มุ่งมั่น ละตัวตน

สรรพสิ่งโลกนี้ฤา จีรัง
ทุกสิ่งคาดหวัง พังสิ้น
กายยาววาหนาคืบยัง มอดม้วย ดับเฮย
จงทำดีก่อนดับดิ้น ชีพไซร้ ลาดิน

ครอบครัวข้าพเจ้าเป็นครอบครัวที่ใฝ่ศาสนา ปู่-ย่า-ตา-ยายเข้าวัดฟังธรรมเป็นประจำ แต่ปฏิบัติแ ตกต่างกันตามที่นับถือ ข้าพเจ้าได้ซึมซับเกี่ยวกับศาสนามาตั้งแต่ยังเล็ก และ ศาสนาพุทธ มีอิทธิพลต่อข้าพเจ้า

ชีวิตชาวไร่ชาวนา เด็กๆต้องไปเลี้ยงควาย ข้าพเจ้าก็หิ้วทรานซิสเตอร์ไปฟังเทศน์ฟังธรรม

ฟังเทศน์เสร็จก็ร้องเพลงบนหลังควาย ชีวิตวนเวียนอยู่กับวัด เรียนโรงเรียนวัด วันพระ ทำบุญที่วัด งานศพ งานบวชก็จัดที่วัด นี่คือวิถีชีวิตของคนชนบทสมัยเมื่อกว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมา

ข้าพเจ้าเรียนจบชั้นประถมปีที่๗ จากแถวๆบ้าน และได้ไปเรียนระดับมัธยม ที่ในตัวอำเภอ ไพศาลี ระหว่างที่เรียนมัธยมต้น ข้าพเจ้าได้มีโอกาส เห็นสมณะชาวอโศก มาธุดงค์บ่อยๆ และเห็นมีคน จะบวช ซึ่งคนนั้นเป็นลูกของ อาจารย์อุดม พรหมสีดา ซึ่งปัจจุบันก็คือ สมณะเดินดิน ติกขวีโร จึงทำให้ ข้าพเจ้าได้เห็น สมณะรูปนี้ เป็นประจำ

ข้าพเจ้าชอบพระธุดงค์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ยิ่งชอบมากขึ้น แต่ไม่ค่อยอยากเข้าใกล้ และเพื่อนๆ ก็นำหนังสือเล่มหนึ่งมาให้ เพื่อนบอกว่าได้มาจากพระที่ป่าช้า (ปัจจุบันคือ ชุมชนศาลีอโศก) หนังสือ เล่มนั้นชื่อว่า "กินด้วยญาณ ๑๖"

จนกระทั่งข้าพเจ้าเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เส้นทางชีวิตที่คิดไว้ ๒ เส้นทาง ๑. อยากเป็นนัก เกษตร เรียนเกี่ยวกับการเกษตร ๒. อยากรับราชการทหาร ลูกผู้ชายตัวจริง ต้องเป็นทหารตำรวจ อยากให้ฝันเป็นจริง ข้าพเจ้าจึงไปสมัคร เพื่อจะเป็นทหารเรือ แต่ส่วนสูง และน้ำหนัก เป็นอุปสรรค ของข้าพเจ้า ทหารเรือไม่ได้ ก็ไปสมัครเพื่อจะเป็นทหารอากาศ สอบเบื้องต้น เสร็จสรรพ

ด้วยความไม่คุ้นชินกับสภาพในเมืองหลวง ข้าพเจ้าจึงอยู่บ้านดีกว่า ไม่สนใจแล้วอาชีพ ที่อยาก จะเป็น คุณตาซึ่งชอบเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรมจึงชวนไปค้างที่วัดป่าช้า ข้าพเจ้าก็ย้ำกับ คุณตาว่า "แค่ ๗ วันนะตา"

จะเป็นบุญหรือเป็นกรรมของข้าพเจ้าก็ไม่อาจทราบได้ เพราะพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ แวะมาที่ วัดป่าช้า จำไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นงานอะไร คุณตาของข้าพเจ้าก็พาไปกราบ พ่อท่านทักว่า "มาอะไร ตั้งแต่หนุ่ม มาอยู่ที่นี่มาตายนะ" พ่อท่านย้ำอีกว่า "เป็นเด็กเป็นเล็กมาอยู่ที่นี่ มาตายนะ" ข้าพเจ้า ก็ไม่ได้ตอบอะไร เพราะไม่ใช่คนช่างพูด แล้วพ่อท่านก็สรุปว่า "มาตายน่ะ กิเลสตาย คนน่ะ ไม่ตาย ง่ายๆหรอก"

