ตอน..... พึ่งตน ไม่แย่ง ไม่แข่ง มีแต่ให้และช่วย เราจึงไม่เป็นศัตรูกับใคร

พฤศจิกายน ๒๕๔๗
มหาปวารณา ครั้งที่ ๒๓ ในการประชุมกับหมู่สมณะ ๔ พ.ย. พ่อท่านได้กล่าวอะไร กับหมู่สมณะ และพูดถึง ๒๐ ปีชุมชนปฐมอโศกว่าอย่างไร นอกจากนี้ยังได้พูดถึง การนอนว่าอย่างไร กับคำถามว่า ถ้าพ่อท่านสิ้นไปแล้ว จะรีบกลับมาเกิดอีกหรือไม่ และได้พูดถึงเหตุที่จะทำให้หมู่อยู่ได้ไม่นานคืออะไร สังฆเภทที่ง่ายที่สุด ที่จะเกิดขึ้น คืออย่างไร เสียงสะท้อนที่ฆราวาสรู้สึกต่อสมณะ ในหลายๆแบบ เป็นอย่างไร การวางตัวของสมณะ ที่จะเข้าร่วมประชุมกับฆราวาสควรเป็นเช่นใด

มหาปวารณาของสิกขมาตุ ๗ พ.ย. เสร็จจากงานมหาปวารณาของทุกปี จะมีการประชุม ของหมู่ สิกขมาตุ ซึ่งก็คือมหาปวารณาของสิกขมาตุนั่นเอง หลังการประชุมเรื่องต่างๆแล้ว พ่อท่านจะมา ให้โอวาท รวมไปถึงติติงบอกข้อบกพร่องที่จะต้องแก้ไข ให้กับบรรดา สิกขมาตุ ที่ได้มาร่วมประชุม แต่ในที่นี้ ข้าพเจ้าขอข้ามผ่านในรายละเอียดเหล่านั้น

วิจัยการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อรายการวิทยุชุมชน ๘ พ.ย. ที่ปฐมอโศก น.ส. พัชราภรณ์ สายรัดเงิน นักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์ และสื่อมวลชน ได้มาขอ สัมภาษณ์ พ่อท่าน เพื่อทำวิทยานิพนธ์ พ่อท่านได้อธิบายถึงสื่อสารในระบบบุญนิยมว่าอย่างไร นโยบายหลัก ของการทำวิทยุชุมชน เป็นอย่างไร ท่าทีต่อนักธุรกิจ ข้าราชการที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับ วิทยุชุมชนเป็นอย่างไร แนวโน้มในการพัฒนาสื่อจะเป็นอย่างไร ประเด็นคำถามเหล่านี้ พ่อท่าน จะตอบว่าอย่างไร เชิญเปิดไปอ่านได้

ที่โรงเรียนผู้นำ ๘-๙ พ.ย. พ่อท่านได้รับนิมนต์ให้ไปเยือนโรงเรียนผู้นำที่กาญจนบุรี เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจ และให้ข้อคิดต่างๆกับผู้ที่ช่วยงานอยู่ในที่นั้น ในที่นี้ข้าพเจ้า ขอข้ามผ่าน ในรายละเอียดนั้น ผู้ที่สนใจติดต่อได้ที่ฝ่ายเผยแพร่ฯ มีทั้งการเอื้อไออุ่น ในค่ำวันที่ ๘ และการแสดงธรรมก่อนฉัน วันที่ ๙

การละริษยา ๑๓ พ.ย. โทรศัพท์จากชายคนหนึ่งปรึกษาเรื่องจิตใจของตน ที่เกิดอิจฉา ริษยา ผู้อื่นขึ้นมา พ่อท่านให้คำแนะนำในบุคคล และกาละสั้นๆ อย่างนั้นว่าอย่างไร

งานคืนสู่เหย้าศิษย์เก่าพุทธธรรม สันติอโศก ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑๓-๑๔ พ.ย. ข้าพเจ้า ขอข้ามผ่าน ในรายละเอียด ของงาน ผู้สนใจติดตามได้จากฝ่ายเผยแพร่ฯ และบรรยากาศของงานจากสื่อ ข่าวอโศกรายปักษ์ รวมถึงสารอโศกฉบับที่แล้วๆมาได้

ผ่าทางตันการบริหารจัดการ หลงงาน หลงเงิน ๑๕ พ.ย. ที่ราชธานีอโศก คณะบริหาร หน่วยงานต่างๆ ของศีรษะอโศกได้มาพบพ่อท่าน เพื่อสะสางปัญหาคาใจ ที่มีแก่กัน และกัน เนื่องจากการทำงาน ที่ผ่านมา เห็นความขัดแย้งที่มีเป็นฝักเป็นฝ่าย ทำให้การทำงานไม่สามารถเป็นไปได้ด้วยดี กรณีที่มี ผู้นำปัญหาภายในมาบอกพ่อท่าน แล้วถูกคนในพื้นที่ตำหนิว่า ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า พ่อท่าน มีความเห็นอย่างไร ในเรื่องนี้ สิ่งที่พ่อท่านตำหนิมากก็คือท่าทีของผู้บริหาร ทำให้ผู้อื่น ไม่กล้าพูด ไม่กล้าค้าน ไม่กล้าแสดงความเห็นอื่นที่ต่างออกไป แม้จะทำได้ผลสำเร็จ แต่อย่างนี้ มิใช่การสร้างคน ไม่ได้สร้างมวล ส่วนประเด็นการสนทนาอื่นๆ ในที่นี้ ข้าพเจ้าขอข้ามผ่าน ผู้สนใจติดตามได้จาก ฝ่ายเผยแพร่ฯ

วิจารณ์โครงการปลูกป่า ๑๖ พ.ย. ได้รับโทรศัพท์ปรึกษาเรื่องโครงการปลูกป่าของ ธ.ก.ส. ที่จะช่วยให้ เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยจะขอใช้สถานที่ศีรษะอโศก เป็นสถานที่อบรม ให้ความรู้เกษตรกรที่ เข้าร่วมโครงการ พ่อท่านได้วิจารณ์คำว่า "ปลูกป่า" ได้อย่างถึงพริก ถึงขิงยิ่งนัก ถึงขั้นว่าเป็นความหลอก และโฆษณาชวนเชื่อ ความขยายในทัศนะวิจารณ์นี้ เป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังแฝงย้ำนโยบาย ที่ชาวอโศก รุ่นต่อๆไปก็ควรใคร่ครวญ ก็คืออย่าไปรับหน้า และอย่ารับงานใหญ่กว้างเกินไป ด้วยชาวอโศกเรา ยังเล็กยังน้อย

กรณีการพับนกกระดาษ จากสถานการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนมีผลทำให้เกิด ความรุนแรง ฆ่ากันตายทุกวัน รัฐบาลเองก็ได้พยายามหาวิธี ยุติปัญหาในหลายๆวิธี มีวิธีการหนึ่ง ที่มีผู้เสนอให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ร่วมกันส่งแรงใจไปถึงพี่น้องในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนนั้น โดยการช่วยกันพับ นกกระดาษ ส่งไปให้ เพื่อบอกถึงความปรารถนาที่ต้องการให้พื้นที่เหล่านั้น กลับสู่ ความสันติสุขโดยเร็ว แต่วิธีการพับนกกระดาษนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยก็มาก พ่อท่านได้ แสดงความเห็นในเรื่องนี้ไว้อย่างไร เชิญเปิดไปอ่านได้

ท่าทีต่อการขึ้นเงินเดือนของ ส.ส.+ส.ว. จากกรณีข่าวการขึ้นเงินเดือนให้กับ ส.ส. ส.ว. ซึ่งชาวอโศก ในนามของ พรรคเพื่อฟ้าดิน ได้เคลื่อนไหวคัดค้านมาปีกว่าแล้ว ครั้งนี้ พ่อท่านเห็นอย่างไร ท่าทีต่อเรื่องนี้ เป็นอย่างไร ที่สำคัญพ่อท่านได้ให้นโยบาย ในการวางตัว กับทุนนิยม ผู้มีอำนาจว่าอย่างไร

สนทนาปัญหาศาสนา-การเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม ๒๙ พ.ย. ที่สันติอโศก คุณวิทยา วิทยอำนวยคุณ ผอ.น.ส.พ.เส้นทางเศรษฐกิจ ได้มาขอสนทนาซักถามเรื่องของสังคม และบ้านเมืองต่างๆ เริ่มจาก ปัญหาของศาสนจักร แวะมาการเมือง ข้ามไปเศรษฐกิจ และกลับมาจบ ที่ปัญหาสังคม โดยพาดพิง ไปถึงพรรคศาสนาในญี่ปุ่น สงครามโลก ครั้งที่สาม หรือสงครามครูเสท ในยุคนี้ ไปจนถึงคอมมิวนิสต์ ในรัสเซียและจีน เปรียบเทียบกับอินเดีย และกลับมาที่เยาวชนลูกหลานไทย จากการสนทนาครั้งนี้ ทำให้ได้ข้อคิดที่บุญนิยมจะไม่เป็นศัตรูกับใครในโลกมาจากเหตุใดบ้าง รายละเอียด ทั้งหมด เป็นอย่างไร เชิญเปิดไปอ่านได้

วิจัยสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ๓๐ พ.ย. ที่สันติอโศก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ (สวรส.ภาคใต้ มอ.) สัมภาษณ์พ่อท่าน เกี่ยวกับประเด็น สุขภาวะ ทางจิตวิญญาณ จากพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ สุขภาพคือสุขภาวะ และสุขภาพว่ามีความหมายสี่มิติด้วยกัน คือมิติทางกาย ทางจิต ทางสังคม ทางจิตวิญญาณ พ่อท่านเห็นอย่างไรกับการแบ่งอย่างนี้ และได้อธิบายถึง การเป็นวิทยาศาสตร์ ของศาสนาพุทธเป็นอย่างไร จากนั้นได้อธิบายคำว่า จิตวิญญาณ ตามที่ได้เรียนรู้ และปฏิบัติตาม พระพุทธเจ้า เมื่อจิตควบคุมกายแล้วอะไรควบคุมจิต ก็เป็นประเด็นคำถาม ที่น่าคิด การฝึกจิตฝึกอย่างไร ที่มีการกล่าวกันว่าจิตเกิดดับ อยู่ตลอดเวลา พ่อท่านเห็นอย่างไร เมื่อกายดับแล้วจิตจะเป็นอย่างไร การพัฒนาปัญญา กับการพัฒนาจิตนี่เหมือนกันไหม การจะดูว่าคนนี้จิตดีจิตบริสุทธิ์ดูได้อย่างไร ตอนนี้เกิดวิกฤติทางจิตวิญญาณพ่อท่านมองเรื่องนี้อย่างไร สุดท้ายเมื่อพ่อท่าน อธิบาย การปฏิบัติ ที่เป็นประโยชน์ตนและท่านพร้อมกันในตัว ทำให้ ผศ.พงค์เทพ ถึงกับตอบรับ ว่าชัดเจนครับ เชิญพลิก ไปอ่านได้ ว่าพ่อท่านอธิบายยกตัวอย่างว่าอย่างไร

ปิดท้ายบันทึกฉบับนี้จากโอวาทปิดประชุมหมู่บ้านราชธานีอโศก ๑๗ พ.ย. เมื่อโลกีย์เดือดร้อนมากขึ้น เรื่อยๆ พ่อท่านได้แนะให้ชาวอโศกควรทำตนอย่างไร และท้ายสุด เตือนสิ่งที่พึงระวังคืออะไร


มหาปวารณาครั้งที่ ๒๓

๔-๕ พ.ย. ๒๕๔๗ ที่ปฐมอโศก เป็นการประชุมมหาปวารณาครั้งที่ ๒๓ เป็นครั้งแรก ที่ใช้กล้องวิดีโอ บันทึกเหตุการณ์ ตลอดการประชุม และเป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน ที่การรายงานกิจกรรมของพุทธสถาน ต่างๆ มีการนำเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ มาประกอบการรายงาน

จากบางส่วนที่พ่อท่านให้โอวาทกับหมู่สมณะก่อนการประชุม "ก็ถึงอีกวาระหนึ่ง ของการประชุม มหาปวารณา ผมก็แก่ไปอายุ ๗๑ ย่าง มิถุนายนปี'๔๘ ผมก็จะขึ้นถึง ๗๒ แล้ว

ทำงานศาสนามาจนถึงวันนี้ผมก็เห็นว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นยังมีประสิทธิภาพจริง พวกคุณ เป็นผู้ยืนยันได้ ถึงอย่างไรผมก็ยังภาคภูมิพวกเรา ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น เมื่อคนได้รับฟังแล้ว นำเอามาปฏิบัติพิสูจน์ ก็สามารถที่จะเป็นไปได้

๓๐ กว่าปีที่พวกคุณมาอยู่กับผม หลายคนก็เกือบจะ ๓๐ ปีแล้ว ก็พิสูจน์ยืนยันได้ว่าการปฏิบัติธรรม ของพระพุทธเจ้า มันมีผลทำให้เป็นคนมักน้อยสันโดษ ไม่ต้องไปสะสมเงินทอง จะกิน จะอยู่ก็แค่นี้ มีชีวิตสันโดษอย่างนี้ แล้วก็นำพาญาติโยม ฆราวาสเขาประพฤติปฏิบัติ จนกระทั่ง แม้ฆราวาส ของชาวอโศก เราก็สามารถ ปฏิบัติธรรมถึงขั้น มีศีล ๑๐ ฆราวาสเราเนี่ยปฏิบัติธรรม จนกระทั่ง เป็นหมู่เป็นมวล และศีล ๑๐ ที่ว่านี่ไม่ใช่เล่นๆ ทุกวันนี้ในวัดต่างๆสามเณรแม้แต่พระก็ยังหาที่ถือศีล ๑๐ ได้น้อย บวชแล้ว ๓๐-๔๐-๕๐ พรรษาก็ตาม ศีลสัมปทาแค่ ๑๐ ก็ยังไม่ได้ ข้อชาตรูปฯ เป็นต้น ข้อวิกาลโภชนาเป็นต้น แต่พวกเรายังพอเป็นพอไปยังซื่อสัตย์สุจริตต่อธรรม ๒๐-๓๐ ปีมาก็ยังเป็นไปได้ โดยค่ารวมแล้วผมก็ยังภาคภูมิใจในธรรมะของพระพุทธเจ้า สมณะเราที่ประพฤติปฏิบัติก็เห็นอยู่ ที่เบิกบานในธรรมพอเป็นไป และเชื่อมั่น ในการดำเนินชีวิต เป็นชีวิตอาริยะ เป็นชีวิตประเสริฐ เป็นชีวิตที่ ไม่ต้องเป็นทาส ไม่ต้องสะสม โลกธรรม ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข กามสุข อัตตทัตถะสุข ก็เรียนรู้ แล้วลดละกันมา แม้แต่ฆราวาสก็ได้นำพาพิสูจน์กันมา ค่าเฉลี่ยเป็นที่น่าพอใจ เพราะเป็นคนมีศีล มีธรรม ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ สามารถที่จะตรวจสอบวัดผล เท่าที่จะวัดด้วยสายตา วัดด้วยการอยู่ร่วม คบคุ้น วันแล้ววันเล่า มีระยะเวลาเป็นเดือน เป็นปี เราก็สามารถเห็นได้ว่า ฆราวาสเหล่านั้นมีศีล มีศีลสัมปทา เข้าถึงศีล ไม่ได้มีอวิปปฏิสารอะไร มีปราโมทย์ มีปีติ มีปัสสัทธิ มีสุข มีสมาธิ มีญาณทัศนะ มีนิพพิทา มีวิราคะ มีวิมุติพอสมควร ตามที่พระพุทธเจ้า มีหลักเกณฑ์ให้ได้ตรวจสอบ แม้แต่มีชีวิตเป็นพุทธบริษัทร่วมกัน มีอาชีวะ มีกัมมันตะ มีวาจา มีสังกัปปะก็ตาม ดำเนินชีวิตไป ตามวิสัยของคนที่มีศีล ก็เห็นได้ในหมู่กลุ่มเรา จนกระทั่งเป็นสังคม ที่ไม่มีอบายมุขเลย ไม่มีอาชญากรรม ไม่มีกามหวือหวาจัดจ้าน รวมกันอยู่ มีชีวิตดำเนินไป จนกระทั่งถึงขั้นเป็น สาธารณโภคี

มาถึงวันนี้แล้วผมแน่ใจว่า สาธารณโภคีนี้จะสืบทอด จะเป็นสังคมรูปแบบใหม่ เป็นสังคมตัวอย่าง เป็นสังคม ที่จะพิสูจน์ธรรมะของพระพุทธเจ้า เพื่อประกาศให้โลกได้รู้ เพราะโลกทุนนิยมทุกวันนี้ มันจัดจ้าน แย่งลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข แต่พวกเรา ก็สามารถพิสูจน์ได้ นอกจากสงฆ์ ที่ไม่ได้ เป็นทาส ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข โดยสารูป ก็เห็นได้ว่าไม่ได้แสวงหาลาภ ไม่ได้แสวงหายศ แม้แต่กามสุข แม้แต่อัตตทัตถสุขต่างๆ ก็พอตรวจสอบกันได้ สงฆ์ก็แล้วไปเถิด นี่ไปถึงฆราวาสเรา ก็ยังพิสูจน์ธรรมะโลกุตระได้ ปีแล้วปีเล่าเราก็อยู่กันมา

ปฐมอโศกปีนี้เป็นชุมชนที่ครบ ๒๐ ปี ที่มีฆราวาสมารวมตัวกันอยู่ ครบรอบ ๒๔ ปีสำหรับพุทธสถาน ครบรอบ ๒๐ ปีสำหรับชุมชน ครบ ๑๒ ปีของโรงเรียน เป็นบ้าน วัดโรงเรียน ๑ นักษัตรสำหรับการศึกษา ส่วนวัดนั้นครบ ๒ นักษัตร เราก็มีงาน ตามโลกเขาบ้าง เป็นยิฏฐังมีพิธีการ เพื่อย้ำให้ประชาชนเขารับรู้ว่า มีอะไรเกิดขึ้น มีอะไรยั่งยืนมาอย่างไร และความยั่งยืนเหล่านั้นมีอะไรที่ประกอบกันขึ้นมา ความเป็น หมู่ชน ความเป็นสังคมชุมชน มีระบบ มีวัฒนธรรม มีจารีตประเพณี มีวิถีการดำเนินชีวิต เป็นกลุ่มหมู่ ดำเนินมาเป็นแบบสาธารณโภคีกันมาถึงทุกวันนี้ มีโรงงาน มีแหล่งผลิต สิ่งที่จะบริโภค อุปโภคต่างๆ ตามวิถีชีวิตของสังคมโลกทั่วไป เราก็มี สิ่งเหล่านี้ที่ก่อที่สร้าง เราไม่ได้ไปเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ได้ไป แย่งชิง ไม่ได้ไปเป็นหนี้สังคม เราสร้างสรร สิ่งเหล่านี้ออกไป เรากินใช้ในหมู่เรา จนกระทั่ง เอาไป แลกเปลี่ยนบ้าง ตามวิถีทาง การดำเนินชีวิตของสังคม เราก็เป็นอยู่รอด เป็นไปได้

มาถึงวันนี้แล้ว สังคมของหมู่เราทุกชุมชน ไม่ได้ไปตกเป็นทาสของทุนนิยม คือเราไม่ได้ไปเป็นหนี้ ธนาคาร ไม่ได้เป็นหนี้เอกชน ที่มีระบบดอกเบี้ย เราตัดวงจร มาได้ทุกชุมชนของชาวอโศก นอกจาก มีเงินเกื้อกัน สามารถสะพัด ช่วยเหลือกัน เพราะเราไม่ได้สอนให้สะสม เราก็ยังมีเงินก้อนที่ไม่โต เมื่อต้องการใช้เงินก้อน ที่เป็นกอบ เป็นกำ เราก็ต้องอาศัยหลายๆคนเอามารวมๆกัน แล้วก็ใช้เป็นก้อนโต ตามที่ต้องการ ตามเหตุนั้นเหตุนี้ ก็เป็นลักษณะหมุนเวียนตามวิธีของเศรษฐศาสตร์สามัญ โดยไม่มี ดอกเบี้ย ไม่มีความรุนแรง ไม่ได้ทวงหนี้ แต่พวกเราไม่ได้เรียก "เงินหนี้" พวกเราเรียก "เงินหนุน" ไม่ได้ทวงเงินหนุน กันอย่างหยาบคาย อย่างที่โลกข้างนอก เขาจะเอาเป็นเอาตาย ถ้าไม่ได้เงินแล้วก็ฆ่า มันเป็นการเกื้อกูลแบ่งแจกกันไปทำงาน สิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมของสังคม ที่เป็นข้อพิสูจน์ว่า สังคมที่ลดโลภ ลดความเห็นแก่ตัว ลดความหลงสิ่งมอมเมาในสังคม ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นอะไรมากมาย ก็ทำให้ชีวิตของ สังคมเราเรียบร้อย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่หวือหวาน่าเกลียด ไม่แย่งชิง ไม่โหดร้าย มีการอโหสิ มีการปลดปล่อย มีการไม่ติดไม่ยึด ยอมกัน มีการเจือจานกัน สังคมชนิดนี้ เป็นสังคม ที่สงบสุข เป็นสังคมที่อบอุ่น เป็นสังคมที่ราบรื่นสุขเย็น เป็นการแสดงออก เป็นการดำเนินชีวิต ที่เป็นจริง ของมนุษยชาติ ยิ่งนานวันมาผมก็เห็นว่าคุณลักษณะนี้ ความเป็นมนุษย์ของสังคมนี้มันปรากฏ"

และเมื่อพ่อท่านพูดถึงเรื่องการนอนของพ่อท่าน "จะรู้สึกตัวเมื่อไรก็ตื่น มันจะไม่มีความงัวเงีย"

มีสมณะถามว่า "เท่ากับว่าการนอนของพ่อท่านนี่คือการพักกายเท่านั้น"

พ่อท่านตอบรับ "พักกาย"

สมณะ : แต่จิตมันจะตื่นอยู่ตลอดเวลา (ใช่) แม้แต่ตอนอยู่ในภวังค์ (ใช่)

พ่อท่าน : บางทีมีงานก็หลับช้าเหมือนกัน งานนั่นงานนี่ บางทีต้องพยายามขจัดงาน เอาน่าเลิกๆๆๆ นอนๆๆๆๆ ถ้าไม่มีงานอะไรก็ไม่มีปัญหาหรอก จะหลับเมื่อไรก็ปุ๊บ ๑๐-๒๐ วินาทีไม่ถึงนาทีหรอก ก็หลับ

จากนั้นพ่อท่านกลับมาที่ความเป็นจริงของสังคมโลกและความเป็นไปของสังคมชาวอโศก "ประเทศชาติทุกวันนี้หลงใหลไปในโลกีย์หนักหนาสาหัส เป็นทุนนิยมจัดจ้าน มันไม่ไหวจริงๆ เรากอบกู้ขึ้นมาขนาดนี้ผมเห็นทางรอดของมนุษยชาติ ไม่ใช่แต่ในประเทศไทย เท่านั้น มันทั้งโลก ถ้าเราสามารถ สร้างคนให้มีคุณธรรม อยู่เหนือโลกียะ อยู่เหนือลาภ โลกธรรม โสดาบันขึ้นไป สกิทาคามีก็ยิ่งจะแข็งแรงขึ้น ยิ่งเป็นอนาคามีก็ยิ่งจะสบาย เพราะฉะนั้นถ้าพวกเรามีฆราวาส ที่เป็นโสดาบันขึ้นไป จนกระทั่งถึงอรหันต์ ทำงานอยู่ในสังคมกับเขา สังคมมันจะไม่เป็นอย่างนี้เลย แค่ชุมชนของเราคุณก็คิดดูซิ ทำมาหากินก็ช่วยกัน เป็นสังคมสาธารณโภคี อยู่กันอย่างสามัคคีสงบเย็น

ทุนนิยมทุกวันนี้มันดุเดือดรุนแรง มันไปไม่รอดจริงๆเลย อเมริกาหาเสียง ๗ วันสุดท้าย ของการหาเสียง แครี่และบุช ลงทุนไปอีกเป็นหมื่นๆล้าน ทุ่มเพื่อจะเอาชนะกัน ที่หยิบมาพูดนี่เพื่อชี้ให้เห็นว่า มันยัง ไม่ใช่ ประชาธิปไตยหรอก มันทุ่มทุนหาเสียงกัน เป็นการครอบงำทางจิตวิทยาสังคม และกรรมวิธี โฆษณาชวนเชื่อ เพื่อให้คน มาลงคะแนนให้ได้ มันไม่ใช่ความจริง ความจริงนั้น คนจะต้องรู้แล้วว่า คนไหน ที่เขาจะเลือก ผมถึงบอกว่าผมจะทำงานการเมืองบุญนิยมให้เห็น จึงอยากจะมี อายุยาวหน่อย เพื่อก่อพรรคการเมืองขึ้นมาให้มีรูปร่าง ที่ไม่เป็นแค่อย่างที่โลกๆเขาเป็นกัน แค่การเมืองโลกีย์ การเมืองทุนนิยม เราต้องให้เป็นการเมืองบุญนิยมที่เข้าข่ายโลกุตระ จึงจะเป็น ประชาธิปไตยจริง ที่มีธรรมาธิปไตยเป็นแกนแห่งกิจกรรมทางการเมือง ส่วนทางธุรกิจ ตอนนี้พอมี รูปร่างขึ้นมาบ้างแล้ว และต่อไปจะมีคนมาทำวิจัย พาณิชย์บุญนิยม ก็ต้องอาศัยพวกคุณ หลายคน ยังหนุ่มยังแน่น ก็รับซับซาบฝึกฝน เพื่อช่วยเหลือมนุษยชาติต่อไป

ส่วนผมเองก็พยายามใช้อิทธิบาท จะถึงเท่าไรผมตอบไม่ได้ แต่อย่างไรปีหน้าปี'๔๘ พอ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๘ ผมก็เริ่มต้นอายุ ๗๒ ผมคิดว่าจะทำยิฏฐังพอเป็นตัวอย่าง จะฉลองอย่างไร ก็คงจะมียิฏฐัง ตามประสาเราๆ เรื่องยิฏฐังหรือจัดศิลปะแห่งพิธีการนี้ ในมนุษย์มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ ผู้รู้หรือผู้ฉลาด มีศิลปะก็จะจัดองค์ประกอบศิลป์ขึ้น เพื่อให้คนสัมผัสแล้วได้รับผลทางจิตวิญญาณ เจริญพัฒนา ตามจุดมุ่งหมาย เป็นงานศิลปะที่สำคัญ เช่น งานเฉลิมฉลองพระชนมพรรษาพระราชินี ๗๒ คราวนี้ ยิฏฐังรูปแบบพิธีการองค์ประกอบศิลป์ที่เขาคิดรังสรรค์กันขึ้นมาก็ดูดี เขาก็พยายามระดมกัน มาจัด อันนั้น มาทำอันนี้ ใช้อะไรต่างๆเป็นองค์ประกอบศิลป์ เพื่อให้เกิดรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ที่ประทับใจ บันดาลใจ จนทำให้เป็นประโยชน์ แก่แต่ละคนแก่สังคมแก่ประเทศชาติ ผมก็ว่าดีนะ ดีกว่าไปฉลอง จุดไฟอย่างเดียว กินใช้แล้วผลาญไปเฉยๆ ฉลองอย่างนั้น มันไม่เกิดประโยชน์อะไร กับสังคมเท่าใด แต่ฉลองอย่างนี้ดีแล้วแหละ ฉลองทั้งปี กลุ่มนั้นจะทำการอาชีพนี้ จะทำกิจนั้น เพื่อลดละกิเลส เลิกยา เลิกเสพติด เป็นการเคี่ยวเข้มในเรื่องที่ควรให้เจริญ ละส่วนนั้น ส่งเสริมส่วนนี้ เป็นกรรมวิธี เป็นรูปแบบ เป็นยิฏฐังที่เกิดประโยชน์ ผมก็พยายามจะฉลอง เหมือนกัน เพราะผมไม่เคย ฉลองอะไรหรอก เกิดมา อายุ ๑๐ ปี ๒๐ ปี จนกระทั่ง ๗๒ ปีแล้ว ผมก็จะฉลองสักครั้ง ก็จะทำพิธี มีรูปแบบอันโน้นอันนี้ ขึ้นมาบ้าง นี่บอกให้คุณ รู้ตัวก่อน ประเดี๋ยวจะตกใจ จะทำอันโน้นอันนี้ขึ้นมา เพื่อจะได้เกิด จิตวิทยาสังคม จะได้เกิดการเร่งรัดพัฒนากันขึ้นมา อย่างน้อยที่สุดทั้งปี ก็จะได้เคี่ยวข้น เกิดพัฒนาการ อะไรกันขึ้นมา เอาอันนี้เป็นเหตุที่จะทำขึ้นมา ๕ มิถุนายน ๒๕๔๘ ก็จะเริ่มมีการฉลอง ไปจนกระทั่งถึง ๔ มิถุนายน ๒๕๔๙"

มีเสียงถามว่าถ้าพ่อท่านสิ้นในเร็วๆนี้ พ่อท่านจะรีบกลับมาเกิดใหม่หรือไม่

พ่อท่านตอบว่า "อันนี้ไม่ใช่เรื่องคำพูด หนึ่งกรรมวิบากเป็นเรื่องอจินไตย เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย ที่เรารู้ได้ไม่ทั้งหมด สองจิตที่อธิษฐาน หรือจิตที่ตั้งไว้ เป็นเหตุปัจจัยด้วย กรรมวิบากเป็นพลังนั้นแน่นอน ก็เข้าใจกันดีอยู่แล้ว ก็ต้องเป็นไปตามกรรมวิบาก สามจิตของแต่ละคนมีพลัง ถ้าคุณมีพลังจิตที่มาก อธิษฐานก็ได้แรง ถ้าคุณมีพลังจิตที่ไม่มาก อธิษฐานก็ไม่แรง แม้จิตคุณจะอธิษฐาน มีพลังแรงมาก แต่กรรมวิบากของคุณมันมาก ก็จะเป็นตัวต้านมาก อธิษฐานนั้นก็ไม่แรง อกุศลจะเป็นตัวต้านกุศล ที่คุณได้ตั้งเอาไว้ได้ หรือแม้แต่อกุศลมันต้านแรงจะไปทำร้าย แต่กุศลของคุณมันมาก"

มีเสียงถามแทรกว่า "พ่อท่านจะไปเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อไร?"

