ธรรมะประทับใจ (๑๐๑) ขนาดอายุอานามกว่า ๖๐ แล้ว พ.ต.ท.รุ่งโรจน์ เรืองฤทธิ์ ก็ยังขยัน และเอาภาระ งานใหญ่น้อยเสมอต้นเสมอปลาย ใครผ่านไปที่สำนักพิมพ์กลั่นแก่น จะเห็นท่านทำงาน ตลอดเวลา ในหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เราคิดอะไร ไม่เขียนหนังสือ อ่านหนังสือ ก็ทำอุปกรณ์ดีท็อกซ์จำหน่าย เป็นทุนสำหรับพิมพ์ หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร และระยะนี้ท่านก็กำลังปรับปรุงพื้นที่ที่เคยเป็นบ้านป้า บุญธรรม อักษรศรี ข้างๆตึกฟ้าอภัย (เก่า) บ้านนี้ป้าบุญธรรมมอบให้มูลนิธิธรรมสันติ หลังจากเสียชีวิตแล้ว คุณกรักน้ำเย็น อโศกตระกูล เคยใช้เป็นสถานที่ผลิตน้ำหมักชีวภาพ ต่อมากิจการผลิตอุปกรณ์ดีท็อกซ์ ขยายตัว สำนักพิมพ์กลั่นแก่น จึงขอใช้สถานที่ โดยรื้อบ้านเก่า และสร้างใหม่ ให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน เห็นท่านสารวัตรกับคุณเลื่อนผา ทรรพวสุ กำลังโยกย้ายแบกขนกันง่วนอยู่ ก็นึกถึงอดีต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔ ท่านสารวัตรประสบอุบัติเหตุตกจากรั้ว ขณะซ่อมรั้วบ้านที่เมืองชลฯ วันที่ ๔ พ.ค.๒๕๔๕ ท่านสารวัตรไปรักษาอาการที่คลินิกกายภาพบำบัด ย่านสามแยก ไฟฉาย ผู้เขียนเห็นสารวัตรยอดขยันของเรา ใช้ไม้กวาดกวาดหน้าร้านที่คลินิก โดยไม่ เคอะเขินแต่อย่างไร ทำให้หน้าร้านสะอาดสะอ้านขึ้นอีกมาก เพราะปกติจะมีรถจอด บางคืนก็จะมีมูลสัตว์เลอะเทอะไปหมด ท่านสารวัตรไม่เพียงแต่กวาดหน้าร้าน เท่านั้น เรียกว่าบ้านฝั่งเดียวกันในรัศมีที่พอจะกวาดได้ก็กวาดให้จนหมด ไม่แน่ใจว่าได้ไม้กวาด มาจากไหน คงเป็นไม้กวาดที่เขาทิ้งๆไว้อย่างไร้ค่า แต่สำหรับสารวัตรแล้ว พอเห็นไม้กวาด ไม่จำเป็นต้องใหม่ แต่พอกวาดได้ ก็ลงมือกวาดอย่างจริงจัง ขณะที่รอคนไข้ที่ไปด้วยกัน แต่ยังอยู่ในระหว่างรักษา ส่วนท่านเองรักษาเสร็จแล้ว ทุกวันนี้ท่านสารวัตรก็ยังเป็นคนเดิม ที่เพิ่มความเคร่งครัดให้กับตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ (ยกเว้นกรณีเจ็บป่วย) ก่อนประสบอุบัติเหตุ ผู้เขียนขอเล่าให้ฟังอีกครั้งว่า การเดินทาง จาริก (ด้วยเท้า) ในสภาพที่เป็นฆราวาส สารวัตรก็คงกระทำอยู่ ทำให้ผู้ใกล้เคียง อดห่วงไม่ได้ แต่ท่านก็ไม่ดื้อ เมื่อเห็นว่าคนอื่นจะต้องมาลำบากเพิ่มขึ้นอีก หรือการใช้ชีวิต จากบ้านทาวน์เฮ้าส์ ในซอยประสาทสิน ที่อยู่อย่างสบายๆ น้ำไฟพร้อม สารวัตรก็อาสา ไปพักอาศัยอยู่ที่สวนสองศอก ซอยจำเป็น ซึ่งเป็นที่ดินของญาติโยม ที่แสดงเจตนา มอบให้มูลนิธิธรรมสันติ ไม่มีไฟ มีเพียงตะเกียงจุดไฟพอมองเห็น ไม่มีน้ำก๊อกที่ใช้ อย่างสะดวกสบาย แต่ใช้น้ำจากคลองในสวนนี้ ซึ่งต้องตัก หรือหาบ โดยเฉพาะตักน้ำ ที่นำมาใช้ในห้องสุขา ตลอดจนการซักล้าง ฯลฯ และยังคงขยันด้วยการดูแล ถางหญ้า และวัชพืช เท่ากับเป็นการออกกำลังกายไปในตัว และนำพืชผลที่ได้จากสวนนี้ มาให้พวกเราเสมอๆ แบบนี้แล้วจะไม่ให้ชื่นชม หรือประทับใจได้อย่างไร คราวดำรงตำแหน่งเป็น นายกสมาคม ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ช่วงนั้นจะได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร ให้กับสถาบันหลายแห่ง ในต่างจังหวัดไกลๆ สารวัตรก็ขับรถด้วยตนเองเดินทางไปโดยตลอด เท่านั้นยังไม่พอ ชมรมและหน่วยงาน ที่สังกัดสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม สารวัตรก็ขับรถไปให้กำลังใจ ถึงที่นั่น อาทิ โรงเจสมาคมฯ โรงสีขอนแก่น และชมร.เชียงใหม่ เป็นต้น เมื่อร่างกายทำงานเกินความพอดี ร่างกายไม่ใช่เครื่องจักรยนต์ แม้เครื่องจักรยนต์ ก็ยังต้อง เติมน้ำมัน ดูแลรักษาเครื่อง นี่ร่างกายคนแท้ๆ จำเป็นต้องให้ได้พัก หากพัก น้อยไป ที่สุดจึงเกิดอาการเจ็บป่วย จนคุณหมอมีคำสั่งห้ามขับรถเด็ดขาด โดยเฉพาะ ระยะทางไกลๆ ช่วงนั้นอาการแย่มากทีเดียว ช่วงนี้เมื่อได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ สุขภาพ ร่างกายดีขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าซึ่งเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม ขอให้กำลังใจ อดีตนายกสมาคมฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่จนทุกวันนี้ แม้ถอนตัวไม่ดำรงตำแหน่งนี้แล้วก็ตาม แต่ยังเป็น ที่ปรึกษาทุกเรื่องให้แก่ชาวอโศกอยู่เสมอ รวมทั้งเป็นกรรมการสถาบันบุญนิยม ขออนุโมทนา สาธุ -สารอโศก อันดับที่ ๒๗๔ สิงหาคม ๒๕๔๗ - |