ยุทธศาสตร์บุญนิยม
คารโว นิวาโต อหิงสา อโหสิ

หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา
มีลำดับ ขั้นตอนไล่เรียงกัน อย่างงดงาม
มีเบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย
หัวใจของพุทธศาสนา สอนให้
ละชั่ว ประพฤติดี ทำจิตให้ผ่องใส

ครั้งหนึ่ง... เราเคยยึดชั่ว ด้วยความโมหะ อวิชชา
เมื่อเรียนรู้เข้าใจความดี
เราจึงทิ้งชั่ว และทำแต่ความดี
เมื่อเราเป็นคนดี เรายึดดีไว้ด้วยความภาคภูมิใจ
"แต่สิ่งใดที่เข้าไปยึดถือแล้ว ไม่ทุกข์ ไม่มี"
นี้คือสัจธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้
เพื่อการเข้าถึงจิตที่ผ่องใส
ย้ำยืนยันคนดีต้องมีความสุข
เป็นที่รักทั้งของมนุษย์ และอมนุษย์

นี่คือการปฏินิสสัคคะ
สลัดคืนความดีให้แก่โลก
เราจะเป็นจอมยุทธไร้เทียมทาน
เนื่องเพราะสุดยอดวิทยายุทธ
คือไร้กระบวนท่าใดๆ


ในยุคที่ชาวอโศกได้การยอมรับจากสังคม แต่คนที่ไม่ชอบเราก็ยังมี พ่อท่านคิดว่าธรรมะข้อ คารโว นิวาโต อหิงสา อโหสิ มีความเหมาะสม และควรนำมาใช้อย่างไรกับพวกเรา

คารโว นิวาโต อหิงสา อโหสิ ควรเอามาใช้อย่างสำคัญทีเดียว เพราะว่าเราทำงานเพื่องานไม่ใช่ทำงานเพื่อโลกียะ ที่จะต้องได้ลาภยศได้สรรเสริญอะไรต่างๆนานา ถ้าเราไม่เรียนรู้และไม่พยายามเข้าใจสภาวะของกิเลสในลักษณะที่มันติดยึดในลาภ ติดยึด ในยศ ติดยึดในสรรเสริญ หรือโลกียสุขอะไรต่างๆนานาพวกนี้ ถ้าเราไม่รู้จักมัน และไม่รู้จัก ความแตกต่างในลักษณะอย่างนี้ และสามารถลดละทำลายกำจัดมันได้ ให้มันน้อยลงๆ จนกระทั่งหมด อันเป็นสภาพความจริงของโลกุตรธรรมที่เราทำได้ เพราะเราปฏิบัติธรรมะ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งอาตมาแน่ใจว่าเป็นสัมมาทิฐิ และปฏิบัติได้มรรคผล จนมาเป็นคนกลุ่มหมู่ ที่ใช้ได้ จนกระทั่งคนข้างนอกยอมรับ และยอมจำนนว่าอันนี้คงจะดีจริง หลายคนก็เชื่อมั่นได้ หลายคนก็บอก เออ!!น่าจะเข้าท่า เพราะนานวันแล้วก็ยังมีคุณลักษณะอย่างที่บอก เมื่อเราได้รับ ความยอมรับมาเรื่อยๆอย่างนี้ สำหรับกิเลสของคนยังไม่หมดเสียทีเดียว ก็จะต้องสังวรตนเอง ไม่ใช่ว่าเรายิ่งได้รับการเคารพแล้วก็ยิ่งหยิ่งผยองแข็งกระด้าง ยกตัวยกตน ไม่มีความอ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่มีความนับถือใคร ไม่เคารพใคร มันก็จะต้องกำราบด้วยคารโว รู้จักการเคารพ ต้องรู้จักนิวาโต การอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งจะต้องมีจริงๆ ต้องสำนึกสังวรและพยายามทำ ยิ่งเขามาสรรเสริญ ยิ่งเขามายกย่องเชิดชู ถ้าเราไม่รู้อาการของจิตที่มันผยองว่าเป็นอย่างไร เมื่อเขาให้เกียรติ ให้ลาภยศสรรเสริญอะไรต่างๆนานา เมื่อเราไม่รู้เท่าทันมันก็ไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องคอยเตือนตัวเองว่า เราจะต้องไม่หยิ่งผยอง ต้องเคารพผู้อื่น รู้จักสุภาพต่อผู้อื่น เขาจะมีดี หรือไม่ดีอะไรก็แล้วแต่เขา เราต้องดูพละอินทรีย์ของผู้อื่นให้ออก และก็พยายาม อ่อนน้อม ถ่อมตนหรือว่าเคารพผู้อื่นให้ได้ด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะหลงตัวหลงตนอย่างนี้ เป็นต้น

ส่วนอีกอันหนึ่งอหิงสาอโหสิ คือต้องมีความพร้อม อหิงสาคือไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียน ผู้อื่น ไม่เบียดเบียนใคร เราเองจะต้องรู้ตนเองว่าการเบียดเบียนตนนั้นลักษณะอย่างไร การเบียดเบียนตนก็คือการทำร้ายตนทำให้ตนเองทุกข์ร้อน ทำให้ตนเองมีเหตุแห่งทุกข์ หรือมีอะไรที่เป็นความเสื่อมเสียนั่นแหละ เราจะต้องคอยดูตนเองไม่เบียดเบียนตน และก็ไม่ เบียดเบียนผู้อื่นด้วย อหิงสาคือไม่เบียดเบียนคนนั้นคนนี้ ไม่เบียดเบียนเพื่อเรา และไม่เบียดเบียนเพื่อเขา จะต้องพยายามเรียนรู้ว่าการเบียดเบียนคืออะไร การทำร้ายผู้อื่น หรือทำให้ผู้อื่นเสียหาย ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียทำให้ผู้อื่นตกต่ำ ล้วนแต่เป็นการเบียดเบียนเขา ทั้งนั้นแหละ และสุดท้ายอโหสิ ก็คือแม้ใครจะมาทำร้ายเราจะมากลั่นแกล้งเรา เราจะได้รับผล กระทบอย่างไรๆ แม้ไม่ดีเราก็ไม่มีจิตไปถือสา ใจไม่ไปขุ่นเคือง ไม่ไปพยาบาทอาฆาตใดๆทั้งสิ้น อโหสิหมดไม่ว่าใครจะทำอะไรๆ หากเราไม่หลงตนเองแล้ว ไม่เบียดเบียนตนเองแล้ว แม้ใคร จะมาย้อน มาทำอะไรไม่ดี ไม่งาม แม้เล็กแม้น้อย อะไรต่างๆนานาก็ต้องอโหสิ พยายามไม่ติดใจ ไม่ยึดถืออะไรให้ได้อย่างแท้จริง

อันนี้เป็นความหมายของคารโว นิวาโต อหิงสา อโหสิอย่างคร่าวๆ ที่เราจะต้องทำ ยิ่งได้รับ การยอมรับจากผู้อื่นมากขึ้น เราก็ยิ่งจะต้องทำสิ่งเหล่านี้ เป็นคำพูดก็แค่นี้แหละ คารโว นิวาโต อหิงสา อโหสิ มีความหมายแค่ที่อธิบายไป แต่จริงๆแล้วสภาวะหรือนัยะของธรรมะ มันละเอียด มากจริง อันนี้ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม เราถึงจะเจริญขึ้น เพราะเมื่อเรายินดี ที่มีผู้มายอมรับเรา ก็ล้วนเป็นโจทย์ให้เราทั้งสิ้น ยิ่งเขายอมรับเรา ก็ยิ่งเป็นโจทย์ในชั้นที่เรียกว่าให้เรารู้ตัว เขาสรรเสริญ เขายกย่อง เขาเห็นดีเห็นด้วย และเราก็ไปหลงดี ติดดี เป็นมานะ ทั้งหมดนี้ ก็คือเป็นอัตตา ที่เราจะต้องเรียนรู้อัตตาที่เกิดอยู่ในจิต กิเลสมานะนี้เป็นอรูปอัตตา หากไม่รู้จัก สภาวะอัตตาดังกล่าวนี้ในตน เราก็ไม่สามารถกำจัดถูกตัวตนของมัน มันหมดสิ้นไปจาก เราเองไม่ได้ เราต้องกำจัดมันด้วยการปฏิบัติที่เป็นสัมมาปฏิปทา มันจึงจะหมดสิ้นอัตตาได้จริง



