พระมหากัปปินเถระ
กว่าจะถึงอรหันต์
พุทโธธัมโมสังโฆ ใน...อดีตชาติอันไกลโพ้นของพระมหากัปปินเถระนั้น เคยได้เป็นผู้พิพากษาอยู่ในนครหังสวดี มีโอกาสได้ฟังธรรม ของพระพุทธเจ้า พระนามว่า ปทุมุตระ ซึ่งประกาศคุณของพระสาวก ไว้ในตำแหน่ง ผู้เป็นเลิศในการสอนธรรม ฟังธรรมแล้วเกิดปีติยินดียิ่ง ปรารถนาตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง จึงกระทำบุญสะสมไว้ ด้วยนิมนต์ พระพุทธเจ้า พร้อมสาวก ให้เสวยและฉัน ได้กระทำกุศลในชาตินั้น จนตลอดชีวิต จากนั้นก็ได้เวียนตายวนเกิดเป็นเทวดา(ผู้มีจิตใจสูง) และมนุษย์(ผู้มีจิตใจประเสริฐ) จนกระทั่ง ได้ไปเกิด อยู่ในตระกูล ช่างหูก (ช่างทอผ้าแบบพื้นเมือง) ที่ตำบลบ้านใกล้นครพาราณสี มีบริวาร มากมายถึง ๑๐๐,๐๐๐ คน ในชาตินี้ เขาก็ได้ทำบุญไว้เป็นอันมาก อุปัฏฐาก (รับใช้ดูแล) พระปัจเจก พุทธเจ้า ๕๐๐ พระองค์ ด้วยการถวายจีวร ถวายอาหาร อันประณีตตลอด ๓ เดือน ผลแห่งบุญที่สะสมไว้นี้ ในชาติสุดท้ายจึงได้เป็นกษัตริย์พระนามว่า กัปปินนะ ครองนครกุกกุฏะ ใกล้ป่าหิมพานต์ ทรงเป็นพระราชา ผู้ถึงพร้อมด้วยความสุข หากทรงปรารถนนาสิ่งใด ก็จะสำเร็จ ดังประสงค์ทุกประการ มีอยู่คราวหนึ่ง พวกพ่อค้าจากนครสาวัตถีแห่งแคว้นโกศล ได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากัปปินนะ พวกเขา กราบทูลว่า "ข้าแต่สมมุติเทพ บัดนี้พระพุทธเจ้า(พุทโธ)องค์สมณโคดม ผู้เอกอัครบุคคล ไม่มีใครเสมอเหมือน เสด็จอุบัติขึ้น แล้วในโลก ขณะนี้ประทับอยู่ที่นครสาวัตถี พระองค์ทรงประกาศพระสัทธรรม(ธัมโม) อันเป็นธรรม ไม่ตาย เป็นอุดมสุข และสาวก(สังโฆ) ของพระองค์ เป็นผู้หมั่นขยันพ้นทุกข์ ไม่มีอาสวกิเลส(กิเลสที่หมักหมม ในสันดาน) ได้แล้ว" เพียงแค่ได้ยินคำว่า พุทโธ-ธัมโม-สังโฆ อุบัติขึ้นแล้ว ก็บังเกิดปีติสุขอย่างแรงกล้า แผ่ซ่านไปทั่ว พระสรีระของ พระราชา ถึงกับตั้งพระทัยว่า "เราจะบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น" แล้วตรัสกับพวกอำมาตย์ทั้งหลาย "พระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์ อุบัติขึ้นแล้ว เราจะไปบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราจะไม่หวน กลับมาอีก" ได้พระราชทานทรัพย์ให้พวกพ่อค้านั้นถึง ๓๐๐,๐๐๐ แล้วทรงสละราชสมบัติทั้งปวง เสด็จออก จากพระนคร โดยมี เหล่าอำมาตย์จำนวนมากติดตามไปหมายบวชด้วย ทั้งหมดพากันเดินทางไกล กระทั่งถึงแม่น้ำ มหาจันทานที อันกว้างใหญ่ มีน้ำเต็มเปี่ยมเสมอขอบฝั่ง ทั้งไม่มีท่าน้ำ ไม่มีแพ ยากที่จะข้ามได้เพราะกระแสน้ำไหลเชี่ยว เมื่อเป็นเช่นนี้ พระเจ้ากัปปินะทรงตั้งจิตกำหนดใจ ระลึกถึงคุณแห่งพระรัตนตรัย แล้วตรัสว่า "หากพระพุทธองค์(พุทโธ)ทรงข้ามกระแสน้ำคือภพ(กามภพ-รูปภพ-อรูปภพ)ไปได้ ถึงที่สุดแห่งโลก ทรงรู้แจ้งชัดไซร้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอให้การไปของเราจงสำเร็จ หากมรรค(ธัมโม)อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้ เป็นเครื่องให้สัตว์โลกถึงความสงบได้ เป็นเครื่องให้ โมกขธรรม (ธรรมที่นำให้หลุดพ้นจากกิเลส) เป็นธรรมอันสงบระงับนำความสุขมาให้ได้ไซร้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอให้ การไปของเรา จงสำเร็จ หากพระสงฆ์(สังโฆ)เป็นผู้ข้ามพ้นทางกันดาร(กิเลส)ไปได้จริง เป็นเนื้อนาบุญอันเยี่ยมไซร้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอให้การไป