กว่าจะถึงอรหันต์
พระอุปเสนวังคันตปุตตเถระ

ถูกตำหนิในเรื่องใด
อาศัยเรื่องนั้นเป็นครู
แทนที่จิตจะหดหุ่
กลับสู้เพียรสู่นิพพาน

ในอดีตชาติของพระอุปเสนวังคันตะปุตตเถระ ได้เคยเกิดอยู่ในเรือนของผู้ดี มีตระกูล แห่งนครหังสวดี มีโอกาสเข้าเฝ้า พระพุทธเจ้าองค์ปทุมุตตระ ซึ่งประทับอยู่ที่เงื้อมเขาแห่งหนึ่ง

เขาเด็ดดอกกรรณิการ์ที่กำลังบานงดงามส่งกลิ่นหอม เอามาประดับที่ฉัตร (คล้ายร่ม ซ้อนกันเป็นชั้นๆ) และนำมาโปรยถวายแด่พระพุทธเจ้า แล้วถวายบิณฑบาต ด้วยข้าวชั้นเลิศ อาหารอันประณีตยิ่ง นิมนต์ให้ทรงฉันที่บริเวณนั้น โดยมีพระพุทธเจ้า เป็นประธาน พร้อมด้วยพุทธสาวกอีก ๘ รูป

พระปทุมุตตรพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ว่า

"ท่านจะได้เป็นจอมเทพ (ผู้นำของคนที่มีจิตใจสูง) ๓๐ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๐ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้า ประเทศราช (เมืองขึ้น) อันไพบูลย์นับครั้งไม่ถ้วน ในที่สุดจะได้เป็นสาวกของ พระพุทธเจ้า องค์สมณโคดม โดยมีชื่อว่า "อุปเสน"

ดังนั้นตลอดชีวิตของเขา จึงกระทำแต่บุญกุศล เมื่อตายแล้ว ก็ไปเกิดในภพต่างๆ ตามกรรมของตน จนกระทั่งถึงยุคสมัยของพระสมณโคดมพุทธเจ้า เขาได้เกิดใน ตระกูลพราหมณ์ เป็นบุตรของ พราหมณ์ชื่อ วังคันตะ กับนางพราหมณีชื่อ สารี อยู่หมู่บ้าน นาลกคาม (นาลันทา) ไม่ไกลจาก กรุงราชคฤห์ ในแคว้นมคธ เขามีชื่อว่า อุปเสน (เป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระ)

เมื่อเจริญเติบโตเป็นชายหนุ่ม เรียนจบไตรเพท (คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์) แล้ว ได้มีโอกาส ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา บังเกิดจิตยินดียิ่งในธรรมนั้น ด้วยศรัทธาจึงขอบวช อยู่ในพระพุทธศาสนา

ครั้นบวชแล้วได้ ๑ พรรษา เป็นผู้เฉียบคมในธรรม มีปัญญามาก จึงทำตนเป็นอุปัชฌาย์ (ผู้รับรอง กุลบุตร เข้าบวชท่ามกลางหมู่สงฆ์ บวชให้กุลบุตรผู้ต้องการอุปสมบท)

ต่อมา เมื่อภิกษุอุปเสนวังคันตบุตร ย่างเข้า ๒ พรรษา ได้พาสัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) เดินทางมาเข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ทรงปฏิสันถาร (สนทนาทักทาย) แล้วตรัสถามว่า

"เธอมีพรรษาได้เท่าไร"
"ได้ ๒ พรรษา พระพุทธเจ้าข้า"
"แล้วภิกษุที่ตามเธอมาเล่า มีกี่พรรษา"
"มีพรรษาเดียว พระพุทธเจ้าข้า"
"ภิกษุนี้เป็นอะไรกับเธอ"
"เป็นสัทธิวิหาริกของข้าพระพุทธเจ้าเอง"
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับอย่างนั้น ก็ทรงติเตียนว่า

"ดูกร โมฆบุรุษ (คนไร้ประโยชน์ ) การกระทำของเธอไม่เหมาะ ไม่สมควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เพราะเธอยังเป็นผู้ที่ต้องให้ผู้อื่นสั่งสอนธรรมอยู่ ไฉนจึงสำคัญตน ไปสั่งสอนธรรมผู้อื่นเล่า เธอจะเวียนมาเพื่อความมักมาก จะมีความพัวพันด้วยหมู่เร็วเกินไป การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไป เพื่อความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว"

"เราอนุญาตให้ภิกษุตั้งแต่ ๑๐ พรรษาขึ้นไป ให้อุปสมบทได้"

เมื่อถูกพระศาสดาติเตียนเช่นนั้น ภิกษุอุปเสนะรู้สึกสลดใจ ดั่งม้าที่ถูกตีด้วยแส้ บังเกิดความอุตสาหะขึ้นว่า

"บัดนี้เราถูกพระศาสดาตำหนิเรื่องของการบวชให้ผู้อื่น แต่เราจะอาศัยการบวชนี้แหละ เป็นความศรัทธา ในพระศาสดา เพื่อพากเพียรให้บรรลุมรรคผล"

จึงไปบำเพ็ญ (เพิ่มพูน) วิปัสสนา (ฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง) ถือธุดงค์ (ข้อปฏิบัติ เพื่อกำจัดกิเลส) ไม่ช้านักก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในพรรษาที่ ๒ นั้นเอง เป็นผู้กระทำบริบูรณ์ ในศีลทั้งหลาย มีจิตตั้งมั่นแน่วแน่เป็นอย่างดี มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ได้คุณวิเศษ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖

เพราะพระอุปเสนวังคันตปุตตเถระ ออกบวชจากตระกูลใหญ่ มีผู้คนรู้จักมากมาย ทั้งเป็นนักเทศน์ ที่สามารถ ปฏิบัติธุดงค์ที่เคร่งครัดได้เป็นอย่างดี ทำให้กุลบุตรทั้งหลาย เลื่อมใส มาขอบวชด้วย เป็นจำนวนมาก ทั้งตัวท่านและเหล่าลูกศิษย์ เป็นที่ศรัทธา ของคนทั่วไปหมด จึงได้รับการยกย่อง จากพระศาสดา ให้เป็นผู้เลิศกว่า ภิกษุทั้งปวง ที่นำความเลื่อมใสมาได้โดยรอบ (คือทำตนให้เป็น ที่เลื่อมใสแล้ว ยังสามารถ ทำศิษย์ให้เป็นที่เลื่อมใสได้ด้วย)

มีอยู่คราวหนึ่ง พระศาสดาประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถีในแคว้นโกศล ได้รับสั่งไว้ว่า

"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกออกเร้นอยู่ตลอดไตรมาส (๓ เดือน) ใครๆ อย่าเข้าไปหาเรา นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปให้รูปเดียว"

ภิกษุทั้งปวงในที่นั้น จึงไม่มีใครเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย แล้วตั้งกติกากันว่า หากภิกษุใดฝ่าฝืน จะถือว่ามีความผิดปาจิตตีย์ (ความผิดขั้นเบา)

แต่พระอุปเสนวังคันตปุตตเถระกับเหล่าศิษย์ เดินทางมาถึงแล้วไม่รู้กติกานี้ จึงไปเข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ยังที่ประทับ พระศาสดาก็ทรงทักทายสนทนาด้วย แล้วทรงไถ่ถาม ลูกศิษย์ของ พระอุปเสนเถระว่า

"ผ้าบังสุกุล (ผ้าที่เขาทิ้งแล้ว) เป็นที่พอใจของเธออยู่หรือ"
"มิได้เป็นที่พอใจเลย พระพุทธเจ้าข้า"
"แล้วทำไมเธอจึงยังใช้ผ้าบังสุกุลอยู่เล่า"
"ก็เพราะพระอุปัชฌาย์ใช้ผ้าบังสุกุล ข้าพระพุทธเจ้าจึงใช้ผ้าบังสุกลุลอย่างนั้นบ้าง พระพุทธเจ้าข้า"
พระศาสดาจึงหันไปตรัสถามพระเถระว่า
"ดูก่อนอุปเสน ลูกศิษย์ของเธอนี้น่าเลื่อมใสนัก เธอแนะนำสั่งสอนอย่างไร"

"ข้าพระพุทธเจ้าบอกกับพวกเขาว่า ผมเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร หากพวกท่านปฏิบัติตามได้ก็จะอุปสมบทให้ จะเป็นที่พึ่งอบรมสั่งสอนให้ แต่ถ้าพวกเขาไม่รับคำ ก็ไม่ให้เขาอุปสมบท พระพุทธเจ้าข้า"

"ดีแล้ว อุปเสน เธอแนะนำลูกศิษย์ได้ดีจริงๆ แต่ว่าเธอรู้ถึงกติกาของสงฆ์ ในเขตนครสาวัตถีนี้หรือไม่ ว่า อย่าให้ภิกษุใดเข้าเฝ้าเราตลอดสามเดือนนี้"

"ไม่ทราบเลย พระพุทธเจ้าข้า เพราะสงฆ์ในนครสาวัตถีรู้กันเองแต่งตั้งตามกติกาของตน แต่พวก ข้าพระพุทธเจ้าจะไม่แต่งตั้งสิกขาบท (ข้อวินัยลงโทษ) ที่พระองค์มิได้ทรงบัญญัติ และจะไม่เพิกถอน สิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว จะประพฤติปฏิบัติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้เท่านั้น"

"ดีแล้ว อุปเสน ฉะนั้นเราอนุญาตให้พวกภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุล เป็นวัตร เข้าหาเราได้ตามสะดวก"

ภิกษุทั้งหลายพอได้ทราบข่าวนี้ ภิกษุผู้ที่ปรารถนาจะได้เข้าเฝ้าพระศาสดา ต่างพากัน ถือธุดงค์บ้าง พระอุปเสน-วังคันตปุตตเถระ ก็ได้กล่าวข้อควรประพฤติปฏิบัติ แก่ภิกษุทั้งหลายว่า

"ภิกษุพึงอาศัยในที่อันสงัด ปราศจากเสียงอื้ออึง เพื่อการหลีกออกเร้นอยู่

ภิกษุพึงเก็บผ้ามาจากกองขยะ จากป่าช้าและตรอกน้อยใหญ่ ทำเป็นผ้านุ่งห่ม เป็นจีวรอันเศร้าหมอง

ภิกษุควรทำใจให้อ่อนน้อม คุ้มครองทวาร (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำรวมดีแล้ว จึงเที่ยวไป บิณฑบาต ตามลำดับตรอก ยินดีด้วยของของตน แม้จะเป็นของเศร้าหมอง ไม่ควรต้องการ ในรส อาหารอื่น เพราะใจของผู้ติดในรสอาหาร ย่อมไม่ยินดีในฌาน (อาการจิตแน่วแน่ สงบจากกิเลส)

ภิกษุควรเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด เป็นมุนี (ผู้มีปัญญารู้แจ้ง) ไม่คลุกคลีด้วย พวกคฤหัสถ์ และพวกบรรพชิต

ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต (ฉลาดในธรรม) ควรแสดงตนให้เป็นดุจคนบ้าใบ้ คือไม่ควรพูดมาก ในท่ามกลาง สงฆ์ โดยไม่เข้าไปเที่ยวว่ากล่าวใครๆ กระทบกระทั่งใครๆ พึงสำรวม ในพระปาติโมกข์ (วินัยอันเป็น ข้อห้าม ประพฤติของสงฆ์)

ภิกษุพึงรู้จักประมาณในการขบฉันอาหาร

ภิกษุพึงฉลาดในอาการที่เกิดขึ้นของจิต รู้นิมิต (ต้นเหตุ) อันกำหนดได้แล้ว จึงกระทำสมถะ (การฝึกจิต ให้สงบระงับจากกิเลส) และวิปัสสนา (การฝึกอบรมปัญญา ให้เกิดความรู้แจ้ง เห็นจริง) ตามเวลา อันเหมาะควรอยู่เนืองๆ

ภิกษุต้องเป็นบัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียรอยู่เป็นนิตย์ กระทำภาวนา (การทำให้เกิดผล) ทุกเมื่อ ด้วยความตั้งใจว่า ถ้ายังไม่ถึงที่สุดทุกข์ ไม่พึงวางใจ จนกว่าอาสวะ (กิเลสที่หมักหมม ในสันดาน) ทั้งปวงจะหมดสิ้นไป ได้เป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส ภิกษุนั้นย่อมบรรลุนิพพาน (หมดกิเลสสิ้นเกลี้ยง) "

- ณวมพุทธ -
พฤหัสบดี ๙ ธ.ค. ๒๕๔๗
(จากพระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๙๑
พระไตรปิฎกเล่ม ๔ ข้อ ๙๐
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๗๕
พระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ ข้อ ๑๙
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๒ หน้า ๓๙๔
อรรถกถาแปลเล่ม ๗๑ หน้า ๓๙)

- สารอโศก อันดับที่ ๒๗๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ -