หน้า ๔
ซับขวัญชาวใต้



๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ นับเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของโลก ที่ผู้คนหลายเชื้อชาติ ต้องจบชีวิตลง มากมายเป็นเรือนแสน เพราะธรณีพิบัติภัยสึนามิ และเป็นประวัติศาสตร์ ของประเทศไทยเช่นกัน ที่ชีวิตและทรัพย์สิน ของพี่น้องชาวไทย ทางภาคใต้ ต้องสูญเสีย มากมายมหาศาล โดยเฉพาะที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นพื้นที่ที่เสียหาย มากที่สุด ผู้คนใน พ.ศ.๒๕๔๘ ต้องจดจำถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้

และเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของชาวอโศกในการธรรมยาตราไปยัง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ระหว่าง วันที่ ๑๐-๒๐ ม.ค. ๒๕๔๘ เป็นกองทัพธรรมขบวนใหญ่ที่สุด จำนวน ๘๕๖ คน โดยรถบัส ๑๒ คัน และรถอื่นๆ อีกสิบกว่าคัน มีพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ที่เปรียบเสมือนเป็นแม่ทัพใหญ่ด้าน จิตวิญญาณ นำสมณะ-สิกขมาตุ-กรัก-ปะ-ญาติธรรม ทั่วประเทศ และนักเรียนสัมมาสิกขา เพื่อไปขอแบ่งปัน ความทุกข์ของพี่น้องชาวใต้ ผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ ในโครงการ "ซับขวัญ"ชาวใต้ ในนามของสถาบัน บุญนิยม ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนา พลังแผ่นดิน เชิงคุณธรรม หรือเรียกสั้นๆว่า ศูนย์คุณธรรมฯ ซึ่ง พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นประธานกรรมการ

โครงการนี้เริ่มประชุมครั้งแรกในงานปีใหม่ตลาดอาริยะ'๔๘ เมื่อวันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๔๘ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ เฮือนศูนย์สูญ หมู่บ้านราชธานีอโศก จ.อุบลฯ โดยมีพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ เป็นประธาน ตกลงเรื่อง พาหนะการเดินทาง กำหนดจำนวนนักบวช และฆราวาส ระยะเวลาของการดำเนินการ

ประชุมครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๕ ม.ค. ๒๕๔๘ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่พุทธสถานสันติอโศก พูดถึง รายละเอียด ของการดำเนินการ ให้แต่ละแห่ง ตั้งกรรมการเฉพาะกิจ ประกอบด้วย สมณะ-สิกขมาตุ-ญาติธรรม เพื่อคัดกรอง ผู้ที่จะไปร่วมซับขวัญ เนื่องจากจำนวน ผู้ที่ประสงค์จะไป มากกว่าจำนวนรถบัส ที่จัดเตรียมไว้ และงานนี้ไม่สะดวก ในเรื่องของสถานที่ ความเป็นอยู่ ผู้ไปจึงจำเป็นต้องมีสุขภาพกาย และใจที่แข็งแรง พร้อมที่จะเผชิญกับความลำบากทุกเมื่อ

ระหว่างวันที่ ๓, ๔, ๖ ม.ค. สมณะและญาติธรรมกลุ่มเล็กๆ เป็นเสมือนหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ทยอย เดินทาง ล่วงหน้าไปที่ อ.ตะกั่วป่า เพื่อสำรวจพื้นที่, หาข้อมูลเบื้องต้นในการทำงาน, เตรียมสถานที่ และอาหาร ไว้รองรับขบวนใหญ่ที่จะลงมาในวันที่ ๑๑ ม.ค. โดยจัดไว้ที่ วัดบางมรวน อ.ตะกั่วป่า

๙ ม.ค. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประธานกรรมการศูนย์คุณธรรม ให้สัมภาษณ์ ทางสถานีวิทยุ กระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ช่วงข่าว ๗ โมงเช้า ว่า พระและญาติธรรม จะธรรมยาตราสู่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ในโครงการซับขวัญชาวใต้ เพื่อเยียวยาจิตใจผู้ประสบ ธรณีพิบัติภัย

๑๐ ม.ค. เวลา ๑๔.๐๐ น. ญาติธรรมพร้อมกันที่พุทธสถานปฐมอโศก จ.นครปฐม ฟังปฐมนิเทศ จากพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ก่อนออกเดินทางว่า ...."พวกเราไปกันมาก ขนาดนี้ ต้องระมัดระวัง ในความต่าง ความยึดถือ ที่ต่างกัน ต้องปฏิบัติธรรม อย่างสำคัญ ถือเป็นการสอบไล่ด้านพฤติกรรม อย่าไประแหง แตกแยกเป็นอันขาด ใช้คารโว นิวาโต อหิงสา อโหสิ สังวรระวัง เก็บไม้เก็บมือ ไม่ใส่รองเท้า ไม่ซื้อของกินตามมินิมาร์ท เมื่อรถจอด เข้าห้องน้ำตามปั๊มน้ำมัน ติดบัตรของสถาบัน บุญนิยม และเตือนว่า ๑. เราจะไปลำบาก ถ้าไปแล้วไม่เกิดประโยชน์ถือว่าเราใช้ไม่ได้ ๒. ระมัดระวัง เรื่องกลิ่นตัว และกลิ่นเหม็น ของเสื้อผ้า ๓. ให้สำเหนียก สังวร ระวัง ๔. ฟังกัน เคารพเสียงส่วนใหญ่ ถึงแม้เราจะเห็นขัดแย้ง ๕. อย่าดูดาย"

๑๖.๐๐ น. ผู้โดยสารเดินแถวไปขึ้นรถบัสเดินทางสู่ อ.ตะกั่วป่า ได้รับความอนุเคราะห์จาก ตำรวจ ทางหลวง ขับรถนำขบวน และปิดท้าย สำหรับรถบัสและรถเล็ก ที่ไปร่วมงาน จะติดป้ายผ้าไว้ข้างรถว่า สถาบันบุญนิยม ซับขวัญชาวใต้ สนับสนุนโดย ศูนย์คุณธรรมฯ

สำหรับพ่อท่าน-สมณะ ๕๓ รูป, สิกขมาตุ ๑๕ รูป ช่างภาพ ๒ คน และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง รวม ๗๑ ท่าน ได้รับความอนุเคราะห์ จากกระทรวงคมนาคม ให้โดยสารเครื่องบิน การบินไทย เที่ยวบิน TG ๒๐๓ วันที่ ๑๑ ม.ค.

ตลอดการเดินทางของพวกเรา ๗๐๐ กว่าชีวิต สามารถทำเวลาได้ดี การแวะจอด ตามปั๊มเพื่อ เข้าห้องน้ำ ไม่มีใคร เข้าไปซื้อของในมินิมาร์ท

 

๑๑ ม.ค. เวลาประมาณ ๐๗.๓๐ น. รถทุกคันเดินทางถึงวัดบางมรวน เข้าที่พักปักกลด กางเต็นท์ เป็นที่เรียบร้อย หลังจากรับประทาน อาหารเสร็จแล้ว รถแต่ละคัน พาญาติธรรมไปดูสถานที่ต่างๆ ที่ประสบ ธรณีพิบัติภัย โดยผู้ที่เข้าพื้นที่ล่วงหน้า ทำหน้าที่ ให้คำอธิบายประจำรถแต่ละคัน ที่วัด บางมรวนมีโลงศพ ที่ยังไม่ได้ใช้วางซ้อนกัน เป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่สามารถบรรจุศพได้ เพราะลักษณะของศพขึ้นอืด เจ้าหน้าที่ จึงใช้ผ้าห่อศพแล้วใส่ถุง ฝังไว้ชั่วคราว ที่ป่าช้า วัดบางมรวน ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับวัดบางมรวน เพื่อรอญาติมารับศพต่อไป

๑๔.๐๐ น. ประชุมพร้อมกันที่ศาลาวัดบางมรวน พ่อท่านเป็นประธาน เน้นว่า เรามาช่วยด้าน จิตวิญญาณ ของผู้ประสบภัย และที่ประชุมมีมติ ย้ายศูนย์อำนวยการ ไปอยู่ที่สวนสาธารณะ อุทยาน พระนารายณ์ ซึ่งดูเหมาะสมกว่า และสะดวก ในการทำงาน แม้ว่าพวกเราจะได้กางกลด และ กางเต็นท์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่พวกเราก็เก็บกลด เก็บเต็นท์ ย้ายไปที่ อุทยานพระนารายณ์ ด้วยความพร้อมเพรียง หลายคนประทับใจพวกเราที่พร้อมจะปรับเปลี่ยน อยู่ตลอดเวลา ไม่ยึดมั่น ถือมั่น สำหรับกลุ่มศีรษะอโศก และเครือข่าย อยู่ทำอาหารมื้อเย็น

การเคลื่อนย้ายครั้งนี้ พ่อท่าน สมณะ สิกขมาตุ กรัก และปะ เดินนำขบวนธรรมยาตรา ตามลำดับ แล้วต่อด้วย ญาติธรรม จาก ร.ร.ตะกั่วป่า"เสนานุกูล" ไปยังอุทยาน พระนารายณ์ ด้วยอาการสงบ สำรวม เห็นแล้วมีพลัง ขบวนแถว ยาวเหยียด เป็นภาพ ที่ตรึงสายตา ผู้ที่พบเห็น หลายคนหยุดมอง ด้วยศรัทธา น.ส.พ.มติชนรายวัน ได้ลงภาพธรรมยาตราดังกล่าว ในฉบับวันที่ ๑๓ ม.ค. บรรยาย ใต้ภาพว่า "ญาติธรรม คาราวานญาติธรรม นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เดินทางถึง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เพื่อเยียวยาจิตใจ ผู้สูญเสียจากเหตุคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ ๑๑ ม.ค."

สำหรับกิจกรรมระหว่างวันที่ ๑๒-๑๙ ม.ค. ที่ศูนย์พระนารายณ์ มีดังนี้
๐๔.๐๐-๐๕.๓๐ น. ทำวัตรเช้าโดยพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ก่อนแสดงธรรม จะนั่งเจโตสมถะ ๑๐ นาที
๐๖.๓๐ น. พ่อท่าน-สมณะ-สิกขมาตุ ออกบิณฑบาต ญาติธรรมเดินธรรมยาตรา ตามหลัง สายบิณฑบาตทุกสาย ชาวบ้านออกมา ทำบุญตักบาตร เป็นจำนวนมาก บางคนบอกว่าตั้งแต่เกิด สึนามิ เขาไม่มีโอกาส ได้ทำบุญตักบาตรเลย บ้างก็ใส่เงิน ใส่อาหารเนื้อสัตว์ ใส่ดอกไม้ ซึ่งพ่อท่าน หรือสมณะ ที่นำแถวบิณฑบาต ก็ให้คำอธิบาย ถึงปฏิปทา ข้อวัตรของชาวอโศก ที่ไม่รับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ ของพุทธศาสนิกชน ที่นี่ (ยกเว้นวันที่ ๑๙ พ่อท่านนำหมู่สมณะ ไปบิณฑบาต ที่หมู่บ้านน้ำเค็ม)
๑๒.๐๐ น. หยุดสันติภาพ ๑ นาที
๑๙.๐๐-๒๑.๐๐ น. ตัวแทนแต่ละศูนย์ร่วมสรุปงานที่ศูนย์พระนารายณ์ (ยกเว้นวันที่ ๑๘ สรุปงาน ที่ศูนย์บางม่วง)

๑๒ ม.ค. แกนนำพุทธสถาน-สังฆสถานต่างๆประชุมตกลงเรื่องการทำงาน-แบ่งกลุ่ม-จำนวนผู้ที่ จะไปทำงาน ตามศูนย์ ผู้ประสบธรณีพิบัติภัย ๘ ศูนย์ โดยมีสมณะ-สิกขมาตุ-ญาติธรรม-นักเรียน สัมมาสิกขา ของแต่ละ พุทธสถาน -สังฆสถาน ไปลงพื้นที่ดังกล่าว ดังนี้
๑. ศูนย์พระนารายณ์ เป็นกองอำนวยการกลาง เป็นโรงครัวกลาง โดยผู้ปฏิบัติงานจากทั่วประเทศ
๒. ศูนย์บางม่วง พุทธสถานปฐมอโศก, ศีรษะอโศก, สีมาอโศก
๓. ศูนย์บ่อหิน พุทธสถานศาลีอโศกและเครือข่าย
๔. ศูนย์ปากวีป พุทธสถานราชธานีอโศก
๕. ศูนย์คึกคัก พุทธสถานสันติอโศกและเครือข่าย
๖. ศูนย์บางเนียง ชุมชนสวนส่างฝัน, ร้อยเอ็ดอโศก
๗. ศูนย์บนไร่ สังฆสถานหินผาฟ้าน้ำ, ขอนแก่น, ดินหนองแดนเหนือ, เลไลย์อโศก
๘. ศูนย์วัดบางมรวน พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ

และยังมีช่างตัดผมที่มารวมตัวกัน ๒๓ คน หมุนเวียนไปตัดผมให้กับผู้ประสบภัยตามศูนย์ต่างๆ ซึ่งได้รับความสนใจมาก ตัดกันจนแทบ ไม่มีเวลากินข้าว รวมทั้งหมดตัดได้ประมาณ ๑,๕๘๓ คน หลังรับประทานอาหาร แกนนำ-ผู้ประสานงาน เดินทางเข้าพื้นที่ ศูนย์ต่างๆ เพื่อเตรียมวางแผน การทำงาน ก่อนเข้าพื้นที่ในวันพรุ่งนี้

๑๙.๐๐-๒๑.๐๐ น. แกนนำ-ผู้ประสานงานสรุปปัญหา, กิจกรรม และกำหนดเข้าพื้นที่ วันที่ ๑๓ ม.ค. หลังรับประทานอาหาร และมีข้อตกลง -กิจกรรมดังนี้

- หากมีคำถามที่เกี่ยวกับการมาซับขวัญครั้งนี้ก็ให้ตอบในแนวเดียวกัน ๑.นี่คืออะไร? ก็ให้ตอบว่า พวกเราเป็นนักปฏิบัติธรรม มาธรรมยาตรา ทั้งฆราวาส และนักบวชชายหญิง ๒.มาทำไม? เราจะมา ขอแบ่งปัน ความทุกข์กับผู้ที่ได้รับภัยในครั้งนี้ มาแสดงความเห็นใจ ๓.มาจากไหน? มาจากทั่วประเทศ มารวมกัน และการทำงานครั้งนี้ เราจะต้องเป็นผู้ฟัง มากกว่าเป็นผู้พูด ให้ระมัดระวังคำพูด ไม่ถามถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น เพราะจะเหมือน ตอกย้ำความเศร้าโศก -เจ็บปวด ของผู้ประสบภัย

- สำหรับกิจกรรมในเบื้องต้นที่แต่ละศูนย์กำหนดไว้ คือ การใช้วิถีชีวิตอย่างเรียบง่าย กินง่าย อยู่ง่าย อันเป็นปกติ ของพวกเรา เช่น ทำวัตรเช้า บิณฑบาต เดินธรรมยาตรา การเก็บขยะ ขัดส้วม แพทย์แผนไทย (นวด-กดจุด-ประคบ) ทำวัตรเย็น ประสานสัมพันธ์ กับผู้ประสบภัย โดยเน้น การทำงาน ด้านจิตวิญญาณ ของผู้ประสบภัย มากกว่าด้านวัตถุ รับฟังความทุกข์ ทางใจ ของผู้ประสบภัย

- ศูนย์พระนารายณ์รับผิดชอบเรื่องอาหารแล้วแบ่งไปให้ศูนย์ต่างๆ

- ศูนย์บางม่วง กรมสุขภาพจิตได้มาประสานว่า หากพบผู้ประสบภัยที่จิตใจไม่ปกติ ขอให้ส่ง ไปพบ จิตแพทย์ได้ทันที

- ศูนย์บางเนียง ยังเข้าพื้นที่ไม่ได้ ไม่ได้รับความร่วมมือจาก อบต.ผู้รับผิดชอบ

- ศูนย์บางมรวน ชาวบ้านไม่ได้ประสบภัยจากสึนามิ แต่ประสบภัยจากคลื่นอุปาทาน เรื่องกลัวผี เนื่องจากป่าช้า วัดบางมรวน มีศพมาฝังเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้าน ไม่กล้าออกจากบ้านหลัง ๕ โมงเย็น และการย้ายกองอำนวยการ ไปที่ศูนย์พระนารายณ์ ทำให้ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านบางส่วน ปรับใจไม่ทัน เกิดความไม่พอใจ สมณะ และญาติธรรม จึงอยู่ประสานใจ กับชาวบ้าน โดยการสอน หนังสือนักเรียนที่ ร.ร.วัดบางมรวน และให้สัมมาทิฐิเรื่องผี สนทนาธรรมตามบ้าน และบางส่วน จะไปปักกลด ที่ป่าช้าทุกคืน

๑๓ ม.ค. ๐๖.๔๕ น. สถานีโทรทัศน์ iTV ถ่ายทอดสด สัมภาษณ์ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ การเดิน บิณฑบาต ของสมณะ-สิกขมาตุ

ศูนย์บางม่วง เป็นศูนย์ผู้ประสบภัยที่ใหญ่ที่สุด ศูนย์นี้สมณะ สิกขมาตุ ญาติธรรม และนักเรียน สัมมาสิกขา ได้เข้าพื้นที่ ไปดำเนินงานตั้งแต่เช้า และ iTV ถ่ายกิจกรรม ต่างๆในเวลา ๐๙.๐๐ น. แล้วออกอากาศในข่าวตอนเที่ยง

ที่ศูนย์พระนารายณ์ หลังรับประทานอาหาร แต่ละศูนย์ที่แบ่งกันไว้เดินทางเข้าพื้นที่ โดยมี หนังสือจาก ศูนย์คุณธรรม โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ถึงเจ้าหน้าที่ศูนย์ต่างๆ ขอความร่วมมือ ที่เครือข่าย ชุมชนชาวพุทธจากสถาบันบุญนิยม เดินทางเพื่อ เข้ามาช่วยบรรเทา ความทุกข์ทางใจ จากเหตุการณ์ ดังกล่าว

๑๓.๐๐ น. พ่อท่านเดินทางเยี่ยมเยียน รับฟังปัญหา และดูแลความเรียบร้อย ตามศูนย์ต่างๆ

สรุปงาน
- ศูนย์บางเนียง ประสานกับผู้รับผิดชอบได้แล้ว จะเข้าพื้นที่ในวันพรุ่งนี้
- ศูนย์คึกคักขุดบ่อน้ำใช้เอง ตัดไม้ไผ่มาทำโต๊ะ
- สถานีวิทยุ สวท.ตะกั่วป่า รายการธรรมยาตรา สัมภาษณ์สดสมณะที่ปักกลดอยู่ที่ป่าช้า
- เนื่องจากแต่ละศูนย์ขาดอุปกรณ์ เช่น โต๊ะทำงาน ชั้นวางของ เตียงนวดผู้ป่วย จึงขอยืมโลงศพ จากวัดบางมรวน ๔๐ โลง มาดัดแปลงเพื่อใช้งาน

๑๔ ม.ค. สรุปงาน
- แต่ละศูนย์ตั้งกรรมการ ๕ คนประชุมกับสมณะ-สิกขมาตุ แล้วใช้มติ ๓ ใน ๕ สามารถตกลง ทำกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ โดยไม่ต้องผ่านกองอำนวยการกลาง

- ศูนย์คึกคักเปิดโรงบุญฯเป็นศูนย์แรก ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่มาใช้บริการคับคั่ง

- ศูนย์ปากวีป คุณครูมาเชิญพวกเราให้ไปสอนหนังสือเด็กน.ร.ชั้น ป.๑-๖ แทน เนื่องจาก คุณครู ไม่มีเวลา ต้องคอยรับแขก ที่มาเยี่ยมเยียน ช่วงทำวัตรเย็น มีชาวบ้าน และทหาร ที่มาช่วยผู้ประสบภัย มาร่วมด้วย

- ศูนย์บางม่วง เจ้าหน้าที่และผู้ประสบภัยประทับใจที่พวกเราขัดส้วมและเก็บขยะจนสะอาด เรียบร้อย

- แต่ละศูนย์ทำอาหารรับประทานเองและแจกโรงบุญ

- คุณชูศักดิ์ ญาติธรรมปฐมอโศก ไปติดตั้งเครื่องขยายลำโพงตามศูนย์ต่างๆ เพื่อถ่ายทอด การแสดงธรรม ในช่วงทำวัตรเช้า ยกเว้นศูนย์บางเนียง

๑๕ ม.ค. เริ่มถ่ายทอดสดการแสดงธรรมในช่วงทำวัตรเช้าจากศูนย์พระนารายณ์ไปตามศูนย์ ผู้ประสบภัย ทั้ง ๖ ศูนย์ และพุทธสถาน สันติฯ, ราชธานีฯ, ปฐมฯ, ศาลีฯ และสังฆสถาน ทักษิณอโศก

ประมาณ ๑๖.๐๐ น. พ่อท่านเดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบภัยหมู่บ้านเกาะพระทองและแสดงธรรม

สรุปงาน
- กำหนดการถอนกำลังออกจากศูนย์ต่างๆ วันที่ ๑๙ ม.ค. หลังรับประทานอาหาร
- ศูนย์บางเนียงเพิ่งทำงานเป็นวันแรก เป็นศูนย์ที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เริ่มงาน บิณฑบาต ธรรมยาตรา แพทย์แผนไทย สาธิตการทำขนมเคอร์รี่พั๊ฟ น้ำยาล้างจาน -ซักผ้า
- ศูนย์ปากวีป ชาวบ้านไปเก็บผักหวานมาให้, ทหารราบที่เข้ามาปฏิบัติภารกิจ นิมนต์สมณะ แสดงธรรม
- ศูนย์บางม่วง สาธิตการทำปาท่องโก๋-น้ำเต้าหู้ มีผู้ประสบภัยมาชมและร่วมทำพอสมควร
- ศูนย์บ่อหิน ผู้ประสบภัยไม่ขาดแคลนวัตถุแต่ต้องการกำลังใจ มีการสาธิตทำเคอร์รี่พั๊ฟ ผู้ประสบภัย สนใจมาร่วมทำด้วย จนรู้สึกสบายใจ จึงมีการขนานนามกันว่า คหกรรมบำบัด

๑๖ ม.ค. ญาติบางส่วนจากศูนย์ต่างๆไปร่วมทำบุญใหญ่ที่วัดบางมรวน โดยมีพ่อท่าน และ สมณะ เพาะพุทธ จันทเสฏโฐ แสดงธรรม มูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อนนำซีดี "สูญเสียไม่เสียศูนย์" มาแจก

ผู้ใหญ่บ้านบางมรวนเปิดใจว่า ตอนแรกที่เราย้ายออกรู้สึกไม่พอใจ แต่เมื่อได้มา ฟังเทศน์ใน วันนี้แล้ว รู้สึกว่าตนเองโชคดี ที่ได้มีโอกาสฟังธรรม จากพ่อท่าน แล้วเกิดศรัทธา อยากให้พระอโศกมาอยู่ที่นี่บ้าง

๑๕.๐๐ น. เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ ผู้จัดการสถาบันบุญนิยม ให้สัมภาษณ์สดสถานีวิทยุ วปถ.๗ อุดรธานี ทางโทรศัพท์ รายการเพิ่มพลังให้แผ่นดิน

สรุปงาน
-ศูนย์พระนารายณ์ แจ้งว่าโรงครัวทำอาหารส่งไปให้ศูนย์บางม่วงเพียงแห่งเดียว

๑๗ ม.ค. นักเรียนและญาติธรรมภูผาฟ้าน้ำเดินทางกลับ เพื่อไปเตรียมงานฉลองหนาว แต่ยังคง มีสมณะอยู่ประจำ

สรุปงาน
- การเดินทางกลับของสมณะ-สิกขมาตุ-กรัก-ปะ จำนวน ๘๘ ท่าน จะเดินทางกลับ โดยเครื่องบิน ของกองทัพอากาศ ในวันที่ ๒๐ ม.ค. ซึ่งมีที่นั่งเหลือให้ศูนย์ต่างๆอีก ๓๓ ที่นั่ง ให้แต่ละศูนย์ คัดเลือก ส่งรายชื่อมาให้ส่วนกลาง

- ศูนย์บางม่วง เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการกลางเชิญพวกเราไปทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ และ ขอร้องให้ช่วยจัดการกับกองเสื้อผ้าบริจาคที่สูงเป็นภูเขา

- โรงบุญเป็นบุญญาวุธที่ประสานกับผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่ในแต่ละศูนย์ได้ดี

- ศูนย์ปากวีปจัดโรงบุญเลี้ยงอาหารทหาร ๘๐๐ นาย มีทหารมาร่วมฟังธรรม และประกาศเลิกบุหรี่ ๓ คน ตั้งสัจจะเลิก ๔ คน

- ศูนย์บ่อหินทำเตาเผาขยะและอธิบายวิธีใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย

- น.ส.พ.เดลินิวส์ลงภาพการเดิน ิ บิณฑบาตและกิจกรรมตัดผม

๑๘ ม.ค. ๑๗.๓๐-๑๘.๓๐ น. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง พูดอำลาผู้ประสบภัยที่ศูนย์บางม่วง ฝากคาถาแก่ผู้ประสบภัยไว้เตือนใจว่า
๑. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒. เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้
๓. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
๔. เราจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจเป็นธรรมดา
๕. เรามีกรรมเป็นของเราเอง
และหลังจากนั้นพ่อท่านแสดงธรรม "คนที่จนจนสำเร็จอย่างเข้าใจสัจธรรม คนนั้นเป็นสุขกว่า คนที่รวย คนที่รวยไม่เสร็จ คนนั้นทุกข์ คนที่รวยคือคนไร้ค่าที่ไม่มีประโยชน์ต่อสังคม เพราะดูดเงินไปไว้ที่ตนเอง" มีผู้ประสบภัย ให้ความสนใจ มาร่วมฟัง มากมายเต็มบริเวณ

สรุปงาน
- พล.ต.จำลอง แจ้งว่า นายกเทศมนตรีขอเชิญสถาบันบุญนิยมที่ไปร่วมงานที่สนามกีฬากลาง ในวันที่ ๑๙ ม.ค. ซึ่งกำหนดให้แต่งชุดขาว ไปร่วมงาน เนื่องจากเราไม่มีชุดขาวจึงไม่ได้ไปร่วม

- ศูนย์บางเนียงไม่สามารถเข้าไปในศูนย์ผู้ประสบภัยได้ แต่สามารถประสานกับชาวบ้าน ที่ประสบภัย ซึ่งลูกเมีย ญาติพี่น้องเสียชีวิต แต่มีบ้านอยู่

- ศูนย์บางมรวน สมณะไปลาโยม โยมน้ำตาไหล บอกว่าขอให้ท่านโชคดี

๑๙ ม.ค. พ่อท่านนำหมู่สมณะ-สิกขมาตุ ญาติธรรมบางส่วน เดินทางไปยังหมู่บ้านน้ำเค็ม ซึ่งประสบภัย จากคลื่นยักษ์ และมีเรือประมงลำใหญ่ ถูกคลื่นซัดเข้ามาเกยตื้น อยู่บนชายหาด และหลังบ้าน ของชาวบ้าน หลายลำ

หลังรับประทานอาหาร สิ่งของที่นำไปใช้ตามศูนย์ต่างๆและญาติธรรมทยอยกลับเข้าศูนย์ พระนารายณ์ เพื่อเตรียมตัว เดินทางกลับ ในวันพรุ่งนี้ โดยแต่ละศูนย์ทำพิธีอำลา ด้วยการเดิน ธรรมยาตรา ไปขึ้นรถด้วยความสงบ และร้องเพลง คนสร้างชาติ -เพลงอำลา ผู้ประสบภัย แต่ละศูนย์ ต่างรู้สึกเสียดายที่พวกเราต้องจากไป หลายๆคนร้องไห้ และอยากให้ พวกเราอยู่ต่อ เขาพากันเดิน ไปส่งจนถึงรถ

สรุปงาน
- ผู้ประสบภัยแต่ละศูนย์เริ่มยิ้มแย้ม หัวเราะ เริ่มทำใจได้กับการพลัดพราก จากญาติพี่น้อง และ ทรัพย์สิน มีความสุข ที่ได้ทำบุญ ใส่บาตรสมณะ-สิกขมาตุ มีกำลังใจ ที่จะลุกขึ้นต่อสู้กับชีวิต ในวัน ข้างหน้า และอยากให้พวกเราอยู่ต่อ ไม่อยากให้กลับ
- กำหนดการเดินทางกลับในวันพรุ่งนี้


๒๐ ม.ค.
๐๕.๐๐ น. ถวายอาหารสมณะ-สิกขมาตุ และญาติธรรมร่วมกันรับประทานอาหาร
๐๖.๐๐ น. สมณะ-สิกขมาตุ-ญาติธรรมทั้งหมด ถ่ายรูปพร้อมกัน หน้าอนุสาวรีย์ พระนารายณ์
๐๗.๐๐ น. พ่อท่าน-สมณะ-สิกขมาตุ-ญาติธรรม รวม ๑๒๑ คน เดินธรรมยาตราไปยัง ร.ร.ตะกั่วป่า "เสนานุกูล" เพื่อขึ้นรถไปขึ้นเครื่องบินกองทัพอากาศที่ท่าอากาศยาน จ.ภูเก็ต สำหรับญาติธรรม ที่เดินทาง โดยรถบัส และรถอื่นๆ เดินธรรมยาตรา ไปขึ้นรถ ที่สถานีขนส่ง บ.ข.ส.

การไปใช้ชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย กินง่าย อยู่ง่าย เสียสละ ขยัน กล้าจนอย่างมีความสุข เป็นภาพ ที่ทำให้ผู้ประสบภัย ได้ฉุกคิด และมีกำลังใจที่จะลุกขึ้นต่อไป ขวัญและกำลังใจ ได้กลับคืนมา รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ เข้ามาแทน หยาดน้ำตาที่หลั่งริน ภารกิจ ของกองทัพธรรมชาวอโศก ซับขวัญชาวใต้ ได้เสร็จสิ้นลง และบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ และนี่เป็นขบวน ธรรมยาตรา ที่ใหญ่ที่สุด ในประวัติศาสตร์ การทำงาน กอบกู้มนุษยชาติ ของชาวอโศก

สำหรับการดำเนินงานของสถาบันบุญนิยมในศูนย์ต่างๆ ผู้ประสบภัย และเจ้าหน้าที่ ในศูนย์ ได้เปิดใจ ให้สัมภาษณ์ ดังนี้

นางสุคนธ์ บุตรคล้อย อายุ ๔๓ ปี ผู้ประสบภัย "หลังสึนามิใจวุ่นวายสับสน ไม่สบายใจ ทำอะไร ไม่ถูก ความคิดวน ตอนนี้ดีขึ้น ดีมากๆ เพราะได้อ่านหนังสือ ที่พวกสถาบัน เอามาให้ พวกเขาได้มาคุยที่บ้าน ปลอบใจ พูดดีมากๆ ได้คุยกับพระ สอนให้ทำจิตใจ พระดีมากๆ อยากจะทำบุญ ไปใส่บาตร เสียดาย ที่พวกเขาจะกลับแล้ว เพิ่งพบกันไม่กี่วัน มีโอกาส จะไปเที่ยว ที่อำนาจเจริญ พี่ขายข้าวแกง อาหาร ตามสั่งอยู่ริมถนน ตอนเกิดเหตุการณ์ พี่อยู่ที่ร้าน หลานวิ่งมาบอกให้หนี พี่ก็ขี่มอเตอร์ไซค์ หนีเลย ๕ คน หนีขึ้นมาบนบ้าน ลูก ๒ คนทำงานโรงแรมหนีไม่ทันเสียชีวิต กว่าจะทำใจได้นาน ได้อ่านหนังสือทำใจได้ดีขึ้น"

นางสุภา นพฤทธิ์ อายุ ๖๓ ปี "พระมานั่งคุยกับชาวบ้านที่ศาลาหน้าบ้านประจำเลยตั้งแต่ วันแรก ป้าทำใจไ ด้คิดว่าเขามาแค่นี้ ไม่คิดมาก ป้าจับมือกับลุง คลื่นก็พาไป หลุดแล้ว มาเจอกันอีก ก็จับมือ กันอีก แต่คลื่นมันหมุน ทีนี้ต่างคนต่างไป ป้าจมลงไป แล้วโผล่ขึ้นมา อยู่หลายครั้ง พอจะหายใจ คลื่นก็ม้วนอีก พอดียางรถลอยมา ป้าเลยเกาะยางรถ ครอบครัวป้าตายไป ๑๐ คน"

นางปลา บำเรอ "บ้านพี่น้ำและโคลนเข้าบ้าน ไม่มีใครเสียชีวิต เขามาช่วยทำความสะอาด ช่วยกันดี เขาอุตส่าห์มา มาช่วยความสะอาด ช่วยล้างสังกะสี ช่วยทำไฟ เขากลับไป ก็ใจหายเหมือนกัน เขามาก็อุ่นใจนะ เขามาเยี่ยมก็สบายใจ"

นางวิไลรัตน์ เก่งเดียว กุ๊กโรงแรม "วันนั้นกำลังผัดกับข้าวอยู่ชั้นล่าง เพื่อนบอกให้วิ่ง ก็วิ่งขึ้นไป บนดาดฟ้าตึก ๓ ชั้น ตั้งแต่ ๑๐ โมงเช้า ๖ โมงเย็นถึงได้ลงมา ตากแดด อยู่บนนั้น หลายชั่วโมง ลงมาไม่ได้เพราะน้ำยังท่วมอยู่ แล้วข้าวของเสียหายเต็มไปหมด เดินไม่ได้ หิวข้าว คนก็ตายเยอะ เห็นกับตาเลย เหมือนระเบิดบึ๊มๆๆ คลื่นม้วน พาคนตายคนเจ็บ กลับลงไปใต้ทะเล หมดเลย วันนั้นมี ๔๕ คน ที่อยู่บนดาดฟ้า ฝรั่งเป็นลมนอนยาว ตอนแรก หนูวิ่งเกือบไม่ทัน เพราะขาหนึ่ง ขึ้นบันไดแล้ว อีกขาหนึ่ง อยู่ข้างล่างน้ำพาไปแล้ว พอดีฝรั่งเขาอุ้มหนูขึ้นไป คนที่ช่วยหนูเขาก็ตาย ไม่รู้อะไร บาดขาเขา เกือบขาดเลย เลือดออกมาก เขาทนไม่ไหว เลยตาย พอน้ำซัดมาอีกที หนูเห็นเด็กฝรั่ง เลยโยนไม้ลงไป เขาก็เกาะไม้เลยรอดตาย พอ ๖ โมงเย็น ก็ค่อยๆ ปีนลงมา เพราะกลัวคลื่นจะมาอีก เกาะกิ่งมะพร้าวไป น้ำซัดไปขึ้นที่บางละโอน จะกลับไปบ้าน คนนอนตาย เกลื่อนไปหมด บ้านพัง เสียหาย ข้าวของเกะกะ กลับบ้านไม่ถูก ไม่รู้เข้าบ้านทางไหน เลยกลับไปที่เดิมวิ่งอยู่ ๕ เที่ยว ขึ้นลงเขาบางละโอน ระยะทาง ๖ กิโลฯ

หนูไปอยู่บนเขา ๒ วัน ๓ คืน ทางบ้านคิดว่าหนูตายแล้ว เพราะอยู่ติดชายทะเล น้ำแรงมาก ดำทะมึน ขนาดคนเกาะ อยู่บนต้นสน ๔-๕๐ คน น้ำก็พาไปหมดเลย หนูยืนดูอยู่ บางคนก็ตกลงมา โดนเหล็ก บางคนตกใจ จนเสียสติเลย ในชีวิตไม่เคยเห็น

ตอนที่ยังไม่มีใครเข้ามาก็ไม่อยากอยู่ เพราะกลัว พวกสถาบันบุญนิยมมาช่วยล้างบ้าน ปัดกวาดให้ หนูได้กลับมาอยู่บ้าน ก็สบายใจค่ะ ถ้าพวกเขากลับไปหนูก็ไม่สบายใจอีก เพราะเห็นกันแหม็บๆ ก็จะกลับอีกแล้ว"

นางศรี นาวาลักษณ์ อายุ ๔๕ ปี ชาวไทยใหม่(มอร์แกรน) "อยากให้พวกสถาบันฯ มาอีก อยากให้ อยู่นานๆ เขามาทำความดี ทำให้จิตให้ เราสบาย เขาช่วยทุกอย่าง ไม่รังเกียจ ไม่ลำเอียงพวกเราเลย เขาทำอาหารให้พวกเรากิน เขามีน้ำใจ หลายสิ่ง หลายอย่าง มีพระมาสั่งสอน รู้สึกสบาย จริงๆ สบายใจ อบอุ่นทางโน้นก็เพื่อน ทางนี้ก็เพื่อน เขาจะมาถามว่าเดือดร้อนอะไรมั้ย จิตใจเป็นยังไง ที่บ้าน ลุงตายคนเดียว ถ้าไม่มีลูก จะไปอยู่ด้วย ชอบทางนี้ หากอยู่นานๆ ไม่มีอะไร ก็มาแบ่งอาหารของฉันได้ ฉันมีมาม่า"

น.ส.ทัศนา บุญทอง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค "รับปรึกษาด้านกฎหมายให้กับชาวบ้าน พวกเราได้อาศัย กินข้าวกับ พวกสถาบันฯ เห็นเขาเดิน ให้คำปรึกษาชาวบ้าน ช่วยชาวบ้าน เขาน่ารักดี ทำทุกอย่าง ตรงไหนมีงานให้ทำ เขาก็ลงไปช่วย สามัคคีกันดี

รู้สึกว่าเขามาช่วยสังคม เขาเป็นกลุ่มคนที่ใหญ่ที่ช่วยอะไรได้เยอะ เขามาอยู่สะอาดขึ้น ชาวบ้าน ก็พยายามเลียนแบบเขา เมื่อก่อน ขยะจะมาก ชาวบ้านเริ่มเก็บขยะมากขึ้น คงรู้สึกอายมั้ง ที่คน ข้างนอก มาช่วยทำความสะอาด ชาวบ้านให้ความร่วมมือมากขึ้น"

น.ส.วรรณวิมล เอกโกมล มูลนิธิเด็ก "อยากให้เขาอยู่ต่อ เพราะเขาเป็นเพื่อนกับชาวบ้าน ลงไปคุย กับชาวบ้าน เข้าถึงชาวบ้านได้ดี แล้วมีสมณะ เขาได้ทำบุญใส่บาตร ชาวบ้าน รู้สึกว่าได้ทำบุญ เห็นชาวบ้าน ลุกขึ้นมาหุงข้าวใส่บาตร"

จ่าสิบเอกอุดมรัตน์ พันธุ์พัก กองพันทหารราบที่ ๑ จ.ค่ายธนะรัตน์ "มาปฏิบัติภารกิจ หลังเหตุการณ์ ๕ วัน พวกอโศก เข้ามารู้สึกว่าดี เขามาทำให้จิตใจชาวบ้านดีขึ้น ทางด้านกำลังพลจิตใจก็ดีขึ้น เพราะได้มีเวลาฟังพระบ้าง พระก็เทศน์ ในทางที่ดี ลดละเรื่องบุหรี่ เหล้า จิตใจค่อยผ่อนคลาย ความเหน็ดเหนื่อย ภารกิจคือค้นหาศพ แล้วช่วยเหลือด้านต่างๆ กับผู้ประสบภัย ทำบ้านชั่วคราว ตอนนี้ก็ใกล้เสร็จ ต่อไป ก็ทำบ้านถาวร

พระเข้ามา มันซาบซึ้ง เมื่อคืนนี้กำลังพลได้เข้าไปฟังธรรม โดยไม่มีการบังคับ นั่งฟังพระ โดยไม่คุย กันเลย ดูช่วงเช้าแล้ว สภาพจิตใจ ของทหารดีขึ้น ตั้งใจจะงดเหล้า บุหรี่กันหลายคน ดีมากๆเลย ชาวบ้านมีการเปลี่ยนแปลง ความสะอาดก็ดี แล้วมีช่าง มาช่วยตัดผมให้ทหาร หัวโล่งเลยครับ สบายขึ้น ไปกินอาหารกันค่อนข้างมาก ผมก็ยังไปทานก๋วยเตี๋ยว อร่อยดีครับ"

ไม่ประสงค์ออกนาม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ "พี่อยู่ฝ่ายรับ เรื่องราว ร้องทุกข์ ของผู้ประสบภัย ตอนเช้า พี่เห็นพวกเขาช่วยกันเก็บขยะ ทำความสะอาด ทั่วหมู่บ้าน แล้วพระไป บิณฑบาต ออกเยี่ยมชาวบ้าน กลางคืน ก็มาปฏิบัติธรรม แสดงธรรม ให้ชาวบ้านนั่งสมาธิ พูดคุย ให้ชาวบ้านฟัง ชาวบ้านได้รู้จัก สงบสติ ควบคุมอารมณ์ตัวเอง ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แทนที่จะฟุ้งซ่าน ก็มีสมาธิขึ้น ดีขึ้น

วันแรกพี่เห็นเป็นการสนทนา ลักษณะเหมือนไปหาที่พึ่งทางใจไปหลายๆคน ๒-๓ วันต่อมา ก็เห็น ชาวบ้าน นั่งปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ นั่งฟังธรรม นอกจากนั้น ได้มาทำอาหารมังสวิรัติ เลี้ยงคนในชุมชน เด็กนักเรียน เจ้าหน้าที่ ทั้ง ๓ มื้อ และบริการ ช่างตัดผม รู้สึกว่า สะอาดขึ้น เพราะเขาทำทุกวัน มีระเบียบ วินัยดี เป็นที่น่าชื่นชม มีกิริยาอ่อนน้อม สุภาพเรียบร้อย น่าศรัทธา มาชวนไปกิน เอาอาหารมาให้

เขาต้อนรับคนทุกคนดี เขาบอกว่าผักผลไม้เอามาจากทักษิณอโศก เขาแจกแผ่นพับ ทำน้ำยา ล้างจาน -สบู่ นักเรียน ไปทานอาหารมื้อเที่ยงทุกวัน พร้อมเจ้าหน้าที่และทหาร รสชาติดี พี่คุยกับเพื่อนว่า ๒-๓ วันนี้พวกเราได้บุญ เพราะได้กินอาหาร มังสวิรัติ

เขาไม่น่าไป น่าจะอยู่เป็นเพื่อนชาวบ้านสักพัก เพราะตอนนี้ความโศกเศร้ายังไม่หายไป ยังต้องการ กำลังใจ ยังต้องการเพื่อน พี่เห็นว่าพวกนี้ ยังปล่อยไม่ได้ เขายังมีปัญหา ทางสุขภาพใจ ถ้าอยู่ต่อ สักอาทิตย์ ก็จะดี เป็นที่พึ่งทางใจ ให้พวกเขา ขอบคุณมากๆ ที่ให้ความช่วยเหลือคนใต้"

นางเจียน ไชยวงศ์ อายุ ๔๑ ปี "เมื่อก่อนพี่อยู่ด้วยน้ำตา คณะสถาบันฯ ไปแจกอาหาร ในหมู่บ้าน แต๊ก (สัมมาสิกขาราชธานีฯ) เขาบอกว่า เขาเกิดธันวาคม เดือนเดียวกับ ลูกของพี่ที่สูญหายไป ในคลื่นสึนามิ แต่เพื่อนๆเขารอด ตอนแรกลูกเขาหนีทัน แต่มาโดนคลื่น ลูกสองกระเด็น พี่ก็รับหนูแต๊กเป็นลูก อาการ ก็ดีขึ้น ลูกคนนี้ เป็นลูกที่นิสัยที่ดีมากๆ รักเขามากๆเลย สภาพจิตใจ ดีขึ้น เพราะมีลูกแต๊ก มาทดแทน พี่ก็รอโอกาสว่าถ้ามีโอกาสจะไปหาเขา ถ้าเขามีโอกาส ให้เขามาหาพี่ พี่รอตลอดเวลา ได้คุยกับพระแล้ว สบายใจ ดีขึ้น พวกสถาบันฯเขาให้ความดี ให้ทุกอย่าง ดีใจจนบรรยายไม่ถูก

ที่ดีใจมากๆ คือพี่สูญเสียลูกไป แต่มาได้จุดนี้ ดีมากๆเลย ตอนแรกหมอไปเยี่ยมที่บ้าน และให้ยา ก็อยู่ได้กับยา พอยาหมด ก็มาเจอลูกแต๊กมาเยียวยา เหมือนมาต่อชีวิต รักลูกคนนี้มากแต่ไม่มีวาสนา ไปร่วมคณะกับลูกคนนี้ ถ้าไม่ได้คณะนี้ ชีวิตครอบครัวย่ำแย่ พ่อของเด็กก็ขวัญเสีย ขอบคุณคณะนี้ มากๆเลย ชั่วชีวิตไม่ลืมคณะของลูกแต๊กนี้ ลูกแต๊กมีบุญ ได้มาช่วยแม่คนนี้ ได้ดีขึ้น เขาไปก็ไม่เสียดาย เพราะเขาไปทำความดี ขอบคุณฟ้าดิน ที่ส่งคณะนี้มาให้ ขอบคุณมากๆเลย"

การไปร่วมซับขวัญชาวใต้ในครั้งนี้ เป็นการทำงานที่ถึงพร้อมด้วยประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน ผู้ไปร่วมงานบางส่วน ได้ให้สัมภาษณ์ ดังนี้

นางวงศ์ศีล นาวาบุญนิยม ปฐมอโศก "อยู่ฝ่ายสุขภาพบุญนิยม คนป่วยให้ความร่วมมือ ในการมา ออกกำลังกาย กับเราตอนเช้า หลังบิณฑบาตเสร็จแล้ว กลุ่มสัญจร จะไปตรวจดูว่า บ้านหลังไหน มีคนป่วย ก็จะมาบอกกลุ่มสุขภาพฯไปดูแล คือเราทำงาน ประสานกัน ทำงานเชิงรุกคือไปหาเขาถึงที่ ปีติมาก ที่เราได้เป็นผู้ให้ งานนี้กินข้าวมื้อเดียว ได้ด้วยปีติ เพราะคนที่ตายไปแล้ว ไม่มีโอกาสทำกุศล แต่เรามีชีวิตอยู่ น่าจะทำอะไรที่ดี ให้กับตัวเอง คนไข้ที่เจอส่วนมาก โดนอุบัติเหตุ ก็ไปช่วยกดจุด บางคน เป็นโรคเก๊าท์ เพราะความเครียด เราได้ใจเขา เขาก็ได้ใจเรา

พิธีอำลา สมณะเดินสำรวม เราเดิน ๒ แถวไปเยี่ยมทุกบ้าน ชาวบ้านหลายคนน้ำตาไหล ยกมือไหว้ เห็นแล้ว ประทับใจมาก แม้แดดจะร้อน ก็เจอเสียงทักทายจากประชาชน แล้วไปหยุดหน้าศูนย์กลาง แล้วอาปอพูดขอบคุณ ที่ได้มีโอกาสได้มาทำงาน เขาก็ได้บุญ เราก็ได้บุญ แล้วร้องเพลง คนสร้างชาติ เสียงกระหึ่ม ชาวบ้านออกจากเต็นท์มาดูกัน แทบทุกหลัง"

น.ส.พิจิตรา จันทร์ประภาส "แยกขยะเพราะเห็นว่าไม่มีคนทำ ได้ประโยชน์ตนมาก คือฟังมาเยอะ ว่ากินน้อย มักน้อย สันโดษดี แต่ไม่ได้ฝึก มาอยู่ตรงนี้เราได้ฝึกจริงๆ อยู่อย่างเรียบง่าย นอนกลางดิน กินกลางทราย และเรื่องของ ความเป็นอนิจจัง ได้คุยกับชาวบ้านว่า ภายในพริบตา ๕ นาที ทุกอย่าง สลายไปหมดเลย อะไรก็ไม่แน่นอนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ต้องรีบขวนขวาย สร้างความเพียร เพราะเรา อาจจะโดนเหมือน คลื่นสึนามิได้เหมือนกัน ชีวิตมันไม่แน่นอน เห็นชัดยิ่งขึ้น ได้เห็นความพลัดพราก ทำให้ชัด เรื่องของชีวิตคู่ว่า หากมีอะไรขึ้นมา เราก็ไม่ต้องไป เศร้าโศกอะไรมาก เพราะตัวคนเดียว แม้ว่าเราจะปฏิบัติธรรมแล้ว แต่หากเรา มีความผูกพัน กับหลายๆคน เมื่อเกิดความพลัดพราก เราก็ยังต้องทุกข์ ทำให้เรามั่นคง ในจุดนี้ว่า อย่าไปสร้างความผูกพัน กับใครมากมาย และมั่นใจ ในหมู่กลุ่ม มากยิ่งขึ้น เห็นว่าสิ่งที่พ่อท่านพาทำ งานนี้เห็นชัดมากยิ่งขึ้น เชื่อในพระโพธิสัตว์ เพราะงานนี้ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่สุดท้ายมันก็ออกมาอย่างสวยงาม"

น.ส.ตะวันธรรม ข่าทิพย์พาที สันติอโศก "ได้ฝึกทำตามหมู่ มาขบวนใหญ่อย่างนี้เวลาเขา มอบหมาย ให้ทำไปก่อน แล้วค่อย ปรับปรุงมันขึ้น ถ้าไม่รับเลยทำให้กรรมการ เสียเวลาไปคิด งานล้างจาน ไม่มีใคร แต่งตั้งให้ทำ แต่เห็นว่าไม่มีใครทำ แล้วก็เป็นงานง่ายๆ อยากให้เขารู้สึกว่า งานนี้เป็นงานง่ายๆ ใครก็สามารถมาทำได้

ชาวบ้านไม่คุ้นกับการเสีย การพลัดพราก เขาเพิ่งเจอ เลยเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด แต่พอเขาเจอกับ สิ่งที่พลัดพรากแล้ว เขาได้ความคิด อะไรใหม่ๆว่า พลัดพรากหมดก็ได้ มันแปลกดี ฝรั่งเขาบอกว่า ทำไมคนไทยสูญเสียขนาดนี้ยังยิ้มได้ หากเป็นประเทศเขา ก็เศร้ากันไปทั้งประเทศ พอดีมาวันที่ เราม่วนซื่นกับชาวบ้าน เขางงว่าคนไทยยิ้มได้ยังไง กับเหตุการณ์ร้ายๆ อย่างนี้"

นายตายแน่ มุ่งมาจน ราชธานีอโศก "มาวันที่ ๓ เป็นรุ่นแรกมี สมณะ ๖ รูป ฆราวาส ๕ คน มีใจ อยากมาช่วย ก็ประสานกับ ลุงจำลอง ได้ที่อยู่ที่กิน ได้เห็นอนิจจังของชีวิต ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน สัจธรรมของ ศาสนาพุทธ ผมมาสำรวจพื้นที่ ตามจุดต่างๆ เพื่อเตรียมรองรับทีมใหญ่ที่จะเข้ามา ช่วงใหม่ๆก็กลัวผีบ้าง แต่ตอนนี้ก็ชินๆแล้ว เพราะว่ามันเยอะมาก เพราะเรื่องเล่า จากบ้าน ถือเป็นเรื่อง ธรรมดาไปแล้ว มีการตายเยอะมาก เหมือนเราเดินไปตรงไหน ก็มีคนตายทั้งนั้น มันก็คลาย ไปในตัว ของมันเอง

การมาแสดงรูปธรรม เป็นตัวยืนยันศาสนาเป็นพลังรวมของสังคม เราเคลื่อนขบวน ใหญ่ๆขนาดนี้ ได้เป็นระบบระเบียบ มีเอกภาพ ขนาดนี้ ถือว่าเรามีจิตที่ยึดศาสนา เป็นแกนหลัก ตัวนี้เป็นตัวบ่งชี้ เป็นรูปธรรมชัดเจน

คิดว่าการทำงานครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์คือ มาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และ ขบวนการกลุ่ม ของชาวอโศก ได้พิสูจน์ศักยภาพของกลุ่มใหญ่ ที่เคลื่อนขบวน ขนาดนี้แล้ว ได้ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประโยชน์สองส่วน ได้ช่วยเพื่อนมนุษย์ กับแสดงศักยภาพ สมรรถนะ ของชาวอโศก

ความทุกข์ของชาวบ้านในครั้งนี้ ผมอยากให้ชาวบ้านเขียนให้รัฐบาล รวบรวมไว้ เป็นจดหมายเหตุ เก็บไว้ น่าสงสารมาก เป็นการสูญเสียมากมาย ของแต่ละคน แต่ละครอบครัว ซึ่งถ้าเป็นเราก็คงต้องทำใจ ลำบาก เหมือนกัน

คนถ้าไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีเหตุการณ์ใดมาทำความสูญเสียให้เรา มันเคว้งคว้าง ผมฟัง ชาวบ้าน เล่าให้ฟังว่า ลอยอยู่ในทะเล เป็นวันๆ แต่ถ้าเรามีศาสนายึดเหนี่ยว ที่สอนให้เราเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอน เป็นการฝึกซ้อม จิตใจก่อน หากไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวเมื่อมีอะไรมากระทบจิตใจ ก็จะทำ ให้ทำใจลำบาก หากเราได้ซักซ้อม อยู่ตลอดเวลา เพราะว่าศาสนา สอนให้เราเรียนรู้เรื่องนี้ จะทำให้เรา ผ่อนคลายทุกข์ได้ไวและง่ายขึ้น"

เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ ผู้จัดการสถาบันบุญนิยม "กิจกรรมที่แต่ละศูนย์จะทำ จะกำหนดเอง ตามพื้นที่ การเข้าถึงผู้ประสบภัยในเบื้องต้น เขาค่อนข้างจะระแวง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความสัมพันธ์ ค่อยๆดีขึ้น เป็นลำดับ จนเราสามารถทำกิจกรรม ให้ชาวบ้านได้มาก เช่น ตัดผม เปิดโรงบุญเกือบทุกศูนย์ กิจกรรมเด่น ที่ประทับใจชาวบ้าน คือ ขัดส้วมและเก็บขยะ รอบพื้นที่ของเขา เขาประทับใจ จนเขียน จดหมายมาเลย และเกรงใจเราว่า ทำไมเราถึงให้เขาขนาดนี้ ทำให้เขาเข้ามาพบกับเรา ทำให้ได้พูดคุย กันกับนักบวชและฆราวาส ทำให้คลี่คลาย ในสิ่งที่เขาหดหู่ ท้อแท้ เสียขวัญ สิ้นหวัง หมดกำลังใจ หลังจากพูดคุยแล้วเขายิ้มออก หัวเราะ บอกความอัดอั้นตันใจ เขาได้ระบาย เราถือว่า เราได้แบ่งปัน ความทุกข์ของเขาได้ เรามีกิจกรรมต่างๆมากมาย ที่จะโน้มน้าว ให้เกิดความสัมพันธ์กัน เช่น คัดกรอง เสื้อผ้า ร่วมกับชาวบ้าน สอนหนังสือ นักเรียน ป.๑-ป.๖ การมาครั้งนี้ถือว่าคุ้มค่ามาก ได้มาเสียสละ ได้ช่วยเหลือ ผู้ที่ประสบภัย ซึ่งกำลังทุกข์ร้อนจริงๆ

มาคราวนี้ได้มาฝึกอย่างจริงจัง ทั้งสถานที่ การทำงาน การทำกิจวัตร ติดต่อกันเป็นวลา ๑๐ วัน ตัวเอง ได้เยอะมากกว่าที่คิดไว้ ทำให้เรามีกำลังใจ พละอินทรีย์เข้มแข็งขึ้น"

นายร้อยแจ้ง จนดีจริง ฝ่ายประสานงาน "มาวันที่ ๖ ม.ค. มากัน ๑๖ คน กับทีมเดิม ๑๓ คน เพื่อมา ทำงานให้คน ๗๐๐ คนลงพื้นที่อย่างสะดวกที่สุด จุดแข็งคือ พวกเราปรับตัว เข้ากับพื้นที่ได้ดี ซึ่งมาจาก พื้นฐาน การฝึกตัวเองที่เรียบง่าย ทุกศูนย์บอกว่า ทำไม เลือกพื้นที่เหมาะเจาะจังเลย อยู่สบายมาก ดีมาก เพราะแม้พื้นที่จะลำบาก แต่พวกเราก็อยู่ อย่างมีความสุข รู้จักการขุดน้ำใช้เอง รู้จักการ ประสานกับชาวบ้าน รู้จักปรับสถานที่ให้น่าอยู่ มีความสุขอยู่กับการอยู่ แต่ละแห่ง อยู่บนเขาไกลๆ ก็บอกว่าดี อยู่บนเขาที่มีน้ำตกก็บอกว่าดี แม้จะมีงูบ้างเขาก็อยู่ได้ อยู่บนเขา ไม่มีน้ำใช้ ก็ไปหาจน มีน้ำได้ พอลงมาอยู่ชายทะเล ก็บอกว่าดี คือ ปรับตัวได้ตลอดเวลา พวกเราเป็นคนแบบนี้ นับเป็น จุดแข็งของชาวอโศก

จุดด้อย ผมว่าเรายังไม่มีการทำงานในเชิงของสายงานหรือฟังกัน เราจะสั่งกัน ได้เกือบทุกคน จึงไม่มีฐานข้อมูล ที่จริง น่าจะฟังกัน ใครทำเรื่องนี้มาก่อน แล้วข้อมูลเป็นยังไง แล้วมาต่อยอดเอา จุดเสียจากตรงนี้ จึงเกิดจุดดีขึ้น อีกประการหนึ่ง คือ ๓ ใน ๕ เกิดกรรมการ ประจำศูนย์ ๕ คน ที่เมื่อคุยกันแล้ว ๓ คนสามารถตัดสินใจ แล้วรับผิดชอบไปเลย ซึ่งแต่ละศูนย์ ให้เขาคัดเลือก คนเหล่านี้ ขึ้นมา แล้วก็ยอมกัน คนที่เคยสั่งคนเดียว ก็กลับมาปรึกษา เมื่อปรึกษาปั๊บ องค์ประกอบ มากขึ้น งานก็ดูเรียบร้อยขึ้น

งานเตรียมพื้นที่ในด้านกายภาพค่อนข้างลุล่วงด้วยดี ส่วนเรื่องจิตใจของตัวเองที่มีเกิดขึ้น มันต้องปรับ เปลี่ยนใจ บางเรื่อง แม้เรามั่นใจว่า ยังถูกต้องอยู่นะ ในเมื่อมันเปลี่ยนไป เราก็เปลี่ยนไปได้ แต่เป็น บทเรียนในคราวหน้า ที่จะทำเรื่องแบบนี้ เราจะมีข้อมูลแจ้ง แล้วก็จะละเอียดขึ้น ในการที่จะพูด ให้คนได้เข้าใจได้ แต่ก่อนเราจะใช้ภาษา แบบธรรมดา แต่เมื่อเราเข้าใจลึก ก็อธิบายคนได้ละเอียดขึ้น จนกระทั่งเหตุการณ์ มันแปรเปลี่ยน ไปอีกขนาดหนึ่ง เพราะคนได้มีประสบการณ์ แล้วก็มีการจัดองค์กร

สังเกตวันแรกที่มาถึงคุยกันทั้งทีมใหญ่ พอคุยก็เฮไปเลย วันนั้นหลายคนลำบากเรื่องกิน เข้าห้องน้ำ ที่พัก เพราะไม่มี การเตรียมการไว้ เป็นบทเรียนให้แก่ทุกๆคนแม้แต่ตัวผมเอง แม้ไม่เห็นด้วย แต่จำใจ เปลี่ยน เปลี่ยนแล้ว ก็รีบมาเตรียม พื้นที่ให้เขา วันนั้น หัวใจมันช้ำ แต่ก็ต้องทำ พอทำเสร็จเราก็รู้ ข้อบกพร่อง คืออะไร เราก็ใช้กรรมการ ๓ ใน ๕ เป็นตัวตั้ง ต่อไปก็มีการเรียกประชุม เป็นลำดับขั้น เพราะไม่มีใครรู้ทุกเรื่องได้ในเวลาเท่ากัน แม้ข้อมูลอันเดียวกัน การบริหารข้อมูล ของแต่ละคน ก็ต่างกันด้วย เราต้องอดทนกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันเรามีโอกาสแก้ไข เราก็ทำเท่าที่เราทำ

การที่เราเปิดตัวทางสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ผมคิดว่าเราเปิดตัวช้าไม่มีปัญหา ออกหนังสือพิมพ์ น้อยหน่อย ออกทีวีน้อยหน่อย ไม่เป็นปัญหา เท่าที่ผมมองผมเห็น พวกเรายินดีกับการออกทีวี หนังสือพิมพ์ มากเกินไป คือชาวอโศก เน้นเรื่อง การประชาสัมพันธ์ มากขึ้นแล้ว เริ่มเล่นกับสื่อ ซึ่งเราสร้างให้สื่อ มาเล่นด้วย เอ้าจะถ่ายรูปนะ จะออกทีวีนะ ต้องเดินเป็นแถว ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ เราจัดแจงต่างๆ ซึ่งความจริงไม่ใช่ที่เราเป็น แต่ส่วนใหญ่ใช่ความจริง ผมยอมรับ ถ้าเราเล่นกับสื่อมาก บางที่จะได้รับการคาดหวังมากจากสังคม แล้วเนื้อแท้เราโตไม่ทัน เราจะมีปัญหาต่อไป

การที่เราทำงานในมุมที่กว้างขึ้น การจัดระบบทางความคิดเป็นเรื่องสำคัญ แล้วการยก ความ ไว้วางใจ ที่เข้าใจเหตุการณ์ รองรับว่า วิธีคิด ข้อมูล มาจากฐานที่เชื่อถือได้ อโศกคงได้พัฒนาเรื่องนี้เพิ่มขึ้น เรื่องที่สอง เรื่องความเป็นพี่น้องกันมากขึ้น มันจะเกิด การสังเคราะห์กันมากขึ้น แต่ก่อนแต่ละแห่ง ทำงานแต่ละแห่ง ตอนนี้แต่ละแห่ง มาทำงานกลาง ไม่เป็นที่ตั้งของ พุทธสถานใดเลย แล้วไม่มี องค์กรใด รับเป็นหลัก แต่งานนี้จุดใหญ่อยู่ที่สันติอโศก แต่สันติฯก็ไม่ได้เป็นทั้งหมด เพราะมวลใหญ่ เป็นของปฐมอโศก แต่ลงพื้นที่ก็มาคละกัน ทำให้ได้เห็นวิธีคิดของต่างพุทธสถาน งานพุทธาฯ ปลุกเสกฯ ค่อนข้างเน้นไปตาม พุทธสถาน แต่งานนี้ค่อนข้างขยายมาก แม้ทักษิณอโศกเจ้าของพื้นที่ บทบาทก็ยังไม่ได้เสียทีเดียว จึงทำให้งานนี้ ค่อนข้างที่จะ หุ้นทางความคิด แม้พื้นฐานจะต่างกัน ตอนแรกอาจจะยุ่งหน่อย แต่ตอนนี้ เริ่มที่จะปรับลงตัวได้

งานนี้เป็นการให้ความไว้วางใจกันแบบแยกส่วนขนาดหนึ่งเหมือนกัน เช่น โรงครัวถามว่า จะเอาอะไร มาบ้าง ผมบอกไปเลย ว่าคน ๑ พันคน จะอยู่กินกัน ๑๐ วัน พี่เล็กดาบบุญ ช่วยรับไปเลย เราเอาคน ที่มีความสามารถ ไปอยู่ในจุดที่เขามีศักยภาพ หรือ กองอำนวยการ ฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งเขาอยู่ในพื้นที่ แต่ละศูนย์ ก็สามารถปฏิบัติงาน ซึ่งก็เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น"

นายดาบบุญ ดีรัตนา ฝ่ายเสบียง "ได้มาฝึกกินอยู่แบบเรียบง่ายเหมือนพี่น้องที่ประสบภัย ตอนแรก ไม่มีโปรแกรมว่า จะแยกศูนย์ เราก็เตรียมภาชนะมาจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อมีการแบ่งภาชนะ ไปตาม ศูนย์ต่างๆ เพื่อทำโรงบุญ ปรุงอาหาร ให้ผู้ประสบภัย ได้รับประทาน เมื่อภาชนะเหลือน้อย เราก็ปรับ ตัวเอง เช่น มีเตา ๒ เตาแต่ต้องหุงข้าว ๘ หม้อ เขาก็บอกว่า อย่างนั้นต้องตื่นตี ๒ มาหุงข้าว เราก็ปรับตัว ให้เข้ากับภาชนะ"

นายกอล์ฟ คมธรรม ศิษย์เก่าสัมมาสิกขาปฐมอโศก "ฟังธรรมจากพ่อท่าน รู้สึกว่าเข้าใจมากขึ้น ตอนที่ พ่อท่าน ไปพูดที่บางม่วง พูดเกี่ยวกับ เรื่องความจน รู้สึกว่าได้ประโยชน์ตรงนั้น คือธรรมดา ก็เข้าใจ อยู่ครับ แต่เหมือนกับ ตอกย้ำชัดเจนมากขึ้น"

นายธวัช อปมทัง ศิษย์เก่าศีรษะอโศก ช่างภาพ "ได้ฝึกตัวเองที่จะคล่องแคล่วแววไว ทันเหตุการณ์ มีสัมภาระให้น้อยที่สุด พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ ตลอดเวลา ต้องเตรียมพร้อม อยู่ตลอดเวลา มีการ วางแผนว่า จะต้องเตรียมอะไร

เห็นใจพี่น้องที่ประสบภัย เพราะเป็นคนไทยด้วยกัน เขาเดือดร้อนมากกว่าเรา เหมือนเขาเป็นพี่ เป็นน้อง กับเรา มันต้อง ช่วยเหลือกัน รู้สึกว่าความเมตตาของเรามีเพิ่มมากขึ้น ทำให้เราต้องเสียสละให้มากขึ้น เพราะยังมีคน ที่ลำบากกว่าเรา ยังมีมาก

งานนี้ได้มาสร้างบารมีร่วมกับพ่อท่าน ได้มาสั่งสมบุญ ถึงจะลำบากแต่รู้สึกยินดี และเต็มใจ อาจจะเป็น ครั้งหนึ่งในชีวิตของเรา ที่จะได้มีโอกาสอย่างนี้ ภูมิใจที่เราได้มา ร่วมกับชาวอโศก เป็นกองทัพ ที่ใหญ่ที่สุด ประมาณ ๙๐๐ กว่าชีวิตที่ได้เดินทาง มาภาคใต้คราวนี้"

น.ส.ลีนา กิตติสมชัย อาสาสมัครของมูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน "มาในนามของกลุ่มสื่อ เพื่อนชีวิต ทำข่าว เกาะติดสถานการณ์ ของสถาบันบุญนิยม ในโครงการซับขวัญชาวใต้ ตอนแรกตั้งคำถาม กับการมา ครั้งนี้ ของชาวอโศก เหมือนกันว่า จะมาทำไมตั้ง ๗๐๐ คน เพราะมองภาพไม่ออกว่า มาทำไม ตั้งเยอะ ขนาดนี้ แต่พอถึงวันนี้คำถามนั้นเปลี่ยนไป มีประโยคหนึ่ง เกิดขึ้นในใจว่า ขอบคุณ ที่มาแสดงชีวิต อันประเสริฐ ให้พวกเราได้เห็น ทำให้คนอีกหลายๆคน ที่เขากำลังทุกข์ ได้เห็นชีวิตที่เรียบง่าย แล้วก็ไม่จำเป็น ที่จะต้องมีอะไร แต่เขาก็มีความสุข แล้วก็มีน้ำใจ ที่จะหยิบยื่น ให้กับคนอื่นด้วย

ตัวเองไม่ได้ร่วมกิจกรรมอะไรกับชาวอโศก แต่เหมือนมาคอยสังเกตการณ์ แล้วก็ดู ในวงนอก แต่ก็ได้ อิ่มเอม ในความรู้สึกดีๆ หลายๆอย่างในกิจกรรม ในครั้งนี้เยอะเหมือนกัน และก็รู้สึกว่าเราโชคดี ที่เราได้มารู้จัก กับคนกลุ่มหนึ่ง ที่เขามีชีวิตที่ดีงาม แล้วก็มีชีวิต ที่มีความพร้อม ที่จะเอื้อประโยชน์ ให้กับคน คิดว่าพลังบริสุทธิ์อันนี้ มันทำให้คนอีกหลายๆคน ได้รับประโยชน์ แล้วก็จะเป็น ความประทับใจ เป็นประสบการณ์ในชีวิตของเขา ในการที่วันหนึ่ง ที่เขามีความทุกข์ เขาจะคิดถึง คนกลุ่มนี้ แล้วเขาจะคิดถึง ชีวิตเรียบง่าย ของคนกลุ่มนี้ด้วย"

นางพลีขวัญ ศีรษะอโศก "ทำหน้าที่ประสานงานเชื่อมระหว่างพวกเราชาวอโศกกับคนข้างนอก มันเป็นงานที่ใหญ่ ตั้งแต่เข้าอโศกมา รู้สึกว่างานนี้เป็นงานที่ใหญ่ ต้องเชื่อมกับคนข้างนอก แล้วกลุ่มที่เรามาก็ใหญ่ด้วย ทำให้ต้องระมัดระวัง ในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องคำพูด แล้วงาน ก็ต้องรอบขึ้น เร็วขึ้น ตัวเองได้รับประโยชน์มาก โดยเฉพาะตัวเอง อยู่ในฝ่ายที่เป็นสื่อ ในส่วนนั้นด้วย ประสานงานด้วย แล้วศูนย์ที่ไปอยู่เป็นศูนย์ที่ใหญ่ แล้วผู้คนที่มาก็หลากหลาย จึงเป็นบทเรียน ทำให้เราต้องรอบคอบมากกว่านี้

เมื่อก่อนเราทำเฉพาะหมู่กลุ่มของเราเอง พอมาได้รับฟังเรื่องราวของผู้ประสบภัย ทำให้เห็นอก เห็นใจ เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ได้ข้อคิดว่า เราอย่าประมาท ต้องสร้างความดีไว้เยอะๆนะ เพราะวิบาก จะมาเล่นงานเรา เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ทำให้เราได้ตระหนัก ถึงจุดนี้"

ด.ญ.ไพรพรพรหม สหะชาติมานพ สัมมาสิกขาเทียนหยด ปฐมอโศก "เสียใจที่เกิด เหตุการณ์ อย่างนี้ ไม่อยากให้เกิดอีก ได้เห็นน้ำใจ ของคนไทยที่มีต่อกัน ประทับใจชาวใต้ ที่เขามีน้ำใจ มีความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ หนูไม่กลัวผีเพราะหลวงปู่ ก็บอกแล้วว่า ผีไม่มีจริง และหนูก็ไม่เห็น จริงๆด้วย หนูอยากจะเจอผี เหมือนกันจะได้เงิน ๑๐ ล้าน ถึงหนูจะเป็นเด็ก ก็ปรับตัวเข้ากับผู้ใหญ่ได้ หนูได้ฝึกผัด -ทอดอาหาร ประทับใจหลวงปู่ ที่ตั้งใจมาช่วยชาวใต้และชาวใต้ก็ประทับใจ และงานก็สำเร็จไปด้วยดี"

ขอจบลงด้วยโอวาทของพ่อท่าน เมื่อวันที่ ๑๙ ม.ค. ๒๕๔๘ ในช่วงสุดท้ายของการสรุปงานว่า .....เราก็แข็งแกร่งขึ้น หรือชำนาญขึ้น มีสมรรถนะขึ้น มีทักษะขึ้น ถ้าใครจะมีผลในทางปฏิบัติธรรม ในทางมรรคผล นั่นคือกำไรอย่างยิ่ง ธรรมะของพระพุทธเจ้า จะปฏิบัติกับกรรมทุกอย่าง พูด คิด ดำริ เป็นการปฏิบัติมรรคผล ทั้งสิ้น คิดว่าคราวนี้ มีผู้ได้มรรคผล จากการทำกิจกรรมคราวนี้ เราไม่เคย ทำงานนอกพื้นที่ และกลุ่มใหญ่เท่าครั้งนี้ ครั้งนี้เราอาจหาญมาก เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัตถุ เรามาช่วย ผู้เป็นทุกข์ เราไม่ได้ใช้วัตถุมาช่วย ช่วยให้พ้นทุกข์ หรือว่าให้ให้แก่เขา หรือเราจะมาช่วยอะไร อาตมา ถึงเห็นว่า เออ....อันนี้มันยากจริงๆนะ ยากเพราะเอ๊.... เราจะช่วยยังไงกัน ถึงคิดได้ว่า พวกเราได้ผ่าน การฝึกฝน อบรมมาแล้ว ปฏิบัติตัวเอง มาแล้ว แม้แต่มีชีวิตอยู่แล้ว อาตมาว่าคงได้รับทุกข์ คือมี สภาพทุกข์ จากการหลุดพ้น มันก็ไม่ใช่หลุดพ้น อย่างการหลุดพ้น แต่มันหลุดล่วง ขาดหายออกไป เหมือนกับ เราละวางออก ละวางลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขต่างๆ อยู่มันหลุด ออกไป ล้างออกไป นั่นมันโลกุตระ

แต่ไอ้นี่ของเขาลาภมันหลุดไป ยศมันหลุดไป สรรเสริญหลุดไป ความสุขที่เคย ได้สุขใจทางกาม เป็นอัตตทัตถสุข อะไรพวกนี้ มันหลุดออกไป ไม่ใช่เขาจะล้างออกนะ แต่มันหลุดไป มันเหมือนกัน มันอันเดียว เขาหลุดออกไป เราก็หลุดออกไป แต่อาตมาพยายาม จะอธิบายความหมายของ ความเหมือน แต่ความไม่เหมือน ความเหมือน เหมือนในสภาพ แต่ไม่เหมือน ในโลกียะกับโลกุตระ ของเขาหลุดออกไป อย่างโลกียะเขาทุกข์อย่างยิ่ง ของเราหลุดออกไปอย่างโลกุตระ เราพ้นทุกข์อย่างยิ่ง มันคนละขั้วเลย เขาหลุดทิ้งออกไป เขาขาดหายออกไป เขาทุกข์อย่างยิ่ง แต่เราขาดหาย ออกไป เหมือนกัน เราจนเหมือนกันกับเขา เราหมดเหมือนกับเขา หมดเนื้อหมดตัว เหมือนอย่างเขา แต่เรา หมดเนื้อหมดตัว อย่างเจตนา อย่างสร้างสรรมาแล้ว อาตมารู้อันนี้ อาตมาเห็นอันนี้

เพราะฉะนั้น ที่เรามาทำอย่างไรที่จะมาขอแบ่งปันความทุกข์ที่เขาเองเขายังมีทุกข์อยู่ แต่เราพ้นทุกข์ แต่สภาพเดียวกัน อาตมาก็คิดได้แต่ว่า เราไม่ต้องมาแสดงอะไรหรอก เราไม่ต้อง มาทำอะไร เราไม่ต้อง คิดอะไรเลย เรามาเป็นเราด้วยความจริงใจ ด้วยความเป็นจริงที่เราเป็น เท่านั้นแหละ แล้วมันจะ ออกมาเอง เห็นแล้ว

มางานนี้แล้วอาตมาเห็นแล้ว พอทำแล้วเป็นจริง เพราะฉะนั้น ทุกคนของชาวทางนี้ เขาอ่านออก คือจิตคน มันอ่านออก มันรู้ได้ว่า อ้อ....เขาทุกข์ในสิ่งที่เขาขาด เรากลับสุข ในสิ่งที่เราขาด อันเดียวกัน ขาดอันเดียวกัน ที่อาตมาใช้คำว่า เรามาขอแบ่งปันความทุกข์ จากผู้ที่มีทุกข์ เราไม่ได้โกหก เราไม่ได้ เล่นลิ้น เราไม่ได้พูดหวาน พูดประโลม เป็นไปด้วยจริงที่เราทำ เพราะฉะนั้น คนจะเลียนแบบเรา ไม่ได้เลย จะไม่เข้าใจด้วยว่า จะทำอย่างไร บางคนที่บางศูนย์เขาบอกว่า อย่างนี้แหละ เขาอยากได้ที่ ศูนย์บางม่วง แต่เขาไม่รู้จะทำยังไง และเขาก็พูดภาษากันไม่ออกเพราะมันเป็นนามธรรม แล้วอะไร ที่เขาอยากได้ แต่เขารู้สึก เขาได้จากเรานี่แหละ ทั้งๆที่เราไม่มีรูปธรรมอะไรมา ไม่ได้มีวัตถุ ไม่ได้มีข้าวของ เงินทองอะไร มาแจกมาจ่าย มาให้อะไร อาตมาพูดเป็นภาษา ที่จะสื่อเป็นรูปธรรม ของเราออกไปว่า

เรามาอยู่ที่นี่เหมือนอย่างเราอยู่ ข้อสำคัญก็คือเรามารับใช้ เพราะเขาป้อแป้แล้ว เขาปวกเปียก ไม่รู้จะทำอะไรๆ เราก็ไปทำ แทนซะ แต่ทำแบบที่เราอยู่เป็นนั่นแหละ มันอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นนับวัน สองวัน สามวันระแวงว่า เราจะมาเอาอะไรจากเขา จะมาแย่งอะไร จากเขา ยิ่งเห็นสภาพของเรา รองเท้าก็ไม่มีใส่ด้วย จะมาเอาอะไรเขา เขาจะระแวงไปหมด แต่เสร็จแล้ว เราไม่ได้หวั่นหรอกเรื่องนี้ เพราะว่าเรารู้อยู่แล้ว ทำจริงๆเป็นจริงๆ เพราะฉะนั้น ในวันหลังๆ อีกไม่นานเขาก็เข้าใจ คนใต้ฉลาด คนใต้รู้ไว พิสูจน์แล้ว รู้ไว ฉลาด เข้าใจ อาตมาเทศน์ธรรมะอะไรเขาได้ยินหมดทั้งนั้น พอเราทำไป ถ่ายทอดออนไลน์ เขาก็ได้ยิน ด้วยอะไรต่ออะไรด้วย แม้จะเทศน์ที่นั่นด้วย ครั้งเดียวก็ตาม เขาก็จะได้อะไรต่ออะไร จากพวกนี้ทันที

สุดท้ายเสร็จงานถึงวันนี้แล้ว ปรากฏว่าที่มีปฏิกิริยาตอนแรกตอนต้นๆ พอมาถึง วันสุดท้ายนี้แล้ว สำเร็จหมดทุกแห่ง ที่ต้านหมดไป เห็นด้วย มีแต่จะให้เราอยู่ด้วย ตรงนี้เป็นความลึกซึ้งนะ อยากให้เราอยู่ด้วย เป็นความลึกซึ้ง มากเลย

จริงๆแล้วคนใต้ไม่ได้รับคนง่ายนะ แม้แต่จะให้เข้าบ้านไม่ง่ายเลย ตรงนี้เป็นคำตอบ ที่เราได้รับ คำตอบว่าเ ป็นผลสำเร็จ อาตมาก็ยังรู้สึกว่า อาตมาพูดไม่เก่ง อธิบายความจริงนี้ ไม่ค่อยออก ทุกคนฟังแล้วคงจะรู้ว่า อาตมาพยายามอธิบาย พวกคุณก็คง พอเข้าใจได้บ้างแล้วแหละ หลายคน คงมีปฏิภาณเข้าใจ ได้มากกว่าที่อาตมาพูด อาตมาพยายามจะสื่อ เพราะเรามีองค์ประกอบ ของการ เป็นพื้นที่ มีประสบการณ์ มีอะไรต่ออะไรหลายๆอย่างมาแล้ว พออาตมาพูดไป คุณก็มีข้อมูล เหล่านั้น มีองค์ประกอบเหล่านั้น ทำให้คุณเข้าใจ ที่อาตมาพยายาม จะสื่ออะไร สุดท้ายทุกคน พยายามเข้าใจ อยู่แล้ว คงจะได้เข้าใจไปมากกว่า ที่อาตมาพยายาม จะสื่อนี้ เพราะอาตมาสื่อไม่ไหวจริงๆ อธิบาย เป็นภาษา ไม่ค่อยออก แต่ก็พยายามจะสื่อ พยายามจะอธิบายความจริงอันนี้ให้ได้ว่า มันเป็นงาน ที่ประเสริฐมาก มันเป็นงาน ที่ยากมาก และเป็นงาน ที่จะกอบกู้ความเป็นมนุษย์ที่ล้มเหลว เพราะว่า สังคมทุกวันนี้ โลกีย์มันล้มเหลวมากจริงๆ มันโหดร้าย เห็นแก่ตัว และมีเล่ห์เหลี่ยม มอมเมากัน อย่างหยาบ จัดจ้าน มอมเมาไปด้วยอบายมุข แล้วก็หลงใหล จนในระดับสูง ก็ไม่เข้าใจเลย บริหาร บ้านเมืองอะไร ก็ส่งเสริมอบายมุขไปทั้งหมด ทั้งๆที่อบายมุข คือทางแห่งความเสื่อม

ก็ขอขอบคุณทุกคนเลย อาตมาเห็นความเหน็ดเหนื่อยของพวกเรา เหน็ดเหนื่อยจริงๆเลย อาตมา เห็นอยู่แล้ว พวกคุณ ก็เหมือนกัน เด็กๆด้วย นักเรียนของพวกเรา อาตมา ภาคภูมิใจ อาตมาปลื้มใจ ที่พวกเรา เด็กๆของพวกเราแต่ละคน ก็ช่วยอะไรต่ออะไร ได้มากมายเกินที่จะคาด

คราวนี้จึงเป็นการพิสูจน์สัจธรรม ยิ่งทำให้อาตมามั่นใจในสัจธรรมนี้มากที่สุดเลยว่า มันจะกอบกู้ มนุษยชาติทั้งโลก เพราะโลกทุนนิยม โลกโลกีย์นี้ไปไม่รอดจริงๆเลย มันเลอะเทอะเปรอะเปื้อน หยาบคาย จัดจ้านลงไปทุกวันๆ เพราะฉะนั้น เราจะต้องเอาอันนี้ขึ้นไป อาตมาจึงเทศน์เจตนาจงใจ ที่จะหักลำ ที่บางม่วง เมื่อวานนี้ คนใต้รับได้ ไม่มีใครต้านเลย ออกกระจายเสียง ทั่วไปหมด อาตมาว่า อาตมาพูดแรง พอใช้นะ แต่คนใต้เขาชอบแรงๆ ก็พยายามเทศน์ ในเวลาเท่านั้น เพราะไม่รู้อีกเมื่อไหร่ จะได้มาพูด ไม่ได้มีพื้นฐาน ไม่ได้มีอะไรมาเลย ต่างคนก็ต่างอยู่โลกีย์โลกๆ แล้วพยายาม ปรับหัว ปรับหาง ให้มาหาโลกุตระให้ชัด รู้สึกว่าเขาฟังได้ แล้วก็มีผลดี เห็นได้ชัดเลยเทศน์ไปๆ คนเพิ่มเข้ามาได้.......

ถ้าผู้ใดได้พิสูจน์คราวนี้ว่า เออ...คนเราถ้ามีความเข้าใจหรือว่ามีปีติ สิ่งเหล่านี้ได้ ทั้งๆที่เรามาทำ ไม่ได้มีเบี้ยเลี้ยง ไม่ได้มี รายได้อะไรสักคน มีแต่มาเสียสละมาจ่าย หลายคน มาควักกระเป๋าตัวเอง ด้วยซ้ำไป ไม่ใช่เล็กไม่ใช่น้อยแต่ละคนๆ แต่เรา ก็เห็นคุณค่า มันประเสริฐ อันนี้เราศึกษาธรรมะมาแล้ว เรารู้ว่าอะไรเป็นกุศล อกุศลเรารู้ดีแล้ว เพราะฉะนั้น ก็คงไม่มีปัญหาอะไร

ก็ขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับพวกเราทุกคนที่ได้ทำเพื่อมนุษยชาติอันนี้ขึ้นมา เป็นความจริงที่เกิด ปรากฏการณ์ ไม่รู้ล่ะว่าใคร จะรับได้หรือรับไม่ได้ อะไรก็แล้วแต่ แต่อาตมาว่า ชาวใต้หรือชาวพังงา ที่ได้ประสบการณ์คราวนี้ เขารับได้คราวนี้ไม่น้อย อาตมาว่าอย่างนี้"

- อันดามัน -



ขอกราบสวัสดี ชาวนักธรรมของคณะท่านจำลอง ศรีเมืองทุกท่าน และคณะพระทุกรูป
ดิฉัน คือ หนึ่งในผู้ประภัยคลื่นยักษ์สึนามิ บ้านเสียหายหมดทั้งหลัง ตอนนี้ดิฉัน ไม่มีบ้านแล้ว ชีวิตดิฉันตอนนี้มีความพะวงว่า ตัวดิฉันจะเอาปัญญาไหน ที่จะส่งให้ลูก เรียนจนจบ เพราะลูกดิฉัน ๔ คน หลานอีก ๑ คน ลูกคนโตเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงปี ๓ คนที่ ๒ เรียนคณะวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ราชมงคล คลอง ๖ คนที่ ๓ เรียน โรงเรียนเสนานุกูล ตะกั่วป่า ม.๕ คนที่ ๔ เรียนม. ๑ และ หลานเรียน ป.๔ อย่างไรก็ตาม จะขอตอสู้ชีวิตอีกต่อไป

และท่านโปรดรับรู้ไว้ด้วยว่า คณะทุกท่านทุกคนเป็นคนที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ช่วยเก็บขยะ แม้แต่ขัดห้องน้ำ พวกท่านก็มายอมทำเพื่อพวกเรา แม้วันนี้ ท่านจากพวกเราไปแล้วจาก ณ ที่ตรงนี้ คือ อบต.บางม่วงที่ดิฉันได้มาพักพิงอาศัยชั่วคราว แต่ดิฉัน มีความซาบซึ้งใจ ประทับใจ และละอายใจ คุณทำเพื่อพวกเราได้ ถ้าพวกเราทำได้ เหมือนอย่างพวกคุณในสังคมนี้ คนทุกคนคงจะเป็นคนดีขึ้น มากกว่านี้ พวกเราไม่มีอะไร จะฝาก นอกจากจะกล่าวคำว่า ขอขอบพระคุณคณะพวกคุณอย่างสูงส่ง ถ้าบุญมีเราคงได้พบกันอีก
สวัสดีค่ะ

สมยา สิทธิสงวนไทย

๔๑/๙๖ ม.๒ ต.บางม่วง ต.ตะกั่วป่า จ.พังงา
นี่คือสถานที่ บ้านน้ำเค็ม ซึ่งตอนนี้ไม่มีบ้านแล้ว ไปกับคลื่นยักษ์หมดแล้ว และถ้าจะติดต่อดิฉันได้ ดิฉันยังไม่ทราบ ชะตาชีวิตของตัวเองเลย ว่ามีบ้านเลขที่อะไร ขอโทษค่ะที่เขียนกับดินสอ เพราะหาปากกาไม่เจอ ขอให้คณะ ของพวกคุณทุกคนเดินทางโดยสวัสดิภาพ โชคดีทุกๆคนค่ะ

- สารอโศก อันดัที่ ๒๗๙ มกราคม ๒๕๔๘ -