ไม่ง่ายนักที่ลูกผู้หญิงจะมีโอกาสได้เดินจาริกตามท่านสมณะในวิถีแห่งพุทธกาล
เดินด้วย เท้าเปล่า ค่ำไหนนอนนั่น เป็นการได้ฝึกความอดทนทั้งกายและใจ ที่สำคัญองค์ประกอบนั้น
ต้องพร้อมด้วย ความเหมาะสม ในทุกๆประการ และยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ฉะนั้น
ถ้าจะเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต เราจะไม่ลองทดสอบตนเองหรอกหรือ?
ท่านโสรัจโจ ได้อธิบายถึงแรงบันดาลใจในการเดินจาริกว่า
ในอดีตตอนยังเรียนอยู่ชั้น ม.๑-ม.๒ พอถึงช่วงปิดเทอม จะรวมกลุ่มกับเพื่อนๆหลายคน
โดยแต่งชุดลูกเสือ พากันเดิน จาริกไปตาม ภูกระดึงบ้าง เขาใหญ่บ้าง ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่น
ทำให้เป็นแรงกระตุ้น ที่อยาก จะออกบวชเป็นสมณะ เพื่อที่จะเดินธุดงค์
ในการจาริก ครั้งที่ ๓ ของชาวหินผา-ฟ้าน้ำ จ. ชัยภูมิ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๑ เมษายน - พฤหัสบดีที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๔๗ มีสมณะ ๒ รูป
(สมณะกลางดิน โสรัจโจ และสมณะ แก่นผา สารุปโป)
ผู้ชายประมาณ ๓๐ คน ผู้หญิงประมาณ ๒๐ คน รวมทั้งสิ้น ๕๒ คน (ในจำนวนนี้มีทั้งผู้ใหญ่
เด็กนักเรียนสัมมาสิกขา และเด็กเตรียมสัมมาสิกขา)
อา. ๑๑ เม.ย. ๔๗
เริ่มออกเดินทางจากหินผาฟ้าน้ำ เวลาบ่ายสองโมง(เป็นช่วงฤดูร้อนอากาศจะร้อนมาก)
พวกเราจะต้องขึ้นบันได จำนวน ๙๙๙ ขั้น ไปบนภูเขา
เพียงแค่เดินขึ้นบันได ก็ทำให้เลือด สูบฉีดแรงมาก เหมือนหัวใจ จะออกมาเต้นอยู่ข้างนอก
เราใช้เวลาเดินขึ้นบันได ตอนแดด จัดๆ เป็นเวลาเกือบสองชั่วโมง ประทับใจ
เด็กชายสัมมาสิกขา ๒ คน เมื่อถึงที่หมายก่อน หลังจากหายเหนื่อยแล้ว ได้ลงมาช่วยป้าๆและอาๆขนสัมภาระ
ขึ้นไปเที่ยวแล้ว เที่ยวเล่า นี่แหละการเดินจาริกที่ไม่ใช่เพียงแค่ไปถึงที่หมายเท่านั้น
แต่สิ่งดีๆที่ได้รับ นอกเหนือกว่า ที่เราได้คาดการณ์ไว้มักเกิดขึ้นเสมอ จากนั้นจึงเดินต่อไป
บนถนนลาดยาง เมื่อถึงหมู่บ้าน ก็จะมีชาวบ้านนำน้ำมาให้ดื่มเป็นระยะๆ (โดยเฉพาะชาวอีสาน
จะมีน้ำใจมาก) เดินมาจน ๑๘.๓๐ น. ใกล้จะค่ำแล้ว เรายังไม่ได้ที่พัก
จึงเดินต่อไปจนถึงวัดอุดมคงคาราม อยู่ใกล้
หน่วยพิทักษ์อุทยาน เขาช่องลม ที่ ตน. ๖ มีพระอยู่ ๑ รูป
หลวงพ่อ ใจดีมาก ต้อนรับพวกเรา เป็นอย่างดี หลังจากรับประทานอาหารแล้ว
ก็มีการสรุปงาน จนถึงสามทุ่ม จึงแยกย้าย กันนอน แต่ก่อนจะเข้านอนได้ข้อคิดเตือนใจตนเองว่า
"เหนื่อยกาย เมื่อได้พักก็หาย แต่เหนื่อยใจ เราจะต้องรู้จัก พักใจให้ได้
ถ้าพักไม่ได้ก็จะต้องเหนื่อยไปจนตาย"
จ. ๑๒ เม.ย. ๔๗
พวกเราตื่นมาทำวัตรเช้าเวลา ตี ๔.๔๕ น. เสร็จจากการทำวัตรแล้วได้ออกเดินทาง
ประมาณ หกโมงเช้า สมณะท่านพา นำบิณฑบาต ประทับใจชาวบ้านที่มาใส่บาตร บางคนเห็น
ขบวนจาริก ตั้งแต่เมื่อวาน ได้เตรียมอาหารเอาไว้ เพื่อใส่บาตร แต่ก็ไม่ได้รับทุกอย่าง
เพราะมีเนื้อสัตว์ปนมาด้วย พอดีเขาเป็นร้านค้าจึงนำขนมปัง และขนมที่จะขาย
ในร้าน ตนเอง มาใส่บาตรมากมาย เรียกว่าแทบจะหมดตู้ขนมเลยก็ว่าได้ เรายังคงเดินต่อไปเรื่อยๆ
(ช่วงนี้จะเป็น ถนนดินลูกรัง)
ประมาณ ๙ โมงเช้า เราได้มาแวะรับประทานอาหาร ที่ไร่ส้ม โชกุน ชื่อว่า
"ไร่อุไรวรรณ" ซึ่งชาวบ้านเป็นผู้แนะนำ
เพราะเจ้าของใจดี คนดูแลเป็นน้องสาว ของ คุณอุไรวรรณ (ซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ)
และในอนาคตมีแนวโน้มว่า จะใช้ปุ๋ยชีวภาพ เพราะไม่อยากให้ดินเสีย และได้สัญญาว่า
ปีหน้ายินดีจะต้อนรับพวกเราอีก พร้อมทั้งจะทำ อาหารมังสวิรัติ เลี้ยงพวกเราด้วย
และอาจจะได้ชิมส้มโชกุนจากต้นสดๆ เพราะอายุ จะได้เกณฑ์ ๓ ปี พอดี (ซึ่งส้มจะให้ผลได้ดีแล้ว)
๑๐.๓๐ น. เราเริ่มออกเดินทางต่อไปจุดหมายข้างหน้าคือ
"น้ำตกตาดโตน" ระหว่างทาง
มีสองตายาย นำน้ำดื่ม จากตู้เย็น มาให้ได้ดื่มกันทั่วหน้า และยังมีมะม่วงแก้วให้อีก
๑ ชะลอมใหญ่ พร้อมทั้งมีน้ำใจ พาเดินทางลัด เข้าไปในป่า โดยผ่านไร่ ของชาวบ้าน
ซึ่งเดินมา ส่งพวกเราไกลมาก ตาและยายช่างมีน้ำใจจริงๆ
(นี่แหละน้ำใจคนไทย)
เราเดินผ่านทราย ซึ่งกำลังร้อนตอนเที่ยงๆ และผ่านป่า ซึ่งเพิ่งจะถูกไฟป่าไหม้ไปไม่นาน
ยังคงเหลือซาก ตอหญ้า ให้เห็น แต่เมื่อเดินย่ำไปแต่ละครั้ง จะเจ็บมาก เพราะตอหญ้าทั้งแข็ง
และคมมาก ภูมิประเทศช่วงนี้คล้ายๆ ภูกระดึง ค่อนข้าง สวยงามมาก แต่ถ้าเป็นฤดูหนาว
จะสวย มากกว่า และเหมาะแก่การกางเต็นท์ สำหรับนักเดินทาง ที่ชอบผจญภัย
เราเดินมาถึง น้ำตกตาดโตน ตอนประมาณบ่าย ๓ โมง ช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์
คนจึงมาก เมื่อเห็นพวกเรา เดินเป็นแถว ออกมาจากป่า พากันตะลึงไปตามๆกัน จากนั้นก็แยกย้ายกัน
พักผ่อน ตามอัธยาศัย หัวหน้าอุทยานฯ ได้จัดที่พักแก่พวกเรา เป็นบริเวณบ้านพัก
ของเจ้าหน้าที่ หน่วยต้นน้ำลำประทาว ซึ่งอยู่ใต้เขื่อน และมีฝายน้ำล้น อยู่หน้าที่พัก
ซึ่งเรา จะต้องเดินย่ำน้ำ เท่าตาตุ่มเข้าที่พัก เป็นจุดที่สวยงามอีกจุดหนึ่ง
ของอุทยานแห่งชาติ น้ำตกตาดโตน ผู้คนไม่พลุกพล่าน กลางคืนอากาศค่อนข้างหนาวเย็น
มาถึงวันนี้มีหลายคน เท้าเริ่มพองบ้างแล้ว แต่ไม่มีใครถอยเลย แม้แต่คนเดียว
เราได้สรุปงานและเข้านอน ประมาณสามทุ่ม
อ. ๑๓ เม.ย. ๔๗
(วันสงกรานต์ปีใหม่ไทย)
เวลาตี ๔.๔๕ น. ทำวัตรเช้า ออกเดินทางประมาณหกโมงเช้า จุดหมายข้างหน้าคือ
วัดชมภู ในหมู่บ้านตาดโตน เราเดินเข้าป่า จึงไม่มีการบิณฑบาต โดยเดินขนานไปกับท่อส่งน้ำ
ช่วงนี้ธรรมชาติ สวยงามมาก (สังเกตได้ว่า ถ้าที่ไหนที่รถยนต์ไปไม่ถึง
ธรรมชาติ จะยังสวยงามอยู่) เหมาะแก่การล่องแก่ง ในฤดูฝน
และบางช่วง มีทั้งขึ้นเขา ลงห้วย (น้ำถึงหัวเข่า)
และได้มาแวะรับประทานอาหาร ที่วัดชมภู จากนั้นเดินต่อไป
จุดหมาย ปลายทาง ข้างหน้าคือ บ้านนาเสียว มีการเดินลัดเลาะ
มาตามไร่นาของชาวบ้าน แวะพัก กลางทาง ที่วัดป่าพัฒนา
วัดนี้มีพระ ๒ รูป สามเณร บวชภาคฤดูร้อน อีกหลายรูป ช่วงนี้ อากาศร้อนมาก
เราจึงพักกัน จนกระทั่งบ่ายสามโมง (บางคนก็นอนพัก
บางคน ก็สนทนาธรรมะ กับท่านสมณะ ฯลฯ) ช่วงนี้ท่านสมณะรู้ว่า
พวกเราเริ่มเหนื่อย และอากาศ ร้อนจัดมาก ทางเดินช่วงนี้ เป็นถนนลาดยาง ปรากฏว่า
บางคน ต้องพันผ้าที่เท้า บางคน ต้องนำรองเท้ามาใส่ เพราะระยะทางจริงเกือบ
๑๐ ก.ม. (เป็นช่วงที่ผู้เขียน ทรมานที่สุด)
ตลอดทางมีชาวบ้านนำน้ำเย็นมาให้ดื่มตลอดทาง และมีการเล่นสงกรานต์
ตลอดเส้นทาง แต่พวกเขาให้เกียรติเรา เพราะพวกเราเดินเป็นระเบียบ และสำรวมมาก
จึงไม่มีใคร โดนสาดน้ำ พวกเรา ต่างพากัน ประทับใจตาหงวน
(อายุประมาณ ๗๘ ปี) ตาหงวนแกเป็น
ผู้มีอายุยาว ของบ้านนาเสียว เมื่อ ๗-๘ ปีก่อน เคยมีสมณะ ไปเดินจาริกแถวนั้น
แกก็ประทับใจ ตั้งแต่ตอนนั้น เป็นต้นมา ยังจำชื่อสมณะรูปนั้นได้ (คือท่านดงดิน)
เวลาแก จะกราบสมณะ แกจะเอาผ้าขาวม้าที่คาดพุง มาเช็ดที่เท้าสมณะก่อน แล้วจึงคลุมไปที่เท้า
ของสมณะ จากนั้น แกจึงก้มลงกราบ แทบเท้าเลย เป็นภาพที่พวกเราทุกๆคนประทับใจมาก
(จะเห็นได้ว่าคนเราต้องมีศรัทธา ไม่สิ่งใด ก็สิ่งหนึ่ง
เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ) ที่สำคัญ แกเดิน เข็นจักรยานไปกับขบวนของพวกเรา
ตลอดทาง และเกิดมา แกไม่เคย ใส่รองเท้าเลย แกจึงแข็งแรงมากๆ พวกเรามาได้ที่พักที่
โรงเรียนบ้านนาเสียว วันนี้ท่านสารุปโป ได้แจก น้ำมันงา เพื่อทาฝ่าเท้า ให้คลายระบม
และได้แนะนำอีกหนึ่งสูตรคือให้ แช่น้ำฉี่ ซึ่งก็ได้ผล เพราะทำให้เท้า ไม่ค่อยระบมเท่าใด
มีการสรุปงานเหมือนเช่นเคย และเข้านอน ตอนสามทุ่มกว่า
พ. ๑๔ เม.ย. ๔๗
วันนี้ไม่มีการทำวัตรเช้า (เพราะเหนื่อยกันเหลือเกิน
และอ่อนล้าไปตามๆกัน) มีแต่ประชุม เพื่อบอกจุดหมาย
ปลายทางข้างหน้า คือเทือกเขาภูแลนคา บริเวณภูโค้ง(ชาวบ้านเรียกว่า
ภูเรดาร์ ซึ่งจริงๆแล้ว เป็นเสาจานสื่อสาร ไม่ใช่เสาจานเรดาร์)
เราออกจากที่พัก ประมาณ หกโมงเช้า ท่านสมณะนำบิณฑบาต ในบ้านนาเสียว ชาวบ้าน
ต่างใส่บาตร กันมากเหลือเกิน บางคนไม่รู้ตัวมาก่อน นำบะหมี่สำเร็จรูปที่มีติดบ้าน
ยกให้ทั้งลังเลยก็มี บางคน นั่งมอเตอร์ไซค์ มาดักกลางทางก็มี ตาหงวนแกบอกว่า
นี่ขนาดไม่ได้ประกาศเสียงตามสาย ถ้าประกาศ จะมีชาวบ้าน แห่ใส่บาตร กันทุกครัวเรือน
จนคน ๕๒ คน ช่วยกันถือไม่ไหวเลย (ซึ้งใจน้ำใจชาวอีสานมาก)
แวะรับประทานอาหาร ที่วัดยางนาเสียว เป็นวัดใหญ่ที่สุด
ตั้งแต่เดินจาริกผ่านมา ออกเดินทางสู่ภูโค้ง ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุด ในจังหวัดชัยภูมิ
เพราะเป็น ที่ตั้ง ของหน่วยสถานีถ่ายทอด โทรคมนาคมของกองทัพอากาศ (สำหรับตรวจจับเครื่องบิน
ฝ่ายตรงข้าม) เวลาทหารจะขึ้นไปบนภู หรือขนสัมภาระ
จะใช้เฮลิคอปเตอร์ แต่ไม่ง่ายนัก เพราะทุกคนได้ตรากตรำ
กันมาถึง ๓ วัน ๓ คืน แทบหมดแรง ที่เหลือคือกำลังใจ ที่ให้กัน และกัน โดยมีท่านสมณะเป็นแบบอย่างที่ดี
แม้จะเป็นบทเรียน เกือบสุดท้าย แต่ต้องใช้ พละกำลัง ในการป่ายปีนเขาเป็นอย่างมาก
จะต้องมีความอดทน และความเพียร เป็นที่ตั้ง เราออกเดินทาง เวลา ๑๐.๓๐
น. ตาหงวนได้อาสาเป็นผู้นำทาง จากนั้นพวกเรา ได้มาถึง ถ้ำเหี้ย ตอนประมาณ
๑๑.๓๐ น. บริเวณนี้มีแอ่งน้ำ มากมาย เราได้แวะพักอาบน้ำกัน เป็นจุดที่คาดว่า
ถ้าเป็นฤดูฝน จะสวยมาก ไม่แพ้ที่อื่นๆ เพราะมีหินลาดแผ่นใหญ่ มหึมา มากมาย
ถ้ามีน้ำหลากยิ่งสวย แต่ไม่มีน้ำ เพราะเป็นหน้าแล้ง
(คนที่มีเงิน รักความสบาย ก็จะไม่มีโอกาส ได้มาเห็นธรรมชาติ
ที่สวยงามอย่างนี้ ช่างเหมาะกับคนจน อย่างเราจริงๆ)
เริ่มออกเดินทางต่อ เวลาประมาณ บ่ายสามโมง
เราพากันเดิน เดิน เดิน แล้วก็ เดิน เดิน เดิน ขึ้นภูสูงแบบใจเกินร้อย มีฝนโปรยปรายลงมา
แทบจะตลอดทาง ซึ่งเส้นทางนี้ เป็นเส้นทางลำเลียงของทหาร จะมีสัญลักษณ์บอกทาง
เป็นระยะๆ พวกเด็กๆ ยังคงมีพลัง เหลือเฟือ แต่ขบวนสุดท้ายดูจะเป็นป้าๆและอาๆ
เป็นส่วนใหญ่ เราพิชิตภู ที่สูงที่สุด ในชัยภูมิ เวลาประมาณ
เกือบหกโมงเย็น อากาศบนนี้เย็นสบายมาก มีลมกรรโชกแรง มีที่พักของทหารอากาศ
ซึ่งปกติ จะประจำการอยู่ ๙ คน แต่วันนี้เหลือแค่ ๒ คน มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์
มองเห็นวิวทิวทัศน์ของชัยภูมิ เกือบทั้งหมด ซึ่งแบ่งเป็น ทิวทัศน์ในตัวเมืองชัยภูมิ
(ความรุ่งเรือง) และทิวทัศน์เป็นธรรมชาติ
มีภูเขาสลับซับซ้อน (คล้ายภาคเหนือ)
อุปมาเหมือน จะให้เราเลือกทางเดินที่มี ๒ ทาง คือ โลกุตระ หรือ โลกียะ เด็กเตรียม
และเด็กสัมมาสิกขา พากันช่วยเหลือตัวเอง หุงข้าว ต้มบะหมี่สำเร็จรูป โดยการ
ก่อเตาเอง ด้วยหิน ๓ ก้อน ดูจะเก่งกว่าผู้ใหญ่ บางคนเสียอีก ก่อนนอน มีการรับฟัง
การบรรยายจากทหาร ๒ นาย ที่ประจำอยู่ฐานนี้ ได้บอกเล่าถึงที่มาที่ไป ของฐานสื่อสารนี้
มีการสรุปงาน และเข้านอน ประมาณสามทุ่มกว่าๆ
พฤ. ๑๕ เม.ย. ๔๗
ทำวัตรเช้า ตี ๔.๔๕ น. ก่อนออกเดินทางเวลา ๖.๓๐ น. พ.จ.อ. ทั้ง ๒ นาย ได้กล่าวคำอำลา
โดยบอกว่า มีโอกาสจะไปเยี่ยมเยียน ที่หินผาฟ้าน้ำ และมีอยู่คนหนึ่งบอกว่า
ต่อแต่นี้ไป ชีวิตของเขา อาจจะได้พบกับสิ่งดีๆ ที่รอคอยมา (เราก็หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น)
วันนี้ไม่มี การบิณฑบาต เพราะอยู่ในป่า ขากลับทางลงเขา ค่อนข้างชัน บวกกับระยะทาง
ถือว่า ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะต้องใช้เวลาเกือบ ๓ ชั่วโมง ให้ถึงตีนเขา
จากนั้นต้องเดินลัดนาข้าว ไปในหมู่บ้านหนองไผ่ล้อม อีกประมาณ หนึ่งชั่วโมง
เพื่อแวะรับประทานอาหาร ที่วัด หนองไผ่ล้อม พวกผู้ใหญ่
เหลือแต่ใจเพียงอย่างเดียว ส่วนพละกำลัง ไม่รู้ว่าหาย ไปไหนหมด ยกเว้นพวกเด็กๆ
ยังคงมีพลังเหลืออยู่ ทำให้ไม่สงสัยเลยว่า วัยเด็กเป็นวัยที่มีพลัง มหาศาล
จริงๆ ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมพ่อท่าน ถึงได้นำพละกำลัง ที่เหลือเฟือของเด็กๆ
มาสร้างสรร งานศาสนา ได้เป็นอย่างดี จากจุดนี้(วัดหนองไผ่ล้อม)
เราออกเดินทาง ตอนประมาณ ใกล้เที่ยง เหลือระยะทางเกือบ ๑๐ ก.ม. เป็นโค้งสุดท้ายจริงๆ
มีบางคนรวมทั้งผู้เขียน ได้ฝากสัมภาระ ไปกับรถที่ขนกับข้าว เพราะเริ่มไม่ไหวแล้ว
พลังมันเริ่มจะหรี่ลงๆเรื่อยๆ ยิ่งเห็นแดดตอนเที่ยง ในหน้าร้อนอย่างนี้ (มันเหนือคำบรรยายจริงๆ)
เราเดินเข้าสังฆสถาน หินผาฟ้าน้ำ เมื่อตอนประมาณ บ่ายสองโมง ด้วยความเหนื่อยสุดๆ
และภูมิใจ อยู่ลึกๆว่า เราได้ทำ และทำได้
สมณะกลางดิน โสรัจโจ
ค่ายนี้เกิดขึ้นได้เพราะความคิดริเริ่มของเด็กๆ เพราะพื้นฐานเด็กรุ่นแรกๆ
