พรรคเพื่อฟ้าดิน
การเมืองบุญนิยมของ 'จำลอง' ที่ต้องแนะนำ 'ทักษิณ'

โดย....ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

"พรรคเพื่อฟ้าดิน" ตกเป็นข่าวเล็กๆเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ช่วงเวลาเดียวกับกระแส "พรรคการเมือง ทางเลือกที่สาม" หลายคนแปลกใจ เพราะไม่มีใครคิดว่า จะมีพรรคการเมือง ชื่อ "เพื่อฟ้าดิน" ฟังชื่อ ก็นึกไปถึง เจ้าสำนักบู๊ลิ้ม หรือ "บูรพาผู้ไม่แพ้" ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย

แต่ความน่าสนใจเกิดขึ้น เมื่อมีข่าวว่า ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ จะวางมือจาก พรรคไทยรักไทย มาอยู่พรรค เพื่อฟ้าดิน ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ตามคำชักชวนของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

พล.ต.จำลอง ปฏิเสธในเวลาต่อมา แต่ก็ยืนยันว่า พรรคเพื่อฟ้าดินมีจริง เป็นพรรค ของสำนัก สันติอโศก มีนโยบายระดับรากหญ้า และยังไม่มีแนวคิด ที่จะเล่นการเมือง ระดับชาติ

กระนั้นเมื่อเจาะลึกไปก็พบว่า พรรคเพื่อฟ้าดิน ก็คือพรรคพลังธรรมในอดีต เพราะแกนนำพรรค ส่วนใหญ่ เช่น นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง นายธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ ล้วนย้าย มาจากพลังธรรม โดยมีชาวสันติอโศก ของ "สมณะโพธิรักษ์" เป็นฐานเสียงสำคัญ

โดยเฉพาะมหาจำลอง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม และที่ปรึกษานายกฯ ทักษิณ ก็มารับตำแหน่ง ที่ปรึกษาพรรคเพื่อฟ้าดิน

ความเป็นมาของพรรคนี้ เริ่มจาก ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ ได้ก่อตั้งพรรคการเมืองหนึ่ง ชื่อ "พรรคสหกรณ์" เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓ เพื่อทำงานในระบบสหกรณ์ แต่ติดปัญหาที่ ไม่สามารถ รวบรวม สมาชิกให้ครบ ๕,๐๐๐ คน ภายใน ๑๘๐ วัน ตามเงื่อนไข การจัดตั้ง พรรคการเมือง ร.ต.อ.นิติภูมิ จึงรบเร้ากับ ผู้ที่เคยสร้างพรรคพลังธรรม ให้ช่วยรับ พรรคนี้ไปสานต่อ

ช่วงแรกกลุ่มพลังธรรมเดิมปฏิเสธ เพราะเนื้อแท้ของกลุ่มสันติอโศก ซึ่งเป็นฐาน สำคัญของ พลังธรรมเดิม ต้องการทำงานด้านศาสนา แต่เมื่อรับปาก ว่าจะสาน อุดมการณ์ให้ ชุมนุมสหกรณ์ แห่งประเทศไทย ก็ได้ทักท้วงว่า ชื่อพรรค ไปพ้องกัน จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น พรรคเพื่อฟ้าดิน เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ซึ่งถือเป็น วันเกิดของพรรค ตรงกับช่วงครบรอบเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ พอดี โดยมี น.ส.ขวัญดิน สิงห์คำ เป็นหัวหน้าพรรค

การคัดเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดแรกจึงมีขึ้นที่ชุมชนปฐมอโศก ยิ่งดูชื่อและนามสกุลของ คณะกรรมการบริหารพรรคแต่ละราย ล้วนบ่งบอกความเป็น "สันติอโศก" ได้อย่างเด่นชัด อาทิ น.ส.ขวัญดิน สิงห์คำ หัวหน้าพรรค นายแก่นฟ้า แสนเมือง เลขาธิการพรรค หรือรองหัวหน้าพรรค และ กรรมการบริหารพรรครายอื่นๆ เช่น น.ส.ฟากฟ้าหนึ่ง และ นายหินชนวน อโศกตระกูล น.ส.ใบลาน ชุ่มอินทรจักร นายกระจาย บุญยังอโศก ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ นายร้อยแจ้ง จนดีจริง น.ส.ต้นกล้า มากสุข น.ส.ดินนา โคตรบุญอารยะ น.ส.ฟ้าดาว นาวาบุญนิยม และ น.ส.ปลูกขวัญ รักพงษ์อโศก

นโยบายพรรคเพื่อฟ้าดิน ตามที่ได้แจ้งไว้ ระบุว่า "พรรคเน้นทำการเมืองแนวบุญนิยม หรือ การเมือง อริยะ กล่าวคือ ผู้ที่จะร่วมอุดมการณ์พรรคต้องเป็นอริยบุคคล ไม่ติดในลาภ ยศ สรรเสริญ และ โลกียสุข ปลอดภาระส่วนตัว อุทิศตน ทำงานรับใช้ ประชาชนได้อย่างอิสระ โดยไม่รับค่าตอบแทน เป็นของตน สร้างสังคมให้พึ่งพา เกื้อกูลกันสูงที่สุด เป็นสาธารณโภคี กินอยู่ ใช้สอย ร่วมกัน ในกองกลาง เกื้อกูลกัน ตามมีตามได้ ตามคติความเชื่อที่มุ่งบุญเป็นที่ตั้ง พัฒนาชุมชนไทยให้มีศีล ปลอดอบายมุข พึ่งตนเองได้ ไม่แก่งแย่งแสวงอำนาจ และประโยชน์โดยมิชอบ"

จนถึงขณะนี้พรรคเพื่อฟ้าดิน (FHAH-FOR HEAVEN AND EARTH PARTY) เพิ่งมีอายุครบ ๓ ปี โดยยอดเงิน บริจาคพรรคการเมืองตามรายงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งปี ๒๕๔๖ พบว่า มียอดบริจาค เป็นอันดับ ๗ เมื่อเทียบกับทุกพรรค คือ ๒๔๐,๐๐๐ บาท ต่อท้ายพรรคต้นตระกูลไทย ของ "เจ้าพ่ออ่าง" ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์

ตลอด ๓ ปี พรรคเพื่อฟ้าดิน แผ่กิ่งก้านใบบุญไปแล้ว ๑๐ สาขา เช่น นครปฐม ศรีสะเกษ นครราชสีมา อุบลราชธานี สงขลา พังงา และตรัง มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ

ล่าสุดได้เปิดสาขาพรรคแห่งใหม่ที่ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ครั้งนั้นสมณะโพธิรักษ์ นำทีมเดินสาย บรรยายพิเศษให้กับชาวบ้านและสมาชิกพรรคในหัวข้อ "ประชาธิปไตยอริยะ" ความตอนหนึ่งระบุว่า

"พรรคเรายังเล็กจึงยังไม่อยากเชื่อมต่อกับกลุ่มไหน เพราะส่วนใหญ่ยังเป็นทุนนิยมอยู่ เราอาจ จะถูกกลืน เราทำงานของเรา ฝึกฝนตัวเองด้วย การเมืองกับการศาสนาเป็นเรื่องเดียวกัน ศาสนา เกิดมาเพื่อช่วยมนุษยชาติ งานการเมืองก็เพื่อช่วยประชาชน อย่างไรก็ตาม พรรคยังไม่เน้นส่ง ผู้สมัคร ลงเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับเสียงเรียกร้องของประชาชน และถ้าส่งก็จะไม่หาเสียง เพราะการ หาเสียง ไม่ใช่ประชาธิปไตย โดยในการเดินสายขยายสาขาพรรคแต่ละครั้ง

แม้ไม่มี ส.ส.ในสภา ทว่าพรรคเพื่อฟ้าดิน ยังขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองข้างนอก ด้วยการ ร่วมคัดค้านการขอขึ้นเงินเดือนของ ส.ส. และ ส.ว. เมื่อหลายปีที่แล้ว ขณะนั้นแกนนำพรรค สร้างความแตกตื่น ให้กับสื่อมวลชน หลังบุกรัฐสภาในชุดม่อฮ่อมล้วนๆ เพื่อยื่นหนังสือถึงประมุข ฝ่ายนิติบัญญัติ แสดงจุดยืนไม่เห็นกับการขึ้นเงินเดือน"

 

ธำรงค์ แสงสุริยะจันทร์ ที่ปรึกษาพรรคเพื่อฟ้าดิน และ อดีต ส.ส.พลังธรรม อธิบายถึงหลักเกณฑ์ ของผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกพรรคว่า เบื้องต้นจะต้องปลอดอบายมุข ซึ่งอาจมีไม่ถึงศีล ๕ แต่ผู้ที่ จะเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือกรรมการสาขาพรรค จะต้องมีศีล ๕ เป็นอย่างน้อย ที่เหนือกว่านั้น คือ ผู้บริหารพรรคที่จะลง ส.ส. ควรเป็นผู้ที่มีภารกิจส่วนตัวน้อย ยิ่งเป็นคนโสดก็ยิ่งดี เพราะจะทำงาน ได้มากกว่า

พรรคเพื่อฟ้าดินยังมีนโยบายว่า ใครที่ได้เป็น ส.ส. ต้องนำรายได้ทั้งหมดเข้า"กองกลาง" ของพรรค ในกรณี ที่ได้เป็นรัฐมนตรี จะต้องไม่รับค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่า เงินเดือน ค่าเดินทาง หรือ เงินอื่นๆ เพราะรัฐมนตรีของพรรค จะต้องปฏิบัติธรรมเพื่อให้รู้สึกว่า ตนเองปลอดจาก ภารกิจ ส่วนตัว ถึงจะทุ่มเททำงานให้กับประเทศชาติได้

ที่ปรึกษาพรรคเพื่อฟ้าดิน เล่าต่อว่า สมัยที่เขาเป็น ส.ส.พรรคพลังธรรม ตอนนั้นก็เป็นเหมือน หุ่นยนต์ ต้องทำตามผู้มีอำนาจในพรรคเพียงไม่กี่คน ซึ่งนั่นคือจุดอ่อนของพรรคการเมืองไทย เราอุดช่องว่างไว้ว่า ส.ส.ของพรรคทุกคน จะมีสิทธิมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเต็มที่ ไม่ต้องทำ ตามมติพรรค เพราะความเป็นอิสระเพื่อประชาชนคือ ประชาธิปไตยโดยแท้ ไม่เหมือนในปัจจุบัน ที่รัฐสภาตกอยู่ในรูปแบบของเผด็จการโดยภาคภูมิ

"การทำงานของพรรคเพื่อฟ้าดินไม่เหมือนกับพรรคอื่น ถึงขนาดคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ก็ยังสงสัยว่า มีการทำงานกันได้อย่างไร เพราะพรรคนี้ไม่ได้ใช้เงิน ให้อาสาสมัครทุกคน ทำงาน เพื่อพรรค เหมือนกับประชาชนธรรมดา เป็นประชากรในชุมชน เป็นสมาชิกชุมชน ไม่รับค่าจ้าง ไม่รับ ค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้น"

ธำรงค์ อธิบายต่อว่า แนวทางของสันติอโศกที่เน้นเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำมาใช้กับ การดำเนิน กิจการของชาวบ้านระดับล่างได้อย่างกลมกลืน เช่น ทำกสิกรรมไร่ข้าวฟ่าง* โดยไม่ใช้ ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ทั้งนี้จะว่าไปแล้วพรรคเพื่อฟ้าดินของ "มหาจำลอง" ยืนอยู่คนละข้าง กับไทยรักไทย โดยสิ้นเชิง

"เพื่อฟ้าดิน"ทำการเมืองบุญนิยมตามตามแนวทางของสันติอโศก ขณะที่ "ไทยรักไทย" เน้นทุนนิยม เสรีสุดโต่ง ตามแนวทางของทักษิณ ชินวัตร

เป็นบทบาทสองสถานะที่แตกต่างกันสุดขั้วของ "มหาจำลอง" ด้านหนึ่งในฐานะ ที่ปรึกษานายกฯ ทักษิณ ฝ่ายพัฒนาสังคม

ส่วนอีกด้าน คือ ที่ปรึกษาพรรคเพื่อฟ้าดิน ที่มีนโยบาย มุ่งเน้นการเมืองบุญนิยม สังคมละอบายมุข อยู่แบบ พอมีพอกิน ปฏิเสธแนวทางบริโภคนิยม

แต่เมื่อ ทักษิณ เปลี่ยนไป มีอำนาจมาก ไม่รับฟังความเห็นผู้อื่น พฤติกรรม เป็นเผด็จการ ในคราบ ประชาธิปไตย ใช้"ทุน-อำนาจ" เป็นตัวนำในการบริหารประเทศ ยังออกนโยบายมอมเมาประชาชน แปลงอบายมุข จากเศรษฐกิจใต้ดิน ด้วยการสนับสนุน ให้มีการเปิดบ่อนกาสิโน ออกหวยบนดิน หวยหงส์ ฯลฯ หวังเพียงดึง "เงิน" มาเป็นใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยไม่มองผลกระทบ ทางสังคม ที่จะถูกทำลายอย่างย่อยยับ

มหาจำลองน่าจะนำแนวคิดการเมืองไปเสนอแนะ"ทักษิณ" สังคมจะได้ เปี่ยมไปด้วย ศีลธรรม จริยธรรม และจิตวิญญาณ มากกว่าจะมอง "เงิน" เป็นพระเจ้า

เพราะไหนๆท่านผู้นำยอมเปลี่ยนนโยบายแบบ ๓๖๐ องศา เลิกหวยหงส์ ตามคำท้วงติง ของท่าน มหาแล้ว

ยังเป็นการพิสูจน์ตัวตนของ"มหาจำลอง" ในฐานะผู้หนุนหลัง "ทักษิณ" เพื่อลบ คำครหาที่ว่า การออกมา คัดค้านหวยหงส์ เพียงเพื่อหารันเวย์ลงงามๆ ให้นายกฯทักษิณ

(จาก น.ส.พ.Post today ๗ มิ.ย. ๔๗)

* "ทำกสิกรรมไร่ข้าวฟ่าง" ขอแก้เป็น "ทำกสิกรรมไร้สารพิษ"

- สารอโศก อันดับที่ ๒๗๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗ -