- ทีม สมอ. -

พุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหาริย์ '๔๘

นานมาแล้ว "อวิชชา" พาให้มนุษย์เดินหลงทาง พวกเขาสับสน ขาดสิ่งยึดเหนี่ยว ขาดความเชื่อมั่น เทวนิยมจึงก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของพวกเขา เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก และนำ คำสอน เรื่องกรรมมาแจกแจงชัดเจน ล้างอวิชชาให้มนุษย์ตื่นจากความหลงใหล ยึดมั่น เรียก
ความเชื่อมั่น กลับคืนมา "จงพึ่งกรรม กรรมดีในตนคือที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวได้อย่างแท้จริง" อเทวนิยม จึงเกิดขึ้น พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาแห่งอเทวนิยมด้วยเหตุฉะนี้

จากบทสัมภาษณ์ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ว่าด้วยความเข้าใจ เรื่องของเทวนิยมกับ อเทวนิยม อย่างละเอียด เพื่อความพ้นสงสัย เพื่อพ้นอวิชชา


ถาม หนังสือของพ่อท่านที่ใช้สอนในงานพุทธาฯ เรื่อง "พุทธเป็นอเทวนิยมอย่างนี้" ตอนเขียนมีจุดประสงค์อย่างไร ?

ตอบ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือวิถีพุทธ ตอน ๒ ตอนแรกเอาไปใช้สอนในงานพุทธาภิเษกฯ ปลุกเสกฯ ปีที่แล้ว ซึ่งจบแล้ว ครบไปแล้ว เล่มนี้ก็คือตอนต่อจากเล่มนั้น แต่เขียนมาถึงตอนนี้ ได้กล่าวถึง ความชัดเจนที่แบ่งให้รู้ว่าลักษณะอย่างไรที่เป็นเทวนิยม ลักษณะอย่างไรที่เป็นอเทวนิยม เป็นการ แจกแจง ถึงความเป็นจริงของสารสัจจะของความเป็นเทวนิยมกับอเทวนิยม ที่แตกต่างกัน อย่างชัดๆ เล่มนี้อาตมาแบ่งประเด็นความแตกต่างเอาไว้ถึง ๑๐ ข้อ หรือ ๑๐ ประเด็น แล้วหยิบมาขยายความ มาอธิบายทีละประเด็น เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ก็คือ การอธิบาย ความแตกต่างระหว่างเทวนิยม กับอเทวนิยมใน ๑๐ ประเด็นนั่นแหละ จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้รู้ให้จริงๆเลยว่า พุทธนั้นเป็นอเทวนิยม พระพุทธเจ้านั้นเป็นศาสนาอเทวนิยม เป็นศาสนาที่ไม่ได้ไปนับถือพระเจ้า เป็นศาสนาที่นับถือสารสัจจะ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ซึ่งเกิดมาท่ามกลางศาสนาเทวนิยม ท่านบุกเบิก ของท่านมา แต่มาถึงทุกวันนี้ศาสนาพุทธของเรา กลายเป็นเทวนิยมไปเกือบหมดแล้ว มันไม่เป็น อเทวนิยม มันไม่รู้เรื่อง ความจริงมันเพี้ยนไปจนไม่ประสีประสากันแล้ว

คือไม่สะดุดใจอะไร ไม่ฉุกคิดอะไรเลยว่าเราเป็นพุทธ หรือเราไม่เป็นพุทธ ถ้าเรากลายไปเป็นเทวนิยม ก็จะไม่ใช่อเทวนิยม ก็ไม่ใช่พุทธ อันที่จริงทุกคนก็รู้ว่าศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาเทวนิยม ไม่ใช่ศาสนา นับถือพระเจ้า เป็นศาสนานับถือกรรม แต่ถ้าไม่เข้าใจในรายละเอียดของความเป็น อเทวนิยม อย่างชัดเจน หรือแม้แต่เทวนิยมเองก็ไม่รู้เรื่อง ไม่ประสีประสา มันก็จะตกไปเป็นเทวนิยมโดยไม่รู้ตัว จมอยู่ในเทวนิยมกันไป จนจารีตประเพณี วัฒนธรรม พฤติกรรมที่ปฏิบัติประพฤติกันอยู่ กลายเป็นพวก เทวนิยมไปหมดแล้วในทุกวันนี้ขณะนี้ เพราะฉะนั้นอาตมาจึงจำเป็นต้องแจกแจง ชี้แจง ยืนยัน อธิบาย บอกให้รู้ว่าเราออกนอกรีตนอกขอบเขตของพุทธไปแล้วนะ ไปเป็นเทวนิยมกันเกือบสิ้นเกลี้ยงแล้วนะ ความเป็นอเทวนิยมที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้มันจะเหลือไหม มันจะมีเหลืออยู่เป็นเชื้อของศาสนาพุทธ หรือเปล่า เพราะเทวนิยมมันเป็นกันทั่วโลก ศาสนาต่างๆนานาเกือบทั้งหมด ล้วนแต่เป็นเทวนิยมทั้งนั้น มีศาสนาพุทธนี้แหละ ที่เป็นอเทวนิยมโดยเฉพาะส่วนที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งเป็นความพิเศษอย่างหนึ่ง อาตมายืนยันว่าจะต้องทำให้ชาวพุทธรู้แจ้งเห็นจริงกันในเรื่องนี้ ไม่งั้นก็ไปไม่รอดไม่ได้เนื้อหาอะไร แม้จะเป็น พุทธศาสนิกชนมาหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่เราก็ไม่ได้เรื่องอะไร



ถาม จุดที่เพี้ยน ที่มันเปลี่ยนอยู่ตรงไหน ?

ตอบ เหตุที่มันเพี้ยน เปลี่ยนไปก็เพราะความอวิชชาของคน คนเรามีอวิชชามาก่อน คือมีความไม่รู้ ความไม่ฉลาดในสัจธรรม แล้วก็มาเจอพุทธเข้า แต่ของพุทธนี่มันเป็นสิ่งพิเศษมันไม่ใช่สามัญ มันเป็นความลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นคนไม่ฉลาดในสัจธรรมก็ไม่ค่อยรู้ แล้วก็ไปยึด เอาสิ่งที่เข้าใจผิด เอาสิ่งที่ไม่รู้ แล้วก็เข้าใจผิด เลยปฏิรูปศาสนาของตนเองมาเรื่อยๆ แล้วก็ถ่ายทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ ก็เลยทำให้เข้าใจผิดว่าศาสนาพุทธเป็นอย่างนี้ แต่แท้จริงมันแปรเปลี่ยนไปแล้ว เหมือนดังที่ พระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้ว่า ในอนาคต ซึ่งสมัยพุทธกาลตอนนั้นยังไม่เกิดแต่อนาคตจะเกิดก็คือ เหมือนกลองอานกะที่ผ่านเวลาไปนานๆ ไม้ก็แตกลิ หนังก็ขาด เกิดการชำรุด คนก็เอาไม้เอาหนัง ส่วนนั้น ส่วนนี้มาเติมแทนของเก่า แทนไปเรื่อยๆๆๆ จนกระทั่งเดี๋ยวนี้กลองใบนั้น ถึงแม้มันจะชื่อว่า กลองอานกะอย่างเดิม แต่ตัวเนื้อไม้ ตัวหนัง ตัวองค์ประกอบของกลอง มันเปลี่ยนไปเป็นอันอื่น หมดแล้ว มันไม่ใช่ของเก่าแล้ว แต่ก็ยังเรียกชื่อเดิมอยู่ เหมือนกับเราเรียกชื่อของศาสนาพุทธ แต่เนื้อๆ มันถูกเปลี่ยนไปหมดแล้ว กลายเป็นอะไรอื่นที่มันไม่ใช่เนื้อเดิมที่เป็นพุทธแท้ๆแล้ว นี่เป็นคำตรัส ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงพยากรณ์ไว้ตั้งแต่มันยังไม่เกิด จนเดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างที่ท่านตรัสไว้แล้ว ไม่ได้ผิดเพี้ยนเลย



ถาม การที่พ่อท่านจะดึงเนื้อหาของพุทธแท้ๆกลับมา พ่อท่านจะเน้นตรงไหน ?

ตอบ ก็ให้มาปฏิบัติกรรมกันจริงๆสิ ให้กรรมเป็นสุจริตกรรม ให้กรรมทุกตัวเป็นสัมมาทิฐิจริงๆ อย่างที่เราทำมาแล้ว อาตมาทำงานมา ๒๐-๓๐ ปี พวกเราก็ได้ผลโลกุตระของศาสนาพุทธจริงๆ หรือเป็นอเทวนิยมจริงๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ เราไม่ต้องไปบนบานศาลกล่าว พวกชาวอโศกเราไปบนบาน ศาลกล่าวกันที่ไหนล่ะ เราไม่ต้องจุดธูปจุดเทียนบูชา ไม่ต้องอธิษฐานขอนั่นขอนี่ ไม่ต้องรดน้ำมูก น้ำมนต์ ไม่ต้องสวดอ้อนวอนอะไรต่างๆนานา พวกเราไม่มีสิ่งเหล่านี้ อย่างนี้เป็นตัวอย่างง่ายๆ



ถาม สมัยแรกๆที่พ่อท่านสอนพวกเรา ทำไมไม่ได้พูดถึงเรื่องเทวนิยม หรืออเทวนิยม

ตอบ สอนเรื่อยมาเลย เพียงแต่ตอนนี้เอาภาษามาใช้ แต่ก่อนนี้ไม่ได้พูดไว้ชัดไม่ได้ระบุภาษาว่า เทวนิยม - อเทวนิยม แต่ก็พาทำแล้ว และค่อยๆแยกแยะอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงตอนนี้ ก็เอายี่ห้อ มาปิดให้รู้ว่านี่อเทวนิยมนะ อย่างนี้เทวนิยมนะ พวกเราก็เข้าใจได้ทันที ซึ่งมันไม่ง่าย เหมือนกันนะ และคนไม่ค่อยเชื่อด้วย ไม่ค่อยเชื่อว่า ถ้าไม่อธิษฐานขอ ไม่อ้อนวอนขอ แล้วจะอยู่รอด เหรอ เหมือนกับอย่างที่ศาสนาเทวนิยมทั้งหลายแหล่เขาสอนว่า พุทธไม่ใช่ศาสนาหรอก เป็นแค่ปรัชญา เพราะไม่มีพระจิตวิญญาณ ไม่มีพระเจ้า ฉะนั้นจะเป็นศาสนาได้ไง มันเป็นแค่ปรัชญา แล้วจะไป ช่วยคน ได้ยังไงอะไรต่างๆนานา แต่เราก็บอกว่าพุทธอย่างนี้และช่วยคนได้ และเราก็ทำให้เห็นอยู่ เป็นเครื่องยืนยัน



ถาม พวกเราหลายคนยังมีความเป็นเทวนิยม เพราะมันฝังลึกมานาน แม้เข้าใจเหตุผลแล้วแต่ใจลึกๆ ก็ยังไม่กล้าแข็งข้อกับมัน

ตอบ มีสัมมาทิฏฐิกันเท่านั้นแต่กิเลสมันยังมีฤทธิ์กวน เหมือนคลื่นวิทยุถูกกวน เราจึงยังไม่ชัดเจน เหมือนคนเมา คลุมๆ เครือๆ มันยังไม่กระจ่าง ศรัทธายังไม่เต็มที่ ปัญญายังไม่เต็มที่ ก็เลยเป็นอย่างนั้น


ถาม แล้วคำว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่"

ตอบ นั้นเป็นคำแก้ตัวของเขาเอง ไม่เชื่ออย่าลบหลู่เป็นคำพูดประโลมใจไปเท่านั้นเอง แต่ที่นี้ไม่เชื่อ เราก็พิสูจน์สิ ไม่ใช่ลบหลู่หรือไม่ลบหลู่ แต่ว่าเราจะพิสูจน์ให้เห็นจริง เมื่อพิสูจน์จริงแล้วอันไหน ที่มันดีกว่า แน่นอนดีกว่ามันก็ต้องเหนือกว่าอันที่ไม่ดี หรืออันที่ถูกต้องกว่า มันก็ต้องเหนือกว่า อันที่ไม่ค่อยถูกต้อง หรือไม่ถูกต้องเลย โดยภาษามันก็พูดชัดๆอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เราจะยืนยัน อย่างไรมันก็ต้องทำให้รู้แจ้งเห็นจริง แล้วก็ต้องยืนยันสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ดีกว่า ใครจะไปโง่เอาสิ่งไม่ดี ไปเอาสิ่งไม่ถูกต้อง และสิ่งที่ไม่ถูกต้องมันก็ต้องบอกกันพูดกันว่า ไม่ถูกต้อง ก็เหมือนว่าไปพูดลบหลู่ เพียงแต่รู้มารยาทอันพอเหมาะเท่านั้น



