ตอน... รู้คุณ เห็นค่า ร่วมบูรณาการสังคม


พฤษภาคม ๒๕๔๗

สืบสานธารน้ำใจ รู้คุณ เห็นค่า กวีศรีอยุธยา อังคาร กัลยาณพงศ์ การจัดงานที่สันติอโศก เพื่อหาเงินช่วยเหลือ ศิลปินแห่งชาติ อังคาร กัลยาณพงศ์ และภรรยาซึ่งเจ็บป่วย บรรยากาศ ในงานวันนั้น ๒ พ.ค. เป็นอย่างไร มีใครมาร่วมงานบ้าง ในการร่วมเสวนา กับอาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และท่านอังคาร พ่อท่านมองคุณค่าในงานของท่านอังคาร เป็นอย่างไร ปิดท้ายด้วยศิลปะ ในงานที่พ่อท่านทำ เป็นอย่างไร

วิตามินแซดสำหรับชาวอโศก คำว่าวิตามินแซดเป็นสำนวนของสมณะบินบน ถิรจิตโต หมายถึง คำตำหนิติเตียน หรือขุมทรัพย์ ที่ได้รับ จากหนังสือที่คุณอรุณ เวชสุวรรณ นักเขียนที่มีผลงานกว่า ๒๐ เล่ม คุณอรุณ ได้ส่งหนังสือของตน มาให้พ่อท่าน โดยวิพากษ์ วิจารณ์ และได้สรุปข้อดี และ ข้อไม่ดีของพ่อท่านว่าอย่างไร รู้เขารู้เรา ไม่เสียหลายนะ

พัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ สังคมอย่างบูรณาการเป็นอย่างไร ในงานมหกรรมกู้ดินฟ้าครั้งที่ ๑ ที่หินผาฟ้าน้ำ จ.ชัยภูมิ พ่อท่านได้แสดงธรรม หลังจากท่านปลัดจังหวัด ได้ให้เกียรติ กล่าวเปิดงาน โดยยกเอา คำกล่าว ของท่านปลัดจังหวัด มาอธิบายต่อ ประเด็นเรื่อง บูรณาการเศรษฐกิจและสังคม แล้วแถมต่อด้วยการเมือง เล็กน้อย มีอะไรที่น่าสนใจ เชิญพลิกไปอ่านได้

"คืนสู่เหย้า เข้าคืนถ้ำ สัมมาสิกขา" ครั้งที่ ๒ งานรวมศิษย์เก่าสัมมาสิกขาปีนี้ มีผู้มาร่วมงาน น้อยกว่า ปีที่ผ่านมา เพราะอะไร พ่อท่านเทศน์ให้ข้อคิดกับบรรดาศิษย์เก่าฯ ที่มาร่วมงาน เรื่องมรดก ของชาวอโศก เป็นอย่างไร อีกประเด็นหนึ่ง เงินกงสีของทุนนิยม มีผลเสื่อม เป็นอย่างไร และเงินกงสีของบุญนิยม จะเจริญขึ้นอย่างไร

งานเพื่อฟ้าดิน ครั้งที่ ๑๖ เป็นทั้งงานต่อยอดเกษตรกรที่ผ่านการอบรมหลักสูตร สัจธรรมชีวิต แล้ว และกระตุ้นพนักงาน ธ.ก.ส. รวมถึงชาวอโศกเอง ให้เห็นความสำคัญ ของงานกสิกรรมไร้สารพิษ ช่วงงานพ่อท่าน ทำอะไรบ้าง สำหรับผู้สนใจ รายละเอียด ที่พ่อท่านเทศน์ หรือรายการต่างๆ นั้นติดต่อได้ที่ ฝ่ายเผยแพร่เท็ป

สัมมาทิฐิมีแต่ผู้ที่มีโลกุตรผลเท่านั้น เป็นประเด็นการสนทนาธรรมตามประสาศิษย์ กับอาจารย์ โดยมีสมณะร่มเมือง ยุทธวโร เป็นผู้เปิดประเด็น สนทนา ภาษาอาจจะยาก สำหรับผู้ไม่เคยศึกษาเลย แต่ผู้ที่สนใจใฝ่รู้จะได้ประโยชน์

ช่วงปลายเดือน มีประเด็นเกี่ยวกับพืช GMO และเรื่องที่นายกฯทักษิณจะออกหวย เพื่อนำเงิน ไปซื้อหุ้น สโมสรฟุตบอล ในอังกฤษ ทำให้พ่อท่าน ถึงกับต้องเขียนจดหมาย ปิดผนึกถึงนายกฯ โดยฝากให้ รัฐมนตรี สุดารัตน์ ช่วยนำไปให้ (๒๘ พ.ค.) ระหว่าง ที่ยังไม่รู้ว่า จดหมายที่ฝากส่งไป ถึงมือหรือยัง ท่านนายกฯ มีท่าทีอย่างไร กับจดหมาย ฉบับนั้น พ่อท่านได้นำมาเป็น ประเด็น การเทศน์ ในวันอาทิตย์ ๓๐ พ.ค. ผู้สนใจ ติดตามได้ จากฝ่ายเผยแพร่เท็ป ในที่นี้ขอข้ามผ่าน

สุดท้ายเป็นข้อคิดที่พ่อท่านได้ให้กับคณะที่มาเข้าค่ายสุขภาพ ๗ อ. ที่สันติอโศก
๒๐ พ.ค. พ่อท่านฝากข้อคิดใด ที่แม้ผู้มีสุขภาพ ๗ อ. ดีก็ควรสนใจ รีบพลิกไปอ่านท้าย ฉบับได้



# # # สืบสานธารน้ำใจ รู้คุณ เห็นค่า กวีศรีอยุธยา อังคาร กัลยาณพงศ์
๒ พ.ค. ๒๕๔๗ ที่สันติอโศก ก่อนพ่อท่านจะฉันเสร็จ ได้ข่าวว่าท่านอังคารมาถึงแล้ว เสร็จจาก ทำธุระเข้าห้องน้ำแล้ว เดินไปพบท่านอังคาร ที่เต็นท์รับรอง เดินผ่านบริเวณ ที่แจกอาหาร คนเยอะมาก ขณะที่อากาศ ครึ้มฝน และร้อนอ้าวมาก

๐๙.๒๙ น. พบท่านอังคารที่เต็นท์อาหาร มีหมอชินโอสถ หัสบำเรอ ร่วมนั่งคุยด้วย และ มีลูกสาว ของท่านอังคาร นั่งร่วมด้วย นั่งคุยกันอยู่สักครู่ หมออารีย์ได้มากราบพ่อท่าน ข้าพเจ้าได้บันทึกเสียงไว้ เผื่อว่า จะได้ใช้ แต่เสียงของลำโพง จากรายการ ที่เวทีดังมาก ทำให้การบันทึกเสียงการสนทนา อาจฟังลำบาก คุยกันอยู่ที่ตรงโต๊ะนั้น ต่อมา พลตรี จำลอง ได้เข้ามาร่วมวงด้วย

ครู่ต่อมาได้รับเชิญให้ขึ้นไปนั่งข้างเวทีแสดงที่ได้จัดเตรียมให้ เพื่อที่พ่อท่านจะได้แจก ของชำร่วย กับนักร้องที่มา ได้สะดวก ต่อมามี อาจารย์ ศิวกานท์ ปทุมสูติ นั่งคุยกับ ท่านอังคาร

ท่านอังคารคุยกับหมอชินโอสถก่อนที่หมอชินฯ จะขึ้นสีไวโอลิน ขณะที่เวทีมีการแสดง ของวงวัยรุ่น "โอเว่อร์ โด๊ซ" ข้าพเจ้าไม่รู้ เหมือนกันว่า มาจากสายไหน นักร้องร้องเพลง ของพ่อท่านด้วย เข้าใจว่าคุณวิชาญ คงติดต่อ หรือรู้จักชวนมา แต่วง I-Zax ไม่ได้มาร่วมงาน วันนี้

ก่อนหมอชินโอสถจะขึ้นสีไวโอลิน พ่อท่านเห็นครูแจ้ง คล้ายสีทองและครูสุดจิตร ดุริยประณีต มาถึง ทำให้พ่อท่านได้คิดว่า ตั้งใจจะให้ครูแจ้ง ขับเสภาจากเนื้อเพลง "จงดิ้นให้แร้งดู" พ่อท่านจึงขึ้นไปที่ห้องทำงาน เพื่อเอาเนื้อเพลงมาให้ กลับมาไม่ได้ฟัง หมอชินโอสถ ซึ่งสีไวโอลินเสร็จแล้วก็ลากลับ ครูสุดจิตรสวมชุดสีขาว นั่งอยู่ด้านหลัง พ่อท่าน ครูแจ้งนั่งอยู่ด้านซ้าย ของพ่อท่าน กำลังคุย อยู่กับใครอีกคนเราไม่รู้จัก

ขณะเดียวกันนั้นอีกด้านหนึ่งของพ่อท่าน คุณชินกร ไกรลาศ ได้มานั่งอยู่ด้านหลัง ท่านอังคาร โดยมีอาจารย์ขวัญดี พูดคุยด้วย ขณะที่นักร้องวัยรุ่น น้องซิน และน้องทราย กำลังร้องเพลง อยู่ที่เวที ซึ่งต่อมา เมื่อร้องเสร็จแล้ว ก็มารับของชำร่วยที่พ่อท่าน

ประมาณ ๑๐.๕๗ น. พ่อท่านอ่านเนื้อเพลง "จงดิ้นให้แร้งดู"ให้กับครูแจ้ง ซึ่งพ่อท่าน บอกครูแจ้ง ร้องเป็นทำนองอะไร เราลืมแล้ว

ในทำนองเดียวกันพ่อท่านได้อ่านให้อาจารย์สุดจิตรด้วย ห่างกันประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ดูเหมือน อาจารย์สุดจิตร ไม่ได้นำไปร้อง ไปร้องทำนองเสนาะ จากบทกวี ของท่านอังคาร

ก่อนเที่ยงฝนตกอย่างหนัก เวทีที่ใช้แสดงถูกละอองฝนสาด ฝ่ายเสียงต้องใช้พลาสติก คลุมเครื่องเสียง แม้ที่พ่อท่าน และท่านอังคารนั่งอยู่ ก็ถูกฝนสาด เราเองก็ถูกละอองฝน เปียกมา ทางด้านหลัง ต้องใช้ร่มกาง เพื่อป้องกันละอองฝน การแสดง และร้องดนตรีไทย ต้องย้ายลงไปอยู่ด้านล่างร่วมกับคนฟัง

คุณทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ได้มาถึงประมาณบ่ายโมง หลังจากกราบนมัสการพ่อท่าน แล้วลงไปนั่งชม การแสดงอยู่ข้างล่าง

คุณเปียทิพย์ คุ้มวงค์และลูกสาวได้มาถึง กราบนมัสการแล้วขอถ่ายภาพร่วมกับ พ่อท่าน โดยมีคุณใจดาว ที่รู้จักกันกับ คุณเปียทิพย์ ร่วมด้วย

ประมาณ ๑๓.๓๕ น. คุณสุวัจชัย สุทธิมา นักร้องและนักแสดงเดินทางมาถึง ได้มา นมัสการ พ่อท่าน