พ่อท่านตอบ "อันนี้ยังไม่รู้หรอก และเรื่องเกิดใหม่ผมไม่ทราบทั้งหมดของกรรมวิบาก และจิตที่ตั้ง ที่คุณพูดมานี่ก็เท่ากับให้ผมตั้งจิตมุ่งมาเกิดใหม่ให้เร็วๆ ถ้าไม่ตั้ง ก็จะเป็น เท่าที่มันจะมี จิตตั้งแรงๆ ตั้งมากๆ ที่คุณขอไว้ เอาไว้ดูก่อน ผมอาจจะตั้งมากๆ จะตั้งมาเกิดเลย หรืออาจไม่ตั้งเลย ผมยังไม่ได้ คิดเลย ว่าจะมาเกิดเร็วหรือไม่มาเกิดเร็ว แต่โดยรูปการแล้วก็น่าจะมาเกิดเร็ว เพื่อทำงานต่อ เพราะฉะนั้น ที่คุณขอก็คงจะได้ เพราะกรรมวิบากเราไปแก้ไม่ได้ ผมก็คงจะต้องตั้งจิตมาให้เร็วขึ้น ไม่เป็นไรน่าก็รับคำขออันนี้ไว้ก่อน"

มีประเด็นถามพ่อท่านว่า ถ้าหมู่กลุ่มทั้งสมณะและญาติธรรมไม่มีภูมิอาริยะสูงมากพอ หมู่กลุ่ม ก็จะตั้งอยู่ได้ไม่นานเป็นไปได้ไหม

พ่อท่านตอบ "ใช่ เป็นไปได้ ผมจึงเตือนว่าระวังเรื่องการทำสังฆเภท ถ้าทำสังฆเภท แล้วพลังลด แน่นอน ขณะนี้เราไม่ใช่หมู่ใหญ่เราเป็นหมู่เล็ก ยิ่งเป็นหมู่เล็กแล้วทำสังฆเภท ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ขอเตือนไว้ จริงๆ เลย มันเป็นอนันตริยกรรมด้วย มันเป็นอนันตริยกรรม ก็เพราะ มันทำให้ศาสนา ถูกตัดรอน ไปไม่รอด ศาสนามันเสื่อมไปเพราะรอยแห่งสังฆเภท มันแบ่งส่วนไปแล้วมันก็ไปต้านกัน ไปแข่งขันกัน เพราะฉะนั้น พยายามให้ได้ อย่าให้เกิดสังฆเภท เท่านั้นแหละสำคัญ ถ้าไม่สังฆเภทแล้วก็ถ้อยที ช่วยๆกันทำไปเถิด"

มีเสียงถามแทรกว่า สังฆเภทในรูปแบบไหนที่จะเป็นไปได้ง่ายที่สุดครับ

พ่อท่านตอบ "สังฆเภทที่เป็นไปได้ง่ายที่สุดก็คือ ความอวดดีของคนดัง ถ้าคนไม่ดัง ไม่มีคณะ ไม่มีหมู่ ไม่มีบริวาร แยกสังฆเภทไม่ได้ คนดังแล้วมีกิจการมีหมู่มีคณะ ก็จะทำสังฆเภทได้ง่าย ถ้าคนไม่ดัง ไม่มีหมู่ ไม่มีบริวาร เขาไม่เรียกสังฆเภทหรอก เป็นพวกที่แตกออกจากหมู่ไปเฉยๆ คนที่มีความรู้ ความสามารถ มีหมู่มีพวก มีความนิยม นั่นแหละจะทำสังฆเภทได้ พูดอย่างนี้มันก็ไปกระทบ ท่านเสียงศีล และท่านจันทร์ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ไม่มีชื่อเสียงอย่างนี้ จะทำสังฆเภทไม่ได้ อย่างเช่น ท่านกุสโล ท่านเดินดิน ติกขวีโร ท่านบินบน หรือท่านวินยธโรก็อาจจะทำสังฆเภทได้

สมณะ : มีญาติธรรมที่ได้พากเพียรมากเลย แต่เขาก็บอกว่า ถ้าสิ้นบุญพ่อท่านแล้ว เขาก็จะไม่อยู่

พ่อท่าน : อันนี้ผมอยากจะบอกพวกเราว่า เราต้องไม่ทำให้เขาเสื่อมศรัทธา หลายคน ฆราวาส เขาก็ ศรัทธาอยู่ เพราะฉะนั้นต้องสร้างศรัทธาให้มาก ที่จริงแต่ละท่าน ก็สร้างคุณธรรม ที่ทำประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นให้ได้จริงได้มากๆนั่นเอง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม มันมีข้อเปรียบเทียบ อย่างผมเอง ก็ไม่ได้หมายความว่า ฆราวาสเขาศรัทธาผมคนเดียว คนอื่นเขาก็ศรัทธาอยู่ มีมากบ้าง น้อยบ้าง แต่มันยังไม่ถึงกาละสำคัญ เขายังไม่รู้ความชัดจริงในตนเอง จริงๆแล้วเมื่อผมตาย เขาก็จะต้อง ศรัทธาองค์อื่นใดๆที่ตรงกับจริตของเขาต่อ หรือเขามีอยู่แล้วบ้างแต่เป็นรอง พอผมตาย เขาก็จะเอา คนรอง มาเป็นที่ศรัทธาอีกนั่นแหละ ผมตายแล้ว ความศรัทธา จะแบ่งกระจายออกไป กว้างยิ่งขึ้น

สมณะ : แต่พ่อท่านนั้นมีอิทธิ มีความสามารถในหลายๆอย่าง

พ่อท่าน : ใช่ๆๆ นั่นแหละ เหมือนพระพุทธเจ้าสิ้นแล้วพระกัสสปะก็ไปอย่างหนึ่ง จริตอย่าง พระกัสสปะ พระอานนท์ก็ไปอย่างจริตพระอานนท์ พระมหาสาวกองค์อื่นๆ ก็ไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ท่านอยู่ด้วยกัน ท่านไม่สังฆเภท ความจริงเริ่มต้น พระมหากัสสปะ ไม่ได้เป็นผู้ทำสังฆเภทเลย กลุ่มที่ท่านทำสังคายนานั้น เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น ๕๐๐ รูป แต่มีมหาสังฆิกะ มหาสังฆิกะนี้ ไม่ได้หมายความว่า เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด เท่านั้น มหาสังฆิกะนี้คือ สงฆ์หมู่ใหญ่ทั้งหมด ที่ไม่ได้เป็น อรหันต์ ไม่ได้เป็นอาริยะระดับสูง มีมากกว่า โสดาบันก็ยังมีอคติ สกิทาคามีก็ยังมีอคติเหลือ เพราะฉะนั้น ก็ย่อมมีความลำเอียงเหลือ เห็นแก่พวก แก่พรรค แก่หมู่ มันเยอะนะมหาสังฆิกะ ในเถรวาทหรือหินยานกลุ่มเดียวกลุ่มน้อย เพราะฉะนั้นกลุ่มมหาสังฆิกะนี่จึงเกิดกรณี เกิดระแหงขึ้นมา แต่ยังไม่ทันสังฆเภท นาน..น..น..น ผมก็บอกไม่ได้ว่ามันเริ่มแยกเมื่อไหร่ เป็นแต่เพียงว่า มีคนมาทำวิจัย ภายหลังเท่านั้นเอง ว่ามหายานคือสงฆ์หมู่ใหญ่ เถรวาทหรือหินยานคือสงฆ์หมู่เล็ก ที่ใช้พระไตรปิฎก ชุดนี้ กับมหายาน คือสงฆ์หมู่ใหญ่ ที่ใช้พระไตรปิฎกชุดโน้น

สมณะ : ญาติโยมหลายคนก็มีความศรัทธาต่อสมณะหลายท่าน และน้อยใจสมณะ อีกหลายท่าน อยู่บ้าง (ที่น้อยใจนั้นน่ะเขารักนะ) แต่ปัญหาสำคัญคือการถือตัว ถือสา ความไม่สมานในทิฐิ ไม่มีเมตตา

พ่อท่าน : อันนี้เขาเข้าใจไม่ถ้วน ก็เป็นธรรมดาธรรมชาติ เราจะให้มันสมานหมด เป็นหนึ่งเดียว เป็นไปไม่ได้ เขาเองก็มีความชอบ จริตอย่างนั้นชอบอย่างนี้ไม่ชอบ มันเป็นความเห็นของเขาด้วย แต่เขาไม่รู้ตัวหรอก

สมณะ : เพราะฉะนั้นสงฆ์ต้องช่วยกันสมานญาติโยม

พ่อท่าน : ถูกแล้วอันนี้ก็คือข้อที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง เพราะฉะนั้นสงฆ์จะต้องพยายามอยู่รวม อยู่เป็นเอกภาพ เอกธรรมให้ได้มากที่สุด มันต้องตั้งใจทำอยู่ตลอดเวลา มันไม่มีอะไรหรอก ที่จะอยู่กัน เป็นหนึ่งเดียว โดยไม่มีอะไรขัดแย้ง ผมเคยบอกแล้วว่า ความสามัคคีคือความขัดแย้งอันพอเหมาะ มันมีต่างจริต เราจะทำอย่างไรแม้เราต่างจริต เราก็ต้อง เป็นหนึ่งเดียวกัน อย่างน้อย เราก็มีสมณะสารูป ที่สอดคล้องกัน มีความเป็นไปในทางเดียวกันให้ได้ ส่วนเรื่องในจิตนั้น มันไม่เท่ากันแน่ แต่จุดหมาย ต้องสัมมาทิฏฐิตรงกัน ส่วนฆราวาสแน่นอนว่า เขาก็ยิ่งมีส่วนแยก มากกว่าสมณะที่มีคุณธรรมยิ่งกว่า เขายังไม่เข้าใจความจริงพอ เขาเองเขาก็ไปเพ่งไปอย่างนั้นอย่างนี้ เขาชอบอย่างนี้ ไม่ชอบอย่างนั้น เขาก็เลย ไม่อยากให้คนที่เขาไม่ชอบ ทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนี้ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ใจเขามันแยก แบ่งของเขาเอง เขายังเข้าใจตัวเขาเองไม่ได้ อย่างที่ผมพูดแล้ว มันก็ย่อมมีต่างจริตบ้าง มันย่อมมี หลากหลาย อย่างที่เราไม่ชอบนักมันก็มีบ้าง มีคนชอบก็มี สมณะก็ต้องเรียนรู้ และต้องสมาน ญาติโยมให้ได้ ถึงอย่างไร ก็ต้องมีความขัดแย้งอยู่ตลอดกาลนาน มากหรือน้อยเท่านั้น ไม่จบสิ้นหรอก มันเป็นธรรมดาธรรมชาติ

สมณะ : เขาทำงานมาหนักมาก สุขภาพเขาทรุด

พ่อท่าน : ก็ถูกแล้ว เขาก็ย่อมเข้าใจของเขาอย่างนั้น คุณเองก็ไปอธิบาย อย่างที่ผมอธิบายอยู่นี่ ให้เขาเข้าใจ เขาจะได้คลายใจ เพราะเขาจะไปบังคับให้ทุกองค์เป็นเหมือนอย่างที่เขาชอบไม่ได้ ความชอบไม่ชอบของตัวเขานั้นมันก็แบ่งไปในตัวอยู่แล้ว ใช่ไหม แล้วเขาต้องการให้เป็นอย่างที่เขาชอบ มันเป็นไปไม่ได้ แต่สมณะชาวอโศกท่านอยู่ได้ ท่านสมานกันดี เป็นอยู่ร่วมกันได้ ท่านจะขัดแย้งกันบ้าง ในเรื่องของการปฏิบัติ การทำงาน แต่ไม่มีที่ทะเลาะกันไม่พูดกันเลย (มีน้อยใจ) เรื่องเล็กๆอย่างนั้น มันห้ามไม่ได้หรอก กิเลสมันยังมีอยู่ อัตตามานะยังมีอยู่มันก็เป็นบ้าง แต่ที่ทะเลาะจนไม่พูดกันเลยไม่มี

การประชุมครั้งนี้มีเรื่องไม่มาก ใช้เวลาน้อยที่สุดตั้งแต่มีการประชุมมา พ่อท่านพูดเสริมบ้าง เมื่อเห็นว่า ควรจะให้ความรู้ หรือบอกเล่าเรื่องธรรมดา หรือเพื่อผ่อนคลายการประชุมก็จะแทรกมุขขำๆบ้าง ถ้าไม่สำคัญอะไรมากก็ปล่อยให้หมู่สมณะว่ากันไป แล้วพ่อท่านก็นั่งฟังและอ่านข่าวไปด้วย

ตัวอย่างการแทรกให้ความรู้ เช่นมีสมณะบวชมากว่า ๑๐ พรรษาแล้ว แต่ยังมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ในหลายๆเรื่องมานาน หมู่สมณะเห็นว่าควรให้ถือนิสัยกับสมณะ ที่สมควรรับเป็นภาระ ในการให้นิสัย แทนพ่อท่าน แต่ปัญหาก็คือบางครั้งสมณะผู้ให้นิสัยกับผู้ถือนิสัยจะต้องอยู่กันคนละที่

พ่อท่านให้คำแนะนำในเรื่องนี้ว่า "ลูกศิษย์ที่ไปถือนิสัยกับอาจารย์องค์ที่อุปัชฌาย์มอบหมายก็ได้ หรืออาจารย์ที่ได้รับมอบหมาย จะส่งไปให้ผู้นั้นผู้นี้ก็ได้ เมื่อถือนิสัยกับสมณะ ก. แล้วจะไปอยู่ที่ ภูผาฟ้าน้ำ ก็ต้องให้สมณะ ก. มอบหมายไปให้สมณะรูปใดรูปหนึ่งที่จะรับถือนิสัยที่ภูผาฟ้าน้ำ"

บางทีพ่อท่านก็เสริมในจุดที่ผู้รับผิดชอบรายงานกิจกรรมของแต่ละที่ในรอบปีที่ผ่านมา ที่ไม่ได้รายงาน เช่นกรณีของบ้านราชฯ พ่อท่านเสริมเรื่องงานเจปีนี้เราจ่ายค่าผักพืชเป็นจำนวนถึง ๗ แสนบาท ทำให้ บ้านราชฯเองตื่นตัว ปีหน้าจะพยายามปลูกผักเพื่อใช้ในเทศกาลเจให้ได้ และก็เสริมเรื่องการเตรียมงาน ปีใหม่ อยากจะขอการสนับสนุนจากเครือข่ายต่างๆ เพื่อจะไปใช้จ่ายในการเตรียมงาน ซึ่งจะต้องระดม บอกเครือข่ายต่างๆในงานนี้ แถมเล่าโครงการขุดลอกบุ่งและทำแก่งที่บ้านราชฯ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องรายละเอียด

มีประเด็นที่ถามถึงการวางตัวของสมณะ เมื่อร่วมประชุมกับฆราวาส ทั้งที่มีพ่อท่านเป็นประธานอยู่ และที่ไม่มีพ่อท่านอยู่ จะมีสมณะบางรูปที่มักพูดตัดเรื่องหรือพูดแทรกสอนอะไรๆเขา ในจังหวะที่ ฆราวาส เขายังไม่ศรัทธาพอ

พ่อท่านให้คำแนะนำว่า "แม้แต่ผมเองถ้าวางตัวได้เหมาะสม ฆราวาสเขาก็จะศรัทธาเชื่อถือ การพูดตัด หรือสอนอะไรก็อยู่ที่พฤติกรรมของแต่ละคนด้วย บางทีแสดงความเห็นค้านแย้งในเรื่องการทำงานก็ดี ซึ่งก็แสดงอย่างมากๆ ไม่ตรงกับที่ฆราวาสเขายึดอยู่ เรามีสิทธิมากอยู่แล้ว เขายกให้ เป็นสมณะ เมื่อเวลาถือไมโครโฟนได้พูดแล้ว ฆราวาสเขาก็ไม่มีสิทธิอะไร ได้แต่นิ่งฟัง กดดันอย่างเดียว ก็เลยทำให้ ฆราวาสเขาเกิดความไม่สบายใจ เพราะถูกกดดัน เขาก็จะหลู่ธรรมกวาดทิ้งสมณะที่เขาไม่ชอบนั้น แล้วเอาไปพูดลับหลังนินทากันได้ นี่เป็นโจทย์

ถ้าผมอยู่ประชุมร่วมก็ยังเกรงใจ แต่ถ้าไม่มีผมอยู่ร่วม สมณะก็จะมีสิทธิยิ่งใหญ่ อันนี้แหละมันเผลอ มีมานะอัตตา ถ้าผมอยู่ก็จะเกรงใจ ไม่ได้พูดตัดอะไรต่ออะไรมากมายนัก ไม่ได้แสดงมานะเต็มที่ ไม่เบ่ง ระมัดระวังบ้าง แต่ถ้าไม่มีผมแล้วก็จะเกรงใจฆราวาสน้อย ผมว่าจริงนะอันนี้ ความเผลอตัว ทำให้เรา เสียธรรม แทนที่เราจะได้รับความศรัทธาจากฆราวาส แต่เราเบ่งกับฆราวาส เราแสดงตัวแสดงตน กับฆราวาส โดยที่ตนเองไม่รู้ตัว ที่ตนเองแสดงอัตตามานะกับฆราวาส แสดงตัวแสดงตน ถือดี เบ่งตัว เบ่งตน มีอัตตาโดยที่เราไม่รู้ตัว ไม่ประมาณ ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน หรือไม่พยายามยอมบ้าง ไม่พยายาม หยุดยั้ง เอาแต่ใจตัวเอง เอาแต่อำนาจตนเอง ถือศักดิ์ ตนเองมีฐานะอำนาจแล้ว ไม่ค่อยจะเกรงใจ ฆราวาสเขาพูดยังไม่ทันจบ เขาอยากจะอธิบายนั่นนี่ เราอยากจะตัดเลย เขาก็ต้องหยุด แต่เขาก็โดน แล้วกดดัน สั่งสมไป แทนที่เราจะได้รับความเลื่อมใสศรัทธา มันก็จะสะสมไป เขาไม่ได้พูดนะ ท่านมา ตัดบทผม ท่านไม่ไว้หน้าผม เขาไม่พูดหรอก แต่เกิดกรณีในจิตแล้ว ความไม่ชอบเกิดแล้ว มันสั่งสมแล้ว ธรรมะนั้นมันเป็นอธรรม ไม่สวย ไม่ดี ไม่สุภาพ ผมเห็นอยู่เหมือนกัน แม้ไม่ได้อยู่ร่วมก็ได้รับข่าวคราว

