ปีใหม่ ตลาดอาริยะ'๔๘ ครั้งที่ ๒๖

งานปีใหม่ตลาดอาริยะ'๔๘ บุญญาวุธหมายเลข ๒ ประกาศทฤษฎีเศรษฐศาสตร์บุญนิยมว่า การให้ -การเสียสละ เป็นสิ่งประเสริฐที่มนุษย์พึงกระทำ ท้าทายให้มาพิสูจน์ยาวนาน เป็นปีที่ ๒๖ ณ ชุมชน ราชธานีอโศก ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ ๓๐ ธันวาคม๒๕๔๗ - ๑ มกราคม ๒๕๔๘ ซึ่งจัดที่ราชธานีอโศก เป็นปีที่ ๘ มีลูกหลาน สัมมาสิกขา ลุงป้าน้าอาพี่ ม.วช. ญาติธรรม สมาชิก เครือข่าย คกร. เข้าพื้นที่ล่วงหน้าช่วยเตรียมงานที่ถึงพร้อมทั้งประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่าน นับพันกว่าชีวิต

๑๗-๒๑ ธ.ค. ๒๕๔๗
นักเรียนชั้น ม. ๓ จากโรงเรียนสัมมาสิกขา ๘ แห่ง จำนวน ๑๑๓ คน คือ สันติอโศก, ปฐมอโศก, ศาลีอโศก, สีมาอโศก, ศีรษะอโศก, ภูผาฟ้าน้ำ, หิน-ผาฟ้าน้ำ และราชธานีอโศก เข้าค่าย "ผู้นำเยาวชน" บูรณาการการศึกษา เรื่องการเตรียมงานปีใหม่ตลาด-อาริยะ'๔๘ เป็นปีแรก โดยมีนิสิต ม.วช.เป็นพี่เลี้ยง และร่วมทำงาน ภาคสนาม คือ ขนฟาง, กางซาแลน, โรงครัว, ปรุงอาหาร, ขนฟืน, ทำแปลงผัก

นิสิตแพรน้ำค้าง รวมธรรม ผู้ประสานงาน อธิบายว่า "ค่ายนี้มีเป้าหมายหลัก คือการเตรียมงานปีใหม่ ซึ่งต้องอาศัย แรงงานจากนักเรียน ประมาณ ๓๐๐ คน การประเมินผล ของนักเรียน มีการเก็บคะแนน ขึ้นกระดานทุกวัน ทำให้เด็กมีความกระตือรือร้น แข่งขันกันพัฒนา กลุ่มของตนเอง รูปแบบการจัดกลุ่ม จะแยก ตามโรงเรียน เพื่อให้แต่ละโรงเรียน รู้ศักยภาพ และปรับปรุงแก้ไข การทำงานจะเป็น ขบวนการกลุ่ม เด็กมีพัฒนาการขึ้น เพราะในกิจกรรมเป็นขบวนการคิด การวางแผน ทำงาน และสรุปงาน ร่วมกัน รวมทั้ง การนำเสนอ เด็กๆทำได้ดี

การประเมินผลประกอบด้วย ศีลเด่น ๔๐ คะแนน แบ่งออกเป็น ศีลห้า ๒๐ คะแนน, สัมมา-คารวะ ๑๐ คะแนน, กิริยา วาจาสุภาพ ๑๐ คะแนน เป็นงาน ๓๕ คะแนน แบ่งเป็น ตรงต่อเวลา ๕ คะแนน, สามัคคี ๑๐ คะแนน, กระตือรือร้น ๑๐ คะแนน, ประสิทธิภาพการทำงาน ๑๐ คะแนน ชาญวิชา ๒๕ คะแนน แบ่งเป็น วางแผนการทำงาน ๕ คะแนน, การนำเสนอ ๕ คะแนน, การสรุปงาน ๕ คะแนน, การสื่อความ การถ่ายทอด ชัดเจน ๕ คะแนน, การแสดงออก อย่างเหมาะสม ๕ คะแนน"