จากวันนั้นข้าพเจ้าก็อยู่ไปเรื่อยๆ (ก็ไม่คิดจะกลับบ้าน ทั้งๆที่ตอนคุณตาชวนมาก็จะมาดูเล่นๆ) จนกระทั่ง พ่อท่านจะเดินทางกลับไปที่แดนอโศก ชีวิตตอนนั้นเหมือนตกกระไดพลอยโจน โยมแม่ อนุญาต ให้ข้าพเจ้าเดินทางไปที่แดนอโศกกับพ่อท่าน

น้ำตาลูกผู้ชาย... น้ำตาไหลเป็นครั้งแรก เพราะต้องจากบ้าน จากครอบครัวเป็นครั้งแรก ข้าพเจ้า ร้องไห้ โยมแม่เอง ท่านก็ร้องไห้ และด้วยความเป็นห่วงข้าพเจ้า โยมแม่ก็ให้เงิน ติดตัวมา ๕๐๐ บาท (๕๐๐ บาท สมัยกว่า ๓๐ ปีมีค่ามาก)

พอรถแล่นออกจากวัดป่าช้าไพศาลี ความรู้สึกของข้าพเจ้าเหมือนใจจะขาดรอนๆ รถวิ่งผ่านบ้าน... บ้านข้าพเจ้า โอ้หนอ! ต้องจากบ้านไปจริงหรือนี่ แม้รถจะวิ่งผ่านไปไกลแล้ว แต่สายตา ข้าพเจ้า ก็ยังคงมองบ้าน บ้านซึ่งให้ความรักความอบอุ่น...จนลับสายตา

ในความรู้สึกเศร้าสร้อย จนไม่ค่อยสังเกตถนนหนทาง รถมาจอดที่สันติอโศก (สมัยปี พ.ศ.๒๕๑๘, ๒๕๑๙ สันติอโศกเป็นบ้านทรงไทยสองชั้น บริเวณรอบๆเป็นทุ่งนาร้างว่างเปล่า) ยิ่งทำให้ความรู้สึก อ้างว้าง วังเวงคิดถึงบ้านยิ่งขึ้น

๒-๓ วันต่อมา ก็เดินทางไปที่แดนอโศก ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ทั้งจากสมณะ และสิกขมาตุ พ่อท่าน ก็พูดว่า "มีสมาชิกใหม่มา ยังหนุ่มอยู่ ดูแลกันหน่อยนะ" ข้าพเจ้า อยู่ฝึกกินมื้อเดียว ประมาณ ๑ อาทิตย์ ก็สมัครเป็นปะ แล้วจึงเลื่อนเป็นนาค...

การที่ได้อยู่ในแดนอโศก ข้าพเจ้าได้ฝึกตบะหลายอย่าง เพื่อให้เข้มแข็ง แต่ใจลึกๆ ก็ยังคงคิดถึงบ้าน เวลาพ่อท่านโบกรถไปตระเวนเทศน์ พอกลับจากวัดป่าช้าไพศาลี ก็นำข่าวมาบอกว่า "ยายฝาก ความคิดถึงมา พ่อ-แม่-ปู่-ย่า น้องนุ่งอยู่สบายดีไม่ต้องห่วง"

เงินที่แม่ฝากมาตั้งแต่แรกก็ยังอยู่ ยิ่งทำให้อยากกลับบ้าน "เงินนี้คงทำให้เราอยู่วัดไม่ได้" ข้าพเจ้า จึงส่งเงินกลับให้แม่ทั้งหมด คิดถึงบ้าน อยากกลับบ้านเพียงไหน ไม่มีเงินก็กลับไม่ได้

ข้าพเจ้าได้บวชเป็น สามเณรที่สันติอโศก ปฏิบัติขัดเกลาตัวเอง จนกระทั่งได้บวชเป็นสมณะ อาการ คิดถึงบ้านก็จางหายไป ข้าพเจ้าอยู่ปฏิบัติที่สันติอโศกจนเวลาผ่านไป ๑๐ พรรษา...

พอดีที่วัดป่าช้าไม่มีสมภารที่จะรับภาระ (สมัยนั้นยังมีระบบสมภาร) พ่อท่านก็พูดว่า "ท่านชิน คนไพศาลี คงรู้ใจชาวไพศาลี ไป ไปเป็นสมภาร"

ในใจข้าพเจ้าไม่อยากจะไป เพราะไม่เคยปกครองคน... เอาเถอะ! อาศัยกฎเกณฑ์ไปปกครอง แต่เพราะ เราเป็นสมภารใหม่ไม่มีประสบการณ์ใดๆ ทำเอาวัดป่าช้าเกือบแตก เพราะสมภาร ไม่ได้รู้นิสัยลูกวัด เอาแต่กฎเกณฑ์มาวัดมาเป็นมาตรฐาน ทำให้ลูกวัดอึดอัดกระสับกระส่าย ขาดความยืดหยุ่น ทำให้เร่าร้อนกันไปหมด...

ไม่เป็นอีกแล้วสมภาร เบื่อ เซ็ง แต่สุดท้าย...หมู่กลุ่มก็ยังให้โอกาสเรียนรู้ ปรับกระบวนท่ากันไป จนในที่สุดก็ผ่านพ้นมาได้ เริ่มรู้จักนิสัยใจคอลูกวัดกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น และมีงาน เพิ่มมากขึ้น จนทุกวันนี้ข้าพเจ้าก็ยังอยู่ที่วัดป่าช้าศาลีอโศก แล้วระบบสมภารก็กลายเป็น ระบบ กระบวนการกลุ่ม ทุกคนต้องมาร่วมกันตัดสิน ทั้งปัญหาและการสรรสร้าง สิ่งใหม่ๆ

ประโยชน์ที่ได้คือ ได้ความอดทน ให้เป็นคนสู้งาน สู้ชีวิต ถึงแม้ไม่มีความสามารถ แต่ก็อดทน ศึกษาเรียนรู้ จนกระทั่งได้หัดวางใจเป็นอุเบกขา วางใจในใจได้ก็เป็นสุข ประโยชน์ที่ได้จากการ ดูแลเด็กๆคือ ผู้ใหญ่ต้องยิ้ม เล่นหยอกล้อกับเด็กๆบ้าง ทักทายเด็กๆ ก็จะทำให้เด็กผ่อนคลาย ไม่แข็งทื่อ แข็งกระด้าง

การฝึกจิตเพื่อให้ละวาง หรือที่เรียกกันว่าอุเบกขา คือต้องพิจารณาว่าเป็นประโยชน์หรือไม่ แม้จิตเรา ไม่อยากทำ เราก็ต้องฝืนทำไปก่อน ในระหว่างที่ฝืนจิตใจ ทำในสิ่งที่พิจารณาแล้วว่า เป็นประโยชน์ เราก็ค่อยปรับสภาพจิต ว่าไม่ชอบตรงไหน ไม่ดีตรงไหน ถามตัวเองให้ได้คำตอบ เหมือนการพูดคุย กับญาติโยมได้ประโยชน์ตรงไหน ก็ปรับจิตของตัวเราไป ซึ่งต่างจาก สมัยก่อน พอข้าพเจ้า เห็นญาติโยมหรืองาน หลบได้เป็นหลบ นั่นเป็นสิ่งไม่ดีเลย

งานมันไม่ได้หนักหนาหรอก สิ่งที่หนักคือ "จิตใจ" ที่แบกไว้ ยึดติดไว้ วางไม่ได้ จึงทำให้หนักอึ้ง การที่ไม่ชอบสิ่งใดก็ต้องปรับจิตให้ชอบ มองให้เห็นประโยชน์ที่ตัวเราเองจะได้รับ ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน มีไหม พอเห็นประโยชน์ จิตใจก็จะเริ่มวางได้ ก็จะเป็นอุเบกขา

สักกายะ(กิเลสตัวใหญ่)ที่ข้าพเจ้าเพียรแล้วเพียรอีกคือญาติ เพราะชีวิตของคนชนบท ผูกพันอยู่กับ ญาติ เรื่องอบายมุขเรื่องเหล้าไม่ติด และไม่ลองมาตั้งแต่เด็ก แต่เรื่องญาตินั้น ข้าพเจ้าบวชได้ หลายพรรษา ก็ยังโหยหาอยู่กับญาติ นี่เป็นสักกายะของข้าพเจ้า ที่จะต้องเพียรพยายามล้างต่อไป

สักกายะต่อมา เมื่ออายุพรรษา ๑๐-๒๐ พรรษา คือเรื่องอัตตามานะ การจับอัตตามานะ ต้องอาศัย การเดินมรรคมีองค์แปด ผัสสะกับงาน ผัสสะกับเพื่อนร่วมงาน จิตเราไม่ชอบใจ มากน้อยแค่ไหน แสดงออกมาทางกายกรรมหรือวจีกรรม ถ้าตามอัตตาทัน ก็ดับให้ได้ ถ้าตามไม่ทัน ก็ใช้วิธีทบทวน ที่ภาษาพระว่า "ปุพเพนิวาสานุสติญาณ" ว่าเราปล่อยให้ กิเลสตัวนี้ออกมา อาละวาด ได้อย่างไร มีวิธีการ ทั้งเดินจงกรม นั่งสมาธิ เขียนบันทึก

มาถึงกรณีสันติอโศก ข้าพเจ้าจิตตกจะสึก และเตรียมจะสึก จิตใจมันนึกขึ้นมาว่า เราต้อง มาติดคุก แล้วพ่อแม่เราจะเป็นอย่างไร ไม่อยากอยู่ในเพศบรรพชิตแล้วละ ยิ่งโดน ให้เปลี่ยนชุด โอ!จิตมันท้อ จิตมันถอย คงเป็นบุญของข้าพเจ้า ที่ญาติโยมรู้ว่าจิตตก ทุกคนมาพูด ให้กำลังใจ บ้างก็โทรมา ให้กำลังใจ

คำพูดของโยมคนหนึ่ง ทำให้ข้าพเจ้าสะดุดฉุกคิด "ท่าน...การที่จะสึกออกไปในช่วง เหตุการณ์ แบบนี้ ไม่สวยหรอก มันเป็นการเห็นแก่ตัว ทีสุขท่านอยู่ ทีลำบากท่านหนี ไม่สวยหรอก" อยู่ก็อยู่ ติดคุกก็ติด ข้าพเจ้าปรับใจทุ่มเทอีกครั้ง

ข้าพเจ้าได้เรียนรู้โลกธรรม ตอนที่เปลี่ยนชุดจากนุ่งห่มแบบพระ (ถึงแม้จะสีน้ำตาลก็ตาม) มานุ่งห่ม คล้ายๆชี ข้าพเจ้าอึดอัดขัดเคือง หงุดหงิดไม่ชอบใจ ไม่พอใจ เจอเขาต่อว่าด่าทออีก เป็นพวกเถร พวกชี ศิษย์เทวทัต

ข้าพเจ้าทำใจได้ เมื่อได้มาอ่านเจอพระสูตรที่สอนไว้ว่า "เธอทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้เป้าหมาย ไม่ใช่ มีลาภ สักการะ หรือสรรเสริญใดๆเป็นอานิสงส์ การมาบวชในเส้นทางนี้คือ การวาง การไถ่ถอน กิเลสให้สิ้นเกลี้ยง" สรุปก็คือการมาบวชนี้เป็นการวางใจให้ได้ในทุกๆเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

วิกฤตกรณีสันติอโศก ทำให้ข้าพเจ้าได้ประโยชน์มาก ได้รู้จักกิเลสตัวเอง ได้รู้จักมิตรแท้ มิตรเทียม ได้รู้จักสังคม และทำให้ข้าพเจ้าฉลาดขึ้น มีประสบการณ์หลายๆอย่าง

ทุกวันนี้เมื่อย้อนทบทวน ต้องขอบคุณ เหตุการณ์ เพราะนี่คือการศึกษา ถ้าข้าพเจ้า ไม่เข้าห้องเรียนนี้ เป็นนักเรียนเกเร ก็ต้องมาเรียนใหม่ในชาติใดชาติหนึ่ง เพราะฉะนั้น ชาตินี้ก็เข้าสอบซะให้ผ่าน ชาติหน้า จะได้ไม่ต้องมาเข้าเรียนอีก เพราะสอบผ่านแล้ว"

กราบคารวะ
- ?-


เหม่อมองไกลสุดขอบฟ้า
เบื้องหน้าฟันฝ่าสู่แดนฝัน
ฝึกเรียนรู้กาละปัจจุบัน
ด้วยมุ่งมั่นสักวันถึงเส้นชัย

ก้าวไปเถิดก้าวไปด้วยใจหวัง
ทุ่มพลังชีวิตอย่าหวั่นไหว
ลุกขึ้นสู้ปิ่มว่าจะขาดใจ
พลั้งพลาดไปเตือนไว้อย่าซ้ำรอย

* ฝั่งฟ้าฝัน

-สารอโศก อันดับที่ ๒๗๐ เมษายน ๒๕๔๗ -