แก่นฟ้า แสนเมือง ปรมาจารย์เกษตรไร้สารพิษ
เป็นชาวอโศกอีกคนที่ได้รับแต่งตั้งเป็นครูภูมิปัญญาไทย ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ด้าน เกษตรกรรม(กสิกรรมไร้สารพิษ) รุ่น ๓ ปี ๒๕๔๖ รุ่นเดียวกับแกนนำอโศกคนสำคัญ "น.ส.ขวัญดิน สิงห์คำ" ครูภูมิปัญญาไทย ด้านการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งสอง ทำงานเสียสละ เพื่อส่วนรวมอยู่ที่ชุมชนศีรษะอโศก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ

ภาพชาวอโศกที่เราๆท่านๆคุ้นกันคือ สวมชุดม่อฮ่อม ในวันสนทนากับครูแก่นฟ้าที่ศีรษะอโศก ก็เช่นกัน โดยกำลังยืนสอนนักเรียนอยู่ด้วยท่าทางทะมัดทะแมงในบรรยากาศสบายๆเป็นกันเอง ใช้ใต้ถุนบ้านพัก เป็นห้องเรียน ขณะที่นักเรียนฟังครูสอนอย่างตั้งอกตั้งใจ พวกเราจาก กทม. รอจน ครูแก่นฟ้าสอนเสร็จ

ในวันนั้นเราคุยกันอย่างออกรสออกชาติ เพราะครูแก่นฟ้าเสียงดังฟังชัด มีวิญญาณครูอยู่เต็มเปี่ยม เวลาถามอะไรไป มักอธิบายอย่างละเอียด พร้อมมีตัวอย่างประกอบ รวมทั้งเอกสารอ้างอิง

ฟังประวัติการเรียนของครูวัย ๔๗ ปี ท่านนี้แล้ว พวกเราต่างทึ่ง ไม่น่าเชื่อว่าคนจบปริญญาตรี วิศวะไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จะหันมาสนใจเกษตรกรรม อย่างเอาจริงเอาจัง กระทั่งเกิดความเชี่ยวชาญ นั่นเป็นเพราะความรู้สั่งสมที่ได้จากการปฏิบัติมา อย่างยาวนาน และมีโอกาสไปศึกษาดูงานในต่างประเทศหลายแห่ง

ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นเขาอุทิศตนเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านั้นให้กับนักเรียนนักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป สอนผู้ที่อยู่ในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน ด้วยจุดประสงค์ให้เพื่อนร่วมโลก ได้บริโภคอาหารปลอดสารพิษทุกขั้นตอน อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า ซึ่งผลแห่งความ เสียสละ นี้สะท้อนให้เห็นจากจำนวนผู้สนใจเข้าร่วมอบรมมากขึ้นเรื่อยๆ

ครูแก่นฟ้าเล่าถึงงานที่ทำอยู่ว่า "เป็นงานพัฒนาชุมชนเพื่อบูรณาการโดยองค์รวม ซึ่งเป็นงาน ที่หลากหลาย เป็นเรื่องการอยู่รอดของชุมชน เป็นเรื่องชุมชนเข้มแข็งที่ต้องพึ่งตัวเองให้ได้ ซึ่งต้อง มีตัวชี้วัด ๑๔ ตัว เช่น มีความเสียสละ มีคุณธรรม จริยธรรม การพัฒนาองค์ความรู้ คือการพัฒนา ให้พึ่งตนเองให้ได้ ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน การกสิกรรมไร้สารพิษ เรื่องของปุ๋ย เรื่องการแปรรูป ทุกๆอย่าง

ผมทำครบทุกอย่างเริ่มต้นจากการทำปุ๋ย แล้วนำมาทดลองในแปลง จากนั้นถ่ายทอดความรู้ออกไป ให้อนุชนรุ่นหลัง โดยอบรมให้ชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งทั่วประเทศเรามี ๒๕ ศูนย์ อบรมเน้น ในเรื่องของหลักสูตรสัจธรรมชีวิต มีการทำโปสเตอร์เผยแพร่ความรู้ ทำวิดีโอ วีซีดี เราถ่ายทอด ความรู้โดยใช้ทุกสื่อที่มีอยู่ แม้กระทั่งรายการวิทยุ เรามีวิทยุชุมชน นอกจากจะมีที่ศีรษะอโศกแล้ว ยังมีวิทยุชุมชนอีก ๑๒ เครือข่าย รายการเพื่อนช่วยเพื่อนถ่ายทอดไปตามเครือข่ายทั่วประเทศ นอกจากวิทยุแล้วยังมีรายการทีวี เช่น ไทยทีวี ติดต่อให้ออกเวลาทุ่มครึ่งถึงสองทุ่มครึ่ง รวมถึง การเผยแพร่ ในรูปโปสเตอร์ซึ่งทำไปแล้ว ๓๐ ชุด พิมพ์ไปประมาณ ๖๐,๐๐๐ แผ่น พิมพ์กระจาย ไปทั่ว ตามศูนย์การเรียนรู้ของเรา ๒๕ ศูนย์"

ครูแก่นฟ้าเคยไปดูงานปุ๋ยชีวภาพที่ประเทศจีนมาแล้ว ซึ่งจีนใช้เทคนิคสูงกว่าไทย แต่สำหรับ ประสิทธิภาพแล้ว ครูแก่นฟ้ายืนยัน "ที่เขาสู้เราไม่ได้อาจเป็นขีดจำกัดด้านอากาศ เรื่องของความ หลากหลายจากจุลินทรีย์ คือ จีน ใช้จุลินทรีย์ตัวเดียว แต่ของเราใช้กลุ่มจุลินทรีย์ต่างๆ ที่เป็น ประโยชน์ หลายตัวมารวมกัน มีกลุ่มย่อยไขมันย่อยกลูโคส ฯลฯ"

ในช่วงเวลาอยู่ที่ศีรษะอโศกไม่กี่ชั่วโมง นอกจากจะได้กินอาหารมื้อบ่ายแก่ๆ ที่ปรุงจากผัก ปลอดสารพิษ ฝีมือการปลูกของสมาชิกอโศก ซึ่งมีรสชาติหวาน และกรอบ อย่างส้มตำรสแซ่บแล้ว ยังมีเวลา เดินดูแปลงผักที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพด้วย ซึ่งแต่ละชนิดต้นใหญ่ใบงาม เหมือนผักที่ปลูก ในพื้นที่ เมืองหนาวอย่างไรอย่างนั้น

ครูแก่นฟ้าแจกแจงให้ฟังว่า กว่าจะมีความรอบรู้เรื่องปุ๋ยชีวภาพเช่นทุกวันนี้ได้ ชาวศีรษะอโศก ต่างทุ่มเทพลังกาย และศึกษาหาความรู้อย่างเต็มที่ "ผักที่ปลูกทุกอย่างต้องไร้สารพิษ เพราะเรา ถือศีล ๕ ข้อ ๑. ห้ามฆ่าสัตว์ เราก็ฉีดยาฆ่าแมลงไม่ได้ ใส่ปุ๋ยเคมีเราก็ไม่มีเงินซื้อ ช่วงแรกของ การมาตั้งรกรากที่นี่เพื่อให้ได้อาหารเร็วที่สุด ๓ วัน ก็ปลูกถั่วเขียวพอได้มาก็ทำถั่วงอก ๓ วันได้กิน แล้วปลูกเห็ดฟาง ซึ่งสามารถปลูกผักบนกองเห็ดฟางได้อีกด้วย เมื่อได้ผลดี จากเมื่อก่อน เราไม่รู้ เรื่องจุลินทรีย์ไม่รู้เรื่องอะไร กระทั่งเราได้ศึกษาเพิ่มขึ้นรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เทคนิคในการทำเกษตร ไร้สารพิษมีอะไรบ้าง จากที่ได้ศึกษากับคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง จนทำให้วิทยาการเข้ามาชุมชนนี้ เร็วมาก โลกรู้อะไรเรารู้ทันทีเลย เพราะคนที่เข้ามาอยู่เป็นระดับมันสมอง มีความรู้จะมาค้นคว้าต่อ"

หลังจากประสบความสำเร็จ ชาวบ้านเห็นเป็นรูปธรรมก็เข้ามาเรียนรู้ทั้งในเรื่องการเพาะเห็ด และ การปลูกผักปลูกข้าวไร้สารพิษ จากนั้นทางศีรษะอโศกจึงรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้าน เพื่อให้ ชาวบ้าน ขายได้ในราคายุติธรรม อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังมีปัญหาปุ๋ยเคมี อีกทั้งทางราชการ ยังแจกปุ๋ยเคมีอยู่ตลอด กระทั่งครูแก่นฟ้าถึงกับออกปากว่า ถ้าจะให้เกษตรกรที่ปลูกพืชผัก ไร้สารพิษ อยู่รอด ต้องยุบกระทรวงเกษตรฯทิ้ง เพราะเป็นแหล่งผลประโยชน์มหาศาล ของ นักการเมือง มีการคอร์รัปชั่นกันมากมาย อย่างที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ อาทิ กรณีปุ๋ยปลอม

"เกษตรกรติดปัญหาปุ๋ยเคมี ผมจึงต้องผลิตเครื่องจักรขึ้นมาเพื่อทำให้เป็นปุ๋ยเคมี ตอนนี้ผมทำ ได้แล้ว เป็นเม็ดสวย ใส่กระสอบ ใช้ตราดอกลำดวน พอมีตัวนี้คนเริ่มหันมาสนใจ ผมเลยให้ความรู้ ถอยหลัง หมายถึงบอกเลยว่า วัสดุที่ใช้ทำปุ๋ยมีอะไรบ้าง กี่เปอร์เซ็นต์ที่ผสมอยู่ในปุ๋ยจุลินทรีย์ เริ่มทำอย่างไร แร่ธาตุ แหล่งอินทรีย์วัตถุเอามาจากไหน แล้วผสมให้เขาดู ผสมเสร็จใช้ได้เลย กระสอบหนึ่ง ตกประมาณ ๕๐ บาท หรือไม่เกิน แต่ถ้าไม่เคยชินไม่ใช้ ไม่เหมือนปุ๋ยเคมี ก็ไม่เป็นไร เพิ่มประมาณ ๒๕๐ บาท ผ่านกระบวนการทำให้เป็นเม็ด แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่มตันละ ๗๐๐ บาท ในกระบวนการผลิตเม็ด เพราะต้องเอามาผลิตย่อยเป็นค่าไฟฟ้าที่เสียไป บดย่อยแล้วเอามาปั้นเม็ด ทำไม ต้องเสียเพิ่มตันละ ๗๐๐ บาท ทั้งที่เงิน ๗๐๐ บาท สามารถซื้อได้ตั้ง ๒-๓ ตัน หลังจาก ให้ความรู้ถอยหลัง ทำให้เกษตรกรเริ่มฉลาดขึ้นมาว่า ไปทำเม็ดทำไมแพงกว่า ตอนนี้ปุ๋ยเม็ดเราก็ทำ ปุ๋ยผง เราก็ทำ ปุ๋ยเม็ดสำหรับขายคนขี้เกียจ"

ที่ผ่านมาเกษตรกรที่ผ่านการอบรมของชาวอโศกต่างปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรที่เน้นใช้ปุ๋ยเคมี มาเป็นการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งถูกกว่าและปลอดภัยทั้งคนปลูกและคนกิน อีกทั้งยังได้เรียนรู้ การแปรรูป อาหารหลายชนิด หลายรายนำไปประกอบอาชีพจนร่ำรวย

อย่างที่ครูแก่นฟ้าบอก "เราสอนทำน้ำผลไม้ต่างๆ สร้างอาชีพ จนทำให้คนเซ้งตึกได้ มาหลายต่อ หลายคนแล้ว ทำมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรปีหนึ่งมากกว่า ๑๐ ล้านบาท เช่น น้ำเสาวรส น้ำนม ข้าวโพด น้ำบีทรูท เราเป็นศูนย์เรียนรู้ เป็นศูนย์ข้อมูล เรามีโรงสีที่จะแปรรูปและสร้างรายได้ ให้แก่ชุมชนด้วย เพื่อจะนำเงินนี้มาให้การศึกษาแก่เด็กที่นี่ประมาณ ๑๐๐ คน ช่วงหลังนี้ ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) อยากให้เราอบรมเกษตรกรให้เข้าในโครงการ พักหนี้ ซึ่งคิดค่าอบรมถูกมาก หัวละ ๑,๐๐๐ บาท ๔ คืน ๕ วัน ค่าอาหาร ค่าที่พักฟรี เราทำมาแล้ว ๑๗ ปี มีเกษตรกรและผู้สนใจผ่านการอบรมไปแล้ว ๖ หมื่นกว่าคนทั่วประเทศ"