๒๓ - ๒๗ ธ.ค. ๒๕๔๗
นักเรียนทุกชั้นปี จากโรงเรียนสัมมาสิกขา ๑๑ แห่ง จำนวน ๕๒๐ คน คือ สันติอโศก ปฐมอโศก ศีรษะอโศก สีมาอโศก หินผาฟ้าน้ำ ดินหนองแดนเหนือ ดอยรายปลายฟ้า ภูผาฟ้าน้ำ เลไลย์อโศก ศาลีอโศก และราชธานีอโศก เข้าค่าย "ยุวชนอโศกสัมพันธ์" ครั้งที่ ๘ บูรณาการ การศึกษา เรื่องเตรียม งานปีใหม่ ตลาดอาริยะ'๔๘ ณ หมู่บ้านราชธานีอโศก ร่วมกันทำงานกับพี่ ม.วช. ตามฐานงานต่างๆ เช่น โรงครัว ช่าง ไฟฟ้า ประปา กางซาแลน ทำของชำร่วย ๕ ส. อาหารแห้ง บิณฑบาต ส่วนงาน เตรียมพื้นที่ ตลาดอาริยะ และตลาดอาหาร ประกอบด้วยงาน ขนฟาง ทำคอกคิว ขนโต๊ะ และนั่งร้าน ลงสินค้า จัดสินค้า กรอกน้ำตาล เคลียร์พื้นที่ กางเต๊นท์ ปูฟาง ขุดหลุม เตรียมทำ คอกคิว

สมณะฟ้าไท สมชาติโก ราชธานีอโศก อธิบายว่า "จุดมุ่งหมายของการเข้าค่าย ยอส. ปีนี้คือ บูรณาการ วิชาการ ในฐานงาน มีการประสมประสาน ความคิดอย่างเหมาะสม ของคุรุแต่ละโรงเรียน ในค่ายนี้ ให้เด็ก ทำงานกลมกลืน เป็นวิถีชีวิตด้วยความเบิกบานแจ่มใส ตื่นตีสี่สี่สิบห้า มีกิจกรรมผ่อนคลาย ภาคค่ำ พบสมณะผู้ใหญ่ ฟังสิ่งที่ลึก เป็นการหยั่งรากลึก ให้กับเด็ก กิจกรรมสนุกแบบโลกีย์มีน้อยลง เพิ่มกิจกรรม โลกุตระ ให้เด็กเข้าสู่แกน โลกุตระมากขึ้น เด็กๆเข้าใจอะไรได้ดีขึ้น

การประเมินผลอยู่ในขอบเขตของศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา เมื่อเด็กทำงานแล้วได้ให้การศึกษา เป็นการเรียนรู้ ที่ผู้ใหญ่จะต้องดูแลเด็ก ได้ฝึกทั้งผู้ใหญ่และเด็ก มีการประสานงาน บอกผู้ใหญ่ให้ทราบ นโยบายก่อน และให้ผู้ใหญ่ทำความเข้าใจกับเด็ก มีการประเมินผลทุกครั้งที่ทำงาน การประเมินผลมี ๒ ส่วน คือ ๑. การทำงาน ๒. การแสดงออก

ในปีหน้าคาดว่าจะจัดสัมมนานักเรียนสัมมาสิกขาแบบระดมสมองเกี่ยวกับโรงเรียนของตน จากการที่ เด็กๆ ฟังเพื่อน ต่างโรงเรียนพูด ทำให้เขารู้สึกว่าปัญหาของตนเองไม่หนัก จึงลดภาวะ การเรียกร้อง และถ้าฟัง ความเห็นของเด็กบ้าง เด็กจะผ่อนคลายและสบายขึ้น ค่ายนี้เด็กๆ มีความเบิกบาน ลุยงานเหนื่อยเต็มที่ ร่วมกัน และได้หยั่งรากลึก"

๒๘ ธ.ค. สัมมาสิกขาทุกแห่งตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ชั้นมัธยมปลายและนิสิตสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต ทุกวิชชาเขต รับขวัญธรรม จากพ่อท่าน ประชุมมหาเถระที่เรือท้าวแถนพญามูล

๒๙ ธ.ค. ถือเป็นวันสุกดิบของงาน ซ้อมเปิดตลาดก่อนถึงวันจริง แต่ละโซนทดลองบริการอาหาร ให้แก่ญาติธรรม และนักเรียนที่มาช่วยงาน และร่วมงาน ว่าจะมีปัญหา-อุปสรรคอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ เป็นครั้งแรก ที่ได้นิมนต์สมณะ-สิกขมาตุมาฉันภัตตาหาร ที่บริเวณตลาดอาหาร เป็นการทำบุญ ในตลาดอาหาร ก่อนถึงวันจริง และวันนี้ เริ่มการแสดงภาคค่ำ ของพุทธสถาน ปฐมอโศก และสังฆสถาน หินผาฟ้าน้ำ

บ่าย ปฐมนิเทศน์พ่อให้แม่ให้ที่มาร่วมเสียสละในตลาดอาริยะ

ภูมิประเทศและบรรยากาศของงาน
ภูมิประเทศของบ้านราชฯเปลี๊ยนไป๋ สวยงามขึ้น มีแปลงผักสีเขียว สวยสดชื่น ให้เห็นทั่วทั้งชุมชน รวมทั้งสวนกสิกรรม ริมแม่น้ำมูล สุดลูกหูลูกตา บ้านเรือนในชุมชน หรือบริเวณ อาคารสถานที่ต่างๆ จัดตกแต่งด้วยศิลปะกลมกลืนกับธรรมชาติอย่างเรียบง่าย เป็นเสมือน จุดพักกาย และสายตา เป็นระยะๆ ไว้ให้นั่งพักผ่อนพูดคุยกันหลายแห่ง นับเป็นเมืองของศิลปินโดยแท้ เริ่มจากสวนหิน ข้างเฮือนศูนย์สูญ มีรูปปั้นพญาแร้ง (ที่ยืนอยู่หน้าเวทีธรรมชาติเมื่อปีที่แล้ว) ยืนอยู่บน ขอนไม้ที่พาด อยู่บนซากต้นตะเคียน หรือสวนหินบริเวณเฮือนโสเหล่และเฮือนเพิ่งกัน มีพญาหงส์ ประดับตกแต่งอยู่ ๔ ตัว และลานหิน บริเวณสามแยก ทางไปโรงครัว สิ่งที่ตื่นตาตื่นใจของผู้พบเห็น คือต้นไม้ยักษ์ไร้ใบ ๒ ต้น บริเวณหน้าเฮือนศูนย์สูญ พ่อท่านให้ชื่อว่าต้นพิลึก-พิลั่น หรือ ต้นกรรม-ต้นวิบาก เป็นต้นไม้ ตายแล้ว มีกิ่งก้านพันเกาะเกี่ยวกัน ยืนตระหง่านเป็นปริศนาธรรม ให้ผู้พบเห็น ได้ขบคิด ตามภูมิธรรม เป็นการแสดงศรัทธาต่อศาสนา อีกอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นที่บ้านราชฯ ขอขอบพระคุณ ชาวบ้านราชฯ ในเรื่องของการเอาใจใส่สุขภาพ ของผู้มาร่วมงาน บริการน้ำร้อน สำหรับดื่มตลอด ๒๔ ชั่วโมง ที่โรงครัว ตลอดงาน

ตลาดอาหาร
เปิดจำหน่ายตั้งแต่ ๖ โมงเช้า - ๔ โมงเย็น เป็นปีแรกที่มีการบริหารจัดการ แบบสาธารณโภคีทั้งหมด
โดยพี่น้องแต่ละพุทธสถาน-สังฆสถาน-ชุมชน-กลุ่มต่างๆ ที่ต้องการ มาจำหน่ายอาหาร ลงขัน ร่วมกัน ตามกำลังทรัพย์ ใครมีเงินลงเงิน ใครมีแรงลงแรง หรือลงทั้งเงิน และแรง ก็ไม่ว่ากัน เพราะงานนี้ พวกเราทุกคนล้วนเป็นเจ้าภาพ โดยมีสโตร์กลาง รับผิดชอบจัดหา -จัดซื้อและบริการวัตถุดิบ ปีนี้ จัดแบ่งอาหาร และมีแม่ข่ายรับผิดชอบออกเป็น ๔ โซน(zone) ดังนี้ ก๋วยเตี๋ยว-ปฐมอโศก รับผิดชอบ, ข้าวราดแกง-ชมร. สาขาหน้าสันติอโศก รับผิดชอบ, ขนม-สลัด-ศาลีอโศกและสีมาอโศกรับผิดชอบ, อาหารอีสาน ข้าวเหนียวส้มตำ ข้าวปุ้น-ราชธานีอโศก และ ศีรษะอโศก รับผิดชอบ กลุ่มใด อยากทำอาหาร ชนิดใดใน ๔ โซนนี้ก็เข้าร่วมทำได้เลย

