เข้าพรรษา'๔๗

เราจะพบว่า ปัญหาต่างๆทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่ในด้านของสุขภาพก็ตาม เริ่มเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ คน ซึ่งพบอีกว่า ตรงจุดที่สุด ง่ายที่สุด ประหยัดที่สุด และดีที่สุด คือ การเป็นคนดี มีศีล ๕ ละเลิกอบายมุขทั้งปวงเป็นเบื้องต้น และจะพบว่า ปัญหาต่างๆ เริ่มคลี่คลาย ลดน้อยลงๆจริงๆ

ในวาระเข้าพรรษา เป็นโอกาสทองของชีวิตที่เวียนเข้ามาอีกครั้ง เพื่อให้พวกเราชาวพุทธ ได้ทำความดีสูงขึ้น เพิ่มขึ้น โดยการตั้งตบะธรรม ลดละสิ่งติดยึดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อเรียนรู้การปล่อยวาง และการไม่ทำตามใจตัวเอง อันคือ ศัตรูตัวร้าย ต้นเหตุแห่งความทุกข์ที่แท้จริง

จากบทสัมภาษณ์ของพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ สอนลูกๆทำตบะอย่างรู้เป้าหมาย อันจะนำสู่ ความหรรษาในการมีตบะตลอดพรรษานี้ และอีกหลายคำถาม ซึ่งมีคำตอบ ย้ำยืนยันว่า บนเส้นทางสายธรรมะ เราไม่มีศัตรู ! มีแต่คนที่มีความคิดเห็น ไม่ตรงกัน


ในวาระเข้าพรรษา พ่อท่านมีอะไรจะชี้แนะ หรือเตือนสติลูกๆบ้างคะ ?

อยากจะชี้แนะให้ใช้วันสำคัญเป็นฤกษ์เป็นยามช่วงเข้าพรรษา โดยทุกคนควรมีสำนึก ตามปกติว่า ควรจะหาเรื่องหาจุดอะไร เพื่อที่จะกำชับกำชาตัวเอง ย้ำตนเอง หรือว่า ให้เป็นจุดที่ตัวเองจะได้ตั้งใจ ทำอะไรเพิ่มเติมขึ้น จะเป็นวันเกิดบ้าง วันสำคัญโน้นนี้บ้าง ฤกษ์นั้นฤกษ์นี้บ้างอะไรก็แล้วแต่ ที่เราจะฉลาดใช้ฤกษ์ แต่ไม่ใช่งมงาย ในความเป็นฤกษ์ เพื่อที่เราจะได้ตั้งใจปฏิบัติ ทำตัวเองให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้น เข้าพรรษานี้ใครจะตั้งใจ ทำสิ่งที่ดี ให้ดียิ่งขึ้น หรือเลิกสิ่งที่ไม่ดีอะไร ก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติ ส่วนรายละเอียด ข้อปฏิบัติ ของใคร ใครก็ทำเอา แล้วแต่ของแต่ละคน ก็ทำเถิด

ความจริงแล้ว ถ้าเป็นผู้ฉลาดก็น่าจะรู้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีฤกษ์อะไร ไม่จำเป็นว่า ต้องเป็นวันเกิด ต้องเป็นวันเข้าพรรษา วันวิสาขบูชา

หรือวันต่างๆอะไรก็แล้วแต่ จึงจะตั้งใจทำดี อันที่จริงเราควรตั้งใจทำดีให้ได้เสมอๆทุกวันๆ


ขณะที่งานเราก็มากขึ้น เราก็เหนื่อย จะมีเวลาหรือมีโอกาสตั้งตบะอย่างไรคะ ?

ตั้งตบะได้ ไม่ว่างานจะหนักจะเหนื่อย เราก็ตั้งตบะได้ งานมากไม่ได้หมายความว่า ตั้งตบะไม่ได้ ก็ตั้งตบะในเรื่องที่เกี่ยวกับงานสิ เช่น ตั้งว่า งานมาก เราจะต้องจัดระบบงานให้ดีๆ เมื่อมีตบะแล้ว เราก็ต้องเอาใจใส่มากขึ้น ต้องเรียบเรียงจัดสรรงาน งานไหนที่เป็นส่วนเกิน เป็นส่วนที่เฟ้อ เป็นส่วนที่ทำให้สูญเสียส่วนนั้นส่วนนี้ เราก็ต้องตัดทิ้ง เพื่องานจะได้กระชับเรียบร้อยขึ้น อะไรอย่างนี้เป็นต้น