ของเราจงสำเร็จ" แล้วทรงข้ามแม่น้ำเชี่ยวกราก พร้อมเหล่าอำมาตย์ที่ติดตาม ขึ้นถึงฝั่งแม่น้ำอันน่ารื่นรมย์ใจ ได้โดยสวัสดี พอขึ้นฝั่งได้ ก็พบกับพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดมประทับคอยอยู่แล้ว ด้วยทรงรู้กาลล่วงหน้า จึงเสด็จ มารอโปรด ณ ที่นั้น ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่คนทั้งปวง ครั้นจบการแสดงธรรม ทั้งพระเจ้ากัปปินะพร้อมกับ อำมาตย์ ๑,๐๐๐ คน ก็ได้ตั้งอยู่ใน โสดาปัตติผลแล้ว ดังนั้น พระเจ้ากัปปินะจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระพุทธองค์ผู้เจริญ ขอได้ทรงโปรดให้พวกข้าพระองค์ได้บรรพชาเถิด พวกข้าพระองค์เป็นผู้ ลงสู่ภพแล้ว" "ดีละ!ท่านทั้งหลายจงเป็นภิกษุเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านทั้งหลายจงประพฤติพรหมจรรย์ (คืออาริยมรรคมีองค์ ๘) เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์เถิด" ด้วยพระพุทธดำรัสนี้เอง ทุกคนในที่นั้นก็ได้เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว จากนั้นพระศาสดา จึงเสด็จกลับ พระเชตวัน มหาวิหาร ณ นครสาวัตถี พร้อมด้วยภิกษุเป็นจำนวนมาก ต่อมาภิกษุกัปปินะก็ได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระศาสดาที่วิหารอีกครั้ง ก็สามารถรู้แจ้งในธรรม บรรลุ เป็น พระอรหันต์ องค์หนึ่งในโลก มีอยู่วันหนึ่ง พระมหากัปปินเถระอยู่ในที่สงัดหลีกเร้น ได้เกิดจิตปริวิตกว่า "เราควรไปทำอุโบสถ(การฟังสวดปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ทุกครึ่งเดือน)หรือไม่? ควรไปทำสังฆกรรม (งานของสงฆ์) หรือไม่เพราะบัดนี้เราเป็นผู้หมดจดแล้วด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง (หมดกิเลสแล้ว)" ขณะนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้วาระจิตของพระกัปปินเถระ จึงทรงแสดงพุทธานุภาพเสมือน ปรากฏอยู่ ตรงหน้า พระเถระ แล้วตรัสว่า "ดูก่อนกัปปินะ ถ้าพวกเธอไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชาซึ่งอุโบสถแล้ว หากเป็นเช่นนี้ ใครเล่า จะสักการะ เคารพ นับถือ บูชาซึ่งอุโบสถ ฉะนั้นเธอจงไปทำอุโบสถ จะไม่ไปไม่ได้ จงไปทำสังฆกรรม จะไม่ไปไม่ได้" พระเถระได้ฟังพระพุทธพจน์นั้น ก็รับคำทันทีด้วยเห็นแจ้งชัดสิ้นสงสัย หมดปริวิตกทั้งปวง ครั้นต่อมา....พระศาสดาได้ทอดพระเนตรเห็นพระมหากัปปินเถระนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้ เฉพาะหน้า จึงตรัสถาม เหล่าภิกษุว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอเห็นความไหวหรือเอนเอียงแห่งกายของกัปปินะหรือไม่" "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์เห็นท่านกัปปินเถระนี้ แม้นั่งอยู่ในท่ามกลางหมู่สงฆ์ หรือนั่งอยู่ เพียงรูปเดียว ความไหว หรือเอนเอียงแห่งกายท่านมิได้มีเลย" "ดีละ!ภิกษุทั้งหลาย ก็ความไหวเอนเอียงแห่งกายก็ตาม หรือความหวั่นไหวกวัดแกว่ง แห่งจิตก็ตาม ย่อมไม่มีแก่ ผู้กระทำให้มาก ซึ่งอานาปาณสติสมาธิ (การตั้งจิตมั่นในการกำหนดลมหายใจเข้าออก จนสงบระงับ แล้วพิจารณา ดับกิเลสได้)" เมื่อพระกัปปินเถระได้ทราบเรื่องราวนี้แล้ว ได้ประกาศแก่เพื่อนภิกษุว่า "ผู้ใดเจริญอานาปาณสติให้บริบูรณ์ด้วยดี อบรมแล้วโดยลำดับ ตามที่พระศาสดาทรงสอนไว้ ผู้นั้นย่อม ทำโลกนี้ ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์เพ็ญออกจากกลีบเมฆ ฉะนั้น จิตของเรา ผ่องใสแล้วหนอ อบรมดีแล้ว หาประมาณมิได้ ประคองจิตไว้แล้วเป็นนิตย์ ย่อมทำทิศทั้งปวง ให้สว่างไสวทั่ว" แล้วพระเถระนี้ก็เที่ยวเปล่งอุทานในที่ต่างๆว่า "สุขจริงหนอ....