สิ่งที่ควรทำให้เที่ยงแท้ (ตอนที่ ๑)
- พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ -
แสดงธรรม เมื่อวันที่ ๗ มี.ค. ๒๕๓๐
ณ พุทธสถานสันติอโศก


สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ

พระพุทธเจ้าท่านพิสูจน์สิ่งที่สูงสุด ที่เป็นวิทยาศาสตร์ พึงค้นพบได้ คือวิญญาณ เขาเชื่อกันว่า วิญญาณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือวิญญาณพระเจ้า ทีนี้วิญญาณของผู้ปฏิบัติ เข้าถึงพระเจ้าแล้ว จะมีลักษณะอย่างไร

เขาก็อธิบายกันว่า เป็นวิญญาณที่มีเมตตา เป็นพระผู้ประทาน พระผู้สร้างสรร เป็นผู้ที่ สร้างโลก เกื้อกูลโลก ให้แก่โลก ไม่เห็นแก่ตัวแก่ตนจนบริสุทธิ์ เป็นจิตวิญญาณบริสุทธิ์ ที่ไม่เห็นแก่ตัว แก่ตนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็มาพิสูจน์ ค้นพบ เออ! จิตวิญญาณที่ ไม่เห็น แก่ตัวแก่ตน บริสุทธิ์ และเป็นผู้ที่สร้างสรร ให้แก่ผู้อื่น เป็นผู้ที่มีความสามารถก็ได้ เป็นผู้ที่มีความเอื้อเอ็นดู เมตตา เกื้อกูล เสียสละ เพื่อผู้อื่น ขนาดไหนๆ ก็ได้ และ จิตวิญญาณ นั้นมีจริงๆ จะเรียกว่าเป็นวิญญาณพระเจ้า เป็นฉายาพระเจ้า เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกับพระเจ้า เป็นสิ่งแทนพระเจ้า พระพุทธเจ้าก็ค้นพบว่าจริง แต่พระพุทธเจ้า ท่าน ไม่เห็นพระผู้เป็นเจ้าอย่างที่ว่านั้นว่าเป็นสิ่งนิรันดร

ท่านเห็นคุณลักษณะที่ว่าพระเจ้าเป็นพระผู้มีเมตตา เป็นพระผู้ประทาน ผู้สร้างสรร เป็น พระจิตวิญญาณบริสุทธิ์ พระพุทธองค์ค้นพบว่ากิเลส ตัณหา อุปาทาน มันอยู่ที่จิต เกิดในจิต อาศัยจิตเป็นที่เกิด หรือ จะเรียกโลภ โกรธ หลง จะเรียกกิเลส ตัณหา อุปาทาน มันมีขนาดหยาบ กลาง ละเอียด จนกระทั่ง แทรกซ้อนลงไปเห็นเป็นละเอียดถึง อนุสัย อาสวะ ท่านก็ติดตามอ่านจนพบจริง จนเห็นจริง รู้จริง ว่ามีสภาพอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น แล้วก็ทรงหาวิธีที่จะจัดการให้มันลดลง เล็กลง จนกระทั่ง ดับสนิท ถอนอนุสัย ถอนอาสวะ ศาสนาพระพุทธเจ้าอธิบายถึงขั้นถอนอนุสัย ถอนอาสวะ ถอนอย่างละเอียดลออ สุขุม ประณีตจริง

สิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบนี่ ท่านบรรยายไว้ว่ามีลักษณะคัมภีรา ลึกซึ้ง ทุททัสสา ไม่ใช่จะรู้ จะเห็นกันได้ง่าย ทุรนุโพธา ตามรู้ได้ยาก ปณีตา ประณีต สันตา สงบ ซึ่งความสงบ ไม่ใช่ความนิ่ง มันสงบสบาย มันสร้างสรร อยู่อย่างเต็มที่ก็ได้ แต่สงบเรียบร้อยสบาย พัฒนางอกงาม มันไม่ใช่สงบนิ่งๆ หยุดแข็งทื่ออะไรอย่างนั้น แต่เป็นความสงบที่ลึกซึ้ง ละเอียดประณีต สุขุม อตักกาวจรา ไม่ใช่เรื่องที่จะมาวิตกวิจาร ไม่ใช่เรื่องที่ จะคาดคะเน ด้นเดา ไม่ใช่เรื่องอย่างนั้น เป็นเรื่องที่ต้องมีจริงเป็นจริง ต้องตามเข้าไปถึง ความจริงนี้ ได้เอง จึงจะรู้ว่าของจริงเป็นเช่นนี้ ถ้าเรายังไม่มีของจริง อันนั้น เราจะมาเดาเอาไม่ได้ เราจะมานั่งคะเน คำนวณเอา ไม่ถูก แม้จะถูก มันก็ไม่จริง เพราะสิ่งจริงนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ จะรู้อย่างครึ่งหนึ่ง ธรรมะของพระพุทธเจ้า นี่ต้องรู้สมบูรณ์ เรียกว่า อุภโตภาค มีสิ่งนั้น อยู่ในจิต และรู้เห็นสิ่งที่เกิดที่ดับจริงนั้นๆ ด้วย เรียกว่า ปัญญา ซึ่งไม่ใช่ความคิด หรือ ไม่ใช่แค่ผลที่ได้ไตร่ตรองอย่างแยบคายแล้ว ปัญญาคือ ความรู้ที่สัมผัสรู้สิ่งจริงนั้น ตามความเป็นจริง ของมัน

พิสูจน์ความไม่มี
เพราะฉะนั้นความสูญหรือความไม่มีที่ท่านค้นพบและพิสูจน์ได้เป็นวิทยาศาสตร์ก็คือ ความสูญสิ้น ของกิเลส คนที่มีจิตวิญญาณและมีกิเลสนี่ จะมีสิ่งที่เกิดขึ้นมาคือทุกขะ คือ ความเดือดร้อน ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ถ้าค้นพบสมุทัยหรือเหตุของความทุกข์ เหตุของความที่ไม่เที่ยงแท้ เหตุของความไม่ดับสนิท และปฏิบัติตามทฤษฎีของ พระพุทธเจ้า จะพ้นทุกข์ได้ ทุกข์มี ๒ ระดับ ทุกข์ที่จะเป็นพระอรหันต์เจ้า เป็นทุกข์ที่เรา จะเรียนรู้ ด้วยอาริยสัจ เป็นทุกข์อาริยสัจ และสิ่งที่จะต้อง ดับสนิท ปกิณกทุกข์ หรือว่า สันตาปทุกข์ เป็นทุกข์ที่เป็นไฟเผาลนจิตใจ เป็นราคัคคี โทสัคคี โมหัคคี หรือ วิวาทมูลกทุกข์ ทุกข์ที่ยังไม่โปร่ง ไม่ใส ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ เหลือเศษเหลือเชื้อ จนกระทั่ง สะอาด โปร่งใส มีความบริสุทธิ์สมบูรณ์จริงๆ ไม่เหลือเชื้อทั้งนอกทั้งในทั้งก้นบึ้ง ไม่เหลือเชื้อ ที่เป็นกิเลสราคะ โทสะ โมหะ ไม่เหลือจริงๆ สิ้นอาสวะ คือ สิ้นกิเลส ละเอียดสุดท้าย อย่างนี้จะทำให้สิ้นทุกข์ได้ สิ้นแล้วก็เป็น อรหันต์ ส่วนทุกข์ในระดับ ที่จำเป็นต้องมีอยู่ แม้ผู้นั้นจะเป็นอรหันต์แล้ว เช่น ทุกข์เพราะปวดอุจจาระ (นิพัทธทุกข์) ทุกข์เพราะ ยังมีขันธ์ ๕ (ทุกขขันธ์) เป็นต้น ก็เลี่ยงไม่ได้ เพราะเรายังมีชีวิต จนกว่า จะปรินิพพาน สุดท้ายไป

พระพุทธเจ้าค้นพบทฤษฎี วิธีการ อ๋อ! มันมาจากเหตุ ที่เป็นต้นเชื้อให้เกิดความหมุนเวียน ถึงกระทั่ง จะหยั่งลงสู่ครรภ์ มีจิตวิญญาณที่จะต้องเป็นอัตตาตัวตน ถึงขั้นไปอยู่กับ พระเจ้า จิตที่มีความคิด เช่นนั้น จนกระทั่งมันเป็นเช่นนั้น จิตที่ไม่มีความคิดเช่นนั้น มันก็ไม่เป็นเช่นนั้น ศาสนาพุทธไม่มีพระเจ้า จึงไม่ใช่ เทวนิยม ศาสนาพุทธมีเทวะ คือ จิตที่เจริญ เจริญแบบโลกีย์ก็คือเสพสุข สุขเพราะเสพสม เป็นเทพสมมุติ หรือ สมมุติเทพ อยากได้ โลกียสุข ก็ได้สมใจ และเทวะที่เจริญแบบโลกุตระ คือทำให้กิเลส ลดลงได้จริง ก็สงบลงๆ

นั่นคืออุบัติเทพคือเทพที่ละกิเลส โลภ โกรธ หลงลงไปๆ หมายความว่าบรรลุธรรม เข้าถึง ความเปลี่ยนแปลง ไปสู่ความสะอาด ล้างกิเลสโลภ โกรธ หลง หรือฆ่า ล้าง ทำลาย เรียกอะไร ก็ตามใจเถอะ ให้กิเลสมันตายลงไป ดับชีวิต ดับบทบาท ดับฤทธิ์ของกิเลส ลงไป ได้จริงๆ ท่านพิสูจน์ จนถึงที่สุด ศาสนาพุทธที่ได้ชื่อว่าเป็นศาสนาวิทยาศาสตร์ ก็เพราะว่าเป็นศาสนาที่มีเหตุมีผล อย่าว่า แต่มีเหตุมีผลเลย มีของจริงมีความจริง ที่รู้จัก รู้แจ้ง รู้จริงทีเดียว แม้เป็นนามธรรมขนาดไหนๆ

ไสยศาสตร์กับตรรกศาสตร์นี่ต่างกันตรงที่ไสยศาสตร์ส่วนมากหลงใหลผล มีผลลึกลับ มีผลประหลาด น่าทึ่ง มหัศจรรย์ แต่ตามหาเหตุจนถึงที่สุด แห่งที่มาทั้งหลายแหล่ ไม่สมบูรณ์ ส่วนตรรกศาสตร์นั้น มีเหตุมีผล พร้อมมูล แต่เป็นเพียงเหตุผลของทฤษฎี เหตุผลปากเปล่า หรือมีแต่เหตุ ไม่มีผลถึงที่สุด ไม่มีผล ที่ร่วมรู้กันได้ มาพิสูจน์กันได้ ศาสนาพุทธ ท้าทายให้คุณพิสูจน์ความเป็นพระพุทธเจ้า คุณบำเพ็ญตน ไปจนถึงขั้น พระพุทธเจ้าก็ได้ มีของจริง มีเหตุมีปัจจัย มีตัวเนื้อตัวแก่น สัมผัสกันได้ถ้วนทั่ว ใครตามไป สัมผัส ตามไปถึงสิ่งนั้นได้ ไปถึงที่สุดได้ แต่คุณจะได้เป็นมั้ย จะไปถึงมั้ย ก็เรื่องของ คุณนะ ทฤษฎีของ พระพุทธเจ้า เอาความเป็นคนนี่แหละยิ่งใหญ่ จิตวิญญาณยิ่งใหญ่ วิเศษขนาดไหนก็เอาในคนนี่แหละ ส่วนศาสนาที่มีพระเจ้านั้น เขาเอาพระเจ้ายิ่งใหญ่ ที่สุด แต่ตามหา พระเจ้ากันไม่พบ เอามาพิสูจน์กันแบบ วิทยาศาสตร์ไม่ได้

ความมีที่ยิ่งใหญ่
ทฤษฎีของพระพุทธเจ้าพิสูจน์ความไม่มีหรือนิโรธ นิพพาน ความสูญ สุญญตา ความสูญ นี้แหละ จะเกิดความมีที่ยิ่งใหญ่ นี่เป็นทฤษฎีปรัชญาชั้นสูง เมื่อผู้ใดทำตัวตน ไม่ให้มี ตัวตนแล้ว ผู้นั้นยิ่งจะเป็นตัวตน ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ตัวตนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือปรมาตมัน คือบรมอัตตา ผู้ที่ถึงธรรมของพุทธแล้วรู้ว่า ปรมาตมัน หรือบรมอัตตาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้น ก็เป็นเพียงสิ่งที่มี แต่สิ่งที่มีนั้น ไม่เที่ยง มีแล้วไม่คงทน ถึงจะมี อย่างยิ่งใหญ่ขนาดไหน ก็จะเสื่อมไปเป็นธรรมดา จะเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ ศาสนาพระพุทธเจ้า ยกความหมาย ของความประเสริฐความดีไว้เป็นสมมุติสัจจะ จะดีจะประเสริฐขนาดไหน ก็เสื่อมได้ เจริญได้ ไม่เที่ยง ไม่เท่าเดิม ไม่คงที่

เพราะฉะนั้น เมื่อมันจะเสื่อม จงมาช่วยกันบูรณะความดี สร้างและบูรณาการ ทำความดีนี้ ให้ยิ่งใหญ่เอาไว้ อาตมาอยาก ให้พวกคุณเข้าใจว่า ทำไมเราจะต้องขยันหมั่นเพียร อุตสาหะ วิริยะ เพราะความไม่เที่ยงนี่เอง จึงต้องรีบ กระทำ และกระทำให้มากเข้าไว้ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า พระองค์ไม่สันโดษในกุศล ไม่ใช่ไม่เที่ยง แล้วก็เลยไม่ทำ ทำไปก็ไม่เที่ยง เสื่อมได้ เราจึงต้องพยายามเติม ความเจริญไว้เสมอๆ ให้ยิ่งๆ สุดที่ ที่เราทำได้ไปเลย

มันกลับกันนะ ศาสนาที่อธิบายว่า อะไรๆ ก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเลย ไม่ต้องทำ อะไรเลย ไม่ต้องสร้างสรรเลย หมดกำลังความพยายาม หมดกำลังความ เอาจริง เอาจัง ไม่มีอุตสาหะ มานะ กลายเป็น คนท้อถอย กลายเป็นคนไม่แข็งแรง ไม่บุกบั่น ไม่พากเพียร

ถ้าความเข้าใจความหมายคำว่า "ไม่เที่ยง" คำว่า "ไม่ใช่ตัวตน" ผิดพลาดไป ทำให้เรารู้สึก สักแต่ว่า เป็นอย่างนั้นๆแหละ อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันเลย คนก็ไม่ยึดอะไร ไม่ทำอะไร ไม่มีอุตสาหะอะไร คนไหนที่มีฝีมือ พอสมควร มีความรู้พอสมควร ทำกินทำอยู่ไป แค่พอ มีกิน มีอยู่มีใช้ อยากเสพอะไร ก็กินให้อิ่ม นอนให้หลับ ประเดี๋ยวก็ตาย คนพวกนี้ เลยกลายเป็นคนทำอะไรสักแต่ว่าทำ จับๆจดๆ เหยาะๆแหยะๆ ถ้าอยากได้ใคร่ดีขึ้นมา กระตือรือร้นขึ้นมา ก็โดนท้วงว่ายังมีกิเลส ยังมีกาม ยังใคร่อยาก นี่คือ นัยลึกซึ้ง ที่ต้องศึกษากันดีๆ

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เป็นคนเอาจริงเอาจังนะ ไม่ใช่ให้เป็นคนเหยาะๆ แหยะๆ เป็นฤๅษี ขี้เกรง ขี้กลัว จับจด จุดนี้แหละที่อาตมาเห็นว่าเป็นความผิดพลาด ถ้าคุณฟัง ให้ละเอียด ฟังให้สุขุม ประณีต ตั้งใจให้ดีๆ ทิศทางของความเห็นและความรู้สึกมันต่างกัน มากเลย ความเห็น ที่ถูกต้องของพุทธศาสนาน่ะ ความดี ก็ไม่เที่ยง เสื่อมได้เป็นธรรมดา ความดี ทำเอาไว้ ๑๐๐ หน่วย เดี๋ยวเถอะมันจะเหลือ ๙๐, ๘๐, ๖๐ เพราะฉะนั้น ต้องบูรณะ ต้องขยันหมั่นเพียร รังสรรค์ความดีไว้เรื่อยๆ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า กุสลัสสูปสัมปทา ต้องยังความดีให้ถึงพร้อมไว้เรื่อยๆ บูรณะ ขยัน หมั่นเพียร ธรรมใดวินัยใด เป็นไป เพื่อความเกียจคร้าน ไม่เอาดำเอาดี ไม่ขวนขวาย ไม่ใช่ธรรมพระพุทธเจ้า ธรรมะของ พระพุทธเจ้า ต้องขวนขวาย อุตสาหะ วิริยะ อย่าไปบ้าจี้กับคนที่บอกว่า โอ๊ย! นี่มันมีกิเลส แล้วนะ มุ่งมั่น อยากได้ลาภ อยากได้ยศ ถ้าเราอยากได้ เราก็เรียนรู้ใจของเรา ว่านี่เราไป หลงทำ เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ หรือทำเพื่อเสพ เป็นโลกียสุข หรือเป็นกัมมารามตา

"กัมมารามตา" หมายความว่า หลงความอร่อยในงาน หลงรสในงาน ทำงานแล้ว มันอร่อย ที่จริง ถ้าคุณมีสุจริตกรรม หรือมีสัมมากัมมันตา สัมมาอาชีวะ มีอาชีพหรือมีการงาน ที่ดีจริงๆ แล้ว คุณจะอร่อยกับงาน มันก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร เป็นความอร่อยที่คุณเอง จะมีอุปาทาน ของคุณบ้าง เท่านั้น แต่พระพุทธเจ้าท่านสอนลึกซึ้งกว่านั้น ท่านไม่ให้หลง อัสสาทะ รสอร่อยต่างๆ นานา ที่โลกหลงว่า เป็นเครื่องชู เป็นอามิส เป็นเครี่องล่อ เป็นเหยื่อล่อ แล้วทำเพื่อที่จะเสพอันนั้นเป็นรสอร่อย ถ้าคุณรู้แล้ว มันก็เท่านั้นแหละ ทำแล้วมันก็สบายๆ ดีๆ ไม่จำเป็นต้องอร่อยเป็นตัวเป็นตน จะต้องเสพรส ถ้าไม่ได้รส อย่างนั้น จะต้องโหยหา จะต้องกระทำ ถ้าไม่กระทำตามอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่เกิดรสอันนั้น รู้สึกอ้างว้าง ขาด เราก็ไม่ถึงขนาด บ้างานจนติดงาน หรือว่าหลงงานเป็นกัมมารามตา อย่างนั้น มันยังไม่เป็นไป เพื่อนิพพิทา

"กัมมารามตา" เขาแปลเป็นไทยว่า ยินดีในงาน หลงยินดีในงาน แปลกันตื้นๆ ภิกษุมี ความเสื่อม เพราะว่า ยินดีในการงาน ฉิบหายเลย ภิกษุเลยไม่ต้องทำงาน ยินดีในงาน ไม่ได้ เป็นความเสื่อม แปลในพระไตรปิฎก ถ้าอาตมาชำระ พระไตรปิฎก อาตมาก็จะแก้ ความนี้ นี่ก็คงไม่แก้ สังคายนากันไปแล้ว หมดไปตั้ง ๔๐-๕๐ ล้าน คงยังไม่แก้ คงจะบอก ว่า "กัมมารามตา" แปลว่า ผู้ยินดีในการงาน ภิกษุที่ยินดีในการงาน เป็นความเสื่อม ชนิดหนึ่ง ข้อหนึ่งใน ๘ ข้อ ภิกษุก็เลยเฉยๆ วางๆ มีอะไรก็ทำไป พออยู่พอกิน ถึงเวลานอน วันหนึ่งก็นอน ทั้งกลางวัน นอนทั้งกลางคืน เช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน กลางคืนจำวัด ก็ว่ากันไป สบายดี สบายแบบอบาย ไม่ใช่สบายแบบที่เจริญอะไร

"สบาย" แปลว่าความเจริญ ถ้า "อบาย" แปลว่าความเสื่อม นรก ความตกต่ำ ก็ได้ตกต่ำ กันมาแล้ว พยัญชนะ และอรรถมันต่างกันอยู่ สบาย ภาษาไทยมาจากภาษาบาลีว่า สัปปายะ แปลว่า ประกอบด้วย ความเจริญ ปายะแปลว่า ความเจริญ ส่วนอบาย ภาษาบาลีแปลว่านรก ที่ปราศจากความเจริญ ความเสื่อมต่ำ เราก็ไม่หลงความสบาย แบบที่เป็นทางเสื่อม แล้วเราก็สบาย เอาแต่ใจตัวเองเสพสม บำเรออารมณ์ ที่ต้องการของตน มันก็เสื่อม

เราจึงต้องบูรณะความดี ต้องขยันหมั่นเพียร เห็นความดีต้องบุก ต้องยังกุศลให้ถึงพร้อม เสมอ อย่าย่อหย่อน ขนาดบุก ขนาดพยายามบูรณะไว้ มีบูรณภาพ มีบูรณาการกันเสมอ มันก็ยังไม่เที่ยง เพราะความไม่เที่ยง ความไม่ตั้งอยู่ ความจะต้องเสื่อมไปนี่แหละ เราจึง จะต้องทำให้เต็ม อยู่เสมอ ความดีที่ดี เต็มอยู่ขนาดไหน ขอบไหน ดีเกินก็ไม่ดี เขาเรียก ดีแตก ที่จริงน่ะ มันดีไม่เกินหรอก ถ้าดี ความดีมันมี ความสมบูรณ์ ในตัวมันเอง มันเป็น สัมมา มีความพอเหมาะ ความดียังจะต้อง อยู่ในความพอเหมาะ ถ้ามันเกินมันก็ไม่ดี

มัชฌิมาปฏิปทา
พระพุทธเจ้าค้นพบสิ่งสุดโต่ง ๒ ด้าน คือด้านภายนอกเรียกว่า กาม และด้านภายใน เรียกว่า อัตต ซึ่งเป็นความรู้ระดับโลกุตระ ผู้ไม่ศึกษาปฏิบัติธรรม ก็หลงระเริงไปกับ กามสุข ส่วนผู้ปฏิบัติธรรม ก็ไม่รู้จักอัตตา สู้อุตสาหะปฏิบัติ พากเพียรด้วยยาก ด้วยลำบาก (กิลมถะ) แต่กลับยิ่งไม่พ้น ความเป็นอัตตา หรือยิ่งหลง หนักไปกับอัตตา กับบรมอัตตา (ปรมาตมัน)

พระพุทธเจ้าทรงสอนมัชฌิมาปฏิปทา ให้ปฏิบัติประมาณตน ไม่หย่อนจนเกินไป และ ไม่ตึง จนเกินไป ไม่เสริมต่อ ทั้งกาม และไม่สร้างเติมทั้งอัตตานั่นเอง แต่แล้วก็ไปตีความ มัชฌิมา ตามใจกิเลส ฉันเดินตาม ทางสายกลาง เอาอะไรวัด เอาใจฉันวัด ใจคุณมีกิเลส หรือเปล่า มี คุณก็เอาจิตกิเลส ของคุณนั่นแหละ วัดว่าเป็นกลางของคุณ ตามสบาย ตามความพอใจ ของคุณ นั่นไม่ใช่แล้ว ต้องพระอาริยเจ้า พอใจ อาริยกันตศีล ต้องมีศีล มีขนาดของข้อปฏิบัติ ศีลเป็นข้อสำหรับปฏิบัติ ของแต่ละคน ซึ่งต้องเป็นศีลเคร่ง พอสมควร เหมาะกับตน จึงจะเจริญในกุศล ไม่ใช่ศีลย่อหย่อนตามใจเรา ตามกิเลส ของเรา ไม่ใช่ตามใจเรา ต้องตามใจพระอาริยเจ้าท่านพอใจ ไม่ใช่คุณพอใจ คุณต้องให้ พระอาริยเจ้าพอใจ ผู้ที่สะอาด ผู้ที่ท่านรู้พอใจ ไม่ใช่คุณพอใจ แล้วบอกว่าทางสายกลาง ต้องพระอาริยเจ้าเป็นผู้พอใจ นั่นคือ ต้องตั้งตน อยู่บนความลำบาก เท่าที่เราทนได้ กุศลกรรมจึงจะเจริญยิ่ง

คุณบอกทางสายกลาง แล้วก็กำหนดเอา คุณก็เอากิเลสของคุณเป็นที่ตั้ง แล้วคุณก็ บอกว่า นี่ละ พอเหมาะ ของฉันแล้ว จริง....พระพุทธเจ้าท่านให้เราคำนวณ ประมาณ ให้พอเหมาะของเราเอง ก็ใช่เหมือนกัน แต่เราต้อง มีพี่เลี้ยง ในฐานะสาวกภูมิ ในฐานะ ผู้ที่จะต้องมีครูบาอาจารย์ มาเป็นสาวก จะต้องมีพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษา มีสัตบุรุษ มีบัณฑิต มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เป็นผู้ชี้นำชี้แนะ เป็นผู้ท้วงติง บอกกล่าวกัน ไม่ใช่เราเอง เป็นคนเดี่ยวๆ โดดๆ ตัดสินเอง รู้เอง คุณเป็นปัจเจกแล้วหรือ ถ้าคุณยังไม่เป็น ปัจเจกภูมิ ที่แท้จริง เป็นสาวกภูมิ อย่าแอ๊ค หลงตัวว่าเป็นปัจเจกภูมิ

ปัจเจกภูมิคือท่านเป็นผู้มีภูมิตรัสรู้เองแล้ว ได้แล้ว แม้จะมาเกิดชาตินี้ ชาติโน้น ชาติไหน ก็แล้วแต่ ถ้ามีเนื้อหา นั้นจริง มีภูมิอันนั้นของจริง ท่านก็เป็นจริง แต่ถ้าไม่จริง แล้วไป หลงตัว หลงตน มันก็พัง ศาสนาพัง เพราะคนอวดดีว่าตัวเองเป็นปัจเจกภูมิ เพราะฉะนั้น แทนที่จะประมาท เราถือว่า เราเป็นสาวกภูมิ เสียก่อนดีกว่า อย่าเพิ่ง ไปหลงใหลว่าเป็น ปัจเจกภูมิ ปัจเจกภูมิท่านจะมีลักษณะจริง ที่แสดงออก ยืนยันได้ ปัจเจกภูมิไม่ใช่ของตื้น มีฤทธิ์เดช มีองค์ธรรมเป็นเนื้อหา เป็นแก่นสาร สารัตถะ ปรมัตถะ แก่นสารที่ท่านจะ แสดงออก คนจะเห็นจะรู้ทีเดียวแหละปัจเจกภูมิน่ะ ไม่ใช่เล็กๆ น้อยๆ หรอก มันเป็น เนื้อหาที่จริง และจะยืนยันพิสูจน์ได้เป็นเวลานานๆ เลย ถ้าไม่ใช่ของจริง หลอกล่อกันได้ ชั่วคราว ประเดี๋ยว ก็พิสูจน์กันได้ ว่ามันไม่จริง

กลับมาตรงความไม่เที่ยงอีกที ทุกอย่างมีความไม่เที่ยง ความตั้งอยู่ไม่ได้ มันจะเสื่อมไป เป็นธรรมดา ตามกาละ ตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยทำให้เสื่อม กาลเวลาทำให้เสื่อม มันเสื่อมจริงๆ พวกเราได้ระลึก เสมอว่า ศาสนาพุทธสอนให้เราเข้าใจคำว่า ความไม่เที่ยง ความไม่คงทน ให้เข้าใจให้ถูกทิศทาง ถ้าเข้าใจ ความไม่เที่ยง ความไม่คงทน ไปในทาง ตีกิน เอายอดสูงมาพูด แล้วก็จบ คุณก็จะกลายเป็นคนปล่อยวาง ชนิดที่ยังไม่น่า ปล่อยวางเลย ตัวเองยังไม่มีความสามารถ ยังไม่มีคุณความดี ยังไม่มีศีล ไม่มีอุตสาหะ วิริยะ พอเพียงเลย ยังไม่ได้มีดีจนถึงขีดถึงขั้นแล้วคุณก็ปล่อยวาง ก็กลายเป็นคนไม่เจริญ ไปเข้าใจ ความไม่เที่ยง ความไม่ยึดมั่น ถือมั่น เป็นความไม่เอาจริงเอาจังกับอะไรเลย อะไรๆ ก็ช่างมันเถอะ มันตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมไป อะไรๆ ก็ไม่ใช่ของเรา อย่าไปหวงแหน อย่าไปโหยหา ไปดึงเอามาเลย อย่าไปสร้างสรรอะไรเลย สร้างสรร แล้วมันก็เหนื่อย ยิ่งสร้างๆๆ แล้วให้คนอื่นด้วย สร้างแล้วให้ไป แจกจ่ายคนอื่น ก็บ้ากันใหญ่ซิ คนก็ไม่อยาก ทำ มีอย่างเหรอ สร้างเอาไปให้คนอื่น ทั้งๆ ที่จะแนะนำว่า "ให้" นั่นแหละเป็นบุญ เป็นคุณค่า ความดีของเรา นั่นก็ยังหลงดีน่ะสิ อยากได้ดีน่ะสิ อยากได้ความประเสริฐ ใช่มั้ย ก็อธิบายยัดเยียด ประชดประชัน แดกดันซ้อนๆ เข้าไปอีก

ความรู้ที่แท้
อาตมาเป็นคนที่ยืนหยัดยืนยันว่า เราจะเป็นคนอยากได้ความดีนี่แหละ อาตมาเรียกว่า ตัณหาอุดมการณ์ เรียกวิภวตัณหา เป็นตัณหาอุดมการณ์ อยากได้คุณค่านี่แหละ แม้ใน ภาษาสุดท้าย ที่พระพุทธเจ้า ท่านสอนว่า เราได้ความดีหรือเป็นผู้ที่มีความดี นั้นจริงแล้ว ความดีนี้ก็ไม่ใช่ของเรา ไม่ให้ยึดเป็นอัตตา เป็นอัตนียา ความรู้อันนี้พระพุทธเจ้าก็สอนไว้ แต่มันเป็นเบื้องปลาย ไม่ใช่ความรู้จะมาใช้ ตั้งแต่เบื้องต้น ปุบปับๆ อะไรก็ไม่ใช่ของเรา ถ้าไม่ใช่ของเรา เอามาให้หมดหน่อยเถอะน่า ใครมีบาทมีเบี้ย มีเงินมีทรัพย์ เอามาให้หมด เดี๋ยวนี้หน่อยเถอะน่า ที่พูดปาวๆ เก่งๆ นั่นนะ ก็ไม่เห็นเป็นได้ ก็พูดแต่ปาก อยู่นั่นแหละ ขอเศษ ยังไม่ได้เลย อย่าไปพูดเอาถึงขอกอบขอกำเลย ขี้เหนียวก็เท่านั้น หวงแหนก็เท่านั้น เสพโลกียสุข อยู่ก็เท่านั้น นี่มันไม่จริงเห็นมั้ย

เพราะฉะนั้นขอย้ำอีกว่า ความเห็นแต่แค่ว่าความไม่เที่ยงนี่ จะต้องเข้าใจให้ถูกทิศ ถูกเหลี่ยม ถูกมุม ของมัน เพียงผิดพลาดเหลี่ยมมุมความไม่เที่ยงเท่านี้แหละ ทำให้คนเลว และพัฒนาตัวเอง พัฒนาสังคม ไม่ได้ มันกลายเป็น ความเห็นแก่ตัว หลอกล่อ ยิ่งเป็นคน มีโวหาร มีปัญญาหลักแหลม มีความเฉลียวฉลาด แล้วเอาโวหาร เหล่านี้มาตีกิน สอน ปรัชญาพุทธด้วย ยืนยันว่าฉันนี่สอนปรัชญาพุทธ คุณก็เอาปรัชญาพุทธ นั่นแหละมาสอน เอาความรู้มาหากิน ได้เงิน ได้บาทได้เบี้ย ล่าลาภ ล่ายศ ล่าสรรเสริญ แต่ตัวเองก็ประพฤติ เหลวแหลก ยังมากในกาม ยังมากในราคะ ลาภยศก็ล่ามาเสพโลกียสุข ออกไปท่องโลกีย์ ชนหน้าชนตากัน เป็นคนมียศ มีศักดิ์ มีเกียรติ มีเยอะอยู่ในสังคม เอามาหลอกมาล่อ มาพูดมากล่าว มาสอน แต่ตัวเอง เป็นไม่ได้หรอกนะ

โลกสังคมเดี๋ยวนี้ไม่มีความรู้กัน ก็ลวงกันได้ แต่ลวงอาตมาไม่ได้หรอก หรือลวงผู้ที่รู้จริงๆ ผู้ที่เข้าใจแล้ว หลอกลวงเขาไม่ได้ คนในสังคมขณะนี้ จะทางด้านบริหาร ทางด้านศาสนา ก็ตาม ที่จริงอาตมา ไม่พยายามไปตามจับผิดใคร แต่อาตมาจะได้ข้อมูลมาเรื่อยๆ รู้จาก คนนั้นคนนี้ อาตมาจะยังเคารพ นับถืออยู่ เมื่ออาตมา ยังไม่ได้ข้อมูล จะเป็นทางศาสนา จะเป็นทางผู้บริหารก็ตาม ถ้าอาตมาได้ ข้อมูลมา ไม่น่านับถือ อาตมาจะไม่นับถือ บังคับ อาตมาไม่ได้หรอกว่า จะนับถือหรือไม่นับถือ เป็นสิทธิของอาตมา อาตมารู้ความจริง ก็จะ พยายามบอกกล่าวกัน สำหรับผู้ที่ไม่น่านับถือ แต่น่าจะถล่ม อาตมาก็จะต้อง ไม่หาศัตรู ก็จะนำมาเป็นหลักฐานข้อมูลในการติงเตือนกัน

เขาเข้าใจความไม่เที่ยง ได้แค่ตรรกะ เป็นสมมุติสัจจะ ไม่ใช่ปรมัตถ์ ปรมัตถ์ที่เขาก็เรียนกัน คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน กิเลสก็อยู่ที่จิต อยู่ที่เจตสิก ทีนี้สิ่งที่ไม่เที่ยง ก็คือ "สักกายะ" ในตนนั่นแหละ ต้องเห็นว่า มันไม่เที่ยง นั่นก็คือ เห็นตัวตนของกิเลสนั่นเอง ที่อ้วนขึ้น หนาขึ้น เมื่อมันได้รับอาหาร กิเลสมากขึ้น หนาขึ้น มันไม่เท่าเดิม ไม่คงที่ ไม่เที่ยง นี่คือ ความไม่เที่ยงที่ยังไม่เป็นอาริยผล กิเลสหนาขึ้น มากขึ้นแบบนี้ คือ ความไม่เที่ยงสามัญ ของปุถุชน ปุถุ แปลว่า มาก หนา อ้วน คนที่ตัวตนของกิเลสยังหนาขึ้น อ้วนขึ้นอยู่ ก็ยัง ชื่อว่า คนที่ยัง"ปุถุ"อยู่ ดังนั้น ถ้าผู้ใดปฏิบัติสามารถทำให้มันไม่เที่ยงโดย "ลดตัวตนของ กิเลสนั้นๆ ลงได้" กิเลส ไม่เท่าเดิม ไม่คงที่ แต่จางคลายลง น้อยลงๆๆ ฉะนี้แลคือ ความไม่เที่ยงที่เป็น ปรมัตถสัจจะ คือ ความไม่เที่ยง ที่เป็นผลอันประเสริฐ เป็นประโยชน์ อันประเสริฐ เป็นอาริยผล ตัวตนของกิเลส ถูกผู้ปฏิบัต ิรู้จักรู้แจ้งรู้จริง และปฏิบัติ อย่างสัมมาทิฐิ จนที่สุดตัวตนของกิเลสหมดสิ้นเกลี้ยง ดับสนิท ไม่มีตัวตนอีก เรียกว่า อนัตตา นี้คือ ความไม่มีตัวตน ที่ไม่ใช่สมมุติสัจจะ แต่เป็นผลแห่งความจริงอันประเสริฐ ความจริง หรือสัจธรรม ที่เป็นปรมัตถสัจจะสุดยอด ถึงขั้น"อนัตตา"(ไม่มีตัวตน) ขั้น "สุญญตา" (ความเป็นสูญ) หรือ ความสูญสิ้นตัวตน ที่เป็นวิทยาศาสตร์

จุดสำคัญยิ่งของ"ความไม่มีตัวตน"ที่เป็นสุดยอดแห่งพุทธธรรมนั้น ได้แก่ "อนัตตา" มีคุณวิเศษ คือ "เที่ยง" ผู้ใดสามารถทำได้ ปฏิบัติจนสัมบูรณ์จนสูงสุดยอดก็จะ"เที่ยง" จะถาวร กล่าวคือ "ความเป็นอนัตตา" ที่ปฏิบัติพิสูจน์ จนสุดยอดถึงขั้น "ผลที่สั่งสม เป็น อดีต" ก็ดี ผลในปัจจุบันก็ดี ผลในอนาคตก็ตาม ล้วนเป็น "อนัตตา" อย่างคงที่ ยืนยัน ความเป็นหนึ่งเดียวเด็ดขาด ไม่เป็นอื่นอีกเลย นี้แลคุณสมบัติพิเศษคือ "เที่ยง" (นิจจัง) "ถาวร"(ธุวัง) "ยั่งยืน"(สัสสตัง) คือ "ไม่แปรเปลี่ยนเป็นอื่นอีก" (อวิปริณามธัมมัง) "ไม่มีอะไร มาหักล้างได้" (อสังหิรัง) "ไม่กลับกำเริบ" (อสังกุปปัง) "อนัตตา" สุดยอดนี้ ได้แล้วได้เลย เป็นแล้วเป็นเลย เที่ยงแท้แน่นอน

ขอกำชับอย่างสำคัญนะว่า "ความไม่มีตัวตน-ความไม่มีเกิด-ไม่มีตายกันอีกแล้ว" นี้เท่านั้น นะที่ "เที่ยง -ถาวร-ยั่งยืน....." เพราะ"ตัวตนของกิเลสตายสนิทหมดสิ้น อย่างไม่เหลือเศษธุลี อะไรอีกแล้ว" จึงไม่มีอะไรเกิด อะไรตาย อีกได้แล้ว ส่วน"ความมี"ใดๆนั้น ไม่มีอะไรที่ "เที่ยง" เด็ดขาดเลย ในมหาจักรวาล นี้คือ ความจริงขั้นยอด ความจริงอันเลิศ หรือความจริง ที่เป็นหนึ่ง ไม่เป็นสอง

พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้เป็นภาษาบาลีว่า เอกัง หิ สัจจัง น ทุติยมัตถิ เอกัง ก็คือหนึ่ง หรือเลิศ ความเป็นเลิศ หรือความเป็นหนึ่ง สัจจะนี่มีความเป็นหนึ่ง สัจจะมีความเป็นเอก สัจจะมีความเป็นเลิศ สัจจะมีความเป็นหนึ่ง น ทุติยมัตถิ ทุติยก็คือสองนั่นเอง น ทุติยมัตถิ ไม่มีความเป็นสอง ไม่มีความเป็นอื่น นี่จึงเรียกว่าเที่ยง สัจจะเที่ยงนะ พุทธสุดยอด ยืนยันไว้ว่า สัจจะเที่ยงพระพุทธเจ้าท่านก็สอนความเที่ยง สอนเรื่องนิยตะ มีนิยตะหรือฐิติ มีความตั้งมั่น มีความมั่นคง มีความคงที่ เสถียร สถิต เป็นความถาวร เป็นความสถิต เสถียร ยืนนานนะ ที่มันยืนนานเพราะมีเหตุปัจจัยที่พิสูจน์ได้ เป็นเอหิปัสสิโก ดังนี้ จึงชื่อว่า วิทยาศาสตร์

เราควรจะให้ความดี ให้คุณธรรม คุณค่าของมนุษย์ที่ควรได้ควรเป็นมันเที่ยง แต่มันก็ ไม่เที่ยงหรอก จึงจำเป็นต้องทำซ้ำ ทำอีกๆๆ จึงจะไม่เสื่อมลง ถ้าไม่ทำดีนั้นๆ อีก มันก็เสื่อมได้ คุณความดีนี่เป็นสมมุติสัจจะ คุณความดีนี่ เป็นสมมุติให้มันเที่ยง หรือ สถิต เสถียร อยู่เป็นหนึ่งนานๆ แต่มันจะไม่เป็นหนึ่งนานๆ สิ่งที่เป็นหนึ่งจริง ที่ไม่เปลี่ยนแปลง เลย มีอย่างเดียว นั่นคือความไม่มี ถ้าไม่มีแล้ว จะมีอะไร เป็นความเที่ยงล่ะ มันก็อยู่ อย่างนั้น ไม่มีอะไรให้ไม่เที่ยง ให้เที่ยง จะมีสองมีสูญอะไร มันก็สูญหมดแล้ว ไม่มีสองนี่ เพราะไม่มีหนึ่ง ก็ไม่มีสอง มันสูญน่ะ ส่วน"ความมี"ใดๆ นั้น ล้วนไม่เที่ยงทั้งสิ้น

เราค้นพบอันนี้แหละถึงจะค้นพบพระเจ้า พบได้ที่จิตวิญญาณ จิตวิญญาณนี่มีกิเลส เป็นเหตุปัจจัย ทำให้ทุกอย่างชั่ว ทุกอย่างเลว ทำให้มันทุกข์ ลำบาก ไม่สถิตเสถียร ถ้าเราล้างกิเลสออก เราทำแต่ดีๆๆๆ ความดีก็จะเกิดความเที่ยง ความทรงอยู่ได้นาน แม้จะทรงอยู่ไม่ได้ โดยสมมุติสัจจะ แต่โดยปรมัตถ์แล้ว เราทำให้ความดีคงอยู่ได้ นานเท่านาน เราได้พิสูจน์ความเที่ยงของความดี ความไม่สูญไปของความดี ได้ด้วย ประการอย่างนี้

(โปรดอ่านต่อฉบับหน้า)

-สารอโศก อันดับที่ ๒๗๕ กันยายน ๒๕๔๗ --