กว่าจะถึงอรหันต์ - โดย...ณวมพุทธ -
พระอนุรุทธเถระ

เห็นชัดเจนกิเลสตน
เรียกคนนี้มีตาทิพย์
ชำระล้างเลวหลงผิด
ดวงจิตพ้นพิษผ่องใส.

ในอดีตชาติของพระอนุรุทธเถระนั้น ได้สั่งสมบุญบารมีเอาไว้แล้ว บำเพ็ญบุญญาธิการ ในพระพุทธเจ้าทั้งหลายตั้งแต่ปางก่อน

สมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ เขาเป็นผู้มั่งคั่งร่ำรวยมีทรัพย์มหาศาล ได้ไปวิหารฟังธรรมของพระพุทธเจ้า พบเห็นพระศาสดาทรงแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่ง ผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านจักษุทิพย์(ตาทิพย์มองทะลุกิเลสได้) ก็บังเกิด ความปรารถนาเป็นเช่นนั้นบ้าง จึงทำมหาทานตลอด ๗ วัน แด่พระศาสดา และหมู่ภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป

สมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า สุเมธะ เขาถวายประทีป(โคมไฟ)ตะเกียงน้ำมัน ๑,๐๐๐ ดวง แด่พระศาสดาซึ่งเข้าฌาน(อาการจิตแน่วแน่สงบจากกิเลส)อยู่ที่ควงไม้ ไฟลุกโพลง อยู่ตลอด ๓ วันแล้วดับไปเอง

สมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว เขาเป็นผู้ร่ำรวย อยู่ในนครพาราณสี ได้สร้างพระเจดีย์ทององค์ใหญ่สักการะแด่พระศาสดา แล้วถือ ถาดโคมไฟ บรรจุด้วยน้ำมันวางไว้บนศีรษะ เดินเวียนรอบพระเจดีย์ บูชาแด่พระศาสดา ตลอดทั้งคืน

สมัยที่ว่างเว้นจากพระพุทธเจ้าอุบัติ เขาได้เกิดในตระกูลคนยากจนเข็ญใจ ณ นครพาราณสี มีชื่อว่า อันนภาระ เลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยการรับจ้างทำงานต่างๆ มีอยู่วันหนึ่ง เขากับภรรยาได้พบเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่า อุปริฏฐะ บิณฑบาตอยู่ในเมือง ทั้งสองบังเกิดความเคารพเลื่อมใสยิ่งนัก จึงสละอาหารของตนที่เตรียมไว้กิน ใส่บาตร ถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าหมดสิ้น ไม่หลือเก็บไว้เลย เขาและภรรยา ไม่เพียงแต่ไม่หิว กลับรู้สึกอิ่มสุข ด้วยมีปีติแห่งบุญเป็นอาหาร

ในชาติสุดท้ายนั้น ได้เกิดเป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ เป็นพระโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ (เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ จึงเป็นพระเจ้าอาของเจ้าชายสิทธัตถะ) พระประยูรญาติ ขนานนามให้ว่า อนุรุทธะ

เจ้าชายอนุรุทธะเป็นผู้พรั่งพร้อมไปด้วยเบญจกามคุณ(รูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัส อันน่า รื่นรมย์ใจ) ทั้งหญิงฟ้อนรำและขับร้อง มีดนตรีบรรเลงให้รื่นเริงบันเทิงใจทุกค่ำเช้า อยู่ในปราสาท ๓ หลังที่เหมาะแก่ ๓ ฤดู เสวยสุขดุจดังเป็นเทวดา แม้แต่อาหารที่เสวย ก็ไม่เคยขาดพร่อง มีให้เสวยตลอดเวลา เตรียมไว้เสมอในถาดทองคำ

ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พระมารดาของเจ้าชายอนุรุทธะทรงดำริขึ้นมาว่า

"บุตรของเราอะไรๆก็มีพรั่งพร้อมไปหมด จึงยังไม่รู้จักกับการ"ไม่มี" ฉะนั้นเราจะต้อง สอนเขา ให้รู้จักการไม่มีเสียบ้าง"

จึงเอาถาดทองเปล่าใบหนึ่ง มาปิดฝาครอบไว้ แล้วให้คนนำไปให้แก่เจ้าชายอนุรุทธะ เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ชีวิต พบกับความขาดแคลนเอาไว้บ้าง จะได้อดทนและเข้มแข็ง ในกาลภายหน้า

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงผนวช แล้วบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศากยกุมาร ทั้งหลาย พากันบวชตามพระศาสดา เจ้าชายอนุรุทธะไม่ยินดีในการครองเรือน อันมีการงาน ไม่หมดสิ้น ที่สุดของการงานไม่ปรากฏ จึงให้เจ้าชายมหานามะ ซึ่งเป็น เชฏฐภาดา (พี่ชาย) อยู่ปกครองบ้านเมือง ส่วนตนเองขอออกบวชดีกว่า

ดังนั้นจึงได้บวชพร้อมกันกับพระเจ้าภัททิยะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัคคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัต โดยให้อุบาลีซึ่งเป็นภูษามาลา(ช่างแต่งผม) ได้บวชก่อน เพื่อลด ความถือตัว ของความเป็นเชื้อสายกษัตริย์ให้เสื่อมคลายลง

บวชแล้วก็ในพรรษานั้นนั่นเอง ภิกษุอนุรุทธะก็สามารถบำเพ็ญเพียร จนได้ทิพยจักษุ (ตาทิพย์มองทะลุกิเลสได้) แสวงหาแต่ผ้าบังสุกุล(ผ้าที่เขาทิ้งแล้ว) นำมาซักย้อมเอง แล้วนุ่งห่ม เป็นผู้มีสติ มักน้อย(ปรารถนาน้อย) สันโดษ(ยินดีเอาแต่น้อยตามฐานะของตน) ไม่มีความขัดเคืองใจ ยินดีในวิเวก(สงัดจากกิเลส) ปรารภความเพียรอยู่เป็นนิตย์

ต่อมาได้ไปพำนักอยู่ที่วิหารปาจีนวังสทายวัน ในแคว้นเจดีย์ กระทำสมณธรรม (ธรรมของ ผู้สงบระงับกิเลส )อยู่ที่นั่น โดยได้ตรึกตรองด้วยใจว่า

"ธรรมนี้ ๑. เป็นธรรมของผู้มักน้อย มิใช่ของผู้มักมาก ๒. เป็นธรรมของผู้สันโดษ มิใช่ของผู้ไม่สันโดษ ๓. เป็นธรรมของผู้สงัด มิใช่ของผู้ยินดีคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๔. เป็นธรรมของผู้ปรารภความเพียร มิใช่ของผู้เกียจคร้าน ๕. เป็นธรรมของผู้มีสติตั้งมั่น มิใช่เป็นของผู้มีสติหลงลืม ๖. เป็นธรรมของผู้มีจิตมั่นคง มิใช่ของผู้มีจิตไม่มั่นคง ๗. เป็นธรรมของผู้มีปัญญา มิใช่ของผู้มีปัญญาทราม"

ภิกษุอนุรุทธะตรึกตรองได้ ๗ ข้อนี้ ก็เกิดปริวิตก(คิดกังวล)ว่า

"ธรรมะนี้เราพิจารณาถึงที่สุดแล้วหรือยัง"

ขณะนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้วาระจิตในความปริวิตกของพระอนุรุทธะ จึงเสด็จ มาโปรดเสริมให้ว่า

"ดูก่อนอนุรุทธะ เธอจงตรึกตรองในข้อที่ ๘ ว่า ธรรมะนี้เป็นธรรมของผู้ชอบใจในธรรม ที่ไม่ทำให้เนิ่นช้า ยินดีในธรรมที่ไม่ทำให้เนิ่นช้า มิใช่ของผู้ชอบใจในธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า ยินดีในธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า"

ในเวลาใดที่เธอตรึกตรองถึงมหาปุริสวิตก(ความนึกคิดของมหาบุรุษ) ๘ ประการนี้ ในเวลานั้นเธอจะหวังได้ทีเดียวว่า เธอจะเป็นผู้มีปกติได้ตามความปรารถนา ได้โดย ไม่ยากไม่ลำบากในฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

พระอนุรุทธะยินดียิ่งในพระธรรมนั้น ปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดาด้วยความไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนักก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ได้บรรลุวิชชา ๓ ( ๑. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ = รู้ระลึกชาติของกิเลสได้ ๒. จุตูปปาตญาณ = รู้การเกิดและดับ ของกิเลสสัตว์โลกได้ ๓. อาสวักขยญาณ = รู้ความหมดสิ้นไปของกิเลสตนได้) เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย


ในเวลาต่อมา พระพุทธเจ้าองค์สมณโคดมนี้ประทับอยู่ท่ามกลางหมู่สงฆ์ ที่พระเชตวัน มหาวิหาร ทรงแต่งตั้งพระอนุรุทธเถระไว้ในตำแหน่ง ผู้มีจักษุทิพย์ เป็นเลิศกว่าภิกษุสาวก ทั้งหลาย

แม้จะเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่พระอนุรุทธเถระก็ยังคงปฏิบัติตนเคร่งครัดในเรื่องการนอน ท่านได้ประกาศว่า

"เราถือการไม่เอนกายนอนเป็นวัตร(ข้อปฏิบัติ) เป็นเวลาถึง ๕๕ ปีมาแล้ว เรากำจัด ความง่วงเหงา หาวนอนมาแล้ว เป็นเวลา ๒๕ ปี"

ครั้นถึงคราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ด้วยความที่ท่านเป็น ผู้มีตาทิพย์ ภิกษุทั้งหลายจึงถามท่านว่า

"บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วหรือยัง"

พระอนุรุทธเถระจึงตอบเป็นลำดับให้รู้

"ลมหายใจออกและหายใจเข้า มิได้มีแก่พระศาสดาแล้ว แต่พระองค์ยังไม่ปรินิพพาน ทรงกำลังทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ คือเสด็จออกจากฌาน ๔ แล้วจึงจะเสด็จปรินิพพาน ด้วยพระหฤทัยอันเบิกบาน จิต(ความคิด )และเจตสิก(อารมณ์อาการของจิต) ทั้งหลาย จะไม่มีอีกต่อไป ชาติสงสาร(การเวียนว่ายตายเกิด)สิ้นไปแล้ว บัดนี้การเกิดในภพใหม่ มิได้มี"

แม้ถึงกาละสุดท้ายของพระเถระนี้ ท่านก็ได้นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ(คือ ดับทั้งกิเลสสิ้นเกลี้ยงแล้ว ดับทั้งชีวิตร่างกายขันธ์ ๕ ด้วย ไม่มีการกลับมาเกิดร่างใหม่อีก) ภายใต้พุ่มกอไผ่ที่ใกล้บ้านเวฬุวคาม ในแคว้นวัชชี

- ณวมพุทธ -
พุธ ๑๔ ก.ค. ๒๕๔๗
(พระไตรปิฎก เล่ม ๗ ข้อ ๓๓๗
พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ข้อ ๑๒๐
พระไตรปิฎก เล่ม ๒๖ ข้อ ๓๙๓
พระไตรปิฎก เล่ม ๓๒ ข้อ ๖
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๓ หน้า ๑๕๕
อรรถกถาแปลเล่ม ๗๐ หน้า ๕๔๖)

- สารอโศก อันดับที่ ๒๗๒ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๗ -