สุขจริงหนอ...." ทำให้เหล่าภิกษุที่ได้ยินต่างก็เป็นห่วงวิตกว่า "ท่านกัปปินะนี้คงระลึกถึงความสุขในพระราชสมบัติของตนกระมัง" จึงพากันกราบทูลให้พระศาสดาทรงทราบ พระศาสดาได้รับสั่งเรียกพระกัปปินเถระมาถาม ได้รับคำตอบว่า "ข้าพระองค์เปล่งอุทานปรารภถึงความสุขในธรรมวินัยนี้ มิใช่ปรารภถึงความสุขอื่น พระเจ้าข้า" พระศาสดาจึงตรัสกับเหล่าภิกษุนั้นว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัปปินะมิได้ระลึกถึงความสุขอันเกิดจากกาม หรือความสุขอันเกิดจาก ราชสมบัติ แต่เป็นความสุขอันเกิดจากธรรมปีติ (ดื่มด่ำในธรรม) เป็นสุขของผู้ประพฤติธรรมอยู่ กัปปินะปรารภถึง อมตมหานิพพาน จึงได้เปล่งอุทาน อย่างนั้น" แล้วหันมาตรัสถามพระเถระว่า "เธอได้รับความสุขในธรรมเช่นนี้ แล้วขวนขวายอบรมสั่งสอนภิกษุลูกศิษย์บ้างหรือไม่เล่า" "มิได้ขวนขวายสอน พระเจ้าข้า" "ถ้าอย่างนั้นกัปปินะ นับตั้งแต่วันนี้ไป เธอจงแสดงธรรมสั่งสอนแก่พวกภิกษุทั้งหลายเถิด" พระเถระก็รับคำทันที แล้วได้อบรมสั่งสอนภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป เพียงแค่การสอนครั้งเดียวเท่านั้น ก็ทำให้ภิกษุทั้งหมดนั้น บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ ด้วยเหตุนี้ พระศาสดาทรงพอพระทัยยิ่งนัก จึงทรงตั้งพระกัปปินเถระไว้ในตำแหน่ง ผู้เลิศกว่าภิกษุ ทั้งหลาย ในด้าน การอบรมสั่งสอน ดังนั้นพระเถระนี้จึงได้ขวนขวายสอน แม้แก่ภิกษุณีทั้งหลาย ด้วยธรรมเทศนาว่า "ผู้ใดพิจารณาเห็นแจ้งหรือแสวงหาประโยชน์ ย่อมพิจารณาเห็นแจ้งกิจทั้งที่เป็นประโยชน์และ ไม่เป็นประโยชน์ อันยัง มาไม่ถึง เห็นได้ก่อนศัตรูซึ่งคอยแสวงหาช่องอยู่ยังไม่ทันเห็น ผู้นั้นเรียกว่า ผู้มีปัญญา ผู้มีปัญญาถึงจะสิ้นทรัพย์ ก็ยังมีชีวิตอยู่ได้แน่แท้ ส่วนผู้ไม่มีปัญญาถึงจะมีทรัพย์ ก็เป็นอยู่ไม่รอด เพราะปัญญา เป็นเครื่องตัดสินสิ่งที่ตนฟังมาแล้ว เป็นเครื่องเจริญชื่อเสียงและสรรเสริญ ผู้มีปัญญา แม้ในเวลา ที่ตนตกทุกข์ ก็ย่อม ได้รับความสุข สัตว์ทั้งปวงที่เกิดมาแล้วในโลก ย่อมตายไปทั้งนั้น เพราะสัตว์ทั้งหลายมีความตายเป็นธรรมดา ชีวิตที่เป็น ประโยชน์ แก่ใครๆ ชีวิตนั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ตายไปแล้ว การร้องไห้ถึงผู้ที่ตายไปแล้ว จึงไม่ทำให้เกิดผล ไม่ทำให้เกิด ความสรรเสริญ สมณะ(ผู้สงบระงับกิเลส)และพราหมณ์ (ผู้ประเสริฐ) ไม่สรรเสริญเลย การร้องไห้ ย่อมเบียดเบียน ดวงตาและร่างกาย ทำให้ผิวพรรณเสื่อม กำลังเสื่อม และความคิดเสื่อม รังแต่จะทำให้ศัตรู มีจิตยินดี ส่วนมิตร พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย เพราะฉะนั้น บุคคลพึงปรารถนาเข้าหาผู้เป็นนักปราชญ์(ผู้มีปัญญารู้แจ้ง) เป็นพหูสูต (ผู้มีความรู้มาก) ให้อยู่ในตระกูลของตน เพราะกิจทุกอย่างจะสำเร็จได้ ด้วยกำลังปัญญาของ นักปราชญ์และ พหูสูตเท่านั้น เหมือนดังข้าม แม่น้ำใหญ่ ที่น้ำเต็มฝั่ง ได้ด้วยเรือฉะนั้น"
-สารอโศก อันดับที่ ๒๗๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗ - |