- กอไผ่ -

ระวังอันตราย'อาหารนำเข้า'
'ชาเขียว-บะหมี่-สาหร่าย' ปนสารพิษ


# สธ.ตรวจเข้มอาหารนำเข้าพบสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคจำนวนมาก เช่น บะหมี่ สาหร่าย เครื่องเทศ สำหรับน้ำชา เป็นต้น โดยเฉพาะชาเขียวจากจีน พบสาร ยาระบาย แฝงมาในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อลดความอ้วน ออกมาตรการใหม่ ควบคุมอาหารนำเข้า ให้ต้องมีหนังสือ รับรองมาตรฐาน ประกอบการนำเข้าทุกครั้ง

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ รัฐบาล มีนโยบาย เข้มงวดความปลอดภัยอาหาร ทั้งที่ผลิตในประเทศ และนำเข้า จากต่างประเทศ โดยสั่งการให้สำนักงาน คณะกรรมการ อาหารและยา (อย.) ตรวจสอบ ความปลอดภัยของอาหารนำเข้า อย่างเข้มงวด ตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ทั้งส่วนกลาง และ ภูมิภาค ๒๔ ด่าน เช่น ด่านท่าอากาศยานกรุงเทพ ด่านท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ด่าน ร.ฟ.ท.การรถไฟฯ ลาดกระบัง ด่านท่าเรือแหลมฉบัง ด่านเชียงแสน เป็นต้น

น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากการ ดำเนิน การตรวจสอบ อาหารนำเข้า ตั้งแต่เดือน ต.ค.๒๕๔๖ - ๒๐ พ.ค.๒๕๔๗ การเก็บ ตัวอย่าง อาหารมาตรวจวิเคราะห์ ๑๒,๗๑๐ รายการ พบข้อบกพร่อง ๑๖๔ รายการ เช่น พบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ แบซิลลัส ซีเรียส ในอาหารประเภทบะหมี่ นำเข้าจากเกาหลี ฮ่องกง ญี่ปุ่น พบในขนมนำเข้า จากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนามพบในซุปงาดำ ชนิดผงและสาหร่าย นำเข้าจากจีน พบในเครื่องเทศ (สำหรับน้ำชา) จากอินเดีย พบใน ลูกเดือยผสมถั่วและมันเทศ รสแอปเปิ้ลชนิดผง จากสหรัฐพบในข้าวโอ๊ตสุกเร็ว อาหารเสริม สำหรับเด็ก เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต ซึ่งนำเข้าจากมาเลเซีย พบในเนยนำเข้า จากประเทศฮอลแลนด์ พบในครีม ซุปรสเนื้อวัว นำเข้าจากเกาหลี พบในเต้าเจี้ยวบด ผงโรยข้าวสุกียากี้ ซุปเข้มข้นผสมซอสถั่วเหลือง ซุปถั่วเหลือง บด ซุปเต้าเจี้ยว เครื่องแกงกะหรี่ นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยอันตรายจากเชื้อ แบซิลลัส ซีเรียส จะทำให้เกิดโรค ทางเดินอาหาร มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เกร็ง และท้องเสีย

นอกจากนี้ยังพบสารฟีนอล์ฟทาลีน(ยาระบาย) ในวัตถุดิบชาเขียวนำเข้าจากจีน แฝงเข้ามา ในลักษณะผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร เพื่อลดความอ้วน รวมทั้งพบ ซัลเฟอร์ ไดออกไซด์ (สารฟอกขาว) ในปริมาณสูง เกินระดับ ความปลอดภัย ในอาหารประเภท เยื่อไผ่แห้ง เม็ดบัว ดอกไม้จีน เห็ดหูหนูขาว เห็ดหอม สาหร่าย มะเขือเทศอบแห้ง พุทราแห้ง ลูกท้อแห้ง แอพริคอตแห้ง โดยนำเข้าจากจีน แคนาดาออสเตรเลีย และตุรกี ซึ่งอาหารดังกล่าว อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

"อันตรายจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หากมีปริมาณสูง อาจทำให้เกิดอาการหายใจขัด ความดันโลหิตต่ำ เวียนศีรษะ สำหรับ ผู้ที่แพ้อย่างรุนแรง หรือผู้ป่วย ที่เป็นโรคหอบหืด จะมีอาหารช็อกหมดสติ และเสียชีวิตได้ โดย อย. ได้ทำหนังสือ แจ้งไปยัง ผู้รับอนุญาต นำเข้าทั้งหมด เพื่อเรียกเก็บจากท้องตลาดแล้ว และหากยังพบ มีการนำเข้า อาหาร ชนิดเดียวกับที่เคยตรวจพบ ตกเกณฑ์มาตรฐานอายัดไว้ และเก็บตัวอย่างวิเคราะห์ ถ้าปลอดภัย จึงอนุญาตให้จำหน่ายได้ แต่หากพบ ไม่ได้มาตรฐาน จะทำลายหรือส่งคืน ประเทศต้นทาง และดำเนินการตามกฎหมาย อย่างเคร่งครัด" น.พ.ศุภชัย กล่าว

ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า มีกฎกระทรวง ที่ลง ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๕ พ.ค. ที่ผ่านมา กำหนดให้ผู้รับอนุญาต นำเข้าอาหาร เพื่อจำหน่าย ตามประเภท และชนิดที่ อย.กำหนด ต้องมีหนังสือ รับรองมาตรฐาน ประกอบการนำเข้า เพื่อเพิ่มความเข้มงวด ด้านการตรวจสอบอาหารนำเข้า ลดปัญหา การนำเข้าอาหาร ที่ไม่เหมาะ ต่อการบริโภค

จาก น.ส.พ.คมชัดลึก ๗ มิ.ย. ๒๕๔๗

- สารอโศก อันดับที่ ๒๗๒ มิถุนายน ๒๕๔๗ -
ISSN 0857-7585