ท้วงอันนี้ขึ้นมาก็อยากจะให้พวกเราได้สังวรในเรื่องนี้ ว่าเราเองเราเป็นสมณะเขายกให้อยู่แล้ว ไม่ควร จะเบ่ง ควรจะยอม ควรจะอ่อนน้อมถ่อมตน นิวาโต คารโวด้วย เคารพในสิทธิ เคารพในความเห็น ให้เกียรติแม้ผู้น้อยฆราวาสก็ตาม ก็ควรจะต้องฝึกฝนอันนี้ มิเช่นนั้นเสียธรรม แล้วเราเองเป็นคนทำเอง ทำให้เขาไม่ศรัทธา ไม่เลื่อมใส เขาไม่ยอมรับเรา เพราะฉะนั้นมันจะมาก-น้อยแค่ใด ก็ไปตรวจสอบ กันเอง สังวร มีสติ สัมปชัญญะ สังวรตนเองเมื่อจะพูดแทรก พูดสอน พูดตัด พูดข่ม แสดงอาการเบ่ง อาการไม่ให้เกียรติ มันไม่สุภาพ ก็ไปฝึกฝนตนเอาก็แล้วกัน"

มีสมณะเสริมว่า : ขอให้พ่อท่านย้ำว่า เมื่อหมู่ติงอะไรก็ขอให้ยอมและเชื่อฟังด้วย

พ่อท่านตอบรับ : อันนี้ก็ดี ขอให้ยอมหมู่ เรื่องหมู่นี่ผมก็พูดมามากแล้วนะ แม้แต่ตัวผมเอง เมื่อผม เห็นว่าอันนี้ดี อันนี้ถูก แต่เมื่อหมู่เห็นอีกอย่างหนึ่ง หรือไม่เอาด้วย ผมก็ยังยอม ผมได้ยกตัวอย่างนี้ บ่อยๆให้พวกเราได้ทราบ ว่าเราเองอย่าแสดงอัตตาเลย จริงๆแล้วในโลกนี้นี่ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ผิดก็ตาม ถูกก็ตาม มันเป็น สมมุติสัจจะ เป็นสัจจะที่สมมุติกัน เราเป็นนักปฏิบัติธรรม เราต้องรู้อันนี้อย่างสำคัญ เราจะไปสร้าง อัตตาทำไม ถ้าเราจะสร้างอัตตา เราก็ไม่ได้เป็นนักปฏิบัติธรรม ถ้าเราเองเรายอม แม้เราจะถูกเราก็ยอม เราลดอัตตา เราก็ได้สัจจะที่เป็นปรมัตถสัจจะ เราก็ได้ประโยชน์ ที่เป็น ปรมัตถประโยชน์อันสูง แต่ถ้าเราไม่ยอม เอาชนะกัน มันถูกเป็นถูก จริงๆก็ถูกนั่นแหละ แล้วคุณก็ดึงดัน เอาชนะ คุณก็ชนะเป็น สมมุติสัจจะ แต่คุณแพ้ปรมัตถสัจจะ คือไม่ได้ประโยชน์ทาง ปรมัตถสัจจะ

สมณะ : คือมีเงื่อนไขเยอะเลย บางทีเป็นความเห็นของผู้นั้นส่วนตัว ที่คิดว่าดีกว่าคนอื่น บางที มันมีเหตุผล ของผู้อื่นเสริมขึ้นเป็นฝักเป็นฝ่าย เอาชนะกัน

พ่อท่าน : นั่นแหละ คือการเอาชนะคะคาน มันควรจะปรึกษาหารือ แล้วก็เฉลี่ยดูความเหมาะสม หมู่นี้เป็นหลัก เนื้อหาความจริงของเรื่องอะไร ก็แล้วแต่ เรื่องนี้ดี หรือแบ่งว่าถูกว่าผิดก็ตาม มันเป็นเรื่อง จริงๆมันอาจจะถูก ถ้าเราจะดึงดันว่าเราถูก มันก็ไม่เกิดประโยชน์ของสังคม ไม่เกิดประโยชน์ ของสิ่ง ที่ควรจะเป็น เรื่องถูกเรื่องผิด ทุกคนก็ย่อม จะเชื่อว่า สิ่งที่ตนเห็นนั้นถูกทั้งนั้น เห็นว่าที่เข้าใจนี่ มันดี นอกจากจะชัดเจนเห็นแล้วว่า นี่มันถูก แล้วเราก็ดันทุรัง ทั้งๆที่มันไม่ดี เราก็ดันทุรัง อันนี้แหละ มันยอมได้ก่อนแน่นอน แต่ถ้าเรายังเชื่ออยู่ว่า อันนี้มันดี เราก็ควรจะต้องเฉลี่ย ฟังเสียงของหมู่ ไม่ว่าจะเสียงสนับสนุนหรือคัดค้าน ถ้าคะแนน น้อยกว่า ก็อย่าดึงดันเลย

มีเสียงเล่าถึงความรู้สึกที่ฆราวาสเขาสะท้อนมาว่า สมณะที่จะไปแก้ปัญหา ตัวท่านเองเป็นตัวปัญหา เสียเอง สองเล่นพวก สามสมณะที่อยู่ตรงนั้น อยู่กับความขัดแย้ง สี่ไม่รับรู้เรื่องอะไรเลย แต่เวลา ขัดแย้ง ก็เหยียบ ห้าเขาอยากจะทำงานแต่หาพระที่จะเป็นที่พึ่งที่ปรึกษาหรือเข้าข้างด้วยไม่ได้

พ่อท่าน : จะเข้าข้างหรือไม่เข้าข้าง ก็ต้องตัดสินเสียก่อนว่าเราจะทำอะไร เมื่อตัดสินแล้วว่าทำ มันจะเข้าข้างได้อย่างไร เราเองต้องสอบทาน ถ้าเขามีอัตตามานะดึงดันจะเอาตามความเห็นของเขา ส่วนอื่น เราก็ต้องชั่งน้ำหนัก อย่างน้อยก็ต้องมาเอาเข้าหมู่ เมื่อมีมติแล้วเราก็ต้องทำตามนั้น ถ้าเขา ยังดึงดันอยู่เราก็ต้องจัดการซัดเขา ว่าเขาได้ เพราะมีมติแล้ว ถ้ายังไม่มีมติ ก็แน่นอน ต่างคน ต่างดึงดันแน่ เพราะฉะนั้นต้องพยายามเอาเข้าหมู่เพื่อหามติให้ได้ว่าจะทำอย่างไร ปัญหาอย่างนี้ มันเป็นปัญหาโลกแตก ตราบใดที่คนยังมีกิเลส จึงอย่าไปคิดกังวลว่าทำไมมันไม่รู้จักเสร็จเสียที มันไม่เสร็จสักทีหรอก โลกแตกก็ไม่เสร็จ เป็นงานที่ต้องทำอยู่ตลอด เพราะคนที่ทำงานอยู่กับคุณ ยังไม่ใช่พระอรหันต์ทั้งหมด มันจึงต้องมีปัญหาอย่างนี้ให้เราตัดสินอยู่ตลอดกาลนาน และต้องทำซ้ำ ทำซากอยู่อย่างนี้ไม่ต้องสงสัย

สมณะ : ถ้ามีคนๆนี้อยู่ ฉันไม่เอาแล้ว ไม่ทำแล้ว

พ่อท่าน : อันนี้ก็ต้องไปพูดกันว่าถ้าคุณยังยึดติด ไปจองเวรจองกรรมอยู่อย่างนี้คุณก็อยู่ร่วมกันไม่ได้ คุณจะไม่อภัย ไม่อโหสิ แล้วคุณจะมาปฏิบัติธรรมทำไม ถ้าต่างคนต่างก็ไม่ยอมก็ไปเลย หรือต้องยอม ต้องลดทั้งคู่

สมณะ : ปัญหานี้ ถ้าสมณะตั้งใจลดละอัตตามานะเป็นองค์รวม

พ่อท่าน : แหม ก็ดีมากเลย สมาน ตนเองก็ลด เจริญทั้งหมู่ เจริญทั้งตนเอง ไม่เสียธรรม คือเราถูกลด ความศรัทธาเลื่อมใส เขาจองเวรจองกรรม ฆราวาสเขาถือเราเป็นโจทย์ สมณะรูปนี้เป็นโจทย์รูปนี้ มีอัตตามานะ เขาได้ประโยชน์แต่สมณะเสียธรรม

สมณะ : ปัญหามันอยู่ที่สมณะอยากมีบริวาร

พ่อท่าน : อย่างนี้ไม่ได้บริวาร จะได้อำนาจและหลงอำนาจ แสดงกิริยาอย่างที่แล้วๆมา ก็คิดว่า เป็นกรณีศึกษา ควรจะวางตนวางตัวอย่างไร หรือเราประพฤติแล้วจะเป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ด้วย เราเองก็ได้ประโยชน์ตน โดยที่ไม่รู้ตัวมานาน ย้ำขึ้นมาก็ดี คิดว่าก็คงมีปฏิภาณรู้เหมือนกัน แต่มันไม่ชัด ก็พูดขึ้นมาเสียให้มันชัด

เมื่อมีผู้เสนอให้นำเอาธรรมะ ที่พ่อท่านแสดงไว้ในการประชุมมหาปวารณา ออกเผยแพร่

พ่อท่านไม่เห็นด้วย เนื่องจากหลายเรื่องเป็นเรื่องเฉพาะกับพวกเราสมณะ เป็นอจินไตย เป็นอุตริมนุสสธรรม ส่วนเรื่องธรรมะกลางๆก็ช่วยกันตรวจสอบ

มีประเด็นเสนอเกี่ยวกับ ศาสนพิธี ในการลงโทษทัณฑ์เรื่องศีลข้อหนึ่ง

พ่อท่านอธิบายว่าการผิดศีลข้อหนึ่งมันสั่งสมความอำมหิต เกลียดชัง ไม่มีเมตตา ถ้าละเลียดละลอ แม้ศีลข้อสองก็ตามขโมยแล้วรับสารภาพหรือไม่

ขอสรุปตอบว่าเราจะลงโทษกันอย่างไร มันมีองค์ประกอบที่ต่างกัน ตอบตายตัวไม่ได้ จะกำหนดโทษ กันอย่างไรให้เป็นมาตรฐานไม่ได้ แต่ละสถานที่มีความจำเป็นต่างกันด้วย จึงตอบคำถามตายตัวไม่ได้ ให้พิจารณาตามควรก็แล้วกัน ผู้ที่รู้จักบุคคลจะมีรายละเอียดมากกว่า

กรณีคนผิดศีลอยู่ข้างนอกเราจะให้เข้ามาไหม

พ่อท่าน : เราไม่อยากให้คนเลวเข้ามาหรอก แต่เราจะมีมาตรการอย่างไรเราก็ต้องฉลาด ถ้าคนที่เคย ทำผิดแล้ว ได้รับโทษทัณฑ์แล้ว อยากจะเข้ามา ต้องตรวจสอบว่าเขาได้ลดกิเลสลงได้หรือไม่

รายละเอียดของงานมหาปวารณาในที่นี้ขอข้ามผ่าน


วิจัยการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อรายการวิทยุชุมชน

๘ พ.ย. ๒๕๔๗ ที่ปฐมอโศก ก่อนออกเดินทางไปโรงเรียนผู้นำที่กาญจนบุรี มีนักศึกษาปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน น.ส.พัชราภรณ์ สายรัดเงิน ได้มาขอสัมภาษณ์พ่อท่าน เพื่อทำวิทยานิพนธ์ โครงการวิจัยการมีส่วนร่วม และความพึงพอใจ ของประชาชน ต่อรายการวิทยุเพื่อนชุมชน ชุมชนปฐมอโศก ต.พระประโทน นครปฐม จากส่วนที่ได้ สนทนาสัมภาษณ์ดังนี้

ถาม : ในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำที่ทำให้เกิดการพัฒนาชุมชน ท่านให้ความสำคัญเกี่ยวกับการสื่อสาร ในด้านไหนบ้างคะ

พ่อท่าน : สื่อสารในความหมายของอาตมานี่นะ สื่อสารในระบบบุญนิยมก็คือการสื่อสารเพื่อ ประโยชน์แก่กันและกัน ไม่ใช่สื่อสารเพื่อเป็นการค้าขาย หรือเพื่อเอาเปรียบเอารัด สื่อสารคือสิ่งที่ บอกกล่าวกันให้รู้ จะเป็นเรื่องราวอะไรก็แล้วแต่ที่สามารถจะส่งถึงกันและกัน ให้เป็นประโยชน์ แก่กันและกันทุกขณะทุกเวลาที่ควรจะได้รับ ตั้งแต่ส่งความรู้ ส่งข่าวคราว จนกระทั่ง สื่อสิ่งที่จะเป็น ความสุข จะสุขในการพักผ่อน สุขในการบันเทิงบ้าง แต่สรุปรวมแล้ว การสื่อก็คือการสื่อ ไม่ใช่การค้า ไม่ใช่ฐานการสร้างอำนาจ ไม่ใช่ฐานที่จะหาทางล่อหลอก มอมเมา ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น

ถาม : ในฐานะที่ท่านเป็นผู้สนับสนุนสื่อใช่ไหมคะ ในการดำเนินงานวิทยุชุมชนนี่น่ะค่ะ ท่านคิดว่า จะมีหลักการอย่างไร ให้ประชาชนในละแวกได้มีส่วนร่วมในวิทยุชุมชนบ้างคะ

พ่อท่าน : นโยบายหลักของเราก็จะสื่อสิ่งที่ขาด คือสิ่งที่จำเป็นในกาละ จุดนี้จะต้องให้เขารู้อันนี้ ให้เขาเร่งอันนี้ ถ้าเป็นสามัญอยู่เราก็สื่อสิ่งที่เป็นสาระให้แก่กันและกัน จริงๆแล้วสิ่งที่ขาดแคลน ควรเร่งรัดหรือสิ่งที่ควรจะสื่อให้แก่กันก็คือ คุณธรรม เพราะฉะนั้น สื่อของเราจึงสื่อเร่งรัดพัฒนา ในเรื่องของคุณธรรม ศีลธรรม หรือความรู้ทางธรรม สรุปง่ายๆก็คือเป็นธรรมะให้มาก ส่วนในด้านอื่นๆ ที่อื่นเขาทำอยู่เยอะ แต่ธรรมะนี่คนอื่นเขาไม่ค่อยได้ทำ ก็สื่อข่าว สื่อคราว สื่อเรื่องควรรู้ ธรรมะนี่ ขาดมาก ส่วนข่าวกีฬาประเดี๋ยวก็ข่าวกีฬา ที่โฆษณาประเดี๋ยวก็โฆษณา หาเงินหาผลประโยชน์ อะไรต่างๆนานาก็เฟ้อไม่รู้จะเฟ้ออย่างไรแล้ว แต่ธรรมะนี่ทำไมถึงไม่มีเวลา ว่าต่อไปนี่คือข่าวธรรมะ จะมีมั่งไหมในโลกนี้ นี่คือข่าวธรรมะต่อไปนี้คือข่าวธรรมะ ธรรมะข่าวสั้น ธรรมะข่าวยาวอะไรก็ว่ากันไป

