สัมมนา คกร.

วันที่ ๑๑-๑๓ มิ.ย. ๒๕๔๗ เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย(คกร.) สัมมนาผู้ปฏิบัติงาน ศูนย์ฝึกอบรม ครั้งที่ ๒ เรื่อง "สร้างสมดุลงานภายในกับงานภายนอก" ณ ศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการ นาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งหมด ๓๐๒ คน ชาย ๑๔๐ คน หญิง ๑๖๒ คน สมณะ ๓๐ รูป สิกขมาตุ ๘ รูป (สัมมนาครั้งแรกที่หอประชุมชาวบ้าน ปฐมอโศก ในงานมหาปวารณาปี ๒๕๔๖)

๒๗ ศูนย์ที่เข้าสัมมนาครั้งนี้ มีดังนี้ ปฐมอโศก ศีรษะอโศก ราชธานีอโศก สีมาอโศก ศาลีอโศก สันติอโศก ทักษิณอโศก หินผาฟ้าน้ำ สวนส่างฝัน วังน้ำเขียว ดินหนองแดนเหนือ เมฆาอโศก ศรีโคตรบูรณ์ เลไลย์อโศก แก่นอโศก ร้อยเอ็ดอโศก ภูพานอโศก สุรินทร์อโศก บูรพาอโศก สถาบัน ฝึกอบรมผู้นำ เพื่อนช่วยเพื่อน วังสวนฟ้า ดอยรายปลายฟ้า ฮอมบุญอโศก แม่ฮ่องสอนอโศก สานฝันปันบุญ ธรรมชาติอโศก

๑๑ มิ.ย.
ประมาณ ๕ นาฬิกาออกเดินทางจากสันติอโศกโดยรถบัส ๗ คัน ถึงที่พัก รับประทานอาหาร รวมตัว ที่หอประชุม เริ่มกิจกรรมประสานสัมพันธ์ มีข้อตกลงร่วมกันว่า ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากศูนย์ใด เข้าห้องประชุมสาย ศูนย์นั้นจะต้องถูกปรับ ๕๐๐ บาท นำสมทบสร้างศูนย์พลาภิบาลปฐมอโศก หลังจากนั้น ตัวแทนศูนย์ละ ๒ คน ร่วมปรึกษากำหนดทิศทางสัมมนา

บ่ายโมง คุณธำรงค์ แสงสุริยจันทร์และคณะ ปฐมนิเทศ ชี้แจงวัตถุประสงค์การสัมมนา
๑. เรียนรู้และแก้ไขตัวเองเพื่อเป็นพี่เลี้ยงและปฏิบัติกรที่ดี
๒. ถ่ายทอดประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
๓. ยกระดับมาตรฐานของศูนย์ฝึกอบรม โดยเน้น ๓ อาชีพกู้ชาติ กสิกรรมไร้สารพิษ ปุ๋ยสะอาด ขยะวิทยา
๔. กำหนดบทบาทของศูนย์ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาไปสู่วงกว้างในอนาคต

และแนะนำเจ้าหน้าที่ ๔ องค์กรที่ร่วมทำงานกับคกร. ประกอบด้วย สสส., ทีมงดเหล้า-เข้าพรรษา, ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาแผ่นดิน, ธ.ก.ส.

หลังจากนั้น แบ่งกลุ่มสัมมนา ๓ กลุ่ม ในประเด็น "เรากำลังยืนอยู่จุดไหน" สำหรับสมณะ-สิกขมาตุ เข้ากลุ่มที่สนใจ
กลุ่มที่ ๑ ปฏิบัติกรด้านการฝึกอบรม
กลุ่มที่ ๒ ปฏิบัติกรด้านการติดตามสร้างเครือข่ายและตลาดกสิกรรมไร้สารพิษ
กลุ่มที่ ๓ ผู้ประสานงานกลุ่ม การเงิน ระบบรายงานและการประเมินผล

ภาคค่ำ ตัวแทนแต่ละกลุ่มนำเสนอผลการสัมมนากลุ่มละ ๑๐ นาที



๑๒ มิ.ย.
ทำวัตรเช้า "การเก็บกวาดงานภายใน" โดยสมณะ ๙ รูป และสิกขมาตุ มาบรรจบ เถระวงศ์ แล้วออกกำลังกายตามอัธยาศัย

ภาคเช้า แบ่งกลุ่มสัมมนา ประเด็น "เราจะไปทางไหนเพื่อให้เกิดสมดุลของงานภายในและงานภายนอก?" ตามแม่ข่าย-ลูกข่าย ศูนย์ฝึกอบรมฯ ๙ กลุ่ม

๑. แม่ข่ายศีรษะอโศก และลูกข่าย สุรินทร์อโศก, ร้อยเอ็ดอโศก, ศรีโคตรบูรณ์, สกลนคร
๒. แม่ข่ายสันติอโศก และลูกข่าย ศรีบูรพา, วังสวนฟ้า
๓. แม่ข่ายหินผาฟ้าน้ำ และลูกข่าย แก่นอโศก, เลไลย์อโศก, ดินหนองแดนเหนือ
๔. แม่ข่ายปฐมอโศก และลูกข่าย เพื่อนช่วยเพื่อนอินทร์บุรี
๕. แม่ข่ายศาลีอโศก
๖. แม่ข่ายราชธานีอโศก และลูกข่าย สวนส่างฝัน
๗. แม่ข่ายสีมาอโศก และลูกข่าย วังน้ำเขียว, เมฆาอโศก
๘. แม่ข่ายทักษิณอโศก และลูกข่ายธรรมชาติอโศก
๙. แม่ข่ายดอยรายปลายฟ้า และลูกข่าย สานฝันปันบุญ, ฮอมบุญ, แม่ฮ่องสอน

เที่ยง สัมมนาต่อจากภาคเช้า
บ่าย ๓ โมง ทัศนศึกษา ชมเรือหลวงจักรีนฤเบศร
ภาคค่ำ ตัวแทน ๙ กลุ่มนำเสนอผลการสัมมนา กลุ่มละ ๑๐ นาที



๑๓ มิ.ย.
ทำวัตรเช้า "งานนอกงานใน ทำอย่างไรจึงสมดุล" โดย สมณะเดินดิน ติกขวีโร และสิกขมาตุ กล้าข้ามฝัน อโศกตระกูล

๐๗.๓๐-๑๐.๓๐ น. ทีมสำนักงาน คกร. สรุปผลการสัมมนา : ทิศทางและข้อตกลงร่วมกัน กำหนด มาตรฐานขั้นต่ำของศูนย์ฝึกอบรม คกร. ดังนี้

๑. ต้องมีสถานะเป็นกลุ่ม หรือเป็นชุมชน ไม่น้อยกว่า ๓ ปี มีที่ดินเป็นของส่วนกลางอย่างน้อย ๑๐ ไร่ เพื่อสร้างฐานงาน ๓ อาชีพกู้ชาติ
๒. มีคนอยู่ทำงานประจำศูนย์ฝึกอบรมอย่างน้อย ๑๐ คน เป็นญาติธรรมที่เป็นสมาชิกสามัญของชาวอโศก และชุมชนแม่ข่ายรับรอง
๓. มีปฏิบัติกร พี่เลี้ยงอยู่ประจำการอบรมอย่างน้อย ๕ คน
๔. คุณสมบัติขั้นต่ำของปฏิบัติกรและพี่เลี้ยงประจำศูนย์ฝึกอบรมถือศีล ๕ ละอบายมุข กินมังสวิรัติ
๕. ปฏิบัติกรมีประสบการณ์ในการอบรมในโครงการของคกร.กลางอย่างน้อย ๒ ปี
๖. มีสามัคคีธรรมในชุมชนตามหลักสาราณียธรรม
๗. ต้องมีฐานงานที่ดำเนินกิจกรรม ๓ อาชีพกู้ชาติ ซึ่งเป็นหลักในการดำรงชีวิตและพึ่งตนเองได้
-กสิกรรมไร้สารพิษ มีพื้นที่ปลูกพืชผักผลไม้อย่างน้อย ๓ ไร่, นาข้าวหรือนาสาธิตอย่างน้อย ๓ ไร่ สามารถปลูกพืชผักผลไม้ไร้สารพิษเลี้ยงผู้เข้ารับการอบรมได้อย่างน้อย ร้อยละ ๖๐
-ปุ๋ยสะอาด มีโรงปุ๋ยอย่างน้อย ๑ โรง, มีน้ำหมักจุลินทรีย์อย่างน้อย ๕๐๐ ลิตร, มีวัสดุทำปุ๋ย / จุลินทรีย์สำรองไว้พอเพียงสำหรับการฝึกอบรม
-ขยะวิทยา มีกระบวนการจัดการขยะที่ชัดเจนสม่ำเสมอ (แยกขยะ-พักขยะ-จัดการขยะ)
-๕ ส. มีกระบวนการจัดการ ๕ ส. สม่ำเสมอ
๘. มีอาคารที่ใช้ในการฝึกอบรมอย่างน้อย ๒๐๐ ตร.ม.
๙. มีที่พักแยกชาย-หญิงไม่น้อยกว่า ๕๐ คนต่อโรงเรือน
๑๐. มีห้องน้ำแยกชาย-หญิงอย่างพอเพียง ๑ ห้อง ต่อ ๑ คน
๑๑. มีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและมีน้ำใช้อย่างพอเพียง
๑๒. มีโรงครัวที่ถูกสุขลักษณะ
๑๓. การใช้จ่ายเงินใช้ระบบสาธารณโภคี
๑๔. การรับรอง ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ๑. สมณะ-สิกขมาตุของศูนย์ฝึกอบรมแม่ข่าย โดยมติจาก ที่ประชุมสงฆ์ ๒. ศูนย์ฝึกอบรมแม่ข่าย โดยมติไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ๓. คณะกรรมการ คกร.กลาง โดยมติ ไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔

สำหรับศูนย์ฝึกอบรมเดิม กำหนดระยะเวลาในการพัฒนาศูนย์ฝึกอบรม ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ขั้นต่ำภายใน ๓ ปี และในกรณีศูนย์ฝึกอบรมที่ถูกปิดไป ต้องการเปิดใหม่ ให้พัฒนาให้เป็นไป ตามตัวชี้วัด และเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ และผ่านการรับรองตามลำดับขั้นดังกล่าว

๐๘.๓๐-๑๐.๓๐ น. พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์แสดงธรรมเรื่อง "ทิศทางของชาวอโศก" และรายการ เอื้อไออุ่น สรุปว่า ทิศทางของชาวอโศกคือไปนิพพาน เสร็จแล้วรับประทานอาหาร เดินทางกลับ

- ลูกพญาแร้ง -