง แล้วนั่นแหละ คือความจริง ที่จะบอกได้ ถ้าบอกเป็นคำพูดได้พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว แต่ความจริงมันบอกไม่ได้ จิตวิญญาณ มันยิ่งใหญ่ มันละเอียด มันลึกซึ้ง อาตมาพยายามมาขยายความ จิตวิญญาณ คือพลังงาน ที่ละเอียดกว่า สสาร เป็นพลังงานที่ลึกซึ้งละเอียดมาก ในศาสนาพยายามนิยาม แบ่งพลังงาน ออกเป็นห้าข้อ หนึ่งอุตุนิยาม สองพีชนิยาม สามจิตนิยาม สี่-กรรมนิยาม ห้าธรรมนิยาม (จากนี้ไป ข้าพเจ้าขอ ข้ามผ่าน ผู้สนใจ รายละเอียด ติดต่อไปที่ห้องสื่อธรรมะ) ให้โอวาทสมณะมหาเถระ ๒๒ ม.ค. ๔๗ ที่ภูผาฟ้าน้ำ พ่อท่านได้ให้โอวาทกับหมู่สมณะมหาเถระ ที่ได้มาร่วม ประชุมกัน จากบางส่วนที่นำเสนอได้ดังนี้ "....การพบกันเสมอเป็นอปริหานิยธรรม การหมั่นประชุมพรั่งพร้อม เพื่อที่จะรับซับซาบ สิ่งที่เราได้ทำอะไร มีอะไรผ่านไป ผ่านไป ก็คงต้องพยายามพิจารณาถึง ความถูกต้อง ถึงความดี อย่าไปหลงตัวเอง ว่าเราแน่แล้ว เราถูกแล้ว เราดีแล้ว หรือยิ่งมีอัตตา มันจะต้องเป็นของฉัน คิดอย่างฉัน มันก็ไม่น่าจะดี ถึงแม้ว่าเราจะเป็นอรหันต์แล้วก็ตาม ในความ เป็นอรหันต์ ก็ไม่ได้ หมายความว่าเป็นผู้รู้รอบ แต่อรหันต์เป็นผู้รู้กิเลสของตัวเองหมด แล้วก็ล้าง กิเลสของตน ได้สิ้นเกลี้ยง ไม่ได้หมายความว่าอรหันต์คือผู้รู้รอบทุกอย่าง พระอรหันต์ ก็ผิดเป็น ผิดได้ เพราะว่าเรื่องของโลกก็คือเรื่องของโลก มันมีมากมายมหาศาล จะไปรู้รอบรู้หมดได้อย่างไร ถ้าเป็นพระอรหันต์จะไม่มีอัตตา ใครจะติงเตือนอะไรผิดก็ยอมรับผิด จะไปบริหาร จะไปเกี่ยวข้อง กับมนุษย์ในสังคมก็ไม่ได้ไปรู้อะไรหมด ถ้าเป็นพระอรหันต์ ก็จะไม่ ติดยึด แต่พวกเราที่ยังไม่เป็น อรหันต์นี่ต้องระวัง อย่าหลงเป็นอันขาดเลย แล้วมันก็ ไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่น ในเรื่องของกิจ ในเรื่องของงาน อะไรต่างๆเลยว่า มันจะต้อง เป็นอย่างเรา เป็นอย่างที่เราหมาย มันดีนี่นา ก็อย่า ได้ไปหลงเลย เพราะมันเป็น ภาวะต้านที่จะไม่ให้เราบรรลุ มันเอาอัตตาเข้ามายึดมาขวาง ให้ได้ดังใจของเรา ยึดหลงตามความรู้ของเรา การประชุมกันนี่เป็นการทำความเข้าใจให้มันรอบ เข้าใจความเกิดอยู่ในสังคม มันเป็น สมมุติสัจ ทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้น ถ้าหลายตาหลายหูหลายความคิด ได้ช่วยกัน รอบรู้ แล้วก็ปฏิบัติ ประพฤติกระทำ มันก็จะได้ประโยชน์ดีกว่า เพราะหลายหัว ก็ดีกว่าหัวเดียว มันเป็นประโยชน์ ด้วยซ้ำไป ในการที่คนอื่นจะมาให้ข้อคิดติงเตือน มันก็ดี ที่เราจะได้วินิจฉัย มีข้อมูลเติมมาให้ ไม่ต้องไปมีอัตตา ฉันจะเอาอย่างนี้ แล้วก็ใช้เลศเล่ห์ เพื่อจะเอาชนะให้ได้ดังใจเรา จะว่าฉลาด ก็เป็นฉลาดแกมโกง เสริมอัตตาให้ยิ่งใหญ่ เอาชนะคะคานเขาได้ พวกเรามาปฏิบัติธรรมแล้ว ก็ไม่ได้ ดึงดันอะไร ถ้าเขาค้านแย้งแล้ว เราก็จะเอาให้ได้ดังใจเรา ใครเขาก็ต้องยอม ถ้าเราเอง เป็นผู้ใหญ่ ในฐานะมหาเถระด้วย หรือเป็นผู้ที่อายุพรรษาก็มากแล้ว มันก็เป็น ธรรมชาติที่คนอื่น ก็ต้องเกรง สิ่งเหล่านี้เราได้สมใจ แต่ตัวเราเองไม่ได้พัฒนา อัตตา เราแย่ กลายเป็นตัวเอาชนะ คะคานเขา อย่างที่ผมเคยพูด ถ้าเราเห็นว่ามันดีแต่คนอื่นเขาไม่เอาด้วย เราก็ต้องยอม เพื่อให้เกิด ความสงบ มันเป็นเอกภาพในหมู่ใหญ่ที่เขาจะเอาอย่างนั้น เยภุยยสิกา ก็ต้องทำ ตามนั้น ถ้าหมู่ใหญ่เอา เราก็เอา มันจะไม่ดีอย่างไรก็ไม่มีปัญหาเลย เพราะมันเป็น สมมุติสัจ มันจะได้เป็นตัวพิสูจน์ เป็นตัวที่จะได้ยืนยันออกมา ถ้าอธิบายแล้วหมู่ใหญ่ จะเอาอย่างนั้น เป็นมติออกมาก็ต้องเป็นมติ อย่าไปตะแบง อย่าไปเอาชนะคะคาน มติก็มติไป ฉันก็จะทำของฉันอย่างนี้ มันเสริมอัตตาตนเอง ทั้งนั้น อัตตามานะ เป็นเรื่องลึก ยิ่งเราจะต้องทำงานกับสังคมมากขึ้นไป สิทธิที่เขาจะให้แก่เราก็จะมากขึ้นด้วย ผู้ใดมีกิเลสมาก มีอัตตามาก เอาแต่ใจตัวเองก็มาก เป็นภันเตเขาด้วย มันไม่เข้าท่า ไม่เป็นประโยชน์อะไร สักอย่างเลย เราควรจะศึกษาฝึกฝนตนเองให้ดีๆ ให้ได้เป็น อรหันต์เลยก็ยิ่งดี เพราะมันปลอดภัย จะได้ไม่ต้องไปตะแบง เป็นอัตตาเพื่อป้องกัน ความผิดพลาดไม่ให้เกิดกับสังคม ถ้าหลายๆคน ช่วยกันคิด มันไม่ผิดพลาดง่ายๆหรอก ที่อยากกำชับก็คือประโยชน์ตน หรือบทฝึกหัด พยายามที่จะเคี่ยวเข็ญ พยายามที่จะ ศึกษา ภาคปฏิบัติ พวกเราบางคนบางท่านก็ยังแยกเทวนิยม อเทวนิยม ด้วยการ ปฏิบัติ ที่เป็นสมาธิพุทธ เป็นฌานพุทธ เป็นภาคปฏิบัติที่จะเข้าแนวปฏิบัติดีๆ ที่ถูกต้อง บางทีก็ยังมีเพี้ยนๆ ถึงไม่บรรลุ อรหันต์ง่าย เพราะฉะนั้น เราต้องศึกษา พากเพียรหน่อย ทุกวันนี้งานมันเยอะ แล้วผมก็ต้องทำงานกับฐานกลาง คือฐานที่ต้องพัฒนาความเป็น ศาสนาพุทธ ให้มันเข้ารูปเข้ารอย มีโครงสร้าง มีแบบ มีวัฒนธรรมให้มาก เพราะฉะนั้น ส่วนละเอียดเฉพาะ บุคคล เฉพาะกลุ่ม เฉพาะสัทธิวิหาริกก็ดี ผมยังไม่มีเวลา ที่จะมา เอาใจใส่ที่จะช่วยเข็นให้ได้ บรรลุคุณธรรมที่สูงขึ้นๆ มันทำอย่างนั้นไม่ไหว เพราะมัน หลายรูป ก็ได้แต่รวมๆอย่างนี้แหละ เป็นครั้งเป็นคราว เพราะฉะนั้นพวกเราแต่ละคน ต้องเอาใจใส่ พัฒนาตนเอง เอาภาระตนเอง พวกเรามีอายุมากขึ้น หลายคนก็ป่วยๆ เป็นภัยต่อการปฏิบัติเหมือนกัน หรือมันก็ ใกล้ตาย อย่าให้เสียเวลา โมฆะไปเปล่าๆ เสียประโยชน์ การจะช่วยการงาน ช่วยพัฒนาอะไรมันก็ต้องทำอยู่แล้วล่ะ แต่ก็อย่าไปผลาญพล่า ประโยชน์ตน เพราะประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านเตือน....." ขึ้นเหนือ....ฉลองหนาว ๒๑ ม.ค. ๔๗ ที่สนามบินดอนเมือง ขณะรอการเช็คอินก่อนขึ้นเครื่อง วันนี้ผู้โดยสาร ขึ้นเครื่อง เยอะมาก ทำให้ที่นั่งของพระก็มีญาติโยมไปนั่ง จากนั้นที่ช่องตรวจสิ่งของ ครั้งนี้ไม่มีการเรียก ขอมีดโกนผม ต่อมาในช่องที่นั่งผู้โดยสารขาออก ขณะรอขึ้นเครื่อง ของสายการบินใหม่โอเรียนไทย มีอาจารย์ราชภัฏอุบลฯได้มาสนทนากับพ่อท่าน เกี่ยวกับ เรื่องกิจกรรมของบ้านราชฯ เท่าที่อาจารย์ ทั้งสองได้รู้ ด้วยชื่นชมถึง ความเป็นอยู่ อย่างเสียสละ พระรูปหนึ่งมาร่วมทักทายและสนทนาด้วยในแง่ชื่นชมชาวอโศกเช่นกัน ต่อจากนั้น ท่านได้บอกเล่า ถึงรัฐมนตรี ที่ไปถวายสังฆทานที่วัดท่าน เที่ยวบินของโอเรียนไทยยังใหม่ทั้งพนักงานเองก็ดูตื่นๆ สิ่งที่เป็นรองการบินไทย ที่เห็น ง่ายๆก็คือ อาหารและหนังสือพิมพ์ไม่มีบริการให้ บุคคลิกท่าทีพนักงาน ก็ดู ยังเป็นรอง แต่ราคาถูกกว่ากันมาก คุ้มกับการเลือกใช้บริการอย่างนี้ ถึงสนามบินเชียงใหม่ มีสมณะ และญาติธรรมมารอต้อนรับกันมากหน้าหลายตา ดูเป็นกลุ่มคน ที่แปลกกับสังคมและสถานที่อย่างนั้น ที่ร้านมังสวิรัติวันนี้งดขาย เตรียมต้อนรับการมาของพ่อท่านและญาติธรรมต่างถิ่น พ่อท่านทักทาย ญาติธรรมครู่ใหญ่แล้วจึงฉันอาหาร ไม่มีเทศน์เพื่อเตรียมเดินทาง ไปดูงานแกะสลักไม้ ที่บ้าน ๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่าง หลังฉันอาหารแล้วประมาณ ๑๑.๓๐ น. ออกเดินทางไปที่ร้านแกะสลักไม้....๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่าง ก่อนเดินชมผลงาน คุณชรวยเจ้าของร้านกล่าวแนะนำ แล้วบอกเล่า ความเป็นมาของ การทำร้าน อย่างนี้ โดยปกติเขาคิดค่าชมคนละ ๑๐๐ บาท แต่วันนี้ สำหรับสมณะและญาติธรรม ที่ไปประมาณ ๑๐๐ ชีวิต คุณชรวยเปิดให้ชมฟรี ทราบภายหลังว่า เขามีศรัทธา ได้ฟังเท็ป และ ติดตามข่าวของชาวอโศกอยู่ ออกจากบ้าน ๑๐๐ อัน ๑,๐๐๐ อย่าง เดินทางไปภูผาฟ้าน้ำทันทีไม่ได้แวะที่ไหน ถึงภูผาฯประมาณ ๑๕.๓๗ น. พบคณะต้อนรับมีอาจารย์หนึ่งและปัจฉาฯ รวมถึง เด็กๆ และชาวชุมชนได้เดินตาม พ่อท่าน มาส่งถึงที่พัก หลังจากที่สมณะ กราบนมัสการ พ่อท่านแล้ว พ่อท่านอ่านข่าว หนังสือพิมพ์จนค่ำ ก่อนพักนอน ๒๒ ม.ค. ๔๗ ที่ภูผาฟ้าน้ำ เช้านี้ประมาณ ๖ นาฬิกา พ่อท่านพบสมณะนวกะ ที่ศาลา บรรพชน ขณะเดียวกันสมณะมหาเถระประชุมกันที่ศาลาจงกรม ช่วงบ่ายได้นิมนต์ พ่อท่านมาให้โอวาทกับ สมณะมหาเถระ ทราบจากคำบอกเล่าของพ่อท่าน ว่าการพบ กับสมณะนวกะ มีหลายสิ่งที่ สมณะมหาเถระ ก็ควรติดตามหามาฟัง ไม่มีรายการใด พ่อท่านจึงพักได้มาก ผ่อนคลายด้วยการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ๒๓ ม.ค. ๔๗ ที่ภูผาฟ้าน้ำ ไม่มีทำวัตรเช้าเนื่องจากเป็นนโยบาย งานนี้ให้มาพัก พ่อท่านลุกตื่น ๖.๓๖ น. เช็ดหน้าเข้าห้องน้ำเสร็จแล้วเดินไปที่ศาลาซาวปี๋ เมื่อลงไปถึงศาลาซาวปี๋ พ่อท่านอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ดูบรรยากาศยามเช้า เป็นภาพ ที่สวยงาม ไปหมด เนื่องจากธรรมชาติงดงามอยู่แล้ว ภาพท้องฟ้ายามเช้ากำลัง จะขึ้นขอบฟ้า ขณะที่ควันไฟ แถมไอหมอกขาวลอยสวยมาก ช่วงบิณฑบาตมีภาพสวยหลายภาพเช่นกัน บรรยากาศดีไปหมดทำให้ภาพไหนๆก็ดูดี เสร็จจาก บิณฑบาตแล้วพ่อท่านเดินดูบรรยากาศร้านโรงบุญต่างๆ ต่อด้วยการเทศน์ ก่อนฉัน มีเสียง สมณะวิจารณ์ว่า พ่อท่านนี่เทศน์เรื่องซ้ำๆก็ยังดูมีชีวิตชีวา เสร็จจากเทศน์แล้ว เพื่อนๆศิษย์เก่าเพาะช่างประมาณ ๑๐ คน ได้มากราบพ่อท่าน และถวาย หนังสือเพาะช่างรวมถึงเล่มอื่นๆด้วย ขณะฉันมีคนมาคุยบ้าง แถมบางราย ขอให้ตั้งชื่อบ้าง เสร็จจากฉันเดินไปที่โรงเก็บไม้ซุงที่จะใช้สร้างวิหารดอยฟ้า ซึ่งอาจารย์สอง นำสิ่งของ ต่างๆ มาประกอบจัดวาง ดูคล้ายการจัดนิทรรศการภาพและสิ่งของ แล้วตั้งชื่อว่า .... พิพิธกัมม์ ดอยแพงค่า ครู่ต่อมาจึงนิมนต์พ่อท่านเป็นประธานกล่าวเปิด การแสดงภาคค่ำวันแรกพ่อท่านดูตั้งแต่ต้นจนจบ มีการพูดเสริมแทรก เป็นเรื่องที่ คุณเฉลิม (ใจเดียว)ได้คิดค้น จากการใช้ตะเกียงเจ้าพายุให้แสงสว่าง คุณเฉลิมคิด ประหยัดพลังงานเพิ่ม ด้วยการนำกาต้มน้ำไปตั้งไว้บนฝาที่เปิดออก ทำให้ความร้อน จากตะเกียงนำมาใช้ในการหุงต้มได้ โดยคิดเพิ่มว่าจะทำตัวเก็บพลังงานนี้มาใช้ ๒๔ ม.ค. ๔๗ ที่ภูผาฟ้าน้ำ วันที่สองของงานฉลองหนาว พ่อท่านลุกตื่นจากที่พัก เป็นเวลาเจ็ด นาฬิกาเศษ ท่านสู้ซื่อ ช่วยบริการแล้วเกิดทำยางหนุนขาแว่นหาย สาละวน อยู่กับการหาอยู่เป็นนาน ก่อนฉัน พ่อท่านเทศน์ในหัวข้อ "โครงการประชาธิปไตยอาริยะ" จากบางส่วน ที่พ่อท่าน กล่าวโดย สรุป เริ่มจากการอธิบายคำว่า "อริยะ" แปลว่า ความประเสริฐ "...คนประเสริฐ ของพระพุทธเจ้า เพราะกิเลสลด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ลดลงไป ด้วยสมถะวิธี และวิปัสสนาวิธี จุดสำคัญของประชาธิปไตยคือต้องสร้างคน ประพฤติ คุณภาพของคนให้ดีขึ้น ทุกวันนี้ไปเข้าใจ เรื่องกฎหลักเกณฑ์มาบังคับ ไม่พยายาม ให้คนรู้จักสิ่งที่ดีไม่ดี แล้วก็สมัครใจลดละสิ่งไม่ดีของตน ลดละไปจริงๆ จึงจะเกิด คุณภาพเกิดคุณค่า เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยอาริยะนี่ ไม่ต้องไปแย่งชิง อำนาจ แย่งชิงความเป็นใหญ่ เพราะไม่ได้ทำเพื่อลาภยศสรรเสริญแล้ว แต่จะเป็น ใหญ่ เพราะ คุณภาพ สูงส่งเพราะความสามารถ สูงส่งเพราะการสร้างสรรเสียสละ คนอย่างนี้ ใครก็ยอมรับ นับถือ ใครก็อยากให้เป็นใหญ่ แล้วคนที่ยิ่งปฏิบัติธรรม ยิ่งขยัน หมั่นเพียร ยิ่งไม่เห็นแก่ตัว ยิ่งสร้างสรรเสียสละ คนเหล่านั้นก็ยิ่งเป็นคน มีคุณค่า ใครก็กราบเคารพด้วยความจริง ใครไม่กราบ เคารพก็ไม่อยากได้ เขาให้ เราเอง ไม่ต้องไปหลอกล่อ ดังนั้นประชาธิปไตยอาริยะก็คือ ให้คนเป็นอาริยะ เมื่อคนเป็นอาริยะแล้ว ก็จะรู้เองว่า ควรจะทำงาน ในระดับใด จึงไม่ต้องไปหาเสียงให้กับตนเอง ไปโฆษณาว่าเลือกฉันนา ไม่ต้องไปบอกหรอก เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยที่สูงสุด การหาเสียงให้ตัวเองอยู่ ยังไม่ถือว่าประชาธิปไตย เราจะสร้างประชาธิปไตย เราจะสร้างการเมืองแบบของเรา สร้างรัฐศาสตร์แบบ ของเรา....." ญาติธรรมนั่งฟังท่ามกลางแดด แต่อากาศยังเย็นอยู่บ้าง จึงไม่ทำให้ร้อน เห็นชาวเขา นั่งรวมกัน เป็นกลุ่มสีสันเครื่องนุ่งห่มของเขาเห็นชัดว่าต่างจากชาวเรา จึงถ่ายภาพ เก็บไว้ แต่ยังไม่กล้า ที่จะไปยืนถ่ายตรงหน้าเขา เกรงเขาจะตกใจ ช่วงฉันมีคนใหม่ๆมากราบมาคุยและขอถ่ายภาพบ้าง ได้ยินว่าวันนี้พ่อท่านเทศน์ดี ฉันเสร็จพ่อท่านอยู่ดูรายการกีฬาอาริยะได้ไม่นาน รีบกลับมาที่พัก เพื่อเขียนงานอะไร สักอย่าง ที่ข้าพเจ้าก็ไม่รู้ แต่ได้บันทึกภาพพ่อท่านนั่งเขียนอยู่หน้าที่พักหลายภาพ นอกจากนี้ได้บันทึกภาพการทำบ้านดิน คราวนี้มีภันเตอนุตตโรร่วมด้วย ท่านโสรัจโจ ยังเป็นตัวยืน นอกนั้นก็มีทยอยมาช่วยเสริม ด้านหลังมีการย่ำดิน ด้วยการเปิดน้ำ ใส่ในแปลงดิน จากนั้น นำฟาง มาคลุกผสม โครงสร้างมีเสาต้นไม้ได้ขนาดเสา แล้วใช้ ไม้ไผ่ผูกเชือกเป็นโครงเพื่อให้ดินเกาะตัวกัน ได้เป็นแผง สุดท้ายเป็นการนำดิน ที่คลุกฟาง ได้ที่แล้วนำไปพอกบนแผงไม้ไผ่ รายการภาคค่ำ พ่อท่านเดินไปดูรายการประมาณก่อน ๑๘ นาฬิกา การแสดงมีถึง สามทุ่มกว่า ที่น่าดูเป็นการแสดงจากกลุ่มการศึกษาทางเลือก เป็นศิษย์ครูสิงหา ซึ่งเป็นชาวเขาทั้งหมด การเต้นรำกระทบไม้ ด้วยผ้านุ่งห่มอย่างนั้น ทำให้ดูมีชีวิตชีวา มาก การแสดงรำร่มจากลำพูนก็น่าดู ของเชียงรายมีรำคนเดียว แต่กิริยาร่ายรำ กับจังหวะเสียงเพลงให้ความรู้สึกที่ดี อีกการแสดงหนึ่ง เป็นศิษย์ที่เคยมาอบรมที่นี่ ตอนนี้เรียนอยู่ชั้น ม.๕ อุตส่าห์ทำสิงโตมาประกอบการแสดง กลิ้งไปกลิ้งมา แต่ก็น่าดู การแจกรางวัลให้กับผู้ที่เข้าแข่งขันผ่าฟืน ตำข้าว และตักทราย ของรางวัลเป็นอะไร ที่เล็กๆน้อยๆ ซึ่งชาวบ้านหัวเลากวาดรางวัลอีกตามเคย ๒๕ ม.ค. ๔๗ ฉลองหนาววันที่สาม เช้ามืดตี ๕ มีการประชุมพรรคเพื่อฟ้าดิน ที่ศาลา ซาวปี๋ พ่อท่านให้โอวาทเปิดประชุมบอกเล่าเหตุการณ์เมื่อวาน มีผู้สมัครนายก เทศมนตรี นครเชียงใหม่ มาหาเสียง ตอนแรกไม่รู้ว่าเขามาหาเสียง แต่ก็ได้พูดเรื่อง การเมืองที่แท้จะไม่หาเสียง ตอนหลัง ถึงได้รู้ว่าเขามาหาเสียง จากนั้นพ่อท่าน อธิบาย ความรู้เกี่ยวกับการเมือง ในความคิดเห็นของ พ่อท่าน เนื้อหาแท้ๆ ของการเมือง ก็คือ มาช่วยกันทำงานให้มวลมนุษยชาติ กับเสียงพ้อๆของพวกเราอยากให้ยุบพรรค พ่อท่านย้ำชัดๆ ไม่ยุบ ตราบใดที่อาตมา ยังมีชีวิตอยู่ แล้วอธิบาย ศาสนากับการเมืองคือจุดเดียวกัน..... ประเด็นต่อมา ทำไมจึงต้องรีดเลือดจากปู? พ่อท่านอธิบายว่า หนึ่งเป็นการทำให้พวกเราได้สละออก ต้องพัฒนาในการจาคะ สองพวกเรา จะต้องรู้ว่าพวกเราจะไม่ไปเบียดเบียนใคร ถ้าเราเอาเงินข้างนอกมา แล้วเราบริการแต่พวกเรา ไม่บริการข้างนอก มันเป็นเรื่องน่าอาย ถ้าเราใช้ทุนของเรา แล้วสามารถบริการคนนอกได้มันโก้ไหม? เหตุผลที่อาตมาให้อนุโลมไปรับเงินของรัฐมา ก็เพราะเงินของรัฐคือเงินของประชาชน
ซึ่งจะต้อง บริหารบริการประชาชน ถ้าปล่อยให้ข้าราชการบริหาร เงินเหล่านั้น
จะตก ถึงมือประชาชนเพียง ๗ % แต่เราต้องไม่ล่าเอาเงินของรัฐมามาก
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ กรณีพรรคเราไม่มี ส.ส. ส.ก. ส.ข. อะไรเลย ซึ่งคนทั้งหลาย ต่างมองว่า เป็นจุดด้อย ถ้าอย่างนี้แล้ว จะตั้งพรรคการเมืองไปทำไม? พ่อท่านอธิบายในเรื่องนี้ว่า เรากำลังจะทำความเป็นจริงของการเมืองว่า มิใช่แค่ อย่างที่เขาเข้าใจ นั้น เราเลยต้องทำในจุดที่เขาคิดว่าด้อยให้สมบูรณ์ เราจะต้องทำ จุดที่จะถูกยุบพรรคง่ายๆ นี้ให้สมบูรณ์.... ประเด็นสำคัญที่น่าถ่ายทอดต่อ การเมืองอย่างที่เขาเข้าใจนั้น ยังอยู่ในวงแคบ ของเรานั้น รวมหมดทุกสิ่งที่จะทำงานกับประชาชน เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างไร ให้เขาเข้าใจเพิ่มขึ้น กว้างและลึก ไปสู่เนื้อแท้ของการเมืองมากขึ้น ทุกวันนี้เราทำงานการเมืองไม่ใช่แค่ของเรา แต่เรากำลังจะสอนนักการเมือง ทั้งประเทศ ว่า การเมือง ที่แท้จริงเป็นอย่างนี้ มิใช่แค่ การหาเสียง หรือการทะเลาะกัน ระหว่าง ฝ่ายค้าน และรัฐบาล ระหว่างการประชุมครูขวัญดินบอกเล่าว่า ทางธรรมศาสตร์ได้ทำวิจัย เกี่ยวกับการ พักชำระหนี้ ของเกษตรกรกับ ธ.ก.ส. ปรากฏว่าโครงการอบรมหลักสูตรสัจธรรมชีวิต ได้รับความสำเร็จมากที่สุด เรื่องต่อมา การซื้อข้าวเปลือกของโรงสี ด้วยขณะนี้ข้าวเปลือกราคาสูงมาก ทางบ้านราชฯ ปรึกษามาว่าจะทำอย่างไรดี เกี่ยวกับเรื่องนี้พ่อท่านเห็นว่า ควรซื้อ ด้วยเหตุผลคือ หนึ่งจะทำให้ชาวนาได้เงิน มากขึ้น สอง เราพอมีเงินซื้อ สามหากซื้อไปแล้วอนาคตจะเสียหายไหม เมื่อไม่เสียหาย ก็สมควรซื้อ..... จากนั้นเป็นโอวาทปิดประชุม อาตมาอยากมีอายุยืนยาวอีกหลายๆปี มันรู้สึกอะไรๆ ลงตัว เพราะว่า ภาคปฏิบัติที่ดี เท่าที่อาตมารู้เรื่องระบบบุญนิยม ในองค์รวม ควรเป็น อย่างไรนั้น อาตมารู้แต่พูด ไม่ออก สุดท้ายสรุปตรงที่ลักษณะของชุมชนเข้มแข็ง ๑๔ ข้อได้รวมเอาไว้หมดแล้ว (ผู้สนใจ รายละเอียดติดตามได้ที่พรรคเพื่อฟ้าดิน) เสร็จจากประชุมพ่อท่านบิณฑบาต แล้วกลับมาแสดงธรรมประมาณ ๙.๓๐ น. รายการ เอื้อไออุ่น มีผู้ฟังประมาณ ๑๐๐ คนขึ้นไป แสงสีดีมากดูสวย แม้จะไม่สว่าง ทางญาติโยม รายการสิ้นสุด เอาก่อนสามทุ่ม (ผู้ที่สนใจรายละเอียดติดต่อได้ที่ ฝ่ายเผยแพร่เท็ป) ๒๖ ม.ค. ๔๗ พ่อท่านลุกตื่นเจ็ดนาฬิกาเศษ เข้าห้องน้ำแล้วแนะให้ถ่ายภาพบ้านดิน เอาไว้ ทั้งข้างนอกและใน ก่อนแปดนาฬิกาเคลื่อนขบวนลงมาที่ศาลาซาวปี๋ ท่านสรณีโยนิมนต์พ่อท่านเป็นแบบ ถ่ายภาพ ในขณะนั่งเจโตสมถะ เพื่อนำไปให้ช่างวาดภาพ ได้ใช้วาดภาพพ่อท่าน จากภาพถ่าย พ่อท่านฉันอาหารเสร็จเป็นเวลาห้านาฬิกาเศษแล้ว ระหว่างเดินลงไปขึ้นรถที่ด้านล่าง มีญาติโยม กราบนมัสการเป็นระยะๆ ที่ขอถ่ายภาพหน้าบ้านชมรมผู้อายุยาวก็มี ระหว่างเดินลงมาข้างล่าง มีภาพดีๆที่น่าถ่ายเยอะมาก เราถ่ายเท่าที่จะถ่ายได้ มีหลายจังหวะที่ดีแต่ถ่ายไม่ทัน ถึงที่รถจอดรอ พ่อท่านไม่โอ้เอ้ รีบขึ้นรถทันทีไม่รอคนที่ยังเดินมาส่งไม่ถึงรถ ขณะที่ คณะที่มาส่ง ประมาณ ๔๐ ชีวิต เหมือนเป็นการสอนไม่ให้อาลัย รถเคลื่อนตัวประมาณเที่ยงตรง พ่อท่านนอนพักยาว ตั้งแต่ต้นจนถึงเชียงรายอโศก (๑๕.๔๑ น.) หรือที่มีชื่อใหม่ว่า ดอยรายปลายฟ้า เอื้อไออุ่นที่ดอยรายปลายฟ้า ๒๖ ม.ค. ๔๗ ที่ดอยรายปลายฟ้า ในเวลาค่ำมีรายการเอื้อไออุ่น จากบางส่วนของ การสนทนา ที่น่าสนใจดังนี้ "อาตมาภาคภูมิในระบบของพวกเรา คนไม่มีรายได้ ไม่มีเงินมีทองเลย อยู่ในหมู่ ของเรา ก็ถือว่าพึ่งตนเองได้ เอ...ตลกไหมนี่ ทักษิณจะฟัง ขึ้นไหมนี่ บอกคนพวกนี้ไม่มีรายได้เลย แต่เขาเป็นคนพึ่งตนเองได้ ดีไม่ดีเอื้อเฟื้อ เจือจานเผื่อแผ่คนอื่นได้อีกด้วย นี่คนชนิดนี้มีอยู่ใน ประเทศไทย ไม่ได้เป็นภัยแก่สังคม ไม่ได้เป็นภาระแก่สังคม ถึงแม้ว่าชาวอโศกจะไม่เป็นคนอย่างนั้นถึง ๑๐๐ % แต่พวกเราก็มีตัวอย่างอันนี้ชัดเจน คนชนิดนี้นี่ ถ้ามีมากๆในโลก โอ้โฮ....รับรองสังคมประเทศชาติสบาย นี่ก็ต้องพัฒนา สร้างคนแบบนี้ ให้เกิดมากๆ ตอนนี้เรากำลังจะสร้างโรงพยาบาล แต่เราไม่เรียกโรงพยาบาล เราจะเรียก สถาน พลาภิบาล เราไม่อยากให้มันไปอยู่ในระบบกฎหมายของการตั้งโรงพยาบาล เราจะทำ ให้มันอิสระตามที่ เห็นควรจะทำ เราจะทำที่ปฐมอโศก จริงๆมันก่อรูป ก่อร่าง มาแล้ว ลงเสาเข็มไปแล้ว สถาปนิก เขียนแบบมาตั้ง ๓๑ แผ่น ละเอียดลออ คนเขียน ตั้งใจ จริงๆ เราจะไม่สร้างเป็นตึกใหญ่ เหมือนโรงพยาบาลที่อื่นๆ เราจะสร้าง เป็นหลังๆ ที่เป็นธรรมชาติ จะใช้งบฯเฉพาะโรงเรือน ๑๒-๑๓ ล้าน มันจะบานหรือเปล่าไม่รู้ สถาปนิกเป็นคน คำนวณ ไม่ใช่วิศวะฯ อาตมาเองประเมินสัก ๒๕ ล้าน ก็เลยจะต้องประเมินเหมือนกัน จะให้ผู้ที่จะมา รับเหมา ประมูลสัก ๒-๓ ราย เราจะให้ใคร เราก็ดูทั้งราคา ทั้งคุณภาพ ทั้งการคบหา เราจะต้อง ดูความเชื่อถืออะไรพวกนี้ นอกจากโรงเรือนก็ต้องมีอุปกรณ์ มีเครื่องมือ อย่างน้อยก็มีเตียง ถ้าโรงเรือน ๑๕-๒๕ ล้าน อาตมา ก็เผื่อไว้ ๑๐ ล้าน ซื้อเครื่องเอ็กซ์เรย์ดีๆตัวเดียวก็ปาเข้าไปตั้ง ๕-๖ ล้าน แล้ว พวกเราก็รู้อยู่แล้ว ไม่มีเงินก้อน ก็เลยคิดว่าจะทำวิธีเดียวกับปฐพีพุทธ ปฐพีพุทธน่ะ ๔๒ ล้าน ตอนนี้เหลืออีก ๓ ล้านกว่าเองหมดแล้ว ประมาณ ๗-๘ เดือน มันเร็วเกินคาด ไม่ใช่หนี้ เป็นเงินหนุน เราก็มาช่วยกัน นี่แหละ มีคนทยอยให้ ทั้งรายเดือน รายสองเดือนหนุนกันมาอยู่เรื่อยๆ คิดว่าปี'๔๗ นี่หมดแน่ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ทำปฐพีพุทธอยู่แล้วก็ต่อได้เลยนา สถานพลาภิบาลนี่จะเป็นส่วนกลาง อาตมาทำงาน ๓๐ กว่าปีแล้ว ด้านการศึกษา ด้านสื่อสาร ด้านพาณิชย์ ด้านชุมชน อาตมาทำมาครบแล้ว ยังเหลือโรงพยาบาล หรือว่าโรงที่จะช่วยดูแล รักษากันเท่านั้นเอง โดยสถานพลาภิบาลนี่ ก็จะพยายาม จัดสรร ให้เกิดแผนกชราภิบาล ให้มันชัดๆ ด้วย แผนกดูแลคนแก่ ซึ่งจะต้องเป็นระบบ มีคนเข้าเวรหมุนเวียนมาดูแล ปฐมอโศกอยากจะรับ ก็ให้เป็นภาระของปฐมอโศก ซึ่งต้องหาคนมาคอยดูแลคนแก่ คอยช่วยเหลือเกื้อกูลอันโน้นอันนี้ ชราภิบาล จะต้อง ให้มีวิญญาณแห่งความอบอุ่น วิญญาณแห่งความรัก ทำให้ได้ เราจะทำสถานพลาภิบาลทางเลือก ไม่ใช่โรงพยาบาลที่เอาแต่การแพทย์แผนปัจจุบัน ตอนนี้มันมี นิมิตดีๆหลายอย่าง เช่น ขณะนี้มีหมอ ๒ คนลาออกมาแล้ว ไปทำงาน อยู่เดี๋ยวเดียว ไม่เอาแล้ว จะมาปฏิบัติธรรม จะมาอยู่ทางนี้ เอ้ามาอยู่ทางนี้ หมอก็ต้อง ใช้วิชาหมอ เล่าลัดๆก็เลยตกลง จะอยู่ช่วย ทีนี้หมอผู้ใหญ่หมอวีระพงษ์ ก็ได้ข่าวว่า ปี'๔๘ นี่จะลาออกแล้ว ลาออกจากงานแล้ว จะไปไหนล่ะ ก็ต้องมาเป็น แพทย์ผู้ใหญ่ แล้วได้ข่าวว่าที่ปฐมอโศกนี่มี หมอหญิงคนหนึ่ง บอกอยาก จะมาบวช เทียวไปเทียวมา แต่ก่อนจะบวชก็ต้องอยู่ไปก่อน ทำงานไปก่อน ไม่แน่หรอกทำไปแล้ว อาจจะติดใจ โอ้....อยู่เป็นฆราวาสดีกว่า ไม่บวชหรอก นิมิตอะไรมันดูเหมือนลงตัว พอเป็นไป อาตมาก็เลยบอกว่า ถ้าอาตมาอายุ ๗๒ ปีตาย เดี๋ยวก็ ไม่ทันการ เอาตรงนี้มาเป็นเหตุเร่งด้วย เอาน่า ช่วยทำหน่อยเหอะ มันจะได้เสร็จ พอทันเห็นบ้าง งานพุทธาภิเษกฯนี่จะเริ่มระดมกันเลย....." ถาม : การทำบุญครับ ข้างนอกเขาจะถือว่าทำบุญด้วยน้ำ ก็จะได้น้ำ ถ้าเราทำบุญ หรือว่าช่วยเหลือ โรงพยาบาล จะมีอานิสงส์อย่างไรให้เรา พ่อท่าน : ลึกๆแล้วนี่นา จิตใจคนนี่อยากสวย ก็ทำบุญด้วยสิ่งที่สวยๆ เราอยากหอม ก็ทำบุญด้วย สิ่งที่หอมๆ อะไรอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราทำบุญกับโรงพยาบาล ก็ต้องแก้ไขความเจ็บป่วย ได้ไข้ใช่ไหม? อย่างนี้มันเป็นเครื่องเคียง ฉะนั้นอานิสงส์ หรือประโยชน์ที่จะมาทดแทนจะมาให้ แก่เรานี่ มันก็จะมีส่วนเพราะพลังงานดูด พลังงานผลัก ถ้ามันเป็นเหตุปัจจัยที่ครบพร้อม หรือ มันควรจะได้ มันก็จะมาส่งเสริม ให้เป็นอย่างนี้ จะได้ตามที่เราอยาก ตามที่เราต้องการ อะไร อย่างนี้เป็นต้น มันก็จะ เป็นไปได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวิบากมันจะตรงเป๊ะๆทีเดียว ถ้าทำบุญด้วย ดอกไม้เราก็จะสวยอะไรอย่างนี้ คนทำบุญด้วยดอกไม้คนนั้นก็จะนิยมชมชอบดอกไม้ ก็คงไม่เอาดอกไม้ขี้เหร่หรือดอกอุตพิษมาทำบุญ มันก็ต้องเอาดอกไม้ สวยๆหอมๆ อะไรเชิงนั้น แหละ เพราะฉะนั้นจิตใจของคนก็โน้มไปทางนี้ ในรายละเอียด ก็จะมี พลังงาน มีเหตุปัจจัยครบ มันก็จะได้อย่างนี้ ถาม : การบังคับให้ผู้อื่นทำดีนี่ จะมีวิบากเยอะไหมครับ? พ่อท่าน : การบังคับให้ผู้อื่นทำดี ถ้าจะพูดถึงเรื่องลึกทางด้านจิตวิญญาณแล้ว มีวิบากเหมือนกัน คือการไปบังคับคนนี่ คนถูกบังคับต้องไม่ชอบใช่ไหม? เพราะฉะนั้น ในจิตที่เกิดความไม่ชอบนี่ มันคือศัตรู มันคือความผลัก คือสิ่งที่ไม่ดี มันก็เกิดวิบาก ทางความไม่ชอบ ความชอบ ความรัก หรือความโกรธ อย่างนี้ไม่ใช่ลักษณะรัก ในลักษณะโกรธ ในลักษณะไม่ชอบ มันก็มีส่วนที่ จะเกิดจริง นั้นหนึ่ง สอง บังคับ คนทำนี่ ไม่ได้ดีหรอก บังคับมันก็ทำฝืน ดีไม่ดีมันประชด เสียหาย ด้วย ทำแล้วไม่ได้ดี และการที่จะให้คนนี้มาเห็นผล หรือว่าเกิดความนิยมชมชื่น อะไรขึ้นมา อีกนี่ยาก เพราะฉะนั้นต้องให้ปัญญาเขา ให้เขาเข้าใจ ให้เขาเกิดจิตว่าเอออันนี้น่าทำ อันนี้ แม้มันจะยาก มันจะเหน็ดเหนื่อย มันจะสกปรกน่ารังเกียจ แต่ทำเถอะ อย่างน้อย เขาต้องได้ดี ได้กุศล ได้สิ่งที่เป็นบุญ เป็นประโยชน์คุณค่า เขาจะต้องมีปัญญา เข้าใจจึงรู้ว่า ถึงแม้มันจะขี้เกียจ จะรังเกียจ หรือมันจะยาก เขาก็ต้องทำ ถึงแม้เขา ไม่เต็มใจทำ แต่ใจเขาเห็นว่า เออมันทนทำ ไม่ใช่ทำเพราะถูกบังคับ อาจจะไม่ถึงขั้น บังคับ บอกนิดๆหน่อยๆเขาก็บอก ส่วนตัวเขาน่ะ ก็จะมีแนวโน้มว่า จะมีพลัง หรือว่า เออตัวเขาเองก็จะทำ ไม่ใช่ว่าถูกบังคับเต็มๆเลย แล้วก็โอ้โฮ มันฝืน ก็อย่าทำเลย อันนี้ก็จะเกิดปฏิกิริยา แล้วก็เกิดผลชัง หรือเกิดผลสั่งสมความไม่ชอบ ให้จิตเป็น วิบากเหมือนกัน ถาม : แต่เราเจตนาดี พ่อท่าน : เจตนาดี แต่มันไม่เป็นผลที่เจริญสมบูรณ์ เป็นผลไม่ค่อยดี มันจะเกิดวิบาก ที่ว่านี่ มันก็เกิด จากจิตคน แล้วคุณไปห้ามเขาได้หรือ มันเกิดแล้ว จิตมันไม่ชอบแล้ว ถาม : ถ้าเราใช้อุบาย พ่อท่าน : ต้องใช้ความจริง จะต้องฉลาด จะต้องเก่งในการที่จะชี้ความจริงให้ครบครัน ถาม : เราจะทำอย่างไรไม่ให้มีความกำหนัด บางทีไม่คิดแต่กลับฝัน พ่อท่าน : ก็เรียนรู้ตามทฤษฎีของพระพุทธเจ้านี่แหละ เรียนรู้กามวิตก หรือกาม สังกัปปะ แล้วก็ ลดมัน พยายามอ่านสิว่ากามมันเกิดเมื่อไร เกิดมีผัสสะ เกิดไม่มีผัสสะ มันเกิดก็ต้องรู้ว่าใจเรา มีกิเลสกาม กิเลสกำหนัด แล้วก็พยายามลดละด้วยสมถะวิธี หรือวิปัสสนาวิธี ตามที่เคย อธิบายแล้ว ถาม : พระที่บรรลุอรหันต์แล้วน้ำกามยังไหลอยู่หรือว่าหมดไปเลยครับ พ่อท่าน : ผู้ที่บรรลุอรหันต์แล้วนี่ น้ำกามก็ไหลเป็นธรรมชาติได้บ้าง เพราะโรงงาน มันไม่หยุด โรงงานของสรีระมนุษย์นี่ เป็นอรหันต์หญิงแล้วก็ตาม โรงงานที่จะสร้างไข่ ก็ไม่หยุด เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีเมนส์ไหลออกมาเหมือนกัน ถึงวาระเวลาก็ต้องไหล แต่ว่ามันไหลโดยปกติธรรมชาติ ไม่ได้มีความกำหนัด ไม่ได้มีรสชาติ ไม่ได้มีอารมณ์ ไม่ได้มีโลกียรส ไม่มีเลย เหมือนเยี่ยว แล้วมัน ก็จะไหลเป็นธรรมชาติธรรมดา บางคน มีนิมิตมีฝันช่วยบ้าง