เทศกาลกินเจ '๔๗ เทศกาลกินเจปีนี้ อยู่ระหว่างวันที่ ๑๔-๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๗ ในกทม.ได้จัดต้อนรับ เทศกาลเจ หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การต้มพะโล้หม้อยักษ์ ผัดหมี่กระทะยักษ์ ที่เยาวราช หรือ ข้าวต้ม ๑๘ อรหันต์หม้อยักษ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล ล้วนเป็น การประชา สัมพันธ์ ให้ผู้คน ได้รับรู้ ถึงความยิ่งใหญ่ของเทศกาลเจ และหันมาลองรับประทาน อาหารเจ นับเป็นการ ส่งเสริม วัฒนธรรม การบริโภคอาหาร ที่ปลอดจากเนื้อสัตว์ เป็นอย่างดี อาหารเจนับเป็นบุญญาวุธหมายเลข ๑ ของชาวอโศก ซึ่งในปีนี้ได้ร่วมแรงร่วมใจจำหน่าย อาหารเจกัน อย่างคึกคัก โดยทุกแห่ง เปิดขายไม่มีวันหยุด ซึ่งปกติจะหยุดในวันจันทร์ แต่เพื่อให้พี่น้องที่ตั้งใจสมาทานอาหารเจตลอด ๑๐ วัน ได้รับประทาน อย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีวันหยุด สำหรับบรรยากาศของงาน ในแต่ละแห่ง มีดังนี้
หมู่บ้านราชธานีอโศกชูธงเมตตาธรรมในรูปแบบของการเข้าค่ายพาณิชย์บุญนิยม ในงาน มหกรรม อาหารเจ ปี ๒๕๔๗ เรียนรู้เพื่อพัฒนาตน ร่วมกันทั้งชุมชน ที่อุทยานบุญนิยม และ สหกรณ์บุญนิยม อ.วารินชำราบ จ.อุบลฯ เป็นการศึกษาเรียนรู้ร่วมกันของทุกฐานะ มีการระดมสมองของนิสิตในวันที่ ๓-๔ ต.ค. และ ระดมสมอง แบ่งสัมมนากลุ่มย่อย ของแต่ละแผนก ร่วมกับชาวชุมชน ในวันที่ ๑๐ ต.ค. ณ เฮือนเพิ่งกัน มีผู้เข้าร่วมเกือบร้อยชีวิต บรรยากาศเต็มไปด้วย ความครื้นเครง ตามสไตล์ชาวบ้านราชเมืองเรือ เป้าหมายของการเข้าค่ายครั้งนี้ มีสามประการ คือ ๕ ส. ๗ อ. และ สาราณียธรรม ๖ โดยมีทีมสมณะ-สิกขมาตุให้สัมมาทิฐิ ก่อนเข้าสนามสอบ มีแบบประเมินตนเอง เพื่อเรียนรู้และพัฒนาตน ในการทำงานด้วย พื้นที่ของอุทยานบุญนิยมถูกจัดสรรเป็นแผนกต่างๆ และเป็นที่พัก มีการปรับปรุงพื้นที่ หลายจุด เช่น สร้างอาคารหลังใหม่ เป็นที่ทำขนมปัง บริเวณข้างโกดัง เทพื้นคอนกรีต และสร้างเตา หุงข้าว บริเวณติดกำแพง ข้างห้องน้ำหญิงหลังเก่า สถานที่ ด้านหลังร้าน ดูเรียบร้อย เป็นสัดส่วน เป็นระเบียบ ในช่วงบ่ายของวันที่ ๑๒ มีการติดหน้า บรรณศาลา ทรงไทย ซึ่งพ่อท่าน ไปดูแล การติดหน้า บรรณด้วยตนเอง เปิดบริการตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๑๙.๓๐ น. ตั้งแต่วันที่ ๑๒-๒๒ ต.ค. สำหรับวันที่ ๒๓ ขายในเวลาปกติคือ ๐๖.๐๐-๑๔.๐๐ น. ใช้ระบบบุฟเฟต์ ในราคาบุญนิยม ข้าวราดกับ ๑ อย่าง ๑๐ บาท ราดกับข้าว ๒ อย่างขึ้นไป ๑๕ บาท อาหารพิเศษ ๑๕ บาท กับข้าวถุงละ ๑๒ บาท ส่วนอาหารพิเศษใส่ถุง ๑๕ บาท ในงานนี้ใช้น้ำมันงาซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนและผักไร้สารพิษ ๑๐๐ % มาปรุงอาหาร ซึ่งส่วนมาก เป็นผักพื้นบ้าน มาจากสวน ในบ้านราชฯ สวนไวพลัง และจากเครือข่ายฯ จึงมีรายการอาหารพื้นบ้าน มากมาย เช่น ลาบสายบัว, ลาบผักก้านจอง, ซุบผักเม็ก, ซุปขนุน, ซุบหน่อไม้, แกงหยวกกล้วย, แกงส้มผักพื้นบ้านรวม, ราดหน้ายอดผักปลัง ส่วนเมนูอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผัดเส้นต่างๆ ข้าวผัด ข้าวซอย ก๋วยเตี๋ยว กวยจั๊บ ก๋วยเตี๋ยว หลอด ขนมจีน สลัดผักมีทั้งสลัดแขก และสลัดครีม และอาหารทอด ซึ่งอันตรายต่อ สุขภาพ แต่ก็ยังเป็น ที่นิยม สำหรับผู้รักสุขภาพมีน้ำนมข้าวกล้องแดง, น้ำนมเม็ดบัว ใส่ใบเตย, น้ำนมลูกเดือย, น้ำนมงางอก และ น้ำนมถั่วเหลือง และเมล็ดถั่วต่างๆ มีผู้สนใจมารับประทานตลอดทั้งวัน จะไม่มีช่วงร้านว่าง และแขกผู้มีเกียรติ มารับประทาน หลายท่าน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด คุณจีระศักดิ์ เกษณียบุตร และคณะ, คณะดูงาน จากปากเซ ประเทศลาว และทีมถ่ายทำรายการ เวทีชาวบ้านของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ในช่วงภาคค่ำผู้คนนิยมมาพักผ่อนกินอาหารและฟังเพลงจากเวทีข้างน้ำตก แม้จะมีแต่ นักร้อง สมัครเล่น แต่ก็สามารถ สร้างบรรยากาศ ของความเบิกบาน สนุกสนาน บรรยากาศโดยรอบ ตกแต่งด้วยไฟ ดูเหมือนสวนอาหาร มีการประชุมหลังเลิกงานในเย็นวันที่ ๑๓ เพื่อปรับเปลี่ยนการจัดร้านใหม่ ครั้งที่ ๒ เย็นวันที่ ๑๖ เป็นการฟังธรรม เพื่อเพิ่มพลังใจ ของคนทำงาน และประชุมครั้งที่สามเป็น การลงมติ เรื่องการเปิดปิดร้าน และเตรียมการ ที่จะมีการถ่ายทำ รายการเวทีชาวบ้าน วันที่ ๑๙ ตุลาคม
บรรยากาศเหมือนงานบุญ มีผู้มาช่วยงานมากหน้าหลายตา ทั้งชาวชุมชนคนบ้านราชฯ สวนส่างฝัน และพี่น้อง เครือข่ายฯ จากหมู่บ้านต่างๆ รวมทั้งญาติธรรมชาวอุบลอโศก มีคน ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กทารก จนถึงผู้อายุยาว และทีมทำงาน แต่ละแผนก จะมีทั้ง นิสิต ชาวชุมชน และนักเรียนทั้งระดับมัธยมฯ และประถมศึกษา จึงดูเหมือนว่า เป็นชุมชน ที่มี วิถีชีวิต แบบบุญนิยม ที่ผู้คนได้มาสัมผัส สำหรับที่สหกรณ์ฯ อ.วารินฯ มีผู้ไปใช้บริการมากมายเช่นกัน ทำให้เห็นว่าคนอุบล นิยม กินเจ ในช่วงนี้ เป็นจำนวนมาก ความรู้สึกของผู้มาร่วมบรรยากาศมหกรรมอาหารเจ คุณผุสดี ตังธโณบล อายุ ๓๗ ปี อาชีพค้าขาย "รู้สึกประทับใจที่ผักไม่มีสารพิษ อาจจะกิน ไม่ได้ทุกวัน แต่ในปีหนึ่ง ขอกินให้บริสุทธิ์สิบวัน ก็ยังดีใจ ปีนี้ตั้งใจมากินอาหารที่นี่ทุกวัน ในช่วงเทศกาลเจ ในวันแรกๆ ยังเป็นเจเขี่ย ชอบอาหารพื้นบ้าน รสชาติกลางๆ และชอบ น้ำเสาวรส พึ่งมารู้จักลูกเสาวรสที่นี่ มาซื้อไปกินที่บ้าน การจัดงานที่นี่ดูดี สบายๆ มีที่นั่ง รับประทาน ทั้งข้างบน ข้างล่าง ให้เลือก วันไหนไม่รีบร้อน จะไปนั่งที่เรือนไทย ดูดนตรี แต่ถ้าวันไหนรีบ ไม่อยากถอดรองเท้า ก็นั่งข้างล่าง ทุกอย่าง จัดได้ดีค่ะ" คุณนันท์ อุมากร อายุ ๓๐ ปี อาชีพพยาบาล "มาทานอาหารที่นี่เป็นบางวัน อาหาร หลากหลาย และรสดี เคยมาเมื่อสามปีที่แล้ว ในปีนี้ มีดนตรีให้ฟังและชอบผักพื้นบ้าน ที่นำมาทำอาหาร เพราะตามปกติ ชอบกินแบบนี้ การตักอาหาร สะดวกและอิสระ ในการตักดี" นายสิทธิชัย บุญวิพากษ์ อายุ ๓๕ ปี อาชีพทำงานธนาคาร "งานนี้ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ผมมากินที่นี่ ทุกวันเสาร์อาทิตย์ ในช่วงเทศกาลเจสิบวัน ตั้งใจทานอาหารเจตลอด การใช้ ระบบบุฟเฟต์ดี สามารถเลือกได้ ตักเองได้แล้วมาจ่ายเงิน แต่ผมคิดว่า เจ้าหน้าที่คิดเงิน มีน้อย และคิดช้า ในวันที่มีคนมาเยอะๆ ต้องรอนาน ส่วนองค์ประกอบอื่น สมบูรณ์ดี ทุกอย่าง" นายบัณฑิต จูมพะบุตร อายุ ๔๗ ปี อาชีพทำธุรกิจ "ในเทศกาลนี้ตั้งใจจะกินเจ มากิน ตั้งแต่ วันแรก แต่ก่อนนี้จะมากินอาหาร มังสวิรัติที่นี่ บางโอกาส การจัดงานปีนี้ดี ดูแล้ว ทีมงาน มีความพร้อม มีระบบในการจัดการ ชอบเรื่องพืชผัก ไร้สารพิษ ผมมากิน สามเวลา ตอนเช้า บรรยากาศดี ตอนเย็นก็ดีชอบมานั่งบนเรือนไทย และมาดูกิจกรรมเวที ชอบพา ครอบครัว มาทานอาหารมื้อเย็น ถ้าเป็นไปได้ อยากให้จัดกิจกรรมแบบนี้ อาจจะเป็น วันเสาร์ -อาทิตย์ คงจะดีไม่น้อย ผู้คนจะได้มาพักผ่อน" คุณบุญเลิศ สุมาพันธ์ อายุ ๔๗ ปี อาชีพเสริมสวย "มากินเป็นประจำเพราะบ้านอยู่ใกล้ๆ อาหารดี ได้หยิบเอง ตักเอง ชอบมาก ตักมาก ชอบน้อยตักน้อย บางทีเราก็กินไม่มาก อาหาร ไม่เหลือทิ้ง ราคาพอดีไม่แพงไม่ถูก ชอบมากินที่นี่ตอนเช้า และตอนเย็น ส่วนกลางวัน ซื้อไว้ตั้งแต่เช้า กินแล้วระบบขับถ่ายดี" นายวันชัย เจียรกุล อายุ ๔๗ ปี อาชีพค้าขาย "ผมมากินตั้งแต่วันแรกของงานเจ กินแล้ว สบายตัวเบาตัว และจิตใจสงบดี ไม่เครียด บรรยากาศ การจัดงานที่นี่ดี ผมมากิน สามเวลา ระบบการจัดการดี ทำให้เรารู้จักว่า มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง ตักเองเลือกเอง กินเสร็จแล้ว ก็เก็บถ้วยจานเอง ลูกผมมาก็ได้ทำ ผมได้สอนลูกไปด้วย ตอนแรก เขาจะลุกไปเลย บอกเขา เขาก็ทำ ผมจะพาครอบครัวมากิน ในวันเสาร์อาทิตย์ ผมรู้สึกว่า คนคิดเงินมีอัธยาศัยดี เอื้ออาทรเรา เข้าไปแล้วใจเรานิ่ง เขาคุยกับเรา เป็นกันเอง มีความเป็นพี่เป็นน้อง ไม่ซีเรียส สัมผัสได้ว่า ไม่เอาเงินเป็นใหญ่ ไม่ใช่แบบแม่ค้าทั่วไป ถ้าไปกินที่อื่น จะไม่มีคุณสมบัติ แบบนี้" พันตำรวจโททิพย์พงษ์ ทิพยเกสร อายุ ๕๐ ปี รองผู้กำกับฯ สปต. เปือยใหญ่ จ.ศรีสะเกษ "มาเห็นแล้วประทับใจ สื่อให้เห็น หลายอย่าง ชอบการแสดงบนเวทีมีบุคลากร ที่มีความรู้ ความสามารถ และคนที่ทำงาน ตามร้านต่างๆ ได้แสดงออก เป็นธรรมชาติดี กลมกลืนกับ บรรยากาศ บทเพลงก็สื่อดี อาหารก็อร่อย แถมราคาถูก" นางปานรุ้ง สุขเกษม อายุ ๔๑ ปี ผู้รับใช้อุทยานบุญนิยม "งานเจปีนี้เป็นปีแรก ที่เราจัด แบบ ระบบตักเอง และเป็นการ เข้าค่ายของ ทั้งชุมชน และใช้ผักไร้สารพิษ ในช่วงแรก มีความกังวลใจ กลัวผักไม่พอ จึงติดต่อทางศีรษะอโศก ได้ฟักทอง และข้าวโพด ขั้นปลอดสาร เมื่อถึงเวลาก็พอทำได้ แต่จะเป็นเมนูอีกแบบหนึ่ง ก็ถือว่าผักพอเพียง ปีนี้ระบบการทำงาน ลงตัวเยอะ ถือว่า ไม่เหนื่อยกันมาก ทุกปีต้องมานอนค้างกัน แออัดกันมาก และต้องตื่น กันมาแต่เช้า แต่ปีนี้ ก็ได้เข้าไปพัก ในบ้านราชฯ เพราะน้ำ ไม่ท่วม เหมือนปีก่อนๆ ยอดคนที่มา รู้สึกว่าจะลดลงนิดหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะเราขึ้นราคา ถ้าตักข้าวราดแกง หนึ่งอย่าง ราคา ๑๐ บาท ถ้าสองอย่างขึ้นไป ราคา ๑๕ บาท ใส่ถุง ราคา ๑๒ บาท และอาหารพิเศษราคา ๑๕ บาท การทำงาน จะมีปัญหา ตอนแรกๆ เรื่องจัดรูปแบบร้าน กว่าจะลงตัวก็ประมาณสามวัน จัดไปจัดมาอยู่สามวัน วันที่สาม จึงลงตัว บรรยากาศก็ใช้ได้ งานครั้งนี้ เราปรับหลายอย่าง ทั้งใช้ผักไร้สารพิษ ผักพื้นบ้าน ใช้น้ำมันงา ในการปรุงอาหาร และใช้ระบบลูกค้า บริการตนเอง (ตักเอง) การทำงาน เน้นคุณธรรม คือ ๕ ส. ๗ อ. และสาราณียธรรม ๖ ไม่มุ่งเน้นที่ปริมาณมาก จะมุ่งเน้นที่ รายละเอียด การอ่านจิตใจ ความสัมพันธ์กับหมู่กลุ่ม ปีนี้การทำงานมีปัญหาน้อยมาก ตกลงเป็นมติแล้วก็เอาตามกัน จึงไม่ขัดแย้งกันเท่าไร ประชุม ตกลงกัน ในที่ประชุมแล้วก็จบ ตั้งแต่ทำงานมา ประชุมกันสองครั้ง และฟังเทศน์ วันหนึ่ง ปีนี้ลงตัวขึ้น พวกเราไม่เหนื่อยกัน เด็กๆก็พอเป็นไป ปีนี้เราแบ่งกำลัง เป็น สามส่วน มีทั้งสหกรณ์ อยู่ฝั่งวารินฯ ร้านอุทยานฯ ที่อุบล และยังมีส่วนหนึ่ง ที่เตรียมงาน ในบ้านราชฯ คือทีม กสิกรรม แม้แบ่งทีมงานกัน และงานก็เยอะ แต่ไม่เหนื่อยกันมาก ปีก่อนๆทุ่มกำลังมาที่นี่เยอะ และ ทำงานเหนื่อย เวลาจะนอน จะเข้าห้องน้ำ รู้สึกยุ่ง ไปหมด ต้องทนเอา แต่ปีนี้นอนสบายๆ แถมตื่นไม่เช้ามาก ออกจากชุมชนตี ๔ และคน ที่นอนที่นี่ ก็ตื่นตี ๔ หลังจากงานเจ ผ่านพ้นไป ร้านเราก็ไม่ปิด เพราะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา เราต้องการให้คนมากินเจ อย่างต่อเนื่อง และ สามารถจัดสรรทีมงาน คือทีมเก่า ก็ทำงาน ถึงวันอาทิตย์หยุด ทีมนิสิตทำต่อ และวันจันทร์ เป็นทีมนักเรียนและคุรุ หมุนเวียนกัน ยอดขายปีนี้ เกาะกลุ่มไม่ลดวูบ เหมือนปีที่แล้ว ถือว่า คนกินสม่ำเสมอ ไม่วูบวาบมาก และฝั่งวารินฯ ก็ขายดีขึ้น" นายแสวง บุญชู อายุ ๖๐ ปี ญาติธรรมกลุ่มอุบลอโศก "รู้สึกดีใจที่คนมากินเยอะ ผมมา ช่วย ทุกวัน ถึงบ่ายโมงกว่า ก็กลับ มาช่วยตรงจุดขายข้าว ส่วนมากไม่ค่อยมีคนยกมา บางที ยกไม่ทัน ปีนี้ข้าวขายดี นุ่มดี ผมว่าคนใหม่ๆ มากินเยอะ คงปากต่อปาก ว่าที่นี่ ขายถูก และ ไร้สารพิษ รู้สึกว่าตัวเองได้มาทำบุญ ก็เต็มใจมาช่วย" นางรินบุญ อโศกตระกูล อายุ ๔๒ ปี ชาวชุมชน แม่ครัวแผนกแกงและน้ำพริก "ในแต่ละวัน ทำแกงออกไป ประมาณ ๓๐-๔๐ หม้อ และการที่ใช้ผักพื้นบ้าน มาทำอาหาร ยากพอ สมควร ต้องใช้ความสามารถเป็นพิเศษ ต้องดัดแปลง ใช้ฝีมือมากๆ อาหารในงานนี้ เป็นเมนูหิน เพราะแล้วแต่ วัตถุดิบ และต้องทำแบบหลากหลาย มีลูกฐาน ๔ คน เริ่มทำงาน ตั้งแต่ตี ๔ ครึ่ง ในการมาร่วมงาน ครั้งนี้ ทำให้เราออกจากภพ ซึ่งเคยอยู่ ร้านอาหาร มานาน มันเบื่อ ก็เลยคิดว่า จะไม่ทำงานนี้อีก แต่พอมาทำในงานนี้ ก็ได้บรรยากาศหนึ่ง งานนี้ยกชุมชน ทั้งหมู่บ้าน ออกมาเลย และการมีลูกเล็กๆ มาด้วย ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงาน เพราะลูกอยู่กับ ทุกคนได้ มีกลุ่มเพื่อน วัยใกล้เคียงกัน ได้รับประโยชน์ส่วนตัวในงานนี้ คือต้องควบคุม อารมณ์ของตนเอง ใจเย็นได้ ไม่ใช้อารมณ์กับลูกฐาน แม้บางครั้ง เขาจะทำอะไรที่ไม่ถูกใจ ได้เอาภาระทั้งลูกตนเอง และลูกฐาน" คุณหนู นามภักดี อายุ ๓๖ ปี เกษตรกรเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ บ้านนาเยีย "ในปีนี้ ปลูกถั่วฝักยาว มาส่งที่อุทยาน ปลูกถั่วเอง ไม่ได้ไปซื้อ จากคนอื่น ในแต่ละวันส่งประมาณ ๔๐ กิโลกรัม ได้เตรียมการก่อนงานเจ ประมาณสองเดือน ตามปกติ จะมาขายผักที่นี่ มีการ ประชุมกัน ทุกอาทิตย์ ซึ่งวางแผนปลูกผักเตรียมงานเจ และงานปีใหม่ต่อกัน ไปเลย ที่มาช่วย งานตรงนี้ คือวันที่ว่าง เอาผักมาส่ง ก็อยู่ช่วยงานหั่นเตรียมก่อนบ้าง ล้างผักบ้าง ในปีนี้ เห็นคนมากินเจเยอะก็ดีใจ และการทำงานที่นี่ ก็ช่วยกันดี มีทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ช่วยกัน และ ประโยชน์ที่ตนเองได้คือ กินเจ และอยู่กับคนที่นี่ มีศีลธรรม ซึ่งจะได้ข้อคิดเรื่องธรรมะ บางที มีปัญหาจากบ้าน พอได้คุยกับคนนั้นคนนี้ ทุกข์ก็เบาลง" นิสิตดาวพร ชาวหินฟ้า อายุ ๔๑ ปี ประธานเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ ราชธานีอโศก "เราเริ่มประชุม กับทีมผู้ผลิต ผักไร้สาร ประมาณสองอาทิตย์ มี ๔ กลุ่มหมู่บ้าน คือ หนองหว้า สำโรง นาเยียและน้ำขุ่น จัดเวรผลัดเปลี่ยนกันมาส่งผัก และมาช่วยในงาน แต่พอถึงงาน ผลผลิตเขาจะต้องส่งทุกวัน เพราะผักจะแก่ก่อน จึงได้มาทุกวัน" ปีนี้ได้ข้อมูลจากปีที่แล้วจึงมีการแก้ไขเพื่อมีผักใช้ให้เพียงพอ ปีนี้ไม่คาดคิดว่า เครือข่าย จะผลิตได้เยอะ เกินโควต้า เป็นปีแรก ที่ร้านใช้ผักไร้สารพิษ ร้อยเปอร์เซนต์ จึงต้องใช้ ความพยายาม ฟักทอง ฟัก และข้าวโพด ได้ติดต่อทางเครือข่าย ศีรษะอโศก ไว้ตั้งแต่ ปีกลาย การใช้ผัก ไร้สารพิษ จึงเข้าเป้า แต่ก็มีอุปสรรคบ้าง ในการที่เราซื้อผัก จากเครือข่าย เพราะจะกำหนด เมนูไม่ได้ จึงต้องมาเปลี่ยนค่านิยม ของผู้บริโภค และต้องใช้วิธีการดัดแปลง เช่น เราเปลี่ยนจากแครอท เป็นมะละกอห่าม ใช้ตกแต่ง อาหาร ให้มีสีสัน และการทำอาหาร ประเภท ซุปผักพื้นบ้าน และลาบ ซึ่งก็ได้รับความนิยม จากผู้บริโภคเป็นอย่างดี คิดว่าในปีหน้า จะต้องวางแผน ให้ดีกว่านี้ ต้องเรียนรู้ว่า จะปลูก ช่วงไหน จึงจะทันงานเจ และจะปลูก แบบไม่ซ้ำซ้อนกัน คิดว่าจะรักษา มาตรฐาน และ คุณภาพของสินค้า ของตลาด และได้พัฒนา ทั้งคนปลูกคนกิน ไปพร้อมๆกัน ทางเครือข่าย นอกจากจะมาขายผัก ก็ยังมาช่วยงาน เหมือนพี่ เหมือนน้องกัน ได้เอื้อเฟื้อ เหมือนมางานบุญ เห็นได้ชัดว่า เป็นมหกรรมงานเจ ที่ยิ่งใหญ่ ของชาวจังหวัด อุบลราชธานี เราก็ทำมาหลายปี แต่ปีนี้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น ระบบ บุฟเฟต์ คือ ระบบพี่ระบบน้อง ตักเอง เก็บเอง บริการตนเอง คิดว่างานนี้ได้บุญ ทั้งผู้ซื้อผู้ขาย สำหรับสิ่งที่ตนเองฝึกฝนในงานนี้คือ ทำอย่างไรจะทำงานโดยไม่ใช้อารมณ์ ในการทำงาน ทำอย่างไร จะยอมรับฟัง คำติเตียน หรือข้อคิดเห็นของผู้อื่น ที่ไม่ตรงกับเรา และ จะบริการ ผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น ในส่วนที่เราทำได้ มีความสุขในการทำงาน งานนี้ทำงาน กับคนจริงๆ เป็นสิ่งที่ ได้เรื่องจิตวิญญาณ บางครั้งก็เห็นกิเลสของตนเอง เวลาลูกค้าตักเยอะ ก็เห็น จิตตระหนี่ ของตน งานนี้ได้บำเพ็ญ ทานบารมี และเมตตาบารมี จะพยายามพัฒนา เรื่องนี้ ให้มากขึ้น" นิสิตดินเย็น ชาวหินฟ้า อายุ ๔๙ ปี แผนกล้างผัก "แผนกล้างผักเน้นหลักว่าจะบริการผัก ที่ประณีต สะอาด ลูกค้าที่มา กินอาหาร เขาไว้วางใจ เรื่องความสะอาด เราก็ต้องเต็มใจ ที่จะทำให้เขาได้รับ ในส่วนนี้ การบริหารจัดการ มีการวางแผนว่า จะวางผักอย่างไร ให้ผู้มา รับบริการ สะดวก หยิบง่ายและน่าหยิบ วางแผนเตรียมการประมาณสองอาทิตย์ มีทีม ทำงานสองคน การทำงานครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อทำงานในช่วง งานปีใหม่ ปีนี้ลงตัว ไม่เหนื่อย และผักก็เสียหายน้อยลง การเข้าค่าย พาณิชย์บุญนิยม ครั้งนี้ ทั้งการทำงาน และสภาวะจิตใจดีมาก ในช่วงนี้บำเพ็ญเรื่องระวังอารมณ์ก่อนงาน และ ทำได้ประมาณ ๙๕% การทำงานร่วมกับผู้อื่นก็ดี ลดภาวะการเอาแต่ใจตัวเองลง เรื่องกินอยู่ หลับนอนก็ทำได้ดี อาจจะนอนดึก ตื่นเช้าบ้าง แต่ก็กิน หนึ่งมื้อได้" นายเถาว์ สยะรักษ์ ผู้รับใช้ฐานกสิกรรม "ในการเข้าค่ายพานิชย์บุญนิยมครั้งนี้ ได้แบ่ง งานกัน ทีมกสิกรรมได้จัดทีมไปช่วยที่แผนกล้างจานและเก็บขยะ รวมทั้งเก็บผักไปส่ง การเก็บผัก จะมีสองทีม คือทีมเก็บในบ้านราชฯ และเก็บที่สวนไวพลัง เราวางแผนงาน เพื่องานในชุมชน จะไม่ชะงัก ได้จัดตัวบุคคลลงพื้นที่ไว้ เพื่อให้เกิดการทำงานต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน จะเน้น ประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่เราจะทำได้ จัดบุคคลลงพื้นที่ไม่มาก ๔-๕ คน แต่มีความก้าวหน้า ไปมาก เป็นการช่วยสนับสนุนทางด้านร้านเจเป็นอย่างมาก ในช่วงนี้เราเพาะต้นผัก เป็นหมื่นต้น พวกกะหล่ำปลี มะเขือเทศ มะเขือพันธุ์ต่างๆ และ พริก ขณะนี้เราลงถั่วฝักยาว กวางตุ้ง คะน้า ที่ตลาดอาริยะ เพราะจะได้ผล ก่อนที่เรา จะจัดงานปีใหม่ เพื่อที่จะมีผักไว้รองรับ และส่งไปที่ อุทยานด้วย ช่วงนี้ทีมกสิกรรมไฟแรง เพราะได้ระบบงานที่ค่อนข้างจะก้าวหน้า มีการใช้ เทคโนโลยี เข้ามาช่วย มีความพร้อม ของเครื่องมือและตัวบุคคล จึงใช้แรงคน และใช้เวลาน้อย ในการทำงาน" นายเจษฎา อ่อนสันเทียะ อายุ ๑๕ ปี สส.ธ.ชั้น ม. ๓ "ได้รับผิดชอบในทีมทำเต้าหู้ มีทีมงาน เจ็ดคนมีชั้น ม.๓ สองคนและชั้น ม.๑ ห้าคน พ่อฐานคือนิสิตกล้าตรง ตื่นมาทำตั้งแต่ตีสอง นอนสามทุ่มครึ่ง แต่ถ้ามีเต้าหู้อยู่ก็ตื่นตีสี่ การทำงานช่วยกันดี ถ้าใครเหนื่อยก็สลับกันพัก ทีมงานมีประสบการณ์ในการทำอยู่แล้ว จึงจัดสรรทำงานเป็นระบบได้ดี ในการทำงาน ผมจะต้อง ควบคุมตัวเองเรื่องโมโห เวลาทำเต้าหู้มันจะหงุดหงิด ถ้ารู้สึกหงุดหงิด จะไป ทำงาน อื่นก่อน ประโยชน์ที่ได้จากการทำงานนี้คือ ได้ฝึกการเป็นผู้นำ การประมาณ คำนวณว่า จะต้อง ทำเต้าหู้เท่าไรจึงจะพอดี และฝึกการอยู่ร่วมกันกับคนอื่น เรียนรู้นิสัย และจริต ที่แตกต่างกัน ทำอย่างไร จึงจะทำงานด้วยกันด้วยดี" สิกขมาตุกล้าข้ามฝัน อโศกตระกูล "ปีนี้เป็นปีที่เราจะทำงานเจแบบการเข้าค่าย ทั้งชุมชน ทุกฐานะ การเข้าค่ายครั้งนี้ใช้หลักสาราณียธรรม ๖ ๗ อ. จะมีเรื่องของธรรมะและ สุขภาพ การใช้อิริยาบถ การหายใจ การใช้อารมณ์กับการงานที่ดี และเรื่องของ ๕ ส. แต่ละฐานงาน จะต้องเน้น เรื่องเตรียมภาชนะเก็บภาชนะล้างเอ งและปัดกวาดให้สะอาด การเข้าค่ายครั้งนี้ จะทำแบบ สนุกสนานแบบพี่แบบน้อง ไม่ซีเรียสกับงาน ไม่จริงจัง ต้องเอาเป็นเอาตายกับงาน แต่จะทำงานไปพลาง ฝึกฝนตนเองกับการงาน ชำเลืองดู จิตใจ ชำเลืองดูการงาน แล้วปรับใจ ไปเรื่อยๆ ได้พบภาพที่คนทุกฐานะ ปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์ ที่ตั้งเอาไว้เป็นอย่างดี ดิฉันให้คะแนน ๘๕ คะแนน เพราะสามารถกินอาหารดี ไม่ล้มป่วยกลางงาน การเข้าค่ายครั้งนี้ถือว่า ประสบ ผลสำเร็จ รู้สึกว่าเป็นงานที่เน้น ทั้งอุดมการณ์ งานเจครั้งนี้เราจะใช้ผักไร้สารพิษ เน้นการ บริการตนเอง การปรุงอาหาร ด้วยน้ำมันงา และการทำงานอย่างเชื่อมร้อย มีเครือข่าย เอาผัก ไร้สารพิษมาส่ง และ ช่วยทำงานตลอดทั้งวัน ฉะนั้นงานนี้จึงมีทั้งคนทำงานฟรี อาหารไร้สารพิษ ความเป็นมิตร เป็นพี่เป็นน้องได้เป็นอย่างดี เป็นภาพที่หาดูได้ยาก ตอนเย็นจะมีร้องเพลงกัน อย่างร่าเริง เบิกบานสนุกกว่าทุกปี" ร้านมังสวิรัติสีมาอโศก จ.นครราชสีมา เริ่มก่อนเข้าเทศกาลกินเจ สมณะเทศนาเล่าว่า เทศกาลเจปีนี้อยู่ในช่วงรำลึกถึง เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา พอดี ซึ่งท่านก็ไปค้นมาจากอินเทอร์เน็ตทาง http://www.thai.net/guanim ได้ว่า ตามประวัติ ที่ทำให้เกิด ประเพณีกินเจขึ้นมานี้ ก็เพื่อเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษ ชาวจีน ๙ คน ผู้เสียสละ ต่อสู้กับชาวแมนจูที่เข้ามายึดครองประเทศจีน อยู่ในขณะนั้น แต่ไม่สำเร็จ จึงถูก ประหารชีวิต โดยการตัดคอ และโยนลงสู่แม่น้ำหลังจากนั้น ก็มีเจ้า มารับวิญญาณทั้ง ๙ ไป ชาวจีน จึงยกย่อง ให้ชายทั้ง ๙ เป็นเจ้าแห่งเทศกาลกินเจ เมื่อถึง เทศกาลกินเจ ก็คือการไว้ทุกข์ ให้บุคคลทั้ง ๙ คน ซึ่งเราเรียกกันว่า เจ้า วันกินเจวันแรก ก็จะตรงกับวันสุดท้าย ของเดือนที่แปด นับจากปฏิทินจีน ถ้าดูจากปฏิทินจีน เทศกาล กินเจ ก็จะตรงกันทุกปี ดังนั้นการกินเจของเราปีนี้ บางคน อาจจะถือโอกาส เป็นการรำลึกถึง ผู้เสียสละในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา หรือ พฤษภาด้วย ก็ได้ ปีนี้สีมาอโศกเปิดบริการอาหารเจเพียงแห่งเดียว โดยพิจารณาตามกำลังของตนที่มีอยู่ นักเรียน ก็แบ่งครึ่งหนึ่งอยู่วัด ครึ่งหนึ่งไปร้าน พวกที่ร้านอ่อนล้า หรือมีปัญหาก็ให้กลับวัด เปลี่ยนคน อยู่วัดออกไป ทั้งผู้ใหญ่ก็เช่นกัน เมื่อเลิกงานแล้วในตอนเย็น ก็จะมีการ สรุปงานด้วย โดยมี สมณะ และสิกขมาตุไปเป็นประธาน สลับกันวันเว้นวัน ระหว่าง ร้านอาหารฯ กับที่วัด กำหนดเป้าหมาย ขยายเวลา เน้นเพื่อสุขภาพผู้บริโภค ตลาดนัดผักไร้สารพิษ ลองไปดูผู้ที่ไปทำงานกันบ้าง สำหรับตัวก้อยเอง ได้มีโอกาสมาร่วมขายอาหารก็รู้สึกตื่นเต้นตั้งแต่วันแรก จนถึง วันสุดท้ายค่ะ ยืนตลอด นี่ดีนะคะที่บริการเขาแบบบุพเฟ่ต์ หนูเพียงแค่ยืนตักอาหาร ใส่ถุง ยังยืนจนขาบวม .... ไม่รู้ว่า จะบวมทั้งตัวด้วยรึเปล่า เพราะตัวเองก็ชิมอาหารมากด้วยค่ะ" น.ส.เกร็ดนวลหิน (หญิง) นักเรียน ม.๓ "หนูรับขายส้มตำค่ะ ก็แทบไม่ได้นั่งเหมือนกัน คนมา เยอะมากช่วง ๕ โมงเช้าถึงบ่ายโมง ตำส้มติดต่อกันหลายๆครก จนบางครั้งก็งง.... จำไม่ได้ว่า ใครสั่งอะไร ตำไทยหรือตำลาว บางทีเขาสั่งอย่างเราก็ไปทำอีกอย่าง แฮ่..!! แต่เขาก็ชม นะคะว่า อร่อย บางคนสั่งทานครั้งหนึ่ง เสร็จแล้วติดใจ สั่งใส่ถุงกลับไปบ้าน อีก ๒ ถุงก็มี นานๆ จึงจะได้นั่งซักที ก็รู้สึก ...เฮ้อ..โล่งอกค่ะ!" นิสิตรอนแสง ม.วช. ปี๓ "ปีนี้เหนื่อยมากเพราะต้องขับรถรับ-ส่ง และอยู่แผนกจัดหา วัตถุดิบ ทำอาหารด้วย ส่วนมากเราใช้ผักไร้สารพิษจากเครือข่ายถึง ๙๕% ที่ซื้อจากตลาด เพียง ๕ % เท่านั้น ผักที่นำมาก็เป็นผักพื้นบ้าน เช่น ตำลึง, ผักบุ้ง, ผักปลัง, หัวปลี ส่วน พวกผักสลัด, ผักกาด, แตงกวา, แครอท, บีทรูท จะได้จากวังน้ำเขียว และวังม่วง" นิสิตส่องฟ้า ม.วช. ปี ๓ ทำหน้าที่ดูแลร้านใบหญ้า (ขายของแห้ง) และ ประชาสัมพันธ์ "ประทับใจพลังรวมของพวกเรา ซึ่งปีนี้เรารวมกันอยู่ร้านเดียว และเน้นเป้าหมาย ไม่มุ่ง ทำงาน เพื่อหาเงินซื้อรถ ซื้อของอะไรเช่นอย่างปีก่อนๆ ปัญหาคือ บริหารจัดการได้ไม่ดีนัก คนไม่เหมาะสมกับงาน จึงทำให้ต้องพูดมาก บอกสอนมาก ก็เหนื่อยค่ะ เหนื่อยกับ อัตตาตัวเอง ไม่อยากบอก ไม่กล้าบอกเขา เพราะกลัวเขาสวนกลับ หรือไม่ก็ทำหน้าบึ้ง ก็อาศัยบอก ให้ที่ประชุมช่วย หรือ รายงานสมณะ, สิกขมาตุ ถือเป็นโอกาสระบาย อีกทางหนึ่ง ก็ให้ท่าน ช่วยด้วย งานนี้ได้ปฏิบัติธรรมต่อสู้กับอาหารใหม่ๆ ที่มีมาหลายชนิด ทำให้กำหนดมื้อ ไม่ค่อยได้ เพราะใจที่อยากจะลองชิม แต่สิ่งที่คิดว่าเจริญขึ้นก็คือได้เข้าใจ และวางใจกันกับ เพื่อนร่วมงาน มากขึ้น เนื่องจากทำงานเป็นทีม ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหาร่วมทุกข์ด้วยกัน"
ร้านมังสวิรัติปฐมอโศก จ.นครปฐม ช่วงเทศกาลเจ กลับมาใช้ระบบคูปอง เนื่องจากไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง และตักอาหาร ให้ลูกค้า ในราคากับข้าว ๒ อย่าง ๑๐ บาท ซึ่งทำให้บริการได้รวดเร็วขึ้น เปิดขายตั้งแต่ ๐๕.๐๐ -๑๓.๐๐ น. หลังจากนั้นนำอาหารใส่ถุงมาวางขายด้านหน้าร้าน มีผู้มาใช้บริการปกติ ผักที่นำมาปรุงอาหารเป็นผักไร้สารพิษเพียง ๔๐% จากกลุ่มเพื่อนบุญ, แม่บ้าน รอบชุมชน ปฐมอโศก และจากพุทธสถาน ยังคงใช้ผักจากตลาดในการปรุงอาหาร บริหารงานด้วยทีมนิสิตสัมมาสิกขาลัยวังชีวิตทั้งหมด ส่วนมากจะเป็นนิสิตผู้อายุยาว เนื่องจาก นิสิตหนุ่มๆสาวๆกำลังอยู่ในช่วงสอบของมหาวิทยาลัยข้างนอก มีแผนกอาหารของนักเรียนสัมมาสิกขาระดับชั้น ม.๑-ม.๖ คละกันไป ร่วมบริหารจัดการ หัดเรียน หัดขาย โดยทำโครงงาน รายรับ-รายจ่าย และบูรณาการเป็นวิชาต่างๆ ถึง ๑๑ วิชา เช่น วิทย์, คณิตฯ, ภาษาอังกฤษ, ไทย ฯลฯ เป็นการฝึกหัดให้เด็กแก้ปัญหา มีการสรุปงาน ๒ วันต่อครั้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเตรียมงานขลุกขลัก เนื่องจากเด็กอยู่ในช่วงปิดเทอม
ชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย สาขาหน้าสันติอโศก ใช้ผักไร้สารพิษ ๑๐๐ % และใช้น้ำมันงาในการปรุงอาหาร เปิดบริการตั้งแต่ ๐๖.๐๐-๑๔.๐๐ น. ใช้ระบบบุฟเฟ่ต์ ในราคาบุญนิยมระดับที่ ๓ ต่ำกว่าทุน อิ่มเอง อิ่มละ ๒๐ บาท บริการ ในช่วงเทศกาล อาหารเจ สามารถกินได้ทุกอย่างในร้าน จะตักอาหารกี่รอบก็ได้ จนกว่าจะอิ่ม โดยมีเป้าหมายให้ผู้ที่ต้องการจะกินเจในช่วงนี้ ได้ทดลองกินอาหารเจ หลายๆอย่าง สวนกระแส กับร้านค้าข้างนอก ที่ขึ้นราคาในช่วงเทศกาลกินเจ ลูกค้า ๙๕ % ช่วยกันล้างจาน และประทับใจ ในบริการ และปรากฏว่าเศษอาหารเหลือน้อยลง จนเห็น ได้ชัด สำหรับอาหารใส่ถุง ราคาถุงละ ๑๕ บาท ข้าวเปล่าถุงละ ๓ บาท พิเศษร้านกู้ดินฟ้า มีผลไม้ไร้สารพิษ ลองกองจากธรรมชาติอโศก จ.ชุมพร และส้มโอ จำหน่าย
ชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย สาขาจังหวัดเชียงใหม่ ที่เชียงใหม่มีร้านอาหารเจเปิดมากมายถึง ๔๐ ร้าน สำหรับร้านชมร.ช.ม. เปิดบริการตั้งแต่ ๐๖.๐๐-๒๐.๐๐ น. ใช้ผักไร้สารพิษ ๑๐๐% จากกลุ่มฮอมบุญ บ้านแม่ลาย จ.แพร่ และ ผักป่า - ผักพื้นบ้าน จากดอยแพงค่า ในการปรุงอาหาร มีเห็ดหอมสด และเห็ดนางฟ้า จากบ้านพืชผัก นำมาปรุงอาหาร มีผักพื้นบ้านเหลือเฟือ ในการนำมาปรุงอาหาร หลังจาก ที่หวั่นใจว่า จะไม่มีผักไร้สารพิษ ปรุงอาหาร ใช้ระบบบุฟเฟ่ต์ กับข้าว ๑ อย่าง ๘ บาท ๒ อย่าง ๑๐ บาท ๓ อย่างขึ้นไป ๑๕ บาท ลูกค้า ล้างจานเอง แจกน้ำสมุนไพรฟรี เช่น น้ำหญ้าถอดปล้อง, น้ำตะไคร้, น้ำใบเตย เปิดซุ้มร้านค้าชุมชน จำหน่ายอาหารแปรรูป ข้าวห่อสาหร่าย แยม น้ำข้าวกล้อง ซุปงา น้ำสมุนไพร มีแผนกอาหารตามสั่ง จานละ ๑๐ บาท พิเศษ ๑๕ บาท อาหารตามสั่ง เป็นที่นิยม เช่น ผัดผักป่า ผัดเห็ดหอม ผัดผักพื้นบ้าน ผัดผักปลังไฟแดง ชาวชุมชน คนวัด นักเรียนสัมมาสิกขาภูผาฟ้าน้ำ และญาติธรรม มาช่วยงานกันอย่าง คับคั่ง มีการนำ ขวดน้ำพลาสติก มารีไซเคิลเป็นรูปนก และไดโนเสาร์ สร้างสีสรร ให้กับร้าน ยิ่งขึ้น เทศกาลกินเจ'๔๗ กำลังจะผ่านพ้น สิ่งที่นักเสียสละทุกคนได้รับ เป็นความคุ้ม คุณค่าแห่ง เวลาชีวิต ...ชาวอโศกเป็นนักมังสวิรัติ ที่ส่งเสริมให้ชนทุกเพศทุกวัย กินอาหารปราศจาก เนื้อสัตว์ ไม่เบียดเบียนทุกชีวิต ผู้ที่ได้มาสัมผัสสัมพันธ์นั้น นับตั้งแต่มาซื้ออาหารเจ มากิน อาหารที่ร้าน มาช่วยเตรียม วัตถุดิบ-ปอก-หั่น-เด็ด ไปจนถึงปลูกผักไร้สารพิษมาส่ง ตลอดจนถึงเรา... ชาวอโศก ที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขเอง ก็ได้ฝึกหัดขัดเกลาตน ทำงานเป็นทีม ด้วยหลากหลาย วิธีการ ไม่เบียดเบียนใจ ผู้มาร่วมงานบุญ เอาใจใส่กัน โดยมีงานเจ เป็นสื่อเชื่อมโยง ... นี่มิใช่หรือ สังคมเมตตาชนที่เกิด ที่เป็นขึ้นแล้ว สะดุดตา สะดุดใจกันบ้างไหมเอ่ย? - ลูกพญาแร้ง - - สารอโศก อันดับที่ ๒๗๕ กันยายน ๒๕๔๗ - |