ตอน ..... เร่งรัดพัฒนาจิตวิญญาณในสังคมบุญนิยม ด้วยไตรสิกขา

กรกฎาคม ๒๕๔๗

วันไหว้ครู ๑ ก.ค. ที่สันติอโศก พิธีกรรมในสายตาพ่อท่านเป็นอย่างไร และพ่อท่าน ให้ข้อคิดใด กับนิสิต สัมมาสิกขาลัยวังชีวิตและนักเรียนสัมมาสิกขาที่ร่วมกิจกรรม ในวันไหว้ครูนั้น ผู้สนใจ ติดตามได้ จากฝ่ายเผยแพร่ ในที่นี้ขอข้ามผ่านในรายละเอียดนั้น

ตรวจหัวใจ ๑ ก.ค. ที่ รพ.พร้อมมิตร พ่อท่านได้มาพบแพทย์เพื่อตรวจหัวใจ เนื่องจาก ผู้ดูแลสุขภาพ เห็นว่าระยะนี้ พ่อท่านมีความดันต่ำลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และมีอาการโผเผ ผสมด้วย จึงนิมนต์พ่อท่าน ตรวจหัวใจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หมอได้ให้คำแนะนำอย่างไร เชิญเปิดไปอ่านได้

สัมภาษณ์การลากเรือประกอบภาพยนตร์ ๒ ก.ค. ที่สันติอโศก คณะถ่ายทำภาพยนตร์ การลากเรือ ประวัติศาสตร์ได้มาขอสัมภาษณ์พ่อท่าน เพื่อนำเอาไปประกอบ ในภาพยนตร์ ดังกล่าวนั้น แต่ในที่นี้ ขอข้ามผ่านในรายละเอียดนั้น ผู้สนใจติดตามได้กับ คณะทำงาน แสงสีเสียงของปฐมอโศก

Michael Jerry son อาจารย์จากมหาวิทยาลัย California และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มาสัมภาษณ์ พ่อท่าน เมื่อ ๒ ก.ค. ที่สันติอโศก หลายประเด็นน่าสนใจยิ่ง เป็นต้นว่า การตีความ พระธรรมวินัย ที่แตกต่างกันนี่ มีอันตรายไหม กฎหมายบ้านเมือง กับพระวินัย ของพระนี่ พ่อท่านเห็นอย่างไร? พระนักปฏิบัติ ในสายตาของพ่อท่านเป็นอย่างไร? ใครที่เป็น ต้นแบบของพ่อท่าน? หนังสือเล่มใด ที่มีอิทธิพล ต่อพ่อท่านมากที่สุด? สันติอโศกในอีก ๒๐ ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร? อโศกจะกลายเป็น นิกายที่สามไหม?

ดร.วิลาสินีและคณะวิจัย "จิตวิญญาณเพื่อสุขภาวะ" ๓ ก.ค. ที่สันติอโศก จากประเด็น คำถาม ที่น่าสนใจ บุญนิยมสอดคล้องกับงานที่ สสส. กำลังทำเรื่องการมีสุขภาวะอย่างไร? ผลการพัฒนา จิตวิญญาณ ดูจากอะไร? คำว่าจิตวิญญาณคืออะไร? ทำอย่างไรจึงจะกระจาย องค์ความรู้ อย่างที่อโศกทำนี้ ไปยังชุมชนอื่นๆ? พ่อท่านให้แนวทางกับ สสส. ในการทำงาน พัฒนาจิตวิญญาณว่าอย่างไร?

สรุปบทเรียน "เตวิชโช ม.วช." ครั้งแรก ๕ ก.ค. ที่สันติอโศก พ่อท่านอธิบายถึงบทเรียน "เตวิชโช ม.วช." นี้ว่าอย่างไร และการเรียนการสอนของนิสิตฯคนแรกที่เข้าสู่บทเรียนนี้เป็นอย่างไร

สากัจฉาธรรม ๑๒ ก.ค. ที่ปฐมอโศก สมณะร่มเมือง ยุทธวโร ได้สนทนาซักถาม ข้อข้องใจ ในธรรมะที่พ่อท่านเขียนอธิบาย คำว่า "ว่าง" กับ "ไม่มี" นำไปสู่คำคมที่ว่า ของจริง สุดท้ายแล้ว มันไม่มี คำพูดหรอก เพราะคำพูดมันบอกของจริงไม่ได้ คุณต้องมีสภาวะ ของจริงก่อน แต่ถ้าคุณ จะเอาแต่ความหมายของภาษานะ คุณไม่มีทางเข้าใจหรอก แล้วมันจะวน มันจะแย้งกันอยู่ ตลอดกาลนาน รายละเอียดของการสนทนาจะเป็นเช่นใด ต้องพลิกไปอ่านแล้ว

พระเจี้ยนเหลยและคณะ ได้มานมัสการสนทนากับพ่อท่าน ๑๔ ก.ค. ที่สันติอโศก ด้วยได้ยิน ชื่อเสียงของพ่อท่าน และสันติอโศกมานานแล้ว ข้าพเจ้าขอข้ามผ่านประเด็น ในการสนทนา ก่อนลาจาก พระเจี้ยนเหลย ได้มอบภาพและผลึกแก้ว เป็นรูปวัดที่ไต้หวัน ซึ่งใหญ่โต มโหฬารมาก และนิมนต์ พ่อท่านไปชม หากไม่ได้ไปไต้หวัน ที่พระราม ๙ ก็มี วัดสาขา และ พระเจี้ยนเหลย มาเป็นเจ้าอาวาส นิมนต์ให้ไปชม เช่นกัน

นวัตกรรมการปกครอง เป็นชื่อโครงการอบรมสัมมนา ครั้งที่ ๓ ที่สีมาอโศก ๑๕-๑๖ ก.ค. จัดโดย พรรคเพื่อฟ้าดิน สาขาลำดับที่ ๓ พ่อท่านได้ไปร่วมงานทั้งเอื้อไออุ่น และ แสดงธรรม หลังจาก การประชุม พรรคเพื่อฟ้าดินแล้ว แต่รายละเอียด ข้าพเจ้าขอข้าม ผ่านเช่นกัน

คืนสู่เหย้า เข้าคืนรัง นศ.ปธ. เป็นชื่องานที่รวบรวมบรรดากลุ่มนักศึกษา ผู้ปฏิบัติธรรม (นศ.ปธ.) เดิมให้ได้มาพบกันเป็นครั้งแรก คล้ายงาน "คืนสู่เหย้า เข้าคืนถ้ำ สัมมาสิกขา" ของสัมมาสิกขา แต่นี่เป็นระดับอุดมศึกษา ที่ได้มาปฏิบัติธรรม งานจัดที่สันติอโศก ๑๗-๑๘ ก.ค. ผู้มาร่วมงาน ได้เห็นร่วมกัน ที่จะตั้งเป็น "สมาคมนักศึกษาผู้ปฏิบัติธรรม แห่งประเทศไทย" รายละเอียดของ การจัดงาน ข้าพเจ้าขอข้ามผ่าน ในรายการเอื้อไออุ่น มีคำถามแปลกๆ ตายแล้วจะไปเกิด ที่แกแล็กซี่อื่น ได้หรือเปล่า แล้วพ่อท่าน จะตอบ ว่าอย่างไร

เทศน์หน้านาคสุวัฒชัย สิงห์คำ ๒๔ ก.ค. ที่ราชธานีอโศก มีหัวหน้าศาลและผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ศาล ทนายและผู้ที่สนใจกว่า ๒๐๐ คน ได้มาร่วมงานบวชของท่านสุวัฒชัย สิงห์คำ ผู้พิพากษาศาล อุบลราชธานี ซึ่งได้ลาบวชในช่วงเข้าพรรษานี้ โดยจัดงานที่บ้านราชฯ แล้วนิมนต์ พ่อท่านแสดงธรรม ในหัวข้อ ทรัพย์แท้ของมนุษย์ จากนั้นจึงไปทำพิธีบวชที่วัด ในจังหวัด ศรีสะเกษ และ ขออนุญาต อุปัชฌาย์ มาอยู่จำพรรษาที่ศีรษะอโศก รายละเอียดของงาน และเนื้อหาของ การแสดงธรรม เป็นอย่างไร ข้าพเจ้าขอข้ามผ่าน

FTA ในสายตาของผู้รู้เป็นอย่างไร ที่อุทยานฯ ๒๕ ก.ค. ได้มีการเสวนาถึงปัญหา และ ทางออกของ FTA โดย อจ.จักรชัย โฉมทองดี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ และพ่อท่าน เห็นอย่างไร ก่อนการเสวนา พ่อท่านได้บอกเล่า ความเป็นมาและจะเป็นไปของอุทยานบุญนิยม เพื่อรู้เท่าทัน เกี่ยวกับ FTA ชาวอโศกควร รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม

คณะเพชรผาภูมิ ๒๗ ก.ค. ที่สันติอโศก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเพชรผาภูมิ กำแพงเพชร ได้มาปรึกษา และบอกเล่าโครงการที่กำลังจะทำ พ่อท่านเห็นว่า เรื่องเงินที่จะได้รับ จากส่วนราชการ มาทำงาน เราจะต้องพิจารณาให้ดี คนที่จะทำงานมีพอไหม สมรรถนะของเรา มีขนาดไหน แล้วก็เอามา ให้มันสมส่วนของเรา ไม่ใช่จะตะกละไปเอามามากๆ แล้วงานทำได้น้อย ไม่สมส่วนกับเงิน อย่างนี้ มันเป็นหนี้เป็นบาป และอย่าไปคิดว่า ถ้าเราไม่เอามา คนอื่นเขาก็เอาไป ทุจริตเปล่าๆ มันเป็นบาปกรรม ของเขาเอง บางทีเขาเอาไป อาจจะทำได้ดีกว่าเราด้วยซ้ำ การได้เงินมา อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องสุข หรือ สนุกอะไร แท้จริง มันเป็นเรื่องทุกข์ ได้มาเราจะต้อง มาบริหารจัดการ และจะต้องเหน็ดเหนื่อย มากขึ้น ที่จะทำให้ได้ผลงาน สมกับที่ได้เงินนั้นมา

สิ่งที่เพชรผาภูมิควรทำก่อนอื่นก็คือ เรื่องความเป็นอยู่ ระบบนิเวศน์ทำขึ้นมาให้ดี ส่วนศาลา หรือ สิ่งปลูกสร้าง อะไรใหญ่ๆ ก็อย่าเพิ่งเลย ทำเฉพาะในส่วนที่เราจะใช้ไปก่อน และอย่าเพิ่ง ไปเน้น การอบรมคนอื่น หรือการสร้างสถานที่ผลิตอะไรออกไปเผยแพร่ ควรทำของเรา ให้ได้ดีก่อน
รายละเอียด ของการพูดคุยทั้งหมด ข้าพเจ้าขอข้ามผ่าน

สังเคราะห์การจัดการศึกษาบุญนิยม ๒๘ ก.ค. ที่สันติอโศก คณะการศึกษา สส.สอ. ได้มา สนทนาซักถาม เรื่องการจัดการศึกษาบุญนิยมมีหลักการและเป้าหมายอย่างไร มีความเหมาะสม กับสังคมอย่างไร การสนทนาบางส่วนเป็นอย่างไร เชิญเปิดไปอ่านได้

คำพรให้นักเรียน ม.๖ ที่สันติอโศก ๒๙ ก.ค. นักเรียนชั้น ม.๖ ได้ขอพ่อท่านให้คำพร เพื่อจะนำ ไปพิมพ์ เป็นหนังสือรุ่น พ่อท่านให้พรว่าอย่างไร

ร้อยเอ็ดอโศก ๓๐ ก.ค. พ่อท่านเดินทางมาพบกลุ่มร้อยเอ็ดอโศก อ.เสลภูมิ เพื่อยุติปัญหา ของสองฝ่าย เกี่ยวกับการจัดตั้งสหกรณ์ ซึ่งมีความต่างทั้งวิธีคิด และวิธีการทำงาน สิ่งที่เหมือนกับ กรณี เพชรผาภูมิ ก็คือ เรื่องเงินจากภายนอก ไม่ควรรับมามากกว่า กำลัง ความสามารถของเรา ไม่ว่าจะเป็น งานอบรม หรือการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ในที่นี้ข้าพเจ้า ขอข้ามผ่าน ในรายละเอียด

ทั้งกรณีของเพชรผาภูมิและร้อยเอ็ดอโศก เป็นสิ่งที่ชุมชนอื่นๆพึงสังวรด้วย คืออย่าฉวย โอกาส ที่สังคม ให้ความยอมรับ มีทุนให้มาใช้ (เพื่อเผยแพร่ความรู้และวิถีชีวิตที่ดีๆ ของชาวอโศก ไปยัง ชุมชนอื่นๆที่อ่อนแอ) แล้วรีบๆ รับทุนนั้นไว้ โดยไม่ได้พิจารณากันให้ดีๆว่า เกินกำลัง ที่จะทำงาน ให้สังคมได้หรือเปล่า แทนที่ทุนนั้น จะเป็นประโยชน์ กลับจะกลายเป็นโทษทันที ยิ่งชุมชน ที่ยังไม่เข้มแข็ง ทั้งคุณภาพและปริมาณ คนในชุมชนยังน้อย แต่ละคนก็ลดละกิเลส ยังไม่ได้ เท่าไรนัก แต่อัตตามานะ กลับมาก แถมยังมีปัญหา ขัดแย้งกันอยู่บ่อยๆ ทุนที่รีบๆ รับมานั้น จะกลายเป็นโอกาสให้ความแตกแยก รุนแรงขึ้นทันที เริ่มตั้งแต่วิธีคิด จนไปถึง วิธีการทำงาน ที่เดิมก็ต่างอยู่แล้ว

ที่สำคัญความหลงกระแสยอมรับ ทำให้รับงานมากเกิน ขวนขวายกับงานอบรม เผยแพร่ คนภายนอก ขณะที่ภายในยังอ่อนแอและไม่อบอุ่นจริง ถ้าเป็นเช่นนี้อาจจะ "ตาย" ก่อน "โต" แทนที่จะเป็น ดาวฤกษ์จรัสแสง ในจักรวาลอโศก กลับจะเป็นอุกาบาตไป

ปิดท้ายบันทึกฉบับนี้ ขอนำเอาข้อความที่พ่อท่านเขียนให้กลุ่มปราการอโศก เนื่องใน วาระครบ ๒๐ ปีของกลุ่ม เป็นการเร่งรัดชาวอโศกให้พัฒนา ไปสู่การรวมกันเป็นชมรม -กลุ่ม -ชุมชน -หมู่บ้าน มีสาระอันใด เชิญพลิกไปอ่านได้


ตรวจสุขภาพหัวใจ

๑ ก.ค. ที่ รพ.พร้อมมิตร พบหมอภากร เพื่อตรวจหัวใจ เนื่องจากที่ผ่านมาช่วงตื่นนอน ใหม่ๆ มีอาการโผเผ ความดันจะขึ้น ๑๔๐/๙๐ อีกทั้งเมื่อ ๓ ปีที่ผ่าน มาพ่อท่านเคยมี อาการวูบไป หลังจากเร่งงาน เขียนมาก คล้ายๆ TIA จึงเกรงว่าจะมีอาการของหัวใจ

คุณหมอภากรเห็นว่า เป็นเรื่องปกติไม่น่าเป็นห่วงอะไร เพราะคนเราจะตื่นนอนได้ ความดัน ต้องขึ้น มันเหมือนกับ Warmed-up (ทำให้ร้อนจัด) วอร์มอัพเครื่อง เมื่อเครื่องดับอยู่ จะสตาร์ท เครื่องได้ เครื่องจะต้องร้อน อันนี้เป็นเรื่องปกติ ถ้าเราไปวัดความดัน ของคนก่อนตื่นนอน ครึ่งชั่วโมง ก็จะขึ้น เพื่อจะปลุกร่างกาย ให้ตื่นขึ้นมาได้ แล้วก็จะสูงขึ้น หลังจาก ตื่นนอนแล้ว ๓ ช.ม. ในคนที่ไม่มีความดันสูง อันนี้เป็นเรื่องปกติ

เนื่องจากพ่อท่านไม่ได้ออกกำลังกายมาเป็นเวลานานแล้ว มีเพียงการเดินบิณฑบาต ซึ่งหมอภากร เห็นว่า ยังไม่พอ ถ้าจะตรวจสภาพการทำงานของหัวใจ จากการเดินเครื่อง สายพานนั้น หมอเห็นว่า อาจจะเดินได้น้อย และผลจะแปรปรวนได้ง่าย โดยปกติ คนที่ไม่มี อาการเจ็บ หรือแน่นหน้าอก การตรวจวัด จากการเดินเครื่องสายพาน จะไม่ให้ผลได้ เท่าไหร่นัก

จากนั้นหมอภากรได้ตรวจความดันโลหิตได้ ๑๒๐/๗๐ ม.ม.ปรอท ชีพจรเร็วไปนิดหนึ่ง แต่ทุกอย่างดี อยากจะให้ลอง ออกกำลังกายสักช่วงหนึ่ง ๓ เดือนแล้วค่อยมาเช็คใหม่ แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่นแน่นหน้าอก หรือเหนื่อยผิดปกติ ก็มาได้เลยนะครับ หรืออยู่ๆ ก็จะวูบไป เหมือนหน้ามืด อันนี้ไม่ต้องรอ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ดูท่านไม่มีปัจจัยเสี่ยง ว่าจะเป็น โรคหัวใจ ถ้าเครียด ก็เป็นปัจจัยเสี่ยง ที่จะเป็นโรคหัวใจได้ และ HDL ไม่ควรจะต่ำกว่า ๔๐ LDL ของท่าน ๑๓๗ สูงไปนิดหนึ่ง ถ้า ๑๓๐ จะดี

ส่วนเรื่องการออกกำลังกายนั้น วิดพื้น ยกน้ำหนัก อะไรก็ตามที่มีการเกร็งกล้ามเนื้อ จะไม่เป็นผลดี ต่อหัวใจ การขี่จักรยานก็ไม่ควรตั้ง แรงต้านมากไป ควรตั้งแรงต้านน้อยๆ หรือเบา แต่ขี่ได้นานๆ จะดีกว่า

ก่อนจากหมอภากร ชมงานเขียนของพ่อท่านว่าดี และกล่าวถึงการเตือนนายกฯ (กรณีหวย หุ้นหงส์แดง) เป็นเรื่องที่ดี เพราะตอนนี้ไม่มีใครกล้าเตือนนายกฯได้


Michale จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สัมภาษณ์

๒ ก.ค. ๒๕๔๗ ที่สันติอโศก Michael Jerry son University of California-Santa Barbara 762 Birch Walk 601 eta,ct 93117 mjerryson @ yahoo.com สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ปัจจุบัน ได้มาเป็น อาจารย์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล คณะศาสนศึกษา ได้มาขอสัมภาษณ์ ชีวประวัติของพ่อท่าน เพื่อนำไปเขียน ในหนังสือ ของมหาวิทยาลัย โดยมีคุณอุสนี จินาพงศ์ ช่วยเป็นล่าม แปลให้

ช่วงต้นของการสัมภาษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติในวัยเด็ก และการเข้าสู่ชีวิตนักบวช กับความรู้สึก ที่มีต่อท่านพุทธทาส

ถาม : ท่านคิดอย่างไรกับการมีภิกษุณี

พ่อท่าน : ก็ดี พยายามทำให้มันถูกตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่านพาทำ

ถาม : ท่านค่อนข้างจะเคร่งในการปฏิบัติ แล้วทำไมพระอื่นๆไม่เคร่งละครับ

พ่อท่าน : คำถามนี้ก็ต้องเอาไปถามท่านเหล่านั้นซิ

ถาม : ทำไมจึงมีพระตำหนิว่าท่านนอกรีต

พ่อท่าน : เพราะเขาไม่เห็นความจริงที่ใกล้ชิด

ถาม : การที่มีพระปฏิบัติแตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติของส่วนใหญ่ ท่านคิดว่า มันผิดไหม

พ่อท่าน : ถ้าแตกต่างแล้วมันผิดจากที่พระพุทธเจ้าสอนก็ไม่ดี แต่ถ้าแตกต่าง แล้วมันถูกต้องกับ สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ก็ดีน่ะสิ

ถาม : ท่านมีขอบเขตแค่ไหนถึงบอกว่า อันนี้ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าสอน

พ่อท่าน : ตอนแรกอาตมาก็เอาตามอัตโนมัติของอาตมาเอง ตามที่อาตมารู้ อาตมาเข้าใจ พอต่อมา เราก็มี พระไตรปิฎกเป็นหลัก และเขาเองก็มีพระไตรปิฎกเหมือนกัน แต่ตีความแตกต่างกัน

ถาม : การตีความแตกต่างกันนี่มีอันตรายไหม

พ่อท่าน : อ๋อ อันตรายซิ การปฏิบัติถึงได้เพี้ยนไป ที่สำคัญก็คือผู้ที่ไม่รู้จริงแล้วมา อธิบาย และ เขียนบันทึกไว้ เรียกว่าตีความพระไตรปิฎก ฎีกาจารย์ อนุฎีกาจารย์ อรรถกถาจารย์ คืออาจารย์ รุ่นหลังนี่ มาตีความบรรยายไว้ แล้วก็บันทึกไว้ คนก็เรียนต่อตามอันนี้มา จึงทำให้ศาสนา ตีความ เพี้ยนไป เรื่อยๆๆ อาตมาจึงไม่ยึดถือตามฎีกาจารย์ เอาพระไตรปิฎกเป็นหลักใหญ่ ศึกษาเอง และตีความเอง

ช่วงจากนี้ไปเป็นการพูดถึงการปฏิบัติที่ต่างกัน แล้วพ่อท่านอธิบายหลัก นานาสังวาส ต่อด้วยเรื่อง การลาออก จากการปกครองของมหาเถรสมาคม

ถาม : ท่านคิดว่ากฎหมายบ้านเมืองกับวินัยของพระนี่ควรแยกจากกันไหม

พ่อท่าน : เพราะความล้มเหลวของวงการศาสนามีแยะ จนกระทั่งจะไม่ออกกฎหมาย มาคุมพระ ที่วุ่นวาย เหลวไหลก็ไม่ได้ อาตมาก็เห็นใจเขา แต่กฎหมายที่ออกมาคุม มันค้านแย้งกับวินัย

ถาม : ถ้าจะพูดใหม่ว่ากฎหมายที่ออกมานี่ก็น่าจะออกมาเพื่อส่งเสริม พระพุทธศาสนา จะพูดอย่างนั้น ได้ไหม

พ่อท่าน : มันก็ควรจะรู้แนวลึก และมีกรณียกเว้น เหมือนกฎหมายต้องมีอนุบท

ถาม : ในสถานการณ์อย่างนี้เหมือนกับกฎหมายบ้านเมืองไม่รู้เรื่องของธรรมวินัยดี ใช่ไหม

พ่อท่าน : ใช่ แต่ในกฎหมาย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เขาก็มีมาตราหนึ่งบอกไว้ว่า ถ้ากฎหมาย ข้อใด ขัดแย้งกับ พระธรรมวินัย ก็ให้ถือเอาพระธรรมวินัยเป็นหลัก แต่เขาไม่ทำตาม เขาทำตามใจเขา พอเราบอก ธรรมวินัย เขาไม่เอาหรอก เขาก็ไปเอากฎหมายมาเล่นงานเรา

ถาม : ท่านพอจะให้คำจำกัดความของพระนักปฏิบัติได้ไหม

พ่อท่าน : พระนักปฏิบัติก็ต้องเรียนรู้หลักการคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้ถูกต้องจริงๆ เป็น สัมมาทิฐิ ซึ่งเป็นข้อแรกของมรรค ๘ เดี๋ยวนี้เขาเข้าใจพระนักปฏิบัติผิดว่า จะต้องไปนั่ง หลับตา ไปป่า เขา ถ้ำ ซึ่งผิดหลักศาสนาพุทธ หลักใหญ่ของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติได้ทั้ง ขณะคิด พูด ทุกอิริยาบถ การกระทำ ซึ่งอยู่ในมรรคองค์ ๘ ทั้งสิ้น แล้วจะเกิดสัมมาสมาธิ ไม่ใช่สมาธิคือ การนั่งหลับตา สะกดจิตเข้าไปอยู่ในภวังค์ ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๒-๒๘๑ บอกไว้ชัดว่า สัมมาสมาธิ คือสมาธิของพุทธนั้น ปฏิบัติมรรค ๗ ข้อ แล้วจะเกิดสัมมาสมาธิ ไม่ใช่ไปนั่ง หลับตาทำเอา อันนั้นมันของ ฤๅษีเก่าแก่ มีมานานแล้ว เหมือนอาฬารดาบส -อุทกดาบส สมาธิอย่างนั้น มีมาก่อน ศาสนาพุทธ

ถาม : ถ้าพระต้องการจะเดินรอยตามพระศาสนา พระก็ควรจะเป็นพระนักปฏิบัติ ใช่ไหม

พ่อท่าน : แน่นอน แล้วปฏิบัตินี่ก็ปฏิบัติได้อยู่ทุกเวลา ศาสนาพุทธนั้นปฏิบัติอยู่ ในสังคม ไม่ใช่ออกป่า ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงยืนยันไว้ ว่า ๖ ปี ที่ออกจากวังไป แล้วปฏิบัติอยู่ในป่า ๖ ปี นั้นผิดหมด ล้วนไม่ใช่ทางปฏิบัติสู่นิพพาน ศาสนาพุทธนั้นปฏิบัติธรรมได้ ทั้งในขณะ คิด พูด ทำ ประกอบอาชีพ อยู่ในสังคม ตามหลักมรรคองค์ ๘ แล้วทำให้ตนเอง และสังคมดี ตามศีล ตามธรรมไปด้วยกัน

ถาม : แล้วพระหลายองค์ที่อนุรักษ์ป่า ท่านคิดว่านั่นเป็นพระนักปฏิบัติไหม

พ่อท่าน : อนุรักษ์ป่าก็อนุรักษ์ป่า พระนักปฏิบัติต้องเรียนรู้แล้วละกิเลส ถ้าอยู่ป่าแล้ว ไม่ได้ ละกิเลส ก็ไม่ใช่นักปฏิบัติ คือมันเริ่มจากความเข้าใจผิดว่า พระปฏิบัตินี่ ต้องอยู่ป่า นี่คือจุดต้น ของการเข้าใจผิด จริงๆแล้วเขายังไม่รู้เลยว่าจะปฏิบัติอย่างไร ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า ปฏิบัติ ๖ ปี ที่อยู่ป่านั้นผิด อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ ข้อ ๓๙๒

ถาม : ที่ท่านว่าต้องเกี่ยวข้องกับสังคมนั้น แค่ไหนจึงจะบอกได้ว่าไม่มากเกินไป หรือน้อย เกินไป

พ่อท่าน : ต้องดูตนเองว่า ตัวเราจะไปเกี่ยวกับสังคมได้มากแค่ไหน ถ้าอวดดีมากๆ ก็เสีย

ถาม : ในช่วงที่มีการเรียกร้องประชาธิปไตย ได้เห็นพระไปร่วมเดินขบวนประท้วงด้วย ท่านคิดว่า ทำอย่างนั้น มันมากไปไหม เพราะอะไร

พ่อท่าน : มากไป เพราะไปเกี่ยวกับกฎหลักของกฎหมายเขา เป็นข้อบังคับของ การเมืองเขา ซึ่งเป็นเรื่อง ของคนที่มีหน้าที่ดูแลการเมือง ก็ต้องเป็นหน้าที่ของเขา เราถ้าจะทำ กับประชาชน เราก็บอก กับประชาชน ไม่ใช่เราจะไปต่อสู้กับฝ่ายการเมืองเอง ต้องเข้าใจหน้าที่ ถ้าจะทำ ก็ต้องพูดกับ นักการเมืองและพูดกับประชาชน คือต้องพูดทั้งสองฝ่าย ถ้าจะเข้าร่วมกับ ประชาชน แล้วไปพูด กับการเมือง อย่างนี้ไม่ถูก มันผิดหน้าที่

ถาม : ถ้าพระจะเกี่ยวกับการเมืองนี่ อย่างที่ออกไปเดินขบวนอย่างนั้นมันผิดหรือเปล่า

พ่อท่าน : ถ้าจะศึกษาก็ไม่ผิด แต่ต้องรู้หน้าที่ ส่วนที่ออกไปเดินขบวนประท้วงอย่างนั้น มันไม่ใช่ หน้าที่ ไม่ใช่กิจของสงฆ์ แต่ก็มีกิจของสงฆ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเหมือนกัน ต้องรู้ว่า ทำอย่างไร จึงจะไม่ออก นอกกรอบ อันนี้สำคัญ ทุกวันนี้อาตมาก็ทำงานเกี่ยวข้องกับ การเมือง ถึงแม้ใคร จะบอกว่า ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่การเมืองก็เข้ามาเกี่ยวข้อง กับเราทุกคนแหละ และเราต้องรู้ว่า เราจะเกี่ยวข้อง อยู่ในหน้าที่ หรือนอกหน้าที่

ถาม : อยากให้ท่านเอ่ยชื่อใครก็ได้ที่เป็นต้นแบบของท่านสัก ๓ ชื่อ

พ่อท่าน : พระพุทธเจ้า

ถาม : หนังสือเล่มไหนที่มีอิทธิพลกับท่านมากที่สุด ที่ไม่ใช่พระไตรปิฎก

พ่อท่าน : ถึงกับมีอิทธิพลนั้นไม่มีหรอก หลายๆเล่มได้อ่าน แต่ก็ไม่มีเล่มไหนที่ถึงขั้น มีอิทธิพล กับอาตมา

ถาม : ท่านคิดว่าสันติอโศกในอีก ๒๐ ปีข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อย แค่ไหน

พ่อท่าน : แน่นอน ก็ชาวอโศกปฏิบัติธรรมตามพระพุทธเจ้า เกิดเป็นวัฒนธรรม เกิดเป็น ระบบ เกิดวิถี การดำเนินชีวิต เกิดแล้วเป็นกลุ่มชนพุทธบริษัท ที่อาตมาแน่ใจว่า นี่คือศาสนาพุทธ คือเป็นคน ปฏิบัติธรรม มีศีลจริงๆ ไม่มีอบายมุข เกิดเป็นกลุ่มชน ที่มีความเข้าใจ ในศาสนา เชื่อถือในศาสนา แล้วไม่ใช่กลุ่มเดียว ตอนนี้เกิดทั่วประเทศแล้ว กลุ่มเหล่านี้เขามั่นใจ ในวิถี การดำเนินชีวิต อย่างนี้แล้ว นับวัน ก็จะมีอัตราการ ก้าวหน้าไปเรื่อยๆๆ แน่นอนอีก ๒๐ ปี ยิ่งจะเจริญ กว่านี้

ถาม : ท่านคิดว่าอย่างอโศกนี่จะเป็นนิกายที่สามไหม ตอนนี้มีธรรมยุติ มีมหานิกาย

พ่อท่าน : โดยความเข้าใจของคนเข้าใจเรื่องนิกายไม่ได้ คนส่วนใหญ่เขาจะจัดให้เรา เป็นนิกาย แต่เรายืนยันว่า เราไม่ได้เป็นนิกาย เราเป็นเพียงนานาสังวาส วิธีปฏิบัติกับสงฆ์ หมู่ใหญ่ เราก็ปฏิบัติอย่าง นานาสังวาส แต่เขาเข้าใจไม่ได้ว่าเราเป็นนิกาย ซึ่งมันเป็นบาป มันเป็น ความผิด มากเลย เพราะคนที่แยกนิกายนี่บาปหนัก เป็นอนันตริยกรรม นิกายมันเป็นการ ทำลายศาสนา

ถ้าจะศึกษาศาสนาแล้วนี่ต้องใช้เวลามากเลยนะ จริงๆแล้วเถรวาทนี่เป็นนิกายมาแล้ว โดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นเป็นเพียง สงฆ์หมู่น้อย เพราะยังมีสงฆ์ที่เป็นมหาสังฆิกะ อันเป็นสงฆ์ หมู่ใหญ่ อีกนิกายหนึ่ง หรือทุกวันนี้ เรียกว่ามหายานนั่นเอง แรกเริ่มที่มีพระมหากัสสปะ เป็นหัวหน้า พาหมู่สงฆ์ รวบรวมคำสอน ของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าสังคายนา ครั้งที่ ๑ นั้น โดยรากฐาน พระมหากัสสปะ มีจริต เป็นพระป่า และเป็นพระป่าขั้นหนัก ระดับอุกฤษฏ์ สุดๆ อันดับหนึ่ง ทีเดียว ดังนั้น กลุ่มคณะที่ร่วมงาน สังคายนาส่วนมาก จึงมีจริตเดียวกับ พระมหา กัสสปะ คำสอนที่รวบรวมไว้ จึงเอียงหนักไปข้าง นิยมป่า คำสอนของ เถรวาท เนื้อหาของ การนิยมป่า จึงมีมาก เคร่งเข้มดี ค่อนเอียงโต่งไปข้างพระป่า พระไตรปิฎก ฉบับเถรวาท เก็บเอาคำสอน ของพระพุทธเจ้า มาเฉพาะแค่นี้เอง คือมีเพียง ๔๕ เล่ม ที่ชาวเถรวาทเรา มีกันอยู่ ส่วนของมหายานนั้น มีมากกว่านี้ มีเป็นร้อยๆเล่ม หลายร้อยเล่ม ชาวอโศก เกิดจาก เถรวาท และ ในขณะนี้ เราเป็น นานาสังวาสกับคณะเถรวาท ขอยืนยันว่า เราไม่ใช่นิกาย เราปฏิบัติกับ ภิกษุเถรวาท ในฐานะ นานาสังวาส ตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติไว้ กับมหายาน ก็เช่นกัน

เมื่อ Michael Jerry son ถามถึงข้อคิดเห็นสุดท้ายก่อนจบการสัมภาษณ์ "อาตมายังเห็นว่า ศาสนานี่ จะกอบกู้ สังคมได้ ทุกวันนี้เขารุนแรงมาก โดยไม่รู้จักศาสนาตามที่เป็นจริง ศาสนาของ สังคม ส่วนใหญ่ ในทุกวันนี้ ไม่มีโลกุตระ ศาสนาที่มีโลกุตระจะช่วยสังคมได้ เพราะไม่ไป รุกราน ไม่ไปสู้ กับใครเลย มีแต่จะช่วยทุกฝ่าย ขณะที่เขากำลังทะเลาะ และ ฆ่ากัน"


ดร.วิลาสินี และคณะวิจัย "จิตวิญญาณเพื่อสุขภาวะ"

๓ ก.ค. ๒๕๔๗ ที่สันติอโศก ดร.วิลาสินี และคณะได้มาทำการวิจัย โดยสัมภาษณ์ เกี่ยวกับ สุขภาวะ ทางจิตวิญญาณ นอกจากสนทนากับพ่อท่านแล้ว ยังได้สนทนากับ ชาวชุมชน สันติอโศก บางส่วนด้วย จากบางส่วน ของการสนทนากับพ่อท่าน

ดร.วิลาสินีแนะนำตนเองและกลุ่มที่มาว่า ได้ช่วยงานของ สสส.(สร้างเสริมสุขภาพ) และ สสส. มาขอให้เก็บข้อมูล กับองค์กรภาคีต่างๆที่มีส่วนร่วมทำงานกับ สสส. ที่ได้รับทุนจาก สสส. เพราะภายใน สิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ สสส.จะมีการเปลี่ยนแผนงานใหม่ "จิตวิญญาณ เพื่อสุขภาวะ" ก็จึงอยากได้ รายละเอียดมาศึกษาของกลุ่มภาคีต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร ที่มาวันนี้ ก็ไม่อยากเรียกว่า เป็นการประเมิน มาขอรับฟังคำแนะนำ จากประสบการณ์ ที่ชุมชนอโศก ทำอยู่ และทางสถาบัน บุญนิยมน่ะค่ะ

ถาม : โดยแนวคิดของบุญนิยมมันสอดคล้องกับที่ สสส.กำลังทำเรื่องสุขภาวะอย่างไรคะ

พ่อท่าน : ถ้า สสส.จะเอาเรื่องของจิตวิญญาณมันก็ตรงกัน เพราะอาตมา ทำงานพัฒนา ทางจิตวิญญาณ เป็นหลัก เราทำกันอย่างเข้มข้น จนมีคนมองว่าโต่ง ที่ว่าโต่งก็เพราะ เกิดจากวิธี การฝึกฝน อบรม ศึกษา เพื่อให้เกิดผลทางจิตวิญญาณ วิธีการต่างๆนั้น คนข้างนอกมองว่า พวกเราสุดโต่ง ซึ่งความจริงแล้วเป็นความเข้าใจผิดทุกอย่าง จุดสำคัญก็คือ แม้แต่คำว่า มัชฌิมา ก็เข้าใจ ความชัดลึกของความจริงไม่ได้ เขาไปแปลความว่า ทำอะไร ให้เป็นกลาง แล้วมา ขยายความว่า ไม่ให้โต่ง ไปทางโน้น โต่งไปทางนี้ ทำอะไรให้เป็นกลาง อันนั้นเป็น คำอธิบายของ ผู้บรรลุ สุดยอดแล้ว หรือ ผู้จะทำอะไรเป็นกลางจริงนั้นคือ ผู้หมดอคติแท้ เป็นผู้ไม่มีกิเลส แม้แต่อยู่ใน อนุสัยแล้ว ในภาคปฏิบัติ จะไม่ให้โต่ง ไปด้านใด ด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะคนที่ยัง ไม่มีจิตบริสุทธิ์ ขั้นดับสิ้น อนุสัยอาสวะ ก็ยังมีอคติทุกคน เพียงแต่จะพยายามสะกด ระงับมันบ้าง ได้มาก หรือน้อยเท่านั้น

มัชฌิมาปฏิปทาแปลว่า การปฏิบัติไปให้ถึงความเป็นกลาง คำว่าความเป็นกลางนี่ เป็นคำจบ เป็นสมดุล เป็นความลงตัวแล้ว ไม่ผลัก ไม่ดูด สงบ สบาย ไม่เอียงไปข้างไหนแล้ว สิ้นอคติจริง

เขาเอาคำตอบคำจบ มาเป็นตัวปฏิบัติ มันจึงผิด

พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าจงตั้งตนอยู่บนความลำบาก แล้วกุศลธรรมจะเจริญยิ่ง นั่นคือ ผู้ปฏิบัติอยู่ ยังไม่บรรลุสูงสุด เป็นอรหัตผล ก็ต้องอดทนต้องข่มฝืน ต้องมีความหนัก ความยากอยู่ ต้องตั้งตน อยู่บนความลำบาก มิใช่อยู่กลางๆได้แล้ว หรือเอาแค่สบายๆ เพราะถ้าผู้ยังไม่ใช่ พระอรหันต์ เอาแต่อยู่สบาย นั่นคือผู้บำเรอกิเลส จึงไม่ใช่สภาพเป็นกลาง แต่ถ้าไปแปลว่า การปฏิบัติ ทางสายกลาง แล้วปฏิบัติไม่ฝืนไม่โต่งไปข้างต้องอดทน อย่างนั้น ผิดแน่ ไม่ได้ขัดเกลาอะไรเลย ซึ่งการขัดเกลา ก็แปลว่า การทนฝืน ต้องตั้งตน อยู่บน ความลำบาก ทุกขายะ กุศลธรรม จึงจะเจริญได้ ถ้าปล่อยตัว ตามสบายนั้น ยถาสุขัง อกุศลธรรม เจริญยิ่ง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๑๕

ศาสนาพุทธทุกวันนี้มันล้มเหลวหมดแล้ว และมิจฉาทิฐิก็ตกผลึกเกาะแน่นอีกด้วย พออาตมา มาอธิบาย อย่างนี้ มันก็สวนกระแสกับทิฏฐิที่เขายึดถือกันอยู่นั้น อย่างยาก ที่จะเจาะ ทะลวง เข้าไปได้

การปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า จุดสำคัญก็คือสัมมาทิฐิ เขาก็บอกว่าเขาก็สัมมาทิฐิ เหมือนกันนะ แล้วมัน ก็อยู่กันคนละข้าง....ก็คิดดูเถอะ อันนี้ไม่มีใครตัดสิน ก็ต้องดูที่ผล ของแต่ละฝ่าย

ถาม : อันนี้เราจะดูผลการพัฒนาทางจิตวิญญาณจากอะไรคะ ?

พ่อท่าน : ก็ดูจากความจริงว่า เขาปฏิบัติแล้วลดโลภ โกรธ หลงได้ไหม หรือการมักน้อย สันโดษ ก็ต้องดูว่า เขาได้ล้างกิเลสจริงหรือไม่ ยิ่งอยู่ในเมืองในกรุงนี่แหละ ถ้าเขาไม่ลดโลภ เขาทำงานฟรี ไม่มีรายได้อะไร เลยได้ยาก อย่างชาวอโศกนี่ ขออภัยที่อาตมา ต้องยกตัวอย่าง ชาวอโศก ไม่ใช่วันเดียว ไม่ใช่ปีเดียว ไม่ใช่แค่ ๕ ปี หรือ ๑๐ ปีเท่านั้น อาตมาทำงานมา ๓๐ กว่าปีแล้ว คนเหล่านี้ ก็ยังอยู่ และยิ่งเห็น การพัฒนาทางกาย วาจา ใจ ถ้าเขาไม่ลดโลภ เขาทนฝืนอยู่ ไม่ได้หรอก เขามาอยู่ที่นี่ อาตมาก็ไม่ได้บำเรอเขานะ ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ถ้าเขาไม่ได้ลดละ ไม่มีมรรคผลจริงๆ แล้วมาอยู่รวมกัน กระเบียดกระเสียร อย่างนี้ ถ้าเขากดข่ม มันจะเกิด ภาวะกดดัน เขาจะไม่สงบ อย่างนี้หรอก มันจะทะเลาะเบาะแว้ง คงวุ่นวาย น่าดูเลย สรุปก็คือ เวลา และ พฤติกรรมจริง เป็นตัวพิสูจน์

ถาม : นอกจากการลดโลภ โกรธ หลงแล้ว พ่อท่านมีเกณฑ์อะไร ในการมองการพัฒนา ทางจิตวิญญาณไหมคะ

พ่อท่าน : พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในระดับชั้นของการพัฒนา จากหยาบ กลาง ละเอียด ความหยาบ คืออบาย พระโสดาบันนี่ดับอบาย พิสูจน์ได้ในสังคมของพวกเราไม่มีอบายมุข โดยเราไม่ได้บังคับ เราก็อยู่กับสังคม ที่เขายังมีอบายมุขนี่แหละ ยกตัวอย่าง บอลยูโร ที่เขากำลังปลุกเร้า กระแส กันเต็มที่ ทั่วประเทศตั้งแต่คนระดับล่างจนบนสุด สนใจ ร่วมรับรสตื่นเต้นนี้ กันทั้งนั้น แต่ในนี้ เราไม่ได้ ตื่นเต้นกันเลย ถ้ากิเลสเขาทนไม่ไหว มันต้องขวนขวาย เขาก็จะแสดงออกมา แต่นี่ไม่มี อย่างนั้นเลย

กามที่จัดจ้าน ก็คืออบายมุข อัตตามานะที่จัดจ้าน เรียกว่ายังหยาบ ตลอด ๒๐-๓๐ ปีมานี้ อาตมา เห็นผลสำเร็จ นี่เป็นขั้นหยาบ ขั้นต้นที่เรายืนยันได้ แต่ Error (ส่วนขาดตกบกพร่อง) ก็มีบ้างนะ

ถาม : คำว่าจิตวิญญาณที่ชุมชนอโศกยึดถือเป็นแนวทาง พอจะจำกัดความได้ไหมคะ ว่าคืออะไร

พ่อท่าน : แนวทางก็ของพระพุทธเจ้า มรรคองค์ ๘ นี่ประเสริฐสุด เป็นทางเอกทางเยี่ยม ไม่มีทางอื่น เอเสวะมัคโค นัตถัญโญ แต่เขาเข้าใจผิดกันหมด ทุกวันนี้เขาไม่ได้ปฏิบัติ มรรคองค์ ๘ เขาไปปฏิบัติ แบบฤๅษี อาฬารดาบส อุทกดาบส เข้าป่านั่งหลับตาทำสมาธิ (จากนี้ไปพ่อท่าน ได้อธิบายถึง จิตวิญญาณ ไปถึงขั้น อริโย สัมมาสมาธิ ของพระพุทธเจ้า)

ถาม : ทำอย่างไรคะจึงจะทำให้องค์ความรู้ที่ชุมชนอโศกได้สร้างขึ้นมานี้กระจายไปยัง ชุมชนอื่นๆ

พ่อท่าน : อย่าใช้คำว่าสร้างขึ้นมาเลย เพราะมันเป็นของพระพุทธเจ้า เราไม่ได้สร้าง ขึ้นมาเอง เราเพียง กอบกู้ หรือฟื้นฟูขึ้นมา จะตอบยังไงดี มันยากยิ่งเหลือเกิน อาตมาก็ว่า อาตมา ทำอย่าง ไม่หย่อนข้อแล้วนะ ก็ต้องตอบว่า ทำอย่างอาตมานี่แหละ หรือใครมีวิธีดีกว่านี้ ก็ช่วยบอก อาตมาด้วย เรื่องนี้ ใจร้อนไม่ได้ ต้องระวัง เพราะความลึกซึ้งของธรรมะ มันมีสภาพ ปฏินิสสัคคะ ซึ่งอาตมา แปลเป็นไทยว่า สัจจะย้อนสภาพ คือธรรมะเมื่อถึงขีดสูง ขั้นหนึ่งแล้ว มันจะย้อนกลับได้ สูงสุด คืนสู่สามัญ ซึ่งสูงแล้วกลับไปเหมือนกับต่ำอีก แต่แท้จริง จิตใจ ไม่ได้ต่ำไปตามเลย คนจึงเข้าใจยาก และเรื่องนี้ มันตีกินก็ได้ด้วย คือคนไม่จริง เอาภาษานี้ ไปหลอกคนอื่นได้ ดังนั้น ถ้าจะพูด เปิดเผย ความรู้ขั้นสูง หรือความจริงลึกๆ ให้เกรียวกราว ไปเลย ก็อาจจะสับสน วุ่นวายได้ และจะเกิด การลวงกัน อย่างครึกครื้นได้ด้วย

ถาม : แต่ถ้าเรามองว่าในภาวะที่ทุนนิยมมันบีบรัดเข้ามามากขึ้นนี่ ทำอย่างไร จึงจะทำให้ ประชาชน ได้ตระหนักถึงทางเลือก อีกทางหนึ่งนี่คะ

พ่อท่าน : อันนี้อาตมาก็เห็นใจนะ อาตมาก็ไม่ได้นอนใจ หรือมีความเห็นขัดแย้งกับ ความคิด อย่างนี้ ใช่ มันก็น่าจะดี แต่มันรีบร้อนไม่ได้ มันมีผลที่จะเสียอยู่สองอย่างก็คือ ถ้าเรารีบร้อน มันจะไม่ได้ เนื้อแท้ และถ้ารีบร้อน แม้จะได้ผลก็จะไม่ยั่งยืน อย่างที่พูดตอนแรกว่า ถ้าเราเปิด กระจาย ออกไปกว้างๆ มันเข้าใจผิดทันที เพราะฉะนั้นความจริงจะต้องค่อยๆทำไป แล้วเกิดแกน ที่แข็งแรง ขยายตัว ไปเรื่อยๆๆ แล้วจะจริง และจะทนทานนานยั่งยืน

ถ้าเรารีบร้อนมันพังง่ายเหลือเกิน และมันก็ได้พังเพราะรีบร้อนมากันมากแล้ว ทุกอย่าง จะต้อง อาศัยเวลา แล้วก็ถึงภาวะสุกงอม จะไปรีบหักคอ จำบ่มไม่ได้ เสียหาย คนที่ไม่เข้าใจก็รีบๆ ร้อนๆ อยากได้ สัจธรรมก็คือสัจธรรม ไม่ใช่ของเล่นๆที่รีบทำลวกๆ ไม่ใช่อาตมาไม่อยาก ให้ได้ผลเร็วๆ มากๆ ก็อยากได้ แต่ใจร้อนไม่ได้ ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพียงแต่มันเป็นวิบาก

อาตมาทำงานมานี่ ไม่มีเครื่องอลังการอะไรช่วยเลย ไม่มีอิทธิพลของอำนาจ ไม่มียศฐา บรรดาศักดิ์ ลูกท่าน หลานเธออะไรไม่มีเลย อำนาจทางการเมืองหนุน อำนาจทาง ความรวย ช่วยก็ไม่มี ศักดิ์ศรี ทางการศึกษา ทางโลกก็ไม่มี ยิ่งการศึกษาทางศาสนายิ่งไม่มีใหญ่ นอกจากไม่มีแล้ว อาตมายัง กระโดด ออกมาจากจอบันเทิง จากเมืองมายา ทำงานโทรทัศน์ กระโดดพรวด ออกมา แล้วมาพูด ธรรมะ ระดับโลกุตระ คุณคิดดูสิ

หลายคนก็หาว่าอาตมาอวดดี อาตมาเป็นคนไม่มีอะไร แล้วมาทำงานนี้ ความยอมรับ ไม่มี เราก็พิสูจน์ ด้วยความจริง ขนาดที่เขาพยายามที่จะคว่ำ ไม่ให้ได้ทำงานต่อเลยนี่นะ อาตมา ก็พยายาม ที่จะทำอย่างไรให้อยู่ได้ ยอมในสิ่งที่ควรยอมได้ อะไรที่เป็นสัจจะ อาตมาก็ ไม่ยอม อาตมาประกาศ บอกกับพวกเราว่า อาตมาจะไม่ถอยหลัง แม้แต่ก้าวเดียว และจะไม่ลงใต้ดิน แม้ครึ่งเมล็ดงา อาตมา จะทำอย่างรายงานความจริงกับสังคม แต่ไม่ได้ทำอย่างโฆษณา เราจะไม่ชวนเชื่อ แม้ความจริง ที่มากเกินกว่าควรเราก็ไม่พูด เพียงรายงานกับสังคมว่า เรามีเช่นนี้ เราเป็นเช่นนี้ เพราะฉะนั้น เราก็จะพิมพ์หนังสือรายงานความจริง แจกจ่าย เป็นหลัก วิธีทำเรา ก็คงเก่งเท่านี้

ถาม : อยากให้พ่อท่านมอง สสส.ที่พยายามพัฒนา โดยเอาจิตเป็นแกนกลาง ของการแก้ ปัญหาสุขภาพ พ่อท่านมองอย่างไร และอยากให้แนวทางไปอย่างไร เพราะว่าสองปี ที่ผ่านมา แผนการ พัฒนาจิตวิญญาณเป็นแผนที่เดินไปช้าที่สุดของ สสส.

พ่อท่าน : อาตมาฟันธงไปตรงนี้เลยว่า จะทำอย่างไร พวกคุณต้องมาปฏิบัติธรรม (เสียงหัวเราะ จากคณะ ที่มาสนทนา) ให้ได้มรรคได้ผลของพระพุทธเจ้า แล้วคุณจะช่วยกันทำงาน อย่างที่พวก อาตมาทำ คุณจะเป็นนักวิชาการเป็นเทคโนแครทที่คุยฟุ้งเต็มหูเต็มหัว แล้วกระจายผล อยู่ตลอดเวลา แล้วตัวเอง ไม่เป็น พูดไปนี่อย่างหนึ่ง หากินอยู่อย่างหนึ่ง ส่วนสอนก็สอนไป พูดก็พูดอย่างหนึ่ง แต่ที่ฉันทำฉันเสวย ก็อีกอย่างหนึ่ง อย่างนี้มันค้านแย้ง ไปไม่รอด นี่คือ สิ่งที่จะต้องแก้ไข

ถาม : ถ้าอย่างนั้นคนที่จะขับเคลื่อนกับงานตรงนี้ ต้องเข้าใจ ใช่ไหมคะ

พ่อท่าน : ต้องเข้าใจและเป็นไปได้ หมายความว่าทิฐิต้องสัมมา ต้องเห็นชัดเจนใน โลกุตระ และ โลกียะ ต้องเห็นชัดเลยว่าโลกียะคือผู้ที่เกิดมาแล้วตีรันฟันแทงกันอยู่ในสังคม เป็นพวกอยู่ใน วัฏสงสาร แย่งกันอยู่อย่างนั้น ขอทานก็มุ่งรวย เศรษฐีก็มุ่งรวย ขอทานก็แย่งเศรษฐีแสนล้าน ถ้าเขา มีโอกาสทำได้ อันนี้เป็นเรื่องจริงเลย เขาเป็นคู่แข่งกันอยู่ในนั้น เพียงแต่ขอทาน ไม่มีโอกาส สะสมอาวุธ ที่จะไปแย่งชิงเขา อาวุธสำคัญคือ ความรู้ คนก็เลยเอาความรู้นี้ เป็นอาวุธ แล้วเอาไป แย่งกัน เพื่อผลประโยชน์ ตนเองทั้งโลก ไม่ใช่แต่เฉพาะประเทศไทย คนโลกีย์เหมือนกันหมด แย่งกันหมด แล้วก็ฆ่ากันตลอดเวลา นี่คือโลกีย์ มันเป็นสัจจะของมัน เป็นอย่างนี้มา ตลอด กาลนาน พระพุทธเจ้า ถึงตรัสรู้ โลกุตระ กิเลสนี่มันเก่งกว่า หิริโอตตัปปะ คุณเชื่อไหมว่า คนที่เขาคอรัปชั่น เขารู้ทุกคนว่า คอรัปชั่นคือความชั่ว แม้แต่การ เอาเปรียบนั้น ชั่วกว่าเสียสละ ใครก็รู้ แต่กิเลสมันใหญ่กว่าความรู้ เขาจึงทำ ยิ่งมีความรู้มากๆ แต่กิเลส มันชนะ ความรู้ก็ยิ่ง จะเป็นเครื่องมือ ที่จะเอาเปรียบ ยิ่งๆขึ้น เพราะฉะนั้น จะต้องลดกิเลส โลกขาดคนลดกิเลส ไม่ใช่ขาดความรู้ เมื่อกิเลสลดได้ ตามทฤษฎีของ พระพุทธเจ้า จะรู้แจ้ง ในโลกุตระว่า ประเสริฐกว่าโลกียะจริงๆ นี่คือ ความฉลาดที่ควรได้ ถ้าชีวิตเห็นว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุข ดีเลิศกว่า การลดกิเลส พระพุทธเจ้าก็โง่ที่สุด เพราะพระองค์ ลดละเลิก สิ่งเหล่านี้คือ โลกุตระ จริง.... มันเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ เพราะงั้นถึงต้องกราบเคารพ บูชา ผู้ที่ทำได้ แต่ถึงจะยากสุดยาก ก็ต้องทำ ไม่มีทางเลือกที่สามแล้ว นี่คือทางเดียว ที่ดีกว่า ที่เหลือในโลก

ถาม : ตรงนี้ดีมากๆเลยค่ะ เพราะว่า สสส.เองก็อยากจะเรียนรู้ว่าใครทำอะไรดีๆ อยู่ที่ไหน แล้วเอา ความดีที่แต่ละส่วนของสังคมทำเนี่ย พยายามสร้างเป็นความรู้ชุดใหญ่ขึ้นมา แล้วก็เอาตรงนี้ ไปบอกว่า ถ้าเราจะก้าวไปด้วยกัน แล้วช่วยกันพัฒนาจิตขึ้นมาเนี่ย มันจะทำอะไรกันได้บ้าง

พ่อท่าน : ดีแล้วล่ะ จะเป็นความเข้าใจหลวมๆ หรือจะเป็นความตั้งใจจริงก็ตาม สมมุติฐาน อันนี้ ถูกแล้ว แก้ไขทางจิตวิญญาณ เป็นหลักนี่ดีแล้ว



รุปบทเรียน "เตวิชโช ม.วช." ครั้งแรก

๗ ก.ค. ๒๕๔๗ ที่สันติอโศก ค่ำมีการสรุปบทเรียน "เตวิชโช ม.วช." ครั้งแรก พ่อท่าน กล่าวนำ ถึงความหมาย และวิธีการ ของการเรียนวิชานี้ว่า

"เป็นครั้งแรกที่เราจะมีรายการเป็นอีกเรื่องราวหนึ่ง ซึ่งอาตมาคิดว่า ควรจะต้องเป็น บทปฏิบัติ แก่นิสิต ม.วช. กันทุกแห่ง เย็นวันจันทร์ซึ่งเป็นวันหยุดของพวกเราเนี่ย ก็เอาเวลานี่แหละ

เราก็จะมาสรุปกัน อาทิตย์หนึ่งที่ผ่านมา เตวิชโชที่เป็นรูปธรรม จะเรียกว่าประยุกต์ก็ ประยุกต์ ทำให้เป็นบทบาท เป็นเรื่อง เป็นราวขึ้นมาก็ได้ คือเรามารำลึก เรามานึกทบทวน ใครมี เรื่องราวอะไร มีสังคมของเรา หรือสิ่งที่เราไปผ่านมา ข้างนอกก็ตาม เป็นสิ่งที่เราควร เอามา พูดสู่กันฟัง เอ้อ เรื่องนี้เหตุการณ์นี้ มันเกี่ยวกับชีวิตจิตวิญญาณ เกี่ยวกับการดับ เกี่ยวกับ ประสบการณ์ ที่เราได้ผ่านมา ใครมีผลดี ใครมีผลเสียท่า แหม พลาดท่าเสียที ขาดทุนจมเลย เกิดเหตุการณ์นั้น เกิดพฤติกรรมนี้ ครั้งคราวนั้นอย่างนั้นอย่างนี้ก็มาบอกกัน บอกแล้ว ใครจะมีข้อแนะ ที่จะพอช่วยกันได้ ก็ทำได้เลย ไม่ได้หมายความว่ามาฟังธรรม มาเทศนา ไม่ใช่ มาเป็นการเสวนา มารวมกัน ต่างคนต่างมีอะไรก็เอามาพูด มาบอกกัน แต่มันมีเป้าหมายว่า เรื่องราวของเรา เป็นเตวิชโช เป็นการรำลึกเหตุการณ์ที่ผ่านมา เรื่องราวที่ผ่านมา มันเป็นข้อด้อย ข้อดีอย่างไร

เราเข้าใจถึงการปฏิบัติแบบพุทธ จะเข้าใจว่าการปฏิบัติสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ ทั้งหมดหยิบขึ้นมา อาชีวะที่เราผ่านอยู่ เรามีกัมมันตะการกระทำทางกาย วาจา ใจ อย่างไร บ้างล่ะ กายกรรม ของเราอย่างนั้น ครั้งนั้น เมื่อนั้น มีเรื่องราวอย่างไร มีเหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยอย่างไร เรื่องจริง ที่ใครประสบผ่านมาอย่างไร นั่นแหละคือบุพเพนิวาสานุสติญาณ คือมารู้ ถ้าเรารู้ เฉพาะตัวของเรา ในบัดนั้น นั่นก็คือบุพเพนิวาสานุสติญาณของเรา ระลึก ทันเลย ย้อนเหตุการณ์ เก่าๆมา แล้วเราก็อ่านในเหตุการณ์ที่ผ่านมานั่นแหละ มีอะไรเกิดขึ้น มีอะไรดับได้ จุตูปปาตญาณ มีอะไรเกิด อะไรดับ หมายถึงเนื้อแท้ ของปรมัตถ์ก็คือ กิเลส นั่นแหละ มันเกิดกิเลสนั่นแหละ เราได้ดับมันไหม เราได้จางคลายลงไปได้บ้างไหม จุตูปปาตญาณ จนกระทั่ง กิเลสเราได้ดับ อาสวะ แหมงวดนี้ เราก็ยังดับอาสวะของเรา ไม่ได้ เอ้อ งวดนี้ ครั้งนี้ แหม ดับเจ้าอาสวะเนี่ย ได้เด็ดขาดเลย ครั้งต่อมาก็ยังทำได้อีก แหม จันทร์นี้ ก็มาบอกกันได้ จันทร์หน้าก็มาบอกกัน โอ้โฮ เรื่องนี้ แต่เหตุการณ์คล้ายกันนะ แต่กิเลส อาสวะตัวเก่านะดับได้เลย แหม ฝีมือๆ เข้าใจแล้วนะ ว่าบทเรียนนี้ คืออะไร

นี่แหละจะเป็นการศึกษา เป็นการทบทวน เป็นการตรวจสอบ จะเป็นการขยายผล แก่กัน และกัน อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เป็นรูปเป็นร่าง เป็นจริงเป็นจัง ไม่ใช่เป็นเรื่องมุข ไม่ใช่เป็นเรื่องคิดเอา ไม่ใช่เป็นเรื่อง สร้างนิทานอะไร ไม่ใช่ ใครมีใครเป็นก็ว่ากันมา แบ่งปัน กันรู้บ้าง โอ้โฮ คนนั้นพูดขึ้น มันคล้ายกับของเรา โอ้ นี่มันเฉียดๆ หรือว่านี่มันไม่เหมือนเรา เลยโว้ย อะไรก็แล้วแต่ จะได้เรียนรู้ ไปในตัว ทั้งที่เราไม่ได้เป็น ไม่ได้พบ ไม่ได้ผ่าน โอ้ คนอื่น เขาก็เป็นได้ ถึงอย่างนี้เชียวเหรอ ของเรา ไม่ยักจะถึงขนาดนี้ โอ ไม่จริงหรอก ของคุณนิดเดียว ของฉัน ก็เยอะขนาดนี้ มันจะเห็นอะไร ขึ้นมาจริงจัง"

นิสิต ม.วช.ปีหนึ่งคุณทองแก้ว นาวาบุญนิยม เป็นรายแรกที่สรุปบทเรียนเตวิชโช ของตน ดังนี้ "คือทุกครั้งที่ตื่นขึ้นมา พออยู่กับพระธาตุนะคะ ดิฉันก็จะตั้งจิตของเราให้ผ่องแผ้ว เหมือน พระธาตุ นะคะ ก็จะตั้งจิตอย่างนี้ทุกวันว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เมื่อวานน่ะค่ะ กำลังซักผ้า อยู่ข้างล่าง เด็กน้อยสัมมาสิกขาน่ะค่ะ ก็มาเปิดน้ำแล้วน้ำ มันก็ไหลทิ้ง เขาก็เอามือ ไปวักน้ำ แล้วน้ำมันก็ไหลทิ้ง เราก็เลยมาจับจิตว่า ที่เราหลุดวจีกรรม ที่ไม่ดีออกไป ไอ้หนู ปิดน้ำหน่อยซี่ ใช้น้ำเปลืองน่ะ เป็นหนี้นะ คือเราสอนเขา แต่วจีกรรม มันไปว่าเขา ไม่ได้มี เมตตาน่ะค่ะ มันเหมือน ด่าเขาค่ะ

พ่อท่าน : อ่านใจเราให้ออก ว่าใจเราไม่มีเมตตา อันนี้ดี ความจริงเกิด อาตมาขออธิบาย แทรกนะ อย่างที่เขาพูดเนี่ย มีนัยละเอียดว่า เราว่าเขา ที่จริงว่ามันก็ถูก มันก็ดี แต่ลีลา ที่เราว่า สำนวน ที่เราว่า สำเนียงที่มันออกไปในการว่า หรือจริงๆแล้ว กิเลสเราเองมีไหม ในขณะนั้น บางคน มีนิสัยแรง พูดแข็งๆ แต่กิเลสไม่มีหรอกในใจ และอย่าหลงเข้าใจผิด ว่าตัวเอง นิสัยอย่างนี้แล้ว ไม่มีกิเลส ไม่ได้นะ นิสัยแข็งด้วย กระด้างด้วย แรงๆ หยาบๆด้วย แล้วจะตีกิน ไม่ได้ บางคน นิสัยสุภาพ ก็ต้องอ่าน สัมผัสแล้ว แหม พูดเพราะเลย แต่จริงกิเลสเยอะเลย อยู่ข้างใน บางทีลีลา หวานเชียวนะ แต่กิเลสพรึบพรับๆ อยู่ข้างใน เราต้องอ่านให้ชัดเจน ทั้งนอกและใน

นิสิตทองแก้ว : ดิฉันตั้งใจว่า ถ้าเราจะบอกเด็ก เราต้องดูใจเราก่อน ว่าเรามีเมตตาไหม ถ้าเรา ไม่มีเมตตา แล้วก็จะโกรธหรือว่าอะไร เราก็จะไม่พูดอีกแล้ว คราวนี้ก็เจออีก แต่คนละคน เราก็รู้สึกว่า ได้ปรับจิตแล้ว เขาก็เปิดน้ำ ก็เลยบอกเขาว่า ไอ้หนูถอยหลังมาอีกนิดหนึ่ง แล้วน้ำ มันจะไม่หยดทิ้ง ก็รู้สึกว่า เออเราผ่านค่ะ รู้สึกว่าจิตเราดีขึ้น แล้วก็คงต้องขอบคุณ ในรุ่นพี่ว่า เราต้อง ละเอียดอ่อนในวาจา เราไม่มีเจตนา แต่เราต้องละเอียดมากกว่านี้ ดีนะที่เรามีพี่ๆ คอยบอกค่ะ

พ่อท่าน : ขออธิบายซ้อน ในขณะที่เราได้ปฏิบัติ อย่างที่ทองแก้วเขาพูดเนี่ย วาจาเรา ออกไป เราก็ต้อง อ่านวาจาว่าสัมมาวาจา นอกจากสัมมาวาจา มันมีประธานคือจิตที่เป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ถ้าวาจาเราเข้าใจ สัมมาวาจาเราก็รู้แล้วว่า มันไม่งาม สำเนียง สำนวน อย่างโน้น อย่างนี้ไม่งาม ในใจเราล่ะ อ่านด้วย บางคนเข้าใจโดยปริยาย เข้าใจโดยสำนึกสามัญ แต่ไม่ได้อ่าน เข้าไป ถึงจิตจริง เพราะฉะนั้น มันก็จะไม่มีญาณที่จะลึกซึ้ง ที่จะชำนาญ ฝึกอ่าน ผลที่มันไม่ได้ ไปทำที่ใจ ก็คือ ไม่ได้มนสิการ มันควบคุมได้แต่วาจา ว่าวาจาเราได้ปรับขึ้น ดีขึ้น มันก็จะได้แต่แค่วาจา ถ้าผู้ใด อ่านใจเราด้วย ปฏิบัติใจ ทำกันที่ใจด้วยในขณะนั้น ฝึกเข้าๆ บางทีมันอาจจะช้านิด ช้าหน่อย ก็ไม่เป็นไร พอชินๆเข้า มันจะอ่านทัน ทั้งข้างนอกข้างใน แล้วก็ปรับได้ ทั้งข้างนอก ข้างในเลย มันก็จะเกิดผลทั้งเห็นรากเหง้าแท้ ที่เป็นตัวเหตุอยู่ที่จิต ซึ่งมักจะมีกิเลส นั่นแหละ เป็นตัวการ เพราะฉะนั้น จิตหรือกิเลสจะสั่งการออกมา เป็นกายกรรม วจีกรรม หรืออาชีวะ อะไร ต่างๆนานา มันจะมีตัวจิต เป็นประธานเสมอ

ข้างต้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างให้เห็นรูปการของบทเรียนเตวิชโชครั้งแรก ที่พ่อท่านเริ่ม นิสิต รายอื่น ก็จะเป็นเช่นนี้ คือมีการทบทวนบอกเล่าถึงสภาวะจิตของตนเอง จากประสบการ ที่เกิด แล้วแต่ละคน ได้พิจารณา หรือได้ลดละกิเลสของตนอย่างไร โดยพ่อท่านจะอธิบายเสริม ให้ความรู้ ไปเรื่อยๆ ต่างไปจากการแสดงธรรม ที่พ่อท่านจะพูดไปเรื่อยๆ ตามที่ต้องการ จะสื่อสอน

เมื่อพ่อท่านไปที่บ้านราชฯหรือปฐมอโศก ถ้าตรงกับวันจันทร์ก็จะมีรายการเตวิชโช อย่างนี้ เช่นกัน


สากัจฉาธรรม

๑๒ ก.ค. ๒๕๔๗ ที่ปฐมอโศก สมณะร่มเมือง ยุทธวโร ได้สนทนาซักถามปัญหาจาก ข้อเขียน ที่พ่อท่าน ได้เขียนลงในเราคิดอะไร มาฟังกันว่าการสนทนาเป็นอย่างไร?

ยุทธวโร : ที่พ่อท่านอธิบายธรรมะในเราคิดอะไร ถ้าโดยปรมัตถ์ผมไม่ติดใจ หลายๆ อย่าง ที่พ่อท่าน อธิบายมันเนื้อเดียวกันเลย แต่เปลือกคนละเปลือกเท่านั้นเอง

พ่อท่าน : ก็มีทั้งเปลือก มีทั้งตัวลึก

ยุทธวโร : เช่นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์นั้น ปุญญภาคิยา กับ อุปธิเวปักกา พ่อท่านบอก บุญคือ ส่วนของบุญ พอพ่อท่านอธิบายตรงนั้น ภาษาตัวบนน่ะ เหมือนกัน เนื้อหาผมว่า มันตัวเดียวกัน ผมอ่านดูบางทีภาษายังตัวเดียวกันเลย ผมว่าจะมาถามพ่อท่าน หลายครั้งแล้ว เช่น อากาสาฯ ว่างจากกิเลส พอมาถึงอากิญจัญญายตนะ กิเลสไม่มี ปัญหามันคือ กิเลสไม่มี ผมรู้สึกว่า ถ้าผมเป็น นักวิชาการเนี่ย เอ๊ะ แล้วมันต่างกันตรงไหน ในสองสภาวะนี้ โดยจิตใจผม ไม่ติดใจ ว่าไม่ต้องไปติดเรื่องเปลือกภาษา ใช่ไหมครับ เรามุ่งสู่การลดกิเลส

พ่อท่าน : คุณเข้าใจในรายละเอียดไม่ได้ แล้วผมก็ยังอธิบายไม่เก่ง มันไม่ใช่ อันเดียวกัน โดยภาษา อากาสานัญจายตนะ กับ อากิญจัญญายตนะ จะไปเหมือนกันได้อย่างไร

ยุทธวโร : โยมถามผม ว่าอันหนึ่งคือ รับรู้ด้วยตัวว่าง อีกอันหนึ่งคือ ไม่มีกิเลส ไม่มีตัวนั้น ไม่มีสภาวะนั้น

พ่อท่าน : ว่างคือว่าง เป็นสภาพของตัวนี้ อากิญจัญญายตนะก็คือตัวนี้ไม่มี อะไรคือไม่มี มันคล้ายกัน มากที่สุดเลย แต่ว่าสภาพคุณลักษณะของตัวตั้งและตัวเป็น ว่างนี่คือว่าง อันนี้คือว่าง เอ่อ .... ว่าง หมายความถึง เราอ่านสภาวะลักษณะ "ตัวความว่าง" มันอาจจะเข้าใจ เหมือนไม่มี อะไรเลย

ยุทธวโร : อันนั้นมันฤๅษี พ่อท่านบอกว่าว่างจากตัวตน ว่างจากกิเลสนั้น ว่างจากรสเสพ อันนั้น

พ่อท่าน : ถ้าเป็นฤๅษีก็ว่างที่เป็นรูปธรรม ถ้าพุทธก็ว่างจากกิเลส ทีนี้ที่ว่านิดหนึ่งน้อยหนึ่ง ไม่มี คือ คุณต้องตรวจสอบที่จิตเรา ว่ามันมีหรือไม่มี ไม่ใช่ว่าง คุณต้องยืนอยู่ให้ถูกทิศเลย หรือ จับประธาน จับกรรมให้ดี อากาสานั้นเราอ่านความว่าง ว่าเป็นอย่างไร ตรวจลักษณะความว่าง จริงว่าง มันก็เหมือนความไม่มี ส่วนอากิญจัญญา เราจับที่จิต ตรวจที่จิตว่า ไม่มีอะไรที่จิต จิตสะอาดหรือไม่ มีเศษ ธุลีละอองนิดหนึ่งน้อยหนึ่ง ก็ไม่มีติดอยู่ที่จิต ก็จิตมันว่างจากกิเลส เกลี้ยงนั่นแหละ ภาษาพูด ก็เลยเหมือนกันได้ แต่สภาวะของมุมเหลี่ยมมันต่างกัน นี่คือ ความละเอียดสุด ของศาสนาพระพุทธเจ้า มันละเอียดจนกระทั่ง ไม่มีมุมเหลี่ยมไหน ที่จะมา ค้านแย้งได้เลย ครบทุกอย่าง ทั้งๆที่อันเดียวกัน (ใช่) อธิบายหมดเลย ทั้งด้านนอก ด้านใน ด้านสูง ด้านต่ำ ตั้งอยู่ข้างนอก แล้วอธิบายเข้าไปข้างใน เหลี่ยมโน้น เหลี่ยมนี้ ตรวจหมด

ยุทธวโร : พ่อท่านบอกว่าง ว่าง ว่างจากไม่มีอะไรเลย ไม่มีตัวนั้นเลย โอเค ตอนนี้จบ อากาสาฯ ไปแล้ว พอขึ้น อากิญจัญญายตนะ ก็ไม่มีไอ้นี่แหละ ก็คือไม่มีนั่นแหละ

พ่อท่าน : นั่นแหละ แสดงว่าคุณเอง คุณตั้งทิศไม่ถูก และก็ยังจับสภาวะก็ไม่ถูก มิเช่นนั้น ท่านจะตั้ง (ภาษา) ขึ้นมาทำไมล่ะ

ยุทธวโร : ใช่ ผมถึงได้ถาม

พ่อท่าน : ใช่คืออะไร ภพภูมิของคนที่ตามไม่ถึงก็คือไม่ถึง อย่างคุณนี่แหละ มันจะเหมือน กับ เหลือน้อย กับ ไม่มีเลย นี่จะรู้ยาก อย่างนี้ผมก็เคยพูดมา แล้วนี่ยิ่งเหมือนกันแหละ มันคือ ความไม่มี กับ สิ่งนี้สะอาดแล้วไม่มีแล้ว แต่อธิบายคนละมุม

ยุทธวโร : ใช่ ผมก็เข้าใจที่พ่อท่านอธิบาย แต่โดยสภาวะมันเหมือนตัวเดียวกัน (ก็ถูกสิ) เพราะอีกอันหนึ่ง ก็คือว่าง ว่าง ว่างจริงๆ ว่างจนไม่เหลืออะไรแล้ว อีกอันหนึ่งก็ว่าไม่มี เศษเล็ก เศษน้อย ไม่มีเลย

พ่อท่าน : รู้จักความไม่มี และตรวจสอบให้ได้จริงๆเลยว่ามันไม่มี มันจะมีอะไรอีก ธุลีละออง หรือไม่ ก็ต้องตรวจสอบ อีกทีหนึ่ง เรียกว่า ทุกมุมเหลี่ยมเลย

ยุทธวโร : อันนั้นก็เหมือนกัน ว่าง จริงหรือไม่ อ่านให้ดีๆ (ก็ถูกแล้วไง) ผมก็ว่า มันตัว เดียวกัน

พ่อท่าน : มันไม่มีภาษาแล้ว แต่ต้องรู้จุดยืนว่าขณะนี้คุณจะตรวจตรงไหน คุณอยู่ตรงนี้ ตรวจ หรือ คุณอยู่ตรงนั้นตรวจ ก็ตรวจความหมดไม่เหลือ แต่ก็อันเดียวกันแหละ (ใช่) อ้าว

ยุทธวโร : ผมถึงได้บอกว่าภาษาเปลือกนี่อันเดียวกัน แต่เวลาพ่อท่านอธิบายไป สมมุติว่า ฝรั่งเขาถามนะ ผมไม่ติดใจเรื่องสภาวะนะ โอเค เรามุ่งเข้าสู่การหลุดพ้นนะครับ แต่พอโดย ภาษานี่ ขีดจำกัดของภาษา มีมากเลย เพราะว่าอะไร มันต่างกันตรงไหน อันหนึ่งบอกว่าง อีกอันหนึ่ง บอกว่าไม่มี

พ่อท่าน : มันก็ต่างกันตรงที่เราจะอธิบายลักษณะธรรมให้ครบ คุณก็จับมาหาภาษา ไม่มี กับ ว่าง มันก็ตื้นๆ แค่นั้นเอง สภาวะธรรมก็บอกแล้วว่า อันนี้มันว่าง อันนี้ตรวจนอก อันนี้ อยู่ข้างใน มันตรวจออก อย่างนี้เป็นต้น อันนี้มันตรวจว่าง คือทุกๆอย่าง มันว่างหมดเลย พอเวลาบอกว่า นิดหนึ่งน้อยหนึ่งไม่มี จับสภาพตัวเรา จิตเราแล้วตรวจว่า อะไรมันมีเหลืออยู่อีก ก็ต้องตรวจ จนเห็นว่า ไม่มีเลยนิดหนึ่งน้อยหนึ่งก็ไม่มี หนึ่งตรวจความว่าง กับอีกหนึ่ง ตรวจจิต ที่มันสะอาด มันไม่มี

ยุทธวโร : ตรวจนอกของพ่อท่านหมายถึงขนาดไหน ก็พ่อท่านว่า อากาสาฯ ตรวจนอก ไม่มีๆ

พ่อท่าน : มันเป็นการตรวจสอบทุกด้าน ทุกแง่ ทุกมุม ทุกเชิง คือความละเอียดสุดยอด ของธรรมะ พระพุทธเจ้า ซึ่งมีทฤษฎีที่ตรวจสอบอย่างไม่ให้เหลืออะไร ที่จะค้านแย้งได้เลย แล้วก็จริง แล้วก็มีทิศทาง มีสถานที่ มีสภาวะ มีขอบเขต มีนอก มีใน มีล่าง มีบน นั่นแหละคือ การตรวจสอบ ความว่าง นิพพานสูงสุด แล้วตรวจสอบทุกมุม อากาสานัญจา วิญญาณัญจา อากิญจัญญา แม้ที่สุด เนวสัญญานาสัญญา

ยุทธวโร : ผมเข้าใจว่าการตรวจสอบในแง่ของความรู้ว่ามัน ว่าง ขนาดไหน กับ ตรวจสอบ ความไม่มี ว่ามัน ไม่มี ขนาดไหน ดับจนไม่มีมันขนาดไหน ผมว่า อากิญจัญญายตนะ ตรวจสอบ ในแง่ของความดับ ส่วนอากาสานัญจายตนะ ตรวจสอบด้วยความรู้ ใช่มั้ยฮะ รู้ว่า มันว่างให้ได้

พ่อท่าน : รู้หมดเลย ตรวจสอบด้วยความรู้ทุกอย่าง ไม่ใช่ด้วยความดับ

ยุทธวโร : ดับนี่คืออากิญจัญญายตนะ ดับไม่ให้เหลือ ไม่ให้มี เพราะอากิญจัญญายตนะ ดับจนไม่มี

พ่อท่าน : ไม่ใช่ ไม่ใช่ ตรวจสอบด้วยญาณหมดทุกอย่าง อากาสานัญจายตนะก็ญาณ วิญญาณัญจายตนะ ก็ญาณ อากิญจัญญายตนะก็ญาณ เนวสัญญานาสัญญายตนะ เท่านั้น ที่ต้อง "พ้น" ความเป็นอย่างนั้นให้ได้ เพราะมันยังไม่ใช่ "ญาณสูงสุด" ถ้าใครยังเป็น หรือยังมี ความรู้อย่าง เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ยังไม่สมบูรณ์ ต้องรู้ทุกอย่าง อากาสานัญจายตนะ ก็ต้องรู้ วิญญาณัญจายตนะก็ต้องรู้ อากิญจัญญายตนะก็ต้องรู้ ที่สุดอะไรที่ไม่รู้ไม่มี จะแค่ "รู้ก็ไม่ใช่ ไม่รู้ก็ไม่ใช่" อย่างเนวสัญญานาสัญญายตนะก็ไม่ได้ ต้องรู้ทุกอย่าง สัญญาเวทยิตนิโรธ ต้องรู้นิโรธ นี้เป็นนิโรธสุดยอด สัญญากำหนดลงไปให้รู้ทุกอันๆๆ เวทยิตังคือการเคล้าเคลียอารมณ์ คือการตรวจสอบ ทุกแง่ทุกมุมนั่นเอง ต้องล่วงพ้น ความไม่รู้ เนวสัญญานาสัญญายตนะนั้นคือ ยังไม่รู้สมบูรณ์ คือ เนวสัญญานาสัญญา แปลว่า มีสัญญา ก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ แปลว่า กำหนดรู้ก็ไม่ใช่ ไม่กำหนดรู้ก็ไม่ใช่ สรุปก็คือ มันยังรู้ ไม่สมบูรณ์นั่นเอง จึงต้องรู้ให้สมบูรณ์ เป็น สัญญาเวทยิตะ คือให้สัญญาเคล้าเคลีย อารมณ์ ทั้งหมด ให้รู้ทะลุทะลวง จนไม่เหลือ ว่า เป็นนิโรธ สุดยอดแล้ว

ยุทธวโร : ฟังพ่อท่านพูดเหมือนกับเราจะต้องเข้าไปกอดกับกิเลส (ไม่ใช่กอด) แล้วเรา ชัดเจน ตรงที่ว่า เราไม่มีปนเปื้อนกับตรงนั้นเลย แทบจะเหมือนกับเช็คคุณจริงๆเลย อย่ามาคิดเอา เหมือนกับบุหรี่น่ะ ผมกอดกับบุหรี่ ให้ตายขนาดไหน ผมก็อากาสาฯกับบุหรี่จริงๆเลย ผมก็อากิญ จัญฯกับบุหรี่ชัดๆเลย ไม่ว่าจะแง่ไหนมุมไหน แม้เรื่องอาหาร เรื่องกาม (ก็ต้องตรวจ ให้มันครบ) แต่ภาษาคือ โยมเขาถามผม ระหว่างว่างกับไม่มี

พ่อท่าน : คุณจะไปฟังไม่ได้หรอก คนที่ภูมิไม่ถึงนี่ เขาจะถามอย่างงงๆ แน่ๆ เขาจะไม่รู้ เลยว่า อากาศ กับ ความว่าง space กับ ความไม่มีเนี่ย nothingness มันว่าง มันไม่มีเหมือนกัน นี่น่ะ แต่มันไม่เหมือนกัน พวกคนที่ภูมิตื้น เขาก็บอกว่า มันว่างแล้ว มันไม่มีแล้ว แต่คนที่ลึก กว่านั้น มันยังมีนัยะ ยังมีแง่เชิงอีก เพราะฉะนั้น เมื่อละเอียดเข้าไปถึงขั้นละเอียด อย่างนี้แล้ว เขาจะจับ ความละเอียด ที่ต่างกันนี้ไม่ได้

ยุทธวโร : อันนี้พ่อท่านอธิบายสภาวะ แต่ผมกำลังบอกว่า พ่อท่านอธิบายภาษาของ อากาสาฯ กับ อากิญจัญญาฯ คำว่า ว่างกับไม่มี นี่ต่างกันตรงไหน แต่นี่คือสภาวะ ใช่มั้ยฮะ

พ่อท่าน : จริงๆ ถ้าคุณเข้าใจคำว่าว่างกับไม่มีนี่นะ ถ้าคุณเข้าใจภาษาดีๆแล้ว คุณก็จะรู้ว่า มันต่างกัน แต่คุณเอง คุณก็ยังไม่มีปัญญาพอที่จะรู้พยัญชนะสองตัวนี้ ว่าง ห้องนี้ว่าง คุณก็เลยรู้ว่า เอ้อว่าง ห้องนี้ไม่มี ก็คือไอ้สิ่งที่คุณต้องการที่จะให้มี มันไม่มี

ยุทธวโร : ผมก็ว่างจากตรงนั้นด้วยก็ได้นี่

พ่อท่าน : ไม่ได้ต่อนี่ เขาไม่ได้ต่อ ว่าว่างจากตรงนั้นเขาไม่ได้ต่อ เขาบอกห้องนี้ว่าง

ยุทธวโร : มี พ่อท่านว่า ที่นี่ว่างจากช้าง แต่มีคน

พ่อท่าน : ใช่ คราวที่พูดไล่มาก็ไล่มา พอมาถึงอากาสาฯ มันไม่ได้ว่างจากอะไรแล้ว อากาสาฯ แปลว่า ความว่าง ห้องนี้ว่างมันก็ว้างว่าง แต่ถ้าบอกห้องนี้ไม่มีขวดก็คือไม่มี เพราะฉะนั้น ภาษา ถ้าดูเผินๆ ก็เหมือนกัน แต่คนที่ละเอียดแล้วนี่นะ ก็จะเห็นว่า ยังมีความต่างกัน

ยุทธวโร : แต่พ่อท่านมีขีดจำกัดของภาษาไหม เพราะผมอ่านใน เราคิดอะไรนี่ พอเอาตัว หนังสือ มาจับ ก็เป็นตัวเดียวกันเลย ผมไม่ได้จะมาว่าพ่อท่านนะ ผมอยากจะมาทำความเข้าใจ

พ่อท่าน : เอาล่ะ...ผมเก่งเท่านี้แล้วกัน ผมได้พยายามแล้ว พยายามที่จะให้มันละเอียด ที่สุดแล้ว

ยุทธวโร : ผมอ่านตั้งหลายรอบ เอ้ มันต่างกันตรงไหน ระหว่าง ส่วนแห่งบุญ -ให้ผล แก่ขันธ์ พออ่าน เข้าไปจริงๆแล้ว เอ มันตัวเดียวกันนี่หว่า ส่วนแห่งบุญ....เป็นส่วนที่ได้ลดกิเลส ให้ผลในการ ได้ลดกิเลส อ้าว มันต่างกันตรงไหน สองภาษานี้

พ่อท่าน : ก็ขันธ์มันสะอาดขึ้น ให้ผลแก่ขันธ์ ขันธ์มันพัฒนาขึ้น

ยุทธวโร : ส่วนแห่งบุญ พ่อท่านก็อธิบายเชิงอย่างนี้เหมือนกัน แล้วเวลาผมอธิบาย กับโยม ผมก็ต้อง ดำน้ำเหมือนกัน ผมปฏิบัติธรรมมา ผมก็เทียบเคียงกับอาการที่เราเคยมี เราก็ไม่มีนะ อย่างที่เราเคยมีอาการนั้น อาการนั้นก็ไม่มีแล้วนะ แล้วเราก็ว่างจากอาการนั้นด้วย ผมก็มอง ง่ายๆ อย่างนี้ แต่พ่อท่านลึกกว่าผม พ่อท่านบอกว่าว่าง ว่างก่อน แล้วในความว่างนั้น ยังมีอะไร เหลืออยู่ไหม

พ่อท่าน : แหม ผมก็ว่าผมแม่นทุกอย่างแล้วนะ ผมพยายามใช้ภาษา แล้วก็พยายาม ตรวจแล้ว ตรวจอีก เพื่อไม่ให้มันงงในการใช้ภาษานั้น แต่ผมรู้ว่า คนที่ไม่ละเอียดพอ ก็จะมองไม่ออก

ยุทธวโร : ก็เหมือนพ่อท่านอธิบายวิชชา ๘ น่ะ อดีต ปัจจุบัน อนาคต ผมเห็นพ่อท่าน อธิบายแล้ว อธิบายอีก ผมเข้าใจ แต่ก็ยังสะดุดเลย เพราะผมเรียนสายการศึกษามา ถ้าสภาวะ ผมไม่ติดใจ ผมเถียงพ่อท่านไม่ได้เลย แต่.....

พ่อท่าน : ไม่ใช่ ผมอธิบายสภาวะ ผมจับได้แล้ว คุณเองคุณติดภาษา คุณต้องเลิกภาษา เลย พอสภาวะแล้ว มันไม่มีคำพูด แต่ต้องใช้คำพูด เพราะฉะนั้น คำพูดจะวนทันที

ยุทธวโร : แต่ผมต้องไปอธิบายกับคน พอพ่อท่านสรุปว่า ตรงนี้เป็นโลกุตระ แล้วอีก สามตัวนั้น ไม่ใช่โลกุตระหรือไง ใช่มั้ย พ่อท่านบอกว่า ข้อที่ ๗ คือรู้อดีต รู้ส่วนของอดีต ส่วนของ กาลเวลาก็ได้ ส่วนของที่เป็น กรรมในอดีตก็ด้วย ส่วนอนาคต พ่อท่านบอกว่า ข้อนี้เป็นโลกุตระ ผมจะถาม พ่อท่านว่า แล้วส่วนอดีต ตรงนั้นไม่ใช่ส่วนของโลกุตระหรืออย่างไร

พ่อท่าน : ถ้าไม่ได้ละกิเลสไม่ใช่ ถ้ามันยังเป็นโลกียะมันก็ไม่ใช่โลกุตระไง ส่วนที่ดี เป็นกุศลนี่ มันมีดี แล้วกุศลมันจะไม่เท่ากัน ผมรู้ภูมิคุณแล้ว คุณชอบศึกษาภาษา แล้วคุณก็ เมาภาษา สุดท้ายแล้ว ภาษานี่มันจะเอาไปยืนยันกับสภาวะไม่ได้ คนที่มีสภาวะแล้ว ภาษามันไม่ใช่ ความจริงเลย

ยุทธวโร : ผมก็ศึกษาจากพ่อท่านนะครับว่า พ่อท่านมีเท็คนิคในการอธิบายกับมนุษย์ อย่างไร ผมเอา ภาษาพ่อท่านมาใช้ตลอดเวลาเลย แล้วผมก็ต้องเกรงใจพ่อท่าน แล้วผมก็บอกว่า อันนี้ มันไม่ใช่ของอาตมานะ เพราะอาตมามีขีดจำกัดของการสื่อมากเลย ผมก็เอาของพ่อท่าน มาเรียนนี่แหละ แต่ผมรู้สึกเลยว่า คนเถียงได้ ถ้าจะเถียงด้วยภาษา แต่ผมไม่ได้เถียง กับพ่อท่าน โดยสภาวะนะ พวกศึกษาภาษา เขาจะเถียงกับพ่อท่านได้

พ่อท่าน : ใช่ เถียงได้ด้วยภาษา เพราะภาษามันไม่มีเรียกสภาวะ จบสภาวะแล้ว ทุกอย่าง มันไม่มีอะไรเรียกได้ด้วยภาษา เพราะมันไม่มีภาษาที่ทำความเข้าใจได้ในตรงนี้ อย่างที่ผมเคย ยกตัวอย่าง อันนี้มี อันนี้ไม่มี งงไหม ผู้ที่เข้าใจสภาวะแล้วจะจบ แต่ผู้ที่จะเอาภาษา ก็จะเอา ภาษามาเถียงได้ทันที เหมือนอย่างที่คุณเถียงนี่ เช่นคำว่า นิรัตตา แปลว่า ไม่มีตัวตน อนัตตา ก็แปลว่า ไม่มีตัวตน นี่ภาษาบาลี เขายังมีภาษาเรียก แต่พอเป็นภาษาไทย แปลแล้ว มันแยกกัน ไม่ออกเลย แต่แท้จริง มันเป็นสภาวะคนละสภาวะ นิรัตตา มันไม่มีตัวตน อย่างมิจฉาทิฏฐิ ส่วนอนัตตา มันไม่มีตัวตน ที่สัมมาทิฏฐิ อย่างนี้ ถ้าเอาแต่ภาษาไทยมาใช้ ก็ไม่รู้ จะแยกภาษา ไปยังไง อย่างนี้เป็นต้น

ยุทธวโร : ผมเถียงแทนคนที่ถามผม

พ่อท่าน : คุณก็บอกเขาไปว่า อันนี้มันไม่มีภาษาที่จะพูดแล้ว สุดท้ายแล้ว คุณจะต้อง มีสภาวะเอง แล้วคุณจะรู้จบ เหมือนกับพวกเราที่รู้สภาวะแล้วพวกเราจะไม่มีปัญหา เพราะคน เข้าไม่ถึง คุณมา เถียงแทนคนเข้าไม่ถึง

ยุทธวโร : ก็ผมหมดปัญญาจึงมาถาม เพื่อที่จะรู้ว่า พ่อท่านจะตอบตรงนี้อย่างไร

พ่อท่าน : ก็บอกเขาไปว่า สิ่งที่เป็นสภาวะแล้ว มันไม่มีคำพูด อย่าว่าแต่ผมเลย แม้แต่ "ยันตระ" ก็ยังพูดเลย ของจริงต้องนิ่งใบ้ ที่พูดได้ไม่ใช่ของจริง คือมันสุดยอดแล้ว มันไม่มีภาษา เพราะพูด ภาษาแล้ว มันจะย้อนแย้งทันที ถ้าคนไม่มีสภาวะนั้น มันนึกไม่ออกหรอก เหมือนกับ นิพพาน ไม่มีภาษา บอกว่าว่าง ว่างอะไร มันว่างที่ไหนล่ะ ก็คนยังไม่ตายง่ะ ไม่มีว่างหรอก

ยุทธวโร : ผมก็ดูนะครับพ่อท่านครับ ผมไปดูที่เขาอธิบายวิชชา ๙ ก็เหมือนกัน มันอัน เดียวกัน หมดเลย แล้วคนท้วงผม ผมจะพูดอย่างไร

พ่อท่าน : ผมก็บอกคุณแล้วว่า ตรงนี้มันไม่มีภาษาพูดหรอก ถ้าคุณมีสภาวะแล้ว ก็เอ้อจบ แล้วคุณ ก็จะพูด ให้ใครเข้าใจยาก

ยุทธวโร : อาสวักขยญาณ จุตูปปาตญาณ รู้ความเกิดดับ เหมือนกันกับกรรม ๕ กรรมเป็น สายพันธุ์ พออธิบายแล้วโดยเนื้อของมันนี่นะ ผมรู้สึกเลยว่า ตัวเดียวกัน ผมเข้าใจเรื่อง สภาวะ ว่าใช่ สภาวะไม่มีภาษา สมมุติว่า นักวิชาการมาอ่าน

พ่อท่าน : พวกนักวิชาการน่ะทำให้ยุ่ง เขาหาว่าพูดวน ของจริงสุดท้ายแล้ว มันไม่มี คำพูด หรอก เพราะคำพูด มันเป็นแค่เครื่องชี้ มันไม่ใช่สภาวะ คุณต้องมีสภาวะของจริงก่อน แต่ถ้าคุณ จะเอาแต่ ความหมายของภาษานะ คุณก็คงไม่เข้าใจอยู่นั่นแหละ แล้วมันจะวน มันจะแย้ง กันอยู่ ตลอดกาลนาน หากยังไม่มีสภาวะนั้นๆ โดยเฉพาะ สภาวะขั้นละเอียดขั้นสูง

จริงๆนิพพานแล้ว ระดับที่หนึ่ง อากาสาฯคือว่าง สอง วิญญาณัญจาฯคือวิญญาณ ที่ว่าง วิญญาณที่สะอาดบริสุทธิ์ ว่างจากกิเลสแล้ว แต่วิญญาณนี่ แน่นอนคุณ ยังไม่ปรินิพพาน คุณยังต้องมีวิญญาณ วิญญาณคือธาตุรู้ที่สะอาดหมดแล้ว มันไม่ติดไม่ยึด มันไม่มีอะไร ที่จะเป็นพิษ เป็นภัยอีกแล้ว จริงๆแล้วคือ อัตตานั่นแหละ แต่มันยังไม่ปรินิพพาน

ยุทธวโร : ผมเคยอธิบายกับโยมว่า คนที่ไม่มีอัตตาไม่มี ยกเว้นตายแล้ว

พ่อท่าน : ตายแล้วก็ไม่ได้ ถ้าไม่ปรินิพพาน

ยุทธวโร : คนที่ยังมีชีวิตอยู่ยังไงก็มีอัตตา

พ่อท่าน : ใช่ คืออัตตาในที่นี้คืออัตตาที่ว่าง หนึ่งว่าง สองคุณอยู่ในความว่างนี้ คุณตรวจ ตัวคุณเอง ก็คือคุณ แล้วคุณต้องตรวจวิญญาณของคุณว่า วิญญาณของคุณ ว่างหรือเปล่า ฟังให้ดีนะ นี่ว่างหมดเลย อย่างที่คุณว่าผมนั่นแหละ ว่านี่อันเดียวกัน ใช่ อากาศว่าง อากาสาฯ มันที่ว่าง แล้วคุณ กำลังอยู่ในที่ว่าง แล้วญาณของคุณก็ว่าง อัตตาของคุณก็สะอาด ว่างจากกิเลสทั้งหมด ก็คือว่าง สาม อยู่อีกที่หนึ่งตรวจเลยว่า ไอ้ที่ว่างก็ว่าง ไอ้เราด้วย ทั้งสองอย่างนี้ อะไรเป็นสิ่งที่ต้องมี ไม่ใช่.. อะไรที่ไม่ต้องการนั่นแหละ มันมีอยู่อีกไหม ถ้ามันไม่มี นั่นแหละคือ อากิญจัญญาฯ จะเป็นธุลีละออง หรือเศษอวิมุติจร หรือเป็น ความที่ยังไม่มั่นคง นิดหนึ่งน้อยหนึ่ง เคลื่อนไหว แวบวาบ อะไรก็ตามใจ แล้วแต่สภาวะอะไร ที่คุณจะเรียกว่ามันไม่ใช่แล้ว มันขบถ หรือว่า มันต่าง อันนั้น จะต้องไม่มีทุกอย่าง ที่เป็นธุลี ละอองอสรพิษ เศษเสี้ยว ขนาดเล็ก ขนาดน้อยที่สุด ส่วนตัวความไม่มี มันคนละสภาวะ คนละที่

ยุทธวโร : ผมว่างจากเนื้อสัตว์ ผมว่าผมชัด อารมณ์ที่เคยอร่อยกับเนื้อสัตว์ผมว่าง ผมไม่มีเลยนะ เนื้อสัตว์

พ่อท่าน : แล้วคุณจะเอาเนื้อสัตว์มันไปว่างตรงไหน

ยุทธวโร : ว่างจากอารมณ์ในใจผมไง ใจผมเคยมีรสชาติตรงนั้น เคยมีรสชาติ ความอร่อย กับเนื้อสัตว์ แล้วผมก็ไม่มีอันนั้นแล้ว

พ่อท่าน : มันใช้ไม่ได้แล้วอันนี้ เพราะว่าอรูปฌานเนี่ย มันเป็นขั้นตรวจสอบ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นขั้น เช็คสุดท้าย คุณจะไปบอกว่า ว่างจากของมีจากใจไม่ได้ มันว่างจาก ความว่าง เพราะมัน เริ่มต้นจาก อากาสาฯ คือว่าง จริงๆแล้วนี่ฌาน ๔ อุเบกขานี่ เป็นฐานนิพพาน ผมก็เคยอธิบาย เพราะฉะนั้น มันไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ไป ไม่มา ไม่ดูด ไม่ผลักอะไรแล้ว อทุกขมสุข สุขก็ไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี มันก็คือว่างแล้วละ สิ่งที่สูงขึ้นไปกว่านั้น เช็คอีกให้หมดเลย เพราะฉะนั้น อย่าไปตั้ง สมมุติฐานว่า ว่างจากเนื้อสัตว์ จากอบายมุขไม่ได้ เพราะอันนี้ มันเป็นตัวความว่าง แห่งความว่าง

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าแม้ท่านจะปรินิพพาน ท่านก็ไม่ได้ไปปรินิพพานที่ขั้นปลายสุด ของ อรูปฌาน ท่านปรินิพพานที่ปลายสุดของรูปฌาน ๔ ดังนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้ง เป็นเรื่อง สุดยอด ที่มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เพราะฉะนั้น เวลาปฏิบัติจึงไม่ค่อยจะพูดถึงอรูปฌาน

ยุทธวโร : แสดงว่าอรูปฌาน ๔ ของพ่อท่านนี่ มันเหมือนกับสังโยชน์ ๕ เบื้องบนแล้ว

พ่อท่าน : หลังจากสังโยชน์ ๕ บนด้วย ตรวจสอบอวิชชาสวะ อรูปฌานนี่คือ ตรวจสอบ อวิชชาสวะ ทีเดียว ไม่ใช่ตรวจสอบ อุทธังภาคิยสังโยชน์

ยุทธวโร : ที่จริงวันนี้โยมถวายไอติม ผมไม่ได้อร่อยกับไอติมแล้ว ผมเคยอร่อยกับไอติม

พ่อท่าน : คุณได้ฐานอุเบกขาเท่านั้น คือฐานนิพพาน ไม่ใช่ตัวยอดของนิพพาน เพราะฉะนั้น ในพระไตรปิฎก เวลาภาคปฏิบัติ จึงไม่ค่อยพูดถึง อรูปฌาน เพราะอรูปฌาน ไม่ใช่ของ คนสามัญ อรูปฌานนั้น อยู่ในภาคปฏิบัติของ อเสขบุคคล ที่มีสภาวะแล้ว ที่จะสำรวจ ตรวจความบริบูรณ์ ละเอียด ตัดสินสุดท้ายว่า ฉันเป็นพระอรหันต์แน่แล้วนะ ท่านก็จะใช้ อรูปฌานนี่เอง ตรวจสอบ อวิชชาสังโยชน์ หรือ อวิชชาสวะ เป็นความสัมบูรณ์ และ อันติมะ


คืนสู่เหย้า เข้าคืนรัง นศ.ปธ.

๑๗-๑๘ ก.ค. ๒๕๔๗ ที่สันติอโศก งาน "คืนสู่เหย้า เข้าคืนรัง" ครั้งที่ ๑ เป็นการรวม บรรดา นักศึกษา ผู้ปฏิบัติธรรม ตั้งแต่เริ่มแรกที่ยังไม่เป็นชมรม จุดมุ่งหมายคล้ายงาน "คืนสู่เหย้า เข้าคืนถ้ำ สัมมาสิกขา" ของศิษย์เก่าสัมมาสิกขา แต่นี่เป็นระดับอุดมศึกษา ที่ได้มา ปฏิบัติธรรม ในช่วงที่เรียน บัดนี้หลายคน เริ่มมีอายุขึ้นเลขสาม-สี่กันแล้ว ทั้งหมดที่ ลงทะเบียนมากัน ประมาณ ๘๐ คน จากการ รวมตัวกันครั้งนี้ ทำให้เกิดการจัดตั้ง "สมาคมนักศึกษา ผู้ปฏิบัติธรรม" โดยพ่อท่านเห็นว่า ถ้าอาคาร สถาบันบุญนิยมเสร็จ ก็จะมีห้องทำงานของทั้ง "สมาคมศิษย์เก่าสัมมาสิกขา" และ "สมาคมนักศึกษา ผู้ปฏิบัติธรรม" จะร่วมอยู่ที่ อาคารนั้นด้วย

พ่อท่านได้พบกับสมาชิกที่มาร่วมงานในรายการ เอื้อไออุ่น เย็นของวันที่ ๑๗ ก.ค. และ แสดงธรรม ในวันต่อมา ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ พอดีมีญาติธรรมมาทำบุญฟังธรรมกัน มากกว่า วันธรรมดา อยู่แล้ว จากนั้น เป็นช่วงบ่าย ได้แจกของชำร่วยกับผู้มาร่วมงาน

จากรายการเอื้อไออุ่นกับกลุ่มนักศึกษาผู้ปฏิบัติธรรมนี้ มีคำถามหนึ่งที่แปลก เป็นเรื่องที่ เกินจะคิด (อจินไตย) คำถามอย่างนี้หลายครั้ง พ่อท่านไม่ตอบ แต่ครั้งนี้พ่อท่านตอบให้ คำถามนั้นมีว่า ถ้าเราตายไป เราสามารถเกิดที่แกแล็กซี่อื่น ได้หรือเปล่าคะ ถ้าที่นั้นเหมาะ แก่การดำรงชีวิตค่ะ

พ่อท่าน : โอ้โฮ ถามเรื่องที่ไม่มีใครตัดสินให้ได้เลยนะ ถ้าตอบไปแล้ว แต่อาตมาก็จะตอบ ทั้งๆที่ ไม่มีใคร ให้คะแนนหรอก ว่าถูกหรือผิด

คนเราเกิดมา ถ้าเชื่อกรรม เชื่อวิบาก เชื่อวัฏสงสารนี่นะ มันเป็นความไม่เที่ยงของ วัฏสงสาร แล้วมันก็มี อัตภาพ หรือมีอัตตา ถ้าอัตภาพยังไม่ปรินิพพาน โลกลูกนี้แตก เราก็ไปเกิดที่ โลกลูกอื่น กลุ่มดาวนพเคราะห์ ของเราสลายตัวไป จะอีกกี่ล้านปีไม่รู้ล่ะนะ ตราบใดที่คุณ ยังมีอัตภาพ ยังไม่ปรินิพพาน คุณก็ต้องไปเกิดในแกแล็กซี่อื่น เพราะคุณ ยังไม่ถึง สุญญตา ยังทำ "อนัตตา" ให้แก่ตน ไม่สำเร็จ ดังนั้นความเป็นอัตภาพ หรือ อัตตาก็ยังจะเหลืออยู่ ตามเหตุ ปัจจัย และวิบาก ที่จะต้อง หาภพเกิด แต่ไม่ใช่ เที่ยงแท้ คงที่ และนิรันดร์นะ ดังนั้น เมื่อคุณ ยังไม่สามารถ ดับภพ จบชาติ ให้แก่ตนเอง ได้จริง มันเป็นธรรมดา ที่ยังมีเนื้อแท้ ของความเป็น อัตภาพนั้นอยู่ ที่ตอบเนี่ย ก็ตอบ อย่างที่ เรียกว่า อาตมาไม่ยืนยันว่า จะจริงไม่จริงเท่าไร ถ้าเรายังมีอัตภาพ และเราก็ยัง เป็นคน ที่มีวิบาก ถึงขนาดว่า จะต้องถูกขับออกจาก โลกลูกนี้ ไปเกิด ที่โลกลูกไหนก็ไม่รู้ แกแล็กซี่ ไหนก็ไม่รู้ มันก็ต้องไป ถามไปก็เท่านั้น ตอบไป ก็เท่านั้นแหละ อาตมาว่า มันไม่มี ประโยชน์อะไร ที่เราจะรู้ ที่ควรรู้และสำคัญก็คือว่า เรามาเรียนรู้อัตภาพ หรือ อัตตา ของเราเนี่ย ลดละอัตตา ให้มันได้ แล้วเราจะไปเกิดอีกก็เกิด ไม่อยากจะเกิด ก็ปรินิพพานไป ไม่ต้องไปให้กรรมวิบาก มันนำให้ไปเกิด ตรงนั้น -ให้ไปเกิด ตรงนี้ จับไปเกิดแกแล็กซี่โน้น แกแล็กซี่นี้ จับไปเกิดนรก จับไปเกิดสวรรค์ อะไรตามวิบาก ที่เราได้ทำมา อย่าให้มันเป็นอย่างนั้นสิ


ความเป็นมาและเป็นไปของอุทยานบุญนิยม กับ การเสวนาเรื่อง FTA

๒๕ ก.ค. ๒๕๔๗ ที่อุทยานบุญนิยม อุบลราชธานี ได้มีการทำบุญฉลองศาลาใหม่ ทรงไทย อีสาน โดยเปิดโรงบุญ แจกอาหารฟรี และตลาดนัดกสิกรรมไร้สารพิษ บรรดาพ่อค้าแม่ค้า ผักพืชไร้สารพิษ ได้ร่วมใจกันขายขาดทุน (กำไรอาริยะ) ในงานบุญครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้สำนักงานโครงการชีวิตสาธารณะ อุบลฯน่าอยู่ (ฮักแพง แปงอุบล) ร่วมกับ สำนักงาน โครงการเครือข่ายประชาสังคม ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จังหวัด อุบลราชธานี ได้จัดให้มี การเสวนาเรื่อง "เขตการค้าเสรีเรื่องใกล้ชิดคนอุบล" ผู้ร่วมการเสวนา ประกอบด้วย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ในฐานะผู้นำของชาวอโศก ซึ่งมีวิถีการดำเนินชีวิต ที่เรียบง่าย พึ่งพา ตนเองสูง เน้นการบริโภคอาหารที่ผลิตขึ้นเอง และการทำกสิกรรม ไร้สารพิษ

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว.อุบลฯ ในฐานะที่ทำงานเชื่อมประสานนโยบายระดับชาติ สู่วิถี ชีวิตชุมชน ในท้องถิ่น

อจ.จักรชัย โฉมทองดี นักวิชาการโครงการการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนาสถาบัน วิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกกลุ่ม FTA Watch ซึ่งคลุกคลีเรื่อง เขตการค้าเสรี มายาวนาน

นางวิไลวรรณ ธานี ผู้ใหญ่บ้าน บ้านบุกลาง อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ในฐานะเกษตรกร และ ประธาน กลุ่มแม่บ้าน ผู้มีอุดมการณ์พัฒนาชุมชนและกระทำจริง

ดำเนินรายการโดย อจ.นพพร พันธ์เพ็ง นักจัดรายการทั้งทางเลือกและกระแสหลัก อาจารย์ เศรษฐศาสตร์ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษา อุบลฯ

ก่อนการเสวนาพ่อท่านได้แสดงธรรมถือเป็นการฉลองศาลา ซึ่งเป็นรายการที่ไม่ได้กำหนด ขึ้นก่อน เนื่องจาก ฝ่ายเทคนิคเรื่องเครื่องเสียงมีปัญหา ไมโครโฟนที่จะใช้ในการเสวนา ยังจัดส่งมาไม่ถึง ด้วยฝ่าย ประสานงานเข้าใจผิดพลาด ระหว่างรอไมโครโฟน พ่อท่าน จึงใช้โอกาสนั้นเทศน์ จากบางส่วน ของการแสดงธรรม ที่พ่อท่านได้บอกเล่า ความเป็นมา ของ อุทยานบุญนิยม ดังนี้

"ศาลาหลังที่กำลังนั่งอยู่นี่เป็นศาลาที่สร้างขึ้นใหม่ ยังไม่เรียบร้อยดีนัก จะเห็นได้ว่า โครงสร้าง มันได้แล้ว แต่ยังขาดส่วนที่จะตบแต่ง แม้แต่หน้าจั่ว หลังคา ช่อฟ้า บราลี เชิงชาย เท้าแขน ลูกกรง ด้านข้างอะไรต่างๆยังไม่ได้ทำ กำลังออกแบบ จะมีลวดลาย มีลายไทยต่างๆ ในยุคที่ เศรษฐกิจ มันเร่งรัด แม้จะยังไม่เสร็จเราใช้งานก่อน จะต่อเติม ตบแต่งอะไร ก็ค่อยทำอีกทีหนึ่ง ไปตามลำดับ จะสวย ช้าหน่อยก็ช่างมัน เราถือว่า เราใช้ประโยชน์ไปก่อน

มาถึงวันนี้แล้วก็พอจะมีรูปร่างของอุทยาน แรกเริ่มเดิมทีเราจะทำโรงเรือน เป็นรูปผลไม้ นั่นเป็น ความคิดแรก แต่มันใช้เงินทำสูงและมันจะช้าเสียเวลา กว่าลงมือสร้างขึ้นมา มีฟักทอง ข้าวโพดใหญ่ มีมะเขือเทศโต มีใบไม้เป็นเถาอะไรต่ออะไร เราก็ออกแบบไว้ดี แต่ทำไม่ได้ เพราะไม่มีทุน และไม่มีเวลา ก็เลยล้มเลิกแบบนั้นไป แล้วก็มาคิดกันว่า น่าจะมีโรงเรือน ที่เป็นแบบ ของทางอีสาน ถ้าได้โรงเรือนต่างๆที่เกี่ยวกับวัดด้วย เป็นรูปแบบของ สถาปัตยกรรม อีสาน เอามาไว้ ให้ดูในเมืองอย่างนี้ ก็น่าจะดี

ที่ดินนี้ไม่ใช่เป็นของอาตมา เป็นของลุงที่เสียไปแล้ว และลุงก็ยกให้ลูกๆของลุง แต่ลูกๆ ของลุง ก็ไปทำมาหากินอยู่กรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้อยู่ที่อุบลฯนี่เลยสักคนเดียว ลุงได้ใส่ชื่อ ลูกๆ ๘ คน เป็นเจ้าของที่นี่ทั้งหมด อาตมาก็ไปบอกพวกน้องๆเหล่านั้นว่า อาตมาจะเอาที่นี้ มาใช้งาน ให้เป็นประโยชน์ เขาก็บอกเอาไปใช้เหอะ อาตมาก็เลย เอามาใช้ แล้วก็บูรณะกันขึ้นมา จนถึง ทุกวันนี้ ก็ตั้งใจจะให้เป็น สวนอุทยานบุญนิยม แต่เมื่อโครงการแรก ที่จะให้เป็นธรรมชาติ มันล้มไป ก็เลยมาเป็นโรงเรือนวัฒนธรรม ก็เลยสร้างเรือนอีสาน หลังแรกขึ้นมา พอสร้าง หลังนั้นแล้ว ก็จะสร้างหลังอื่นต่อ แล้วก็เลยมาสร้างหลังนี้ ส่วนหลังโน้น ไม่ได้เป็น เรือนอีสานเลย สร้างขึ้นมาเพื่อใช้งาน หาเงิน มีพื้นมีหลังคาธรรมดา แล้วก็ทำพื้นขึ้นมา ให้อยู่ได้ เท่านั้นเอง ไม่ได้มีแบบอะไร ทำขึ้นมาแล้วก็ใช้งานมา จนกระทั่งถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีโครงการ ว่าจะรื้อออกหรือไม่ ถ้าจะรื้อออกหลายคนก็เสียดาย เพราะยังแข็งแรง ใช้ได้ดีอยู่

โรงเรือนอีสานที่จะเกิด ตอนแรกวางแผนอย่างดีเลยนะ เขียนแบบมาโอ้โฮสวยงาม แต่เอา เข้าจริง มันไม่เป็นอย่างแบบนั้นเลย มันเกิดไปตามจริง ตามสภาพที่จะใช้งาน ต่อมาก็คิด จะย้าย ผู้รับประทานอาหาร ขึ้นมากินบนนี้ ทางโน้นก็จะเป็นครัว และก็เป็นที่ตั้งอาหาร บุฟเฟ่ห์ แทนเท่านั้น ได้อาหารแล้ว ก็ขึ้นมากินกันบนนี้

ทีนี้มันเกิดตลาดผักไร้สารพิษขึ้นมา ตอนนี้ก็ดูดีขึ้นเรื่อยๆ คนก็เริ่มรู้ ก็เป็นการพัฒนา สังคม ประเทศชาติ ทั้งเป็นการส่งเสริมผู้ผลิต เพราะมาขายที่นี่ เราไม่ได้เก็บเงินสักบาท ผู้ผลิต ก็มาขายให้ถูกนะแล้วก็ไร้สารพิษให้จริง อย่ามาปลอม อย่ามาโกหกกัน เราก็พยายาม ตรวจสอบ ซึ่งก็เป็นตลาดของผักพืชไร้สารพิษ ตอนแรก เปิดอาทิตย์ละวัน ต่อมาก็มีผู้ผลิต เพิ่มขึ้น ลูกค้า ก็เพิ่มขึ้น ก็เลยเพิ่มเป็นสองวัน มาถึงวันนี้เพิ่มเป็นสามวัน แต่ก็ยังมีผู้ผลิต ที่มีผลผลิตของตนเอง ก็เอามาวางขาย ในวันอื่นๆด้วย ไม่ใช่วันที่เรากำหนดกันว่าวันพุธ ศุกร์ อาทิตย์ นอกจากวันจันทร์ ที่ปิดร้าน ก็เกิดโดยธรรมชาติ เป็นพฤติกรรมของอาชีพก็เอา

เมื่อมีศาลานี้แล้ว ต่อไปก็จะทำศาลาให้เป็นตลาดของเขานั่นแหละ เป็นโรงเรือนยาว ออกไป ก็จะเกิด เป็นสังคม ที่นี่จะเป็นสวนด้วย แล้วก็จะเป็นธุรกิจถ่ายเทสินค้า ทั้งสด และแห้ง สินค้า แปรรูป พืชพันธุ์ธัญญาหารของเรา วันนี้ก็จะมีการเสวนา ในเรื่องของ การค้าด้วย เป็นเรื่อง เขตการค้าเสรี ที่จะได้พูดกัน"

จากนี้ไปเป็นบางส่วนของการเสวนา อจ.นพพรกล่าวนำว่า การเสวนานี้จะเป็นองค์ความรู้ ที่จะให้ข้อมูล กับประชาชนว่า FTA คืออะไร และจะเกิดผลอย่างไรต่อสังคม แต่ที่ผ่านมา ภาครัฐได้จัด ก็มักจะเชิญผู้ที่ส่งเสริมนโยบายภาครัฐมา ขณะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ นโยบาย ภาครัฐ ก็จะไม่ได้รับเชิญ ขณะเดียวกัน ถ้าฝ่ายค้านจัด ก็มักจะเชิญผู้ที่ค้าน มาอย่างเดียว แต่เวทีนี้ เราจะไม่ส่งเสริมอย่างเดียว หรือค้านอย่างเดียว ซึ่งจะเป็น การแลกเปลี่ยน ความรู้ แก่กันและกัน เท่านั้น

อจ.จักรชัยได้พูดถึงความเป็นมาของ FTA ว่าเป็นมาอย่างไร ความหมายคืออะไร แล้วได้ทำ ภารกิจ ไปมากน้อยแค่ไหน อย่างไร

น.พ.นิรันดร์ ได้พูดถึงขบวนการการทำ FTA ในแง่ของกฎหมายนั้น รัฐบาลได้ทำอย่างไร

พ่อท่านได้บอกถึงทางออกของสังคมไทยกับเรื่อง FTA นี้ควรเป็นอย่างไร

ส่วนผู้ใหญ่บ้าน นางวิไลวรรณ ได้พูดถึงผลกระทบที่ FTA เกิดขึ้นต่อท้องถิ่นของเขาว่า เกิดขึ้น อย่างไรบ้าง

หลังจากนั้นได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมฟังการเสวนานี้ได้แสดงความคิดเห็น มีประเด็นไหน บ้าง ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยอย่างไร

อจ.จักรชัยอธิบายว่า FTA มาจาก Free Trade Area แปลว่า เขตการค้าเสรี ซึ่งเป็นเรื่อง การเจรจา ระหว่าง สองประเทศ ไม่เฉพาะเรื่องการค้าเท่านั้น ยังเกี่ยวข้องกับการลงทุน ทำอุตสาหกรรม เกี่ยวข้องกับ การประกอบวิชาชีพ เป็นหมอ นักบัญชี เรื่องโรงเรียน ฯลฯ ต่างๆเหล่านี้ เขาก็จะมาคุยกัน แล้วคุยเพื่อเปิดให้เขตแดน ระหว่างประเทศ ที่มีอยู่เดิม เช่นประเทศไทย จะไปทำการค้ากับญี่ปุ่น ต้องมีการขออนุญาต การนำเข้าหรือส่งออก เรื่องกระบวนการ ที่จะมาปกป้อง การค้าภายใน จะต้องยกเลิกไปให้หมด ให้สินค้าจากต่างประเทศ เข้ามาขาย ในบ้านเรา ได้อย่างเสรี การตั้งกำแพงภาษี การกำหนดโควตา ถ้ามองทางต่างประเทศ ก็เป็น การกีดกันการค้า มองทางเราก็คือปกป้องผู้ผลิตภายใน มาตรการเหล่านี้ จะต้องยกเลิกไป

เป้าหมายของรัฐบาลที่ไปทำเขตการค้าเสรีก็คือ เพื่อเร่งการส่งออก ผลิตมากๆแล้วส่ง ออกไป ก็ทำให้ ประเทศมั่งคั่ง อันนี้คือความตั้งใจเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำมา

เขตการค้าเสรีเดิมก็มีอยู่แล้ว เป็นระดับโลกที่เรียกว่า WTO หรือองค์การการค้าโลก มีสมาชิกอยู่ ๑๔๘ ประเทศ แนวทางเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ดำเนินไปช้า เพราะประเทศ มันเยอะ เขาก็คุยกันไป ตกลงกันไป เขามีหลักว่า ทุกประเทศจะต้องเห็นดีกัน แม้เพียงประเทศใด ประเทศหนึ่ง ไม่เอาด้วย ก็ผ่านข้อตกลงไม่ได้ ต้องเห็นพ้องหรือเรียกว่ามีฉันทามติ เพราะฉะนั้น มันถึงดำเนินไปได้ช้า ที่ช้าก็เพราะประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ไปจับมือ กับอินเดีย กับจีน ไปต่อรองกับสหรัฐฯ ไปต่อรองกับยุโรป เพราะฉะนั้น สหรัฐฯและยุโรป เขาไม่ได้ ดั่งใจเขา เพราะมันไปได้ช้า เขาก็เลยเอาอย่างนี้ ประเทศที่พร้อมจะทำกับเขา ก็ไปคุยกัน สองต่อสอง ตกลงกัน สองต่อสอง ไม่ต้องรอประเทศอื่นแล้ว เพราะประเทศอื่น เขาไม่อยาก จะลดภาษี เขาไม่อยาก จะเปิดตลาด ไทยกับสหรัฐฯก็ไปจับมือกันสองประเทศ ตกลงกัน ก่อนเลย ไม่ต้องรอ ประเทศอื่น ก็ดำเนินการ กันไปได้เลย

รัฐบาลไทยปัจจุบันก็มีนโยบายอย่างนี้ ก็ไปจับคู่เจรจากัน ไม่ใช่ประเทศเดียว ณ ขณะนี้ ประเทศไทย ได้เจรจาลงนามไปแล้วกับ ๔ ประเทศ มีบาเรนต์ อินเดีย จีน และล่าสุด ต้นเดือน นี้คือ ออสเตรเลีย สำหรับอินเดียนั้น ลงนามไปแล้ว แต่ยังตกลงกันไม่ได้ คาดว่าภายในเดือน สองเดือนนี้ จะมีการเปิดสินค้า ประมาณ ๘๐ กว่ารายการ เขาส่งมาขาย โดยไม่เก็บภาษีเลย และเราก็ส่ง ไปขายเขาเช่นกัน

เหตุผลที่รัฐบาลต้องรีบไปเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี ก็เพราะว่า ต้องรีบฉกฉวยโอกาส ในขณะที่ ประเทศอื่น ยังชะงักงันอยู่ เช่นไทยทำสัญญากับออสเตรเลีย ส่งสินค้าไปไม่เสียภาษี ประเทศอื่น ที่ยังไม่ได้ทำสัญญาส่งไป ต้องเสียภาษี ทำให้ราคาสินค้าของไทยที่ส่งไป ราคา ถูกกว่า จึงขายได้มากกว่า เท่ากับว่า ส่งออกได้มากขึ้น อันนี้เป็นเหตุผลสำคัญ ในการทำ FTA คือเพิ่ม การส่งออก ได้มากขึ้น

อีกอย่างหนึ่งที่รัฐมองว่าถ้าเราไม่ทำ เท่ากับเราอยู่เฉยๆ ขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาฉกฉวยโอกาส ทำไปก่อน ก็เท่ากับว่าเราถอยหลัง เพราะฉะนั้น เราต้องแย่งชิงโอกาส ให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้เอา โอกาสนั้น มาให้คนไทย จะได้ผลิตสินค้าส่งออกไป แล้วเราก็จะได้มั่งคั่งมากขึ้น

แต่ปัญหาที่สำคัญก็คือ เราจะพัฒนาประเทศไปในทิศทางไหน เราจะพัฒนาประเทศ ไปใน ทิศทาง ที่พึ่งพา ตลาดต่างประเทศ นำเงินต่างประเทศเข้ามาให้ประเทศได้มั่งคั่ง เรากำลัง จะพัฒนาประเทศ ไปในแนวนั้นหรือเปล่า ขณะที่สังคมไทย ไม่มีโอกาสได้ไตร่ตรอง

คำถามเฉพาะหน้า ที่ได้พยายามสืบถามจากสังคมคือ หนึ่ง จะไปทำนี่ดีไม่ดี ยังไม่ทราบ กระบวนการ ที่ไปทำมันน่าสงสัย ตรงที่ว่า ไม่ได้เปิดให้ประชาชนส่วนใหญ่ มีส่วนร่วม ประชาชน ส่วนใหญ่ไม่รับรู้ว่า รัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ และนักวิชาการที่ติดตามเฝ้าดู ก็ไม่ได้รับรู้ ข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ทางด้านนิติบัญญัติ ก็กลับไม่ได้รับโอกาสนั้น

เรื่อง FTA นี่ถูกมองว่าไกลตัวและไม่เกี่ยวกับเรา แต่พอเราดูในเนื้อหาแล้วนี่ มันเป็นเรื่อง ที่ใหญ่มาก มันจะกระทบคนทั้งประเทศ คนจำนวนล้าน จะต้องเปลี่ยนอาชีพ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นว่า ควรจะต้องมีการเปิดเผย ให้ประชาชนได้มีการรับรู้ พอไปดูต่างประเทศ อย่างออสเตรเลีย เขากลับ ไปเปิดเผย ให้ประชาชนของเขารู้ ว่าเขากำลังคุยอะไรกับประเทศไทยบ้าง แล้วให้ประชาชน มีส่วนร่วม ถ้าดีประชาชนก็ย่อมจะต้อง ส่งเสริมแน่นอน

ประเด็นที่สอง เรื่องของเนื้อหาการเจรจา การเจรจานั้นประชาชนกลุ่มไหน ที่ได้ประโยชน์ ส่วนไหน จะได้รับผลกระทบด้านลบ สุดท้ายแล้วมันจะเปลี่ยนประเทศไทย ไปอย่างไร

หมอนิรันดร์ เห็นว่าความหมายหนึ่งของ FTA ก็คือการทำสงครามการเศรษฐกิจ ซึ่งมิใช่ เพียงแค่ การค้าพืชผล การเกษตรเท่านั้น แต่ยังคลุมไปถึงอาชีพการบริการ อุตสาหกรรม โรงพยาบาล โรงเรียน ธนาคาร ทุกวันนี้เราจะเห็นกิจการต่างๆ มีชื่อบริษัทต่างประเทศต่อท้าย โรงเรียน ก็จะเป็นการค้า อาชีพต่างๆ ก็จะเป็นการค้าไปหมด อย่างแม็คโคร โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟู ทำให้ ร้านค้าปลีกรายย่อยเดิม เป็นหมื่นเป็นแสนร้านราย ล้มละลายหายไปหมด นี่เป็นผลพวง จากกฎหมาย ๑๑ ฉบับ แต่ถ้าเปิดเขตการค้าเสรี ทุกอาชีพทุกผลิตภัณฑ์ จะเป็นการค้าไปหมด ประเทศที่มีความก้าวหน้า ในเทคโนโลยี่ที่มากกว่า มีอำนาจต่อรองได้มากกว่า จะมีโอกาส ขายได้มากกว่า

เศรษฐศาสตร์นั้นไม่ใช่แค่เศรษฐศาสตร์การเมืองที่ต้องเป็นธรรมเท่านั้น แต่สำคัญ ต้อง คำนึงถึง เศรษฐศาสตร์ชุมชนด้วย เศรษฐกิจพอเพียงอย่างที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตรัสไว้นั้น ทำพออยู่ พอกิน ไม่ได้เน้นเรื่องการค้าก่อน ถ้าผลิตยังไม่พออยู่พอกิน แล้วไปขาย อันนี้อันตรายครับ

ในข้อกฎหมายมาตรา ๒๒๔ กำหนดว่า ถ้าจะมีการตกลงระหว่างประเทศ แล้วจะทำ ให้เกิด การเปลี่ยนแปลง สามอย่าง หนึ่ง ต้องร่างกฎหมายใหม่ สองมีการเปลี่ยนแปลงในเขต ราชอำนาจ คืออำนาจอธิปไตย อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ สาม มีการเปลี่ยนแปลง ในพระราชอาณาเขต ทั้งสามอย่างนี้ จะต้องผ่านรัฐสภา

อำนาจทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายบริหารอย่างเดียว รัฐบาลเป็นเพียงกลไกหนึ่ง ในการทำงาน แต่ผู้ที่กำกับ ก็คือรัฐสภา รัฐสภามาจาก สส.๕๐๐ สว.๒๐๐ มาจากการเลือกของ ประชาชน นั่นหมายความว่า ถ้าได้ผ่าน ๗๐๐ คนก็ถือว่า ได้ฟังเสียงที่เป็นตัวแทนของประชาชน

ในมาตรา ๗๖ กฎหมายรัฐธรรมนูญบอกว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ เวลาที่จะกำหนด นโยบาย ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา แม้กระทั่ง การตรวจสอบการใช้ อำนาจรัฐ จะต้องทำให้เกิด การมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ได้หมายความว่า ไปทำสัญญาแล้วมาบอก การมีส่วนร่วม ของประชาชน จะต้องให้รู้ก่อนที่จะไปเซ็นสัญญา ถามผู้ที่มีส่วนจะได้รับ ผลกระทบก่อน ว่าคิดอย่างไร แล้วรวบรวมขึ้นมา ทำให้เกิดการมีส่วนร่วม เพื่อทำให้เกิด เป็นนโยบาย สาธารณะ ซึ่งอันนี้เป็นส่วนประกอบที่จะไปเซ็นสัญญา ซึ่งรัฐบาลของสหรัฐ ออสเตรเลีย จีน ก็ทำอย่างนี้ รัฐสภาของสหรัฐฯ ก็ให้รัฐบาลสหรัฐ แจ้งให้รัฐสภาทราบก่อน ให้สภา ตั้งกรรมาธิการ สอบสวนก่อน แล้วถึงอนุญาตให้ไปเจรจา เจรจาเสร็จแล้ว จึงค่อย ให้ผ่านรัฐสภา แล้วรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งยังไม่เซ็นสัญญา ก็ขอเจรจาสองส่วน คือหนึ่ง เจรจา กับฝ่ายบริหาร ให้รัฐบาลไทย ได้ทราบ สองเจรจากับรัฐสภาไทย กระบวนการที่ผ่านมา ยังไม่ได้ผ่าน รัฐสภาไทยเลย แล้วจะไปตอบรับ รัฐสภาสหรัฐได้อย่างไร การเจรจากับจีน และ บาเรนต์ ที่ผ่านมา ทางวุฒิสภา ก็ได้ตั้งกรรมาธิการ แล้วเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง เชิญรัฐมนตรี และนักวิชาการมา ปรากฏว่า นักวิชาการมาหมด แต่ที่ไม่มาคือ รัฐมนตรี เขาส่งแต่รองอธิบดีมา เซ็นกับออสเตรเลีย ก็มีคนมาร้องเรียนว่า อย่าเซ็นนะ มันจะมีผลกระทบ แจ้งกับท่านนายกฯ แต่เขาไม่ตอบ นี่คือ ปัญหาว่าในกรรมาธิการ พอเราสนใจจะหาข้อมูล เขาไม่ให้หมด แต่ผมได้ ข้อมูลเหล่านี้ จากสถานทูต ออสเตรเลีย นักวิชาการ และอินเทอร์เน็ต

ข้อมูลข่าวสารไม่ได้เปิดกับประชาชน แม้ในรัฐสภาเองก็ไม่ชี้แจง อันนี้คือปัญหาในการ ทำสัญญา FTA ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลก็ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องผ่าน เพราะไม่ได้แก้กฎหมาย แต่เราเห็นว่า มันขัดกับรัฐธรรมนูญ ถึงกระนั้นเราไม่ได้เอากฎหมายเป็นตัวตั้ง แต่เราดูจาก ผลกระทบ ที่เกิดขึ้นจริง จากที่ได้เซ็นสัญญาไปแล้วกับจีน ทางเราได้ทำหนังสือถึง รัฐสภา ออสเตรเลีย ว่าอย่าเพิ่งเซ็นนะ เพราะรัฐสภาไทย ยังไม่รู้เรื่องด้วย แต่ก็ปรากฏว่า เขาก็เซ็น

อีกประเด็นหนึ่งเรื่อง WTO ในระยะหลังเป็นการต่อสู้ระหว่างเศรษฐศาสตร์การเมือง กับ เศรษฐศาสตร์ชุมชน สองค่าย ค่ายที่หนึ่งคือเศรษฐศาสตร์ของคนรวยคน มีอำนาจ ที่ต้องการ เอาของมาขาย เอาปัญญามาขายให้ประเทศที่อ่อนแอ แต่ตอนหลังประเทศที่อ่อนแอ ได้มี การรวมกัน ทำให้การโหวตเสียง ของประเทศที่อ่อนแอ มีมากกว่า การประชุมล่าสุด ที่แคนคูน ล้มเหลว เพราะมีการรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับเศรษฐศาสตร์ ที่ไม่เป็นธรรม ของประเทศที่แข็งแรง

การทำสัญญา FTA เป็นการทำสัญญาระหว่างรัฐบาลสองประเทศ ซึ่งรัฐสภาต้องรู้ ประชาชน ต้องรู้ ถึงจะเป็นธรรม

ผลเสียของการทำสัญญาที่ผ่านมาทั้งจีนและออสเตรเลีย หลังจากทำสัญญากับจีนแล้ว ผลไม้ จากจีน เข้ามาเยอะมาก และราคาถูก ส่วนผลไม้ของเรา ไม่ว่าจะเป็นเงาะ ลำไย ส้ม ลิ้นจี่ ราคา ตกวูบเลยครับ ขายไม่ออก เกษตรกรที่อยู่กันทรลักษ์ น้ำยืน ไม่อยากเก็บมาขาย เกษตรกร ภาคเหนือ ปลูกอย่างนี้เยอะ แม้กระทั่งโครงการหลวง หอม กระเทียม ของเรากิโลกรัมละ ๔๐-๕๐ บาท กระเทียมจีน-เวียดนามกิโลกรัมละ ๒๐ บาท ซึ่งเป็นกระเทียม GMO หัวใหญ่ๆ แต่อร่อยสู้ กระเทียม ของไทยไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทุนของกระเทียมจีน-เวียดนาม ถูกกว่าเรา แล้วก็มาตี ตลาดเรา สิ่งที่เสียหายในภาคเกษตรกรรมก็คือ หอมกระเทียม ผลไม้ต่างๆ แม้กระทั่ง โครงการหลวง ที่อยู่ภาคเหนือ ล้มระเนระนาดหมด ตรงนี้คือสิ่งที่เราได้เสียหายไป เป็นจำนวน มากมาย

อันที่สองที่บอกว่า ภาษีเป็นศูนย์นะความจริงมันหลอก เวลาที่เราจะเอาผลไม้เข้าไป มันไปติด อยู่ที่ มณฑล เพราะกฎหมายของมณฑลกับของประเทศ เขาบอกว่า มันคนละอันกัน เพราะฉะนั้น จะเข้ามณฑล ก็ต้องเสียอย่างอื่นอีก อันนั้นมันคือสิ่งที่เพิ่มจากภาษีศูนย์ เขาก็มีมาตรการที่เรียกว่า สุขอนามัย ผลไม้ที่ส่งมามีสารพิษไหม ขอตรวจหน่อย แค่นี้ลำไยก็เน่า เป็นร้อยเป็นพันตัน แสดงว่า ประเทศไทย ที่ไปเซ็นสัญญา เราไม่ได้เตรียมในเรื่อง ของการตรวจ อาหารต่างๆ มีสารพิษมั้ย ไปดูว่า กฎหมายของเข้าประเทศน่ะ เมื่อเราไม่มีการเตรียมตัวเลย ผลกระทบก็คือ เกษตรกรจำนวนมาก ก็ล่มจม

แล้วเราก็พบว่ามันมีผลประโยชน์เรื่องของบริษัทธุรกิจ เรื่องของโทรคมนาคม เรื่องดาวเทียม

เมื่อเราทำสัญญากับออสเตรเลีย อุตสาหกรรมโคนมของเรามีผลกระทบมากมาย โคนมไทย ประมาณ แสนห้าหมื่นกว่าครอบครัว ถ้าเซ็นสัญญากับออสเตรเลีย ถึงแม้จะผ่อนผัน ๒๐ ปี แต่นมและเนื้อโค จากออสเตรเลียจะเข้ามาตีตลาด อุตสาหกรรมโคนม แสนห้าหมื่น กว่าครอบครัว พังทลายหมดเลยครับ ซึ่งรายได้ในปี'๔๖ ที่ผ่านมานี่ ประมาณหนึ่ง -สองหมื่น ล้านบาท เพราะฉะนั้น คนไทยที่มีรายได้อย่างนี้ มันก็พังไปหมด เหมือนอย่างธุรกิจร้านค้า ที่เสียไปประมาณหนึ่ง -สองแสนล้านบาท

ถามว่าทำสัญญากับออสเตรเลียไทยได้อะไร ได้ยางรถยนต์ ผลประโยชน์ในด้าน โทรคมนาคม และ ธุรกิจ เมื่อไล่ไปดูแล้วที่ไทยทำสัญญากับจีน อินเดีย บาเรนต์ ออสเตรเลีย สิ่งที่ไทย ได้ประโยชน์ก็คือ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของตระกูลใหญ่ๆไม่กี่ตระกูล รถยนต์ โทรคมนาคม โดยเฉพาะกับจีนนี่ เรามีข้อมูลที่ชัดเจนเลยว่าผลประโยชน์ก็คือ ดาวเทียมที่ส่งขึ้นไป ว่าไปมี จุดที่หักเห กระทบกันของดาวเทียมจีนกับไทย ไอบีสตาร์ นี่มูลค่าในการลงทุน ประมาณ หมื่นหกพันล้าน ที่จะครอบคลุมผลประโยชน์ของนายทุนนี่ครับ ของบริษัทอะไร ไปหาเอาเอง ที่จะสร้าง ครอบคลุมไปในเอเชียแปซิฟิคใต้ เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า FTA ขณะนี้พยายาม จะครอบคลุมถึง ๑๐ ประเทศ คิดเอาเองแล้วกัน ใครที่ได้ผลประโยชน์

ผู้ที่ได้ผลประโยชน์คือธุรกิจอุตสาหกรรมไม่ถึง ๑๐ ตระกูล แต่คนที่เสียคือ คนจำนวน เป็นแสน เป็นล้านๆ ครอบครัว

มาถึงไทยกับสหรัฐฯ สิ่งที่เราจะต้องประสบก็คือเรื่องของยา ยาจะราคาแพงมากขึ้น เพราะสิ่งที่ กำหนดใน FTA สหรัฐฯต้องการเงื่อนไขสองอย่าง หนึ่งก็คือ เขาจะเลื่อนสิทธิบัตรจาก ๒๐ ปีเป็น ๒๕ ปี หมายความว่าคนไทยเก่งแค่ไหน จะเอาสูตรยาเขามาทำก็ไม่ได้ นั่นหมายความว่า เราต้อง ซื้อยาจากเมืองนอก ดังนั้นโครงการ ๓๐ บาทกระทบแน่นอน เพราะราคายาจะสูงขึ้น ที่บอกว่า รักษาฟรีแล้วจะได้ยาดีนั้น ยากครับ อันที่สองก็คือ เขาจะรักษาความลับ ในเรื่องสูตร ในเรื่องอันตรายต่างๆ เช่นยาตัวหนึ่ง เขาลงทุนวิจัยไป ๒,๐๐๐ ล้าน ถ้าเขาจะเอาเป็นธุรกิจแล้ว เขาจะไม่ให้เรามาได้ง่ายๆ เขาต้องเอากำไร อันที่สามก็คือ เรามีกฎหมายที่เรียกว่า มาตรการ บังคับใช้ ยานี่เราถือเป็นสุขภาพ อย่างยาต้านเอดส์ บราซิล อินเดียนี่กฎหมายสิทธิบัตรยา บอกว่า ถ้าเอายามาเพื่อประโยชน์ของสุขภาพ เอามาสร้างได้เลย ให้ประเทศต่างๆยอมรับ แล้วดีที่ WTO ก็เห็นดี แต่ใน FTA ที่เราเซ็นกับอเมริกา เขาไม่ยอมรับตรงนี้ ตามข่าว การประชุม เอดส์ ล่าสุด อเมริกาบริจาคเงินช่วยเอดส์ แต่มีเงื่อนไขว่า ยาต้องซื้อจากบริษัทยา ของสหรัฐฯ ซื้อจากอินเดีย บราซิล ไม่ได้ เห็นไหมครับ เรื่องของธุรกิจนี่ มันไม่เข้าใครออกใคร อยู่ที่ว่า ใครจะหน้าเลือด มากกว่ากัน

ใครได้ ใครเสีย ในเรื่องของอเมริกานี่ ทุนยาได้ ทุนในการลงทุนได้ ๑๒ สาขา หมอ วิชาชีพต่างๆ ทนายความ การศึกษาต่างๆจะเข้ามาหมด การท่องเที่ยว แล้วก็เรื่องของทรัพย์สิน ทางปัญญา ต่อไปนี้อะไรๆ ก็ต้องซื้อหมด อินเทอร์เน็ตก็ต้องเสีย อะไรต่างๆเหล่านี้คือ สิ่งที่อเมริกา จะได้จากเรา แล้วเราบอกว่าเราจะได้ขายผลิตผลทางการเกษตร ขอโทษ เขาจะเอา GMO มาขาย ให้เรา ข้าวโพดก็จะ GMO ข้าวก็จะ GMO สัตว์ต่างๆเข้ามาก็จะ GMO สิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือสิ่งที่เราจะได้จากอเมริกา แต่ได้ก็คือการมาทำลายสังคมเรา แล้วเราต้องสูญเสีย เงินทอง ออกไป

อาจารย์จักรชัย ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ฝ่ายรัฐมักจะอ้างว่า ถ้านำข้อมูลมาเปิดเผยหมด แล้วมันจะไม่เป็นผลดี ต่อการเจรจา ตรงนี้ก็ถูกของรัฐบาลอยู่บ้าง แต่ทำไมประเทศอื่น ถึงเปิดเผยได้ สอง ข้อมูลรายละเอียดในการเจรจา เราก็เข้าใจว่า ยังอยู่ในขั้นการต่อรอง แต่ประเด็นไหน จะไปเจรจาแล้วท่าทีจะเป็นอย่างไร ทั่วโลกเขาก็ปฏิบัติกันมา ถ้าประเด็นไหน ประชาชนสนับสนุน ก็จะเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรอง ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูล ในการเจรจา ทางการค้า เป็นสิ่งที่กระทำได้

ส่วนเรื่องจะผ่านหรือไม่ผ่านสภา ถึงแม้จะไม่ได้แก้กฎหมาย แต่ในอนาคต FTA จะจำกัดสิทธิเรา ในการแก้กฎหมาย เช่นตอนนี้ เราเปิดให้ห้างเทสโก-โลตัส เข้ามาในบ้านเรา ตามกฎหมาย ๑๑ ฉบับ จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ไฟฟ้า ประปาจะขายให้เอกชน ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบด้วย อยากให้รัฐบาล เปลี่ยนแปลงวิธีการ ก็ออกมาเรียกร้อง แล้วรัฐก็ไปแก้กฎหมาย แต่ถ้าเรา ไปเซ็น FTA แล้วอะไรก็แล้วแต่ที่จะไปขัดกับเขา แก้ไม่ได้ หมายความว่าเรามัดมือมัดเท้าตนเอง ในอนาคตถ้าเราต้องการจะเพิ่มภาษีขึ้นมา เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมบางกลุ่ม หรือเกษตรกร บางกลุ่ม ทำไม่ได้ ที่สุดแล้วมันจะเป็นการผูกมัดตนเอง ผลของ FTA จะยังคงอยู่ต่อไป ไม่ได้สิ้นสุด เพียงแค่รัฐบาลนี้ ถ้าเราจะแก้ เราต้องไปขอให้ประเทศที่ทำสัญญากับเรา ยอมแก้ ถ้าเขาไม่ยอมแก้ แล้วเราจะเลิกเองก็ได้ แต่มันจะมีผลอย่างใหญ่หลวง และภาพพจน์ ของประเทศไทย ต่อนานาชาติจะเสียหาย ในอดีตที่ผ่านมา แค่กฎหมายเล็กน้อย เรายังแก้ไม่ได้ แล้วกฎหมายที่ใหญ่อย่างนี้ ยิ่งลำบากมากที่จะไปแก้

ประสบการณ์ของประเทศที่ทำ FTA ไปแล้วอย่างเช่นเม็กซิโก ทำกับสหรัฐฯไปแล้ว ๑๐ ปี คนแม็กซิโก เขาบริโภคข้าวโพดเป็นอาหารหลัก เหมือนเราบริโภคข้าว เดิมเม็กซิโก เป็นแหล่ง กำเนิดข้าวโพดของโลก หลังจากทำ FTA กับสหรัฐฯแล้ว ปรากฏว่าข้าวโพดที่ส่งมาจากสหรัฐฯ ราคาถูกกว่า ที่ผลิตในเม็กซิโก ทำให้คนเม็กซิโก เลิกผลิตข้าวโพด เพราะผลิตแล้ว สู้ราคา สหรัฐไม่ได้ ปรากฏว่าการผลิตข้าวโพดเพื่อบริโภคในเม็กซิโก ลดลงถึง ๘๐ % ปัจจุบัน แป้งข้าวโพด ที่นำเข้าไปราคาสูงขึ้นไป กว่า ๑๐๐% ตอนนี้เขาจะปรับเปลี่ยนการผลิต ขึ้นมาใหม่ ก็กลัวอเมริกาจะปรับราคาลงมาอีก ก็จะตายเปล่า เมื่อจะเจรจากับสหรัฐฯ สหรัฐฯ ก็ไม่ยอมแก้ไขสัญญา อันนี้คือสิ่งที่ประเทศอื่น ได้ประสบมาแล้ว

ถึงที่สุดแล้วผู้บริโภคเป็นผู้เสียประโยชน์ ในกรณีของแม็คโคร-โลตัส ผู้บริโภค จะไม่ค่อย เห็นผลเสีย แต่ผู้ผลิตจะถูกกดราคาอย่างมาก เพราะไม่มีทางเลือกจะไปทางไหน ในเมื่อ ร้านค้าย่อย ล้มหมดแล้ว ซึ่งจริงๆแล้วในไทย ๖๐ % ผู้ผลิตกับผู้บริโภค ก็เป็นคนๆเดียว กันละครับ จึงต้องมอง อย่างสอดคล้องกันไปนะครับ

การค้าเสรีถ้าถึงที่สุดแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ อย่างกรณีที่ยกตัวอย่าง ถึงประเทศ เม็กซิโก หลายท่านอาจจะงงว่า ทำไมสหรัฐฯ ถึงผลิตได้ในราคาต่ำ แล้วเอามา แข่งกับเราได้ ที่สุดแล้วการค้าเสรี มันไม่ได้มีจริงในโลก แต่เขานำมากล่าวอ้าง เพื่อที่จะได้ เข้าถึงตลาดนะครับ ที่เขาผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพด แล้วนำมาขายได้ในราคา ถูกกว่าเรา ก็เพราะเขามี GMO คือการตัดแต่งทางพันธุกรรม ซึ่งเขาผูกขาดตรงนั้นอยู่ อันนี้หนึ่ง สองก็คือ เขามีการอุดหนุนการผลิต เช่นถั่วเหลืองหรือข้าวโพด ราคาถั่วเหลืองที่เขานำมาขาย กิโลละ ๖-๗ บาท จริงๆกิโลหนึ่ง เขาแพงกว่านั้นครับ ประมาณ ๑๔-๑๕ บาท แต่รัฐบาลอุดหนุนการผลิต ให้คนส่งออก ให้ส่งออกแค่ ๖-๗ บาท ที่เหลือแล้วรัฐบาลเขาจ่ายเงินให้ พอทำอย่างนั้น เขาก็สามารถ เข้ามาเจาะตลาดได้ หลังจากที่เขาเข้ามาครองตลาดเราได้ ก็ไม่แน่ใจว่า อะไรจะเกิดขึ้น

พ่อท่านแสดงความเห็น "ในด้านเชิงความรู้เรื่องของการค้าแม้แต่เรื่องกฎหมาย หรือภาค ปฏิบัติ ของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงผู้รู้นักวิชาการที่ห่วงใยบ้านเมือง ก็มีความรอบรู้กันทั้งนั้น ประชาชน ที่เป็นปัญญาชนติดตามข่าวสารต่างๆ ก็เข้าใจรู้ดีกันทั้งนั้นว่าอะไรดี อะไรเสีย อาตมา ขอถามหน่อยเถอะ คนที่ไปเสพยาบ้า ก่อนที่เขาจะกินยาบ้านี่ เขารู้ไหมว่ายาบ้าชั่ว กินแล้วมันจะเลว คนที่ไปคอรัปชั่น เขารู้ไหมว่าโกงคือชั่ว รู้กันทั้งนั้นแหละใช่มั้ย แต่เขา ก็จะทำชั่ว แม้เขาจะมีความรู้สูงขนาดไหน ก็ช่วยเขาไม่ได้ เขาก็ทำชั่วนั้น เพราะกิเลส ในตัวเขา มันเก่งกว่าความรู้ มันบังคับเขาทำ

เพราะฉะนั้นปัญหามันอยู่ที่กิเลสเท่านั้นเอง ไม่ใช่อยู่ที่ความรู้ ใครใหญ่เท่าฟ้า ใครฉลาด เป็นอัจฉริยะ เท่าไหนก็ตาม ถ้ามีกิเลสตัวเดียว กิเลสมันคุมหมด เพราะฉะนั้น พูดให้ตาย เขาก็รู้ทั้งนั้นน่ะ คุณไม่เชื่อหรือว่ารัฐบาลเขาไม่รู้อย่างที่คุณพูดนี่ เขารู้ทั้งนั้นน่ะ แต่กิเลส มันสั่งให้กูทำ ตอนนี้กูจะได้เปรียบ ตอนนี้กูจะให้พรรคพวกกู ให้เข้ากระเป๋ากู เดี๋ยวนี้เขามีคำ คอรัปชั่น เชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน อะไรอีกเยอะแยะ ที่เป็นศัพท์ขึ้นมาเรียก การกระทำแฝงผลประโยชน์ แต่ความจริงก็คือ โกง ใช้เล่ห์เอาเปรียบ

เพราะฉะนั้นการค้าการขายนี่ก็ตาม ถ้าดำเนินตามระบบบุญนิยมก็ชนะทั่วโลก ระบบ บุญนิยม คืออะไร คือเสียสละ เอื้อเฟื้อผู้อื่น ขายขาดทุนด้วยให้ได้ แจกได้แจก แล้วใคร จะไม่คบกับเรา เราขาย ขาดทุนจริงใจด้วยนะ ไม่ใช่วิธีการล่อคุณให้มาติด แล้วจะตบหลังคุณภายหลัง เพราะเราเห็นว่า การขายขาดทุนหรือเสียสละนี่ คือคุณค่าของความเป็นมนุษย์ คุณทำงาน เสร็จแล้วคุณเอาค่าแรงคืน อย่างนี้คุณมีค่ามั้ย คุณได้มูลค่ามา แต่คุณค่าของคุณ หมดเกลี้ยงเลย วิธีคิดอย่างทุนนิยม จึงเป็นวิธีคิดอย่างไร้คุณค่า ที่สุดเลย เป็นวิธีคิด ที่ทำลายโลก และสังคมมาตลอด แต่แนวคิดของบุญนิยมไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าค่าตัวเรา ๑,๐๐๐ เราเอาเพียง ๕๐๐ เราก็มีประโยชน์คุณค่าแล้ว ๕๐๐ อย่าไปเอาเกินทุนของตนเอง ขาดทุน เข้าไว้ นี่คือคุณค่าประโยชน์ต่อสังคมแล้ว ในทางธรรมแล้วการเอากำไร หรือการเอาเกินทุน
คือเอาเปรียบถือเป็นหนี้ เป็นบาป หรือคุณไปโกงเขา โดยสัจธรรมไม่ใช่คุณได้เงิน แต่คุณได้ "กรรมที่ทุจริต" ติดตัวคุณไปแท้ๆ แม้คุณจะเก่งทุจริตโดยไม่มีใครจับได้เลยนะ คุณโกง ได้พันล้าน ให้คุณกอดไว้เลย ตายแล้วคุณเอาไปได้ไหม ไม่ได้ ไม่ใช่ของคุณ แต่สิ่งที่จะได้แท้ๆ เป็นของคุณจริงๆ ติดไปกับคุณก็คือ"กรรมวิบากที่โกง" ผู้ที่ศึกษาสัจธรรมแล้ว จะเห็นเลยว่า เราไม่ต้องเอาเปรียบ เรามักน้อยสันโดษได้ เราเสียสละได้นี่เป็นประโยชน์คุณค่า ทั้งเรา และผู้อื่น นี่คือแนวคิดของศาสนาพุทธ แนวคิดของบุญนิยม แล้วเราก็ทำอย่างนี้มา จนเป็น สังคมหมู่บ้าน อีกหน่อยก็จะเป็นอำเภอ ถ้าบุญนิยมอย่างนี้มีเป็นอำเภอเมื่อไหร่ ก็น่าดู เราทำงานกัน เป็นกลุ่มสังคม ทุกคนทำงานฟรี ได้รายได้มาก็เอาเข้ากองกลาง โดยสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับ ในหมู่บ้านไม่มีอบายมุขเลย ทรัพย์สินเงินทอง กินใช้ร่วมกัน เรามาทำการค้า ก็แจกบ้าง ขายบ้าง อย่างวันนี้ก็แจก อเมริกาก็อเมริกาเถอะ มาคบกับเราบ้าง ให้มันรู้กันไป อเมริกา ที่ว่าแน่ๆจะเก่งเท่าไหนกันเชียว มาทำอย่างเราบ้างสิ เราพยายามเป็นคนจน แจกจ่าย ไม่สะสม ไม่ต้องรวย ส่วนใครอยากรวยใช่ไหม เอ็งรวยให้เข็ดไปเลย ข้าจะจนเอง และจน อย่างสบายใจด้วย แล้วเรากับเขาก็อยู่ด้วยกันได้ดีด้วยนะ เพราะคนหนึ่ง "เอา" อีกคนหนึ่ง "ให้" มันก็ไม่ทะเลาะกันแล้ว

เพราะฉะนั้น การอยู่อย่างได้เปรียบกับการอยู่อย่างเสียเปรียบนี่ คนอยู่อย่างเสียเปรียบ นี่แหละ จะอยู่ได้รอด เพราะเราไม่ได้อยู่อย่างงอมืองอเท้า เราขยันเป็นคนสร้างสรร เสียสละ เราจะเป็นหน่วยพลาธิการ และกาชาด ซึ่งในสงครามไม่ว่าที่ไหน เขาจะไม่ทำอันตราย สองหน่วยนี้ ใครเจ็บมาเราดูแล และเลี้ยงอาหารเขา แล้วเราก็จะอยู่ได้ อย่างมีคุณค่า แม้ในสังคมสงคราม

อาตมาไม่ได้พูดเรื่อง FTA เลยเพราะท่านทั้งสองรู้เรื่องดีกว่าอยู่แล้ว ถึงอย่างไร ผู้ที่จะไป ทำสัญญานั้น เห็นแก่ส่วนรวม เห็นแก่บ้านเมืองให้มากได้จริงๆ อันนั้นก็เป็นไปได้ แต่ถ้าคุณ ไปจัดการแล้วเป็นจอมดูดจอมสูบ เห็นแก่ตัวและพวกพ้อง มากกว่าสังคม ประเทศชาติ ก็แล้วแต่เวรแต่กรรมก็แล้วกัน นี่ก็ใกล้จะเลือกตั้งแล้ว ก็ขอฝากให้เลือก คนที่เห็นแก่ประโยชน์ ของประเทศชาติบ้านเมือง เข้าไปมากๆก็แล้วกัน


สังเคราะห์การจัดการศึกษาบุญนิยม

๒๘ ก.ค. ๔๗ ที่สันติอโศก คณะการศึกษา สส.สอ. ได้สนทนาซักถาม เรื่องการจัด การศึกษา บุญนิยม การจัดการศึกษาบุญนิยมมีหลักการอย่างไร มีเป้าหมาย ในการจัด การศึกษา อย่างไร การจัดการศึกษาบุญนิยม เหมาะสมกับบริบททางสังคมอย่างไร

พ่อท่าน : หลัก ๓ อย่างที่ใช้คือ ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา เป็นหลักในการจัดการศึกษา มนุษยชาติ จะศึกษาอย่างไรที่จะให้คนมีจริยธรรม มีคุณธรรมเป็นตัวเด่น โดยประเมินว่า ศีลเด่น ๔๐ % เป็นงาน ๓๕ % ชาญวิชา ๒๕ % แต่การศึกษาในโลกทั้งโลก เขาแบ่ง สัดส่วน ให้วิชาการหรือชาญวิชา ๖๐-๗๐ % แล้วเป็นงานประมาณ ๒๕ % ส่วนศีลธรรม หรือศีลเด่นนั้น ๕ % ก็คิดว่าให้มากไปแล้วนะ เขาจัดกันจริงประมาณ ๑ % เท่านั้น มันถึง ล้มเหลวไปหมดเลย เพราะเขาเอาวิชาการเป็นหลักของมนุษยชาติในโลก โลกยังหลง ความรู้ เชิดชูความรู้ว่าดีกว่าศีลธรรม แล้วก็มาบริหารบ้านเมือง ก็เอาคนที่มีวิชาการ นี่แหละมาบริหาร จะเป็นงานหรือไม่ หรือจะมีศีลธรรมหรือไม่ ไม่สำคัญ เป็นเรื่องรอง ไปหมด ขอให้เก่งมีความรู้ ชื่นชมกันเลย นำหน้าลิ่วเลย เมื่อไม่มีศีลธรรม ในผู้เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นตัวอย่าง สังคมจึงแย่ลง เพราะหลงเชิดชูไปเน้นวิชาการ และทิ้งศีลธรรม จริงๆนี่เอง จึงหลงเงินทองลาภยศสรรเสริญโลกียสุข จึงยิ่งโลภโกรธหลง นี่คือ ความล้มเหลว ที่จะต้องแก้กลับ

คนถ้ามีศีลธรรมแล้ว ปัญหาต่างๆทั้งสังคมและเศรษฐกิจมันจะน้อยลง แม้ไม่ได้เป็น นักวิชาการ แต่คนก็ไม่ได้โง่ที่จะเลี้ยงตนไม่ได้ แม้จะไม่ใช่อัจฉริยะ ไม่ได้เป็นนักคิด นักสร้างอะไรมากมาย ไม่ได้ฉลาดเอาทรัพยากรวัตถุดิบของโลกมาใช้ หรือจะช้ากว่านี้ ในการออกไปนอกโลกได้เป็นล้านๆปี อาตมาว่าโลกก็ไม่บรรลัย ถ้าโลกมีศีลธรรม แต่แนวคิด มันผิดไป อาตมาว่าโลกจะบรรลัย โลกทุกวันนี้เสียศูนย์ไปมากแล้ว

เขาออกไปนอกโลกเพื่อจะพิสูจน์ว่าโลกใบอื่นมันจะมีสิ่งมีชีวิตเหมือนโลกใบนี้ไหม จากดวงจันทร์ ไปดาวพระศุกร์ แล้วจะไปดาวอังคาร แล้วจะพิสูจน์ไปทำไม มันมีประโยชน์ อะไรนักหนา แล้วใช้เวลาแรงงานเอาคนไปเสียเวลา กับเรื่องเหล่านั้น ตั้งมากมาย แต่เราพูดไป เขาก็ไม่ฟังหรอก แล้วเขาก็ดีอกดีใจภาคภูมิที่จะไปเป็นอย่างนั้น ก็เพียง แต่ได้รู้อะไรแปลกๆใหม่ๆขึ้นมาเท่านั้นเอง แล้วที่แปลกใหม่นี่ก็คือสิ่งที่ไม่ได้แปลก ถ้าศึกษา สัจธรรมแล้วจะรู้ว่ามันไม่แปลก มันคือสิ่งที่เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ จิตวิญญาณ และสังขารธรรมทั้งปวงเท่านั้นเอง จะมีการผสมส่วนที่ต่างกันไปเท่านั้นเอง แล้วจะเกิดมา เป็นชีวะ เป็นมนุษย์สูงสุด ถ้าศึกษาสัจธรรมแล้วจะรู้จักอดีตของจักรวาล อดีตของเอกภพ ด้วยซ้ำไป

การจัดการศึกษาต้องอยู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะ และจำเป็นของชีวิตมนุษย์แท้ๆ ออกไป นอกโลก แต่งตัวเกินความจำเป็นของชีวิตมนุษย์ในโลก ทำขนมอาหารขึ้นมา อย่างที่ทำ กันอยู่ ก็เกินความจำเป็นของชีวิตมนุษย์ แข่งกีฬาเกินขอบเขตก็สุขภาพเสีย มีเงินมาก เกินกว่าความจำเป็นก็ล้วนเป็นปัญหาของสังคมชีวิตทั้งนั้น การกอบโกย เงินทอง มาให้ตน และครอบครัว ไม่หยุดยั้งก็เป็นการทำร้ายสังคม

ถาม : แล้วแนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อแข่งขันเพื่อได้ แต่ไม่ได้มองแบบองค์รวม ทั้งโลก ว่าเป็นอย่างไร เขามองเฉพาะบุคคล

พ่อท่าน : ก็เป็นการเอาชนะคะคานกันเท่านั้นเอง เหมือนการแข่งขันกีฬา ซึ่งกีฬานี่เป็นตัว ยุยง ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเอาชนะและเอาเปรียบให้แก่ตัวเรา คณะของเรา ทีมของเรา อย่างเก่ง ก็ประเทศของเรา การศึกษาบุญนิยมจะต้องลดตัวตน ลดความเป็น ของตน เพราะศาสนาพุทธสอนไว้ชัดเจน เรื่องอัตตา อัตตนียา ลดความเป็นตน ของๆตน เกื้อกูลกันออกไป เสียสละออกไป ต้องทำความรู้ในเรื่องของความจำเป็นของชีวิต ให้ดี ก็จะรู้จัก ปัจจัยของชีวิต รู้จักองค์ประกอบของชีวิตที่ไม่ยาก ไม่เปลือง ไม่ต้องผลาญ แต่ก่อน จะเอาเวลาไปตบแต่ง ประดิดประดอย จะเสียเวลาให้แก่ตนเอง เกินกว่าเกิน ไม่เข้าท่า เราต้องรู้ว่าขณะนี้เรากินอิ่มหรือยัง ยังเดือดร้อนฆ่าแกงกันอยู่หรือเปล่า

ถาม : การจัดการศึกษาที่มีอยู่ทั่วโลก เขาไม่ได้มองแบบองค์รวม เขามองเฉพาะส่วน เป็นเพราะอะไรคะ

พ่อท่าน : เขาไม่รู้รอบนั้นหนึ่ง สองเขาไม่รู้จักความสำคัญที่จำเป็นสำคัญ ไม่รู้รอบว่า มันเฟ้อมันเกินขนาดไหน กับความจำเป็นที่แท้จริงของแก่นแท้ของชีวิต แล้วเขาก็ไปชี้นำ ว่าความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย เขื่องหรู จัดจ้าน คือความเจริญรุ่งเรือง แทนที่จะเห็นว่าแก่นแท้ ของชีวิต คือความเจริญ แต่ก็มิได้หมายความว่าการศึกษาบุญนิยม จะทำให้เป็นคน จืดชืด บุญนิยม ก็มีบันเทิงได้ รู้สิ่งที่จะอนุโลม เพียงแต่ไม่จัดจ้าน เฟ้อเกิน เท่านั้นเอง

พิสูจน์ได้จากผู้มาสัมผัสชาวอโศก เรามักน้อย เราสันโดษ แต่จะมีผู้อุทานอยู่บ่อยๆว่า อยากจะอยู่ด้วย อยากจะมาอีก สิ่งนี้เป็นคำตอบว่ามนุษย์ไม่ได้ต้องการ สิ่งที่เฟ้อเกิน เขาต้องการอะไร ที่ลึกไปกว่านั้น แต่เขาก็ไม่รู้ว่าคืออะไร เขาชื่นชมยินดี ความเป็นอยู่ ของพวกเรา แต่พอเขากลับไปสู่สังคมอย่างนั้น เขาก็ถูกโลกีย์ครอบงำ กลับไปเป็น อย่างนั้นอีก

ถาม : การศึกษาบุญนิยมเป็นการศึกษาแบบโลกุตระ มีแนวความคิดที่ไม่เหมือนใคร ใช่ไหมคะ

พ่อท่าน : ใช่ มันเป็นอีกโลกหนึ่ง โลกุตระหมายความว่า supra mundane เหนือโลกีย์วิสัย เหนือธรรมดาสามัญ

ถาม : เป้าหมายของการศึกษาบุญนิยมคือสันติสุขเกิดขึ้นกับคนนั้น แล้วก็เกื้อกูล คนรอบข้าง

พ่อท่าน : ใช่ แต่สันติสุขมันไม่ใช่สุขทั่วไปอย่างที่เขาเป็นกันอยู่นี่นะ สุขที่ว่านี่คือ วูปสโมสุข หรือ สุขจากการสงบระงับจากกิเลส สุขทางโลกเป็นสุขแบบโลกียะนั่น มันสมใจกิเลส บำเรอกิเลส คุณอยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุข แล้วคุณก็ได้สมใจ อันนั้น มันสุขทั่วไป mundane มันเป็นธรรมดาสามัญของชาวโลกีย์

แต่วูปสโมสุขนั้นคือได้ลดกิเลสตัวเองตามอาริยสัจ ลดเหตุแห่งการที่ไปหลงติด หลงยึดได้ เป็นคน มีความสุขที่สงบ เป็นคนเบิกบานร่าเริง แต่ไม่ร่าซ่า ตื่นแล้วจากโลกีย์ ไม่เอาแล้ว ชาวพุทธทุกวันนี้ เข้าใจผิดว่า ถ้าปฏิบัติธรรมสูงๆแล้วจะไม่มาเกี่ยวกับสังคม จะปลีกเดี่ยว ออกป่า เขา ถ้ำ ไม่รับรู้เรื่องของโลก ไม่เกี่ยวกับการค้าขาย ไม่เกี่ยวกับการเมือง ตัดตัวเอง ออกไปจาก ความสัมพันธ์ของสังคมมนุษยชาติ ซึ่งมันได้เพี้ยนไปจากศาสนาพุทธ

ถาม : หลายคนก็ปฏิบัติธรรมแล้วกิเลสของเขาก็ลดลงเหมือนกัน แต่ไม่ได้ถึงขั้นเกื้อกูล คนอื่น เป็นเพราะอะไรคะ

พ่อท่าน : กิเลสมันไม่ได้ลดจริง มันไม่ถูกตามทฤษฎีของพระพุทธเจ้า จึงทำให้มีอนุสัย อาสวะ เป็นตัวกลไก มันบงการซ้อน เหมือนกับสังคมขณะนี้ที่ใช้คำว่า ทุจริตเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน คนที่ไม่ได้ลดกิเลสจริง เขาก็จะทำงานทุจริตเชิงนโยบาย เพื่อตัวเอง ตัวกู ของกูอยู่ทั้งนั้น แล้วเขาก็ไม่รู้ตัวเอง แต่อำนาจของกิเลสมันมีอยู่จริง กิเลสมันก็ฉลาด ที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จในตนด้วย

ถาม : ตรงนี้ขึ้นอยู่กับครูบาอาจารย์หรือสถาบันศาสนา ที่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น

พ่อท่าน : ใช่ มันก็เป็นการพิสูจน์ถึงแนวทางทฤษฎีหลักการที่อาตมาพาทำ ถ้าได้เอาไป ปฏิบัติ มันก็จะเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลอย่างที่อาตมาพาเป็น ส่วนทางด้าน กระแสหลัก เขาก็สอนกันมานานแล้ว เขาก็พาเป็นอย่างที่สังคมส่วนใหญ่ ขณะนี้ เป็นกันอยู่ ลูกศิษย์ลูกหาเต็มบ้านเต็มเมือง พลเมืองไทย ๖๔ ล้านคน แทบจะทั้งหมด ก็เป็นกันอย่างที่เป็นกันอยู่ในสังคม ซึ่งก็เป็นไปตามแนวทาง ทฤษฎีหลักการ ที่กระแสหลัก พาทำนั่นเอง

ถาม : การศึกษาบุญนิยมนี่เป้าหมายในการพัฒนาคนก็คือ ให้คนได้ลดกิเลส

พ่อท่าน : เป็นหลักเลย ลดกิเลสแล้วจะทำให้เกิดญาณปัญญา และจะศึกษาชีวิต จริงๆ ไม่ใช่ไปหลงศึกษา ดิน น้ำ ลม ไฟ จากภายนอกชีวิตโน่นสงบ ศึกษาแล้วจะรู้เลยว่า เกิดมาทำไม ไม่ใช่เกิดมาเพื่อแย่งลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข และจะทำความสงบ ให้ตน ให้สังคม ได้อย่างไร


คำพรให้นักเรียนที่จะจบ ม. ๖

๒๙ ก.ค. ๒๕๔๗ ที่สันติอโศก นักเรียน สส.สอ.ที่จะจบ ม.๖ ในปีการศึกษานี้ ได้มาขอคำพร ของพ่อท่าน เพื่อจะได้นำไปลงในหนังสือรุ่น เนื่องจากพ่อท่าน ไม่มีเวลา ที่จะเขียนให้ จึงใช้วิธีเอาเท็ปมาให้พ่อท่านกล่าวแทน แล้วนักเรียนจะนำไปถอดเท็ป เพื่อนำลงพิมพ์อีกที จากคำพรที่พ่อท่านกล่าวให้นักเรียนดังนี้

"๖ ปีที่เราได้พยายามทำตนให้เป็นคนที่เจริญพัฒนา ด้วยมาอบรมศึกษาอยู่กับชาวอโศก เราได้รู้ อะไรบ้าง เราได้เข้าใจอะไรบ้าง ชาวอโศกคือคนชนิดไหน มีชีวิตอยู่อย่างไร เป็นคนดี หรือว่าเป็นคนสามัญทั่วไป เป็นคนพยายามทำความดี ทำสิ่งที่ดี ให้ดีขึ้น หรือว่า เป็นคนแสวงหา ลาภยศสรรเสริญโลกียสุขธรรมดาสามัญเหมือนคนทั่วไป ทุกคน ๖ ปี อยู่ที่นี่ ก็คงจะพอซับซาบพระพุทธเจ้าเราเป็นปราชญ์เอก เป็นคนที่สุดฉลาด รู้ความจริง สุดยอดว่า ความเป็นมนุษย์จะมีสุขที่สุด สูงที่สุด สร้างสรรเสียสละที่สุด มีสมบัติที่ดีที่สุด จนกระทั่ง ถึงขั้นมีสูญ หลักแห่งสิ่งที่ประเสริฐที่สุดเรียกว่าสูญ จึงเป็นสิ่งที่สุดยอด เรียกว่า สัมบูรณ์ เพราะฉะนั้น พวกเราทุกคน เมื่อรู้ เมื่อเข้าใจ ใครจะเป็นชาวอโศก ชาวอโศกทุกคน ก็ยินดีที่จะรับสมาชิกเข้าเป็นชาวอโศกทุกคน เรียนรู้ไปแล้ว ก็น่าจะต้อง ทำตนให้เป็น ผู้ที่เป็นลูกพระพุทธเจ้า ที่มีสิ่งประเสริฐตามพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้มา"

ปิดท้ายบันทึกฉบับนี้ ขอนำเอาข้อความที่พ่อท่านเขียนด้วยลายมือ ให้กลุ่มปราการอโศก เนื่องในวาระครบ ๒๐ ปีของการตั้งกลุ่ม ดังนี้



ขอจบบันทึกฯ ด้วยการเร่งรัดพัฒนาจากพ่อท่านถึงชาวอโศกทุกคนเพียงนี้

- รักข์ราม. -
๑๕ ก.ย. ๒๕๔๗

-สารอโศก อันดับที่ ๒๗๕ กันยายน ๒๕๔๗ -