ถาม สมมุติดิฉันก็มีเหตุผลในการเชื่อเทวนิยม แต่ถ้าเห็นศาลพระภูมิแล้วไปทำอะไรลบหลู่ ก็รู้สึกว่า จะไม่กล้าก็เลยบอกตัวเองว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ แต่บางคนเขาบอกว่า อย่างนี้แสดงว่า เรายังมีใจ เป็นเทวนิยมอยู่

ตอบ ใช่



ถาม แต่จริงๆ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ตีความอย่างไร ?

ตอบ ถ้าเราจะแปลคำว่า อย่าลบหลู่ หมายถึง เราประนีประนอมกับคนที่เขายังเชื่อถือ ไปทำไปต้าน แล้วก็เหมือนกับบาดอกบาดใจกัน ก็อย่าไปลบหลู่ของเขา เขาเชื่อก็เรื่องของเขา เขาไม่เชื่อก็แล้วไป ก็อย่างนั้น อย่าไปลบหลู่ จะไปลบหลู่เขาทำไมล่ะ เมื่อเขาเชื่ออย่างนั้น พูดไปแล้วเขาก็ยังเชื่อของเขาอยู่ ก็ต้องปล่อยเขาไป จะไปข่มไปลบหลู่อะไรเขาล่ะ เพราะฉะนั้นมันก็อยู่ที่ใครจะพิสูจน์อย่างไร พิสูจน์ จนกระทั่งถึงที่จบ เป็นวิทยาศาสตร์จริงๆเลย พิสูจน์แล้วก็ได้คำตอบเองแหละ คนได้คำตอบแล้ว ก็ได้แล้วจริงๆ ที่บอกว่าอย่าลบหลู่ก็จริง ก็ดี ถึงแม้ไม่เชื่อ เราก็อย่าไปลบหลู่เขา อย่าไปสร้าง ความบาดหมาง ข่มกัน เขาจะเชื่อก็เชื่อไป เราชัดเจนแล้วเราจะเชื่อของเรา เราก็เชื่อไป เขาไม่เชื่อ ก็ปล่อยเขาทำไงได้ แต่เมื่อพูดกันชัดๆแยกถูกแยกผิด แยกดำแยกขาว ก็ฟังได้ว่าเหมือนมีการลบหลู่ มันเลี่ยงไม่ได้แล้วเมื่อถึงคราวพูดความจริงกันชัดๆ ก็จำนน


ถาม ในงานนี้พวกเราก็ไปนอนข้างฮวงซุ้ย มีเจดีย์อะไรเยอะ ก่อนนอนก็อยากกราบเจ้าที่เจ้าทาง ขอให้เวลานอนอย่าเกิดอะไรขึ้น อย่ามาทำร้ายเรา แต่ดิฉันรู้สึกว่าไม่ใช่หรอก ที่คิดอย่างนั้น มันเป็น สัญญาเก่าของเรา ดิฉันเลยไม่ทำ ก็นอนแบบทำใจสงบไม่ได้คิดอะไรก็หลับสนิททุกคืน ตอนกลับ ดิฉันก็อยากขอบคุณสถานที่ ต้นไม้ที่ทำให้เราอยู่อย่างปลอดภัยก็เลยกราบต้นไม้ กราบขอบคุณสถานที่

ตอบ ก็ได้ คุณก็อ่านใจคุณเองว่า เรายังมีใจที่ว่ามันมีอะไรพิเศษเป็นนามธรรมที่เรายังหลงเชื่อ เรายัง เคารพ หรือว่าเรายังกลัว ตัวเองเรายังมีอะไรอยู่ ซ้อนอยู่หรือไม่ มันซ้อนอยู่ในใจเราหรือไม่ ถ้ามีไม่ พลังงานอะไรพวกนี้ หรือรู้ความจริงว่ามันไม่มีจริงๆ แต่เราจะกราบเคารพขอบคุณแผ่นดิน ขอบคุณ แม่น้ำ ขอบคุณอากาศ ขอบคุณพระอาทิตย์ พระจันทร์ที่มีประโยชน์ส่วนไหน ก็เป็นการแสดง กตัญญูกตเวที เป็นการระลึกรู้คุณของสิ่งนั้นจริงๆ เราก็ทำได้ไม่มีปัญหาหรอก มันเป็นมารยาทสังคม เป็นพฤติกรรมอันประเสริฐของมนุษย์ที่เป็นคนรู้จักบุญคุณ รู้จักมีน้ำใจ ขอบคุณสิ่งที่ให้ประโยชน์แก่เรา หรือเราได้ใช้ได้อาศัย ได้คุณค่าจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นการระลึกขอบคุณยกย่องคารวะ อันเป็นคุณสมบัติ ที่ดีงามของผู้ประเสริฐ ซึ่งมันก็ไม่เสียหายอะไรเลย ดีเสียด้วยซ้ำ แต่ต้องอ่านใจให้ชัด


 

ถาม แบบใจมันยังก้ำกึ่ง

ตอบ ไม่กึ่งหรอก ต้องชัดๆ ไม่ก้ำกึ่ง ถ้าไม่งั้นเราก็ไม่ต้องกราบ ไม่ต้องเคารพอะไรกันเลยพอดี ซึ่งจริงๆ ทุกวันนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ปรินิพพานไปแล้ว ไม่อยู่แล้ว ไม่มีแล้ว และไม่เหลืออะไรแล้ว ถึงเราจะทำ อะไรไม่ทำอะไร พระพุทธเจ้าก็ไม่รู้เรื่องหรอก แต่เราก็กราบพระพุทธเจ้าอยู่ เคารพพระคุณ กตัญญู กตเวที กราบเคารพจริงๆ แล้วมันจะไปผิดอะไร มันเป็นความประเสริฐ เป็นความดีงาม มันจะไป แปลกอะไร ไม่ต้องเอาอะไรไกลถึงพระพุทธเจ้า เอาพ่อแม่ที่ตายไปแล้ว เรากราบระลึกถึงท่าน ขอบคุณที่พ่อแม่ได้ให้สิ่งที่ดีงามแก่เราไว้ จนมีชีวิตที่เราเองได้รับสิ่งที่ท่านให้ไว้ หรือจะขอบคุณ ที่ท่านได้ให้มรดกไว้ก็ตาม ขอบคุณที่ท่านได้สั่งสอน หรือขอบคุณที่ท่านได้เลี้ยงดูเรา มีชีวิตมา จนทุกวันนี้ จนมีความรู้ จนเลี้ยงตนได้ อะไรต่างๆ มันก็เป็นความประเสริฐของมนุษย์ ไม่ได้เสียหาย อะไร



ถาม ถ้าดิฉันคิดถึงพ่อแม่ แล้วก็บอกว่าให้พ่อแม่คุ้มครองดิฉันด้วย

ตอบ อย่างนั้นแหละเทวนิยม ถ้าเราหวังพึ่งเมื่อไหร่ ขออำนาจพิเศษช่วยเมื่อไหร่ก็ยังเป็นเทวนิยม ยังไม่แข็งแรงมั่นใจในอัตตา หิ อัตตโน นาโถ ยังรบกวนผู้อื่นอยู่ ที่จริงคือ ยังไม่หมดเชื้อเทวนิยมที่ติดมา ต้องให้ชัดเจนในส่วนที่ระลึกถึง ให้อุ่นใจ กับระลึกขออย่างหลงผิด



ถาม กรณีที่เรากำลังรู้สึกแย่ แล้วนึกถึงพ่อท่านก็มีอาการดีขึ้นทันที

ตอบ นั่นเป็นใจของเรา สบายใจ ใจของเรามันสบาย และเมื่อใจสบายก็มีกำลังใจจริงๆ เป็นพลังงาน ทางจิต ที่มีพลัง ซึ่งมันมีได้จริงๆ มันอบอุ่น มันมีเพื่อน ไม่ว้าเหว่


ถาม เป็นเทวนิยมไหมคะ ?

ตอบ จริงๆก็หวังพึ่งอย่างนั้น จะว่าเป็นเทวนิยม ก็มีส่วน หรือว่าจะไม่ใช่เทวนิยม แต่ว่าอาศัย ปฏิกิริยาของจิต ซึ่งมันมีลักษณะเป็นเช่นนั้นก็ได้ เพราะว่าเราเองเราระลึกถึงว่าผู้นี้นะท่านช่วย ท่านน่าระลึกถึง เพราะว่าท่านมีอะไรเป็นที่พึ่งที่ดีๆ แล้วเราก็พึ่งท่าน ยังไงๆจิตเราก็รู้สึกขอฝากท่านไว้ คือเราเหมือนได้ปลดปล่อยอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่เป็นฤทธิ์เป็นเดชอะไรอย่างนั้น อย่างนี้ก็ดูไม่เป็น เทวนิยม สำหรับผู้ที่ยังไม่แข็งแรง ยังมีกันเป็นธรรมดา แต่ระวังจะกลายเป็นลักษณะเทวนิยมเข้าแทรก



ถาม ตอนแม่ใกล้ตาย น้องชายบอกให้แม่คิดถึงพระ แม่ก็ทำหน้าเหมือนสับสน น้องสาวรีบพูดต่อว่า "ท่านถิรจิตโต" แม่ทำหน้ารับรู้ทันที และจากไปด้วยรอยยิ้มบนใบหน้า อย่างนี้เกี่ยวไหมคะ

ตอบ เกี่ยว คือคนเรานั้นสบายใจ แม้เทวนิยมเขาว่าได้ไปอยู่กับพระเจ้า เขาได้ไปถึงพระพุทธเจ้า เขาก็ชื่นใจ หรือแม้ไม่ต้องถึงกับเอาไปอยู่กับพระพุทธเจ้า เพียงได้ไปอยู่ในที่ไหนที่มันดี อยู่กับคนที่ดี เราได้ไปพบกับคนที่ดี มันก็สบายใจได้ ก็มีนัยะคล้ายกัน


ถาม ถ้าตรงนั้นเป็นเจดีย์ สมมุติว่าเราเป็นอเทวนิยม เราจะแขวนอะไรกับเจดีย์ เราก็ไม่ต้องยกมือไหว้

ตอบ แขวนก็แขวน แต่ถ้าเผื่อว่าเราจะทำ เราก็ทำด้วยเชิงคารโว แล้วทำด้วยครุกรณะ มีความเคารพ ในสิ่งที่ควรเคารพ เราก็แสดง มันก็เป็นมารยาทของสังคม เป็นพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ในโลก เขารู้ว่าสิ่งควรคารวะก็คือคารวะ สิ่งที่จะต้องเป็นระดับ เป็นชั้น อันนี้เหนือกว่าอันนี้ อันนี้สูงกว่าอันนี้ อันนี้จัดชั้นไว้อย่างนี้ๆ เรารู้ว่าเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐ ก็คือสภาพที่บอกสภาวะของแต่ละระดับ เมื่อเข้าใจแล้วก็ทำให้ถูกต้องตามสภาวะอย่างนั้นๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่มีภูมิปัญญา ที่รู้จักโลก รู้จักสังคม รู้จักมารยาท รู้จักสิ่งที่เป็นไปในโลกเขาทำกัน เราไม่ได้เป็นคนหูหนาตาเถื่อนนี่



ถาม ความเชื่อแบบเทวนิยมจะมีผลต่อปัจเจกบุคคลต่อสังคม และต่อชาติอย่างไร

ตอบ มันเป็นอุปาทานที่แท้จริง ก็มีผลต่อแต่ละบุคคล สังคมที่เขาเชื่อกันมันก็เป็นผลกับสังคมด้วย ถ้าไปยึดถือ การที่จะบอกว่าอุปาทานนี้ไม่มีประโยชน์ก็ไม่ได้ อุปาทานก็มีประโยชน์ อย่างศาสนา ที่เป็น เทวนิยมเขาอุปาทานยกย่องพระเจ้าเป็นอัตตวาทุปาทานแท้ๆ แล้วเอาพระเจ้าเป็นเครื่องยึดถือกัน ทุกคนต้องเคารพ ทุกคนต้องเชื่อฟัง ทุกคนต้องเกรงกลัว พอเขาบอกว่านี่พระเจ้า มันก็สามารถ ที่จะทำให้ทุกคนขยาดกัน หรือว่าเกรงกลัวกัน หรือว่าหยุดในสิ่งที่ควรหยุด ระงับในสิ่งที่ควรระงับได้ รวมทั้งให้พลังที่จะสร้างสรรค์ ในสิ่งที่ควรสร้าง แม้ให้ทำสิ่งที่เหน็ดเหนื่อย อุตสาหะ พากเพียร เขาก็ยังทำได้ มันก็เป็นประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจแล้ว เราก็พยายามยึด อย่างพวกเรายึดถือ โดยเอาตัวอย่างพระพุทธเจ้า เอาตัวอย่างสงฆ์ เอาตัวอย่างอาตมา เออ! อย่างนี้ดี แล้วก็ยึดถือ แล้วเราก็พยายามที่จะทำตาม เราเชื่อถือว่าอย่างนี้แหละดี มันก็เป็นประโยชน์ที่จะทำให้เรา ทำสิ่งที่ดี ให้ได้ อย่างนี้ท่านห้าม หากจะบอกว่าที่เป็นการยึด ก็ยึด ยึดว่าเออ! อย่าทำนะ ทำแล้วท่านไม่ช่วยเรานะ ทำแล้วท่านไม่รักเรา ทำแล้วท่านไม่ให้เราเข้าพวกนะ อะไรอย่างนี้ เราไม่ทำ มันก็ยังเป็นประโยชน์



ถาม อย่างนี้แสดงว่าเทวนิยมจะคงมีคู่กับอเทวนิยมไปตลอด

ตอบ ไม่ใช่คู่ เทวนิยมมีอยู่ในโลกนิรันดร์ เมื่อเรารู้จักอันนี้แล้วเราก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่น จะยึดถือ สมาทาน ใช้ให้เป็นประโยชน์เท่าที่ควรก็เอา แต่ไม่ใช่เอามาบำเรอตน ไม่ใช่เอามาเห็นแก่ตัว เอามาใช้ เป็นประโยชน์ส่วนตัว พลังงานของมันมีจริง พลังงานที่เกิดจากเรายึดแล้วมันก็มีพลังงาน
ส่งเสริมจริง แล้วทำให้เราสามารถเกรงกลัว สามารถที่จะยับยั้งอะไรต่ออะไรได้ มันก็เป็นประโยชน์น่ะ แต่เราอย่าไปเข้าใจว่าเป็นพลังงานอันโน้น อันนี้นอกตัวที่มามีฤทธิ์มีเดชอะไรกับเราเท่านั้นเอง ถ้าเรียกว่า เราสามารถใช้สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ช่วยอุปการะได้ ช่วยทำให้เราบรรลุผล ถือว่าเป็น เครื่องอาศัย เฉยๆก็ได้



ถาม ถ้าเราแยกแยะไม่ถูกต้อง เปรียบเทียบกับคนที่แยกแยะได้ถูกต้อง มีผลอย่างไร

ตอบ ถ้าไปยึดถือในสิ่งที่ไม่รู้จักรายละเอียดอย่างแท้จริง คนยึดถือเทวนิยมก็จะได้อย่างโลกีย์เท่านั้น ไม่เข้าสู่โลกุตระ เมื่อเขาไม่เข้าใจแล้วยึดถือ ก็จะไม่ไปสู่โลกุตระ ไม่มีการปล่อยวาง แล้วก็จะหลงเชื่อ อะไรต่ออะไรที่ลึกลับยิ่งขึ้นๆ


ความเข้าใจเรื่องกรรมอย่างแท้จริง
นำเราไปสู่การพึ่งตน พึ่งกรรมดีในตน
นำเราไปสู่การเริ่มต้นละลดกิเลสความชั่วทั้งปวง
นำเราให้เกิดความเชื่อมั่นว่า
กรรมที่เราทำแท้ๆ เป็นที่พึ่งของตน
ส่วนอื่นสิ่งอื่นเป็นอุปการะเท่านั้น
กรรมและสิ่งที่เป็นอุปการะ นำเราสู่ความเป็นอเทวนิยม

- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๐ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ -