'แบ่งปันความรู้'
ที่ 'ฟ้าสู่ดิน' ชุมชนเข้มแข็งแห่งจ.บุรีรัมย์ ? - สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) - "ฟ้าสู่ดิน" คือโครงการจัดการความรู้ระดับชุมชน ที่สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้ เพื่อสังคม (สคส.) ได้เข้าไปร่วมสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้นในชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ และใกล้เคียง ในเครือข่าย ปราชญ์ชาวบ้าน ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ แห่งอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ให้ร่วมกันเสริมสร้าง และเพิ่มพลังชุมชน ในการจัดการความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ระดับรากหญ้าให้มีความเข้มแข็ง สร้างและใช้การจัดการความรู้ เป็นเครื่องมือ ในการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน การจัดการความรู้"ฟ้าสู่ดิน" เริ่มต้นด้วยโจทย์ที่ว่าทำอย่างไร"ดิน"ที่เคยเป็นแหล่งอาหาร แหล่งอาชีพ ที่ทำมาหากิน และเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ของผู้คนจะมีคุณภาพดีขึ้น จากการทบทวนความรู้เรื่องดินของชาวบ้านก็พบว่า ยังมีปัญหาความรู้ไม่พอใช้ ความรู้ชุดเดิมอาจไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับกาลเวลาที่เปลี่ยนไป จึงต้องสร้าง และหาความรู้ใหม่ โดยมี บ้านสวนป่า ของครูบาสุทธินันท์ เป็นต้นแบบ ในการทำ แปลงเกษตรประณีตในพื้นที่ ๑ ไร่ ทดลองปลูกพืชหลากชนิด การฟื้นฟูดิน ด้วยวิธีการต่างๆ ที่สมาชิกทั้ง ๕ ฐาน การเรียนรู้มาทดลองเรียนรู้ร่วมกัน จนเวลาผ่านไป แปลงเกษตร ประณีตนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากสามารถทำให้ดินมีชีวิต มีแร่ธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์มากพอ จะหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ที่ เพาะปลูกลงไปได้ เมื่อนั้นจะปลูกอะไรก็งอก ก็งาม ในแปลงเกษตรประณีตจึงเต็มไปด้วยพืชผัก ที่สามารถเก็บกิน เก็บขายได้เลี้ยงชีวิต เลี้ยงครอบครัว ได้อย่างพอมีพอกิน จากต้นแบบเกษตรประณีตที่พิสูจน์แล้วว่า "เกษตรประณีต ๑ ไร่ ไม่ยาก ไม่จน" จึงขยายต่อไปยังฐานการเรียนรู้ชุมชนเครือข่ายอีก ๕ แห่งทั้งในจังหวัดบุรีรัมย์ และนครราชสีมา แต่ละแห่งก็มี"พระเอก"หรือผู้นำเป็นแกนสำคัญนำไปขยายต่อแก่เพื่อนบ้านสมาชิกอื่นๆ หลักการจัดการความรู้ของสมาชิก"ฟ้าสู่ดิน" คือ การสร้างเวทีหรือกิจกรรมให้สมาชิก ได้มาพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยน เรียนรู้จากประสบการณ์ที่แต่ละคนได้ลงมือทำจริง คุณสมบัติพื้นฐานของสมาชิก จึงต้องขยัน อดทน และพยายาม ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่หวงความรู้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม จนเกิดหลักคิดใหม่ที่ว่า การแบ่งปันความรู้ ซึ่งกันและกัน ยิ่งให้ ความรู้ยิ่งเพิ่ม ได้ความรู้ ได้เพื่อน ได้แนวร่วม ที่จะช่วยเกื้อหนุนกันได้ ไม่สิ้นสุด การขยายความรู้ จากต้นแบบ สู่ต้นแบบ และร่วมกัน สร้างต้นแบบต่อๆไป สมาชิกฟ้าสู่ดินจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ครูบาสุทธินัทน์ ปรัชญพฤทธิ์ ผู้ประสานงานโครง"การฟ้าสู่ดิน"กล่าวว่า ๑ ขวบปี โครงการฟ้าสู่ดิน ได้พิสูจน์ ให้เห็นแล้วว่า