การที่เราเอาเวลาไปสูญเสียอย่างนั้นอย่างนี้มาก ก็กลายเป็นเหมือนกับว่า มีงานมาก เวลาทำงานไม่พอ อันที่จริงตบะต่างๆก็คือ กรรมฐาน หรือจะเรียกว่าข้อแก้ไขตัวเองก็ได้ เป็นข้อที่จะปรับปรุงให้ตัวเองดีขึ้น ก็ตั้งใจปฏิบัติให้มั่น ถือเป็นสัญญาของตัวเอง ก็ทำไป ใครจะตั้งตบะอะไรของตัวเองก็เป็นเรื่องดีสำหรับคนนั้น


ช่วงที่ผ่านมา มีกระแสข่าวจากสื่อ ว่าพ่อท่านร่วมมือกับคุณจำลอง ศรีเมือง เฟ้นหาตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มีข้อเท็จจริงอย่างไร และพวกเราบางคนก็คิดว่า พ่อท่านน่าจะแก้ข่าว เพราะมิฉะนั้นอาจทำให้สังคมเข้าใจผิด และมองเราในแง่ลบ

การไม่แก้ข่าว อาจทำให้คนเข้าใจผิด ว่าเราเป็นผู้ร่วมมือจริงก็ได้ แต่อาตมาคิดว่า คนส่วนใหญ่เขาคงไม่เชื่อว่าเราร่วมมือเพื่อจะเฟ้นหาคนไปสมัครรับเลือกตั้ง แต่ถ้าถามว่าในเมื่อเราไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ แล้วทำไมเราไม่แก้ข่าว มันมีหลายนัยที่อาตมาไม่แก้ข่าว เพราะว่าอาตมาเองไม่อยากให้เป็นข่าวอะไรมากมายนั่นข้อหนึ่ง ส่วนข้อสอง ถ้าแก้ข่าว ก็จะมีผลกระทบถึงตัวเราเองนั่นแหละ อาตมาไม่อยากให้เกิดเรื่องโต้เถียง หรือโต้แย้งกัน เพราะถ้าแก้ข่าวผ่าน น.ส.พ.ก็ต้องมาสัมภาษณ์ฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ ให้เกิดเป็นเรื่องยืดยาวไปอีก อาตมาไม่อยากให้เป็นการต่อความยาวสาวความยืด และอีกหลายๆเหตุผลที่อาตมาเห็นว่า เราเองก็เคยเจอคดี ที่ใส่ร้ายใส่ความ หรือลากจูงไปในเรื่องเลอะๆเทอะๆเยอะมาแล้ว แม้แค่นี้ที่เขาเข้าใจผิดว่าเราไปร่วมมือกับคุณจำลอง ศรีเมือง วุ่นวายการเฟ้นหาตัวผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. หรือไปยุ่งกับการเมืองว่างั้นเถอะ เป็นพระเป็นเจ้าเป็นสมณะ เป็นสันติอโศกที่ปฏิบัติธรรม ไปยุ่งอะไรกับเขาด้วย ซึ่งคนทางโลกเขาเข้าใจอย่างนั้น เข้าใจว่านักปฏิบัติธรรมแล้วไปยุ่งกับการเมืองไม่ได้เลย อาตมาว่าเป็นความเข้าใจผิดของคนในลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่จริง เหตุที่ว่าไม่จริงก็คือ ลักษณะที่ว่าถ้าเราไปยุ่งกับการเมืองแล้วเป็นเรื่องไม่ถูกต้องนั้น มันไม่จริง อาตมาว่าไม่ใช่ ยังมีความซับซ้อนกว่านี้ เพราะฉะนั้นเราจะไปพูดให้ผู้อื่นเข้าใจก็ยาก จะแก้ตัวหรือแก้ไข โดยเอาความจริงไปแก้ไขก็ยากอยู่นั่นแหละ เมื่อมันก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร ก็เลยไม่คิดจะแก้ข่าว ก็ปล่อยไปเท่านั้นเอง คนจะเข้าใจผิด จะไปห้ามเขาได้อย่างไร อาตมาคิดว่าคนเข้าใจถูกก็มีอยู่ คนไม่เชื่อก็มีอยู่นะ


มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเช่นกัน เขียนคอลัมน์ด่าพ่อท่าน ด้วยถ้อยคำหยาบคายมาก

อันนี้เขาปักหลักด่าเรามาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ไหนแต่ไร ด่ามาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว เขาก็ด่าอยู่อย่างนั้นแหละ สำนวนก็หยาบๆคายๆประเภทที่เรียกว่า ด่าแบบชั้นต่ำ ก็ด่าไปสิ เราจะไปตอแยกับเขาทำไมล่ะ


เขามีจุดประสงค์อะไรในการด่าคะ ?