พื้นที่ของตลาดอาหารได้ขยายให้กว้างขึ้นกว่าเดิม ทางเข้าตลาดอาหารใช้เรือตกแต่งเป็นประตูทางเข้า ทางขวาเป็นร้านน้ำหวาน ของทีมศิษย์เก่าสัมมาสิกขา ทางซ้าย เป็นโซนอาหารต่างๆ จัดเป็นรูปตัว แอล (L) เริ่มจากศีรษะอโศกนำข้าวเกรียบผัก-ฟักทอง-เผือก-มัน จำนวน ๒ ตัน มาทอดจำหน่าย ขายหมด ภายใน ๒ วัน ถัดมาเป็นอาหาร อีสานบ้านเฮา ดั้งเดิม ข้าวเหนียว-ส้มตำ ข้าวปุ้น-น้ำยาป่า มีกลุ่ม ภูผาฟ้าน้ำ ร่วมขาย ขนมจีนน้ำเงี้ยว-แคบเจ ถัดมาเป็นสลัดผัก ขนมหวาน ข้าวราดแกง ข้าวผัด ผัดซีอิ๊ว และ ร้านสุดท้าย หักมุมไปทางขวา เป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำ ราดหน้า ข้าวโพดคั่ว น้ำเต้าหู้ปาท่องโก๋ โดยเฉพาะ ข้าวโพดคั่ว มีผู้มาใช้บริการ เข้าคิวยาวเหยียด ตลอดทั้ง ๓ วัน มีการตกลงว่า ในปีหน้า จะเพิ่ม เตาคั่วข้าวโพดอีก ๒ เตา เพื่อรองรับพี่น้องที่มาใช้บริการให้เพียงพอ

และสุดท้ายเป็นเวทีชาวบ้าน เป็นเวทีการแสดงต่างๆของพี่น้องญาติธรรมหมุนเวียนกันไป ในแต่ละวัน มีวงดนตรีฆราวาส ยากเข็ญ แสดงเป็นหลักอยู่บนเวที จุดขายคูปอง แลกอาหารจานละ ๑ บาท อยู่บริเวณกึ่งกลาง ของตลาดอาหาร และจุดล้างจาน ที่จัดไว้ให้ผู้มาใช้บริการ ได้ช่วยแบ่งเบา แบ่งบุญ กันไป ซึ่งปีนี้พี่น้องให้ความร่วมมือ ช่วยกันล้างจาน มากถึง ๘๐%
ปีนี้ตลาดอาหาร กำไรอาริยะ ๒๙๓,๗๕๙ บาท

ตลาดสินค้า
เปิดจำหน่ายตั้งแต่ ๘ โมงเช้าถึง ๔ โมงเย็น มีทั้งหมด ๗๔ ร้าน น้อยลงกว่าปีที่ผ่าน เพราะมีการเริ่ม รวมร้านจำหน่ายสินค้ายอดฮิต ติดอันดับความต้องการ ของประชาชนเข้าด้วยกัน เป็นระบบ สาธารณโภคี โดยร่วมกันลงขันกันซื้อสินค้ารวมกัน คือ เครื่องครัว พลาสติก น้ำมัน และ น้ำตาล ใช้ชื่อ "ร้านรวมน้ำใจบุญนิยม" แยกเป็นร้านใหญ่ ขายสินค้าร้านละ ๑ ชนิด เป็นจำนวนมาก จนหลายคน ตั้งข้อสังเกตว่า จะขายหมดหรือเปล่า แต่ปีนี้มีประชาชนมาซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น เกินความคาดหมาย และบางร้าน ไม่จำกัดจำนวนการซื้อสินค้า ทำให้สินค้าหลายร้านหมดลงในวันที่ ๓๑ ธ.ค. เช่น ร้านรวมน้ำใจฯ ที่ขายเครื่องครัวกลายเป็นลานจอดรถในเวลา ๑๐ โมงเช้าไปทันที สินค้าแปลกใหม่ ในตลาดครั้งนี้ คือรถปิกอัพป้ายแดง ๒ คัน โดยเปิดให้ผู้สนใจลงชื่อจองกันไว้ก่อน ซึ่งมีผู้มาลงชื่อ จองไว้ ๖๐ กว่าคน และกำหนดจับฉลาก ผู้โชคดีและสำรอง ที่มีความพร้อม ในการซื้อทันที ในวันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๔๘ เวลาบ่ายโมง ผลปรากฏว่าผู้โชคดีเป็นญาติธรรมจากปฐมอโศก คือคุณอนันต์ และ สันติอโศกคือ คุณหนูพิน

ยอดขายสินค้า ๑๕,๒๘๔,๒๙๕ บาท กำไรอาริยะ ๖,๕๑๒,๐๘๘ บาท

ตลาดอาหารและตลาดสินค้า งดรับธนบัตร ใบละ ๕๐๐ และ ๑,๐๐๐ เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ นำแบงค์ ปลอม มาสร้างอาชีพใหม่ หากผู้ใด นำธนบัตรดังกล่าวมา ต้องไปแลกแบงค์ย่อยที่แผนกการเงิน ชั้น ๒ เฮือนศูนย์สูญ และเป็น การพัฒนาผู้ซื้อ ในการเตรียมพร้อม ในการมาซื้อสินค้าในตลาดอาริยะปีต่อไป

ปีใหม่นี้พวกเราได้ให้ของขวัญแก่พี่น้องประชาชน บางคนสะสมเงินทั้งปีเพื่อมาซื้อสินค้าที่นี่ ด้วยมั่นใจว่า ถูกที่สุด มั่นใจว่าชาวบุญนิยม มาเสียสละอย่างแท้จริง เป็นงานที่คนซื้อ ก็ตั้งใจมาซื้อ คนขายก็ตั้งใจ มาขาย แม้พวกเราจะไม่ร่ำรวยเงินแต่เมื่อหันมาใช้ระบบสาธารณโภคี ก็สามารถจัด งานบุญขึ้นได้ ตลาดอาริยะ เป็นงานยัญพิธี ของการให้ ที่ให้ได้มากที่สุด ทำประโยชน์ให้สังคม โดยไม่เอาจากสังคม กลับคืนมา เพราะทวนกระแส เขาขายของให้รวย แต่ชาวอโศกขายของให้จน มีทิศทางของชีวิต ในแนวโลกุตระ เพราะเราล้วน มุ่งมาจน

การแสดงภาคค่ำ
เริ่มการแสดงตั้งแต่คืนวันที่ ๒๙ ธ.ค.๒๕๔๗ - ๑ ม.ค.๒๕๔๘ ตั้งแต่เวลา ๑๘.๓๐-๒๐.๓๐ น. เนื่องจาก กระแสความเศร้าโศก ของเพื่อนร่วมโลก ที่บาดเจ็บและจบชีวิตลง เพราะเหตุการณ์ คลื่นยักษ์ สึนามิ ทำให้ผู้แสดงของพุทธสถาน-ชุมชน-กลุ่มต่างๆบอกงดการแสดง ทั้งๆที่ได้ซักซ้อม และเตรียม การแสดงมาแล้ว ต่างจากปีที่ผ่านมา ที่ต่างก็อยากจะแสดง ทำให้การแสดงในปีนี้ มีเพียงวันละ ๑-๓ รายการเท่านั้น แล้วต่อด้วยการแสดงธรรม คืนวันที่ ๓๐ ธ.ค. แสดงธรรมโดย สมณะเพื่อพุทธ ชินธโร วันที่ ๓๑ ธ.ค. แสดงธรรมโดยสมณะเดินดิน ติกขวีโร และวันที่ ๑ ม.ค.๒๕๔๘ แสดงธรรมโดยพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ที่ต่างล้วนให้รำลึกถึงมรณานุสสติ อย่าประมาท ในวัย ปรากฏว่า มีคนมาฟัง มากกว่า ตอนเช้า เพราะไม่ต้องเตรียมทำอาหาร หรือเตรียมเปิดร้านขายสินค้า และไม่ง่วง เป็นสิ่งแปลกใหม่ ของรายการ ภาคค่ำ ที่หลายคนประทับใจ และอยากให้เป็นอย่างนี้ ตลอดไป