วงคีตาญชลีร้องเสร็จในช่วงแรก ประมาณ ๑๔.๐๗ น. ได้มากราบและรับของชำร่วย

นักร้องวัยรุ่นอีกคนเราไม่รู้จัก ทำผมย้อมเป็นรูปคล้ายเขาที่หัว หลังเสร็จการร้องแล้ว ได้มากราบ นมัสการพ่อท่าน

พิธีกรหญิง คุณอัญชลี ไพรีรัก หลังเสร็จการร่วมช่วยเป็นพิธีกร ได้ช่วงหนึ่งแล้ว ได้มานมัสการลา และสนทนา ซักถามเรื่อง การปฏิบัติ เป็นพักใหญ่ ดูเธอสนใจจริงๆ

คุณเปียทิพย์ คุ้มวงค์ ได้ร้องเพลงฟ้าต่ำแผ่นดินสูงด้วย ร้องแล้วมายืนด้านหน้า ที่พ่อท่าน นั่งอยู่เป็นพักใหญ่ เรารู้สึกว่า ไม่ค่อยเหมาะ อย่างไรก็บอกไม่ถูก เพราะเพลงเป็นเหมือน เพลงรัก แล้วมาร้อง และยืนอย่างนี้ ดูยังไงอยู่นะ แต่เห็นเลยว่า ศิลปินนี่ ทำได้ทุกอย่าง เขากล้าแสดงออกจริงๆ

หนุ่มอีกคนได้มากราบลา พ่อท่านแจกของชำร่วยให้ไป เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร หรือ อาจเป็น ฝ่ายข่าวก็ไม่รู้แน่

คุณทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ได้ร้องสองเพลง พ่อท่านเย้าว่าเป็นเพลงหากิน เพราะได้ยิน คุณทินวัฒน์ ร้องบ่อย ไม่ค่อยเห็น ร้องเพลงอื่น ร้องเสร็จได้มากราบนมัสการลา

คุณสุทธินันท์ จันทระ ได้มาถึงเอาเมื่อใกล้บ่ายสามโมงแล้ว

คุณสุวัจชัย หลังจากร้องเสร็จได้มากราบลา คราวนี้ใช้มือจับเข่าพ่อท่าน อย่างสนิทสนม พูดอะไรเราไม่ได้ยิน

อาซ้อที่คุณวิชาญเรียกหรือคุณนันทนา ภรรยาของคุณอภิชาติเจ้าของบริษัท APS ที่จำหน่าย ซีดี และรับ จะออกทุน ในการทำหนังธรรมะ ให้พล.ต.จำลองแสดง ได้มาและนำเงิน มอบให้ ท่านอังคาร เป็นซองแดงๆ อย่างกับซองอั่งเปา เราเหลือบไปเห็นตัวเลข เป็นเงินถึง ๕๐,๐๐๐ บาท ขณะที่คุณทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล ร้องเสร็จแล้ว และมากราบ พ่อท่าน พอดีกัน

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้มาถึงประมาณ ๑๕.๐๕ น. เข้ามาทักทายและนั่งลง เราถ่ายภาพไม่ทัน ตามด้วยคุณพีระพงษ์ ถนอมพงษ์พันธ์ อดีตส.ส.ของพรรคพลังธรรม ตอนนี้จะลงสมัครเป็นผู้ว่ากทม. ได้มากราบ นมัสการพ่อท่าน และบอกเล่า ถึงเหตุที่ต้อง ลงสมัคร หลังจากที่หยุดเรื่องการเมืองมานาน

คุณทอดด์ ทองดีมาถึงเมื่อไหร่เราไม่ทันเห็น แต่ได้มาร่วมนั่งอยู่กับท่านอังคาร และอาจารย์ สุลักษณ์ ขณะที่มีศิลปิน ทราบชื่อภายหลังว่า คุณวสันต์ สิทธิเขต ได้มาวาดภาพ ท่านอังคาร ในขณะนั่งคุย ร่วมกับอาจารย์สุลักษณ์

ภาพนี้น่าถ่ายไว้เพื่อความเป็นประวัติศาสตร์ ที่มีผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน ได้มาอยู่ร่วมกัน ทั้ง พลตรีจำลอง พ่อท่าน อาจารย์ สุลักษณ์ ท่านอังคาร ต่อมาคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้มาร่วมนั่งใกล้ๆ ท่านอังคาร โดยมีนักข่าว หนังสือพิมพ์อะไรไม่ทราบ ขอสัมภาษณ์ ทั้งอาจารย์สุลักษณ์ และท่านอังคาร กำลังให้สัมภาษณ์ ท่าทีจะพอใจมีสีหน้ายิ้มแย้ม

กว่ารายการจะเริ่มก็เป็นเวลาเกือบ ๑๖.๓๐ น. มีอาจารย์ขวัญดีเป็น ผู้ดำเนินรายการ ผู้สนใจ การเสวนา ตลอดรายการ ติดต่อได้ที่ ฝ่ายเผยแพร่ ในที่นี้ข้าพเจ้าขอนำบางส่วน ที่พ่อท่านได้กล่าว มาถ่ายทอดดังนี้

"ขอยืนยันว่ามนุษย์นี่ถ้าไร้ศิลปะเสียแล้วนี่ บรรลัยๆ ต่อให้มีความรู้ ความสามารถ เยี่ยมยอด ขนาดไหน ก็บรรลัย อาตมาจึงเห็น ความสำคัญ ของศิลปะอย่างยิ่ง ศิลปะ มีอยู่ตลอด ไม่ใช่มีอยู่แค่เราเห็น ทุกวันนี้นี่ มันไม่ใช่ศิลปะนา มันเป็นอะไร ที่ออกนอกรีต นอกรอยของ ความเป็นศิลปะไปแล้ว เพราะถูกปฏิรูป ถูกปนปรุง กลายเป็น ผลผลิต ที่ไม่มีคุณค่า ไม่มีสภาพที่เรียกได้ว่า "ศิลปะ" กันแล้ว แต่ก็ยังหลอกกันว่า นี่คืองานศิลปะ กันอยู่ มันกลายเป็นของหลอก เป็นเครื่องมอมเมา เป็นงานยั่วกิเลส ไปเสียแล้ว ท่วมเมือง ท่วมโลก

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ศิลปะเป็นมงคลอันอุดม มงคลอันอุดมคืออะไร คือสิ่งที่นำพาไปสู่ ความประเสริฐสูงสุด มงคลคือ สิ่งที่นำพาไปสู่ ความประเสริฐ อุดมคือสูงสุด ฉะนั้น ศิลปะ นี่แหละ มนุษย์ต้องมี ถ้ามนุษย์ ขาดศิลปะเสียแล้ว ก็ไม่พาไปสู่ ความสูง ความเจริญ ได้อย่างแท้จริงแน่นอน

ผู้ใดที่ใช้ศิลปะทำงานในชีวิต ศิลปะต้องเป็นประโยชน์ ศิลปะไม่ใช่งานบำเรอกิเลส บำเรอกาม บำเรออัตตา ที่ว่าเป็นอัตตานั้น ก็หมายความว่า งานศิลปะที่ชื่อว่าศิลปะแท้ ไม่ใช่งานที่จะสนองความโลภ ความโกรธ ของตน หรือไม่ใช่งานที่สนองอารมณ์ ของตน และงานศิลปะแท้นั้น มีอยู่ ๕ แขนง เดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่ามีกี่แขนง อะไรๆเขาก็โมเม เป็นศิลปะ หมดเลย พาณิชย์ก็เป็นศิลปะ โฆษณาก็เป็นศิลปะ จริงๆแล้ว ความเป็นศิลปะ มาตรฐาน มันมีแค่ ๕ ไม่ว่าจะเป็นแขนงไหนๆ ก็ตาม ในงานศิลปะนี่ ไม่ใช่สิ่ง บำเรออัตตา ยกตัวอย่าง เช่นงานเขียนภาพก็ดี เอาง่ายๆ คนที่เขียนภาพแล้ว ก็รู้สึกว่าแหม มัน....มันๆๆ แล้วภาพนั้น ดูแล้ว รู้เรื่องไหม ไม่รู้ ตัวเองมัน จะมันด้วยลักษณะไหนก็ตามแต่ ที่เป็นอุปาทานของตัวเอง ในภพของตัวเอง ตั้งไว้ จะต้องงามด้วยสี จะต้องมันด้วยลีลา จะต้องมันด้วยทริค อะไรก็ตาม แท้จริงมันบำเรอใจตัวเอง สมใจที่ข้าได้เขียนได้วาด ได้แสดงออก แต่ให้ชี้สาระ ของภาพ มีจุดมุ่งหมายจะให้สื่ออะไรแก่ผู้คน ก็ตอบไม่ได้ หรือแม้ได้ แต่ก็ยังมีลักษณะ ส่อให้เกิด การยั่วยุกิเลส ดึงดูดอารมณ์ ให้หลงติด อย่างนี้แหล ะคืองานบำเรอกาม บำเรออัตตา มันไม่ใช่ศิลปะ บ้างก็เป็นแค่การระบายอารมณ์ ของคนผู้ทำงานนั้น หรือไม่งานนั้น ก็เป็นเครื่องมอมเมาผู้คน ให้หลงติดในกามในอัตตา จึงไม่ใช่ศิลปะเลย มันเป็นเพียง เครื่องก่อกิเลส ชนิดหนึ่ง เท่านั้นเอง โดยอาศัยความรู้ในเชิงช่างเชิงฝีมือ จะเป็นฝีมือในด้านปั้น ในด้านวาด ในด้านการประพันธ์ ในด้านสถาปัตย์ หรือ ในด้าน การแสดง เพลงดนตรีอะไรก็ตาม จึงกลายเป็นของหลอก เป็นเรื่องมอมเมา อย่างหนักหนา สาหัส ในทุกวันนี้

ศิลปะประกอบไปด้วยแกนสองแกนหลัก ๑. ต้องมีสาระ ๒. ต้องมีสุนทรีย์ ถ้าเผื่อมีแต่สาระ ไม่มีสุนทรีย์ เขาก็ไม่เรียกศิลปะหรอก เขาเรียก สารคดีไง หรือมีแต่สุนทรีย์ แต่ไม่มีสาระเลย เขาก็ไม่เรียกศิลปะ ยิ่งมีแต่สุนทรีย์คือ มีแต่สิ่งที่ชวนดูชวนชม และไอ้ที่นำมาประกอบ ในงานเพื่อเรียกร้อง ให้ชวนดูชวนชม หรือทำสุนทรีย์ ให้จัดจ้านนั่นเอง และคนก็รู้แสนรู้ ที่จะหาสิ่งยั่วกิเลส มาใส่ประกอบลงไปในงาน งานเช่นนี้แหละคือ งานอนาจารแท้ๆ จะอนาจาร มากหรือน้อย ก็ตัดสินตามที่งานนั้น มันเกิดผล ยั่วกิเลสคนได้มาก ก็อนาจาร มาก ยั่วกิเลสคนได้น้อย ก็อนาจารน้อย

ผู้ใดจะสร้างสื่ออะไรออกไป โดยมีสภาพสุนทรีย์ประกอบในงาน ที่เป็นประโยชน์นั้นๆ สุนทรีย์ คือสภาพที่ชี้ชวน ให้คนมาสนใจ ชี้ชวนให้คนมาชม มารับรู้ดูเห็น ความสุนทรีย์ จึงต้องมีในงานที่เรียกว่า "ศิลปะ" ถ้าไม่มี ก็ไม่เรียกงานศิลป์ ถ้าเผื่อว่าสุนทรีย์นี่ ไปเอาเรื่อง ของกาม ไปเอาเรื่องของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มาใส่เข้าไป จนกระทั่ง ดูสาระไม่ออกเลย เช่น ภาพแอ็บสแทรค ทุกวันนี้นี่ บางทีคนเขียน ยังไม่รู้ว่าคืออะไร อาตมาเคยเศร้าใจ อยู่ครั้งหนึ่ง ที่ศิลปากร ตัดสินภาพเขียนเหรียญทอง เสร็จแล้ว ก็มีผู้สัมภาษณ์ ผู้ได้รับ เหรียญทองนั้น ถามว่า ภาพของท่านนี่ มีความหมายอะไร ผู้เขียนภาพ ชนะเหรียญทอง ก็ตอบว่า ผมก็ไม่รู้เลยครับ ผมก็เขียนไปตามอารมณ์ แหม ! อาตมาเศร้าใจจริงๆ ศิลปิน งานที่ตัวเองทำนี่ บอกว่า ผมก็ไม่รู้เลยครับ ผมเขียน ตามใจผม นี่คืองานบำเรออัตตา ตัวเองเท่านั้น แล้วตัวเอง ก็ไม่รู้ว่า สื่ออะไร ให้สาระอะไรก็ไม่รู้ ผู้สร้างงานเอง ยังไม่รู้สาระ ของงานของตน แล้วผลที่เกิด แก่ผู้รับชม รับสัมผัส จะเป็นสาระได้แค่ไหน อย่างไร

อาตมาขอยืนยันว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องมี และศิลปะเป็นสิ่งที่จรรโลงชีวิตมนุษย์ ให้ประเสริฐได้ ถ้าไม่มีศิลปะ สังคมก็บรรลัย มีความรู้ มีสาระ มีอะไร เก่งขนาดไหน ก็บรรลัย ถ้าไม่มีศิลปะ และยิ่งกว่านั้น ถ้าเป็นอนาจาร ดังที่ได้อธิบายมา ผู้สร้างงาน จะมีความรู้ มีความเก่งขนาดไหน ก็บรรลัยยิ่งกว่า ดังที่สังคม นับวัน บรรลัยมาเรื่อยๆ ถึงวันนี้ ก็กำลังจะกลียุคแล้ว"

และจากบางส่วนที่พ่อท่านได้มองคุณค่าในงานของท่านอังคารดังนี้

"งานของท่านอังคารนี่ เป็นงานที่พยายามที่จะใส่สาระ ดึงเข้ามาให้ถึงจุดลึก ลึกจนคน เข้าใจยาก แต่อาตมาว่า ถ้าไม่มีคน ทำเอาไว้ อย่างนี้แล้ว โลกก็สิ้นแล้วหมด อาตมาก็ยัง แปลกใจอยู่อย่างหนึ่งว่า ท่านอังคาร ได้รับรางวัลอย่างไร เพราะธรรมดาแล้ว คนที่ทำงาน ได้สูง เข้าไปถึงขั้นศิลปะ ทางนามธรรมลึกซึ้ง ขั้นอภิญญา ขนาดนี้นี่ พูดก็พูดเถอะ ไม่ค่อยได้รับรางวัลหรอก เพราะเขา เข้าไม่ถึง กรรมการไม่รู้เรื่อง ไม่เชื่อว่า เขาจะเข้าถึง ได้จริงๆ อาตมาพูดอย่างนี้ เหมือนจะไปลบหลู่กรรมการ ที่ตัดสิน แต่ก็พิสูจน์ว่า ทุกวันนี้ ยังเหลือ กรรมการ ที่มีภูมิทางนามธรรมลึกซึ้ง ขั้นอภิญญาอยู่

ถึงอย่างไรงานของท่านอังคารก็มีคุณค่าจริงๆ และท่านอังคารนี้ก็มีความสามารถ ที่จะได้รับรางวัลนั้น จริงด้วย อันนี้อาตมาพูด ในฐานะ อาตมาเป็นนักศาสนา แล้วก็รู้จัก วัฏสงสาร รู้จักการเวียนว่าย ตายเกิด อาตมาเชื่อว่า ท่านเป็นกวีมา ตั้งแต่ไม่ใช่ สายเลือด แต่สืบทอดวิญญาณมา จนถึงชาตินี้ บางอย่าง ที่ท่านอังคารทำนี่ แต่ละภาษา แต่ละเรื่อง ความแต่ละความนี่ ผู้ที่เขียนกวีด้วยกัน จะรู้ดี ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะยากที่จะเห็นคุณค่า อย่างกวีของ ศรีปราชญ์ ของนรินทร์ คนสมัยนี้อ่าน อาตมาว่า คงเข้าใจถึงอรรถะ และ รสของกวี กันได้น้อย

ฉะนั้นผู้ที่จะอ่านพวกนี้ออกอรรถรส แล้วก็ได้รับสาระประทับใจ หรือบันดาลใจ อะไรขึ้นมา จนเกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนาชีวิต ของตนๆ จึงยากแล้ว ศิลปะนี่ จะมีประโยชน์ หรือ มีคุณค่าก็ตรงที่ สัมผัสแล้ว เกิดบันดาลใจ ให้คนนั้นเปลี่ยนแปลง ไปในทางเจริญ ไปในทางประเสริฐได้ นั่นคือ คุณค่าวิเศษ ของงานศิลปะ พระพุทธเจ้า จึงตรัสว่า ศิลปะ เป็นมงคลอันอุดม

คนที่เกิดมายุคนี้ เป็นศิลปินจริงๆ นี่นา ขอยืนยันว่า "จน" จนแน่นอน เพราะว่าไม่ไป เอาใจมนุษย์ ไม่ปรุงแต่งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือโลกธรรม มาประกอบใส่งาน เอาใจคนให้มาก จนกลายเป็น จัดจ้าน หรือ กลายเป็น มีน้ำหนักมอมเมาคนไป แต่กลับ จะจี้เข้าไปที่สาระ อันควรติงติให้รู้สึกตัวกัน กระตุกต่อม อันน่าละอายต่อบาป ต่อชั่วกัน ให้ทันเวลา งานของศิลปินแท้ จึงบาดหัวใจ คนมากกว่าประโลมใจคน คนจะชื่นชอบยาก เพราะคนส่วนมาก มีกิเลสหนา จึงถูกกระแทก ต่อมอันน่าละอาย ของเขา เขาก็ไม่ชอบ โดยเฉพาะคนรวยที่มีเงิน จะซื้องานศิลป์ได้นั่นแหละ ที่ไม่ชอบเอามากๆ

เด็กรุ่นใหม่นี่อาตมาว่า จะรู้จักท่านอังคารฯ สักกี่คน นี่เป็นเรื่องน่าเศร้ามาก อาตมาดีใจนะ ที่พวกเราฟังบทกวี ของท่านอังคารออก พวกเราฟังแล้วก็เห็นได้ อาตมาเชื่อว่า หลายคน อาจจะยัง ไม่เคยได้ฟังกวี ของท่านอังคาร แม้เรา จะไม่มีความรู้ สักเท่าไร ในเรื่องของ กวีกานท์นี่ก็ตาม อาตมาว่า อย่างน้อยภาษานี่ มันจะนำพา ให้รู้สึกว่า มันมีรส มันมีอะไร ต่ออะไร เกิดขึ้นมาทีเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าเราพยายาม ศึกษากันบ้างก็ดี

อาตมาใช้ศิลปะในการทำงานมาตลอดเวลา จนกระทั่งทุกวันนี้นี่มีคน มีมนุษยชาติ ที่ได้เกิด การละลด เกิดการเปลี่ยนแปลง ทางพฤติกรรม เปลี่ยนแปลงจิตวิญญาณมาได้นี่ อาตมา ขอยืนยันว่า อาตมา ใช้ศิลปะจริงๆ โดยใช้หลักของศิลปะ ใช้องค์ประกอบศิลป์ หลักของ การรู้จักเนื้อหาสาระ รู้จักจุดสนใจ หรือ จุดสำคัญของงาน รู้จักสีสันแห่งสภาพรวม รู้จักการขัดแย้ง รู้จักการ ประสมประสาน รู้จักเนื้อหาหลัก เนื้อหารอง รู้จักส่วนโน้ม นำไปสู่แก่น อะไรต่ออะไรต่างๆนานา วัตถุดิบในการประกอบ งานศิลป์ของอาตมา อาตมาใช้ทั้งหมด ทั้งวัตถุทั้งนามธรรม ดินน้ำลมไฟ ต้นไม้ใบหญ้า ไปจนถึงจิตวิญญาณ ของคน เป็นส่วนองค์ประกอบ ศิลป์ทั้งสิ้น อาตมาขอยืนยันว่า อาตมาใช้ศิลปะ ในการทำงานจริงๆ แต่คนไม่รู้ ไม่รู้ว่าอาตมา เป็นคนทำงานศิลปะ อาตมาใช้ศิลปะทุกแขนง ศิลปะทุกอย่าง เอามาใช้ เป็นประโยชน์ เพื่อให้เกิดผล จิตรกรรม ปฏิมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม นาฏกรรมและดนตรีการ อาตมาเอาทั้งนั้น อาตมาขอยืนยันว่า อาตมาทำงานทุกวันนี้ โดยยึดหลัก ศิลปะ ประกอบขึ้นด้วยศิลปะ ทุกสรรพสิ่งแม้แต่ตัวตน ของคนคือ องค์ประกอบศิลป์ ของอาตมา อาตมาไม่ใช่ตัวเอง เป็นคน ลงมือทำคนเดียว แต่ก็ใช้ความคิด ใช้สิ่งต่างๆประกอบงานขึ้นมา ให้มันเป็นศิลปะ ออกมา ซึ่งมีทั้งสุนทรีย์ และทั้งสาระ ที่มุ่งหมายให้งาน มีประสิทธิภาพแก่มนุษย์ สัมผัสแล้วเกิดผล อาตมาจึงเห็น ความสำคัญ ของศิลปะอย่างยิ่ง

ขอให้ศึกษาคำว่าศิลปะ และเป็นคนที่มีศิลปะในชีวิต ในหัวใจ ในวิญญาณ ให้ได้กันมากๆ ทุกคน"

ประมาณ ๑๘.๐๕ น. รายการจึงยุติ อาจารย์สุลักษณ์ และคุณเนาวรัตน์ ได้มานมัสการลา ในเวลาไล่เลี่ยกัน พ่อท่าน ให้ของชำร่วย

ท่านอังคาร เสร็จจากเซ็นชื่อให้ใครต่อใครแล้ว ได้มากราบลาพ่อท่าน ซึ่งพ่อท่าน ก็ได้มอบ เงิน ที่ได้จาก การบริจาค ทั้งหมด ให้ไปด้วยเลย ก่อนลาจากท่านอังคาร ได้แสดงความเห็น ในเรื่องของเวลา ทั้งภรรยา และลูกสาว ได้มากราบลาเช่นกัน

วงดนตรีของ อุ๊ หฤทัย ได้มาร้องแสดงหลังจากท่านอังคารกลับไปแล้ว ขณะที่คุณวสันต์ สิทธิเขต ได้ขอวาด ภาพพ่อท่าน ในขณะที่มีรายการเพลงของวงอุ๊ ใช้เวลาประมาณ ๒๐-๒๕ นาที

พ่อท่านอยู่จนจบรายการ ซึ่งมีคุณสุทธินันท์ ได้ร้องเพลงและกล่าวอะไรๆเกี่ยวกับงานนี้

พ่อท่านได้มาที่ห้องทำงาน เพื่อเก็บของก่อนลงไปสรงน้ำแล้วนอน



# # # วิตามินแซดสำหรับชาวอโศก
คำว่าวิตามินแซดที่ใช้ในที่นี้เป็นสำนวนของสมณะบินบน ถิรจิตโต หมายความถึง ถ้อยคำ ตำหนิติเตียน หรือ การชี้ขุมทรัพย์แก่กัน

๓ พ.ค. ๔๗ ที่สันติอโศก ค่ำพ่อท่านนำหนังสือชื่อว่า พุทธทาสในทางการเมือง ของ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร โดย...อรุณ เวชสุวรรณ พ่อท่านได้นำมาให้ข้าพเจ้าดู และชี้ให้ดูว่า เขายังว่าเราอยู่เลย ที่เราไปวิจารณ์ ท่านพุทธทาส ข้าพเจ้า พลิกไปดูด้านหน้า หลังปก มีลายมือ และลายเซ็นของผู้เขียน ที่ได้ส่งมาทางไปรษณีย์ เขียนด้วยหมึกสีน้ำเงิน เขียนวันที่ กำกับการส่ง หนังสือเล่มนี้มาให้ ๒๗ มี.ค. ๒๕๔๗ ข้อความมีดังนี้

ขอมอบแด่ท่านโพธิรักษ์ด้วยความขอบพระคุณยิ่ง
ที่ได้ส่งหนังสือไปให้เสมอมาในภาคผนวกของ
หนังสือเล่มนี้ผมได้วิจารณ์ท่านด้วยกะว่าจะส่งมาในวัน
มหาปวารณา ผมคิดว่าท่านคงไม่ถือสาต่อผู้มีความคิดต่าง
โดยแน่นอน.
(ลายเซ็นชื่อของผู้เขียน)
๒๗ มีค. ๒๕๔๗

ข้างต้นนี้ข้าพเจ้าเขียนตามลายมือบรรทัดต่อบรรทัด แม้แต่วันที่ข้างใต้ลายเซ็นชื่อนั้น ก็เขียนตาม ที่ผู้เขียน เขียนมา จุดที่เขียนมา ในเดือนย่อ ก็มีจุดเดียวอย่างนี้

ทราบว่าได้เคยมาที่สันติอโศก จากข้อเขียนของคุณอรุณ(หน้า ๑๘๓-๑๘๔) กล่าวว่า

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๓ ผมได้มีการติดต่อกับนายรัก รักพงษ์ ทางจดหมายอยู่เสมอ...

รัก รักษ์พงษ์ หรือ มงคล รักษ์พงษ์ เป็นคนชอบตอบปัญหาแก่วัยรุ่นทำให้ต้องอ่านหนังสือ ธรรมะ และในที่สุด ก็หันเหชีวิต เข้าไปในแวดวงของพระพุทธศาสนา ระยะนั้นเขาพิมพ์หนังสือออกมาใหม่ๆหลายเรื่อง ผมมีและอ่านหนังสือของคุณรัก รักษ์พงษ์ ทุกเล่ม บางเล่มผมขอนำไปแจก แก่ผู้อื่นนับร้อยเล่มก็มี โดยให้คนไปเอาที่ ห้องภาพสุวรรณ สี่แยกบางขุนพรหม แรกๆผมรู้สึก สนใจบ้างเหมือนกัน

ต่อมา... โพธิรักษ์ หรือ รัก รักพงษ์ เข้าทำการอุปสมบทที่วัดอโศการาม วัดของหลวงพ่อลี พระธุดงค์ที่มีชื่อ ผมคิดว่าคุณรัก รักษ์พงษ์จะคิดว่าพระฝ่ายธรรมยุติคงเคร่งกว่าพระฝ่ายมหานิกายจึงตัดสินใจบวช ที่วัดอโศการาม อันเป็นวัดฝ่าย ธรรมยุติกนิกาย (ซึ่งอันที่จริงแล้วพระธรรมยุติ และพระมหานิกาย ก็เหมือนๆกัน ที่ดีก็มี ที่ไม่ดีก็มี)

ปัญหาเริ่มมีตั้งแต่เริ่มบวช
ปัญหาที่ผมเคยพูดและเคยตั้งข้อสังเกตไว้คือ พระที่ก่อปัญหาความวุ่นวายในหมู่สงฆ์คือ
พระที่บวช เข้ามาแล้ว ไม่ศึกษาเล่าเรียนตามหลักสูตรการ ศึกษาของคณะสงฆ์ คือนักธรรมตรี-โท-เอก และหลักสูตร ภาษาบาลีเปรียญ ๓ ถึงเปรียญ ๙ สังเกตเห็นง่ายๆ เช่น พระกิตติวุฒโฑ ที่เคยมีเรื่อง ให้สัมภาษณ์ว่า "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" ค้าวอลโว่เถื่อน ตั้งโรงสีข้าว ตั้งขบวน การนวพล ซื้อและดำเนินการ วิทยาลัยศรีอิสาน ตั้งวิทยาลัย จิตตภาวัน สอนหลักสูตร ที่แตกต่างจากวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยสงฆ์ โดยทั่วไป ปัญหาและความไม่ชอบมาพากล เกี่ยวกับพระภิกษุองค์นี้ เป็นข่าวเสมอมา อาศัยว่า มีการดำเนินการ ทางการเมือง ทั้งฝ่ายพระและฆราวาส จึงอยู่มาได้โดยตลอด นี่องค์หนึ่ง ส่วนอีกแห่งคือ พระธัมมชโย และ พระทัตตชีโว แห่งวัดพระธรรมกาย ปทุมธานี นี่ก็ไม่มีการศึกษา ของคณะสงฆ์ เป็นที่รองรับ เช่นเดียวกับ พระรัก รักพงษ์ ล้วนไม่มี การศึกษา ตามหลักสูตรของ คณะสงฆ์ไทย พระพวกนี้ มีตัวตน อวดดี อวดตัวว่ามีความรู้ ไปจากฆราวาส รู้ดีกว่า พระทั่วไป ถือตัว ไม่ยอมเรียนหลักสูตร "เปรียญ" จึงแปลบาลี ผิดๆ พลาดๆ...

ข้างต้นนี้เป็นการคัดลอกจากหนังสือดังกล่าวมาลง พอเป็นตัวอย่างถึงทัศนะบางส่วน ของผู้เขียน แม้แต่การสะกด ตัวอักษร และการวรรคตอนนั้น ก็พิมพ์ตามที่เขาพิมพ์มา คำว่า รักพงษ์ และรักษ์พงษ์ ที่เขาใช้ทั้งสองคำ ก็พิมพ์ตามหนังสือของเขา แม้แต่การให้คำ ตัวหนาบาง ก็พิมพ์ตามเขาทุกอย่าง

ผู้สนใจรายละเอียดติดตามได้จากหนังสือดังกล่าว ผู้เขียนได้วิจารณ์ไว้หลายหน้า ข้าพเจ้า ไม่สามารถ ถ่ายทอด ในที่นี้ได้หมด ขอคัดมา เฉพาะส่วนที่ผู้เขียน ได้สรุปจากหน้า ๒๑๒

สรุปเรื่องโพธิรักษ์
โพธิรักษ์ทำดี คือ :
๑. นำคณะต่อต้านความงมงายของชาวพุทธ เกี่ยวกับไสยศาสตร์และลัทธิเทวนิยม (ท่านพุทธทาส และท่านปัญญานันทะ ริเริ่มมาก่อน)
๒. ชักชวนให้ชาวพุทธเป็นมังสวิรัติ (แต่ไม่ควรว่าผู้อื่น เพราะในพระไตรปิฎกไม่ได้ห้ามโดยชัดแจ้ง)
๓. ส่งเสริมการประหยัด การพึ่งพาตนเอง การสุขภาพอนามัย (ซึ่งไปเข้ากับกระแสชีวจิต พอดี ทำให้ได้รับความนิยมสูง)
๔. ส่งเสริมการเกษตรธรรมชาติ (ไปเข้ากับกระแสเศรษฐกิจพอเพียงที่รัฐบาล ส่งเสริมอยู่) นับเป็นสิ่งที่ดี
๕. ทำการเผยแพร่ได้ดี เพราะเป็นนักสื่อสารมวลชนมาก่อน ใช้แนวร่วมที่เป็น นักการเมือง และ ผู้มีชื่อเสียง ให้เป็นประโยชน์ นับเป็นผู้มีความสามารถสูงยิ่ง และกิจกรรมสาธารณะก็เป็นประโยชน์

โพธิรักษ์ทำไม่ดี คือ :
๑. อวดอ้างว่าสำเร็จบรรลุธรรมแล้ว บางครั้งก็ว่าเป็นโพธิสัตว์ เป็นการอวดอุตริมนุษยธรรม ผิดพระวินัย คณะสงฆ์โดยรวม รับไม่ได้ถือว่าปราชิกขาดจากความเป็นพระ
๒. ไม่ได้เรียนบาลี แต่แปลบาลีผิดๆถูกๆ เป็นที่รู้กันในวงวิชาการด้านศาสนา ผู้รู้ไม่ยอมรับ แต่ผู้ไม่รู้ก็เชื่อตามกันไป
๓. อ้างว่าไม่มีครูบาอาจารย์ อ้างว่ารู้อะไรด้วยญาณของตนเอง รู้มาแต่ชาติก่อน แต่บางครั้ง ก็รู้ผิด นักวิชาการท้วงติง (เช่น พระธรรมปิฎก) ก็ยอมรับว่า คำสอนบางแห่ง ผิดจริง
๔. ตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์บวชให้คนทั่วไป โดยผิดกฎหมายของบ้านเมืองและวัดที่อยู่อาศัยเป็น สถานที่บวช ก็ไม่ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา ถูกต้องตามกฎหมาย
๕. ยกตนข่มท่านเพื่อให้กลุ่มหรือคณะของตนได้รับความนิยมสูงขึ้น

ขณะที่เมื่อเช้าพ่อท่านเพิ่งจะบอกเล่าให้หมู่สมณะและกลุ่มที่เข้ารับการอบรมการวิจัย เชิงคุณภาพว่า มีหนังสือภาษาอังกฤษ SEEDS OF PEACE (เมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพ) ในเล่ม มีรูปพ่อท่านที่ถ่ายแบบครึ่งตัว เหมือนรูปถ่าย ติดใบสุทธิ มีเครื่องหมาย ดอกจันอยู่ข้างใต้ พร้อมด้วย ข้อความเป็นภาษาอังกฤษ ตัวเล็กๆว่า Samana Bodhiraksa, perhaps the most successful spiritual leader for applying Dhammic socialism in Siam แปลว่า บางทีสมณะโพธิรักษ์ อาจเป็นผู้นำ ทางจิตวิญญาณ ที่ประสบ ความสำเร็จ มากที่สุด ในการใช้ ธัมมิกสังคมนิยม ในไทย

ในวันเดียวกันมีทั้งสรรเสริญและนินทา

อ่านต่อหน้าถัดไป