อ้าว! จะมาถามอาตมาได้อย่างไร อาตมาตอบไม่ได้จริงๆ จะลึกซึ้งหรือมีเหตุผลอะไรของเขาในใจ เขาเกลียดเขาชัง หรือว่ามีเรื่องมีราวเกี่ยวข้องส่วนนั้นส่วนนี้ ซึ่งเราไม่รู้จริงๆ แต่เขาก็ทำของเขามานานแล้วนะ คราวนี้ก็โผล่ขึ้นมาอีก ก็แปลกเหมือนกัน เพราะมันไม่น่าถาวร มันน่าจะหายไปแล้ว แต่อยู่ๆก็โผล่ขึ้นมา มันเงียบไปตั้ง ๑๐ กว่าปีแล้วนะ แต่มันเป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งของกิเลสในคน กิเลสนี้เป็นของจริง ใครมีกิเลสหยาบเขาก็ทำความหยาบ คนมีกิเลสต่ำๆเขาก็ทำความต่ำๆได้เป็นธรรมดาธรรมชาติ คนมีกิเลสต่ำๆหยาบๆหนาๆถาวร กี่ปีกี่ปีเขาก็ยังทำหยาบทำต่ำคงเดิม หรือทำต่ำหยาบกว่าเดิมได้ ถ้ารู้สัจจะอย่างนี้ ก็ไม่แปลก


ขอถามความรู้สึกของพ่อท่านค่ะ ?

ก็รู้สึกอย่างเดิม นี่อาตมาไม่ได้พูดโกหก หรือพูดเอาโก้อะไรหรอก ฟังแล้วรู้ว่า เขาด่าหยาบคายเท่าไร เราก็รู้ความจริงตามความเป็นจริง เออ!...คนนี้เขาไม่ชอบเรา คนนี้เข้าใจเราอย่างนี้ การที่เขาแสดงออกกับเรา ถามว่ารู้สึกอย่างไร ก็รู้สึกถึงความจริงเท่านั้น จะให้รู้สึกเสียใจ ดีใจ เดือดร้อน อาตมาว่าอาตมาปฏิบัติธรรมมาแล้ว และก็ทำได้แล้ว อาตมาไม่รู้สึกกับสิ่งเหล่านี้


มีผู้แนะนำว่า น่าจะฟ้องฐานหมิ่นประมาท

อาตมาถือคติของจีน เขาบอกว่า ไปค้าความไปกินขี้หมาดีกว่า อาตมาไม่อยากกินขี้หมา เลยไม่ไปค้าความ


กรณีเช่นนี้ ถ้ามองในแง่ของศาสนา เมื่อเราเป็นผู้บริสุทธิ์ ผู้กล่าวหาจะได้รับวิบากอะไรหรือไม่อย่างไรคะ ?

ได้รับวิบากไปตามกรรม ก็ไม่ต้องไปพูดหรอก มันจะเหมือนเราไปแช่งเราไปว่าเขาอีก ไปย้อน ไปแย้งอะไรเขาอีก กรรมก็คือกรรม อาตมาเชื่อกรรมเชื่อวิบาก ใครทำกรรมชั่วก็ชั่ว ใครทำกรรมดีก็ดี เรื่องของกรรมไม่ใช่คนจะไปตัดสินทีเดียว แต่คนก็ตัดสินได้ด้วย แต่นั่นไม่ใช่กรรมที่แท้จริง หรือเป็นสัจจะแท้ แม้พระพุทธเจ้าก็ไม่สามารถเป็นผู้ไปตัดสิน สัจจะเป็นตัวตัดสิน ความจริงของ สัจจะเอง ว่ามันดี หรือไม่ดี อันนี้ไม่มีใครไปล่วงรู้ ความละเอียดซับซ้อน อย่างสุดยอด ของกรรมได้ เพราะฉะนั้นอาตมามั่นใจในกรรม กรรมที่ดีคือดี กรรมที่ชั่วคือชั่ว เรามีปัญญา ที่จะรู้ได้ว่า อะไรคือ กรรมดี อะไรคือกรรมชั่ว รู้แล้ว เราก็ทำสิ่งที่ดีนั้นก็แล้วกัน เรื่องชั่วก็พยายามอย่าทำ หยุดทำให้ได้ เลิกทำให้ได้ เท่าที่เรามีปัญญา ตัดสินความดี ความชั่วนั้น คนอื่นเขาจะวิพากษ์วิจารณ์ เขาจะบอกว่า อันนั้นดีไม่ดี วิจัยกันไป เราก็ฟังด้วย ถ้าเห็นพ้องเราก็เชื่อตาม ถ้าไม่เห็นพ้อง เราก็เชื่อของเรา ไม่มีปัญหาอะไร ถูกแท้-ผิดแท้ก็อยู่ที่สัจจะ และผู้มีภูมิที่สามารถรู้จริงในสัจจะ


การที่เราไม่โต้ตอบ ทำให้เขาย่ามใจ ยิ่งทำบาปมากขึ้น เราควรปล่อยให้เขาทำบาปเช่นนี้ต่อไปหรือไม่คะ ?

ก็เป็นด้วยบ้าง ถ้าเราหยุดเสีย เขาจะได้ใจ แต่เพราะว่าเราเองไม่สามารถที่จะไปแตะไปต้านไปท้วง หรือไปทำอะไรเขาได้ มันหยาบ มันแรงเกินไป เราอย่าไปตอแยดีกว่า เพราะฉะนั้น เมื่อเรารู้ฐานะอย่างนี้ ว่ามันเป็นฐานะที่สุดวิสัย เกินแก้ ก็อย่าไปแตะดีกว่า ยิ่งแตะยิ่งเปื้อน ยิ่งเหม็น

ดังนั้น ในลักษณะอย่างนี้ ซึ่งมีเยอะในสังคม เป็นเรื่องที่แตะไม่ได้ แตะแล้วเป็นเรื่อง และ ยิ่งเป็นการกระตุ้น ให้เขาทำชั่วหนักยิ่งขึ้นไปอีก จึงไม่ใช่ว่า เราจะปล่อยให้เขาทำชั่ว เพียงแต่ ถ้าเราหยุดซะ กลับทำให้เขาไม่ทำชั่วเพิ่ม ถ้ายิ่งไปแตะเขากลับทำชั่วหนักขึ้นไปอีก ซึ่งมันจะตรงข้าม กับที่คุณว่า ถ้าปล่อยเขาไปโดยไม่ตอบโต้ เขาจะยิ่งทำชั่วหนัก ไม่ใช่นะ ถ้าเรายิ่งไปตอบโต้ มันจะยิ่งเกิดเป็นเวรานุเวร สร้างกรรมที่ซับซ้อนขึ้นอีกมากมาย ซึ่งตรงนี้อาตมาประเมินแล้วว่า ไม่มีประโยชน์ที่เราจะไปค้านไปแย้งไปตอแย ปล่อยเถิด วางเถิด จะดูสงบกว่า เวรน้อยลง


เราเห็นจุดบกพร่องของบางคน และเขาก็กำลังได้รับวิบากนั้นอยู่ แต่เจ้าตัวก็ไม่รู้ที่มาที่ไป ได้แต่สงสัยว่าทำไมจึงโดนอย่างนี้ เราควรทำอย่างไร พูดอ้อมๆเขาก็ไม่เข้าใจ ควรบอกตรงๆ หรือให้คนที่เขาศรัทธาบอกคะ ?

เมื่อมีคนที่เขาศรัทธา ก็ให้คนที่เขาศรัทธา เป็นผู้เตือนสติเขา ชี้จุดบกพร่องของเขา ก็บอกไปซิ


ถ้าให้ท่านเป็นผู้บอกล่ะคะ ?

การจะบอกสิ่งที่ไม่ดีของใคร ไม่ใช่ว่าเที่ยวไปบอกใครต่อใครได้หมด โดยไม่ประเมินประมาณ ไม่คำนวณดูกาลเทศะฐานะ บางทีบางเรื่องเราก็บอกไม่ได้เลย บางคนบอกไม่ได้เลย บางคนก็อาจบอกได้ แต่ต้องมีโอกาส มีเวลา แม้ฐานะของเราเหมาะไหมที่จะบอก มีจังหวะเหมาะสมที่จะบอก ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆไปเรียกเขามาถึงปั๊บก็บอกได้ เอ!...เขาไม่ใช่ขี้ข้าม้าครอกของเรา ที่จะเรียกเขามาและบอกความไม่ดีของเขา ลองคิดดูซิ จะเป็นยังไง คนเราน่ะ มันต้องมีเหตุปัจจัยที่จะให้เราได้พูดได้บอก เราจึงจะบอกได้ อาตมาจะเป็นคนที่ไม่ไปละลาบละล้วงอะไรใครง่ายๆ จะเห็นได้ว่า
อาตมาไม่ไปชี้ชั่ว คนนั้นคนนี้ ถ้าไม่ถึงขนาดจำเป็นจริงๆ ที่จะเสียหาย ที่จะหนักหนา อาตมาจะไม่ไปบอก แม้แต่กับลูกศิษย์ หรือแม้แต่สัทธิวิหาริก

อาตมาจะให้สัญญาณ หรือสอนโดยใช้วิธีใช้ศิลปะในการสอน ซึ่งก็อาจได้ผลช้า ได้ผลไม่ทันที แต่มันจะไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก ไม่เกิดความระแหง


จิตที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม พรหมวิหาร ๔ อย่างจริงแท้เท่านั้น
จึงจะเข้าใจและให้อภัยผู้อื่นได้อย่างไม่มีเงื่อนไข
และด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงถูกกล่าวขานว่าเป็นนักจิตวิทยาเอกของโลก

- สารอโศก อันดับที่ ๒๗๒ มิถุนายน ๒๕๔๗ -
ISSN 0857-7585