รายการที่เฮือนศูนย์สูญ
เวลา ๐๓.๓๐-๐๕.๓๐ น. ธรรมะรับอรุณเพื่อชาวบุญนิยม ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ โดยพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธ.ค. ๒๕๔๗ - ๑ ม.ค. ๒๕๔๘ อโศกพันธุ์แท้ ควรขวนขวาย หาเท็ปมาฟังให้ได้

รายการพิเศษ ๐๙.๐๐-๑๐.๓๐ น.
๓๐ ธ.ค. รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายอำนาจ ส่งเสริม เป็นตัวแทน ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งติดราชการด่วน กล่าวเปิดงานว่า "...สมัยผมเป็นนายอำเภอ ท่านศิวะ แสงมณีเป็นผู้ว่าฯ ได้นำนายอำเภอ ทุกคนรวมทั้งผมด้วย มารับการอบรม และปฏิบัติธรรมที่ราชธานีอโศก ที่นี่ ผมได้รับความรู้พอสมควร โดยเฉพาะเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งราชธานีอโศก และอโศกหลายๆ แห่ง ได้ดำเนินการ ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดี แก่พี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศ

กระผมรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดงานปีใหม่อโศก'๔๘ ในครั้งนี้ จากรายงานของท่านนายอำเภอ วารินชำราบ ทำให้ทราบวัตถุประสงค์ และความเป็นมา ของการจัดงาน จึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทราบว่าการจัดงานต้อนรับปีใหม่ ส่งท้ายปีเก่า เปี่ยมไปด้วย บุญกุศล ให้เกิดขึ้นเป็นปีที่ ๘ แล้ว ในจังหวัดของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดอาริยะ นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ของเมืองไทยและของโลกทีเดียว ที่ผู้ขายยอมขายขาดทุน ด้วยใบหน้า ที่ยิ้มแย้ม อิ่มบุญ ซึ่งตรงกับกระแส พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ที่เคย พระราชทานเอาไว้ว่า ขาดทุนของเราเป็นกำไรของเรา หรือเราขาดทุน เราก็ได้กำไร "Our loss Is Our Gain" นั่นคือทุกๆท่าน ได้เสียสละ ได้ให้แก่คนอื่น ซึ่งเป็นกำไรคือบุญกลับมา นับว่าเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง และคนที่จะทำได้เช่นนี้ ต้องเป็นคนมีบุญ ได้ปฏิบัติธรรม ชำระจิตใจ แถมสินค้าที่นี่ ยังเป็นสินค้า ไร้สารพิษ ไม่เป็นอันตราย ต่อผู้บริโภค อีกด้วย

ผมได้ดูคนที่มาเที่ยวชมงาน ได้มาซื้อของต่างๆมากมายทีเดียวครับ ก็ต้องกราบขออภัย ที่ต้องล่าช้า เกินกว่าเวลา เพราะต้องวกไปวนมา ติดคนเป็นจำนวนมาก ที่เข้าคิวซื้อของ ตามที่ต่างๆ ซึ่งเป็นที่น่า ภาคภูมิใจ

ผู้มาเที่ยวงานนอกจากจะได้สินค้าราคาต่ำกว่าทุนไปใช้ที่บ้านแล้ว ยังได้รับอาหารกายเพียงจานละ ๑ บาท ซึ่งมองดูแล้วอยู่ทางโน้นครับ ก็หาไม่ได้ในที่ไหนอีกแล้ว ในยุคเศรษฐกิจ เช่นนี้ และท่านยังได้ อาหารใจ จากพระคุณเจ้า และจากปฏิบัติการของผู้ทรงความรู้อีกหลายท่าน

กระผมจึงขอขอบคุณชาวชุมชนราชธานีอโศกและญาติธรรมทั่วประเทศ ที่มาร่วมแรงร่วมใจเสียสละ จัดงานปีใหม่'๔๘ ผมอยากจะเห็นจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ได้จัดงานปีใหม่เช่นนี้ เพื่อสังคมเราจะได้ อยู่เย็น เป็นสุขทุกคน จะได้มีส่วนแบ่งปัน พึ่งพา เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ...ขอให้ตลาดอาริยะ'๔๘ นี้เป็นที่พึ่งที่หวัง ของประชาชน ทั้งญาติธรรมและพี่น้องทั่วไป....." เสร็จแล้วรองผู้ว่าฯ และแขก ผู้มีเกียรติ รับของที่ระลึกจากพ่อท่าน

๓๑ ธ.ค. มหาเถระ ๕ รูป ปาฐกถาธรรม "พลีชีพให้ถึงโลกุตระดีไหม?" โดยสมณะเก้าก้าว สรณีโย, สมณะกลางดิน โสรัจโจ, สมณะเสียงศีล ชาตวโร และสมณะผืนฟ้า อนุตตโร ดำเนินรายการโดย สมณะบินบน ถิรจิตโต

๑ ม.ค. ๒๕๔๘ รายการ "แพทย์ทางเลือก กับเลือกเป็นแพทย์เสียเองดีไหม?" โดย น.พ.สมนึก ศิริพานทอง, ท.ญ.ฟากฟ้าหนึ่ง อโศกตระกูล, น.พ.แสนดิน ดำเนินรายการโดย สมณะเดินดิน ติกขวีโร

บ่าย ๒ โมง พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์เป็นประธาน ประชุมตกลงเรื่องการเดินทางไปช่วยเหลือ โครงการ "ซับขวัญชาวใต้" ร่วมกู้ใจพี่น้องภาคใต้ ที่ประสบภัย จากคลื่นยักษ์สึนามิ ในนามสถาบัน บุญนิยม ร่วมกับ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม กำหนดออกเดินทางในวันที่ ๑๐-๒๑ ม.ค. ๒๕๔๘ ที่ปฐมอโศก โดยรถบัส ๑๒ คัน

๒ ม.ค. เวลา ๐๕.๐๐-๐๘.๐๐ น. ร่วมกันสรุปงาน และยุทธการเก็บบุญ ทั้งนักเรียนสัมมาสิกขา -ญาติธรรม ร่วมกันเก็บบุญ ปีนี้ไม่ต้องเก็บฟาง เพราะจะกลายเป็น แปลงปลูกผัก ของบ้านราชฯ ต่อไป ไม่ต้องเก็บ ซาแลน ทำให้การเก็บบุญไม่มากเท่าปีที่ผ่านมา สามารถเสร็จเรียบร้อยอย่างรวดเร็ว

ในงานนี้ใช้ป้ายเหลือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นผู้มาร่วมงานและช่วยงาน สามารถรับประทานอาหาร ในตลาด อาหาร ได้ฟรีและสามารถ ให้ถูกเรียกใช้ได้เช่นกัน

สมาคมศิษย์เก่าสัมมาสิกขา จัดทำใบอธิษฐาน รวมพลังศรัทธาบูชาพ่อ แด่....พ่อผู้ไม่เคยเหน็ดเหนื่อย ครบรอบ ๗๒ ปี แจกแก่ผู้มาร่วมงาน สำหรับเขียน ความตั้งใจที่จะปฏิบัติ หรือสิ่งที่ท่าน ต้องการพูด กับพ่อ ในวาระที่พ่อท่านจะมีอายุครบ ๖ รอบ ในปีพ.ศ.๒๕๔๙ สามารถส่งได้ที่ สมาคมศิษย์เก่าฯ ตามงานประจำปี ต่างๆ ของชาวอโศก หรือที่สันติอโศก

ทางโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ได้แจ้งขอรับบริจาคโลหิตช่วยผู้ประสบภัยจากสึนามิ ปรากฏว่า มีสมณะ และญาติธรรม ไปเสียสละร่วมบริจาค ๔๐ กว่าชีวิต

ปีนี้ได้เห็นพัฒนาการด้านโลกุตระของพวกเรา ในการลดอรูปอัตตาที่เป็นรูปธรรม โดยร่วมลงขัน ในตลาด อาหาร และตลาดสินค้า เป็นระบบสาธารณโภคี ร่วมทำอาหาร ตามที่หมู่กำหนด ไม่ทำอาหาร ตามที่ตน ต้องการ หรือไม่ขายสินค้าที่ตนต้องการ มาขายสินค้ายอดฮิต ที่ประชาชน ต้องการ และบอกงดแสดง ของกลุ่มตนเอง เพื่อมอบเวลา ให้สมณะแสดงธรรม

ตลาดอาริยะ นวัตกรรมใหม่ของสังคม พิสูจน์เศรษฐศาสตร์บุญนิยม ยิ่งให้ไปยิ่งมีความสุข "ให้" จนกลายเป็น วัฒนธรรมของชาวอโศก ยืนหยัดมาถึง ๒๖ ปี ด้วยความเข้าใจ ในธรรมะของ พระพุทธเจ้า ที่วิเศษว่า การให้ การเสียสละ เป็นสิ่งที่ดี เป็นบุญโลกียะ หากเรายิ่งได้ลดอัตตา ลดกิเลส ยอมกัน ได้ ไม่ถือสา ก็จะได้บุญโลกุตระ two in one เลยทีเดียว

ขออนุโมทนาบุญกับทุกชีวิตที่ร่วมเสียสละในงานปีใหม่ตลาดอาริยะ'๔๘ ขอมอบของขวัญปีใหม่ อันล้ำค่า ที่พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ฝากไว้ในช่วงท้ายของการแสดงธรรม ช่วงทำวัตรเช้าวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๘ ว่า

".....การตายการเกิดเป็นเรื่องการหมุนเวียนในสังสารวัฏ ถ้าเราทำโอปปาติกะของเราให้ดี สร้างกรรม สร้างวิบากอันนั้น ไว้เป็นสัมภาระวิบากที่ดี อันนั้นเท่านั้นแหละเป็นที่พึ่ง เป็นกัมมปฏิสรโณ เพราะฉะนั้น เราได้พึ่งสิ่งเหล่านั้นแน่นอน เราไม่ได้พึ่งหรอกทรัพย์สินเงินทอง เพชรนิลจินดา คุณไม่ได้พึ่งมันจริงหรอก ชาตินี้ ชาติหน้า ชาติไหน ไปอีกนานับชาติ ที่คุณจะดำเนินต่อไป อันนั้นไม่ใช่ ของจริงมันชั่วแวบชั่ววับ ผ่านมา แล้วผ่านไป อาศัยมันก็เท่านั้นเอง แต่สิ่งที่เราได้พึ่งจริงๆ คือกรรม กัมมปฏิสรโณ อันนี้เป็นสำคัญ ให้ดี

วันนี้ฟังธรรมนี้แล้ว ตั้งอกตั้งใจดีๆ เราต้องการผนึก ผนึกพลังพุทธ ผนึกพลังสัจธรรมที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสรู้นี้ โดยแต่ละบุคคล มาผนึกกัน เราเป็นมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เราจะรวมพลังนี้ สร้างให้ทุกอย่าง เราทำเพื่อสละ ทำเพื่อผนึกพลังสร้างสรร ที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น ใหญ่มากขึ้น จึงจะไป ช่วยโลก ได้มากขึ้น ถ้ากะปริดกะปรอยเล็กๆน้อยๆกระจ้อยกระจิบอยู่อย่างนั้น ไปไม่รอดหรอก

หลายคนที่ยังลังเล หลายคนที่ยังไม่เอาจริง ก็ขอให้มีกำลังกายกำลังใจที่เอาจริง พยายามตัดสินให้ได้ อย่าลังเล อยู่เลย พ้นวิจิกิจฉาให้ได้ แล้วก็ลงมือ พยายามมีเรี่ยวแรง พละกำลังที่จะทำงาน หรือ สร้างสรร หรือทำให้ตนเอง เข้ามาสู่มาอยู่ในระบบพลังพุทธนี้ให้ได้ ขอให้ทุกคนมีความสำเร็จ หรือว่า ประสบผล ที่จะมาผนึกพลังพุทธกันได้ เพื่อจะช่วยตนและช่วยท่านให้ได้ยิ่งๆกว่านี้ในปี'๔๘ นี้ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ให้ได้เทอญ......"

- ลูกพญาแร้ง -

- สารอโศก อันดับที่ ๒๗๘ ธันวาคม ๒๕๔๗ -