กรรมตามสนอง

กรรมนี้มีกฎ
กำหนดส่งผล
ดีชั่วรวยจน
ไม่พ้นกฎกรรม

"กรรม" แปลว่า "การกระทำ"
ทั้งมนุษย์และสัตว์ทั้งหมด ที่มีชีวิตเกิดมาในโลกจึงต้องมี "กรรม" พร้อมๆกับ "ผลกรรม" คู่กันไป มีทั้งกรรมเก่าและกรรมใหม่ สืบต่อสัมพันธ์กัน ไม่มีใครเลย ที่จะไม่กระทำ "กรรม" เอาไว้ ถ้าทำ "กรรมดี" ไว้ ก็จะได้ "ผลกรรมดี" สนองหนุน ถ้าทำ "กรรมชั่ว" ไว้ ก็จะไม่พ้น "ผลกรรมชั่ว" ตอบคืน ผลกรรมดี-ชั่วนี้จะผูกติดตัวเราไปตลอดชีวิตทุกๆชาติ เสมือน "เงา" ที่ติดตามตัวเราไปทุกหนทุกแห่ง แม้แต่ สุดยอดคน ระดับ "พระพุทธเจ้า" ก็ไม่อาจหลบพ้นไปจากผลกรรมบาป-บุญที่พระองค์ ทรงเคยกระทำ เอาไว้ในอดีตเช่นกัน สมจริงดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
"สัตว์โลกทั้งหลาย ย่อมเป็นไปตามกรรมของตน"




พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นนายกของโลก แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก ประทับนั่ง อยู่ที่พื้นหิน อันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ในละแวกป่าอันมีกลิ่นหอม จากพืช นานาพันธุ์ ใกล้ๆกับสระอโนดาด

ทรงแสดงชี้แจงบุพพกรรม(กรรมในอดีต)ทั้งหลาย ที่ส่งผลร้ายให้แก่พระองค์ แม้ในชาติปัจจุบัน จะตรัสรู้เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ตาม ทรงเล่าว่า....

หิวกระหายน้ำ
"ในกาลก่อน เราเคยเป็นนายโคบาล ต้อนฝูงโคไปเลี้ยง ได้เห็นแม่โคตัวหนึ่ง กำลังดื่ม น้ำขุ่นมัวอยู่ จึงตรงเข้าไล่ห้ามกั้นมันไว้ ไม่ให้ได้ดื่มน้ำนั้น

ด้วยผลแห่งกรรม(บาป)นั้นเอง แม้ในภพสุดท้ายนี้(ภพที่เป็นพระพุทธเจ้านี้เอง) เราก็ต้องหิวกระหายน้ำ ไม่ได้ดื่มน้ำในเวลาที่ต้องการจะดื่ม ต้องเสียเวลาเนิ่นช้าอยู่
เรื่องมีอยู่ว่า....

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสวยภัตตาหารสุกรมัททวะ(อาหารที่ปรุงด้วยเห็ดชนิดที่หมูชอบกิน) ของ
นายจุนท กัมมารบุตรแล้ว ก็เกิดอาพาธอย่างรุนแรง มีทุกขเวทนากล้า อันเกิดจาก การประชวรลงพระโลหิต ใกล้จะปรินิพพาน พระองค์จึงทรงตั้งพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้น ทุกขเวทนาเอาไว้ มิได้ทรงพรั่นพรึงใดๆเลย แล้วตรัสเรียก พระอานนท์มารับสั่งว่า

"มา! ไปกันเถิดอานนท์ เราจะไปยังเมืองกุสินารา"

ในระหว่างทางนั้นเอง ได้เสด็จแวะลงข้างทาง เสด็จเข้าไปยังโคนไม้ต้นหนึ่ง แล้วรับสั่งว่า

"ดูก่อนอานนท์ เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็นสี่ชั้นให้เรา เราเหน็ดเหนื่อยนัก เราจะนั่งพักที่ตรงนี้"

ครั้นพระอานนท์ปูผ้าเสร็จ พระผู้มี-พระภาคก็ทรงประทับนั่งบนอาสนะนั้น แล้วรับสั่งอีกว่า

"เธอจงช่วยไปหาน้ำมาให้เรา เรากระหายยิ่งนัก เราจะดื่มน้ำ"

แต่พอพระองค์ตรัสอย่างนี้แล้ว พระ-อานนท์กลับกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อกี้นี้เอง เกวียนประมาณถึง ๕๐๐ เล่ม แล่นข้ามแม่น้ำน้อย นั้นไป แม่น้ำถูกล้อเกวียนบดย่ำแล้ว ย่อมขุ่นมัวไปทั่ว จะมีก็แต่แม่น้ำกกุธานที ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก จึงจะมีน้ำใส จืด เย็น สะอาด มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ พอที่จะทรงดื่มน้ำ ในแม่น้ำนั้นได้ และจะทรงสรงสนาน พระองค์ได้อีกด้วย คงต้องทรงรอไปให้ถึงแม่น้ำนั้นก่อนเถิด"

แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระหายน้ำยิ่งนัก ยังทรงกล่าวกับพระอานนท์ให้ไปตักน้ำ ที่แม่น้ำน้อย นั้นอีก เป็นครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สองนี้ พระอานนท์ก็ยังคงกล่าวกับ พระผู้มีพระภาคเจ้า เช่นเดิม อีกเหมือนกัน

จนกระทั่งพระพุทธองค์ต้องตรัสด้วยความกระหายน้ำอีก ให้พระอานนท์ ไปตักน้ำมาเป็นครั้งที่สาม พระอานนท์จึงต้องทูลรับพระดำรัส แล้วถือบาตร ไปยังแม่น้ำน้อยนั้น

แม่น้ำน้อยนั้น เพิ่งถูกล้อเกวียนบด และโคย่ำผ่านไปน้ำจึงไหลอยู่ด้วยความขุ่นมัว แต่พอพระอานนท์ เข้าไปใกล้แม่น้ำเท่านั้น น้ำกลับพลันใสสะอาด ไหลไป อย่างไม่ขุ่นมัวเลย พระอานนท์จึงตักน้ำ ด้วยบาตร แล้วนำมาถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมกับกราบทูลว่า

"น่าอัศจรรย์หนอ เหตุไม่เคยเป็นมา ได้เป็นแล้ว ความที่พระตถาคตเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เมื่อกี้นี้เองน้ำขุ่นมัวไหลไปอยู่ แต่พอข้าพระองค์เข้าไปใกล้ แม่น้ำ กลับใสสะอาดไม่ขุ่นมัวเลย ขอพระผู้มีพระภาคจงเสวยน้ำเถิด ขอพระสุคต จงเสวยน้ำเถิด"

กว่าพระพุทธองค์จะได้เสวยน้ำนั้น จึงต้องทรงหิวกระหายอยู่เนิ่นช้าดังนี้.

(พระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ ข้อ ๓๙๒ "พุทธาปทาน"
พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๑๑๘ "มหาปรินิพพานสูตร")



กินอาหารหยาบ
"เราได้เคยบริภาษ(ด่าว่า)พระสาวกทั้งหลาย ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ผุสสะ ว่าพวกท่านเหล่านี้จงเคี้ยว จงกินแต่ข้าวแดงเถอะ อย่าคิดมากินข้าวสาลีเลย

ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น พราหมณ์ได้นิมนต์เราให้อยู่ในเมืองเวรัญชา เราได้ฉันแต่ข้าวแดง ตลอด ๓ เดือนนั้น"
เรื่องมีอยู่ว่า....

เวรัญชพราหมณ์ ได้นิมนต์ให้พระผู้มีพระภาคอยู่จำพรรษาที่เมืองเวรัญชา แต่ตลอด ๓ เดือนนั้น เพราะเวรัญชพราหมณ์มีกิจมากธุระมาก จึงไม่ได้ไปถวายข้าวของทำบุญใดๆ แด่พระผู้มีพระภาคเลย

ในช่วงเข้าพรรษานั้นเอง เมืองเวรัญชาก็เกิดทุพภิกขภัยอาหารขาดแคลน ถึงกับต้อง มีสลาก ในการซื้อ อาหาร ประชาชนหาเลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง มีผู้คนล้มตายเกลื่อน เป็นจำนวนมาก

แม้ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพ(ชีวิต) ให้เป็นไปด้วยการบิณฑบาต ก็กระทำไม่ได้ง่าย เมื่อไม่ได้อาหารใดๆ จากชาวเมืองเวรัญชาเลย ก็ต้องเที่ยวบิณฑบาตไปที่คอกม้า ของพ่อค้าม้าชาวอุตราปถะ ซึ่งเลี้ยงม้าไว้ ประมาณ ๕๐๐ ตัว พวกเขาได้มาพักแรม ตลอดฤดูฝน ในเมืองเวรัญชานั้นเอง

พ่อค้าม้าเหล่านี้ จะตระเตรียมข้าวแดงเอาไว้ สำหรับใส่บาตรภิกษุรูปละแล่ง ดังนั้น ภิกษุทั้งหลาย จึงได้ข้าวแดงมารูปละแล่งจากที่คอกม้านั้น แล้วนำกลับไปสู่อาราม ค่อยลงครกโขลกแล้วจึงขบฉัน

แม้พระอานนท์ก็ได้บดข้าวแดงนั้น น้อมเข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขณะที่เสวยพระกระยาหาร ที่บดถวายนั้นเองก็ทรงได้ยินเสียงครกโขลกดังอยู่ จึงตรัสถามพระอานนท์ว่า
"อานนท์! นั่นเสียงโขลกครก หรือหนอ"

พระอานนท์จึงกราบทูลเรื่องการขาดแคลนอาหาร การได้ข้าวแดงที่แข็งหยาบจากพ่อค้าม้า เหล่าภิกษุ จึงต้องนำข้าวแดงนั้นมาโขลกฉัน พระผู้มีพระภาคทรงสดับแล้ว ก็ตรัสสรรเสริญว่า

"สาธุ! สาธุ! อานนท์ พวกเธอเป็นสัตบุรุษ(คนมีสัมมาทิฐิ)ผู้ชนะวิเศษดีแล้ว จึงฉันอาหาร เช่นนี้ได้ ต่อไปพวกเพื่อนพรหมจารี(ผู้ประพฤติธรรม)รุ่นหลัง จะได้ดูหมิ่นข้าวสาลี และข้าวสุกอันระคนด้วยเนื้อ"

ตลอดพรรษานั้นเอง พระผู้มีพระภาคจึงต้องฉันแต่ข้าวแดงแข็งหยาบนั้น เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงได้เสด็จ จาริกไปยังเมืองท่าปยาคะ ข้ามแม่น้ำคงคามุ่งสู่พระนครพาราณสี

(พระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ ข้อ ๓๙๒ "พุทธาปทาน"
พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๕ "เวรัญชกัณฑ์")



ไฟไหม้ผิวหนัง
"ในกาลก่อน เราตถาคตเคยได้เป็นนายทัพทหารราบ ทั้งออกคำสั่ง ทั้งต้องฆ่าศัตรู เป็นจำนวนมาก ด้วยหอก

ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เราต้องถูกไฟไหม้อย่างเผ็ดร้อนในนรก

และด้วยผลอันเหลือแห่งกรรมนั้น บัดนี้ไฟนั้นยังตามมา ไหม้ผิวหนังที่เท้าของเราอีก ก็เพราะ หนี้กรรมนั้น เรายังชดใช้ไม่หมดนั่นเอง"
(พระไตรปิฎก เล่ม ๓๒ ข้อ ๓๙๒ "พุทธาปทาน")



จ็บปวดหลัง
"เมื่อครั้งที่เราเป็นนักมวย กำลังต่อสู้กันอยู่ เราได้ทำร้ายบุตรของนักมวยปล้ำบาดเจ็บ
ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ความทุกข์ที่เจ็บปวดหลัง จึงได้เกิดมีขึ้นแก่เรา"
(พระไตรปิฎก เล่ม ๓๒ ข้อ ๓๙๒ "พุทธาปทาน")



เป็นโรคบิด
"กาลก่อนเราเคยเป็นหมอรักษาโรค ได้ลงมือถ่ายยาให้แก่บุตรเศรษฐี คนหนึ่ง แต่ได้กระทำให้เขา ถึงแก่ความตายไป

ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น โรคปักขันทิกาพาธ(โรคบิดท้องร่วง) จึงปรากฏมีแก่เรา"
(พระไตรปิฎก เล่ม ๓๒ ข้อ ๓๙๒ "พุทธาปทาน")

บางส่วนจากหนังสือ..."ผลบุญ-ผลบาปติดตามพระพุทธเจ้า"

- สารอโศก อันดับที่ ๒๗๘ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๗ -