อโศก กับ ศรัทธา วันนี้อยากจะขอใช้หน้ากระดาษของสารอโศกทบทวน "ความเป็นอโศก" กับ "ศรัทธา" ที่ประชากรในส่วนต่างๆ ได้มอบไว้กับเรา "ชาวอโศก" นะคะ นานมาแล้วมีสุภาพบุรุษหนุ่มคนหนึ่งได้สละความสุขจากทางโลกออกบวช ตามรอยพระ ศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อบวชแล้ว ท่านก็มีวัตรปฏิบัติ ที่งดงาม จนก่อให้เกิด "ความศรัทธา" ขึ้นในสาธุชนชาวไทยจำนวนหนึ่ง จำนวนสาธุชนที่"ศรัทธา" ในตัวของสมณะ รูปนั้น มีมากขึ้นทุกที ทุกวัน ทุกเดือนปีที่ผ่านไปไม่ว่า สมณะรูปนั้น จะนำพาลงมือกระทำ ในเรื่องใด สาธุชนเหล่านั้น ก็จะไตร่ตรอง และน้อมนำไปปฏิบัติตาม ด้วยความเคารพ และเชื่อมั่น ภารกิจที่สมณะรูปนั้น นำพาทำไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารมังสวิรัติ ไม่ว่าจะเป็น การยึดถือและให้ความสำคัญอย่างเอกอุแก่ ศีล ๕ - ศีล ๘ จนกระทั่งศีลนั้นๆ กลายเป็น วิถีชีวิตปกติของสาธุชน ผู้นำไปปฏิบัติ รวมไปถึง การนำพาให้ผู้ที่เคารพนับถือท่าน ได้ลดละกิเลส โดยการสอน ให้ทำงานหนัก โดยที่สมณะหนุ่มรูปนั้นลงมือทำเป็นตัวอย่าง รวมถึงการสอน ให้กินน้อย ใช้น้อย ทำงานให้มาก ที่เหลือจุนเจือสังคม อีกทั้งการมีมุมมอง และแนวความคิด ที่กว้างไกลเกินกว่า ผู้อื่นเป็น ๒๐ ปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การรักษา สิ่งแวดล้อม โดยการสอนถึงอาชีพ ที่มีผลในการจะกู้ชาติ ได้ว่ามีเพียง ๓ อาชีพคือ กสิกรรม ไร้สารพิษ ปุ๋ยสะอาด ขยะเอ๋ย อันเป็นการมองข้ามช่วงเวลาที่น่าประหลาดใจ เพราะในขณะที่แนวคิดนั้นปรากฏออกมา สังคมไทยยังคงมีทรัพยากรธรรมชาติ อยู่อย่างมากมาย อีกทั้งยังไม่มีปัญหา เรื่องสารพิษ ขยะล้นโลก และปัญหาทางเศรษฐกิจ ดังในปัจจุบัน จากต้นแบบที่ทำงานหนัก เคร่งครัดในศีล พฤติกรรมนั้นก็กระจายออกไปสู่สาธุชน ที่ศรัทธา ดังนั้นไม่ว่าในการทำงานใดๆ เช่น การผลิตอาหาร หรือของใช้ต่างๆ ที่ออกมา ในนามของชาวอโศก ก็จะมีคุณภาพ โดยตัวของมันเพราะผู้ผลิตคือ "นักปฏิบัติธรรม ชาวอโศก" ซึ่งเป็นที่เลื่องลือถึง ความเคร่งครัดในศีล จึงส่งผล ให้ผลผลิตต่างๆ ที่ชาวอโศก ผลิต คิดค้นดัดแปลงขึ้นมา เป็นผลผลิต ที่มีคุณภาพ หากเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน ก็จะมีประสิทธิภาพ ในการรักษาในระดับหนึ่งที่น่าพอใจ จากสินค้าที่ผลิตขึ้นมาด้วยความมุ่งมั่นเดิมว่าจะใช้เฉพาะในชุมชนชาวอโศก ทั้งนี้เพื่อ เป็นการรักษารูปแบบชีวิต ที่พึ่งพากันได้แบบครบวงจร ในชุมชนชาวอโศกก่อน หากเมื่อใด ที่สินค้าหรือธัญญาหารต่างๆ เพียงพอต่อความต้องการ ของสมาชิก ของชุมชน ชาวอโศกแล้ว จึงจะมีการนำมาจำหน่ายขายออกไป สู่ประชากรภายนอก เพื่อที่ชาวอโศก ในฐานะผู้ผลิต ที่ปฏิบัติธรรม จักได้มีโอกาสในการปฏิบัติธรรม ด้วยการทำ ผลิตสิ่งของ เครื่องใช้ อาหารที่ดี สะอาด มีคุณภาพให้แก่โลก เพื่อที่จะได้เป็นการช่วยเหลือ จุนเจือ สังคม ตามกำลังความสามารถของตนเอง ซึ่งจะเป็นเรื่องของการขัดเกลา ชำระล้าง กิเลส และพัฒนาตนเอง อันมีผลมาจาก คำสอนของ "สมณะหนุ่ม" องค์นั้น ในระยะแรกๆผลผลิตของชาวอโศกที่นำมาบริการจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วๆไปนั้น ก็ไม่ได้รับความใส่ใจมากนัก เพราะสังคม ยังไม่ได้รับรู้ถึง เรื่องของแนวปฏิบัติต่างๆ ของชาวอโศก หากรับรู้จากข้อมูลข่าวสาร ทางด้าน สื่อสารมวลชนเป็นหลักใหญ่ ดังนั้น จึงส่งผลให้ผลผลิต ของชาวอโศกในระยะต้นๆนั้น ไม่สามารถจำหน่ายขายดีได้ หากจะมีเพียงญาติธรรมชาวอโศก ซื้อหานำพาไปฝาก ผู้คนที่รู้จักรักใคร่นับถือ แทนตัวเท่านั้น แต่คุณภาพของผลผลิตที่มีคุณภาพนั้นจะช้าจะเร็วอย่างไรก็ต้องปรากฏผลออกมา ดังนั้นญาติมิตรของ ญาติธรรมชาวอโศก ที่เคยใช้สินค้า ของชาวอโศกแล้ว ส่วนใหญ่ ในครั้งต่อๆมา ก็มักจะฝากซื้อ หรือมาซื้อหาด้วยตนเอง เพราะผลผลิตของอโศก เมื่อใช้แล้ว มีคุณภาพ จึงก่อให้เกิด "ศรัทธา" ในสินค้าทุกอย่าง ที่มีคำว่า "อโศก" ประทับกำกับไว้ สำหรับการพูดถึงกิตติศัพท์ของผลผลิต ของอโศกที่ประชาชนพูดถึง ตัวดิฉันเอง ก็ได้ยิน เต็ม ๒ หู ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้เข้ามาปฏิบัติธรรม ณ อโศกแห่งนี้ เป็นการพูดถึง ในลักษณะว่า "หากผลผลิตใดที่มีคำว่าอโศกแปะอยู่ ซื้อได้เลย เพราะคนผลิต เขาปฏิบัติธรรม คนปฏิบัติธรรม จะต้องมีจิตใจ ที่เอื้ออาทร ใส่ใจต่อคุณภาพ ของวัตถุดิบ ทุกอย่าง ที่จะนำมาผลิต ดังนั้นของอโศก ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น คุณภาพของวัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต ทุกระยะ จะสะอาด ปลอดภัย เชื่อใจได้ไม่โกงน้ำหนัก ราคาถูก ทุกอย่างดีเยี่ยมไปหมด" ฟังแล้วก็น่าชื่นชม น่าดีใจกับชาวอโศก ที่ปลูก "ศรัทธา" ในความเป็นสินค้าของชาวอโศก ได้มั่นคงปานนั้น ในทางโลก หากสินค้าชนิดใด สามารถสร้างศรัทธา ได้ขนาดนี้ ก็เห็นทีจะต้องรวยไม่รู้เรื่องแน่ๆ แต่ด้วยความที่ชาวอโศก เขากินน้อย ใช้น้อย ที่เหลือใช้จุนเจือสังคม จึงรวยบุญ ไปตามๆกัน แต่โลกหมุนไปทุกวันนะคะ ดังนั้นอะไรๆก็มีวันเปลี่ยนแปลงไปได้ไม่มากก็น้อย ความที่อโศกตั้งมั่นคงขึ้น สมาชิกที่เข้ามาปฏิบัติธรรมถือศีล เป็นลูกของ "พ่อท่าน" สมณะ หนุ่มองค์นั้น นับวันก็มากขึ้น และมากขึ้น ในความมากขึ้นก็มีความหลากหลายขึ้น ในความหลากหลายนั้นก็มีทั้งที่ดีขึ้น และไม่ดีขึ้น เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ว่า ในที่สุดแล้ว ก็จะต้องแสดงออก ซึ่งความเป็นตัวตน ที่แท้จริงออกมา ดังนั้น ชาวอโศกยุคใหม่จึงประกอบไปด้วยความหลากหลายของการใช้ชีวิตปฏิบัติธรรม ร่วมกัน ความมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม ก็แตกต่างกัน ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ ที่แสดงออก ถึงความเป็นอโศก จึงแตกต่างกันไปด้วย ในด้านการผลิตบางส่วน มีการพัฒนารูปแบบ การผลิตให้ดีขึ้น บางชนิด มีการควบคุมคุณภาพของสินค้าแต่ละตัว ให้มีมาตรฐาน มากขึ้น แต่บางชนิดก็มีปัญหาเกิดขึ้น เช่น ปัญหาในเรื่อง ของการผลิต สถานที่ผลิต วัตถุดิบที่นำมาใช้ การแข่งขันกันเอง ในชุมชนแต่ละแห่ง ที่ผลิตสินค้า เหมือนๆกัน จนลูกค้าสับสน รวมไปถึงการที่สินค้าแต่ละประเภท มีการสั่งซื้อเข้ามามาก จนต้อง ขยายฐานการผลิต โดยต้องออกไป ประสานงาน หาวัตถุดิบ จากนอกชุมชนอโศก เพื่อนำมาผลิตสินค้า จึงก่อให้เกิดปัญหา การไม่สามารถ ควบคุมคุณภาพ ของวัตถุดิบ ที่นำมาใช้ในการผลิต อีกทั้งปัจจุบันนี้ ญาติธรรมมีมากขึ้น ข้างวัดก็มีคนมากขึ้น และความเป็นอโศก ก็ขาย ได้มากขึ้น สินค้าที่ผลิต จึงมีความหลากหลายมากขึ้น ในขณะเดียวกัน คุณภาพของ สินค้าบางชนิด ที่ผลิตโดยบางคน ก็เริ่มคุณภาพย่อหย่อน เนื่องจากเป็นการผลิต ที่มิได้ใช้จิตใจ ของนักปฏิบัติธรรม เข้ามาผลิต หากแต่ใช้จิตใจของแม่ค้า-พ่อค้าธรรมดา ที่เห็นแก่เงิน เข้ามาอาศัยในความเป็น ผู้ปฏิบัติธรรม แอบแฝง เข้ามาผลิตสินค้า ที่ดูเหมือน จะเป็นสินค้าของชาวอโศก อันเป็นแบรนด์เนม ที่ชาวบ้าน ชาวเมืองเขายอมรับ เมื่อการผลิตไม่มีคุณภาพ วัตถุดิบก็ไม่มีคุณภาพ จึงส่งผลกระทบให้ลูกค้าที่ซื้อไปใช้ รับประทาน เกิดคำถามขึ้นว่า เอ๊ะ! ทำไมสินค้าของอโศกจึงเป็นเช่นนี้ จากเหตุการณ์ต่างๆที่กล่าวถึงทำให้"สมณะหนุ่ม"องค์นั้น ได้เล็งเห็นถึงปัญหา ในระยะ ยาว ของชาวอโศก จึงได้ดำริให้จัดตั้ง องค์กรกลาง ของชาวอโศก ขึ้นมา ๑ องค์กร เพื่อที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบดูแล รักษาคุณภาพ และ มาตรฐานของสินค้า หรือผลผลิต ที่ประทับตรา "อโศก" ให้คงความมีคุณภาพ ซึ่งเป็นที่เลื่องลือให้เหมือนเดิม ต.อ. หรือหน่วยตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพผลผลิตของชาวอโศก จึงเกิดขึ้นจาก แนวคิดนี้ ของ"สมณะหนุ่ม"องค์นั้น ซึ่ง ต.อ.นั้นจะถือว่าเป็นเครื่องมือๆหนึ่งในการสร้าง"ค่าความเชื่อมั่น"ให้แก่สินค้าชนิดนั้นๆ ก็ย่อมได้ และ ต.อ. จะสามารถทำงาน ได้มากน้อย ขนาดไหนนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับ ตัวผู้ผลิต ที่เป็นนักปฏิบัติธรรม ชาวอโศกเอง ที่จะต้องจับ และรับรู้ให้ได้เองว่า ต.อ. เป็นเรื่องท้ายสุด ในการตรวจสอบ ผลผลิต แต่สิ่งที่เป็นหนึ่งและสำคัญที่สุด ในการผลิต สินค้า คือ "จิตใจ ของผู้ผลิตที่ต้องใส่ใจต่อ กระบวนการผลิต ความสะอาด รวมถึงคุณภาพ ของวัตถุดิบ อันเป็นการแสดง ให้เห็นถึงจิตใจ ของนักปฏิบัติธรรม ที่มีความเอื้ออาทร ต่อสุขภาพของลูกค้า ที่อุปโภค -บริโภค สินค้าของชาวอโศก" มากกว่าสิ่งอื่น "ศรัทธา"ในเรื่องต่างๆต้องใช้เวลาสะสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน เปรียบเสมือนน้ำ ที่ซึมผ่าน ดินลงไปสะสม ภายใต้ชั้นดิน ไม่มีใครมองเห็น แต่รับรู้ได้ว่ามีอยู่จริง เป็นจริง "ศรัทธา"ในชื่อ"อโศก"ก็มิได้มาด้วยโชคช่วย หากแต่เกิดสะสมจากการทำงานที่หนัก รักษา คุณภาพของวัตถุดิบ ผลิตผลงานด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นจะให้สิ่งที่ดีที่สุด แก่มวลมนุษยชาติ ของชาวอโศก จึงก่อให้เกิด "ศรัทธา"ขึ้นมาได้ การรักษา"ศรัทธา"ให้ปักมั่นในระยะต่อมาจึงเป็นเรื่องที่ชาวอโศกทั้งมวลจะต้องช่วยกัน รักษาเอาไว้ ดังคำที่"พ่อท่าน"กล่าวไว้ว่า "ต้องเป็นพ่อค้าปลากระพง หมายความว่า อาแปะขายข้าวต้มปลากระพง ทำเฉพาะ ปลากระพงเท่านั้น ปลาอื่นไม่เอา ไม่มีปลากระพง ปิดร้าน มีปลากระพงแค่ไหน ขายแค่นั้น ทำอย่างซื่อสัตย์ สุจริต ให้ได้มาตรฐานในเกรดนี้ ถ้าทำไม่ได้ ไม่ทำ มีวัตถุดิบสะอาด มาเท่านั้น -ทำมันเท่านั้น ทำให้มาตรฐาน เราต้องยืนหยัดเรื่องนี้ให้ได้ ถ้าไม่ยืนหยัดเรื่องนี้-ไปไม่ไกล แต่ถ้ายืนหยัดเรื่องนี้ได้ -รับรองนิรันดร" ชาวอโศกจ๋า จะช่วยพ่อท่านรักษา"ศรัทธา" ไว้ได้ไหม? - จรัสเรือง ศิริวัฒนรักษ์ - |