ถ้าตรวจสอบความจริงของสังคมแล้ว อุปสงค์สิ่งที่เป็นดีมานด์ (demand=ความต้องการ) ความต้องการ ของสังคมขณะนี้คือ ขาดคุณธรรมของมนุษย์ ขาดกันอย่างหนักหน่วงเลย แต่กลับ ไม่ซับพลาย (supply = จัดหา เสริม ให้) กลับไม่อุปทาน กลับไม่สร้างสรรขึ้นมาให้สังคม เพราะฉะนั้น สังคมจึงเจริญไม่ได้หรอก นี่คือความรู้ของเราความเข้าใจของเรา จึงเห็นได้ว่าสื่อของเราบางทีอัดธรรมะ ตั้งแต่ตีสี่ กว่าจะเลิกก็สามสี่ทุ่ม จะมีรายการธรรมะช่วงไหนไม่มีอะไรก็มีรายการธรรมะเป็นหลักเลย สื่อธรรมะกระจายธรรมะเป็นหลักเลย ใครจะฟังไม่ฟังช่างเขา เพราะไม่ได้ค้าขายหาเงิน เราไม่ขาดทุน อยู่แล้ว เพราะเราเสียสละอยู่แล้ว เราไม่ได้คิดว่าเราจะเอาเปรียบจากสิ่งนี้ นี่คือเนื้อแท้ๆที่เราทำ

ถาม : ท่านเป็นสื่อกลางใช่ไหมคะ สื่อพระพุทธศาสนา ก็ต้องสื่อให้ประชาชนรับทราบ ทีนี้ประชาชน ก็จะมีหลายหน่วยงาน ที่เป็นนักธุรกิจ ที่เป็นข้าราชการ แล้วจะขอเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง กับวิทยุชุมชน นี่ค่ะ

พ่อท่าน : เราจะกลั่นกรอง ยิ่งนักค้าพ่อค้านี่ไม่ต้องเข้ามาก็ได้ เพราะว่าสื่อที่จะค้าขาย คุณไปจ่ายกัน เอาเอง เราไม่ได้อยากได้เงินจากคุณ เราไม่ได้รับค่าโฆษณาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น สื่อที่จะค้าขาย เราไม่ได้ทำ แต่ถ้าผลผลิตหรือสินค้าที่ควรส่งเสริมเราก็ช่วยสื่อสารให้ อันนี้เป็นประโยชน์แท้ ส่วน ข้าราชการ จะมาให้ข้อมูลข่าวสารใด หรือจะมาทำหน้าที่กับประชาชนตามหน่วยงานนี่ เราไม่มีปัญหา อะไร เราก็ร่วมมือหมุนเวียนทำอยู่แล้ว

ถาม : แล้วท่านได้ฟังรายการวิทยุชุมชนอื่น นอกจากของที่นี่แล้วบ้างหรือเปล่าคะ

พ่อท่าน : อาตมาไม่ค่อยได้ฟัง มันไม่มีเวลาพอ ของชุมชนที่นี่เอง ก็ยังไม่ค่อยได้ฟังเลย เป็นแต่เพียง รับรู้รับฟังบางครั้งบางคราวเท่านั้นเอง

ถาม : แนวโน้มของท่านในการพัฒนาสื่อท่านมีแนวโน้มอย่างไรคะ

พ่อท่าน : ทำไปตามเหตุการณ์ ทำไปตามกาละ ก็ดูกระแสตอบรับ หรือกระแสที่เป็นไปของสังคม เราตรวจสอบแล้วดูๆตามกระแสความเป็นจริงของสังคม สังคมขาดแคลนอะไร อะไรควรจะบอกกล่าว แก่สังคม เราก็สื่ออันนั้น อะไรที่เป็นความจำเป็น เป็นความสำคัญ เราก็วิเคราะห์วิจัยไปตามกาละ เพราะแต่ละกาละมันไม่แน่นอน ถ้าสิ่งใดที่เฟ้อแล้วก็หยุด อันนี้ควรจะระดมก็ระดมกัน ก็ต้องดู ตามเหตุการณ์ ก็ดูความสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ต่อมนุษยชาติเป็นหลัก


การละริษยา

๑๓ พ.ย. ๒๕๔๗ ที่สันติอโศก ค่ำได้รับโทรศัพท์จากชายคนหนึ่งโทรมาจากเชียงใหม่ จากคำพูด เหมือนคนไม่ปกติ เสียงคล้ายคนเมา ว่าต้องการจะคุยกับพ่อท่าน มีเรื่องจะปรึกษา ข้าพเจ้าสองจิต สองใจ แต่ก็ให้เขาลองคุยกับพ่อท่านดู เขาบอกเขาเป็นคนอิจฉาหรือถูกคนอื่นอิจฉาอะไรนี่แหละ จากการสนทนาดังนี้

ชาย : พ่อท่านใช่ไหมครับ พ่อท่าน : คุณเป็นใครล่ะ ชาย : ผมเป็นญาติธรรมห่างๆ ห่างมากเลยครับ คือ ผมชอบอิจฉาริษยา มันไม่สบายใจครับ

พ่อท่าน : อ้อ ชอบอิจฉาริษยา ก็รู้อยู่แล้วว่ามันไม่สบาย มันเป็นทุกข์ เราก็ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เปลี่ยนจิตใจให้ใหม่ มันไปริษยาเขาอยู่ทำไมล่ะ ทุกอย่างมันก็จะต้องตายพรากจากกันทั้งหมดน่ะ เราจะต้องไปดึงดันริษยาอย่างโน้นอย่างนี้กันอยู่ทำไม เราก็พึ่งตนเอง คนอื่นก็เป็นเรื่องของเขา วิบากกรรม ของใครของมัน มันเป็นของบุคคลแต่ละบุคคล เราก็ทำเอาของเรา ไม่ต้องไปริษยาเขา ให้เรามีกิเลสทำไม

ชาย : ผมเป็นข้าราชการ เขาได้ขึ้นเวรผมไม่ได้ขึ้นเวรอย่างนี้ พ่อท่าน : ก็เป็นไรไปเล่า ไม่ต้องไปริษยา กันหรอก ใครเขาจะเป็นอย่างไรเราก็ทำดีของเราให้เต็มที่ ถ้าเราทำดียังไม่ได้ดีมันก็ทำดียังไม่มากพอ มันก็ต้องทำดีขึ้นไปให้มันมากๆเท่านั้นแหละ ใครจะได้มากได้น้อยมันมีกรรมมีวิบากของตนเองอยู่ด้วย ซึ่งเราก็ทำดีไปเถอะ ถึงอย่างไรถ้าเราทำดี กรรมวิบากดีมันก็เป็นของเราอยู่วันยังค่ำ คนอื่นเขาจะเป็น อย่างไร เจ้านายจะเห็นไม่เห็นมันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก มันไม่มีท่าอะไรหรอก กรรมเป็นของเรา เราทำดีก็เท่านั้นเอง เราพยายามอุตสาหะวิริยะ ขยันหมั่นเพียร สิ่งที่เป็นกุศลที่เรามีปัญญารู้ เราก็ทำไป มันก็เป็นของเราเท่านั้นเอง อันอื่นตาคนมันไม่ใช่ตาของสัจธรรม มันเป็นตาถั่ว ใครจะเห็นไม่เห็น ก็ช่างเขาเถอะ ต้องคิดให้ถูก นี่คือความจริงที่อาตมาบอกได้ คุณเชื่ออาตมาแล้วคุณทำตามที่ อาตมาพูด คุณก็ไม่ทุกข์ ก็สบายใจแล้ว ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องอื่นเลย เดือดร้อนแต่แค่ริษยาเขาเท่านั้น จะได้เรื่องอะไร เอ้อ เข้าใจไหม (พอเข้าใจครับ) เอ้อ ถ้าเข้าใจอย่างที่อาตมาพูดแล้วนี่ก็ทบทวน แล้วพยายาม ฝึกให้ได้ตามที่ว่านี้ แล้วคุณจะสบายใจ มันจะพ้นทุกข์ได้ ทำเถอะ ทำอย่างที่อาตมาว่า นี่แหละ

ชาย : แต่พ่อท่านพูดลึกมากนะครับ พ่อท่าน : มันไม่ได้ลึกอะไร เข้าใจได้อยู่แล้วจะไปลึกอะไรเล่า ชาย : แล้วอีกข้อมันขี้รำคาญ ขี้โกรธนี่ พ่อท่าน : โอ้โฮ อันนี้ต้องฝึกใหญ่เลย แต่ต้องฝึกเลิกริษยาก่อน ได้ผลแล้วจึงค่อยมาฝึกเลิก ขี้รำคาญ ขี้โกรธ อีกทีหนึ่ง ชาย : เอาเรื่องอิจฉาริษยานี่ให้ได้ก่อนเหรอ (เอ้าๆ) ครับๆๆๆ กราบคารวะครับ พ่อท่าน : ฝึกดีๆนะ เอ้าเจริญธรรม


 

ผ่าทางตันการบริหารจัดการ หลงงาน หลงเงิน

๑๕ พ.ย. ๒๕๔๗ ที่ราชธานีอโศก คณะบริหารหน่วยงานต่างๆของศีรษะอโศกได้มาพบพ่อท่าน เพื่อสะสางปัญหาคาใจที่มีแก่กันและกัน เนื่องจากการทำงานที่ผ่านมา เห็นความขัดแย้ง ที่มีเป็นฝัก เป็นฝ่าย ทำให้การทำงานไม่สามารถเป็นไปได้ด้วยดี

เมื่อมีผู้เปิดประเด็นว่า สืบเนื่องจากคราวที่พ่อท่านได้ไปศีรษะอโศก (๑๑ ต.ค.) มีเสียงพูดกันขึ้นมาว่า ไม่รู้ใครเอาเรื่อง ไปบอกพ่อท่าน ทำให้ผู้ที่เคยช่วยงานหน้าร้านมาช่วยไม่ได้อย่างเคย ทั้งๆที่ขาดคน ดูแลหน้าร้าน

พ่อท่านพูดสวนทันที "คำนี้ขอตัดก่อนเลย อาตมาขอยกย่องคนที่มาพูดนั่นแหละเป็นคนดี ส่วนคน ที่พูดว่า เพราะใครเอาเรื่องมาบอกนั้นน่ะเป็นคนเลว การบริหารปกครองนั้น ใครมีเรื่องอะไรก็พูดกัน ออกมา เขาจะบ่น เขาจะเข้าใจผิดอะไรก็ตามก็ให้เขาได้พูดออกมา แล้วอาตมาก็เอามาพูด ถ้าอาตมา พูดไม่ถูกอย่างไร ก็เอามาวิเคราะห์วิจารณ์กัน เรามีข้อมูลอะไรอีกอย่างก็พูดกันออกมา

ที่บอกว่าทำไมเอาเรื่องไปพูด อย่างนี้ล่ะที่จะไม่ไปไหน ไม่ได้พัฒนา หมกๆๆๆ อย่าเอาไปพูดนะ แล้วอ้างคำ ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า พูดอย่างนี้เป็นเรื่องที่เห็นแก่ตัว และปัญญาทึบ ปัญญาโง่ อโศกนี่ภายในทั้งหมด ไม่ว่าจะศีรษะอโศก ปฐมอโศก ราชธานีอโศก คือภายใน ด้วยกัน ทั้งหมด เพราะเราบริหารอย่างองค์รวม ที่บอกว่าศีรษะอโศกอย่าเอาไปพูดปฐมอโศก ปฐมอโศก อย่าเอาไปพูดราชธานีอโศก อย่างนี้เผด็จการ อยู่ในวงแคบ อยู่ในกะลาครอบ ไม่ใช่วิธีการ ของบุญนิยมเลย จำไว้ให้ดี ยิ่งพูดไปแล้วยิ่งเมื่อยจริงๆเลย ยิ่งทำงานมาหนัก อัตตาของพวกเรานี่ ขึ้นขนาดหนัก ขึ้นมาเรื่อยๆๆๆแฝงซ้อนโดยไม่รู้ตัว"

ถาม : ก็เลยเกิดกรณีว่ามีคนเสนอให้.....กลับไปทำงานที่ร้านเหมือนเดิม ผมก็สะดุด ที่ประชุม ก็เลยบอกว่าเหมือนกับที่พ่อท่านไปคราวนั้น

พ่อท่าน : แล้วนิมนต์อาตมาไปทำไม อาตมาบอกแล้วว่าให้ทำแต่เรื่องบัญชี แล้วไปทำตามเดิม ให้อาตมาไป ให้มันเมื่อยทำไม ถ้าจะทำอย่างนั้นน่ะ อาตมาไม่มีน้ำยาอะไรเลย ถ้าเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นมติหมู่ก็ไม่ว่ากัน นี่ก็พูดกันโดยรวมแล้ว เหมือนกับว่าเป็นมติหมู่แล้ว และอาตมาก็ได้พูดด้วย หมู่ก็รับรองกันด้วย แต่เสร็จแล้วก็ไปทำอย่างนั้น ไอ้อย่างนี้รับรองไม่มีเจริญหรอก เสื่อมตลอดกาลนาน ถ้าจะทำอย่างนี้ เปลี่ยนแปลงมติจะว่าอย่างไรก็เปลี่ยน กูจะเอาอย่างนี้ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง ประชุมกันแล้วพูดกันแล้วในหมู่ ก็ถือเป็นมติหมู่ไปแล้ว ก็ไปเปลี่ยนอย่างนี้ อาตมาว่าอย่างนี้เหนื่อย อาตมาว่า พวกคุณไปทำกันเอง ไม่ให้อาตมาไปยุ่งด้วยจะดีกว่ามั้ง เพราะถึงอย่างไร อาตมาก็ไม่มี น้ำยา อยู่แล้ว

อาตมาจะขอพูดบรรยายให้ฟังไปเลย ตั้งแต่ท่าน ก.เลย หลงงานแล้วจะเอางานเป็นหลัก ไม่เอาคน นี่ขอบอกเลย หนึ่งหลงงาน สองหลงเงิน จะเป็นอย่างไรก็ไม่เอาคนก่อน ถ้าทำอย่างนี้รับรองว่าไปไม่ไกล เหมือนโลกเหมือนโลกีย์เขานั่นแหละ แต่เราเป็นโลกุตระไม่เหมือนโลกีย์เขา เราเป็นบุญนิยม ยิ่งมาทำ อย่างนี้ ยิ่งจะอ่อนแอหนักกว่าโลกีย์ โลกีย์เขายังมีอำนาจเงิน มีอำนาจเผด็จการที่จะใช้อะไรต่ออะไร แต่เราไม่มีอย่างโลกเขา แล้วจะเอาอย่างนี้ไปทำอย่างเขา ก็ยิ่งจะฉิบหายใหญ่ ยิ่งไปไม่ได้ไกลเลย เพราะของเรามันบุญนิยม ไม่มีเงินมาก ไม่ได้ใช้อำนาจด้วย โลกเขาใช้อำนาจเด็ดขาดได้นะ แล้วเงินเขา ก็มีอำนาจด้วยจริงๆ นายทุนเขามีเงินมาก ใครๆเขาก็ต้องเกรงต้องกลัวกัน ของเรานี่ไม่มี เงินก็ไม่มี อำนาจก็ไม่มี แต่เราใช้ลักษณะบุญนิยมที่ประดักประเดิด เราจะไปเลียนแบบทุนนิยมเขา ไปไม่รอดเลย ขอยืนยันเลย

ขณะนี้มีปัญหาที่อาตมาทราบมาที่ศีรษะอโศก มีทำงานเผด็จการอยู่ หรือคีย์แมนอยู่ไม่กี่คน นอกนั้น ทำแล้ว ก็ได้แต่อัดๆๆ กดดันอยู่ในใจ แล้วไม่พูด พูดไม่ได้ แล้วก็เกิดระเบิดกันขึ้นมา แล้วจะต้องมา วนเวียนๆๆอยู่อย่างนี้ แล้วฉลาด เก่ง พอพูดปึ๊บๆๆๆ ก็ตัดคนอื่นหมด

คนที่จะทำอะไรได้ดี จะมีพวกมาก จะมีคนเคารพนับถือ จะมีคนยอมรับส่งเสริม อย่างยกย่องเชิดชูนั้น จะไม่ใช้อำนาจ ไม่ใช้สิ่งที่เราจะต้องเบ่งเป็นเผด็จการ เอาแต่ความรู้ความเห็นของเรา ปราชญ์ที่แท้ จะไม่เบ่งอำนาจ คือผู้ที่เป็นปราชญ์หรือผู้ที่เป็นใหญ่จริงนั้น จะไม่ให้ใครมากลัวอำนาจ แต่คนอื่น จะยกย่องเชิดชู และได้อำนาจอย่างสมบูรณ์ ใครที่จะเบ่งอำนาจทำให้คนอื่นกลัวเรา เสร็จเรา ต้องหยุดเพราะเรา คนนั้นจะไม่ได้อำนาจโดยธรรม คนนั้นจะไม่ได้ความศรัทธายกย่องเชิดชูเลย งานเสร็จตามใจตนเองหวัง และจะไม่เกิดสัมมาทิฐิ เพราะไม่มีปรโตโฆษะ ไม่มีโยนิโสมนสิการ ไม่รับความคิดเห็นของคนอื่น ตนเองมีอยู่เท่าไรก็มีเท่าที่กะโหลกตนเองมี ของคนอื่นไม่เอาเลย ตัดทิ้ง เพราะฉะนั้นคนนี้ก็จะฉลาดเท่าที่กะโหลกตนเองมี แล้วจะไม่ละเอียดลึกซึ้งได้ เพราะไม่มีข้อมูลใหม่ ไม่มีอะไรต่ออะไรเข้ามาประกอบ เมื่อไม่เอาอะไรเข้ามาประกอบ เราก็ทำอย่างนี้ สำเร็จตามที่เราต้องการ ตามที่เรามุ่งหมาย และไม่มีใครสืบทอด สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างมวล อาตมาพูดไม่รู้กี่ที พวกคุณจะเห็นได้ ถ้าพวกคุณจะทำก็ทำไป ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ต้องยอมเสียงาน เมื่อหมู่เขาเห็นอย่างนี้ และกาละนี้ องค์ประกอบ ขณะนี้มันเจริญไปได้เท่านี้ มันไม่ได้ดีดังใจเราหรอก เพราะฉะนั้นงานก็ตาม หรือจะไป หวังเงิน เสียดายจะเป็นจะตายอย่างไรก็เอา ขัดอะไรใครก็เอา มันไม่ได้ บุญนิยมไม่ได้ทำอย่างนั้น เพราะไปหลงงาน ต้องเห็นแก่คนมากกว่างานให้ได้ และให้คนนี่รวมกันติด ให้คนนี่เป็นไปอย่างศรัทธา เลื่อมใสกันและกัน ต้องร่วมกันอย่างมีน้ำใจแท้จริง

เรื่องนี้มันมองอัตตาตัวเองไม่ออกง่ายๆหรอก เท่าที่มองศีรษะอโศกขณะนี้มีหัวงานไม่กี่คน นอกนั้น ก็ทำงานไป จะมีประชุมกันบ้างจะมีความคิดเห็นบ้างก็เหยาะแหยะไปอย่างนั้นแหละ แล้วก็ต้อง อันนี้แหละ อันอื่นไม่ใช่ จะเท็จจริงอย่างไรพวกคุณไปตรวจสอบดูก็แล้วกัน

ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะเน่าใน หมักหมมไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งก็จะระเบิด ไม่เหลือใคร เพราะฉะนั้น ที่บ่นว่า คนไม่พอๆๆ นี่คือคำตอบ คือปรากฏการณ์ที่มันฟ้อง ก็คนมันถอยไปๆแล้วคนจะพอได้อย่างไร ถ้ามันดี มันก็ต้องมีคนมาเพิ่มๆๆ

ถาม : เวลาประชุมก็มีให้ยกมือแสดงความคิดเห็น ถ้าไม่เห็นด้วยทำไมไม่ยกมือ

พ่อท่าน : เขาไม่กล้าหรอก เพราะลีลาของผู้เผด็จการนั่นแหละทำให้เป็นอย่างนั้น เขาทำจนผู้น้อย ไม่กล้าแล้ว ขณะนี้มันเป็นผลสำเร็จแล้ว ลีลาของผู้เผด็จการทำจนกระทั่งพวกนี้เขาต้องยอม ทำอะไร ไม่ได้ ได้แต่อึดอัด ได้แต่บ่นข้างนอก

ถาม : ก็ไม่เห็นว่าเป็นคนที่ไม่มีมันสมองนี่คะ

พ่อท่าน : มีมันสมองแต่ไม่มีฤทธิ์

ถาม : เมื่อไม่มีฤทธิ์ ก็อย่าเอามือตนเองไปยกให้สิคะ

พ่อท่าน : มันต้องยกน่ะสิ ไม่ยกก็ต้องหนีออกจากที่นั่น

ถาม : ก็ได้ถามทั้งสองประเด็น เอาหรือไม่เอา ไม่ใช่ถามแค่ประเด็นเดียว ในที่ประชุม

พ่อท่าน : ถ้าไม่เป็นอย่างที่อาตมาว่า มันก็จะไม่มีปัญหามาหาอาตมาหรอก

ถาม : แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไรคะ

พ่อท่าน : แก้ปัญหาที่ตัวคน แก้ที่ตัวผู้บริหารผู้เผด็จการนั่นแหละ ปัญหามันเป็นที่ผู้บริหาร หนึ่ง เห็นแก่เงิน สอง เห็นแก่งาน สาม ไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตนคิดตนทำตนติดตนเอาแต่ใจตน แล้วคนอื่น ก็ต้องยอม ไม่ได้เห็นแก่คน คนไม่ได้ฝึก ไม่ได้มารวมกัน คนไม่ได้ประสานกัน

แต่การสร้าง ระบบบุญนิยมนี่มันจะได้เท่าไรก็ตามในระบบของการสร้างองค์รวมนี่ ก็ทำไปตามประสา มันได้เท่าไร ก็เป็นไป ช้าก็ไม่ว่ากัน อย่าไปมักมาก มักใหญ่มันล่อจริงๆเลย อันนี้มันจะได้ อันนี้มันจะเสีย ทั้งๆที่ มันไม่ได้เสียอะไรนักหนาหรอก ไม่ได้ขนาดนี้เราก็ยังไม่ตาย ไม่ได้อดอยากปากแห้ง แต่คน หลงงาน หลงเงินนี่ ไม่ได้ มันเสียดาย ถ้าเห็นอยู่นี่มันจะต้องเอาให้ได้มากๆ อาตมาถึงบอกว่า อาตมา ซาบซึ้ง ในคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า อะไรที่เป็นไปเพื่อความมักใหญ่ มักมาก อันนั้นไม่ใช่ของเรา ตถาคต ซาบซึ้งจริงๆ คนมันอดใจยาก และมันเข้าใจยาก ตนเองก็เผลอจริงๆเลย

ถาม : ในขณะที่ศีรษะอโศกโตขึ้นมา ค่าน้ำค่าไฟก็มากขึ้น มันไม่เหมือนสมัยก่อน ยุคนี้รู้สึกว่า ใช้เงินมาก ไม่หาเงินไม่ได้นะคะ

พ่อท่าน : ลดสิ ลดอะไรที่มันจะต้องใช้ ลดอะไรที่มันจะต้องขยาย แม้มันไม่ได้เท่านี้ แม้งานมัน จะไม่เจริญต่อไปอีก แต่มันก็ไม่ถึงกับทรุด เงินมันจะไม่ได้เพิ่มอีก มันก็ต้องลด อะไรที่จะไปถ่วง ให้ต้องจ่ายก็ต้องตรวจสอบว่าอันนี้ไปจ่ายแล้วมันจะคุ้มไหม ถ้าคุณจะอ้าง และจำนนอย่างนี้นะ อยู่ในสูตรเดิม เพราะฉะนั้นไม่ต้องมาประชุมหรอกวันนี้

ถาม : ประชุมวันนี้ก็เพื่อให้คนที่มีความอึดอัดได้พูดอะไรออกมา

พ่อท่าน : อาตมาไม่ได้ไปนั่งไปนอนอยู่ที่ศีรษะอโศกสักหน่อย ถ้าไม่มีคนอึดอัดเอาข้อมูลมาพูด เขียนหนังสือมาบ้าง มากันคนละทีสองทีบ้าง อาตมาจำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง ทำลืมๆไปบ้าง เพราะไม่อยากให้พวกคุณไปทะเลาะกันอีก ได้ข่าวว่าอาตมาไปคราวที่แล้วก็ยังตามกันอยู่เลยว่า ใครนะเอาเรื่องไปบอกพ่อท่าน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่เข้าท่าเลย ไปตามทำไม มีความพยาบาท มีความจองเวร ไม่มีการแก้ไขสิ่งที่ควรแก้ไขในตัวเอง

ถาม : ถ้าพูดถึงอึดอัด หนูอยู่ตรงนั้น ถ้าพูดถึงเผด็จการเนี่ย ทางการบริหารการประชุมก็ให้โอกาส แต่ว่าพวกเราส่วนใหญ่ไม่ค่อยแสดงโอกาส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้าน หรือเรื่องอะไรที่มันใหญ่ๆ ก็ตั้ง กรรมการขึ้นมา ทำอะไรก็ทำตามขั้นตอน ให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น

พ่อท่าน : อาตมาขอตัดเลย ไม่ต้องพูดต่อ รู้แล้ว คุณพูดคำเดิม เรื่องเดิมอย่างเดิม ความจริง มันเป็นอย่างนี้ เพราะคนที่มีอำนาจนี่แสดงลีลาเก่งจนคนอื่นไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก ขณะนี้ ที่นั่งอยู่นี่ คนที่ให้ข้อมูลอาตมาลับหลังที่ประชุมก็นั่งอยู่ มีตั้งหลายคน แม้จะไม่ชี้ตัว ก็ยังไม่กล้าอยู่เลย แล้วจะไปพูดทำไมมี ว่าก็ประชุมกันเห็นด้วย อย่างนี้แหละทุกที เพราะอะไร เพราะคนที่เบ่งอำนาจนั้น เบ่งอำนาจสำเร็จแล้ว เขาทำได้เก่งจริงๆ จนคนกลัว คนไม่กล้าแสดงออกจริงๆ ได้แต่เก็บกด เรื่องถึงได้ มาระบายให้อาตมารู้ ถ้ามันไม่เก็บกดมันจะต้องมาระบายกับอาตมาทำไม แสดงว่ามันไม่กล้า แสดงออก ต่อหน้าผู้เผด็จการ ต่อหน้าผู้บริหาร หรือต่อที่ประชุม ไช่ไหม?

ถาม : ก็แสดงว่าคนที่ไม่กล้านั่นแหละค่ะ ทำไมไม่กล้าล่ะคะ

พ่อท่าน : ความผิดไม่ได้อยู่ที่คนไม่กล้า ความผิดอยู่ที่คนเบ่งอำนาจไม่แก้ไข เมื่อทางนี้ไม่ลด ไม่แก้ไขก็ไม่มีทางที่จะกล้าพูดขึ้นมา ขอยืนยัน คนเผด็จการหรือคนระดับหัวต้องลดตัวลดตน

ถาม : อย่างนี้แสดงว่าจะต้องให้ระดับผู้นำนี่ออกจากพื้นที่เลยใช่ไหมคะ

พ่อท่าน : ไม่ใช่ออก ลดตัวเอง ลดลีลาท่าที ทั้งงานทั้งบทบาท ใครบ้างก็แล้วแต่ที่มีพฤติกรรมอย่างนี้ แล้วพวกเราเป็นประเภทที่ใช้จิตวิญญาณ ไม่ได้ใช้เงินทอง ไม่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่อะไรจริงจัง เมื่อไม่ได้แย่ง ใครจะทำก็ทำไป แต่มันก็อึดอัดเท่านั้นเอง แล้วงานมันก็สำเร็จตามที่ผู้นั้นมุ่งหมาย ดังที่พูดแล้วแต่ต้น แต่มันจะไม่ยาวไม่ยืน ไม่เป็นบุญนิยมที่แท้จริง เพราะไม่ได้พัฒนาจิตวิญญาณ ไม่ได้พัฒนามนุษยชาติ ให้เป็นสังคมที่ร่วมมือกัน อย่างอบอุ่นเสริมสร้างอะไร ไม่ มันไม่เกิดจริงๆ ขอยืนยัน

ที่บอกว่าทำไมไม่พูดแสดงออกมา หนึ่งไม่กล้า สองพูดแล้วเหมือนเดิม ไม่มีผลอะไร เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะอยู่ก็เอ้าๆยกก็ยก ถ้าไม่ยกเดี๋ยวจะหาว่าไม่ได้ประชุม แต่เสร็จแล้วก็มาบ่น อาตมาจึงได้ ข้อมูล จากการบ่น และการเขียนหนังสือมาระบาย ถ้าแสดงออกได้ ไม่เก็บกด จะมาระบายกับอาตมา ทำไม นี่มันก็ฟ้องอยู่โทนโท่ว่า มันแสดงออกไม่ได้ แม้ได้ก็ไม่มีผลอะไร

นี่คือเรื่องจริงที่จะต้องปฏิบัติ ผู้เผด็จการ หรือผู้ยึดอำนาจได้ นั่นแหละต้องลดตัวตน มันเป็น การปฏิบัติธรรมโดยตรง ซึ่งมันไม่ง่ายที่จะรู้ตัว ลดอัตตา ลดทิฐิของตนเอง อันนี้มันเป็นอรูปอัตตา จะเอาแต่ใจข้า จะเอาแต่ความเห็นของข้า เชื่อความเห็นของข้า เป็นการลดอัตตาแท้ๆเลย แล้วมัน จะเกิดผลไปสู่พฤติกรรมของสังคม มันจะสัมพันธ์กันทุกอย่าง จิตวิญญาณมันจะเป็นไปเอง แต่ที่มัน เป็นอย่างนี้ มันก็จะจัดจ้าน กดดัน ทั้งมวลปริมาณคนก็จะไม่เพิ่ม จริงๆแล้ว ทำงานเพิ่มขึ้น มันจะมี ผลผลิตเพิ่มขึ้นบ้าง ถ้าดูสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นแล้วมันไม่ใช่ มันควรจะมากกว่านี้ตามเรื่องของงาน แต่มันไม่ใช่ มันไม่ถูกสัดส่วนของมัน

การสนทนาจากนี้ไปยังมีรายละเอียดอีกหลายประเด็น แต่ในที่นี้ข้าพเจ้าขอข้ามผ่าน ผู้สนใจพิเศษ ติดต่อได้ที่ฝ่ายเผยแพร่


 

โครงการปลูกป่าจริงหรือ

๑๖ พ.ย. ๒๕๔๗ ที่ราชธานีอโศก ได้รับโทรศัพท์ปรึกษามีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานหนึ่ง ได้รับมอบหมาย จากรัฐให้ทำโครงการปลูกป่าเพื่อเกษตรกร ต้องการใช้สถานที่ศีรษะอโศกในการอบรมเกตรกร ที่จะเข้าร่วมโครงการ จากการสนทนาดังนี้

เจ้าหน้าที่ : กราบนมัสการครับท่านครับ พอดีทางรัฐบาลได้มอบนโยบายเรื่องการปลูกป่าให้กับทาง ธ.ก.ส. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแก้ปัญหาความยากจนครับ เราจะใช้คอนเซ็บ (concept = ข้อคิดเห็น ความคิด) คนละแบบกับโครงการสัจธรรมชีวิตนะครับ คือทางรัฐบาลต้องการจะทำเรื่องนี้ ให้มันเป็น รูปธรรมด้วย เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรทางหนึ่งในเรื่องขจัดความยากจน ผมได้รับมอบหมาย ให้มาประสาน ก็เลยอยากจะใช้ที่ศีรษะอโศกนะครับ เป็นเวทีในการทำพีอาร์(ประชาสัมพันธ์)นะครับ คือเขาจะใช้วันที่ ๕ ธันวา เป็นเหมือนวันประกาศดีเดย์ นโยบายเรื่องการปลูกป่า เพื่อแก้ปัญหา ความยากจนให้เกษตรกร จึงอยากจะใช้ที่ศีรษะอโศกดำเนินการนะครับ

พ่อท่าน : ดำเนินการอย่างไรแค่ไหน เดี๋ยวขอบอกคุณก่อนนะว่าเรารับไม่ได้นะ ที่เราจะไปเที่ยวได้ ปลูกป่า เราไม่มีนโยบายที่จะไปทำ เพราะมันใหญ่เกินไป กว้างเกินไป ชาวอโศกเราเล็ก และเราไม่มี นโยบายแบบใหญ่ๆอย่างนั้น พวกเราจะทำสิ่งที่เป็นสาระและเป็นจุดที่สำคัญ ตั้งแต่เล็กไปเรื่อยๆๆ ถ้ามันจะใหญ่ในอนาคตค่อยว่ากันอีกที คำว่าป่ามันเป็นความจำเป็นที่มันเกิดความบกพร่องขึ้น แล้วความรู้เรื่องนี้ซับซ้อนลึกซึ้ง จริงๆแล้วป่านี่ไม่ต้องไปปลูกมันหรอก การจะไปปลูกป่า มันเป็นการ โฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น ป่าไม่ต้องปลูก ถ้าสามารถทำให้คนไม่ไปตัดต้นไม้เท่านั้น ไม่ไปทำลายป่า เท่านั้น ป่าจะเกิดเอง ไปปลูกอย่างไรก็สู้ป่ามันเกิดเองไม่ได้ เปลืองเปล่าผลาญด้วย เราไม่เห็นด้วยกับ การปลูกป่า เอาต้นไม้ไปปลูกในป่าจริงๆนะเราไม่เห็นด้วยเลย ทำอยู่ที่บ้านเราสวนเราเพียงพอแล้ว แต่ป่านี่ไม่มีความจะเป็นที่จะต้องไปปลูกมัน

เจ้าหน้าที่ : ขอกราบเรียนเพิ่มเติมครับ ไม่ใช่เอาชาวอโศกไปปลูกป่านะครับ สองเราไม่ได้ไป ปลูกป่าใน concept ที่ท่านพูดเมื่อกี้นะครับ เราไปปลูกป่าที่ท่านได้พูดผ่านมาครับ คือเราไปปลูกป่าในพื้นที่ ของชาวบ้าน ในนา ในสวน ในไร่ของเขา เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของเขาครับ

พ่อท่าน : แก้ปัญหาหนี้สินอย่างไร

เจ้าหน้าที่ : คือคนที่มีหนี้สินมากนี่เขาไม่มีทางชำระเลยครับ ถ้าเขาปลูกป่านี่นะครับ ทางธนาคาร โดยรัฐบาลนี่นะครับ จะทำสัญญากับเกษตรกรว่า รัฐบาลจะไม่คิดดอกเบี้ยเขา แล้วจะผ่อนหนี้ให้เขา ในวันที่เขาตัดต้นไม้หรือต้นไม้มีอายุตัดขายได้ แล้วค่อยนำเงินมาชำระหนี้คืน เพื่อให้ชาวบ้านได้ดูแล โดยแบ่งพื้นที่บางส่วนแล้วแต่เขาจะดูแลได้

พ่อท่าน : นั่นแหละแล้วมันก็หลอกคนว่าปลูกป่า ที่จริงปลูกต้นไม้มาเพื่อตัดขาย ตัดขายแล้วมันจะ เหลือป่าอยู่ที่ไหนละ คุณปลูกป่าขึ้นมา ๑๐๐ ไร่ คุณก็ตัดต้นไม้ใน ๑๐๐ ไร่เมื่อมันโตพอ มันไม่มี ป่าเหลือที่ไหน คุณก็ปลูกผลผลิตเท่านั้นเอง แล้วก็หลอกคนว่าปลูกป่า ทำไมไม่พูดตรงๆ ว่าจะทำ กสิกรรม เฮ้อ... ประเภทซับซ้อนอย่างนี้นี่เหนื่อยด้วยจริงๆเลย

เจ้าหน้าที่ : ก็เลยเรียนปรึกษาพ่อท่าน

พ่อท่าน : ความเห็นของอาตมาก็อย่างที่พูดให้ฟังนี่แหละ ทีนี้ทางรัฐไม่ได้มีความเห็นตรงกับ อาตมา มีแต่จะหาทางโฆษณา หาแต่ความเข้าใจที่เพี้ยนของประชาชนอยู่แล้ว ก็ไปซับซ้ำความเพี้ยนนั้น แล้วก็ตราลงไป ตีลงไปให้เพี้ยนอยู่อย่างเดิม เพียงแต่ให้คนมาอยากได้เท่านั้นเอง แล้วคนก็เข้าใจ ไม่ถูกต้อง ความจริงแล้วถ้าจะแก้ไขปัญหาป่า ก็บอกเขาอย่าไปตัดป่า ถ้าจะปลูกต้นไม้ก็ปลูก ก็บอก เขาตรงว่าปลูกต้นไม้นี่ ปลูกได้เท่านั้นเท่านี้แล้วจะขาย คนเขาก็จะได้ไม่ผิดเพี้ยนว่า อ้อ ต้นไม้นี่ มันก็มีประโยชน์ มีแต่ต้นไม้มันก็อุดมสมบูรณ์ ซึ่งมันก็แหม.. สอนไม่ตรงกับสัจธรรม

เจ้าหน้าที่ : เราจะไปทำประชาคมกันที่โรงเรียนผู้นำกาญจนบุรีนะครับ ก็จะเชิญผู้รู้ ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์หมอประเวศน์ ผู้ใหญ่วิบูลย์ หรือพ่อคำเดื่อง ใครต่อใครมาระดมสมอง ให้แนวความคิด เหมือนกับที่ท่านได้ให้ข้อสังเกตนะครับ ใจจริงเจตนาเราไม่ได้ต้องการ หลอกสังคมอะไร

พ่อท่าน : อาตมาไม่ได้ว่าเขาหลอกทีเดียว แต่มันเป็นเรื่องหลอกจริงๆ แต่เขาเองเขาเข้าใจว่า ที่เขาพูด อยู่นี่ถูกต้อง อาตมาอธิบายไปแล้วคุณก็คงเห็นว่ามันไม่ได้ถูกต้อง มันผิดเพี้ยน ตัดต้นไม้ไปขาย แล้วมันเหลือป่าอยู่ที่ไหน ยิ่งบอกว่าปลูกในที่ของเขานั่นแหละมันก็ไม่ใช่ปลูกป่า หรือปลูกผัก ตัดเอาไปขาย มันก็ได้ผลผลิตมา

เจ้าหน้าที่ : เรื่องนี้เรียนท่านนิดหนึ่ง มันเกิดจากพี่อำนาจได้ไปขายไอเดีย(idea= ความคิด) ให้ฝ่าย การเมือง ท่านนายกฯก็คงเห็นว่าก็จะเลือกเอาวิธีนี้เป็นวิธีหนึ่ง นอกเหนือไปจากนโยบาย ขจัดความยากจน ผมก็เลยมาปรึกษาทางศีรษะอโศกว่าเรื่องนี้จะดำเนินการกันอย่างไร พรุ่งนี้ ทางผู้ใหญ่ของผม ก็จะประชุมกัน ผมก็เลยมาปรึกษาทางอโศกดูก่อน

พ่อท่าน : นั่นน่ะซี แล้วจะให้ชาวอโศกไปทำอะไร เจ้าหน้าที่ : ก็ในหลักการนะครับ เราก็จะมาใช้สถานที่ ศีรษะอโศกในการเปิดตัวโครงการนี้ของรัฐบาลนะครับ ส่วนในพื้นที่ก็เหมือนกับอบรมไปด้วย คือเรา ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายการเมืองที่ว่า ทำแบบที่กรมป่าไม้ทำ ทำแบบที่กระทรวงเกษตรทำที่ผ่านมา จะมีการอบรม อย่างที่ท่านบอกว่าปลูกป่าก็เพื่อปลูกป่านะ แล้วถ้ารัฐบาลมีความประสงค์ จะปลูก ให้ถาวรเลย คือหมายความว่าถ้าเกษตรกรรายไหนปลูกแล้วไม่ตัดเลย รัฐบาลก็จะซื้อคืน

พ่อท่าน : แล้วรัฐบาลจะซื้อคืนไปทำอะไร

เจ้าหน้าที่ : รายละเอียดมันเยอะครับท่าน ตรงนี้ผมเองก็เพิ่งจะได้รับสัญญาณเมื่อวันเสาร์นี่เอง นะครับ ก็เลยรีบเดินทางมาศรีสะเกษ

พ่อท่าน : พูดก็พูดเถอะนะ จริงๆหล่ะคนชักจะรู้กันว่าป่ามันจะหมดไปจากประเทศ เพราะถูกตัด ถูกทำลายไปทุกทีๆๆ ความต้องการป่าก็ต้องการขึ้นมา ประชาชนก็ยากจน ไร้อาชีพ ขาดแคลน ก็เลย เอ้า....พวกนี้ยากจน ไร้อาชีพ ซึ่งมันเป็นดีมานด์ (demand = ความต้องการ)ของสังคม demand ของสิ่งแวดล้อมก็ตาม ก็อยากจะเอาความจริงอันนี้มาอธิบาย เสร็จแล้วก็สับสนตนเอง พูดกัน ก็ไม่ค่อยตรง จริงๆแล้วนโยบายป่าก็ทำไป จะสอนคนให้อย่าตัดไม้ทำลายป่านะ อย่าตัดต้นไม้นะ ต้นไม้มันช่วยเราในหลายๆเรื่อง มันทำลายถึงนิเวศวิทยา เดือดร้อนไปอีกมาก น้ำก็หาย อากาศก็ร้อน

มันต้องแก้ที่คนลดกิเลส ลดความโลภ ถ้าลดความโลภมันก็ไม่ไปตัดอะไรมาก มันถือว่าเป็นของ สาธารณะอยู่ลับตาคน มันก็เข้าไปตัดกัน เพราะมันเป็นสิ่งที่ลักลอบทำได้ เหมือนขโมย ของที่พอลับตา ก็ไปแก้ที่ความโลภของคน ให้รู้จักพอ อย่าไปตะกละตะกลามอะไรนัก เป็นการแก้ปัญหาต้นเหตุ แต่อันนี้ไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แล้วไปล่อให้เขาร่ำรวย เพราะการสอนให้ร่ำรวยนี่ มันไม่รู้จักพอ มันจะไม่กล้าจน สอนให้ร่ำรวยแล้วก็เอาร่ำรวยนี่มาหลอกกัน อาตมาบอกว่ารัฐบาลทำไม่สำเร็จก็ตรงนี้ ไปสอนให้ร่ำรวย อาตมาถึงได้พูดแรงเลย บอกว่าอาตมาสอนคนมาจน ก็เพื่อจะต้าน ไปพูดหลอกกันอยู่ ทำไม แล้วมันไม่ได้ เพราะโดยสัจธรรมถ้ามันไม่มีความพอ ไม่มักน้อยนี่นา มันไม่หยุดหรอก มันก็ ตะกละ จะได้อะไรมันก็จะเอา มันไม่รู้กิเลสหรอก แล้วมันไม่มักน้อย มันไม่สันโดษ ต้องลดกิเลส มันถึงจะพอ ถึงจะสันโดษ มันถึงจะน้อยๆก็ได้ ถ้าไปตะกละตะกลาม มันก็ทำร้ายทำลาย เพราะมันไปโลภ กันเกินการ ถ้าจะอบรมจะสอนกันก็ต้องพูดในประเด็นนี้ จะไปสัมมนา จะเวิร์คช็อพ (workshop = การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ) ผู้รู้ทั้งหลายแหล่ก็มาพูดกันในประเด็นนี้ ไม่ต้องมา กลบเกลื่อน ให้มันเพี้ยนๆกันอยู่

เจ้าหน้าที่ : ครับๆๆ แต่ก็จะใช้ที่ศีรษะอโศกนี่นะครับ พ่อท่าน : ถ้าเผื่อว่าเข้าใจสัจธรรม เข้าใจ เป้าประเด็น ที่จะอบรมคนจริงๆก็เชิญ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็ควรจะให้มันรู้ความจริงให้มันถูกต้อง อบรมกันแล้วแต่ก็พูดให้มันเพี้ยนๆกันอยู่ ไม่สำเร็จหรอก พูดไปก็เมื่อยเปล่าๆ ถ้าทำแล้วได้ผลสำเร็จ ก็โอเค อบรมไป สัมมนาไป แล้วก็ได้ผลขึ้นมา คนเข้าใจถูกต้อง ไม่ต้องไปแก้แล้วแก้เล่า วนกันไป อยู่ตรงนั้น แล้วมันก็โลภอยู่อย่างเก่านั่นแหละ

เจ้าหน้าที่ : ก็อยากจะขอความเห็นจากท่าน ช่วยเสนอหรือคอมเม้นท์ (comment = ข้อคิดเห็น คำวิจารณ์) ให้ข้อคิดด้วยนะครับ

พ่อท่าน : ก็ให้ข้อคิดอยู่นี่ไง

เจ้าหน้าที่ : คือตอนที่เราจะเดินกันต่อไปนะครับ อันนี้ผมมาขออนุญาตท่านก่อนครับ เพราะว่า ผมก็เพิ่งรู้ไม่นานนี่นะครับ

่อท่าน : ถ้าจะตอบไปแล้วนี่นา โครงการที่จะทำนี่มันต้องพูดถึง รายละเอียด อีกหลายอย่าง โครงการ ที่จะทำขณะนี้นี่ รัฐบาลจะทำ ธ.ก.ส.จะทำ เสร็จแล้ว มันมีความซับซ้อน อยู่หลายประเด็นเลย เพราะเราทำงานกับ ธ.ก.ส.มานี่งวดที่แล้ว ๓-๔ ปี ธ.ก.ส. ก็เล่นอยู่กับเรา คือพูดตรงๆก็คือ ยังมี ความซับซ้อนอยู่กับเรานี่เยอะแยะ จนกระทั่งเราเหนื่อย แล้วก็ทำงาน ได้ผลน้อยก็เพราะว่า คือ อธิบายกันหลายๆอย่างมันก็ต้องพูดกันอีกยาว เพราะฉะนั้น งานที่จะทำนี่ ๑.เป็นของรัฐ ซึ่งใหญ่ ทำทั่วประเทศ แต่อโศกนี่เล็ก ทำอะไรมากไม่ได้ ถ้าจะให้ร่วมมือ ก็พอจะช่วยได้ในส่วนหนึ่งเท่านั้น จึงอย่าไปอาสารับมาเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตเป็นอันขาด บอกว่าช่วยได้ เท่าที่เรามีแรง เท่าที่เรามีเวลา ก็รับแค่นั้น

เจ้าหน้าที่ : ไม่รบกวน ถึงขนาดขั้นว่าให้มีผลกระทบครับ ผมเข้าใจครับ แต่ว่าอยากจะขอ ความอนุเคราะห์ บางส่วน คือผมมองว่าบอกตรงๆเลยก็คืออโศกเท่านั้นที่จะช่วยได้นะครับ แต่ก็คงไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ

พ่อท่าน : ทั้งหมดมันไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ช่วยเราก็ต้องดูรายละเอียด สองเราช่วยได้ ก็ช่วย เท่าที่ช่วยได้ เราทำอะไรไม่ได้มาก ไม่ได้ใหญ่หรอก เพราะเราต้องการเนื้อแท้ เราไม่ได้ต้องการ ปริมาณ และเราก็รู้อยู่ว่ากาละนี้มันไม่ใช่กาละที่จะเอาปริมาณ และนโยบายของรัฐบาล มันค้านกับ ที่เราทำอยู่ เขาจะทำให้ใหญ่ ให้เร็ว ซึ่งมันค้านกันอยู่ แต่ถ้าเราไปร่วมปั๊บ ก็จะต้องมีเงื่อนไขที่ชัดเจน ว่าถ้าจะให้อโศกก็ต้องมีเงื่อนไขอย่างนี้ๆๆ ซึ่งเราก็พูดย้ำแล้วย้ำอีก

จ้าหน้าที่ : แต่นโยบายนี้ ธ.ก.ส.เป็นเจ้าภาพเอง เราจะทำประชาคมที่โรงเรียนผู้นำ ยังไงก็อยากจะ นิมนต์ ท่านไปร่วมด้วยครับ ผมเห็นด้วยกับท่านนะครับ แต่ผมเป็นผู้ปฏิบัติครับ เป็นผู้ประสานงาน ผมก็ลำบากใจเหมือนกันนะครับ

พ่อท่าน : ก็เข้าใจ คุณก็อย่าไปรับเขาก่อนสิ มาคุยกับทางนี้ก่อน ทีนี้คุณไปรับเขามาแล้ว คุณก็เดือดร้อนคุณเอง แล้วมาพูดกับทางนี้ ทางนี้ยังไม่รับรู้เงื่อนไขอะไร

เจ้าหน้าที่ : ผมไม่ได้รับครับ ผู้ใหญ่นะครับไปรับกันมา แต่ผมนี่ยังไงก็ได้ครับ ผมก็ปฏิเสธไปแล้ว แต่อันนี้ ช่วยชาวบ้านนะครับท่าน พัฒนาชนบท อบรมเกษตรกร แล้วก็เรื่องป่า เรื่องสิ่งแวดล้อมนะครับ แล้วท่านก็ให้เรามาดูแลเรื่องนี้เหมือนเดิมนะครับ

พ่อท่าน : เอาเถอะก็ค่อยๆคุยกัน ไปรับปากเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่ไปรับปากเหมามา เจ้าหน้าที่ : ครับๆๆๆ งั้นเดี๋ยวผมขออนุญาตเดี๋ยว ท่านคุยกับอาจารย์ขวัญดินต่อนะครับ

ขวัญดิน : พ่อท่านมีความเห็นอย่างไรบ้างคะ

พ่อท่าน : ก็มันมีรายละเอียดต่างๆนานา เพราะเราไม่ได้รู้ ต้นทางของรายละเอียดทั้งหมด ได้พูดกับ เจ้าหน้าที่ถึงได้เห็นอะไรลามต่อๆๆ พูดกันตรงๆแล้วว่า ถ้าจะมาเอาที่อโศก เหมือนกับอโศกนี่ เป็นตัวรองรับ เป็นตัวรับรองแล้วไปรับมา อันนี้เราตายแน่ เราไปรับรองอันนั้นไม่ได้ แต่จะให้ช่วยเหลือ ปลีกๆ ย่อยๆ พอที่จะทำได้นี่ เราก็ทำได้ พูดไปพูดมาแล้ว เรื่องนี้ ธ.ก.ส.ไปรับปากมาจากผู้ใหญ่ ไปรับปากมาจากรัฐบาล จากนายกฯ จากรัฐมนตรีคลัง ที่เมื่อกี้ พูดโยงใยมา แล้ว ธ.ก.ส.ที่พูดขณะนี้นี่ เรายังไม่รู้เลยว่างบของโครงการนี้เป็นอย่างไร อย่างโครงการที่แล้ว ก็ลำบากอยู่ พอทำไปแล้ว ถึงได้เห็นว่า มันซับซ้อน แล้วมันจะไหวไหม พูดแล้ว มันมีภาวะที่ล้วงตับกินไส้ เราก็ไม่อยากจะเข้าไป เป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมมือ เป็นข้าทาสใช้อะไรต่ออะไร เพราะฉะนั้นบางทีบางอย่างเราก็พูดไม่ออก พูดไปแล้วมันก็เดี๋ยวไปด่าเขา ไปว่าเขา นี่อาตมาก็พูดกับ เจ้าหน้าที่เขาซึ่งพูดอย่างนี้ไม่ได้ เพราะมันมี ความซับซ้อนกัน คราวที่แล้วเงินออกมาจากรัฐ ตั้งหมื่นๆ ล้าน แบ่งมาให้เราอบรม ๖๐ ล้าน จริงๆ มาถึงเรา ไม่ถึง ๖๐ ล้านด้วยซ้ำ แค่ครึ่งของ ๖๐ อะไรอย่างนี้ เป็นต้น แล้วเราก็เป็นเครื่องไม้ เครื่องมือเขา อ้างทำงานๆๆ เสร็จแล้วก็ไปประกาศไปประเมินผล ออกไป ตั้ง ๔ แสนคน ทั้งๆที่มันทำได้ แค่ไม่กี่หมื่นคนอะไรอย่างนี้ หลอกลวงประชาชน หลอกลวงชาวบ้าน เราก็เป็นหน่วยหนึ่งที่ไปทำอันนี้ อาตมาดูแล้วมันซับซ้อน มันก็แฝงซ่อน ผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริต เชิงนโยบาย มันก็อยู่ในลักษณะ พวกนี้ทั้งนั้นเลย ที่พูดนี่ไม่ใช่พูดเพราะงกเงิน พูดต่อว่าที่ได้เงินน้อย ไม่ใช่เลย เพียงแต่พูดถึงความควร หรือไม่ควร ดีหรือไม่ดีเท่านั้น

ข้าพเจ้า : พ่อท่านครับ ครูขวัญดินเขาคงอยากจะให้พ่อท่านฟันธงว่า งานนี้ที่เจ้าหน้าที่เขามา ติดต่อ จะให้รับหรือเปล่า ใช่ไหม

ขวัญดิน (ค่ะ)

พ่อท่าน : มันอยู่ที่พวกคุณว่า พวกคุณรับเขาแล้ว มันก็จะต้อง ไปเป็นที่รองรับเขาอย่างนั้น ตอนนี้ เรามีงานเต็มมือไหม ถ้าจะไม่รับงานนี้เรามีงานเต็มมือไหม หรือว่า เรารับมา เราก็มีแรงที่จะทำต่อ มันก็อยู่ที่ตรงนี้ ถ้าเราบอกว่าเอ้อพอรับได้ ก็รับไป แต่ถ้ารับ มันก็เต็มมืออยู่นะ ถ้ารับก็ได้ แต่ถ้าไม่รับ มันก็สบายดี เราก็ไม่ได้ต้องการร่ำรวยอะไร ไม่ต้องการทำใหญ่ ทำโตอะไร ซึ่งเราก็มีของเราอยู่เต็มมือ มีอะไรให้ทำอยู่ คุณก็ประเมินของคุณดูซิ

ขวัญดิน : ค่ะ พอดีก็กำลังปรึกษาพ่อท่านอยู่ พอดีเขามาก็เลยให้เขาได้พูดกับพ่อท่านโดยตรงเลย

พ่อท่าน : แล้วเข้าใจไหมที่อาตมาพูดไปนี่

ขวัญดิน : เข้าใจค่ะ

พ่อท่าน : คุณก็ประชุมกันดู คุยกันดู กับหมู่ฝูง ถ้ามันไหวก็แบ่งรับกัน สำคัญอยู่ที่ว่าอย่าไปรับใหญ่ อย่าไปรับหน้ารับตามาเป็นเด็ดขาด เราจะช่วยได้เท่าที่เราจะช่วยได้ บอกเขาแค่นั้น ใครจะว่าเราเป็น พวกแคบ พวกเอาแต่เรื่องของตน ก็ยอมรับ เพราะเรายังไม่เก่งยังไม่โตพอที่จะทำโตๆได้

ขวัญดิน : ค่ะขอบพระคุณพ่อท่านมากค่ะ นมัสการค่ะ


 

กรณีการพับนกกระดาษ

จากสถานการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนมีผลทำให้เกิดความรุนแรง ฆ่ากันตาย ทุกวัน รัฐบาลเองก็ได้พยายามหาวิธียุติปัญหาในหลายๆวิธี มีวิธีการหนึ่งที่มีผู้เสนอให้ประชาชน คนไทย ทั้งประเทศ ร่วมกันส่งแรงใจไปถึงพี่น้องในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนนั้น โดยการช่วยกันพับ นกกระดาษส่งไปให้ เพื่อบอกถึงความปรารถนาที่ต้องการให้พื้นที่เหล่านั้น กลับสู่ความสันติสุขโดยเร็ว แต่วิธีการ พับนกกระดาษนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยก็มาก

๒๑ พ.ย. ๒๕๔๗ วันอาทิตย์ ที่สันติอโศก ก่อนการแสดงธรรม พ่อท่านได้กล่าวถึงเรื่องการพับ นกกระดาษนี้ว่า "ตอนนี้เหตุการณ์บ้านเมืองมันเดือดร้อนมากมายจริงๆเลย วิธีแก้ปัญหา เราจะแก้ด้วย วัตถุ แก้ด้วยกฎหมาย แก้ด้วยกฎหลัก ไม่ได้ มันจะต้องแก้ด้วยจิตวิทยาชั้นสูง เหตุการณ์ปักษ์ใต้ มันเดือดร้อนกันมาก รุนแรง ซึ่งมันสืบเนื่อง ต่อเนื่องกันมาทั้งโลก เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เกิดเฉพาะ ประเทศไทย ทั่วโลก ประเทศไหนที่มีส่วนอันเป็นเหตุปัจจัย โดยเฉพาะอิสลาม หรือแม้ไม่ใช่อิสลาม แต่มีส่วนที่ไปเกี่ยวข้องพัวพันกันนี่ มันก็จะเกิดเรื่องนี้ เขาทำได้เขาก็จะทำไปเรื่อย มันไม่ใช่เรื่องของ บุคคลคนเดียว ไม่ใช่เรื่องของประเทศประเทศเดียว มันลามไปทั่วโลก มันเรื่องใหญ่มาก รัฐบาลก็ ลำบาก จะแก้ไขปัญหานี้ก็น่าเห็นใจ ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งก็ได้ใช้ความสามารถเท่าที่ทำ คนที่ไม่เห็นด้วย เขาก็พยายามท้วงกัน เสนอกัน มันก็มีทั้งการข่มกัน ดูถูกดูแคลนกัน มันก็เลยกลายเป็นเรื่อง สงคราม ของทางจิตวิญญาณด้วย มันก็เลยได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง

นายกฯทักษิณแก้ปัญหาตอนนี้นี่ ใช้วิธีการพับนก แล้วก็จะเอานกไปแสดงเป็นสื่อ ในการปฏิบัติอันนี้ ให้เกิดผลต่อทางจิตวิญญาณ อาตมาว่าอันนี้ดี พับนกนี่ดีมาก ก็อยากจะให้พวกเราระดมพับนกกัน เขาจะพับได้ ๖๒ ล้านตัว เราชาวอโศกพับให้ได้ ๖๓ ล้านตัวเลย แล้วฝากนายกฯนั่นแหละไปโปรย เราไม่เอาไปเองหรอก บางคนก็คิด แหม มันจะรก เสียประโยชน์ ไอ้ที่ไปทำลายเป็นขยะมากกว่านี้ ไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ มันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย อื่นๆยังทำกันเยอะแยะ นกกระดาษถูกน้ำหน่อยเดียว ก็ละลายแล้ว แต่อันนี้มันเรื่องใหญ่ที่บางคนก็คิดไม่ออก (มีคนเอาตัวอย่างมาให้พ่อท่าน ในขณะนั้น หลายตัว พ่อท่านทักว่ามันตัวใหญ่จัง ทำตัวเล็กๆ มันจะได้ไม่เปลืองกระดาษไง ไม่เป็นไร ทำหลายขนาด ก็ได้ แต่ไม่ต้องทำใหญ่ไป) อาตมาอยากมาชักชวนให้พวกเราทำ แล้วก็ไปส่งกัน หรือจะติด ในที่ของเรา แขวนไว้บ้างก็แขวน

เป็นเรื่องจิตวิทยาสังคมที่สำคัญ ถ้าเราจะเอาเงินไปแจก ผู้จะไปช่วยเหลือ ไปแสดงน้ำใจ แล้วก็เอามุ้ง ไปแจก ดูแล้วมันแข็งกระด้างจังเลย ลูกเขาตายทั้งคนเอามุ้งไปให้ คุณเอาไหม เขาจะหาว่าดูถูก มันไม่ดี มันไม่งาม เรื่องเหล่านี้มันเรื่องละเอียดลึกซึ้ง เราจะต้องมีปัญญาเข้าใจ ทำอะไรให้มันดู เข้าร่องเข้ารอย ให้มันมีสภาพอะไรให้มันดูดี มันไม่ใช่ง่าย มันต้องใช้ภูมิปัญญาจริงๆ เอาเงินเอาทอง ไปแจกเลยก็ใช่ว่าจะถูกท่า เขาไม่ได้อยากได้เงิน บางคนลูกเขาตายฐานะเขาดีด้วยซ้ำไปนะ เขาไม่ได้ อยากได้เงินหรอก มันเหมือนเราไปซ้ำเติมเขา เพราะฉะนั้นแสดงน้ำใจว่าเราเห็นใจเขานะ ลูกเขาเสีย ลูกเขาตายหรือว่าเรื่องที่เขาเดือดร้อน พวกเราก็ไปแสดงน้ำใจ ว่าพวกเราพยายาม ที่จะไปปัดเป่า พยายามที่จะลงทุนลงแรง แสดงออกทุกๆอย่าง อันนี้ก็เป็นยิฎฐัง เป็นยัญพิธีอันหนึ่ง ที่อาตมาเห็นว่า การแสดง ออกอันนี้ดี เพราะมันเป็นที่เข้าใจกันในสังคมแล้ว ในเรื่องของนกกระดาษ มีผลทาง จิตวิญญาณ ลึกๆอันหนึ่ง มันมีเหตุกันมาน่ะ อยู่ดีๆมาทำขึ้นมาขณะนี้คงไม่เข้าใจ แต่ทีนี้มันมีเหตุ มาแล้ว มันจูงนำได้แล้ว เพราะมีคนเคยก่อ นกกระเรียนนี่พับกัน มันเกี่ยวกับ จิตวิญญาณลึกซึ้ง เชื่อมจิตต่อจิต ให้เมตตากัน อย่ารุนแรงกัน มันมีเชื้อ มันเป็นสื่อแทนไง ที่เขาสมมุติแล้ว คนเข้าใจแล้ว ทั้งโลก ประวัติหลายคนก็รู้แล้ว

เด็กหญิงซาดาโก๊ะ ตอนนั้นอายุ ๑๑-๑๔ อาตมาก็จำไม่แม่น ซึ่งมันเกิดเรื่องมาแล้ว ทำจนเป็นที่ เข้าใจ เป็นที่รู้กันทั่วโลก เพราะฉะนั้นใช้อันนี้ได้ เป็นสื่อได้แล้ว เราก็ใช้ เชื้อชาติไหนมันก็เข้าใจกันได้ รับกันได้ มันเป็นประโยชน์ทางจิตวิทยาสังคม อย่างดีมากทีเดียว อาตมาก็ว่าพวกเราจะช้าไปหน่อยแล้วนะ อโศกนี่ ไม่เป็นไรตอนนี้ ก็ยังทัน ก็ระดมกัน ใครเสร็จแล้วเราก็ส่งกันไปเรื่อยๆ ช่วยกัน เราอยู่ในสังคม ทุกอย่างมันเกิดขึ้น มันก็กระทบถึงเรา เราไม่ใช่คนรู เดี๋ยวนี้ยิ่งเป็นยุคฟ้าบ่กั้น Globalization (การแพร่กระจาย ไปทั่วโลก อย่างรวดเร็ว กว้างขวาง โลกาภิวัตน์) เพราะฉะนั้นอะไรที่จะพึงทำ อะไรที่จะแก้ไข ช่วยให้มันดีขึ้นเราก็ต้องช่วยกันไป ลงทุนลงแรงอะไรที่จำเป็นเราก็ต้องช่วยกันบ้าง อันนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องบอกกัน"

(ยังไม่จบตอน โปรดติดตามต่อฉบับหน้า)

- สารอโศก อันดับที่ ๒๗๘ ธันวาคม ๒๕๔๗ -