มีฝันช่วยให้มันไหล แต่ไม่มีรสไม่มีชาติ เหมือนน้ำเยี่ยว ไม่มีสุข ไม่มีรสอร่อยอะไรหรอก ถาม : ผมเคยคุยกับคนแก่ผู้ชาย จะเข้าโลงอยู่แล้ว ท่านยังมีความกำหนัดอยู่ เขาไม่ได้ล้างกิเลส พ่อท่าน : จะแก่เท่าไร ตายไปแล้วก็เหลืออยู่ทั้งนั้นแหละถ้าไม่ได้ล้าง มันต้องล้างจริงๆ มันต้อง ลดจริงๆ มันถึงจะเป็นไปได้ ถ้าไม่ล้างไม่ลดไม่หมดหรอก ขนาดความกำหนัด ยังมี แต่ว่าสังขาร ไม่ให้แล้ว มันยังบ้าอยู่เลย โรงงานมันแย่แล้วนา มันยังบ้าอยู่เลย คนน่ะ ถาม : นานมาแล้วเคยได้ยินพ่อท่านพูดว่า ภาคอีสานนั้น ประกาศธรรมสายตรง ไม่ยากเท่า ภาคเหนือ ปัจจุบันนี้ที่ภาคเหนือก็มีญาติธรรมเพิ่มมากขึ้น อยากรู้ว่า ภาคเหนือยังประกาศธรรม ยากอยู่หรือเปล่า ในความรู้สึกของพ่อท่าน พ่อท่าน : คนชาวเหนือนี่ว่ากันจริงๆนะเป็นคนมีบุญมากกว่าคนอีสาน ยกตัวอย่าง ง่ายๆ อีสาน มันร้อนกว่า พืชพันธุ์ธัญญาหารไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนทาง ภาคเหนือ หรอก ปลูกกะหล่ำปลีก็โต๊โต อีสานปลูกก็น้อยหนึ่ง เพราะฉะนั้น คนเกิดภาคเหนือนี่ ลึกๆอจินไตยเลยนะ เป็นคนมีบุญส่วนหนึ่ง คนที่มีแต่บาปมากๆจะไปเกิด เอธิโอเปีย พูดถึงตัวอย่างนี้ จะเข้าใจง่ายขึ้น ถึงแม้มันจะไม่เหลื่อมล้ำ มากเหมือนกับที่นี่ ภาคเหนือ กับเอธิโอเปีย อีสานกับเหนือก็มีความต่าง คนมีบุญที่ไม่มีโลกุตระ นี่ซวย เพราะกินบุญ และเอาบุญไปทำบาป เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า คนรวยก็ดี คนสวยก็ดี ทำบาปมาก อย่างน้อยคนสวยนี่ทำให้เขาเจ็บปวดเยอะ นี่ก็บาป บางคนนี่ มีเจตนา ด้วย โอ้โฮ ฉันสวย ฉันจะแกล้งคนนั้นคนนี้ให้อกหัก คนมีบุญทางโลกีย์นี่ซวย ทั้งนั้นแหละ ถ้าไม่รู้โลกุตรธรรม ว่ากันจริงแล้ว คนเหนือนี่มีบุญมากกว่าคนอีสาน คนจนนี่มีทุกข์มากกว่า คนจนจะหา ธรรมะ มากกว่าคนรวยฉันใด คนมีบุญก็จะแสวงหาธรรมะน้อยกว่าคนมีบาป หรือ คนทุกข์ฉันนั้น เพราะฉะนั้น คนอีสานเขาถึงแสวงหาธรรมะมากกว่าคนเหนือ คนเหนือ สบายกว่าคนอีสาน คนสบายธรรมะก็ไม่ต้องไปหาหรอกใช่ไหม? คนที่มันลำบากน่ะ ก็จะหาธรรมะมากกว่า อธิบาย อย่างนี้แล้วก็คงเข้าใจน้อ สอนคนภาคเหนือ ทำไมถึง ยากกว่าคนอีสาน มันไม่ต่างกันกับ เอธิโอเปียหรอก แต่เอธิโอเปียก็ข้ามขั้นอีกขั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงจะพูดไม่ได้ อเวไนยสัตว์ สอนยากกว่ากันเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่สอนไม่ได้ ที่สอนไม่ได้จริงๆอย่างที่อาตมายกตัวอย่างเมื่อกี้นี้ สมมุติแล้วนะว่า อีสานมันบาป มากกว่าเหนือ แต่เขาก็ได้เร็วกว่าเหนือ เอธิโอเปียนั้นบาปมากกว่า อีสานอีก หยาบกว่า อีสาน ยากกว่าเหนือ อีกรอบหนึ่งนา มันเป็นอจินไตยซึ่งกลับไปกลับมา ถ้าไม่เข้าใจ สัจจธรรมลึกๆ ก็อธิบายยาก ปิดท้ายบันทึกฉบับนี้จากบางส่วนของโอวาทปิดประชุมชุมชนปฐมอโศก (๑๒ ม.ค. ๔๗) ดังนี้ "...ให้รู้จุดมุ่งหมาย รู้สิ่งขาดพร่อง ที่เราจะเสริม จะทำยิ่งขึ้น พัฒนาตนเองขึ้นมา เอาภาระ นี่แหละสำคัญ ทุกวันนี้คนพัฒนาไม่ทันงาน งานก้าวหน้า แต่คนก้าวหน้า ไม่ทันงาน อยากให้ พวกเราเร่งขึ้นอีก เพิ่มอิทธิบาทขึ้นจริงๆ เคยถามอยู่บ่อยๆ ว่าหมดพลัง หมดกำลังกันหรือยัง ก็ตอบว่ายัง อะไรก็ยังพัฒนาได้อีก ไม่ว่ากำลัง แรงกาย สมรรถนะ พยายามหาทางเพิ่มให้ได้ พยายามเคี่ยวเข็ญตนเองขึ้นมาให้ได้ แล้วทุกอย่างก็จะดีขึ้น อย่าลืมว่าปฐมอโศก เป็นชุมชน อันดับที่หนึ่ง เป็นที่พึ่งของ ชุมชนอื่นๆ เพราะฉะนั้น ต้องทำให้แข็งแรงถาวร เพื่อเป็นแหล่งพึ่งพิง อ้างอิงคุณภาพ กันได้ พยายามทำกันให้ดีที่สุดก็แล้วกัน....." - รักข์ราม. - -สารอโศก อันดับที่ ๒๗๐ เมษายน ๒๕๔๗ - |