หลังจากสนทนากันเสร็จครูแก่นฟ้าพาไปร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์นานาชนิดของชาวอโศก เหมือน มินิมาร์ทย่อยๆ ใจจริงอยากจะซื้อข้าวกล้องกลับมาด้วย แต่กลัวแบกขึ้นเครื่องบินไม่ไหว เลยซื้อ ได้แต่สินค้าประเภทสมุนไพร ซึ่งราคาไม่แพงเลย ยังนึกอยู่ว่าถ้านักธุรกิจน้อยใหญ่ในโลกนี้ ขายของ ไม่คิดกำไรแบบโหดๆกันแล้ว คนจนทั้งหลายคงมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้บ้าง เพราะคนเราตายไป ก็เอาอะไร ติดตัวไปไม่ได้

ครูแก่นฟ้าให้ข้อมูลด้วยสีหน้าภาคภูมิใจว่า "ผลิตภัณฑ์เด่นที่ได้โอท็อปของเรา คือกระเทียมอัดเม็ด ซึ่งศรีสะเกษเป็นแหล่งกระเทียมอยู่แล้ว เราจะซื้อตุนไว้ซื้อมาเก็บไว้แปรรูป นอกจากกระเทียม อัดเม็ดแล้ว ก็มีโจ๊กเห็ดหอม เรามีร้อยกว่าผลิตภัณฑ์ แต่ที่เด่นๆ มีข้าวกล้อง ซึ่งแพ็คสุญญากาศ ส่งการบินไทย อันนี้เด่นมากเพราะเป็นสินค้าที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต เรามีเว็บไซต์ของเราคือ อโศกดอตอินโฟ www.asoke.info

สินค้าอีกตัวที่ขึ้นชื่อคือ ลูกประคบสมุนไพร ที่มีตัวยาถึง ๑๔ ตัว อาทิ ใบมะขาม ใบพลับพลึง พิมเสน การบูร ใบเบ้า ขมิ้นชัน ใบส้มป่อย ฯลฯ" โดยมีโรงอบที่ทันสมัย ซึ่งทำเท่าไหร่ก็ไม่ทันขาย ด้วยความที่ขายถูกก้อนละ ๑๐๐ บาท หลังจากนำไปโชว์ที่ฮ่องกงปรากฏว่ามีออร์เดอร์เยอะแยะ เพราะคนขายสามารถนำไปขายได้ในราคาก้อนละ ๔๐๐ บาท"

ก่อนกลับครูแก่นฟ้าฝากผลิตภัณฑ์หลายอย่างของชาวอโศกให้ ไม่ว่าจะเป็นยาสระผม ยาหม่อง ยาดม กระเทียมแปรรูปอัดเม็ด ซึ่งพรรคพวกที่กินแล้วต่างฝากซื้อกันใหญ่ เพราะช่วยลดไขมัน ในเส้นเลือด ได้ผลชะงัด ไม่ต้องไปซื้อถึงเมืองนอกเมืองนาขวดละเป็นร้อยเป็นพัน

นี่ถ้าสถานการผลิตครูทั้งหลายในเมืองไทยมีกระบวนการอบรมบ่มเพาะ สร้างจิตสำนึกให้ ผู้ประกอบวิชาชีพครู มีจิตใจเสียสละ มุ่งมั่นประกอบคุณงามความดีและอุทิศตน เพื่อส่วนรวม แบบครูแก่นฟ้าได้ ย่อมจะไม่เกิดข่าว ครูข่มขืน และลงโทษลูกศิษย์อย่างโหดร้ายเป็นแน่

(จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ศุกร์ที่ ๑๔ พ.ค.๒๕๔๗)

-สารอโศก อันดับที่ ๒๗๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗ -