ใต้ร่มอโศก

เมื่อเลิกทำชั่ว
เราเรียกว่านี่แหละ "เป็นความดี"
แต่เป็นความดีแบบตั้งรับ
เป็นแค่ชั้นอนุบาลเท่านั้น
หาก"ความดี" ต้องบำเพ็ญ ต้องสะสม
ความดีจึงต้องพัฒนา.....เลื่อนระดับให้สูงขึ้น
จำได้ไหม ละชั่ว-ประพฤติดี-ทำจิตใจให้แจ่มใส
ผู้เลิกชั่ว หากหยุดอยู่ยังเป็นความประมาท
ชีวิตประจำวันต้องเก็บเกี่ยวความดี
ดั่งชาวนาลุยทุ่งรวงข้าว
ถือเคียวเกี่ยวทีละกำ.....ทีละฟ่อน
จากตรงนี้ไปตรงโน้น จากตรงโน้นไปตรงนั้น
ธรรมในชีวิตประจำวัน......จึงหนัก
ไหนจะเลิกชั่ว ไหนจะดี
ชั่ว-ต้องอดทน แต่ดีต้องขวนขวาย
หน้าตาแห่งกรรมดีต้องศึกษา จึงจะไม่ผิดพลาด
ก่อนลงมือ คุยกันก่อน.....
อะไรบ้างที่เรียกว่า "ทำดี"
โปรดสาธยาย....
.

วาระแห่งธรรม
การประชุมคณะกรรมการสถาบันบุญนิยม เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๗ ได้มีความเห็นตรงกันว่า เรื่องเด็ก เป็นเรื่องที่สำคัญ สมควรที่ชาวอโศกทุกชุมชน ควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะโรงเรียนสัมมาสิกขา ของเรา น่าจะกำหนดเป็น "วาระแห่งธรรม" คือทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญ ส่วนจะมีมาตรการ อย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป จุ๊ย์ๆๆ


อโศกสร้างคน คนสร้างเมือง
"การใช้ชีวิตทุกวันนี้ มีความทุกข์น้อยลง ถึงตัวเองจะไม่ร่ำรวยมีเงินทองมากมาย แค่มีชีวิตอยู่ มีคน ที่รักเรา มีร่างกายที่แข็งแรง และพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น และหาคำตอบให้กับตัวเองได้แล้วว่า มนุษย์เกิดมาทำไม เพื่ออะไร เกิดมาเพื่อสร้างบารมี หรือ จะเอาวิบากกรรม มันอยู่ที่เราจะเลือกเอา
ข้อไหน ๑ หรือ ๒"
สายจิต คงคาสุริยะฉาย (หาดใหญ่ สงขลา)


ธรรมกายแห่งอโศก
จากญาติธรรมลัดดาวัลย์ ศักดาลักษณ์ (อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม)
"ดิฉันเคยฝันใฝ่อยากเป็นชาวอโศก เพราะมีความศรัทธาในการเป็นอยู่ของชุมชน และก็ประพฤติตน เอาเยี่ยงอย่างแบบชาวอโศกเท่าที่จะทำได้ คือมีความสมถะในการกิน-อยู่ มีชีวิตเรียบง่าย ทำบุญ-รักษาศีล เสมอๆ ระวังจิตมิให้หมองเศร้า ตอนเช้าไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ จิตสงบได้ ระดับหนึ่ง"

เขาบอกว่าดูแค่ลักษณะท่าทาง เราก็จะรู้ว่าปฏิบัติธรรมสำนักไหน

อโศกเราก็มีสัญลักษณ์ หรือโลโก้ประจำตัวเหมือนกัน หรือจะบอกว่าเป็น "ธรรมภาพ" ส่วนหนึ่งก็ได้

แต่แน่นอน "รูปธรรม" ต้องมี "ปัญญา" มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นแค่ "เถรส่องบาตร"

รู้สาระให้ชัด เพื่อจะได้ไม่ "เวียนกลับ" และเพื่อจะได้ทำอย่างมีความสุข ไม่ซังกะตายปฏิบัติตาม หมู่กลุ่ม จุ๊ย์ๆๆ


ปฏิบัติธรรมเริ่มที่ "ของกู"
ธรรมะเริ่มตรงไหน หลายๆคนจะเน้นการทำความเข้าใจชีวิต ศึกษาข้อคิดข้อเขียนของพระเกจิฯ ของปราชญ์ แต่ขาด "กายสักขี" การศึกษานั้นจึงเป็นแค่ "ปรัชญา" เท่านั้น

แล้วจริงๆเป็นอย่างไร ? จากญาติธรรมมะลิ บ่อพิมาย (อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี) "ทำให้ดิฉันหันกลับมามองตัวเองมากขึ้นว่า ตัวเองมีข้อเสียอะไรบ้าง วันนี้ทำอะไรบ้าง และความดี ทำหรือยัง ข้อปฏิบัติที่ดิฉันทำได้คือ ดิฉันไม่กินเนื้อสัตว์แต่ยังไม่บริสุทธิ์ ยังเขี่ยอยู่ค่ะ และยังกิน ๓ มื้อ ไม่กินจุบจิบ เพราะสุขภาพไม่ดี เป็นเนื้องอกที่ต่อมน้ำเหลืองค่ะ ไม่ดื่มเครื่องดื่ม ทุกชนิด ไม่นอน ที่นอนหนา แต่นอนเสื่อปูกับพื้น เมื่อก่อนดิฉันนอนที่นอนหนา รู้สึกปวดหลังมากค่ะ แต่เดี๋ยวนี้ นอนกับเสื่อ ไม่เคยปวดหลังเลยค่ะ และไม่เล่นการพนันทุกชนิดค่ะ แต่ยังดูละครทีวีอยู่ค่ะ และยังมี ความโกรธ ความโลภ ความหลง อยู่มากเลยค่ะ และสิ่งที่น่าเกลียดที่สุด คือ ความเห็นแก่ตัว ของดิฉันเองค่ะ ทำอย่างไรดีคะ ถึงจะลดลงบ้าง"

จับ "สักกายะ" ที่ยังหลงต้องมี แล้วเลิกให้ได้ นี่แหละคือการเริ่มลดละที่ "ของกู" บางคนเริ่มที่ "ตัวกู" ก่อน ไม่สนใจลดละ "ของกู" จึงเหมือนการปฏิบัติผิดขั้นตอน จึงยากจะสำเร็จ จุ๊ย์ๆๆ


อานิสงส์แห่งการประชุม
"การประชุมแต่ละครั้งเป็นการเรียนรู้สมมุติและปรมัตถ์ สมมุติเป็นการใช้ที่ประชุมให้เกิดประโยชน์ รู้สมมุติทำตามสมมุติ ปรมัตถ์เป็นการฝึกใจยอมรับตามมติของกลุ่ม ฝึกการนำสมมุติและ ปรมัตถ์ มาใช้ให้ลงตัว"

หมายเหตุ คัดมาจากโอวาทสมณะบินบน ในการประชุมกลุ่มภูผาฟ้าน้ำ ครั้งที่ ๓/๒๕๔๗ ปีที่ ๒๓ วันที่ ๒๑ มี.ค. ๒๕๔๗ ณ พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ


หัดให้คะแนนตัวเอง
"ความอยากของมนุษย์นี่ละลายพฤติกรรมของตัวเองออกยากจริงๆ ซึ่งผมต้องพยายามทำศีลห้า ที่ตัวเองยึดถือให้บริสุทธิ์ครับ ต้องพยายาม ทุกวันนี้กินผักเพิ่มมากขึ้นครับ บางทีก็รู้สึกอายตัวเอง เหมือนกันครับ"
ญาติธรรมสุรศักดิ์ สุตะปัญญา (อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่) เล่าความในใจผ่านตัวอักษร วันนี้ลองให้ คะแนนตัวเองดู เพื่อความชัดเจนในกิเลสตัณหา
ศีลแต่ละข้อ คะแนนเต็ม ๑๐๐ ให้เท่าไหร่ อบายมุขแต่ละข้อให้เท่าไหร่ ลองประเมินดู เราจะชัดเจนตัวเองยิ่งขึ้น
คนไม่เคยค้นก้นถุง ว่าเหลือเท่าไหร่ นั่นแหละเขาเรียก ปฏิบัติแบบ "ดำน้ำ !" จุ๊ย์ๆๆ


บรรพบุรุษอโศก
การประชุมพาณิชย์บุญนิยม เมื่อปี ๒๕๔๗ พ่อท่านบอกไว้ โรงสีสมาคมผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งอยู่ที่ขอนแก่น เป็น "โรงสีบรรพชน" ขอให้ชาวอโศกทุกคนรับทราบ สาธุๆๆ


ธรรมะ.....ต้องไม่ใจร้อน (ไม่อภิชัปปา)
จากญาติธรรม แสงเพ็ญ อินตา (อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี) "ดิฉันปฏิบัติธรรมค่อนข้างช้า กว่าจะรู้จัก กับกิเลสแต่ละตัว อารมณ์แต่ละอารมณ์ เรียนรู้ยากและกว่าจะสลัดอารมณ์ออกได้ ก็คงต้องสู้ต่อ ท้อบ้างเหมือนกันค่ะ"

หากรู้ที่มาของกิเลส เราจะใจเย็นขึ้น ! เพราะมันก็สั่งสมยาวนานกว่าการเกิดของโลกใบนี้กี่ ล้านๆๆๆๆ ยกกำลังล้านอีกกี่ล้านก็ไม่รู้

เพราะฉะนั้น คนจะเอาเร็ว จึงเป็นคน"โลภจัด" ยังมีนิสัยติดมาจาก "คนเล่นหวย" (อยากได้อะไรมากๆ ลงทุนน้อยๆ)

เมื่อรู้เช่นนี้ จะได้ใจเย็นขึ้น สอบได้เป็นของตลก สอบตกเป็นของธรรมดา ข้อสำคัญ ท้อได้แต่ไม่ถอย ล้มแล้วต้องลุก มีความเพียรเป็นลมหายใจ สักวันเราจะชนะ วันนี้แพ้ไปก่อน ! จุ๊ย์ๆๆ


อโศกกับเศรษฐกิจพึ่งตน-เศรษฐกิจพอเพียง
พ่อท่านพาญาติธรรมฝึกใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่ติดยึดอบายมุข ไม่หลงใหลวัตถุ ไหนจะสอน ไหนจะแจก หนังสือรายเดือน ราย ๒ เดือน ปีแล้วปีเล่า

อัดฉีดโลกทัศน์ชีวทัศน์ให้แก่ญาติธรรมทุกๆคน จนเริ่มเอาตัวรอดได้ สามารถดำรงชีวิตที่ครบพร้อม ทั้งประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่านได้

จากญาติธรรม ประพันธ์ แสงประสิทธิ์ (อ.หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์) อาชีพเกษตรกร

"ผมก็ได้ทำเกษตรอินทรีย์ และก็ได้ทำปุ๋ยจุลินทรีย์ใช้เอง ได้นำไปใส่ต้นที่ปลูกไว้ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจดี ต้นไม้พืชผักก็ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี...."


เศรษฐกิจพึ่งตน
ชุมชนอโศกมีการผลิตยา ผลิตอาหารหลากหลาย แต่วันนี้ชุมชนยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากข้างนอกอยู่ เราจึงไม่สามารถประกาศ "ไร้สารพิษ" ได้อย่างแท้จริง

แต่ละชุมชนประกาศออกมาว่า ยังต้องการพืชพันธุ์ชนิดใด แล้วญาติธรรมก็ช่วยกันปลูก

ครั้งกระนั้นจึงจดจำได้ พ่อท่านพูดถึง งา, ประคำดีควาย, ถั่วงอก วันนี้ไปถึงไหนแล้ว ? จุ๊ย์ๆๆๆ

หมายเหตุ พลังบุญ, แด่ชีวิต ยังต้องการคนทำงาน โทร. ๐-๙๘๑๗-๐๗๐๗ ร.ร.ผู้นำก็ยังต้องการ โทร. ๐-๑๘๕๓-๕๐๐๐


ปฏิกิริยาต่ออโศก
จากญาติธรรม จ.อุบลราชธานี
"แล้วเรื่องพระเดินห้าง ก็เป็นประเด็นขึ้นมา สมณะของอโศกผมก็เคยเจอที่ห้างอยู่บ่อยๆ ก็เคยทักท้วง มาแล้วว่าไม่เหมาะสม

พรรคเพื่อฟ้าดิน จะส่งผู้สมัคร ส.ส. ในสมัยหน้า ผมว่าชื่อพรรคไม่เอื้อต่อการหาเสียงเลยนะครับ เพื่อฟ้า-ดิน ใครจะเลือก ชื่อพลังธรรม ยังดูดีกว่าเลย

อีกอย่างการที่ชาวอโศกเปลี่ยนชื่อนี่ ไม่ค่อยเข้าท่าเลย เหมือนกับการติดยึดกับชื่อ ต้องเป็นอะไรที่ เพื่อฟ้าดิน อย่างแซมดินอะไรอย่างนี้ ชื่อเดิมมันไม่ดีเป็นกาลกิณีหรือ ทำไมต้องเปลี่ยน ผู้สมัคร ส.ส. หากเปลี่ยนชื่อกันมาก บางทีพ่อ-แม่ตัวเองก็อาจจะไม่เลือกก็ได้ เพราะจำไม่ได้ อะไรกัน แซมดิน บ่ฮู้จัก....."


เมื่อศักดินาปฏิบัติธรรม !
"รู้ภาษาและความหมายของคำว่า ทุกข์ แล้วก็ต้องมาเรียนรู้ให้ญาณให้ปัญญาของเรา อ่านสภาวะ หรืออ่านอาการของทุกข์ในจิตใจของเราให้ออก ทุกข์ไม่ใช่อาการของท่อนไม้ ไม่ใช่อาการของ ก้อนหิน....."
ญาติธรรม บุญมา การะเกษ (อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี) ให้ข้อคิดทางธรรมมา
จิ้งจกก็เลยคิดต่อถึงนักปฏิบัติธรรมบางประเภท ที่กินอยู่สุขสบาย ไม่มีการลดละ ไม่มี
วิกาลโภชนา ไม่มีศีลสำรวม ไม่มีอินทรีย์สังวร
เน้นแต่การทำใจ-วางใจ-ปล่อยวาง
จัดการกับความคิดอย่างเดียว
ในชีวิตของคนเรา มีบางอย่างที่ต้อง "เลิก" บางอย่างต้อง "ลด" และบางอย่างต้อง "รู้เท่าทัน"
จึงจะครบพร้อม บันได ๓ ขั้นแห่งความสำเร็จ จุ๊ย์ๆๆ


เตือนสติญาติธรรม
จากญาติธรรม พรรษา กุลมาตย์ เตือนใจเตือนตนมาจากหลังสวน ชุมพร "การก่อตั้งหน่วย ต.อ. ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบสินค้าของชาวอโศกนั้น ด้านหนึ่งเป็นหลักประกันแก่ผู้บริโภค แต่อีกด้านหนึ่ง เป็นการแสดงชี้ให้เห็นว่า ผู้ผลิตยังไม่สามารถควบคุมคุณภาพด้วยตนเอง(ต.อ.)ได้ อย่างไรก็ตาม หน่วยตรวจสอบจะสามารถพบจุดบกพร่องเพียงบางส่วนเท่านั้น ผู้มีเล่ห์ร้ายลึก สามารถหาช่อง หลบเลี่ยงได้โดยไม่ยากเลย ในสังคมคนซื่ออย่างชาวอโศกที่แท้

ดังนั้นควรจัดอบรมอย่างเข้มงวดแก่ผู้ผลิตทุกส่วน นำทฤษฎี"ข้าวต้มปลากระพง" อัดลงให้ลึกถึง จิตวิญญาณ เพราะความฉ้อฉลมาจากจิตเป็นหลัก

ชาวอโศกในภาคเกษตรนั้น ส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย ทำงานด้วยศรัทธา ยามใดศรัทธาตก โลภะ จะเข้าครอบงำ จำต้องให้การศึกษาหาความรู้ เพื่อสร้างจินตนาการว่า ชะตากรรมของมนุษยชาติ
อยู่ที่กรรมของพวกเขาเท่านั้น บุญต้องมาจากการผลิตที่สัมมาเป็นสัมมาอาชีวะ ไม่ใช่ผลิตอย่างไรก็ได้ เพื่อหาเงินมาทำบุญ

วิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน ย่อมนำสู่จุดหมายปลายทางต่างกันอย่างแน่นอน

สุดท้าย ต้องเรียกร้องให้ผู้มีความรู้ลงมาทำการผลิตด้วย เพราะคนเราคิดอย่างไร ย่อมทำได้เท่านั้น มิฉะนั้นแล้ว สังคมในอุดมคติคงเป็นเพียงความฝันตลอดไป....."

วันนี้ใครเป็นตัวปัญหาในชุมชน รู้แล้วต้องรีบแก้ไข งานทุกงานต้องคิดถึงส่วนรวมเสมอๆ อโศกจึงจะ ไปรอด จุ๊ย์ๆๆ


ไฟเผาขยะ ตบะเผากิเลส
คุณน้าลำน้ำ :- เข้าพรรษานี้ได้มีโอกาสไปเข้าพรรษาที่ปฐมอโศก พักที่บ้านของกลุ่ม ได้ยินเด็ก เขาตั้งตบะกัน เราก็ทำของเราอยู่แล้ว คือ ๑. ตักอาหาร-กับข้าวไม่เกิน ๒ อย่าง ๒. อาบน้ำไม่เกิน ๗ ขัน ถ้าสระผม ๙ ขัน ๓. ฟังให้มากกว่าพูด

คุณป้าผ่องศรี :- ตั้งใจว่าวันอาทิตย์จะมาวัด ตบะอันนี้คงจะต้องตั้งต่อไปจนกว่าจะมาไม่ได้

คุณนิตยา :- ตั้งใจว่าจะสวดมนต์ใหญ่และอ่านหนังสือธรรมะ ก็ทำได้ตลอด แต่สวดมนต์ใหญ่ ทำได้อาทิตย์ละ ๓ วัน เข้าพรรษานี้ก็จะขอตั้งว่า จะพยายามสวดมนต์ใหญ่ให้มากกว่านี้เพิ่มอีก ๑ วัน และ จะพยายามเขียนหนังสือ

คุณประสพ :- เดือนที่แล้วตั้งละความโกรธ ก็ทำได้พอสมควร และวันหนึ่งจะกินข้าว ๒ มื้อ เดือนนี้ พิเศษ ต่อไปจะกินมื้อเดียว เริ่มทำตั้งแต่ก่อนเข้าพรรษา ทำได้แล้ว

คุณ... :- จะพยายามมาวัดให้มากขึ้นในเข้าพรรษานี้ และของดน้ำอัดลม

หมายเหตุ ที่นี่รับแจ้งความตบะเก่าๆ แม้จะผ่านไปแล้วก็ตาม

จิ้งจกส์

คติประจำเดือนนี้
จงเรียนรู้ให้ถูกชัด
จงหัดทำให้ดีสุด
จงฝึกหยุดให้ได้เด็ด

- สารอโศก อันดับที่ ๒๗๘ ธันวาคม ๒๕๔๗ -