การศึกษาที่แท้จริงของชีวิต


ในขณะที่ความบานปลายของการศึกษามุ่งไปสู่วิชาหลากหลาย ที่สนองความต้องการ ปรนเปรออารมณ์ และกำลังให้ค่ากับวงการบันเทิง การละเล่น จนล้ำเส้น เยาวชนไทย ยุคนี้ หมดโอกาสสัมผัสกับคุณค่าของ พุทธศาสนา เพราะถูกห้อมล้อมด้วยสื่อ ไร้สาระ มากมาย ซึ่งกลับถูกตีค่าให้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต มันกลับตาลปัตร เสียจนไม่รู้ จะเริ่มต้นฉีกชี้ที่ตรงไหน จึงจะชัดเจน

ทุกชีวิตเกิดมาพร้อมกับการเรียนรู้ และนั่นก็เป็นการศึกษาที่แท้จริงที่สุด การจะได้เรียนรู้ ถึงกิจวัตรประจำวันที่เราทำอยู่ การงานที่เราต้องเกี่ยวข้อง ล้วนเป็นสิ่งที่เราต้องใส่ใจ ศึกษา ให้ชัดเจนว่า เป็นงานที่มีประโยชน์อย่างไรบ้าง จะได้ทำการงานนั้น ให้ถึงจุดเป้าหมาย

งานที่สำคัญที่สุดที่ต้องทำควบคู่กับงานอาชีพ ก็คือ งานดูแลความประพฤติของตนเอง โดยเริ่มจากการฝึกหัดระลึกถึงกิจวัตร หรือพฤติกรรมของตนเองในแต่ละวัน ซึ่งจะมีส่วน ช่วยฝึกฝนความทรงจำให้แม่นยำยิ่งขึ้น ยิ่งหากมีการวิเคราะห์ ทบทวนพฤติกรรมเหล่านั้น เพื่อ ชี้ชัดจุดยืนของตนเอง ก็จะยิ่งได้รู้ถึงจุดก้าวต่อว่า น่าเป็นไปในทิศใด ทั้งหมดนี้ เป็นการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ ที่มีคุณค่าสูงสุดแก่ชีวิต ส่วนการศึกษาถึงเรื่องราว ในอดีตของมนุษยชาติต่างๆ ตามที่มีการจดบันทึก หรือเล่าสืบต่อกันมานั้น เป็นเพียง ข้อมูลไกลตัว แม้นำมาวิเคราะห์ ก็เป็นเพียงร่องรอย ของการฝึกคิดตามบ้าง คิดแย้งบ้าง จากข้อความที่ปรุงแต่งเขียนขึ้น ด้วยเหตุ ปัจจัยทั้งส่วนตัวผู้เขียน, สิ่งแวดล้อม, บรรยากาศ, อารมณ์, ความอคติลำเอียงๆ ฯลฯ นั่นเป็นเพียง เหลี่ยมมุมหนึ่ง ของการ สันนิษฐาน หรือมือสอง มือสามเท่านั้น แม้มีประโยชน์ก็แค่รูปรอย ให้เกิดความอยากรู้ อยากเห็น เกิดชีวิตชีวา เกิดอารมณ์ซาบซึ้ง เกิดความสนุกเพลิดเพลินไปกับ การได้รู้อะไร ต่อมิอะไร ยิ่งหากมีความสามารถจดจำความรู้นั้นได้ ก็ยิ่งเขื่องยิ่งภาคภูมิใจ นับเป็น รสชาติหนึ่งของชีวิตในโลก

แต่ความที่มิได้ศึกษาพฤติกรรมของตนเอง เพื่อการปรับปรุง แก้ไขพัฒนา การดำรงชีวิต ของตนเอง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิต ต้องประจัญกับสิ่งที่ทำให้ตกร่วงจากคุณธรรม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า การศึกษาขั้นพื้นฐานเบื้องต้น จึงคือการศึกษาชีวิต ความเป็นอยู่ ซึ่งย่อมสัมพันธ์ เกี่ยวข้อง กับสิ่งต่างๆรอบตัว ทั้งธรรมชาติ สังคม หมู่ชน และบุคคล ทำอย่างไร จะอยู่ด้วยกัน อย่างไม่เห็นแก่ตัว บำเรอตนด้วยความฟุ้งเฟ้อ และสร้างค่านิยม ที่ทำให้เกิดการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น

 

การเรียนรู้จากตำราเป็นส่วนหนึ่ง ดังที่กล่าวมาแล้วว่า เป็นรูปรอย หรือสิ่งนำร่อง ให้ขบคิด เข้าประเด็น ทำให้เกิดปัญญารู้ความเหมาะควร รู้กาลเทศะ รู้แม้การจัดสรร ตนเอง ให้มีสาระประโยชน์อย่างแท้จริง แต่แม้รู้ทฤษฎีหลักการแล้ว กองไว้ประดับประดา เป็นเครื่องอลังการเท่านั้น นั่นก็มิใช่ทั้งหมดของการศึกษา เพราะภาคปฏิบัติในสิ่งที่รู้นั้น ต่างหาก คือตัวก่อเกิดการศึกษา เป็นตำราชีวิต

ถึงแม้จะปราศจากการศึกษาวิชาการใดๆทางโลกเลย การศึกษาความจริงที่ปรากฏอยู่ ตลอดเวลา ก็ย่อมเกิดปัญญา จัดสรร ความลงตัวแก่ชีวิตได้เช่นกัน และเป็นการศึกษา เรียนรู้ ที่ไม่ต้องแบกหนักด้วย

การอยู่ตามลำพังส่วนตัวนั้นไม่ได้ศึกษาอะไร นอกจากพักผ่อน และรับสัมผัสทุกขเวทนา ของกายขันธ์เท่านั้น แต่การสัมผัสกับทุกเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ให้เป็นประโยชน์ นั่นแหละ คือ การศึกษาวิชาพุทธศาสนาจริงๆ ที่ต้องเรียนรู้ชีวิตและสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ บทบาทการงานตามที่กำหนด ทำเป็นอาชีพ เมื่อลงมือประกอบอาชีพ จะเห็นผลงาน และที่สำคัญ คือ กว่าจะเป็นผลงานที่ปรากฏคุณค่าชัดเจน ย่อมต้องผ่านการล้มลุก คลุกคลาน ผ่านประสบการณ์ ซึ่งเป็นตำราสำหรับการศึกษา ที่วิเศษสุด แม้ไม่ต้องตั้งใจ ท่องจำ ขีดเขียน หรือ จดจำมาบอกเล่าถึงความรู้เพิ่มเหล่านั้น ก็มิได้หมายความว่า จะไม่ได้ศึกษา หรือรับผลจากการศึกษานั้น เพียงแต่ว่ามิได้เพิ่มพูน สมรรถภาพ ในการกำหนดหมาย เป็นคาถาหรือภาษาข้อความหนึ่งๆ ขึ้น หรือมิได้เขียนเป็นตำรา วิชาการใดๆเท่านั้นเอง ซึ่งการพูดกล่าว และการขีดเขียนนั้น คือ การหยิบยกขึ้นปรุงแต่ง เพื่อการรับรู้ร่วมของผู้ฟังผู้อ่าน แต่การจัดการกับบทบาทของชีวิต ให้เกิดประโยชน์สูง ประหยัดสุดนี้ เป็นการปฏิบัติธรรมใบไม้กำมือเดียวในพุทธศาสนา และนี่คือการศึกษา เบื้องต้น ของมนุษย์ทุกคน

- คิดดี -

- สารอโศก อันดับที่ ๒๗๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ -