กว่าจะถึงอรหันต์ โดย...ณวมพุทธ

พระโสภิตเถระ

อายุยังน้อยอยู่
แต่รู้แจ้งมรรคผล
ได้ระลึกชาติตน
พุทธองค์รับรอง

พระโสภิตเถระได้เคยบำเพ็ญกุศลไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญ อันเป็น อุปนิสัยแห่งพระนิพพานเอาไว้

ดังในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์ปทุมุตตระ ชาตินั้น ท่านได้เกิดในเรือนของผู้มีสกุลดี ตระกูลหนึ่งแห่งนครหงสาวดี

มีอยู่วันหนึ่ง เขามีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาพระองค์นั้น แล้วมีใจ เลื่อมใสยินดียิ่งนัก ครั้นพระศาสดาทรงหยุดแสดงธรรม เขาจึงประนมมือ อัญชลีด้วยใจ ศรัทธาเป็นอารมณ์เดียว กล่าวยกย่องพระศาสดาท่ามกลางหมู่ชนในที่นั้นว่า

"มหาสมุทรเลิศกว่าทะเลทั้งหลาย
ขุนเขาพระสุเมรุประเสริฐกว่าขุนเขาทั้งหลาย ฉันใด
ชนเหล่าใดที่เป็นไปตามอำนาจจิต(กิเลส)
ชนเหล่านั้นย่อมไม่เข้าถึงเสี้ยวแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้น"

พระพุทธเจ้าองค์ปทุมุตตระก็ได้ตรัสพยากรณ์แก่เขาท่ามกลางหมู่สงฆ์ว่า

"ผู้ที่สรรเสริญญาณ(ความรู้แจ้งในสัจธรรม)ของพระพุทธเจ้า ผู้นั้นจะไม่ต้องไปสู่ทุคติ (ทางไปชั่ว)ตลอดแสนกัป(อายุในชาติหนึ่งๆ) และผู้นั้นจะเผากิเลสทั้งหลายได้ จะเป็นผู้มีอารมณ์เดียว (อารมณ์นิ่งสงบจากกิเลส) มีจิตมั่นคง จะได้นามว่าโสภิตะ ได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสมณโคดมในกาลอนาคต"

เมื่อเขาตายจากชาตินั้นแล้ว ด้วยผลบุญที่กระทำไว้ เขาจึงได้เวียนว่ายตายเกิด จนมาเป็น มนุษย์ ในสมัยของ พระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม เกิดอยู่ในตระกูลพราหมณ์ในนคร สาวัตถี แห่งแคว้นโกศล ญาติทั้งหลายตั้งชื่อเขาว่า โสภิตะ(ผู้งามแล้ว)

ขณะที่เขามีอายุได้เพียง ๗ ขวบ ไปฟังธรรมของพระศาสดา ก็เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงขอบวช ในพระพุทธศาสนา

แล้วพากเพียรบำเพ็ญธรรม ไม่ช้านานนักก็บรรลุธรรม สามารถระลึกชาติก่อนๆ ได้เป็นอันมาก (บุพเพนิวาสานุสติญาณ) ทำให้เกิดปีติในธรรมอยู่เสมอ ถึงกับมักเปล่ง อุทานว่า

"เราเป็นภิกษุผู้มีสติ มีปัญญา ปรารภ(ไตร่ตรอง)ความเพียรเป็นกำลัง สามารถระลึก ชาติก่อนได้ ๕๐๐ กัป ดุจคืนเดียวเท่านั้น ก็ด้วยการเจริญ(ทำให้มาก)ในสติปัฏฐาน ๔ (การมีสติพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริงใน.....๑. กาย ๒. เวทนา ๓. จิต ๔. ธรรม) ในโพชฌงค์ ๗ (องค์แห่งการตรัสรู้คือ ๑. สติ ๒. ธัมมวิจยะ ๓. วิริยะ ๔. ปีติ ๕. ปัสสัทธิ ๖. สมาธิ ๗. อุเบกขา และในมรรค ๘ (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้คือ ๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ ๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ ๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ ๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ)"

ด้วยเหตุที่อายุยังน้อย แล้วประกาศคุณวิเศษปานนี้ ภิกษุทั้งหลายยากที่จะเชื่อถือได้ ต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียน แล้วโพนทะนากันว่า

"ไฉนเล่า ท่านโสภิตะจึงกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม (คุณวิเศษของมนุษย์ผู้ยอดยิ่ง) เยี่ยงนี้ว่า ระลึกชาติได้ ๕๐๐ กัป"

แล้วได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระศาสดา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตอบแก่เหล่าภิกษุว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โสภิตะพูดจริง จึงไม่ต้องอาบัติ (ไม่กระทำผิดพระวินัย) และชาตินี้ ของโสภิตะก็จะมีชาติเดียว(เป็นชาติสุดท้าย)เท่านั้น"

พระศาสดาทรงรับรองมรรคผลให้ และทรงเห็นความสามารถในการระลึกชาติได้เป็นอันมากนี้เอง จึงทรงตั้งพระโสภิตะเถระ ไว้ในตำแหน่งของ ภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งปวง ในด้านบุพเพนิวาสานุสติญาณ

พระโสภิตเถระจึงเป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่งของพระศาสดา เป็นพระอรหันต์ ผู้จบกิจแล้ว ได้บรรลุวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖


- ณวมพุทธ -
จันทร์ ๖ ก.ย. ๒๕๔๗
(พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๒๙๙
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๒๘๐
พระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ ข้อ ๑๓๓
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๑ หน้า ๑๑๐
อรรถกถาแปลเล่ม ๗๑ หน้า ๔๔๘

- สารอโศก อันดับที่ ๒๗๔ สิงหาคม ๒๕๔๗ -