อยากจะเป็นอย่าง สมณะบ้าง และแต่ละคน เห็นประโยชน์ ที่ได้จาริก เมื่อมีโอกาสก็จะมาเดินจาริกทุกๆปี
และได้สร้างรุ่นพี่ จนเป็นประเพณี เป็นพื้นฐาน ของการเสียสละ
มีน้ำใจมีน้ำอดน้ำทน ซึ่งเป็นเบ้าหลอมที่จะเอื้อ และสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้
จะต้องมี แบบฝึกหัด เป็นการ ทดสอบเด็ก ถ้ามีพื้นฐานก็จะอยู่ที่นี่ได้อย่างยั่งยืน
เป็นการคัดเด็กไปในตัว (หมายถึงเด็ก เตรียมสัมมาสิกขา)
และจะมี ความใหม่เสมอ มันอยู่ที่จิตวิญญาณของคนๆนั้น คือ ธรรมชาติ จะใหม่เสมอ
โดยความเห็นส่วนตัว การเดินจาริก เป็นวิถีของนักบวช ซึ่งได้มีมานานแล้ว วิถีอนาคาริก
เป็นชีวิตที่เราชอบ "เหมือนนกน้อยปีกแข็ง"
อิสระ และท้าทาย เพราะไม่รู้จะเจอ อะไรข้างหน้า มักยากมากกว่า ถ้าพุทธสถานอื่นๆ
จะมีโครงการแบบนี้บ้าง ก็เห็นด้วย แต่ต้อง มีการสำรวจ เส้นทางก่อน และพร้อมจะเป็นที่ปรึกษา
ให้กับสัมมาสิกขาตามที่อื่นๆ
สมณะแก่นผา สารุปโป
เป็นครั้งที่ ๓ และเป็นเส้นทางใหม่เกือบทุกปี ทำให้เด็กๆได้เรียนรู้ชีวิตความลำบาก
ได้รู้จักกัน มากยิ่งขึ้นทั้ง ๒ ฝ่าย ได้แสดงน้ำใจ ช่วยเหลือกัน และได้ฝึกหลายๆส่วน
เพราะ ไม่มีอะไ รจะบริการ ให้ความสะดวกสบาย ฝึกเรียนรู้ การขาดแคลน ว่าเป็นอย่างไร
เพราะเด็ก บางคน มีชีวิตสบายมาตลอด ต้องเป็นขบวนการกลุ่ม จะได้ลด ความเห็นแก่ตัว
ได้สัมผัส ชาวบ้าน และป่าเขา ได้เห็นสิ่งแวดล้อมที่ยังมีอยู่ เช่น น้ำตก
ภูเขา ทุ่งนา ฯลฯ แม้แต่อาตมา ก็ยังคิดไม่ถึงว่า มีสิ่งสวยงาม ตามธรรมชาติ
รวมทั้งชาวบ้านก็มีน้ำใจ
เหตุที่ไปเพราะว่าเป็นความเหมาะสม ความสมควร แม้ร่างกายไม่เต็มร้อย แต่ไม่มีความอยาก
รวมทั้ง ต้องไปดูแลเด็ก และเป็นหน้าที่ ต้องรับผิดชอบ
พุทธสถานอื่นๆจะมีโครงการนี้หรือไม่มี ก็ไม่เสียหาย หรือจะมีโครงการอื่นก็ได้
แต่ที่สำคัญ จะต้องเป็นผู้ที่ เคยเดินจาริกมาก่อน ถึงจะเห็นประโยชน์ (คณะครู
และผู้ปกครอง ชาวชุมชน ต้องเห็นพ้อง ต้องกันด้วย) เพราะถือว่า เป็นภาระหนัก
ในการดูแลเด็กพอสมควร ถ้าเกิด อะไรมาก็ต้องรับผิดชอบ มีการสรุปงานทุกๆวัน
จะเป็นการแก้ปัญหา วันต่อวัน
สิ่งที่ประทับใจ คือได้เห็นกิเลสตัวเอง ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน เห็นชัดมากกว่าปกติ
อาตมา มีหน้าที่ แผนกเก็บตก (รั้งท้าย) ถือว่า สำคัญมาก เพราะจะโดนดึงแรงไปมากกว่าปกติ
- ลูกพ่อโพธิ์ รายงาน -
- สารอโศก อันดับที่ ๒๗๒
มิถุนายน ๒๕๔๗ -
ISSN 0857-7585