แถลง
อโศกรำลึก - รำลึกอโศก

คานธีได้พูดถึงขบวนการพัฒนามนุษยชาติเอาไว้ ๕ ขั้นตอนด้วยกันคือ
๑. คนไม่สนใจ หรืออาจเห็นว่ามันบ้า !
๒. คนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์กันขึ้นมา (ชักอยู่ในสายตา)
๓. คนพยายามจะล้ม (แสดงว่าเริ่มจะมีอะไรดีขึ้นมาบ้างแล้ว)
๔. จะมีคนเข้ามาเป็นพวก
๕. จะได้พวกมากขึ้น และจะเริ่มทรุดเสื่อมถอยตอนนี้
(เพราะมีแต่คนยกย่องสรรเสริญ เหมือนอหิงสาของคานธี พอมีคนมาร่วมขบวนการมากขึ้น จะเหลือแต่รูปแบบ แต่เข้าไม่ถึงเนื้อหา)

ในปัจจุบันพัฒนาการของชาวอโศก น่าจะผ่านเลยขั้นตอนที่ ๓ และกำลังเข้าสู่ขั้นตอนที่ ๔ และ ๕ ไปตามลำดับ ซึ่งการที่จะได้คนเข้ามาเป็นพวกเพิ่มขึ้นย่อมเป็นสิ่งดี เพราะพระพุทธเจ้า ได้ทรงให้เรา ทำใจไว้อยู่เสมอว่า

"ผู้มีศีลที่ยังไม่มาขอให้มา และที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุขๆเถิด"

ถ้าเปรียบขบวนการกลุ่มของชาวอโศกเหมือนทีมฟุตบอล ทำอย่างไรทีมฟุตบอล(โลกุตระ) จึงจะสามารถ สอดประสาน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้สูง(เอกีภาวะ) ไม่ใช่อยู่แบบทางใคร ทางมัน หรือเล่นไม่เข้าขากัน และพอดังแล้วฟอร์มไม่ตก เคยฟังโค้ชก็กลายเป็นเชื่อหัวไอ้เรือง และเอาแต่ใจตัวเอง(อรูปอัตตา)สูง พระพุทธเจ้าทรงให้หลักปฏิบัติไว้ ๕ ประการ เพื่อความผาสุก ในการอยู่ร่วมกัน และให้มีพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆอย่างไม่แปรเปลี่ยน(อวิปริณามธัมมัง) แน่นอน(ธุวัง) ไม่มีอะไรมาหักล้างลงได้(อสังหิรัง) โดยไม่กำเริบเด็ดขาด(อสังกุปปัง) เที่ยงแท้(นิจจัง) และยั่งยืนนิรันดร์(สัสสตัง) คุณธรรม ๕ ประการนั้น ประกอบด้วย

๑. ถึงพร้อมด้วยศีล ไม่ติเตียนผู้อื่นในเพราะอธิศีล
คนที่อดกินข้าวเย็นไม่ได้ (ไม่ถึงพร้อมด้วยศีล) ก็ไม่พึงติเตียน ผู้ที่เข้าถึงศีล ๘ หรือศีลมากกว่านี้ได้ หรือ ผู้ที่มีศีลสูงแล้ว ก็ไม่เอาความถึงพร้อมด้วยศีลของตนมาข่มผู้มีศีลน้อยกว่า คนที่ระเบียบ เรียบร้อย ก็ไม่ไปข่มคนที่ระเบียบน้อยและเรียบไม่ถึง ๑๐๐ สายปัญญา สร้างสรร ก็ไม่ไปข่ม พวกเจโตว่า ซื่อบื้ออยู่ในภพ พวกเจโตชอบสงบก็ไม่ข่มพวกปัญญาว่าฟุ้งซ่าน กระล่อน

จริงๆแล้วชาวอโศก มีทุกสายทุกประเภทมาอยู่รวมกันหมด ถ้าใครสามารถบูรณาการ เอาส่วนดี ของผู้อื่นมาหล่อหลอมให้มีในตนได้ เราก็จะเป็นผู้ที่มีทั้งเจโตก็สมบูรณ์ ปัญญาก็สมบูรณ์(วิมุติ)

๒. เพ่งดูตนเอง ไม่เพ่งโทษผู้อื่น
เมื่อใดที่เรารู้สึกว่ามีคนทำอะไร "ทุเรศๆ" ขึ้นมา เมื่อนั้นต้องรีบหันมาเพ่งมองทันทีว่า ความทุเรศนั้น จริงๆแล้วอยู่ที่ใจของเรา ต้องเพ่งล้างที่ใจเราอย่าไปมุ่งจ้องเพ่งล้างที่เขา เมื่อเนื้อก็ไม่ได้กิน หนังก็ ไม่ได้รองนั่ง อย่าไปเอาเวรกรรมของเขามาใส่ใจใส่หัวใส่ปากของเรา จงเชื่อใน"กฎแห่งกรรม" แล้วจะสบายใจ แต่ถ้าไปใช้"กฎแห่งกู" คิดเล่นงานเขาจะมีแต่ความทุกข์ใจ และมีกิเลสเพิ่มขึ้น อีกมากมาย

ถ้าชุมชนใดรู้สึกว่าชุมชนของเรามีปัญหามากมาย มีวิธีแก้ไขที่ง่ายและใช้เวลาไม่นาน โดยการให้ สมาชิกในชุมชนนั้นๆ มานั่งจับเข่าคุยกัน โดยมีกติกากำหนดไว้ว่า ให้ทุกคนสะท้อนปัญหา ของตัวเอง ความไม่ดีของตัวเอง และถ้าปวารณาให้คนอื่นช่วยบอกข้อแก้ไขได้ด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ ที่สำคัญจะต้องไม่ไปพูดปัญหาของคนนั้นคนนี้ให้วุ่นวาย เพราะจะเกิดปัญหามากมายก่ายกอง เข้ามาทีเดียว และถ้าพิจารณาดีๆแล้วจะเห็นว่า คนสำคัญที่น่าจะได้แก้ไขก่อนเพื่อน คือ ตัวเรานี่เอง

๓. ไม่มีชื่อเสียง ก็ไม่กระดี๊กระด๊า อยากจะมีชื่อเสียงขึ้นมา
พ่อท่านนำพาชาวอโศก ทำงานมา จนถึงทุกวันนี้ ชาวอโศกได้รับการยอมรับจากสังคมในระดับหนึ่ง ซึ่งพ่อท่านเองพยายามถอดถอนตัวตนให้รับรู้กันทั่วไปในนาม"ชาวอโศก" ซึ่งปกติสำนักดังๆ ในประเทศไทย โด่งดังขึ้นมาได้ก็เพราะมีเจ้าสำนักเป็นจุดขาย เช่น หลวงปู่แหวน หลวงพ่อคูณ ฯลฯ แต่ตัวพ่อท่านเองนั้น บางครั้งลูกศิษย์อาจได้การยอมรับจากสังคมมากกว่าด้วยซ้ำไป

พ่อท่านทำงานศาสนาเน้นการสร้าง"คน"ป็นหลัก ซึ่งพ่อท่านต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ ไปกับการ ปลูกฝังคุณธรรม ให้กับเด็กๆก็ดี คนวัด คนในชุมชน และร่วมประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ของชาวอโศก เพื่อถ่ายทอดอุดมการณ์บุญนิยม ให้ขับเคลื่อนไปอย่างถูกทิศทาง ซึ่งถ้าพ่อท่าน ไม่ต้องมาเสียเวลากับงานสร้างคนสร้างระบบเช่นนี้ เอาเวลาไปออกรายการวิทยุ โทรทัศน์ รับบรรยายทั่วไป หรือตั้งหน้าตั้งตาเขียนตำราเผยแพร่ออกไปให้กว้างขวาง ในเวลา ๓๐ ปี ก็น่าจะทำให้พ่อท่านต้องดังขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย

ทิศทางการทำงานของพ่อท่าน น่าจะเป็นบรรทัดฐานที่ดีให้กับลูกๆอโศกได้เจริญรอยตาม ซึ่งทุกวันนี้เรามีงานต้องออกไปสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นงานอบรม ตามเครือข่าย งานรายการวิทยุ และงานไปบรรยายให้ผักงามตามสถานที่ต่างๆ ฯลฯ ซึ่งการจัดสรร ความสมดุลระหว่างงานภายนอกและงานภายใน ถ้าไม่ได้สัดส่วนที่พอเหมาะ ก็จะกลายเป็นต้นไม้ ที่กิ่งก้านขยายกว้าง แต่แก่นแกนกลับแคระแกร็น ยิ่งขยายกว้างออกไปเท่าไหร่ การหักโค่น ก็ยิ่งเร็ววันเข้ามากเท่านั้น

เน้นแก่นให้แน่นกว่ากว้าง เน้นดีให้ยิ่งกว่าดัง เพราะถ้าดังโดยไม่ดี ก็มีหวังจักต้องพัง

๔. ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากซึ่งฌาน ๔
ฌานคือการเพ่งเผากิเลสในตน ถ้าใครมุ่งแต่เพ่งเผากิเลสคนอื่น คงได้ฌาน"เสื่อม" แต่ไม่ถึงฌานสี่ และ ฌานของพุทธนั้น เกิดจากการปฏิบัติมรรคองค์ ๘ เป็นสำคัญ ซึ่งมรรค ๘ เป็นเรื่องของการ ดำเนินวิถีชีวิตประจำ โดยการปรับทิฐิให้เป็นสัมมาทิฐิ ปรับความคิดให้เป็นสัมมาสังกัปปะ ปรับการกระทำ -คำพูด-และอาชีพการงานให้เป็นสัมมา ซึ่งสัมมาทั้งหลายทั้งปวงจะเกิดได้ ก็ต้องอาศัยมิตรดี สหายดี ที่เป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของความบริสุทธิ์บริบูรณ์ในพรหมจรรย์ ช่วยกันบอก ช่วยกันปรับให้สัมมา

ดังนั้นขบวนการกลุ่ม หรือขบวนการสงฆ์จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ก่อให้เกิดการปรับเข้าสู่ สัมมาอริยมรรค มีองค์ ๘ นักปฏิบัติธรรมที่ไม่ค่อยเอาใคร ถนัดไปดุ่ยๆเดี่ยวๆ หรือต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ สุดท้ายก็จะได้แต่ทำงานแต่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม จริงๆแล้วในขณะทำงาน ย่อมมีทั้ง โลกธรรม กามคุณ และอัตตาแฝงซ้อนมาอยู่ตลอดเวลา ถ้าทำงานไป ได้ฆ่ากิเลสไปด้วยก็กำไร แต่ถ้าเราถูกกิเลสฆ่าในขณะทำงานก็ขาดทุน

ปัญหาอยู่ที่ว่าเรามีมิตรดีสหายดี หรือขบวนการกลุ่มช่วยกันรุมจัดการกิเลสหรือไม่ หรือเราเป็น ประเภทสายเดี่ยว ที่ถูกกิเลสเข้ามารุมจัดการเราแต่ฝ่ายเดียว?

๕. กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้
สุดท้ายแล้วเราก็จะไม่ประมาท ในอาสวะทั้งหลายทั้งปวง บางคนอบายมุขก็สบายแล้ว แต่พอเจอ มวย เจอฟุตบอลทางทีวี อาสวะก็กำเริบทุกที ดังนั้นการถือศีลแต่ละข้อๆ พึงนำเข้ามา ตรวจอ่าน จิตใจ ให้มีการเพ่งเผากิเลสอยู่เสมอๆ จึงเป็นศีลที่ทำให้เกิดฌาน เมื่อเผากิเลสได้ ก็จะเกิดปีติยินดี เป็นศีลที่เบิกบาน จนอ่านสภาวะธรรมที่กิเลสจางคลายจากจิตใจได้ เท่ากับ การมีศีล จนเกิดญาณ และเห็นถึงความสิ้นไปของอาสวะแต่ละเหตุปัจจัยในกิเลสเรื่องนั้นๆ นั่นก็คือ การถือศีลจนถึง นิพพาน

ทิศทางการละลายตัวตน เพื่อมรรคผลยิ่งๆขึ้นไป ที่จะทำให้ชาวอโศกไม่มีวันเสื่อมถอย น่าจะเป็น เรื่องของอโศกรำลึก-และรำลึกอโศก

- คณะผู้จัดทำ -