ผลของการนำการจัดการความรู้มาใช้ในงาน ก่อให้เกิดการพัฒนางาน อย่างเป็นรูปธรรม จากผืนดินอีสาน ที่แห้งแล้งแตกระแหง ปลูกพืชใดก็ไม่ได้ผล ยิ่งใช้สารเคมีใช้ปุ๋ยมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ผลผลิต ถดถอยลงทุกที บัดนี้ชาวบ้านเริ่มทบทวน กับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว นำมาเป็นบทเรียน แล้วหันมาทดลอง ใช้แนวทาง เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ปัญหา วันนี้จาก ๑ แปลงเกษตรเล็กๆ ที่เรียกว่า"แปลงเกษตรประณีต" จึงถูกใช้เป็นฐาน การทดลอง เพื่อพัฒนาดิน ใน ๕ ฐานการเรียนรู้ และกลายเป็นแปลงวิจัย และทดลอง ปฏิบัติจริงของสมาชิก ในเรื่องการพัฒนาดิน ที่เสื่อมโทรม หลากร้อยวิธี ที่ผ่านการ ระดมสมองถูกนำมาทดลองกันที่นี่ โดยมีไม้พันธุ์พื้นเมืองที่ทนต่อสภาพแห้งแล้ง เช่น กระสัง เป็นตัวเบิกนำ ไม่ว่าจะเป็นวิธีขุดหลุมแล้วปรุงดิน หรือการใช้วิธีเลียนแบบธรรมชาติ ให้ธรรมชาติบำบัด โดยการนำซากพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์มากอง ใส่ดิน หรือวิธีการสร้าง หน้าดิน แม้วิธีการจะแตกต่างกันไป ในแต่ละฐานการเรียนรู้ แต่ทั้งหมดกลับร่วมรู้ด้วยกัน ผ่านเวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้ประจำเดือน ที่ใช้วิธีหมุนเวียนไป ในแต่ละฐาน ซึ่งครั้งใด ที่ฐานไหนเป็นเจ้าภาพ ก็จะเตรียมพร้อมที่จะให้สมาชิกเอาผลงานมาอวด มาคุย มาปรึกษา และหาทางแก้ไขกัน เพราะเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นเวที"ที่ไม่มีความรู้ของข้า ไม่มีความรู้ ของคุณ มีแต่ความรู้ของเรา" "ชาวบ้านต้องจัดการความรู้ก็เพราะว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านเป็นฝ่ายรับรู้ ยังไม่ได้เรียนรู้ เท่าที่ควร และความรู้ ที่มีอยู่นั้น ก็ไม่เพียงพอ คนชนบทจึงต้องมีการเรียนชุดความรู้ใหม่ ในขณะเดียวกัน ก็สังเคราะห์ความรู้เก่า มาปรับใช้ให้สอดคล้อง กับยุคสมัย เพื่อให้เห็น กระบวนการพัฒนาชนบทเชิงประจักษ์ เนื่องจากในอดีต ชาวชนบทมักจะเดินตามคำชี้แนะ จากคนเมืองที่ไม่รู้ไม่เข้าใจวิถีชีวิต และวัฒนธรรมชนบทเชิงลึก โครงการนี้ จึงเป็นวิจัย และพัฒนา เชิงกระบวนการ เชิงบูรณาการ ที่เป็นรูปธรรม ในลักษณะย้อนศร ชาวชนบท จะต้องลุกขึ้นมา บอกได้ถึงความต้องการของตนเองและ รู้ปัญหาที่แท้จริง ของตนเอง ให้ได้" ครูบาสุทธินันท์ กล่าว การจัดการความรู้เรื่องดินของชาว"ฟ้าสู่ดิน" ทำให้เขาได้ชุดความรู้เรื่องดินชุดใหม่ ที่เป็นการประสาน ความรู้จากทุกส่วน ทั้งนักวิชาการ นักวิชาเกิน (ชาวบ้านที่เป็นนักปฏิบัติ นักทดลองทำ หรือพวกเขา เรียกกันเองว่า เป็น"นักวิชาทำ") และความรู้จากสื่อต่างๆ ที่กระบวนการจัดการความรู้เช่นนี้ ได้ก่อให้เกิดวัฒนธรรม การเรียนรู้ของ การแบ่งปัน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ซึ่งจะทำให้พวกเขาเกิดการพัฒนาความรู้ต่อไป อย่างต่อเนื่อง ในทุกเรื่อง ที่เป็นปัญหา ๑ ปี ของการจัดการความรู้"ฟ้าสู่ดิน"สะท้อนให้เห็นจาก"เวทีปันผลความรู้" ที่น่าสนใจ เพราะเมื่อนักวิชาการและนักวิชาการมาเจอกัน การแบ่งปันความรู้ก็เริ่มขึ้น ก่อให้เกิด ความรู้ไหลเวียน แล้วมาคุยมาบอกกัน อาทิเช่น นายวันชัย แสวงชัย หัวหน้าฐานการเรียนรู้ชุมชนส้มกบ กล่าวว่า การจัดการความรู้ ในระดับชุมชน เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยสร้างมวลชนให้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และสร้างผู้นำซึ่งเรียกได้ว่าเป็นพระเอกประจำของแต่ละฐาน ซึ่งจะเน้นเรื่องการเรียนรู้จริง พื้นที่จริง และลงมือปฏิบัติจริง ความรู้ที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ความรู้เชิงวิชาการ แต่จะเป็นความรู้ ที่มักจะได้จากความบังเอิญและการลงมือปฏิบัติจริง อาทิ ชุดความรู้เรื่องผักหวาน ก็ไปพบโดยบังเอิญไปเห็นสุนัขเข้าไปกัดกันจนต้นผักหวานขาดนั้น แต่ผักหวาน ต้นนั้นกลับแตกยอดได้ดี กระทั่งเกิดเป็นการทดลองเด็ดผักหวาน เลียนแบบ ก็เกิดเป็น ชุดความรู้ขึ้น หรือกรณีที่สมาชิกผู้ปลูกกล้วยถูกขโมยเด็ดหัวปลีที่ยังออกลูกไม่หมด แต่กลับทำให้ผลกล้วยที่เหลืออยู่เจริญเติบโตเต็มที่ผลอวบใหญ่ ขายได้ราคาดี จึงเกิดการเรียนรู้ เรื่องการเด็ดหัวปลีขึ้นมา สิ่งที่ตามมาคือการจดบันทึก เหตุการณ์ว่า กล้วยที่ถูกตัดหัวปลีแล้ว จำนวนกี่วันถึงจะสามารถเก็บไปขายได้ "สิ่งที่เด่นที่สุดของสมาชิกผมก็คือการกล้าตั้งสมมติฐาน เมื่อเห็นผลแล้ว ก็นำมาแบ่งปัน บอกเพื่อนสมาชิก แล้วนำมาสู่การปฏิบัติจริง เป็นความพยายามนำเอา กระบวนการวิจัย เข้ามาปรับใช้กับสถานการณ์จริง" นายสมพงษ์ สร้อยสระกลาง สมาชิกฐานการเรียนรู้บ้านส้มกบ กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหา ดินเค็ม ได้ทดลองใช้วิธีการไปขนเศษไม้ใบหญ้าตามถนนมาใส่ในแปลง เก็บเอามูลวัว และมูลควายมาใส่ในแปลงนา ซึ่งช่วงแรกก็มีคนดูถูก เยาะเย้ยถากถางว่า เป็นเทศบาล ประจำหมู่บ้าน แต่ก็แปลงแรงกดดันมาเป็นกำลังใจให้พยายามยิ่งขึ้นซึ่งก็ได้ผล จากสภาพดินที่ทำนาข้าวไม่ได้ผล กลับกลายเป็นดินอุดมสมบูรณ์ เป็นดินเย็น ซึ่งปลูกอะไร ก็งาม ปัจจุบันตนปลูกฝ้าย และใบหม่อนร่วมกัน ทุกวันนี้เพื่อนบ้านก็มาเลียนแบบ ดร.แสวง รวยสูงเนิน ภาควิชาเกษตร-ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า กระบวน การเรียนรู้ที่เกิดขึ้น นอกจากจะเป็น การปันผลความรู้ ในกลุ่มคนที่ทำงานด้วยกันแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูน ความรู้ให้กับคนนอกเครือข่าย การจัดการความรู้เป็นแนวคิดที่นำไปใช้ได้หลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องดิน แต่อาจเป็น การค้นหาระบบเกษตรยั่งยืน โดยเน้นเรื่องของพื้นที่ว่า จะปลูกพืชไร่ จะใช้การจัดการ ความรู้อย่างไร หรือว่าปลูกพืชไร่จะจัดการความรู้อย่างไรต่อไป ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผอ.สถาบันส่งเสริม การจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.) กล่าวว่า ความรู้ที่สำคัญคือความรู้จากการปฏิบัติ และความรู้จากตัวคนที่มีประสบการณ์ตรง เมื่อถามว่าผลของการจัดการความรู้คืออะไร ตรงนี้คนทั่วไปมักจะคิดว่า คือความรู้ ที่เป็นปึกๆชั่งกิโลได้ หรืออยู่ในคอมพ์ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะผลของ การจัดการความรู้ที่ถูกต้องที่สุดสำหรับชาวบ้านก็คือชาวบ้านอยู่ดีกินดี มีความสุขขึ้น ด้วยความคิดไม่ติดกรอบ การเรียนรู้ของชาว"ฟ้าสู่ดิน"
จึงเลื่อนไหลและหมุนเวียน ไปอย่างไม่หยุดนิ่ง และเป็นการจัดการความรู้ ที่จะสร้างพลังในการพัฒนาชุมชน
อย่างยั่งยืนต่อไป - สารอโศก อันดับที่ ๒๗๒
มิถุนายน ๒๕๔๗ -
|