กว่าจะถึงอรหันต์ - ณวมพุทธ -
พระวัฑฒเถระ


คำเตือนดีมีค่าแพง
ดุจทิ่มแทงด้วยปฏัก
เกิดสำนึกดียิ่งนัก
ตื่นใจภักดิ์รักในธรรม

ในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดมนั้น พระเถระนี้เกิดในตระกูลของคฤหบดีแห่ง ภารุกัจฉนคร มีชื่อว่า วัฑฒะ มารดาจึงได้รับการเรียกขานว่า วัฑฒมาตา

วันหนึ่ง วัฑฒมาตาได้ไปฟังธรรมในสำนักของภิกษุณี แล้วบังเกิดความศรัทธาแรงกล้า ปรารถนา ที่จะออกบวช ดังนั้นจึงได้ฝากวัฑฒะบุตรชายให้พวกญาติช่วยเลี้ยงดูแทน ตนเองจึงได้ออกบวช อาศัยอยู่ในสำนักของภิกษุณี บำเพ็ญ(เพิ่มพูน)ปฏิบัติธรรม วิปัสสนา(การฝึกอบรมปัญญา ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง) จนกระทั่ง บรรลุธรรมเป็น พระอรหันต์องค์หนึ่งในโลก

ครั้นเมื่อวัฑฒมาณพเติบโตเจริญวัยรู้เดียงสาแล้ว ก็ได้ออกบวชกับพระเวฬุทันตเถระ บวชแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนในพระพุทธพจน์ได้มาก เป็นพหูสูต(ผู้มีความรู้มาก) เป็นธรรมกถึก (นักเทศน์) เชี่ยวชาญในคันถธุระ(การศึกษาเรียนรู้พระคัมภีร์)

มีอยู่วันหนึ่ง ภิกษุวัฑฒะมุ่งหมายจะไปเยี่ยมภิกษุณีผู้เป็นมารดา แล้วรีบร้อน ไปด้วยความคิด ทะนงตนว่า

"เราได้ศึกษาธรรมมามาก มีความรู้ยิ่งในภายใน ฉะนั้นเราจะไปเยี่ยมมารดาแต่ผู้เดียว"

เมื่อได้พบกับพระวัฑฒมาตาเถรีที่สำนักภิกษุณีแล้ว กลับถูกภิกษุณีมารดาติติงทักท้วงว่า

"เพราะเหตุใดสำคัญยิ่งใหญ่นัก ท่านผู้มีความรู้ยิ่งในธรรม ผู้เป็นธรรมกถึก จึงได้มาที่นี้ แต่เพียง ผู้เดียวเล่า

ดูก่อนท่านวัฑฒะผู้เป็นบุตร กิเลสดุจหมู่ไม้ในป่าอย่าได้มีแก่ท่านในโลกในกาลไหนๆเลย ท่านอย่าเป็น ผู้มีส่วนแห่งทุกข์ร่ำไป เพราะมุนี(นักบวชผู้รู้แจ้งเข้าถึงธรรม) ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ตัดความสงสัย เสียได้ เป็นผู้มีความเยือกเย็น ถึงความฝึกฝนแล้ว ไม่มีอาสวะ ย่อมอยู่เป็นสุข

ฉะนั้นท่านพึง เพิ่มพูน มรรคผล เพื่อการบรรลุทัศนะ(การเห็นแจ้ง)อันวิเศษ เพื่อกระทำที่สุด แห่งทุกข์เถิด"

ภิกษุวัฑฒะได้ฟังคำตักเตือนอย่างนั้น จึงถามว่า

"ข้าแต่ภิกษุณีผู้เป็นมารดา ผู้มีความแกล้วกล้ากล่าวสอนเนื้อความนี้ เข้าใจว่าป่า(กิเลส) คือความรักในบุตร ย่อมไม่มีแก่ท่านแล้วหรือ"

พระเถรีได้ฟังความสงสัยนั้นแล้ว ก็ประกาศมรรคผลของตนว่า

"ดูก่อนท่านวัฑฒะ สังขาร (ความคิดปรุงแต่ง)อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นสังขารเลว แม้ขั้นอุกฤษฏ์-ปานกลาง-เล็กน้อยย่อมไม่มีแก่เรา เพราะอาสวะ (กิเลสที่หมักหมม ในสันดาน) ทั้งปวงของเรา ผู้ไม่ประมาทเพ่งอยู่ ได้หมดสิ้นไปแล้ว วิชชา ๓ (ความรู้แจ้งที่พาพ้นทุกข์คือ ๑. บุพเพนิวาสานุสสติ-ญาณ = ความรู้ที่ระลึกชาติ ของกิเลสตนได้ ๒. จุตูปปาตญาณ = ความรู้การเกิดและดับของกิเลสได้ ๓. อาสวักขยญาณ = ความรู้การหมดสิ้นไปของกิเลสได้) เราได้บรรลุแล้ว คำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้าเราได้ทำเสร็จแล้ว"

เมื่อพระเถรีแจ้งอรหัตตผลกับการทักท้วงแล้ว ทำให้ภิกษุวัฑฒะบังเกิดธรรมสังเวช (เกิดสำนึกดี จากความรู้สึกสลดใจในสิ่งที่ไม่ดี) คิดได้ว่า

"เราทำกรรมที่ไม่สมควรแล้วหนอ พระเถรีผู้เป็นมารดาของเรา แทงเราด้วยปฏัก (ไม้ที่ฝังเหล็กแหลม ที่ปลายใช้แทงสัตว์พาหนะ)อันใหญ่หนอ ได้กล่าวถ้อยคำ อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เหมือนคนที่คอย ช่วยเหลือให้แก่กัน"

ดังนั้น หลังจากฟังคำพร่ำสอนของพระเถรีแล้ว จึงกลับไปยังวิหารของตน ทำจิตให้ดำเนินไปแล้วด้วยดี ด้วยความเพียรยิ่ง ไม่เกียจคร้าน ตลอดทั้งกลางวัน และกลางคืน มีจิตตั้งมั่น กระทั่งปลอดโปร่ง จากโยคะ (กิเลสที่ผูกใจให้ติดอยู่ในกาม-ภพ-ทิฏฐิ-อวิชชา) บรรลุสันติอันสูงสุด สำเร็จเป็นพระอรหันต์

พระวัฑฒเถระมีวิชชา ๓ ได้เห็นอมตธรรม ชนะเสนาแห่งมารทั้งหลาย อาสวะทั้งภายใน ภายนอก ทั้งหมดตัดขาดได้แล้ว ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป สงสารคือความเกิดความตายสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีแล้ว

- ณวมพุทธ -
อังคาร ๘ ก.พ. ๒๕๔๘
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๓๙, ๔๖๓
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๒ หน้า ๙๒
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๔ หน้า ๒๙๓)

- สารอโศก อันดับที่ ๒๗๙ มกราคม ๒๕๔๘ -