ในสังคมตอนนี้มีปัญหาเรื่องคนดีกับคนดีทะเลาะกัน เข้ากันไม่ได้ ทำงานด้วยกันไม่ได้ อยากกราบเรียนถามพ่อท่านว่าจุดอ่อนของคนดีอยู่ตรงไหนคะ

จุดอ่อนของคนดี ก็คือ ติดดี ถ้าไม่ศึกษา ไม่ฝึกฝน ไม่มีคารโว นิวาโต อหิงสา อโหสิ ดังที่กล่าว มาแล้ว โดยเฉพาะคารโว นิวาโต ทำดีก็ดีได้ จะผยองได้ จะหลงตัวได้ ติดดีได้ มานะอัตตา เข้าไปได้จริงๆ ฉะนั้นที่ท่านพุทธทาสว่าไว้ ยึดชั่ว ยึดดีอัปรีย์ทั้งนั้น จึงควรนำไปพิจารณา เราอย่าไปหลงดี ดีก็ทำไปเถอะ แต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่นจนเอาเป็นเอาตาย กระทั่งเกิดการ ทะเลาะวิวาท เกิดเรื่องเกิดราว ถึงขั้นเข่นฆ่า ถึงตายก็ได้ หรือไม่ก็ไม่ดูดำดูดีกัน ไม่ประสาน ไม่สมาน ไม่อะไรต่างๆพวกนี้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่เรียนรู้ธรรมะโลกุตระของพระพุทธเจ้า ท่านรู้จักอัตตา รู้จักมานะ กิเลสลักษณะที่เรียกว่าติดดีหลงดียึดดีพวกนี้จริงๆแล้วละก็ เราก็จะไม่รู้จัก เมื่อไม่รู้จักก็ไม่ได้ลด เมื่อไม่ได้ลดก็เป็นอัตตาไปอยู่อย่างนั้น ไม่เข้าใจอัตตา มันเป็นอัตตา เป็นอรูปอัตตา อันเป็นอัตตาที่เป็นอรูป ไม่มีตัวไม่มีตน แต่มันก็มีอยู่นั่นแหละ มันยังยึดตัว ยึดตน ยึดความรู้ ยึดความเห็น ยึดความเชื่อของเรา ยึดศักดิ์ศรี ยึดอะไรก็แล้วแต่ ยึดเอาโดยนามธรรม ที่มันมุ่งหมายจะเอาให้ได้ตามใจตนท่าเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า เรียนรู้แล้ว เราก็จะเข้าใจสภาวะพวกนี้ ที่เกิดขึ้นโดยการกำหนดของคนของสังคม สมมุติ ถูกมากถูกน้อย ผิดมากผิดน้อย ในเชิงนั้นเชิงนี้ ถูกในสังคมบางหมู่ แต่อาจจะเป็นผิดในสังคม อีกหมู่หนึ่งก็เป็นได้ ผู้รู้อนุโลมปฏิโลม ก็จะปรับได้อย่างไม่เกิดความวุ่นวายเสียหาย รู้จักนิติศาสตร์ รู้จักรัฐศาสตร์ ต้องใช้ให้ถูกสัดส่วนด้วยสัปปุริสสธรรมเพราะรู้ความจริงว่า ดีกับชั่ว เป็นเรื่องของสมมุติสัจจะ เราจะทำอะไรก็แล้วแต่ ทำงานทำการอยู่กับใคร โดยเฉพาะ กับสังคม ซึ่งไม่ใช่เราคนเดียว เราทำดีได้แล้ว แม้ในที่สุดเอาดีนี้ไปข่ม ไปทำอะไร จนกระทั่ง กลายเป็นการทะเลาะวิวาท กลายเป็นการทำให้แตกแยกสามัคคี สัมพันธ์กันไม่ได้ อยู่ร่วมกัน ไม่ได้ ทำงานร่วมกันไม่ได้ เพราะยืดหยุ่นไม่เป็น จะต้องเอาดีเป็นหลักจะต้องถูกไปทั้งหมดเลย จะยืดหยุ่นบ้าง จะลดหย่อนบ้าง จะมีทางออกอย่างนั้นอย่างนี้บ้างไม่ได้ เป็นไม้บรรทัด ฟิตเป๊ะๆเลย แบบนี้มันก็ไปไม่รอด อยู่ในสังคมไม่ได้ งานก็ไม่ได้ เพราะคนอื่นเขาก็มีกิเลส เหมือนกัน เมื่อเราก็มีกิเลสเหมือนกัน ต่างคนต่างมีกิเลส ยึดอัตตายึดดี ทางโน้นเขาก็ยึดว่า ของเขาดี ถ้าที่สุดจะอยู่อย่างสงบแล้วเราต้องลดอัตตาได้จริง แม้เราจะถูกต้อง แต่เรายอม ยืดหยุ่นให้เขาได้ แม้เราจะเสียผลอะไรไปบ้าง โดยเราประนีประนอมว่า เรายอมเสียสละ เพื่อความอยู่รอดของบุคคล หรือสังคมหมู่กลุ่มโดยที่เรารู้ เราเข้าใจอยู่ว่า เรามีจิตเสียสละ ที่ยอมได้ก็หมายความว่าเรายอมลดอัตตา ลดมานะ

บางคนอาจจะบอกว่าทำให้เกิดความสูญเสียหรือความเสียหาย จะปล่อยให้มันเสียไปใช่ไหม อันที่จริงมันก็เสียหายทั้งนั้นแหละ ถ้าหากเราไม่ยอมมันก็เสียหายอีกอย่างหนึ่ง เพราะไม่รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นมา ดีไม่ดีก็เกิดทะเลาะวิวาทกัน เกิดทำร้ายอะไรกันไป โดยเฉพาะทำลายบุคคล ทำลายความจริงด้วย อะไรทำนองนี้ มันก็ยิ่งน่าเสียดายมากกว่าที่จะเสียแค่วัตถุ เพราะว่า วัตถุอย่างไรๆ เราก็สร้างมันได้ แต่ว่าเรื่องจิตวิญญาณ เรื่องของสังคมศาสตร์ เรื่องของมนุษยชาติ ที่จะต้องอยู่ร่วมกันอย่างดี อยู่กันอย่างสงบ ช่วยกันรังสรรค์ มันเป็นเรื่อง ที่ควรจะมีราคาแพงกว่าวัตถุ เรื่องนี้ก็ต้องเข้าใจ ถ้าหากว่าฉลาดแล้วละก็ ควรต้องรู้จักวิธี ที่จะประนีประนอม รู้วิธีอนุโลมปฏิโลม รู้วิธีลดหย่อนอะไรๆขึ้นไป แต่ก็ไม่ได้ หมายความว่า เราจะยอม จนกระทั่งหักโค่น หรือว่ายอมจนสูญเสีย ทำลาย ผลาญพร่าอะไรไปมากมายก็ไม่เชิง เราต้องรู้จักการสละ รู้จักการยืดหยุ่น ยอมคนนั้น ยกคนนี้ เราต้องเป็นผู้ที่ยอมเขา ยอมให้ อนุโลมให้ แม้เราไม่ผิดจริงก็ตาม อันนี้อาตมาขอยกอ้างตัวเองตอนที่อาตมาถูกจับ อาตมา ก็มีสิทธิ์จะนุ่งห่มจีวรได้เพราะเรายังไม่มีอะไรผิด เรื่องราวก็ยังต่อสู้อยู่ในศาล ซึ่งอันที่จริง เขาบังคับเราให้ถอดจีวรไม่ได้หรอก ถ้าอาตมาจะไม่ยอม เพราะอาตมาไม่ผิดอะไร ไม่ได้ผิด พระธรรมวินัย ตามธรรมวินัยแล้วใครก็ไม่มีสิทธิ์จะมาบังคับให้อาตมาถอดจีวรเป็นอันขาด การที่เขาจะถอดเอาจีวรไป หรือเอาเราไปเปลี่ยนชุด เปลี่ยนอะไรต่ออะไร ที่จริง เขาทำผิด ด้วยซ้ำไป แต่เราก็ยอมเพื่อความสงบไม่วุ่นวายในสังคม เราก็ไม่มีปัญหาอะไร อยู่ที่เราจะยึดถือ หรือไม่ก็เท่านั้นเอง ถ้าเราไม่ยึดถือ เราก็เปลี่ยนแปลงได้ อย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว เพราะฉะนั้น เราก็หมุนเวียนกลับมาใส่จีวรอย่างเก่า คนที่เข้าใจก็ไม่มีปัญหาอะไร นี่อาตมา ยกตัวอย่างอันนี้ให้เห็นชัดเจนว่าอาตมาไม่ได้ผิดนะ แต่อาตมาก็ยอมได้ ไม่เสียหายอะไรหรอก เพราะถ้าเราเห็นความเสียหายของคนส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น เราก็ยอมซะ อย่างนี้มันก็ดำเนินไปได้ เพราะฉะนั้นอันนี้ถ้าไม่เรียนรู้อัตตา ไม่เรียนรู้การยึดดีถือดี ไม่รู้จักมานะที่แท้จริง นี่มันก็เป็น อย่างที่มันเป็น สังคมไหนก็แล้วแต่มันจะเกิดให้เห็นได้



สรุปว่าคนดีถ้าไม่ปฏิบัติธรรมเพื่อลดละกิเลส คนดีก็อาจจะเป็นตัวสร้างปัญหาของสังคม ได้เหมือนกันใช่ไหมคะ

ใช่ ทั้งคนดี และคนชั่วต่างก็สร้างปัญหาสังคมได้ คนดีก็สร้างปัญหาอย่างที่กำลังเป็นปัญหา อยู่ในสังคม ถ้าไม่รู้จักการจัดสัดส่วน หากว่าเรารู้จักศิลปวิธีในการที่จะจัดสรรอะไร ให้มันดู เป็นไปได้ด้วยดี ยอมเสียบ้าง เสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ เราก็ต้องทำยอมเสียอะไรบ้าง ไม่ใช่เราจะไม่ยอมเสียเลย ไม่ยอมเสียหน้า ไม่ยอมให้ใครตำหนิได้ ไม่ยอมยืดหยุ่นอะไรเลย อย่างนี้มันไม่ได้



ตอนนี้มีกระแสข่าวในเชิง พระไม่ควรยุ่งเรื่องการเมือง อยากทราบว่าการเมืองแบบของอโศก เป็นอย่างไรคะ

การเมืองของอโศกไม่ใช่อย่างที่โลกทั้งโลกขณะนี้เข้าใจ การเมืองของอโศก เป็นการเมืองแบบ บุญนิยม มีมโนทัศน์อย่างไร มีวิสัยทัศน์อย่างไร แม้แต่ชาวอโศกเองแท้ๆในปัจจุบันนี้ ก็ยังมี ความเข้าใจในเรื่องนี้ไม่ลึกละเอียดพอ เพราะฉะนั้นข้างนอกยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไม่เข้าใจหรอก เพราะว่าการเมืองทุกวันนี้ เข้าใจไปทั่วโลกแล้วว่า เป็นเรื่องของอำนาจ เป็นโลกธรรมที่รุนแรง จัดจ้าน เป็นเรื่องเลอะเทอะ เป็นเรื่องทุจริต เป็นเรื่องโกง เป็นเรื่องใช้เหลี่ยมคู เป็นเรื่องอะไร ต่ออะไร ซึ่งเขี้ยวมาก แรงมาก เพราะฉะนั้นเมื่อธรรมะเป็นเรื่องสุภาพ ธรรมะไม่ใช่เรื่องต่อตี ต่อต้าน หรือว่ารุนแรงอะไรกับใครเขา มีแต่จะเสียท่า ถ้าขืนไปทำกับการเมืองแบบที่เป็นอยู่ ในโลกปัจจุบันนี้ ซึ่งไม่ใช่การเมืองแบบ"บุญนิยม" หรือแบบโลกุตระ เขาจึงตัดปัญหา แม้ที่สุด ถึงขนาดออกกฎหมาย มากั้นไว้ว่า ศาสนาอย่าไปยุ่งกับการเมือง ก็เลยเป็นที่เข้าใจกัน อย่างนั้นมา เด็กกี่รุ่นๆ เด็กรุ่นหลังๆมา ก็เข้าใจอย่างนี้ คนเก่าๆก็เข้าใจอย่างนี้ เพราะฉะนั้น concept [ความคิด] ในเรื่องการเมืองของพวกเขา จึงยังรู้แต่การเมืองแบบโลกีย์ แบบทุนนิยม แบบอำนาจนิยม ซึ่งเป็น concept อย่างเก่าๆเดิมๆ ผู้ยังมี concept เป็นการเมืองอย่างนี้ ก็เป็นธรรมดา ที่จะต้องคิดยังงี้ เขาก็ไม่ผิดที่ไม่ให้พระยุ่งการเมือง เพราะเขายังไม่มี concept ในเรื่องการเมืองแบบบุญนิยม หรือแบบโลกุตระ การเมืองแบบบุญนิยมหรือแบบโลกุตระ คนละ concept คนละมโนทัศน์กับ การเมืองแบบทุนนิยมหรือแบบโลกีย์ ดังนี้ วิสัยทัศน์ก็ต่างกันด้วย เช่น การเมืองแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเห็นว่า การหาเสียงคือประชาธิปไตย แต่บุญนิยม จะไม่หาเสียง เพราะถือว่า การหาเสียงยังไม่ใช่ประชาธิปไตยแท้ และหรือผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง ให้ไปเป็น ตัวแทนรับใช้ประชาชนจะไม่รับรายได้ใดๆ จะทำงานให้สังคมอย่างเสียสละจริง เป็นคน ของประชาชน ส่วนกลางจะเลี้ยงไว้ หรือประชาชนเองนั่นเองจะเลี้ยงไว้จริง ถ้าทำไม่ดี ประชาชนก็คว่ำบาตร และปลดออกไปได้เลย ดังนี้ เป็นวิสัยทัศน์ที่ยังไกล ที่การเมืองแบบโลกีย์ แบบทุนนิยมจะไม่คิด แม้คิดก็ทำไม่ได้ การเมืองแบบอโศกทำคนละอย่างกับการเมือง ที่เป็นกันอยู่ ในทุกวันนี้ทำอย่างโลกุตระ ต้องเป็นบุญนิยม



ขอบเขตแค่ไหนที่พระยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้ และแค่ไหนที่พระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

แค่ไหนที่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แค่ตามกฎหมายนั่นหนึ่ง สอง ต้องรู้ว่าสภาพของเราจะไป พัวพัน จนกระทั่งกลายเป็นตัวเองต้องไปรับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่ หรือไปทำกิจของการเมือง ไปทำกิจของสังคมเข้าไปเลย อันนั้นผู้ที่เป็นนักบวชและสมณะจะต้องรู้ว่า เราจะต้องไม่ให้ ตัวเราเองไปปฏิบัติอย่างไร ประพฤติอย่างไร ที่เชื่อว่าลักษณะนี้ คือการเมือง เราเองเราไม่ได้ ไปทำแน่นอน เพราะเราเองไม่ได้มีหน้าที่ เราเป็นนักบวช เราต้องไม่เข้าไปรับตำแหน่ง แต่ถ้าเข้าใจการเมืองดีแล้ว การเมืองก็คืองานของมนุษย์ เป็นการทำงานกับคนในสังคม ช่วยเหลือสงเคราะห์ให้ผู้คนอยู่ดีอย่างถูกวิธี ขาดเหลือทุกข์ร้อนอะไรก็ช่วยกันสอนเขา แนะนำเขา ให้มีการแบ่งปัน แจกจ่ายช่วยเหลือเกื้อกูลกันอะไรต่างๆนานา นี่คืองานการเมือง จริงๆ งานที่ทำกับสังคมเพื่อให้เป็นมวลที่ดีให้เป็นหมู่กลุ่มชุมชนที่ดี เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกัน อย่างดี กิน อยู่ หลับ นอน อย่างมีศิลปะวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิตที่ดี ก็คือเรื่องการเมือง นั่นแหละ สรุปแล้วการเมืองก็คือการช่วยให้เกิดการเป็นอยู่ที่เป็นสังคม เป็นรัฐ เป็นประเทศ เป็นมนุษยชาติที่ต่างอยู่เย็นเป็นสุข อุดมสมบูรณ์ดี มันเป็นเนื้อหาหลักๆ โดยมีเป้าหมายอย่างนี้ เพียงแต่ว่าเราทำงานทางศาสนา เราเอาศีลธรรม เอาธรรมะ เอาจริยธรรมมาเป็นหลัก ในการทำงาน กับสังคม เพื่อให้สังคมอยู่ดี ส่วนนักการเมืองเราก็รู้แล้วว่า คือหน้าที่ หรือตำแหน่ง หรือยศ เป็นเรื่องที่เขาไปยึดถือเอาเป็นเอาตาย หรือว่าเอาจริงเอาจัง เอาเป็นหน้าที่ เป็นการงาน หลักๆ ของเขา ซึ่งเราไม่ได้ทำงานรับหน้าที่อย่างนั้น ในด้านของวัตถุ หรือในด้านของสังคม แบบทางโลกเขา เรารับหน้าที่ในด้านคุณธรรม ถ้าเข้าใจอันนี้ไม่ชัดก็แบ่งไม่ได้ ระหว่าง ศาสนากับการเมือง แต่ถ้าเข้าใจชัดก็แบ่งได้ แล้วเราจะรู้ว่าเราเข้าไปร่วมทำงานการเมืองจริงๆ เพียงแต่เราไม่ได้ไปทำงานการเมืองแบบคนอื่น แต่เราทำหน้าที่ไปช่วยคนเมือง ทางด้านธรรมะ หรือจริยธรรม ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ก็ไม่รู้จะอธิบายแบ่งแยกอย่างไรแล้ว


เพราะไม่ศึกษาศาสนาอย่างจริงจัง
และเข้าไม่ถึงนัยะลุ่มลึกของศาสนา
จึงมักมีผู้กล่าวเสมอว่า
ศาสนาไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

แท้ที่จริงแล้ว
ศาสนา คือ ลมหายใจของชีวิต
ศาสนา คือ อันหนึ่งอันเดียวกับชีวิต
เมื่อแบ่งแยกกันเสียแล้ว
ชีวิตและสังคมก็วุ่นวาย สับสน
หาที่จบไม่ได้
เหมือนดังเช่นที่เป็นอยู่
และเช่นที่จะเป็นต่อไป อีกนานเท่านาน...

- สารอโศก อันดับที่ ๒๗๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ -