กว่าจะถึงอรหันต์ ทำทานยิ่งใหญ่ให้ผล พระปิลินทวัจฉเถระ เคยเกิดอยู่ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ตอนนั้นได้เป็น นายประตูอยู่ที่นครหังสวดี แต่สามารถเก็บรวบรวมทรัพย์สมบัติ ไว้ในเรือนมากมายมหาศาล มีอยู่วันหนึ่ง เขาแลดูกองสมบัติที่มีมากจนนับไม่ถ้วนนั้น แล้วเกิดความคิดขึ้นมาว่า "เรามีทรัพย์มากมายเหลือล้น แม้แต่พระราชาพระนามว่า อานนท์ ก็ยังต้องเชื้อเชิญเรา ทรัพย์ทั้งหมด นี้เราน่าจะใช้ในทางที่ถูก บัดนี้พระปทุมุตตรพุทธเจ้าอุบัติแล้วในโลก สมบัติเหล่านี้สมควรจะ ถวายทาน แด่พระศาสดา เราจะเป็นคนแรกในการถวายทานที่ใครๆไม่เคยถวาย" ตกลงใจแล้ว จึงหาช่างให้ทำเครื่องอุปโภคและบริขารต่างๆอย่างมากมาย เช่น ฉัตร ผ้า บาตร มีดโกน เข็ม ที่ตัดเล็บ ผ้ากรองน้ำ พัด ประคตเอว ฯลฯ แต่ละชนิดอย่างละ ๑๐๐,๐๐๐ อัน แลัวทำบุญ ถวายมหาทานนี้ แด่พระปทุมุตตระพุทธเจ้าพร้อมด้วยหมู่สงฆ์ ถวายทานทั้งอาหาร ของขบฉัน ต่างๆ ตลอด ๗ วันทีเดียว ในวันสุดท้ายพระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์เขาไว้ว่า "ผู้ถวายทานอันประเสริฐสมบูรณ์ไม่พร่องดังนี้จะได้เป็นจอมเทพ(หัวหน้าของเทวดา) ๑,๐๐๐ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ๑,๐๐๐ ครั้ง เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ นับครั้งไม่ถ้วน แล้วที่สุด จะเป็นที่รักและเคารพของชนทั้งปวง ทั้งเทวดา(ผู้ที่จิตใจสูงมีศีล) อสูร(ผู้ที่จิตใจต่ำไร้ศีล) ภิกษุ-ภิกษุณีและคฤหัสถ์ทั้งหลาย แล้วจะเป็นผู้หมดสิ้นกิเลสทั้งปวงเข้าถึงนิพพาน" เขาปีติยินดีนักในคำตรัสของพระพุทธองค์ ได้กระทำบุญให้ทานตลอดชีวิต ตายแล้วก็ได้รับสุคติ(ทางดำเนินไปดี)ดังพยากรณ์นั้น กระทั่งยุคสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม เขาเกิดอยู่ในตระกูลพราหมณ์แห่งนคร สาวัตถี แคว้นโกศล มีชื่อว่า ปิลินทะมีโคตรว่า วัจฉะ ใครๆจึงพากันเรียกเขาว่า ปิลินทวัจฉะ แล้วก็เพราะบุญเก่าที่สะสมมา ทำให้เขาเป็นผู้ที่มากด้วยความสลดใจในการเวียนว่ายตายเกิด จึงออกบวชเป็น ปริพาชก(นักบวชพวกหนึ่งที่ชอบสัญจรไปที่ต่างๆ เพื่อแสดงทรรศนะปรัชญา ทางศาสนาของตน) ศึกษาจนสำเร็จ วิชาจูฬคันธาระ มีฤทธิ์อย่างโลกีย์สามารถท่องไปในอากาศได้ ทั้งยังรู้จักวิชาดักรู้จิตของคนอื่น ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังในกรุงราชคฤห์นครหลวงแห่งแคว้นมคธ ได้รับลาภยศหลั่งไหลมามากมาย มีอยู่วันหนึ่ง พระพุทธเจ้าองค์สมณโคดมเสด็จเข้ามาในกรุงราชคฤห์ ปิลินทวัจฉปริพาชก มีโอกาส ได้ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดา บังเกิดความเลื่อมใสอย่างยิ่ง คิดว่า "พระสมณโคดมนี้ คงรู้จัก วิชามหาคันธาระ ซึ่งสูงส่งกว่าเราเป็นแน่ เพราะเหล่าอาจารย์ ทั้งหลาย กล่าวว่า วิชามหาคันธาระอยู่ในที่ใด วิชาจูฬคันธาระย่อมเสื่อมในที่นั้น ถ้าอย่างนั้น เราน่าจะเข้าไป หาท่านขอเรียนวิชา" ดังนั้นจึงเข้าเฝ้าพระศาสดา แล้วกราบทูลว่า เมื่อได้บรรพชาแล้ว พระศาสดาทรงให้กรรมฐาน(วิธีปฏิบัติลดละกิเลสอย่างเหมาะสมกับฐานะ)
แก่ภิกษุปิลินทวัจฉะนำไปวิปัสสนา (ฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง)
ทั้งๆที่จริงแล้ว ภิกษุปิลินทวัจฉะ มุ่งหวังจะเรียนวิชาฤทธิ์ทางโลกีย์ แต่พระศาสดาทรงสอนวิชาทางโลกุตระ(เหนือ ท่านพากเพียรบำเพ็ญเพื่อให้สำเร็จวิชา ไม่นานนัก ก็ได้บรรลุธรรม สำเร็จเป็น พระอรหันต์องค์หนึ่ง ในพระพุทธศาสนา ได้คุณวิเศษหลายอย่างแม้ฤทธิ์ทางโลกีย์ด้วย ได้แก่ ปฏิสัมภิทา ๔ (๑. รู้แตกฉานในเนื้อหาสาระ ๒. รู้แตกฉานในธรรมะ ๓. รู้แตกฉานในภาษา ๔. รู้แตกฉานในไหวพริบ) วิโมกข์ ๘ (ภาวะจิตที่ หลุดพ้น จากกิเลส ๘ ขั้นตอน) อภิญญา ๖ (คือความรู้ยิ่ง ๑. อิทธิวิธี = มีฤทธิ์สู้กิเลสได้ ๒. ทิพพโสต = หูทิพย์ แยกแยะกิเลสได้ ๓. เจโตปริยญาณ = รู้วาระจิตว่ามีกิเลสใดบ้างของตนและของผู้อื่น ๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ = รู้ระลึกชาติของกิเลสได้ ๕. ทิพพจักขุ = ตาทิพย์มองทะลุกิเลสได้ ๖. อาสวักขยญาณ = ความรู้แจ้งว่ากิเลสหมดสิ้นแล้ว) ก็ด้วยความมีฤทธิ์ทั้งทางโลกีย์และทางโลกุตระ ช่วยเหลือผู้คน ทำการงานได้เยอะ และประกอบด้วย บุญเก่าที่เป็นผู้ให้ทำบุญทำทานไว้มาก จึงเป็นที่รักของประชาชนทั้งหลาย แม้แต่เทวดา (ผู้ที่จิตใจสูง มีศีล) ทั้งหลายก็เคารพรักท่าน พระศาสดาจึงทรงประทานตำแหน่งแก่ท่านว่า "ในบรรดาภิกษุผู้สาวกของเรา ผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลายนั้น ปิลินทวัจฉะ นับว่าเป็น เลิศสุด" แต่มีอยู่เหตุหนึ่งที่ทำให้ภิกษุทั้งหลายคับข้องใจ นั่นก็คือคำเรียกหาของพระปิลินทวัจฉเถระ ที่มักร้องเรียกเพื่อนภิกษุทั้งหลายว่า "คนถ่อยอย่างนั้น...คนถ่อยอย่างนี้....." เหล่าภิกษุจึงไปเข้าเฝ้าพระศาสดา กราบทูลข้อสงสัยนี้ พระศาสดาได้ทรงเรียกหาตัว พระปิลินทวัจฉ เถระให้ไปหา แล้วตรัสถามพระเถระว่า "ดูก่อนปิลินทวัจฉะ ได้ยินมาว่าเธอเรียกเพื่อนภิกษุทั้งหลายอยู่บ่อยๆว่า คนถ่อย นี้จริงหรือ" "จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า" พอพระเถระรับอย่างนั้น พระศาสดาจึงทรงระลึกชาติกาลก่อนของพระเถระ เมื่อทรงทราบ ด้วยญาณแล้ว จึงตรัสแก่ภิกษุทั้งหมดให้รู้ความจริง "ดูก่อนเธอทั้งหลาย จงอย่าเอาโทษกับปิลินทวัจฉะเลย พระเถระนี้มิได้มุ่งร้าย การที่เรียกพวกเธอ ทั้งหลายว่าคนถ่อยนั้น สาเหตุมาจากท่านเกิดอยู่ในสกุลพราหมณ์ถึง ๕๐๐ ชาติมาแล้ว เป็นวรรณะ พราหมณ์บริสุทธิ์ไม่เจือปนวรรณะอื่นเลย จึงเรียกวรรณะอื่นว่าคนถ่อยจนติดปากมานานชาติมาก เพราะเหตุนี้ ปิลินทวัจฉะจึงมักร้องเรียกภิกษุอื่นว่าคนถ่อยนั่นเอง" พระศาสดาตรัสให้ภิกษุทั้งหลายคลายสงสัยแล้ว ได้ทรงกล่าวโอวาทว่า "มายา(แสร้งทำ) มานะ(ถือตัว) ย่อมไม่มีอยู่ในผู้ที่มีความโลภสิ้นแล้ว ไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา ไม่มีความหวัง กำจัดความโกรธได้แล้ว มีจิตเย็นแล้ว ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าเป็น พราหมณ์(ผู้ประเสริฐ) เป็น สมณะ(ผู้สงบระงับกิเลส) เป็น ภิกษุ(ผู้เห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิด)" ภิกษุทั้งหลายก็สิ้นสงสัย พระปิลินทวัจฉเถระจึงได้กล่าวกับเพื่อนภิกษุว่า "การที่เราได้มาสู่สำนักของพระศาสดานี้ เป็นการมาดีแล้วหนอ ไม่ไร้ประโยชน์เลย ได้ฟังธรรมของ พระศาสดาแล้ว คิดบวช ก็ไม่ไร้ประโยชน์เลย บัดนี้เราบรรลุนิพพาน (กำจัดกิเลสได้สิ้นเกลี้ยง) อันสันติสุข เสร็จกิจในพระพุทธศาสนาแล้ว เราเผากิเลสทั้งหลายสิ้นเกลี้ยง ถอนภพขึ้นได้ทั้งหมด ตัดกิเลสเครื่องผูกดุจช้างตัดเชือกผูกขาดแล้ว เป็นผู้ไม่มีกิเลสใดๆหลงเหลืออยู่เลย" - ณวมพุทธ - - สารอโศก อันดับที่ ๒๘๐ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ - |