ธรรมะประทับใจ (๑๐๖)


คอลัมน์นี้ได้รับบทความที่มีผู้ปรารถนาดีส่งมาให้ลงเป็นตัวอย่าง เพื่อสร้างค่าบุญนิยมสังคมอยู่เป็นสุข เธอเล่าว่า

ข้าพเจ้าทำงานอยู่ที่แผนกบัญชีบริษัทแห่งหนึ่ง มีลูกค้าประจำรายหนึ่งนำสินค้ามาส่ง และเบิกเงิน ชำระค่าสินค้าจำนวนนั้นไปแล้ว โดยมีบิลสินค้าของเขาใบหนึ่งค้างชำระเงิน ตั้งแต่ครั้งก่อนๆ ข้าพเจ้า จึงจ่ายรวมกับงวดล่าสุดนี้ แต่ลูกค้ารายนี้ไม่แน่ใจว่า ตนเอง รับเงินไปแล้วหรือยัง คิดว่าน่าจะรับเงิน ไปแล้ว ไม่น่าจะทิ้งไว้นานขนาดนี้ บิลที่ค้างชำระ ดังกล่าว มีจำนวนเงิน ๕๙,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นเก้าพันบาทถ้วน) ส่วนข้าพเจ้า ค่อนข้างมั่นใจว่า บริษัทยังไม่ได้ชำระเงินค่าสินค้า ในบิลดังกล่าว อย่างแน่นอน เพราะไม่ปรากฏหลักฐานการเซ็นรับเงิน เมื่อตรวจดูการจ่ายเงิน อย่างละเอียด โดยปกติการจ่ายเงินทุกครั้งของบริษัท จะต้องมีหลักฐาน และมีการเช็คยอดเงินเหลือ ประจำวันทุกวัน จึงมั่นใจว่า ยังไม่ได้จ่าย จึงจ่ายเงินจำนวนนั้นให้ลูกค้าไป

เมื่อลูกค้ารับเงินกลับไปเพียง ๒ วัน หวนกลับมาบริษัทบอกว่า "ไม่แน่ใจว่ารับเงิน ไปแล้วหรือยัง จึงนำเงินจำนวนนั้น มาส่งคืน ขอให้บริษัทตรวจสอบใหม่ ดิฉันเอง ก็จะกลับไปตรวจสอบ อย่างละเอียด อีกครั้งเช่นกัน"

เนื่องจากลูกค้าไม่มีระบบจัดเก็บเอกสารที่ดีพอ ลูกค้าหายหน้าไประยะเวลานาน เป็นเดือน ทิ้งเงิน ดังกล่าวไว้ให้บริษัท และไม่ยอมมารับคืน

วันหนึ่งลูกค้ารายนั้นมาส่งสินค้าที่บริษัท และมารับเงินค่าสินค้างวดใหม่ ข้าพเจ้า จึงถามเขาว่า เรื่องเงินจำนวนนั้นจะว่าอย่างไร ลูกค้าตอบว่า ไม่เอาคืน ไม่กล้ารับ ข้าพเจ้ารีบตอบว่า บริษัทของเรา ก็ไม่กล้ารับเหมือนกัน เพราะมั่นใจว่า ยังไม่ได้จ่ายให้จริงๆ เมื่อลูกค้ายืนยันหนักแน่น ที่จะไม่รับเงินคืน ในที่สุด บริษัทจึงมีมติ ให้ข้าพเจ้านำเงิน จำนวนดังกล่าว ไปทำบุญบริจาคให้เกิดประโยชน์ต่อไป โดยให้ใช้นาม ของข้าพเจ้า เป็นผู้บริจาคในครั้งนี้ และข้าพเจ้าได้เพิ่มเงินให้เป็นจำนวนเต็ม คือ ๖๐,๐๐๐ บาท (หกหมื่นบาทถ้วน) เพราะทราบว่ามูลนิธิธรรมสันติ มีความจำเป็น ในการรวบรวมเงิน เพื่อสร้างสถานพลาภิบาล เพื่อช่วยคนเจ็บคนป่วยในอนาคต

ยังมีเรื่องดีๆเช่นนี้เกิดขึ้นในสังคมไทย ปกติยุคนี้ ถ้าไปตามห้างสรรพสินค้า เจ้าหน้าที่ ทอนเงินไม่ครบ หากไม่นับให้ดี เงินทอนนั้นคงสูญเปล่า บางครั้ง ยังต้องไปต่อล้อต่อเถียง กับพนักงานเก็บเงิน เพื่อยืนยันว่า พนักงานทอนเงินให้ไม่ครบตามจำนวน

แม้แต่ธนาคารบางแห่งที่ตั้งอยู่ในห้างโลตัส จังหวัดนนทบุรี เจ้าทุกข์เล่าผ่านสื่อวิทยุว่า ตนเอง นำเงินสด จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ไปฝาก แล้วถามพนักงาน รับเงินว่า สามารถ กดเงินจาก เอทีเอ็มออกมาทันทีได้เลยหรือไม่ พนักงานตอบว่า ได้ เมื่อนำเงินฝากเข้าธนาคาร เรียบร้อยแล้ว จึงไปกดเอทีเอ็มในบริเวณเดียวกัน ตกใจมาก เมื่อพบว่าเงินทั้งหมด มีเพียง ๖,๐๐๐ บาท (หกพันบาทถ้วน) เท่านั้น เดิมมีอยู่แล้ว ๑,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน) จึงรีบไปพบพนักงาน ที่รับฝากเงิน พนักงานยอมรับ ความผิดพลาด เรื่องเช่นนี้ หากไม่ได้นำสมุดฝากเงินไป ขอให้ผู้ฝากเงิน ดูใบสลิป ที่ได้รับจากธนาคาร เพื่อความแน่ใจว่าเงินครบ ตามจำนวนที่นำไปฝาก หากพ้นจาก บริเวณนั้นแล้ว และไม่ได้อยู่ในวันเดียวกัน ใครจะรับผิดชอบกับความผิดพลาด ที่เกิดขึ้น จะจงใจ หรือไม่จงใจก็ตาม ผู้เดือดร้อนและเสียเปรียบ คือผู้ฝากนั่นเอง ผู้คนในย่านนั้น ต่างพูด เป็นเสียงเดียว กันว่า พนักงานการเงินที่ธนาคารแห่งนี้ เกิดความผิดพลาด บ่อยมาก หากทราบแล้ว ขอให้ผู้รับผิดชอบ ตักเตือนให้พนักงานของท่าน ทำงาน อย่างรอบคอบ และซื่อสัตย์ ต่อการบริการประชาชน มิเช่นนั้น ท่านอาจทำบาป โดยไม่รู้ตัว ที่ทำให้ประชาชน เดือดร้อน ผิดกับกรณีแรก ที่ผู้รับมีสิทธิ์ ยังยืนยัน ที่จะไม่รับ เพราะเกิดความไม่แน่ใจ จึงไม่กล้ารับ ยังมีสำนึกและกลัวบาปนั่นเอง

หากผู้คนในสังคมคิดได้ดังบุคคลตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นนี้ สังคมจะสงบสุข และประกอบบุญกุศล ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

(ข้อมูลจาก น.ส.อรสา วงษ์จันทร์)

- สารอโศก อันดับที่ ๒๗๙ มกราคม ๒๕๔๘ -